เรื่องที่พระเยซูบอกเล่า — คนดีชาวสะมาเรีย ลูกา 10:25-37

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

พฤษภาคม 21, 2013

พวกเราหลายคนคุ้นเคยกับคำอุปมาอุปไมยเรื่องคนดีชาวสะมาเรีย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเราดำเนินชีวิตในวัฒนธรรมที่แตกต่างอย่างมากจากชาวปาเลสไตน์สมัยศตวรรษที่หนึ่ง มีแง่มุมต่าง ๆ ในเรื่องที่เราคงไม่เข้าใจ เมื่อเราได้ยินได้ฟังหรืออ่านคำอุปมาอุไมยเรื่องนี้ ก็ไม่น่าตกใจหรือท้าทายสถานภาพในโลกปัจจุบันเสมอไป ทว่าผู้ฟังในศตวรรษแรกที่ได้ยินพระเยซูเล่าคำอุปมาอุปไมยเรื่องนี้ คงผงะเมื่อรับฟัง ข่าวสารดังกล่าวคงขัดกับสิ่งที่เขาคาดหมาย และท้าทายขอบเขตวัฒนธรรมของเขา

คำอุปมาอุปไมยประกอบตัวละครหลายคน เมื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวปุโรหิต ชาวเลวี และชาวสะมาเรีย ก็จะช่วยให้มีความเข้าใจในวงกว้างขึ้นถึงบทบาทที่สำคัญของแต่ละคนในเรื่อง

ขอให้เรามาพิจารณาตัวละครตามลำดับที่ปรากฏในเรื่อง

ชายผู้ที่ถูกทำร้าย

คำอุปมาอุปไมยบอกเราน้อยมากเกี่ยวกับตัวละครคนแรก คือชายผู้ที่ถูกทำร้ายและโดนปล้น ทว่ามอบข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องนี้ เขาถูกปล้นเอาเสื้อผ้าไป และถูกทิ้งไว้ในสภาพที่เจ็บปางตาย เขานอนอยู่บนพื้น ถูกทำร้ายอย่างหนัก และหมดสติ[1]

นี่มีนัยสำคัญ เพราะผู้คนในศตวรรษที่หนึ่งนั้นแยกแยะได้ง่าย จากเสื้อผ้าที่สวมใส่ และภาษาหรือสำเนียงที่พูด ในช่วงที่พระเยซูมีชีวิตอยู่ แถบตะวันออกกลางถูกปกครองโดยชาวโรมัน ผู้ซึ่งพูดภาษาลาติน ดินแดนเขตนั้นได้รับอิทธิพลและครอบงำจากชาวกรีกรอบด้าน มีเมืองของชาวกรีกหลายเมือง มีการพูดภาษากรีกอย่างกว้างขวาง ผู้รอบรู้ชาวยิวพูดภาษาฮีบรู ส่วนชาวไร่ชาวนาและชาวยิวทั่วไปในเขตนั้นพูดภาษาอะราเมอิค ดังนั้นเมื่อได้ยินใครพูดจา ก็แยกแยะได้ว่าเขาเป็นใคร

เนื่องจากชายผู้ที่ถูกทำร้ายไม่มีเสื้อผ้า จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าเขาเป็นคนชาติใด เขาหมดสติ ไม่พูดไม่จา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบ่งบอกว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน ดังที่เราจะได้เห็น นี่คือองค์ประกอบสำคัญในคำอุปมาอุปไมยเรื่องนี้

ปุโรหิต

ตัวละครที่สองในเรื่อง คือปุโรหิต ปุโรหิตชาวยิวในอิสราเอลเป็นนักบวชผู้ปรนนิบัติรับใช้ในวิหารที่เยรูซาเล็ม มีลำดับชั้นในหมู่ปุโรหิต โดยมีมหาปุโรหิตเป็นอันดับสูงสุด รองลงมาคือหัวหน้าปุโรหิต ผู้นำในวิหารคือหัวหน้าปุโรหิต มีปุโรหิตอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล ผู้ซึ่งรับใช้ในฐานะเหรัญญิกของวิหาร ผู้ดูแลวิหาร และปุโรหิตผู้ดูแลปุโรหิตทั่วไป

ปุโรหิตทั่วไปคือผู้ที่ปรนนิบัติรับใช้ในวิหารหนึ่งสัปดาห์ ในช่วง 24 สัปดาห์ หมายความว่าในหนึ่งปีปุโรหิตแต่ละคนปรนนิบัติรับใช้ในวิหารสองครั้ง ครั้งละหนึ่งสัปดาห์ หลายคนปรนนิบัติรับใช้ช่วงเทศกาลสำคัญสามครั้งในรอบหนึ่งปี ฉะนั้นปุโรหิตทั่วไปดังกล่าวจะทำงานในวิหารห้าสัปดาห์ต่อปี

ประมานว่ามีปุโรหิต 7,200 คน ทั่วอิสราเอลในช่วงเวลานั้น ทุกคนล้วนสืบเชื้อสายมาจากเผ่าเลวี ผู้ซึ่งย้อนรอยบรรพบุรุษไปถึงแอรอน พี่ชายของโมเสส

ไม่ใช่ปุโรหิตทุกคนพักอยู่ในเยรูซาเล็ม หลายคนอยู่ในเมืองใกล้ ๆ เช่น เยรีโค หรือเมืองอื่น ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วอิสราเอล ดังนั้นปุโรหิตที่ไม่ได้อยู่ในเยรูซาเล็ม จึงต้องเดินทางไปที่นั่น สองถึงห้าครั้งต่อปี

โดยทั่วไปแล้วถือว่าปุโรหิตเป็นคนชั้นกลาง ถึงแม้ว่าหลายคนมาจากคนชั้นสูง บ้างก็มั่งคั่ง และจัดว่าเป็นคนชั้นสูงในประเทศ อีกแง่หนึ่งปุโรหิตบางคนก็ยากจน ปุโรหิตหลายคนทำการค้าขาย หรือทำหน้าที่เป็นอาลักษณ์ ระหว่างช่วงเวลาส่วนใหญ่ในรอบปี เมื่อไม่ได้ปรนนิบัติรับใช้ในวิหาร

ไม่มีรายละเอียดบ่งบอกเกี่ยวกับปุโรหิตในเรื่องนี้ ทว่าผู้ที่รับฟังคำอุปอุปไมยของพระเยซูคงทึกทักว่าเขากำลังกลับบ้านที่เยรีโค หลังจากปรนนิบัติรับใช้หนึ่งสัปดาห์ในวิหาร[2]

ชาวเลวี

ตัวละครคนที่สามในคำอุปมาอุปไมย คือชาวเลวี ถึงแม้ว่าปุโรหิตทุกคนเป็นชาวเลวี ทว่าไม่ใช่ชาวเลวีทุกคนที่เป็นปุโรหิต อย่างไรก็ตาม ชาวเลวีผู้ที่ไม่ใช่ปุโรหิต ก็มีบทบาทในวิหาร ถือกันว่าเขาเป็นนักบวชชั้นรอง หรือมีระดับต่ำกว่าปุโรหิต เขาปรนนิบัติรับใช้สองครั้ง ครั้งละหนึ่งสัปดาห์ในรอบปีเช่นกัน ประมาณว่ามีชาวเลวี 9,600 คน ปรนนิบัติรับใช้ในวิหาร มีเจ้าหน้าที่ชาวเลวีสี่คนที่ดำรงตำแหน่งถาวรในวิหาร ได้แก่ ผู้อำนวยการฝ่ายดนตรี ผู้อำนวยการฝ่ายนักร้อง หัวหน้ายามเฝ้าประตู และเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมดูแลชาวเลวีที่ปรนนิบัติรับใช้ในวิหาร

ชาวเลวีบางคนเป็นนักร้องและนักดนตรี บ้างก็เป็นผู้รับใช้ในวิหาร ซึ่งรับผิดชอบในการทำความสะอาดและทะนุบำรุงวิหาร ทั้งช่วยปุโรหิตสวมใส่และถอดเสื้อคลุม กองกำลังรักษาความปลอดภัยในวิหารประกอบด้วยชาวเลวีเช่นกัน เขายืนเฝ้าประตูและลานวิหารของพวกต่างชาติ รวมทั้งนอกบริเวณที่อนุญาตให้ปุโรหิตเข้าไปเท่านั้น เขาทำหน้าที่จับกุมและลงโทษ เมื่อได้รับคำบัญชาจากสภาแซนเฮดริน ซึ่งเป็นศาลของชาวยิวสมัยนั้น

คงจะทึกทักกันว่าชาวเลวีที่เดินทางไปเยรีโค คงเดินทางกลับบ้าน หลังจากทำหน้าที่หนึ่งสัปดาห์ในวิหารที่เยรูซาเล็มเช่นกัน[3]

ชาวสะมาเรีย

ชาวสะมาเรียเป็นผู้คนที่อาศัยอยู่ตามเนินเขาของสะมาเรีย ระหว่างทะเลกาลิลีทางตอนเหนือ กับเขตยูดายทางตอนใต้ พวกเขาเชื่อในหนังสือห้าเล่มแรกของโมเสส แต่เชื่อว่าพระเจ้าได้มอบหมายภูเขาเกียรีซี ให้เป็นสถานที่นมัสการพระเจ้า แทนที่เยรูซาเล็ม

เมื่อ 128 ปีก่อนค.ศ. วิหารของชาวสะมาเรียบนภูเขาเกียรีซี ถูกกองทัพชาวยิวทำลาย ระหว่าง ค.ศ. 6 และ 7 ชาวสะมาเรียบางส่วนเอากระดูกมนุษย์ไปทิ้งในวิหารชาวยิว จึงทำให้มีมลทิน เหตุการณ์สองครั้งนี้เป็นสาเหตุให้ชาวยิวกับชาวสะมาเรียเป็นปรปักษ์กันอย่างฝังลึก

ความเป็นปรปักษ์ดังกล่าวประจักษ์ชัดในพระคัมภีร์ใหม่ เมื่อชาวยิวจากกาลิลีเดินทางไปยังเยรูซาเล็มทางตอนใต้ บ่อยครั้งเขาจะใช้เส้นทางไกล โดยเดินอ้อมเขตสะมาเรีย ซึ่งเขาต้องเดินทางไกลขึ้น 40 กิโลเมตร หรือใช้เวลานานอีกสองหรือสามวัน เส้นทางนี้อากาศร้อนกว่าหลายเท่า และต้องปีนเขาสูงชัน จากเยรีโคขึ้นไปยังเยรูซาเล็ม ทว่าหลายคนคิดว่าคุ้มค่า เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะต้องพบปะกับชาวสะมาเรีย

ครั้งหนึ่งเมื่อพระเยซูเดินทางจากกาลิลีไปยังเยรูซาเล็ม โดยตัดผ่านสะมาเรีย ชาวสะมาเรียไม่ยอมให้พระองค์พักด้วย เพราะทราบว่าพระองค์มุ่งหน้าไปยังเยรูซาเล็ม นี่เป็นตัวอย่างความขุ่นเคืองใจและความเป็นปรปักษ์ ที่มีต่อชาวยิวและวิหารของชาวยิว ในโอกาสเดียวกันนั้น ความขมขื่นใจที่ชาวยิวมีต่อชาวสะมาเรียก็สะท้อนให้เห็น เมื่อสาวกของพระเยซูขุ่นเคืองใจที่ชาวสะมาเรียไม่ยอมให้ที่พักแก่พระเยซู เขาถามพระเยซูว่าเขาควรจะเรียกไฟจากสวรรค์ลงมาเผาผลาญชาวสะมาเรียหรือไม่[4]

ชาวยิวจะเรียกชาวยิวด้วยกันว่า “ชาวสะมาเรีย” เพื่อเป็นการลบหลู่ดูหมิ่น ดังที่เคยทำกับพระเยซูครั้งหนึ่ง เมื่อเขากล่าวว่า “ที่เราพูดว่าท่านเป็นชาวสะมาเรียและมีผีสิงนั้น ไม่จริงหรือ”[5]

พระเยซูเล่าคำอุปมาอุปไมยเรื่องคนดีชาวสะมาเรีย ภายในสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม วรรณะ และศาสนา ที่เป็นปรปักษ์กันเช่นนี้[6]

นักกฎหมาย

ตัวละครคนสุดท้ายคือนักกฎหมาย ถึงแม้ว่านักกฎหมายไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในคำอุปมาอุปไมย แต่เนื่องจากคำถามของเขา พระเยซูจึงเล่าคำอุปมาอุปไมยให้ฟัง ถ้าปราศจากคำสนทนาระหว่างพระเยซูกับนักกฎหมาย คำอุปมาอุปไมยก็จะไม่สอดคล้องกับเนื้อหาเดิม และขาดแง่มุมที่มีนัยสำคัญ

ในสมัยพระคัมภีร์ใหม่ นักกฎหมายก็เหมือนกับอาลักษณ์ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบัญญัติทางศาสนา ผู้ตีความหมาย และผู้สอนบัญญัติของโมเสส เขาตรวจสอบคำถามในบัญญัติที่ยากและแยบยล โดยการให้ความเห็น เขาเป็นที่นับถืออย่างสูง เพราะมีความรอบรู้ เพื่อเป็นการเคารพ ผู้คนจะยืนขึ้นเมื่อถามนักกฎหมาย

บ่อยครั้งอาจารย์เหล่านี้จะสนทนากับอาจารย์และรับบีคนอื่น ๆ เพื่อถกกัน เพื่อโต้แย้งถึงการตีความหมาย และความเข้าใจข้อพระคัมภีร์ เมื่อนักกฎหมายผู้นี้ถามพระเยซู เขาอาจมีเจตนาที่จะเริ่มการโต้แย้ง แต่อาจเป็นเพราะเขาแสวงหาความจริงในทางวิญญาณด้วยก็ได้

คำอุปมาอุปไมย

ตอนนี้เราทำความรู้จักกับตัวละครมากขึ้นแล้ว มาดูกันสิว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อนักกฎหมายถามพระเยซู ในลูกาบทที่ 10 ข้อ 25

ดูเถิด มีนักกฎหมายผู้หนึ่งยืนขึ้น ทดลองพระองค์ ถามว่า “อาจารย์ ข้าพเจ้าจะต้องทำประการใด เพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์เป็นมรดก”

นักกฎหมายยืนขึ้นเมื่อพูดกับพระเยซู และเรียกพระองค์ว่า “อาจารย์” พระกิตติคุณตอนอื่น ๆ เขาเรียกพระเยซูว่า“รับบี”โดยตลอด ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกอาจารย์ฝ่ายศาสนา นักกฎหมายยอมรับว่าพระเยซูเป็นอาจารย์ โดยไม่เพียงเรียกพระองค์ด้วยตำแหน่งนั้น ทว่ายืนขึ้นด้วย เมื่อถามพระองค์

คำถามเรื่องการมีชีวิตนิรันดร์เป็นเรื่องที่โต้แย้งกันในหมู่ผู้รอบรู้ชาวยิว ในศตวรรษที่หนึ่ง โดยเน้นเรื่องการปฏิบัติตามบัญญัติ ว่านั่นเป็นลู่ทางที่จะได้รับชีวิตนิรันดร์ เป็นไปได้ว่านักกฎหมายมองหาหลักฐานในการที่พระเยซูปฏิเสธว่าไม่จำเป็นต้องทำตามบัญญัติของโมเสส[7]

[พระเยซู]ตอบเขาว่า “ในพระบัญญัติมีคำเขียนว่าอย่างไร ท่านได้อ่านเข้าใจอย่างไร” เขาตอบว่า “จงรักพระผู้เป็นเจ้าสุดจิตสุดใจ สุดกำลัง สิ้นสุดความคิดของเจ้า และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”[8]

ดังที่เห็นได้ในพระกิตติคุณโดยตลอด นี่คือสิ่งที่พระเยซูสอน บางทีนักกฎหมายคงเคยได้ยินพระเยซูบอกกล่าวมาก่อน พระคัมภีร์ข้อนี้หยิบยกมาจากสองข้อ คือ เลวีนิติ 19:18 และ พระราชบัญญัติ 6:5

เจ้าอย่าแก้แค้นหรือผูกพยาบาทลูกหลานญาติพี่น้องของเจ้า แต่เจ้าจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง เราคือพระเยโฮวาห์[9]

พวกท่านจงรักพระเยโฮวาห์ผู้เป็นพระเจ้าของท่าน สุดจิตสุดใจ และสิ้นสุดกำลังของท่าน[10]

พระเยซูบอกนักกฎหมายว่าเขาเข้าใจถูกต้องแล้ว เขาควรจะทำสิ่งเหล่านี้ เขาควรจะทำตามมาตรฐานนี้ โดยรักพระเจ้าสุดชีวิตจิตใจ และรักเพื่อนบ้านของเขา

ในประโยคต่อมา นักกฎหมายหาทางแก้ตัวต่อพระเจ้า การแก้ตัวหมายความว่าการแสดงความบริสุทธิ์ต่อหน้าพระเจ้า คือการมีความรอด เขาต้องการทราบว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง มีสิ่งใดที่ได้ผล เขาควรจะดำเนินการอย่างไร เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ อีกนัยหนึ่งก็คือ เพื่อจะได้รับความรอด

แต่คนนั้น [นักกฎหมาย] ประสงค์จะแก้ตัว จึงถามพระเยซูว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า”[11]

นักกฎหมายเข้าใจว่าเขารักพระเจ้าได้ ด้วยการรักษาบัญญัติ แต่ “การรักเพื่อนบ้าน” นี่สิ ยังค่อนข้างคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ดังนั้นเขาจึงอยากทราบว่าใครคือเพื่อนบ้านของเขา ใครกันแน่ที่เขาต้องรัก เขาทราบว่าเพื่อนบ้านรวมไปถึง “คนร่วมชาติ” ดังที่ข้อพระคัมภีร์ในเลวีนิติระบุไว้ นั่นก็รวมไปถึงเพื่อนชาวยิว แต่มีคนอื่นอีกไหม คนที่ไม่ใช่ชาวยิวก็ไม่ถือว่าเป็นเพื่อนบ้าน ถึงแม้จะกล่าวไว้ในเลวีนิติ 19:34 ว่า

คนต่างถิ่นที่อาศัยอยู่กับเจ้านั้น ก็เหมือนกับชาวเมืองของเจ้า เจ้าจงรักเขาเหมือนกับรักตัวเอง...[12]

ดังนั้นก็มีกรณีที่ว่าถ้าคนต่างถิ่นอาศัยอยู่ในเมืองของนักกฎหมาย เขาก็เป็นเพื่อนบ้านด้วย ดังนั้นเพื่อนบ้านของนักกฎหมายคงได้แก่ชาวยิวด้วยกัน และคนต่างถิ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองของเขาเอง ใครอื่นนอกจากนั้นก็ไม่ใช่เพื่อนบ้านแน่นอน โดยเฉพาะชาวสะมาเรียที่น่าชิงชัง

พระเยซูเล่าคำอุปมาอุปไมยเรื่องนี้ให้ฟัง เพื่อตอบคำถามข้อนี้ที่ว่า “ใครคือเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า” อีกนัยหนึ่งก็คือ ใครกันที่ฉันต้องรัก

พระเยซูตอบว่า “มีชายคนหนึ่งเดินทางจากกรุงเยรูซาเล็ม จะไปยังเมืองเยรีโค เขาถูกโจรปล้น พวกโจรลอกคราบ ทำร้ายร่างกาย แล้วทิ้งเขาไว้นอนบาดเจ็บปางตาย”[13]

การเดินทางไปยังเยรีโคต้องลงเขาไปประมาณ 27 กิโลเมตร จากเยรูซาเล็มที่ความสูงประมาณ 800 เมตร ลงไปเยรีโคซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 240 เมตร บนเส้นทางที่ขึ้นชื่อว่าอันตราย เพราะมีโจร เข้าใจกันว่าโจรในตะวันออกกลางจะทำร้ายเหยื่อ ก็ต่อเมื่อขัดขืน ชายคนนี้คงทำเช่นนั้น เพราะเขาถูกลอกคราบ โดนทำร้ายร่างกาย และถูกทิ้งไว้บนถนน ในสภาพที่หมดสติปางตาย คือว่าเขาจวนสิ้นใจ ถึงแม้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะบ่งบอกว่าชายผู้นี้มีสัญชาติอะไร จากสภาพการณ์และผลลัพธ์จากเรื่องเล่า ผู้ฟังคงสันนิษฐานว่าชายผู้ที่จวนสิ้นใจคนนี้เป็นชาวยิว[14]

เผอิญปุโรหิตคนหนึ่งเดินไปทางนั้น เมื่อเห็นชายผู้นั้นก็เดินเลยไปเสียอีกฟากหนึ่ง[15]

เป็นไปได้ว่าปุโรหิตคงกลับจากการปรนนิบัติรับใช้ในวิหารหนึ่งสัปดาห์ เนื่องจากเขามีฐานะดี เขาคงขี่ลา เขาน่าจะพาชายผู้บาดเจ็บไปเยรีโคได้ ปัญหาก็คือเขาไม่อาจบ่งบอกได้ว่าชายผู้นี้เป็นใคร มีสัญชาติอะไร เนื่องจากเขาหมดสติและถูกลอกคราบ ปุโรหิตมีหน้าที่ภายใต้บัญญัติโมเสสที่จะช่วยเหลือชาวยิวด้วยกัน ไม่ใช่ชาวต่างชาติ แต่ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว เขาบอกไม่ได้ว่าชายผู้บาดเจ็บเป็นใคร

นอกจากนี้ปุโรหิตไม่ทราบด้วยว่าชายคนนี้ตายแล้วหรือยัง ตามบัญญัติการเข้าใกล้หรือสัมผัสคนตาย จะทำให้เขามีมลทิน ตามพิธีกรรม ถ้าเข้าไปใกล้กว่าสองเมตร หากชายคนนั้นตายแล้ว ปุโรหิตก็จะมีมลทิน เขาต้องทำพิธีกรรมทางศาสนาหนึ่งสัปดาห์ รวมไปถึงการซื้อหาสัตว์มาสังเวย เพื่อการชำล้างให้บริสุทธิ์ ในช่วงเวลาดังกล่าว เขาไม่อาจรับเงินถวายหรือทานจากหนึ่งส่วนสิบ ครอบครัวและคนรับใช้ของเขาก็เช่นกัน[16]

ถ้าชายผู้หมดสติมีชีวิต และปุโรหิตสัมผัสเขา แต่ชายผู้นั้นสิ้นใจหลังจากนั้นไม่นานนัก ปุโรหิตต้องทึ้งเสื้อผ้าของเขาให้ฉีกขาด ซึ่งหมายความว่าเขาต้องซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ ดังนั้นการช่วยชายผู้ที่ระบุตัวไม่ได้คนนี้ ปุโรหิตต้องยอมเสียค่าแลกเปลี่ยนสูงมาก ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจผ่านเลยไปอีกฟากหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ห่างพอ

เนื้อเรื่องในคำอุปมาอุปไมยดำเนินต่อไป ว่า

คนหนึ่งในพวกเลวีก็ทำเหมือนกัน เมื่อมาถึงที่นั่น เห็นแล้วก็เลยไปเสียอีกฟากหนึ่ง[17]

ชาวเลวีคงกลับบ้านหลังจากปรนนิบัติรับใช้ในวิหารหนึ่งสัปดาห์ เขาทำเช่นเดียวกันกับปุโรหิต เขาตัดสินใจไม่ช่วย

ชาวเลวีคงตระหนักว่าปุโรหิตเดินผ่านชายผู้บาดเจ็บไป ผู้ประพันธ์หลายคนบ่งบอกว่าเส้นทางจากเยรูซาเล็มไปเยรีโคนั้นเป็นไปได้ที่จะมองเห็นข้างหน้าในระยะไกล ผู้ประพันธ์คนหนึ่งเขียนไว้ว่า

เรายังคงเห็นร่องรอยเส้นทางเก่าของชาวโรมัน ผู้เขียนในปัจจุบันลองเดินดูเองเกือบตลอดเส้นทาง ส่วนใหญ่แล้วเราสามารถมองเห็นทางข้างหน้าได้ไกลพอสมควร ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเมื่อเขา [ชาวเลวี] มาพบชายผู้นั้นตามทาง เขาตระหนักว่าปุโรหิตเห็นชายคนนี้แล้ว และเดินผ่านไป[18]

ชาวเลวีมีฐานะทางสังคมต่ำกว่าปุโรหิต เขาคงเดินเท้า ถึงแม้ว่าเขาไม่สามารถพาชายคนนั้นไปกับเขา เขาก็น่าจะช่วยปฐมพยาบาล เพราะเขาไม่ได้อยู่ภายใต้บัญญัติเรื่องความบริสุทธิ์ เหมือนปุโรหิต ถึงแม้ว่าเขาต้องทำตัวให้บริสุทธิ์ระหว่างสัปดาห์ที่ปรนนิบัติรับใช้ในวิหาร แต่เขาไม่มีพันธะหน้าที่เช่นนั้นตอนนี้ จากถ้อยคำในอุปอุปไมย เป็นไปได้ว่าเขาคงเข้าไปใกล้ชายผู้นั้น ขณะที่ปุโรหิตเห็นแล้วก็ผ่านไป ส่วนชาวเลวี “เดินมาถึงที่นั่น” เห็นแล้วก็ผ่านไป

ไม่ได้บ่งบอกว่าเขาเจตนาเดินผ่านไป แต่เป็นไปได้ที่เมื่อเขาเห็นว่าปุโรหิตผู้ซึ่งรอบรู้บัญญัติทางศาสนาและพันธะหน้าที่มากกว่า แต่ไม่ได้ทำอะไร เขาจึงทึกทักว่าเป็นการดีที่สุดที่จะไม่ทำอะไรเช่นกัน การลงมือทำอะไรอาจถูกตีความหมายว่าเขาสงสัยความเข้าใจในกฎบัญญัติของปุโรหิต และอาจถือว่าเป็นการดูหมิ่นปุโรหิต[19]

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่เขาไม่ช่วย คงเป็นเพราะเขาเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย พวกโจรอาจยังอยู่แถวนั้น ถ้าเขาใช้เวลาช่วยเหลือชายผู้ที่บาดเจ็บปางตาย เขาคงลงเอยในสภาพเดียวกัน ไม่ว่าชาวเลวีจะมีเหตุผลอะไร เขาเป็นบุคคลที่สองที่มาจากวิหาร เขามาถึง เห็นเข้า แล้วก็ผ่านไป โดยไม่ทำอะไร

พอเล่าเรื่องถึงตอนนี้ ผู้ฟังชุดแรกคงคาดหมายว่าคนต่อไปที่จะมาพบชายผู้นี้ จะเป็นฆราวาสชาวยิว ซึ่งฟังดูสมเหตุสมผลที่สุด เมื่อพิจารณาฐานะตามลำดับในเรื่อง ได้แก่ ปุโรหิต ชาวเลวี ฆราวาส[20]  อย่างไรก็ตาม พระเยซูเล่าเรื่องที่ผิดความคาดหมาย บุคคลที่สามในเรื่องคือชาวสะมาเรียที่น่าชิงชัง ผู้เป็นศัตรู เรื่องแย่ลงไปอีก เมื่อพระเยซูเล่าให้ฟังถึงทุกอย่างที่ชาวสะมาเรียได้ทำเพื่อชายผู้ที่จวนสิ้นใจ สิ่งที่ปุโรหิตและชาวเลวีผู้ปรนนิบัติรับใช้ในวิหารทั้งสองคนน่าจะทำ[21]

แต่ชาวสะมาเรียคนหนึ่งเมื่อเดินมาถึง ครั้นเห็นแล้วก็มีใจเมตตา เข้าไปหาเขา เอาผ้าพันบาดแผลให้ พลางเอาน้ำมันกับน้ำองุ่นเทใส่บาดแผล แล้วให้เขาขึ้นขี่สัตว์ของตนเอง พามาถึงโรงแรมแห่งหนึ่ง และรักษาพยาบาลเขา[22]

ชาวสะมาเรียคงเป็นพ่อค้า มีน้ำองุ่นและน้ำมันติดตัว พร้อมสัตว์อย่างน้อยหนึ่งตัว คงจะเป็นลา เขามีใจเมตตาต่อชายผู้บาดเจ็บ ตอนแรกเขาเอาผ้าพันแผลให้ เขาใช้อะไรล่ะ เขาไม่ใช่รถพยาบาลในท้องถิ่น เขาไม่มีชุดปฐมพยาบาล ในฐานะที่เป็นพ่อค้า เขาคงมีผ้าติดตัว เขาอาจใช้ชุดลินินชั้นในหรือพ้าโพกหัวเพื่อพันแผล แล้วเทน้ำองุ่นและน้ำมันเพื่อล้างแผล ฆ่าเชื้อ และสมานแผล

จากนั้นเขาอุ้มชายคนนั้นขึ้นขี่สัตว์ของเขา พาไปโรงแรม คงจะเป็นที่เยรีโค ปุโรหิตน่าจะพาชายคนนั้นไปเยรีโคเพื่อขอความช่วยเหลือ ส่วนชาวเลวีก็น่าจะช่วยปฐมพยาบาลเป็นอย่างน้อย ทว่าชาวสะมาเรียเป็นผู้ที่ช่วยทำสิ่งที่ปุโรหิตหรือชาวเลวีไม่ยอมทำ

ชาวสะมาเรียพาชายผู้บาดเจ็บไปยังโรงแรม และดูแลเอาใจใส่เขา ถ้าเป็นดังที่เราสมมุติฐานไว้ว่าชายผู้บาดเจ็บเป็นชาวยิว ชาวสะมาเรียคงเสี่ยงอย่างมากที่พาชาวยิวผู้จวนสิ้นใจขี่ลาเข้าไปในเมือง เพราะญาติพี่น้องของชายผู้ที่ถูกทำร้ายอาจกล่าวโทษชาวสะมาเรีย และแก้แค้น เพื่อความปลอดภัยของเขาเอง คงเป็นการมีปัญญามากกว่าที่จะพาชายผู้นั้นไปทิ้งไว้ใกล้ตัวเมืองหรือที่ประตูเมือง แต่แทนที่จะทำเช่นนั้น เขาพาไปที่โรงแรม และช่วยดูแลเขาคืนนั้น แล้วก็ทำมากกว่านั้นอีก

วันรุ่งขึ้นเมื่อจะจากไป เขาเอาเงินสองเดนาริอันมอบให้เจ้าของโรงแรม บอกเขาว่า ‘ดูแลเขาเถิด เงินค่าใช้จ่ายเกินนี้ เมื่อกลับมา ฉันจะใช้ให้’[23]

เงินสองเดนาริอันเทียบเท่ากับค่าจ้างแรงงานสองวัน การฝากเงินไว้กับเจ้าของโรงแรมเป็นหลักประกันว่าชายผู้นั้นจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ ขณะที่ฟื้นตัว ถ้าเจ้าของโรงแรมต้องใช้เงินมากกว่านั้น กว่าเขาจะฟื้นตัวเป็นปกติ ชาวสะมาเรียสัญญาว่าจะใช้ให้เมื่อกลับมาคราวหน้า ถ้าเขาไม่ทำเช่นนั้น ชายที่บาดเจ็บก็ต้องเสียค่าที่พัก ค่ารักษาพยาบาล และค่าอาหาร สมัยนั้นถ้าใครไม่มีเงินชำระหนี้ เขาอาจถูกจับกุม ชาวสะมาเรียสัญญาว่าจะกลับมาออกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใด ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าชายที่ผู้ทำร้ายจะปลอดภัย และได้รับการดูแลเอาใจใส่จนหายเป็นปกติ

เป็นไปได้ว่าชาวสะมาเรียคนนั้นไปทำธุรกิจที่เยรูซาเล็มเป็นประจำ และเดินทางผ่านเยรีโคบ่อย ๆ ในฐานะลูกค้าประจำที่โรงแรม ก็สมเหตุสมผลที่เจ้าของโรงแรมจะเชื่อคำสัญญาว่าเขาจะกลับมาชำระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้

เมื่อเล่าเรื่องจบ พระเยซูถามนักกฎหมายว่า

“ในสามคนนั้น ท่านคิดเห็นว่าคนไหนเป็นเพื่อนบ้านของชายที่ถูกโจรปล้น” เขาตอบว่า “คือคนที่เมตตาเขา” พระเยซูจึงกล่าวกับเขาว่า “ท่านจงไปทำเหมือนอย่างนั้นเถิด”[24]

นักกฎหมายถามว่า “ใครคือเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า” พระเยซูไม่ได้ตอบเฉพาะเจาะจงอย่างที่นักกฎหมายอยากทราบ แทนที่จะทำเช่นนั้น พระองค์เล่าเรื่อง แล้วถามว่าใครพิสูจน์ตัวแล้วว่าเป็นเพื่อนบ้าน นักกฎหมายต้องการคำตอบที่ชัดเจน เช่น เพื่อนบ้านคือชาวยิวด้วยกัน รวมทั้งผู้ที่หันมานับถือลัทธิยูดาย และคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในหมู่พวกท่าน ถ้านักกฎหมายได้รับคำตอบเช่นนั้น เขาก็จะทราบว่ามีข้อเรียกร้องตามบัญญัติโดยเฉพาะให้รักผู้ใด แต่เรื่องเล่าของพระเยซูชี้ให้เห็นว่าไม่มีรายการจำกัดว่าเรามีความรับผิดชอบที่จะรักใครบ้าง หรือควรถือว่าใครคือเพื่อนบ้านของเรา พระเยซูให้นิยามไว้ว่า “เพื่อนบ้าน” คือผู้ขัดสนที่พระเจ้านำพาให้มาพบปะ

ชายผู้ที่โดนทำร้ายและถูกทิ้งไว้ให้บาดเจ็บปางตาย อาจจะใช่หรือไม่ใช่เพื่อนบ้าน “ตามกฎ” ของผู้ที่เคร่งศาสนา เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะแยกแยะ ทว่าชาวเลวีและปุโรหิตกังวลเกี่ยวกับบัญญัติศาสนา พิธีกรรม และหน้าที่ มากกว่าความเมตตากรุณา ผู้ที่ปรนนิบัติรับใช้ที่วิหาร ซึ่งผู้ฟังชุดแรกคงคาดหมายให้มีความเมตตา กลับไม่ได้ทำเช่นนั้น แต่ชาวสะมาเรียซึ่งผู้ฟังคาดว่าจะมีบทบาทน้อยที่สุด กลับเป็นผู้ที่มีเมตตา เขาไม่เพียงแต่มีเมตตา ในแง่ที่ปรารถนาจะช่วยใครสักคน ทว่าความเมตตาของเขาส่งผลเป็นการกระทำ และเขาต้องยอมเสียค่าแลกเปลี่ยนด้วย

ชาวสะมาเรียเสี่ยงด้วยการหยุดเพื่อดูแลชายผู้ที่ถูกทำร้าย ในสถานที่ซึ่งเขาอาจถูกทำร้ายเช่นกัน เขาไม่ทราบว่าพวกโจรยังอยู่แถวนั้นหรือไม่ เขาใช้น้ำองุ่นและน้ำมันของเขา เขาฉีกผ้าหรือเสื้อผ้าของเขา เพื่อพันแผลชายผู้นั้น เขาให้ขึ้นขี่สัตว์ ดูแลเอาใจใส่เขาคืนนั้น พอเช้าวันรุ่งขึ้นก็ฝากเงินไว้เป็นค่ารักษาพยาบาล นี่เป็นการกระทำด้วยความรักซึ่งมีค่าแลกเปลี่ยนสูง

ถ้อยคำสุดท้ายที่พระเยซูกล่าวกับนักกฎหมายก็คือ “ท่านจงไปทำเหมือนอย่างนั้นเถิด” พระองค์บอกนักกฎหมายว่าเขาตั้งคำถามผิด แทนที่จะถามว่าเขามีหน้าที่รักใคร เขาควรถามว่า “ข้าพเจ้าควรเป็นเพื่อนบ้านต่อผู้ใด” จากคำอุปมาอุปไมยเรื่องนี้ พระเยซูบ่งบอกชัดเจนว่าเพื่อนบ้านของเขา หรือเพื่อนบ้านของเรา คือใครก็ตามที่ขัดสน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนา หรือฐานะใดในชุมชน ข่าวสารของพระเยซูคือ ไม่มีขอบเขตเกี่ยวกับผู้ที่เราควรมอบความรักความเมตตาให้ ความเมตตาทำเกินกว่าข้อเรียกร้องในบัญญัติ เราถึงกับได้รับการคาดหมายให้รักศัตรู

ในพระกิตติคุณโดยตลอด พระเยซูเน้นเรื่องความรัก ความเมตตา และความเห็นอกเห็นใจ เหนือการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ แทนที่จะเน้นเรื่องสิ่งที่เราต้องทำ พระองค์เน้นเรื่องบุคคลประเภทที่เราควรจะเป็น ในกรณีนี้คือ คนที่มีความเห็นอกเห็นใจ มีความรัก และมีเมตตาต่อผู้ที่ขัดสน ไม่เพียงแค่ในความนึกคิด ทว่าในการกระทำด้วย

การเป็นเพื่อนบ้านต่อผู้ที่ขัดสนมีค่าแลกเปลี่ยนสูง ชาวสะมาเรียเอาความปลอดภัยของตัวเองเข้าเสี่ยง เขาต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าน้ำมัน น้ำองุ่น ผ้า และเงิน เขาต้องสละเวลา เรี่ยวแรง และแหล่งปัจจัยให้ การรักผู้อื่นคือการเสียสละ บางครั้งก็ต้องเสี่ยงภัยด้วย

ในฐานะที่เป็นคริสเตียน และเป็นสาวกของพระเยซู เราได้รับมอบหมายให้รักเพื่อนบ้าน เหมือนรักตนเอง ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าใครคือเพื่อนบ้านของเรา ทว่าบ่งบอกชัดเจน เมื่อพระเยซูนำพาให้พบปะผู้ที่ขัดสน ก็คาดหมายให้เราพิสูจน์ตัวว่าเป็นเพื่อนบ้านของเขา

ข้อท้าทายจากคำอุปมาอุปไมยเรื่องนี้ คือ “จงไปทำเช่นนั้น” โดยมีความเห็นอกเห็นใจ และมีความรัก

ชายหญิงผู้ที่ถูกทำร้าย ซึ่งเราพบปะในชีวิต อาจไม่ได้นอนบาดเจ็บปางตายอยู่ข้างถนน ทว่าหลายคนต้องรู้สึกถึงความรักและความเห็นอกเห็นใจ ได้รับความช่วยเหลือ หรือมีใครสักคนที่เต็มใจรับฟังเสียงร่ำร้องจากใจของเขา เพื่อเขาจะได้ทราบว่าเขามีความสำคัญ มีคนรักและห่วงใยเขา ถ้าพระเจ้านำพาให้คุณพบปะเขา พระองค์อาจมอบหมายให้คุณเป็นบุคคลนั้น

คุณอาจมอบความเห็นอกเห็นใจ ด้วยการให้ความช่วยเหลือทางวัตถุ มอบความเกื้อหนุนทางอารมณ์ความรู้สึก และมิตรภาพ หรือความช่วยเหลือด้านจิตใจ คุณอาจช่วยเหลือคนที่ขัดสนการเงิน หรือให้การสนับสนุนด้านศีลธรรมจรรยา หรือเป็นสื่อเชื่อมโยงเขากับพระเยซูและพระคำของพระองค์

พระคริสต์มอบหมายให้เรามีความเห็นอกเห็นใจ เช่นเดียวกับนักกฎหมายและผู้ที่ได้ยินพระองค์เล่าคำอุปมาอุปไมยเรื่องนี้ครั้งแรก พระองค์ท้าทายเราให้ตอบสนอง และทำเช่นเดียวกัน

เมื่อเราทำเช่นนี้ ประเด็นที่ควรจะพิจารณาได้แก่

ขอให้ใช้เวลานึกคิดถึงหลักการที่พระเยซูมอบไว้ในเรื่องนี้

พระเยซูกำหนดแนวทางไว้ให้ความรักและความเห็นอกเห็นใจ ในคำอุปมาอุปไมยเรื่องนี้ คำปิดท้ายสำหรับคุณและผม ซึ่งเป็นผู้ฟังในปัจจุบัน คือ “ขอให้ไปทำเช่นนั้น”


[1] ลูกา 10:30

[2] ข้อมูลเกี่ยวกับปุโรหิตและวิหารจาก โจชิม เยเรเมียส ในเรื่อง Jerusalem in the Time of Jesus (เยรูซาเล็มในสมัยพระเยซู) (ฟิลาเดลเฟีย: สำนักพิมพ์ฟอเทรสเพรส ค.ศ. 1975)

[3] ข้อมูลเกี่ยวกับชาวเลวีจาก โจชิม เยเรเมียส ในเรื่อง Jerusalem in the Time of Jesus (เยรูซาเล็มในสมัยพระเยซู) (ฟิลาเดลเฟีย: สำนักพิมพ์ฟอเทรสเพรส ค.ศ. 1975)

[4] พระองค์ใช้ผู้ส่งข่าวล่วงหน้าไปก่อน เขาเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของชาวสะมาเรียเพื่อเตรียมการให้พระองค์ ชาวบ้านนั้นไม่ต้อนรับพระองค์ เพราะดูเหมือนว่าพระองค์กำลังมุ่งหน้าไปยังกรุงเยรูซาเล็ม  เมื่อสาวกของพระองค์ คือยากอบและยอห์นเห็นดังนั้น เขากล่าวว่า "พระองค์พอใจจะให้ข้าเรียกไฟลงมาจากสวรรค์ เผาผลาญเขาเสียหรือไม่” ลูกา 9:52-54

[5] ยอห์น 8:48

[6] โจเอล บี กรีน และ สก็อต แม็คไนท์ กล่าวไว้ใน Dictionary of Jesus and the Gospels (ดาวเนอร์ส โกรฟ: สำนักพิมพ์อินเตอร์วาร์ซิตี้เพรส ค.ศ. 1992) หน้า 725–728

[7] ตลอดบทความนี้ ผมอ้างอิงจากหนังสือชั้นยอดของ เคนเนธ อี เบลี ชื่อ Jesus Through Middle Eastern Eyes (พระเยซูผ่านสายตายชาวตะวันออกกลาง)(ดาวเนอร์ส โกรฟ: สำนักพิมพ์อินเตอร์วาร์ซิตี้เพรส ค.ศ. 2008) หนังสือฉบับรวมชื่อ Poet & Peasant, and Through Peasant Eyes (กวีกับชาวบ้าน มองผ่านสายตาชาวบ้าน) (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์ วิลเลียม บี เอิร์ดแมน ค.ศ. 1985)

[8] ลูกา 10:26-27

[9] เลวีนิติ 19:18

[10] พระราชบัญญัติ 6:5

[11] ลูกา 10:29

[12] เลวีนิติ 19:34

[13] ลูกา 10:30

[14] เคนเนธ อี เบลี ในหนังสือฉบับรวมชื่อ Poet & Peasant, and Through Peasant Eyes (กวีกับชาวบ้าน มองผ่านสายตาชาวบ้าน) (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์ วิลเลียม บี เอิร์ดแมน ค.ศ. 1985)

[15] ลูกา 10:31

[16] เคนเนธ อี เบลี ในหนังสือฉบับรวมชื่อ Poet & Peasant, and Through Peasant Eyes (กวีกับชาวนา มองผ่านสายตาชาวนา) (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์ วิลเลียม บี เอิร์ดแมน ค.ศ. 1985) หน้า 44

[17] ลูกา 10:32

[18] เคนเนธ อี เบลี ในหนังสือฉบับรวมชื่อ Poet & Peasant, and Through Peasant Eyes (กวีกับชาวนา และผ่านสายตาชาวนา) (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์ วิลเลียม บี เอิร์ดแมน ค.ศ. 1985) หน้า 46

[19] เคนเนธ อี เบลี ในหนังสือฉบับรวมชื่อ Poet & Peasant, and Through Peasant Eyes (กวีกับชาวนา มองผ่านสายตาชาวนา) (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์ วิลเลียม บี เอิร์ดแมน ค.ศ. 1985) หน้า 47

[20] ไคลน์ สน็อดกราส ในเรื่อง Stories With Intent (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์ วิลเลียม บี เอิร์ดแมน ค.ศ. 2008) หน้า

 355

[21] เจ้าจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง  เลวีนิติ 19:18

[22] ลูกา 10:33-34

[23] ลูกา 10:35

[24] ลูกา 10:36-37

[25] มัทธิว 6:4

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้