คริสต์มาสก้องกังวาน

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

ธันวาคม 3, 2013

สำหรับพวกเราส่วนมาก แง่มุมที่สำคัญของคริสต์มาส คือ การระลึกถึงเรื่องราววันประสูติของพระเยซู ด้วยการแสดงหรือละครคริสต์มาสครั้งแรก การอ่านเรื่องราวคริสต์มาสจากพระคัมภีร์ หรือร้องเพลงคริสต์มาสเกี่ยวกับการประสูติของพระองค์ ขณะที่เราฉลองเทศกาลคริสต์มาส เราได้รับการเตือนใจถึงแหล่งที่มาของเรื่องราวทั้งหมดนี้

เมื่อเราอ่านเกี่ยวกับผู้เลี้ยงแกะ นักปราชญ์ รางหญ้า และดวงดาว ก็เป็นสื่อเชื่อมโยงเรากับแง่มุมต่าง ๆ ในการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด เมื่อเราพิจารณาดูสภาพการณ์ที่พระเยซูถือกำเนิดมา เราพบว่ามีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์เดิม ซึ่งก้องกังวานในพระกิตติคุณเรื่องการประสูติของพระเยซู การรับรู้ถึงสื่อเชื่อมโยงกับอดีตกาล ช่วยให้เรามีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเห็นคุณค่าสิ่งที่พระเจ้าได้ทำ โดยดำเนินงานตามแผนการของพระองค์ เพื่อความรอดของเรา

แง่มุมหนึ่งของเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับคำประกาศต่อหญิงสาวชาวยิว ชื่อมีเรียม หรือมารี เธอได้รับการเลือกให้เป็นมารดาพระบุตรของพระเจ้า

เมื่อถึงเดือนที่หก พระเจ้าส่งทูตสวรรค์กาเบรียล มายังเมืองหนึ่งในแคว้นกาลิลี ชื่อนาซาเร็ธ มาหาหญิงพรหมจารีที่ได้หมั้นหมายกับชายคนหนึ่ง ชื่อโยเซฟ เป็นคนในวงศ์วานดาวิด หญิงพรหมจารีชื่อมารี[1]

ตามธรรมเนียมในสมัยนั้น มารีหมั้นหมายกับโจเซฟ ซึ่งถือกันว่าเธอแต่งงานกับเขาตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าเธอยังไม่ได้อยู่กินกับเขา ยังไม่มีพิธีแต่งงาน และยังไม่มีการสมรส ท่านลูกาซึ่งเขียนพระกิตติคุณ กล่าวไว้สองครั้งว่ามารีเป็นหญิงพรหมจารี

ทูตสวรรค์เกเบรียลประกาศถึงสิ่งที่น่าทึ่งใจนี้ต่อมารี

ทูตสวรรค์มาหาหญิงพรหมจารี กล่าวว่า “เธอผู้ซึ่งเป็นที่ทรงโปรดปราน จงจำเริญเถิด พระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่กับเธอ เธอได้รับพรท่ามกลางสตรีทั้งปวง” เมื่อมารีเห็นทูตสวรรค์ ก็ตกใจเพราะคำกล่าวนั้น และรำพึงว่าหมายถึงอะไร ทูตสวรรค์จึงกล่าวแก่เธอว่า “มารี อย่ากลัวเลย เพราะพระเจ้าทรงโปรดปรานเธอ เธอจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย จงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู” บุตรนั้นจะเป็นใหญ่ และจะเป็นบุตรของพระเจ้าสูงสุด พระผู้เป็นเจ้าจะประทานบัลลังก์ของดาวิดบรรพบุรุษให้แก่ท่าน ท่านจะครอบครองวงศ์วานของยาโคบสืบไป และอาณาจักรของท่านจะไม่รู้สิ้นสุด”[2]

หกเดือนก่อนหน้านั้น ทูตสวรรค์องค์เดียวกันมาปรากฏต่อเศคาริยาห์ สามีเอลีซาเบธ ญาติของแมรี ขณะที่เขาอยู่ในวิหารที่เยรูซาเล็ม และประกาศว่าเอลีซาเบธจะตั้งครรภ์เช่นกัน ทูตสวรรค์เกเบรียลกล่าวกับเศคาริยาห์ว่า

ท่านจะมีความยินดีปรีดา คนเป็นอันมากจะเปรมปรีดิ์ที่บุตรนั้นบังเกิดมา เพราะว่าเขาจะเป็นใหญ่ในสายตาพระผู้เป็นเจ้า เขาจะไม่ดื่มน้ำองุ่นหรือสุรา เขาจะประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ตั้งแต่ครรภ์มารดา เขาจะนำชนชาติอิสราเอลมากมายให้หันกลับมาหาพระผู้เป็นเจ้า เขาจะนำหน้าพระองค์ ด้วยวิญญาณและพลังอำนาจอย่างเอลียาห์ โดยให้พ่อกลับคืนดีกับลูก และคนที่ไม่เชื่อฟังกลับมีปัญญาของคนชอบธรรม เพื่อจัดเตรียมชนชาติไว้ให้สมกับพระผู้เป็นเจ้า[3]

ทั้งสองคำประกาศมอบให้โดยผู้ส่งข่าวจากเบื้องบน คือทูตสวรรค์ ทั้งอธิบายว่าบุตรทั้งสองคนจะเกิดมาในสถานการณ์ที่เป็นผลงานของพระเจ้า เพราะมารีเป็นหญิงพรหมจารี ส่วนเอลีซาเบธทั้งชราภาพและเป็นหมัน

มารีได้รับการบอกกล่าวให้ตั้งชื่อบุตรว่าเยซู ส่วนเศคาริยาห์ได้รับคำแนะนำให้ตั้งชื่อบุตรว่ายอห์น

เมื่อเศคาริยาห์เห็นก็ตกใจกลัว แต่ทูตสวรรค์กล่าวแก่ท่านว่า “เศคาริยาห์ อย่ากลัวเลย ด้วยทรงฟังคำอธิษฐานของท่านแล้ว นางเอลีซาเบธภรรยาของท่านจะมีบุตรชาย ท่านจะตั้งชื่อบุตรว่ายอห์น[4]

เศคาริยาห์ตกใจกลัว เมื่อเห็นทูตสวรรค์ มารีก็เช่นกัน ทั้งสองได้รับการบอกกล่าวว่าอย่ากลัว

มารีถามว่า

ฝ่ายมารีกล่าวกับทูตสวรรค์ว่า “จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะข้าพเจ้ายังหาได้ร่วมกับชายใดไม่”[5]

เศคาริยาห์ถามเช่นกันว่า

เศคาริยาห์จึงกล่าวกับทูตสวรรค์ว่า “ข้าพเจ้าจะรู้แน่ได้อย่างไร เพราะข้าพเจ้าชราภาพ ภรรยาก็อายุมากแล้ว”[6]

คำประกาศถึงกำเนิดของยอห์นผู้รับบัพติศมา และพระเยซู มีแบบแผนที่คล้ายคลึงกันกับเรื่องราวในพระคัมภีร์เดิม เกี่ยวกับกำเนิดของอิชมาเอล อิสอัค และแซมสัน

ข้อคล้ายคลึงบางประการในเรื่องราวดังกล่าว ได้แก่

  1. ทูตสวรรค์มาปรากฏ (หรือพระองค์มาปรากฏ)
  2. เกิดความกลัว ความทึ่งใจ หรือการนอนราบกับพื้นต่อหน้าทูตสวรรค์หรือผู้ส่งข่าว
  3. ข่าวสารจากเบื้องบน ประกอบด้วยรายละเอียดต่อไปนี้หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้น
  1. คำคัดค้านว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือการขอสัญญาณบ่งบอก
  2. การมอบสัญญาณบ่งบอก

รูปแบบดังกล่าวเห็นได้ในเรื่องราวของฮาการ์ มารดาอิชมาเอล เมื่อทูตสวรรค์มาหานางกลางทะเลทราย ทูตสวรรค์ร้องเรียกชื่อนาง “ฮาการ์ เจ้าจะไปไหน” นางประหลาดใจ กล่าวว่า “พระเจ้าทอดพระเนตรข้า” เพราะนางกล่าวว่า “ข้าเห็นพระองค์ ผู้ทอดพระเนตรข้า” ทูตสวรรค์กล่าวกับนางว่า “เจ้าตั้งครรภ์ จะคลอดบุตรชาย และจะเรียกชื่อเขาว่า อิชมาเอล เขาจะอาศัยอยู่ต่อหน้าบรรดาพี่น้องของเขา”[7]

จะเห็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกันนี้เช่นกัน ในเรื่องราวของอับราฮามกับซาราห์ ภรรยาของเขา ผู้ซึ่งเป็นหมัน

พระองค์มาปรากฏต่ออับราฮาม วัยเก้าสิบเก้าปี กล่าวกับเขาว่า “เราเป็นพระเจ้า ผู้ทรงอำนาจ” อับราฮามซบหน้าลงกับพื้นดิน พระองค์ป่าวประกาศว่าภายในหนึ่งปีพระองค์จะมอบบุตรชายให้อับราฮาม จากซารายภรรยาของเขา และเธอจะใช้ชื่อว่าซาราห์ อับราฮามข้องใจว่าจะเป็นไปได้อย่างไร โดยนึกในใจว่า “ชายผู้มีอายุหนึ่งร้อยปีจะให้กำเนิดบุตรได้หรือ ซาราห์ผู้มีอายุเก้าสิบปีแล้วจะคลอดบุตรหรือ” อับราฮามได้รับคำสั่งให้ตั้งชื่อบุตรว่าอิสอัค พระเจ้ากล่าวว่าพระองค์จะทำพันธสัญญากับอิสอัค และกับเชื้อสายของเขา[8]

เราเล็งเห็นความคล้ายคลึงกัน เมื่อแซมซันถือกำเนิด

ทูตสวรรค์มาปรากฏแก่หญิงผู้เป็นหมัน และบอกเธอว่าเธอจะให้กำเนิดบุตร เขาไม่ควรดื่มน้ำองุ่นหรือสุรา ไม่ควรทานอะไรที่ไม่สะอาด เพราะเขาจะเป็นพวกนาศีร์[9] ผู้ถวายตนต่อพระเจ้าตลอดชีวิต แล้วมาโนอาห์ สามีของนางวิงวอนขอให้พระองค์ส่งทูตสวรรค์มาอีกครั้ง ซึ่งพระองค์ได้ทำเช่นนั้น เมื่อทูตสวรรค์มาเยือนครั้งที่สอง มาโนอาห์กับภรรยาได้เผาเครื่องบูชาถวายพระองค์ แล้วทูตสวรรค์ล่องลอยขึ้นไปในไฟจากเครื่องบูชา เมื่อเห็นเช่นนี้ มาโนอาห์กับภรรยาซบหน้าลง มาโนอาห์หวาดกลัว และบอกภรรยาว่า “เราจะตายเป็นแน่ เพราะเราได้เห็นพระเจ้า”[10]

อีกแง่มุมหนึ่งของเรื่องที่น่าสังเกต คือ หญิงสามคนตั้งครรภ์อย่างมหัศจรรย์ ทั้งซาราห์กับเอลีซาเบธเป็นหมันและแก่ชรา มารดาของแซมสันก็เป็นหมัน ถึงแม้ว่าพระคัมภีร์เดิมไม่ได้บันทึกอายุของนางไว้ ทั้ง ๆ ที่หญิงสามคนมีสภาพการณ์แตกต่างกัน แต่ไม่มีคนใดที่สามารถตั้งครรภ์ได้ ถ้าหากพระเจ้าไม่ยื่นมือเข้ามา คู่สามีภรรยาแต่ละคู่ได้สัมผัสการถือกำเนิดที่มหัศจรรย์ ตามที่พระองค์บอกไว้

ทว่ามารีแตกต่างออกไป

เธอเป็นหญิงพรหมจารี ถึงแม้ว่าเราได้เห็นพลังมหัศจรรย์ของพระเจ้า ในการกำเนิดที่มหัศจรรย์ก่อนหน้านี้ แต่ไม่มีแบบอย่างใดเลยในพระคัมภีร์เดิม ที่หญิงผู้ซึ่งไม่เคยหลับนอนกับชายใดตั้งครรภ์ ซาราห์และเอลีซาเบธฟันฝ่าวัยและความเป็นหมัน ด้วยมหัศจรรย์ของพระเจ้า แต่การที่มารีปฏิสนธิต้องอาศัยมหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่กว่า เป็นการแสดงถึงพลังสร้างสรรค์ครั้งใหม่ของพระเจ้าโดยสิ้นเชิง

มารีถามทูตสวรรค์ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร

“จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะข้าพเจ้ายังหาได้ร่วมกับชายใดไม่” ทูตสวรรค์ตอบว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะลงมา และพลังอำนาจของผู้สูงสุดจะปกคลุมเธอ เหตุฉะนั้นองค์บริสุทธิ์ที่บังเกิดมา จะได้ชื่อว่า พระบุตรของพระเจ้า”[11]

แทนที่พระเจ้าจะหักล้างอุปสรรคทางกายบางอย่าง เช่น ความเป็นหมัน หรือวัยชรา นี่เป็นการที่พระเจ้าสร้างสรรค์ใหม่หมด ไม่เหมือนใคร

พระวิญญาณบริสุทธิ์ปกคลุมมารี และดำเนินการสร้างสรรค์ของพระเจ้า โดยเชื่อมโยงการยื่นมือเข้ามาอย่างเหนือธรรมชาติ กับข้อความเบิกโรงในหนังสือปฐมกาล

แผ่นดินโลกปราศจากรูปร่าง และว่างเปล่า ความมืดอยู่เหนือผิวน้ำ พระวิญญาณของพระเจ้าปกคลุมอยู่เหนือผิวน้ำ”[12]

ผู้ประพันธ์ เรย์มอนด์ อี บราวน์ บ่งบอกไว้ดังนี้

พระวิญญาณที่ปกคลุมมารี ใกล้เคียงกับพระวิญญาณของพระเจ้าที่ปกคลุมอยู่เหนือน้ำ ก่อนการสร้างสรรค์ ในปฐมกาล 1:2 แผ่นดินโลกปราศจากรูปร่าง และว่างเปล่า เมื่อพระวิญญาณปรากฏ เช่นเดียวกับครรภ์ของมารีที่ว่างเปล่า จนพระวิญญาณของพระเจ้าเติมเต็มด้วยทารก ผู้เป็นพระบุตรของพระองค์[13]

ต่อมาในพระกิตติคุณของท่านลูกา เราได้ยินถึง การปกคลุม อีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างอิงถึงการที่พระเยซูแปลงร่าง ตอนที่พระองค์อยู่บนภูเขากับเปโตร ยากอบ และยอห์น ขณะที่พระองค์อธิษฐาน ใบหน้าของพระองค์เปลี่ยนไป และเสื้อผ้าของพระองค์ขาวเป็นประกาย คล้ายคลึงกับข่าวสารที่ป่าวประกาศ ซึ่งเราได้ยินได้ฟังว่าพระเยซูคือพระบุตรของพระเจ้า[14]

มีเมฆมาคลุมเขาไว้ เมื่อเข้าไปอยู่ในเมฆ เขาก็กลัว มีเสียงออกมาจากเมฆนั้นว่า “ผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา จงฟังท่านเถิด!”[15]

เมื่อพระเยซูรับบัพติศมาที่แม่น้ำจอร์แดน เราก็เห็นเงาบังแสงเพื่อป่าวประกาศ ขณะที่พระวิญญาณบริสุทธิ์เลื่อนลอยลงมาสู่พระองค์ และมีการป่าวประกาศอีกครั้งหนึ่งว่าพระเยซูคือพระบุตรของพระเจ้า

เมื่อพระเยซูรับบัพติศมาแล้ว ขณะที่อธิษฐาน ท้องฟ้าแหวกออก พระวิญญาณบริสุทธิ์รูปสัณฐานเหมือนนกเขาบินลงมาเกาะพระองค์ มีเสียงจากสวรรค์ กล่าวว่า “บุตรที่รักของเรา เราพอใจมาก”[16]

แบบอย่างเพิ่มเติมของเสียงก้องกังวานในพระคัมภีร์เดิม เกี่ยวกับเรื่องราวการประสูติ คือ ข้ออ้างอิงในคำประกาศของทูตสวรรค์ต่อมารี ในคำพยากรณ์ที่นาธานมอบไว้เกี่ยวกับเชื้อสายของกษัตริย์ดาวิด หนึ่งพันปีก่อนหน้านั้น คำพยากรณ์นี้เป็นพื้นฐานการที่ชนชาติอิสราเอลคาดหมายพระมาซีฮา คำพยากรณ์ส่วนหนึ่งของนาธานกล่าวว่า

เราจะทำให้เจ้ามีชื่อเสียง[17] เราจะสถาปนาบัลลังก์ราชอาณาจักรของเขาเป็นนิจ[18] เราจะเป็นบิดาของเขา เขาจะเป็นบุตรของเรา[19] ราชวงศ์ของเจ้าและอาณาจักรของเจ้าจะดำรงอยู่ต่อหน้าเจ้าอย่างมั่นคงเป็นนิจ[20]

ความหวังและความคาดหมายของชาวยิวสมัยที่พระเยซูประสูติ คือ พระมาซีฮา ผู้เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ซึ่งจะได้รับการเจิมจากพระเจ้า จะเรืองอำนาจในอิสราเอล ฐานะที่เป็นราชาและผู้นำ ไม่มีการคาดหมายเลยว่าพระมาซีฮาจะเป็นพระบุตรของพระเจ้า

อย่างไรก็ตาม ทูตสวรรค์เกเบรียลใช้ถ้อยคำที่คล้ายคลึงกันกับคำพยากรณ์ของนาธาน โดยบ่งบอกว่าบุตรของมารีจะยิ่งใหญ่ พระเจ้าจะมอบบัลลังก์ของดาวิดให้เป็นนิจ อาณาจักรของท่านจะไม่รู้สิ้นสุด ข้อสำคัญที่สุด ท่านจะได้ชื่อว่าเป็นพระบุตรของพระผู้สูงสุด[21]

ในแบบอย่างบางประการที่คล้ายคลึงกันนี้ ระหว่างเรื่องราวการประสูติของพระเยซู กับเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงกันในพระคัมภีร์เดิม เราเห็นสื่อเชื่อมโยงซึ่งชี้ให้เห็นมหัศจรรย์แสนวิเศษในความรักที่พระเจ้ามีต่อเรา และผลงานของพระองค์ในประวัติศาสตร์โดยตลอด เพื่อนำความรอดมาสู่มวลมนุษย์ พระเยซู พระบุตรของพระเจ้า มาสู่โลกนี้ในฐานะกำนัลรักจากพระเจ้า ชีวิต ความตาย และการฟื้นคืนชีพของพระองค์ ช่วยให้เราได้เชื่อมสัมพันธ์กับพระเจ้า ในแง่ที่เป็นส่วนตัวและแนบชิดยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ด้วยของกำนัลที่พระเจ้ามอบให้มวลมนุษย์ เราได้ค้นพบความยินดีและความสุข ในการเป็นลูกคนหนึ่งของพระเจ้า การได้อยู่กับพระองค์ตลอดไป ซึ่งเป็นของกำนัลที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนนาน

ขอให้คริสต์มาสเป็นช่วงเวลาที่แสนวิเศษ ฉลองการประสูติของท่านผู้มีชีวิตและยอมตายเพื่อเราแต่ละคน คือ พระเยซู พระบุตรของพระเจ้า ผู้สละชีวิตของพระองค์ เพื่อเราจะได้อยู่กับพระองค์ตลอดไป นี่คือของกำนัลที่พระเจ้ามอบให้มวลมนุษย์[22]

คุณอยากมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ให้ความพึงพอใจ กับพระเจ้าแห่งความรักไหม คุณรับพระเยซูไว้ในใจได้ตอนนี้ โดยกล่าวคำอธิษฐานง่าย ๆ ด้วยความจริงใจว่า
พระเยซูที่รัก โปรดให้อภัยต่อบาปทั้งสิ้นที่ฉันได้ก่อ ฉันเชื่อว่าพระองค์ยอมสละชีวิตเพื่อฉัน ฉันเชื่อว่าพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า ฉันขอให้พระองค์เข้ามาสู่ชีวิตฉัน ขอให้พระองค์เข้ามาในใจฉัน พระเยซู และช่วยฉันให้บอกกล่าวต่อผู้อื่น เพื่อเขาจะได้พบพระองค์เช่นกัน ในนามของพระเยซู ฉันขออธิษฐาน

[1] ลูกา 1:26-27

[2] ลูกา 1:28-33

[3] ลูกา 1:14-17

[4] ลูกา 1:12-13

[5] ลูกา 1:34

[6] ลูกา 1:18

[7] ดู ปฐมกาล 16

[8] ดู ปฐมกาล 17

[9] ผู้ที่ได้รับเลือกหรือถวายตนตลอดชีพ หรือช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อทำตามสัตย์ปฏิญาณต่อพระเจ้า พวกนาศีร์อุทิศตนต่อวินัยที่กำหนดขึ้นมาเอง เพื่อทำงานรับใช้เป็นพิเศษ ตามธรรมเนียมของชาวอิสราเอลถือว่าพวกนาศีร์ถวายตนตลอดชีพ แซมสันเป็นวีรบุรุษของพวกนาศีร์ในโบราณกาล เขา “ถวายตนต่อพระเจ้า” จากคำสัตย์ปฏิญาณของมารดา (ผู้วินิจฉัย 13:5, 16:17) เขาทำตามคำสัตย์ปฏิญาณนั้น “จนวันตาย” (ผู้วินิจฉัย 13:7) ตราบใดที่แซมสันไม่ตัดผม เขาก็“ได้รับพลังจากวิญญาณของพระองค์” จึงทำการอาจหาญที่น่าทึ่งใจ ดับบลิว เอ เอเวลล์ และ บี เจ เบทเซล ใน สารานุกรมพระคัมภีร์ของเบเกอร์ (แกรนด์ราปิดส์ เอ็มไอ: สำนักพิมพ์เบเกอร์บุ๊คเฮาส์ ค.ศ. 1988)

[10] ผู้วินิจฉัย 13

[11] ลูกา 1:34-35

[12] ปฐมกาล 1:2

[13] หนังสือ The Birth of the Messiah (กำเนิดของพระมาซีฮา) (นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์ดับเบิลเดย์ ค.ศ. 1993) หน้า 314

[14] ลูกา 9:29-35

[15] ลูกา 9:34-35

[16] ลูกา 3:21-22

[17] 2 ซามูเอล 7:9

[18] 2 ซามูเอล 7:13

[19] 2 ซามูเอล 7:14

[20] 2 ซามูเอล 7:16

[21] ลูกา 1:32-33

[22] ประเด็นในบทความนี้ หยิบยกมาจากคำสอนของ เรมอนด์ อี บราวน์ ในหนังสือชื่อ The Birth of the Messiah (นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์ดับเบิลเดย์ ค.ศ. 1993)

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้