อย่ายอมแพ้เป็นอันขาด!

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

กันยายน 9, 2014

บางครั้งชีวิตก็ยากลำบาก

เมื่อคุณเรียนหนักที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่สอบไม่ผ่าน ความฝันยังเกินเอื้อม คุณรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว คุณคงอยากจะยอมแพ้

บางครั้งเราทุกคนคงรู้สึกเช่นนั้น คุณอาจตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นเมื่อไม่นานมานี้ อันที่จริงแล้วคุณรู้สึกอยากยอมแพ้เดี๋ยวนี้เลย

เมื่อคุณล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่า คุณจะฟันฝ่าไปได้อย่างไร

ผมทราบวิธี คุณก็เช่นกัน

ก้าวไปต่อยังไงล่ะ!

ไม่ว่าเป็นจะยังไง คุณก็ต้องก้าวต่อไป! ดังที่วินสตัน เชอร์ชิล กล่าวว่า “ถ้าคุณกำลังฝ่าขุมนรก ก้าวต่อไป”

นั่นอาจเป็นการประเมินเรื่องซับซ้อนให้ดูง่ายเกินไป ทว่าจริงๆ แล้ว ในที่สุดถ้าจะบรรลุผลสำเร็จที่สำคัญ เราก็ต้องสู้ต่อไป วันแล้ววันเล่า ไม่ว่าจะประสบกับอุปสรรคอะไร เมื่อเผชิญหน้ากับความผิดหวัง หรือแม้แต่ความล้มเหลว ก็ถึงเวลาแล้วที่จะพยายามอีกครั้ง ทำงานหนักขึ้น ศึกษาเพิ่มเติม และอธิษฐานสุดจิตสุดใจ

ผลสำเร็จยิ่งใหญ่ทุกอย่างต้องอาศัยการทุ่มเทงานและเวลา ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ เมื่อความคืบหน้าเป็นไปอย่างเชื่องช้า และแผนการหรือความฝันไม่เกิดขึ้นรวดเร็วตามที่หวังไว้ ก็ง่ายที่จะนึกสงสัยว่ามีบางสิ่งผิดไป พระองค์จึงไม่อวยพร อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งผมเชื่อว่าเมื่อเราเจออุปสรรค เราเพียงก้าวต่อไปด้วยฝีเท้าตามปกติ เพื่อทำความคืบหน้าจนประสบผลสำเร็จ ไม่ใช่ว่าเราต้องมอบให้มากขึ้น หรือเสียสละมากกว่าคนส่วนใหญ่ เปล่าเลย เส้นทางสู่ความสำเร็จก็เป็นเช่นนี้แหละ นี่คือค่าแลกเปลี่ยนความสำเร็จของใครก็ตามที่ต้องการสร้างสรรค์ความแตกต่างในงานอาชีพที่เขาเลือก

หากเราเริ่มการผจญภัยครั้งใหม่ และคาดหมายผลลัพธ์โดยเร็ว ถ้าไม่เกิดผลเช่นนั้น หรือเมื่อไม่เกิดขึ้นตามนั้น เราคงรู้สึกผิดหวัง และถึงกับหมดกะจิตกะใจ หนำซ้ำเราอาจถูกล่อใจให้ล้มเลิก ถ้าเราตระหนักได้ว่าเส้นทางที่พระเจ้าวางไว้ให้เรา มีแนวโน้มว่าจะไม่ใช่หนทางที่ง่ายดาย เมื่อนั้นเราก็จะเผชิญความท้าทายอย่างกระตือรือร้น เราจะไม่เผลอหรือออกนอกลู่นอกทาง เมื่อการมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย อาจดูสับสน ต้องเหน็ดเหนื่อย และใช้เวลามากกว่าที่เราคาดคิดไว้หลายเท่า

พระเจ้าดำเนินงานกับเราแต่ละคนแตกต่างกันไป เราแต่ละคนดำเนินไปบนเส้นทางของเราเอง เส้นทางที่อาจนำเราไปสู่ทิวทัศน์งดงาม และหุบเขามืดมัว ในระยะต่างๆ ของการเดินทาง

โทนี่ สโนว์ อธิบายความท้าทายในชีวิตไว้ดังนี้

“พระเจ้าชื่นชอบความแปลกใจ เราต้องการชีวิตที่เรียบง่าย สบายๆ และคาดเดาได้ เป็นเส้นทางที่ราบเรียบสุดลูกหูลูกตา ทว่าพระเจ้าชอบเส้นทางวิบาก พระองค์ให้เราไปอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งดูเหมือนจะท้าทายความอดทนและความเข้าใจของเรา ทว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ด้วยความรักและความปรานีของพระองค์ เราก็บากบั่นต่อไป ความท้าทายที่ทำให้เรารู้สึกปั่นป่วน ช่วยเสริมสร้างศรัทธา มอบสติปัญญา และความยินดี ที่เราคงไม่ได้สัมผัส หากไม่ได้เป็นเช่นนั้น”

โทนี่ สโนว์ วัย 51 ปี มีบุตรสามคน ป่าวประกาศถ้อยคำที่ให้แรงบันดาลใจดังกล่าว ขณะที่เขากำลังต่อสู้กับมะเร็ง[1]

มีวิธีรับมือหลายอย่างที่แตกต่างกันไป เมื่อเผชิญหน้ากับอุปสรรคและความผิดหวัง ผมไม่คิดว่ามีสูตรหนึ่งสูตรใดที่เป็นเลิศ ในการฟันฝ่าความยากลำบาก ไม่มีรายการแน่ชัดที่เป็น “ข้อควรทำ” ถ้าคุณหาทางรวบรวมความกล้าและพละกำลัง เพื่อทนรับความกลัว ความเครียด ความปวดร้าวใจ ความหงุดหงิด หรือความท้าทายอื่นใด ซึ่งควบคู่มากับช่วงเวลายากลำบาก มีสิ่งที่ช่วยเราให้ฟันฝ่าช่วงย่ำแย่ที่สุดไปได้ คือ การอธิษฐาน และขอให้คนอื่นอธิษฐานกับเรา ขอคำแนะนำจากเพื่อนหรือที่ปรึกษาผู้ที่คุณไว้วางใจ ปลีกตัวไปจากสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อนึกคิด มีมุมมองใหม่ และมีความเข้าใจโดยรวมดีขึ้น เกี่ยวกับทางเลือกที่มีอยู่ ได้แก่ รับฟังจากพระองค์ (ผ่านช่วงเวลาเชื่อมสัมพันธภาพกับพระเจ้าหรือรับคำพยากรณ์) อ่านพระคำและข้อเขียนที่ให้แรงบันดาลใจหรือปลอบโยน หรือเปิดใจพูดคุยกับคนอันเป็นที่รัก

บ่อยครั้งผมพบแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงเกี่ยวกับผู้คนที่บรรลุผลสำเร็จยิ่งใหญ่ เมื่อเผชิญหน้ากับความยากลำบากหรือความพิการ กีฬาเป็นตัวอย่างยอดเยี่ยมในเรื่องนี้ เพราะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ และมีวิธีการวัดความสำเร็จที่ชัดเจน เรื่องเล่าหรือภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้คนที่ฟันฝ่าความท้าทาย เพื่อเล่นกีฬาอย่างเป็นเลิศ คือสิ่งที่กินใจผม

ยกตัวอย่างเช่น

คืนวันจันทร์ ขณะที่มีการแข่งขันฟุตบอล ระหว่างทีมชิคาโกแบร์สกับนิวยอร์คไจแอนส์ โฆษกคนหนึ่งสังเกตว่าวอลเทอร์ เพย์ตัน นักวิ่งกองหลังของทีมแบร์ส สะสมแต้มด้วยการถือลูกวิ่งระยะกว่าเก้าไมล์ โฆษกอีกคนหนึ่งกล่าวเสริมว่า “ใช่ ทั้งๆ ที่มีคนชนเขาล้มทุก 4.6 หลา!” วอลเทอร์ เพย์ตัน นักวิ่งกองหลังผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ทราบดีว่าทุกคน แม้แต่คนที่เก่งที่สุด ก็ถูกชนล้ม กุญแจไขไปสู่ความสำเร็จ คือ ลุกขึ้นมาวิ่งต่อให้เร็วเท่าเดิม[2]

บทเรียนนี้ชัดเจน เราเองก็ต้องลุกขึ้นมาวิ่งต่อให้เร็วเท่าเดิม เมื่อถูกชนล้ม

บางครั้งนักกีฬาผู้ยิ่งใหญ่ฟันฝ่าอุปสรรคมหาศาล นี่ส่งเสริมเรื่องราวน่าทึ่งใจในความอาจหาญและความพากเพียร ดังเช่นเรื่องราวของ วิลม่า รูดอล์ฟ

[เธอ] ไม่ได้เปรียบมากนักในชีวิต โรคโปลิโอทำให้ขาของเธอโก่ง และเท้างอเข้าข้างใน เธอจึงต้องสวมปลอกขา หลังจากการบำบัดที่เจ็บปวดตลอดเจ็ดปี เธอเดินได้โดยไม่ต้องสวมปลอกขา เมื่ออายุ 12 ปี วิลม่าลองสมัครทีมบาสเก็ตบอลหญิง แต่ไม่ผ่าน เธอมีความตั้งใจแน่วแน่ จึงฝึกกับเพื่อนหญิงและเด็กผู้ชายสองคนทุกวัน ปีต่อมาเธอผ่านและเข้าร่วมทีม เมื่อโค้ชนักวิ่งมหาวิทยาลัยเห็นเธอเล่นเกม เขาชวนเธอฝึกเป็นนักวิ่ง เมื่ออายุ 14 ปี เธอวิ่งชนะนักวิ่งเร็วที่สุดในสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1956 วิลม่าเข้าร่วมทีมโอลิมปิกสหรัฐฯ ทว่าเล่นได้ไม่ดี ความผิดหวังอันขมขื่นครั้งนั้นกระตุ้นเธอให้พยายามหนักขึ้น สำหรับกีฬาโอลิมปิก ปี 1960 ในกรุงโรม ที่นั่น วิลม่า รูดอล์ฟ ชนะเหรียญทองสามเหรียญ เป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่นักกีฬาหญิงเคยชนะ[3]

กีฬาไม่ใช่สังเวียนเดียวที่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์และความพากเพียร คุณจะพบแบบอย่างที่ยิ่งใหญ่ในทุกแวดวงชีวิต รวมไปถึงด้านธุรกิจ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ลือชื่อทีเดียว

อัจฉริยะด้านรถยนต์ เฮนรี่ ฟอร์ด เคยคิดค้นแผนปฏิวัติเครื่องยนต์ประเภทใหม่ ซึ่งปัจจุบันเรารู้จักกันในนาม V-8 ฟอร์ดกระตือรือร้นที่จะนำไอเดียใหม่ชั้นยอดไปผลิต พนักงานร่างแผนการและนำเสนอวิศวกร ขณะที่วิศวกรศึกษาแบบแปลน แต่ละคนสรุปเหมือนกันว่า เจ้านายผู้มีวิสัยทัศน์ของเขาไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับหลักวิศวกรรมพื้นฐาน จึงค่อยๆ บอกอย่างอ่อนโยน ว่าความฝันของเขาเป็นไปไม่ได้ ฟอร์ดตอบว่า “ผลิตเลย” เขาตอบว่า “แต่เป็นไปไม่ได้” “ทำเลย” ฟอร์ดบัญชา “ทำจนกว่าจะสำเร็จ ไม่ว่าต้องอาศัยเวลามากแค่ไหน” เขาดิ้นรนกับแบบแปลน แปลนแล้วเล่า ดีไซน์แล้วดีไซน์เล่า เป็นเวลาหกเดือน ไม่เกิดผลอะไร อีกหกเดือน ไม่มีผลอะไร ตอนปลายปีฟอร์ดตรวจสอบกับวิศวกร เขาบอกฟอร์ดอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นไปไม่ได้ ฟอร์ดบอกเขาให้ทำต่อไป พวกเขาทำต่อ แล้วเขาก็ค้นพบวิธีสร้างเครื่องยนต์ V-8[4]

ผมคิดว่าเราหลีกเลี่ยงความหงุดหงิดหรือความสับสนที่อาจประสบได้อย่างมาก ถ้าเรามีทัศนคติว่าการบรรลุเป้าหมายจะต้องอาศัยเวลา ไม่มีทางอ้อม แน่นอนว่าจะมีอุปสรรค แต่ถ้าเราฟันฝ่าไปด้วยความพากเพียร ในที่สุดเราก็จะประสบความสำเร็จ

“พี่น้อง เมื่อใดที่ท่านเผชิญความทุกข์ยากนานาประการ จงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีจริงๆ เพราะท่านรู้ว่าการทดสอบความเชื่อของท่านนั้น ทำให้เกิดความบากบั่น จงบากบั่นให้ถึงที่สุด เพื่อท่านจะได้เติบโตเต็มที่ และสมบูรณ์เพียบพร้อม โดยไม่มีข้อบกพร่องเลย”[5]

ขอให้เราระลึกไว้ด้วยว่า อุปสรรคไม่ใช่เครื่องบ่งบอกว่าพระเจ้าไม่พอใจ หรือเราพลาดความประสงค์ของพระองค์ไปในบางแง่ อุปสรรคเป็นเพียงแนวทางชีวิตตามปกติธรรมดา และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสู่ผลสำเร็จใดๆ ดังนั้นมีส่วนช่วยได้ที่จะไม่ถือว่าเป็นภัยพิบัติ เมื่อเราพบเจอปัญหาหรือความล่าช้า เพราะว่าการนึกคิดเชิงลบเกี่ยวกับความท้าทาย ทำให้ความศรัทธาถดถอย และขัดขวางการกระทำเชิงบวกที่จะผลักดันฝ่าความยากลำบากไปได้ แทนที่จะคร่ำครวญว่าชีวิตยากลำบาก หรือทุกสิ่งย่ำแย่ จะมีประสิทธิผลมากกว่าที่จะเติมเต็มความคิดด้วยพระคำที่เสริมสร้างศรัทธา เรื่องราวการฟันฝ่าที่เป็นกำลังใจ ข้อคิดที่ให้พลัง และถ้อยคำเชิงบวก

บางครั้งผมตั้งเป้าหมาย แต่เมื่อสิ่งใดก็ตามที่ผมทำอยู่ ลงเอยด้วยการใช้เวลานานกว่าที่วางแผนหรือคาดหมายไว้ ก็น่างุนงง บางครั้งน่าท้อใจ บ่อยครั้งสิ่งต่างๆ ไม่เกิดขึ้นตามเวลาที่เรากำหนดไว้ ทว่าบางทีพระเจ้าอาจมีกำหนดเวลาที่แตกต่างไป ตามแผนการของพระองค์ที่ครอบคลุมทุกด้าน ถ้าเรามีศรัทธาและความตั้งใจแน่วแน่ เราก็จะไม่ยอมล้มเลิก และหาข้ออ้าง เมื่อบางสิ่งไม่ส่งผลตามที่หวังไว้ นั่นคงเป็นการละทิ้งความรับผิดชอบ และจะไม่นำมาซึ่งเป้าหมายในบั้นปลายของการดำเนินชีวิตตามที่หวังไว้ ดังที่ เฮเลน เคลเลอร์ กล่าว ตามที่มีรายงานไว้ว่า “หัวโค้งไม่ใช่จุดสิ้นสุดของถนน... เว้นไว้แต่ว่าคุณจะไม่เลี้ยวไป”

ชีวิตไม่มีความสมดุลเสมอไป บางครั้งคุณจะพบว่าต้องทำงานสองหรือสามเท่า ได้แก่ การงาน ลูกๆ การเรียน ดูแลงานในบ้าน ดูแลคนอันเป็นที่รักหรือเด็กที่เจ็บป่วยหรือพิการ และอื่นๆ ช่วงเวลาที่ยากลำบากจริงๆ เช่นนั้น เพื่อนของผมเรียกว่า “ปีสังหาร” เมื่อคุณมีงานยุ่งมากเกิน คุณอดหลับอดนอน และไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย คุณแทบจะไม่มีเวลาว่าง คุณหมดเรี่ยวแรง หนำซ้ำคุณไม่เห็นความคืบหน้าหรือความสำเร็จที่หวังไว้

ใช่แล้ว นั่นคือ “ปีสังหาร” มันยากลำบาก ถึงกระนั้นคุณก็ต้องผลักดันต่อไป คุณต้องมุ่งหน้าต่อไป

“ความอาจหาญไม่ใช่การไม่มีพละกำลังก้าวต่อไป ทว่าคือการก้าวต่อไป ทั้งๆ ที่หมดพละกำลัง” — ธีโอดอร์ รูสเวลท์

ไม่ว่าคุณกำลังศึกษา เริ่มทำธุรกิจ ล่าฝันในงานอาชีพใหม่ เรียนทักษะใหม่ หรือคุณง่วนอยู่กับการทำอะไรก็ตาม รับประกันได้ว่าคุณคงจะเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างมาก! นี่ปรับใช้ได้แน่นอนกับผู้ที่กำลังบุกเบิกหรือก่อร่างพันธกิจ บ่อยครั้งต้องอาศัยเวลาอย่างมาก ก่อนที่จะเห็นผล คุณอาจเผชิญหน้ากับความยากลำบาก หรือการต่อต้านคัดค้าน บางครั้งเราได้ยินหรืออ่านเกี่ยวกับชายหญิงผู้ที่บรรลุผลสำเร็จยิ่งใหญ่เพื่อพระองค์ เราอาจสรุปว่าเขาประสบความสำเร็จและการเอื้ออำนวยอย่างง่ายดาย แต่เราคงไม่เห็นเรื่องทั้งหมด ขอให้ดูตัวอย่างจากอนุทินชีวิตผู้ประกาศที่ยิ่งใหญ่ และผู้ก่อตั้งโบสถ์เมโธดิสต์ คือ จอห์น เวสลีย์

เช้าวันอาทิตย์ 5 พฤษภาคม ประกาศที่เซนต์แอนส์ โบสถ์ที่นั่นขอไม่ให้กลับมาอีก
บ่ายวันอาทิตย์ 5 พฤษภาคม ประกาศที่เซนต์จอห์นส์ พวกดีคอนบอกว่า “ออกไป และอย่ากลับมา”
เช้าวันอาทิตย์ 12 พฤษภาคม ประกาศที่เซนต์จูดส์ กลับไปที่นั่นไม่ได้อีก
เช้าวันอาทิตย์ 19 พฤษภาคม ประกาศที่เซนต์ซัมบอดีเอลส์ พวกดีคอนเรียกประชุมพิเศษ และบอกว่ากลับมาไม่ได้
บ่ายวันอาทิตย์ 19 พฤษภาคม ประกาศบนท้องถนน โดนไล่
เช้าวันอาทิตย์ 26 พฤษภาคม ประกาศในท้องทุ่ง ถูกไล่ออกมา เพราะมีคนปล่อยวัว ระหว่างที่ประกาศ
เช้าวันอาทิตย์ 2 มิถุนายน ประกาศที่ชานเมือง ถูกไล่จากถนนหลวง
บ่ายวันอาทิตย์ 2 มิถุนายน ประกาศที่ทุ่งหญ้า มีคนจำนวนหนึ่งพันคนพากันมาฟังผม

มีเรื่องจริงมากมายที่เหมือนกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงมนต์ขลังที่เกิดขึ้น เมื่อคุณไม่ยอมแพ้ ในยามที่เผชิญหน้ากับความยากลำบาก พวกเราคนใดอาจค้นข้อมูลออนไลน์หาตัวอย่างหลายร้อยรายของผู้คนที่ทำเช่นนี้ แต่ละเรื่องเป็นสักขีพยานถึงพลังของความพากเพียร

ข้อควรคิดสำหรับชีวิตเรา คือ เมื่อเราไม่ล้มเลิก อะไรก็เป็นไปได้

“อย่ายอมแพ้ อย่ายอมแพ้เป็นอันขาด อย่าเลิกพยายาม อย่าเซ้งกิจการ ถ้าคุณพบว่าตัวเองคล้อยตามความคิดข้างต้นชั่วครู่ ขอให้ลุกขึ้นมา กระซิบคำอธิษฐาน และทำต่อจากที่ค้างไว้ แต่อย่ายอมแพ้เป็นอันขาด”[6]

“อย่าอ่อนใจในการทำดี เพราะถ้าเราไม่ย่อท้อ เราจะได้เก็บเกี่ยวผลในเวลาอันควร”[7]


[1] อดีตโฆษกประจำทำเนียบขาว ในบทความเรื่อง “Cancer’s Unexpected Blessings” (พรที่ไม่คาดหมายจากมะเร็ง) ตีพิมพ์ใน คริสเตียนทูเดย์  20 กรกฎาคม ค.ศ. 2007  โทนี่เสียชีวิตเมื่ออายุ 53 ปี จากมะเร็งลำไส้ใหญ่

[2] เจฟ ควานท์ อิงไว้ในหนังสือของ เออร์วิ่ง วอลเลส เรื่อง The book of Lists (นิวยอร์ค: สำนักพิมพ์แบนแทมบุ๊คส์ ค.ศ. 1980)

[3] บทความเรื่อง Today in the Word ของสถาบันพระคัมภีร์มูดี้ มกราคม ค.ศ. 1992 หน้า 10

[4] นโปเลียน ฮิลล์ ในหนังสือ Think and Grow Rich (เมอริเดียน คอนเนคติกัต:  สำนักพิมพ์รัลสตันโซไซตี้ ค.ศ. 1937)

[5] ยากอบ 1:2-4

[6] ริเชลล์ อี กู๊ดริช ในเรื่อง Eena, The Tempter’s Snare (ค.ศ. 2014)

[7] กาลาเทีย 6:9

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้