ค่านิยมหลักของ TFI: ความรักต่อเพื่อนมนุษย์

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

ตุลาคม 15, 2013

ท่านเป็นแสงสว่างของโลก เมืองที่ตั้งอยู่บนภูเขาจะซ่อนไว้ไม่ได้ เช่นเดียวกัน เมื่อคนจุดตะเกียงแล้ว ย่อมไม่เอาฝาครอบ แต่จะตั้งไว้บนเชิงตะเกียง ให้ส่องสว่างแก่ทุกคนในบ้าน ในทำนองเดียวกัน จงให้ความสว่างของท่านกระจ่างแจ้งต่อหน้าคนทั้งหลาย เพื่อเขาจะเห็นการดีของท่าน และสรรเสริญพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์[1]

เมื่อพระองค์เห็นผู้คน ก็สงสารเขา เพราะเขาถูกรังควานและไร้ที่พึ่ง เหมือนลูกแกะที่ขาดคนเลี้ยง[2]

‘เมื่อเราหิว ท่านก็ให้เรากิน เรากระหาย ท่านก็ให้เราดื่ม เราเป็นคนแปลกหน้า ท่านก็ต้อนรับเรา เราต้องการเครื่องนุ่งห่ม ท่านก็ให้เรา เราเจ็บป่วย ท่านก็ดูแล เราอยู่ในเรือนจำ ท่านก็มาเยี่ยม’ แล้วผู้ชอบธรรมจะถามว่า ‘เมื่อใดกันที่ข้าเห็นพระองค์หิว และได้เลี้ยงดูพระองค์ หรือเห็นพระองค์กระหาย และได้ให้พระองค์ดื่ม เมื่อใดกันที่ข้าเห็นพระองค์เป็นคนแปลกหน้า และได้ต้อนรับ หรือถวายเครื่องนุ่งห่มพระองค์ เมื่อใดกันที่ข้าเห็นพระองค์เจ็บป่วยหรืออยู่ในเรือนจำ และได้ไปเยี่ยมพระองค์' องค์ราชันจะตอบว่า 'เราบอกความจริงแก่ท่านว่า สิ่งใดที่ท่านทำให้แก่ผู้เล็กน้อยที่สุดคนหนึ่งในพวกพี่น้องของเรา ท่านก็ได้ทำให้เราด้วย’[3]

เพราะความรักของพระคริสต์ครองใจเรา[4]

เหตุฉะนั้นท่านจงเลียนแบบพระเจ้าให้สมกับเป็นบุตรที่รัก[5]

ค่านิยมหลักที่สี่ของเดอะแฟมิลี่นานาชาติ คือ

ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ความรักที่ไม่มีข้อแม้ของพระเจ้าต่อมวลมนุษย์นั้น ไม่มีขอบเขตจำกัดในด้านสีผิว ความเชื่อ หรือสถานภาพ ซึ่งมอบแรงจูงใจและแนวทาง ในการช่วยให้เราตอบสนองความจำเป็นของผู้ที่เราติดต่อพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นในทางวิญญาณ หรือเชิงปฏิบัติ

พระเจ้ารักโดยไม่มีข้อแม้ ไม่มีข้อแม้หมายความว่าอย่างไร เราอาจกล่าวได้ว่าความรักของพระเจ้าไม่มีขอบเขต ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่มีขีดจำกัด ความรักที่ไม่มีข้อแม้ บางครั้งก็มีคำนิยามว่าเป็นความรักที่ “มอบให้เปล่าๆ” ต่อคนอันเป็นที่รัก “ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม”

เราแต่ละคนต่างก็ทำบาป บาปแยกเราจากพระเจ้า และไม่มีอะไรที่เราทำได้เอง ซึ่งจะสมานรอยร้าวนั้น อย่างไรก็ตาม พระเจ้ารักเรา ความรักของพระองค์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา เพราะเราไม่ได้ทำอะไรถึงจะได้รับความรักของพระองค์ พระองค์รักเราทั้งๆ ที่เราชอบทำบาป พระองค์รักผู้ที่ไม่รักพระองค์ พระองค์รักเราทุกคน “ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม” นั่นไม่ได้หมายความว่าพระองค์ชอบทุกสิ่งที่เราทำ ทว่าพระองค์รักเรา อันที่จริงแล้ว พระองค์รักมนุษย์มากเหลือเกิน พระองค์จึงทำให้เป็นไปได้ที่รอยร้าวซึ่งเกิดจากบาปและการที่เราทำผิด ได้รับการสมาน ผ่านการพลีชีพที่เสียสละจากพระบุตรของพระองค์ คือพระเยซู ถึงแม้ว่าเราเป็นคนบาป เนื่องจากความรักที่พระองค์มีต่อเรา ทำให้เป็นไปได้ที่เราจะสมานไมตรีกับพระองค์

ดังที่กล่าวไว้ในโรม บทที่ 5: “เมื่อเรายังขาดพลัง พระคริสต์ได้สิ้นพระชนม์เพื่อคนบาป ในเวลาอันเหมาะ น้อยนักที่จะมีใครยอมตายเพื่อคนชอบธรรม แม้ว่าอาจจะมีบางคนกล้าที่จะตายเพื่อคนดี แต่พระเจ้าแสดงความรักของพระองค์แก่เรา คือ ขณะที่เรายังเป็นคนบาป พระคริสต์ได้สิ้นชีพเพื่อเรา”[6]

สภาพภาพแบบไม่มีข้อแม้ของความรักที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์ เล็งเห็นได้ชัดเจนที่สุดในพระกิตติคุณ ข่าวสารในพระกิตติคุณคือเรื่องราวการกอบกู้จากเบื้องบน คุณเห็นแบบอย่างความรักของพระเยซูที่มีต่อมนุษย์ ครั้งแล้วครั้งเล่า ในพระกิตติคุณโดยตลอด เมื่อมีคนขอความช่วยเหลือจากพระองค์ พระองค์ก็ช่วย พระองค์รักษาคนเจ็บป่วย บ่อยครั้งเหลือเกินฝูงชนพากันเสาะหาพระองค์ จนพระองค์ต้องตื่นแต่เช้ามืด เพื่อจะได้มีเวลาอธิษฐานตามลำพัง[7] พระเยซูรักษาคนรับใช้ของนายร้อยชาวโรมัน ถึงแม้ว่าพวกโรมันกดขี่ข่มเหงประเทศของพระองค์[8] พระองค์รักษาบุตรสาวของหญิงชาวซีเรียฟีนิเซีย ซึ่งต่างชาติต่างศาสนา[9] พระองค์ร่วมทานอาหารกับคนที่เป็นกากเดนสังคม ต้อนรับสตรีเพศให้เป็นสาวกและผู้ติดตามของพระองค์ ซึ่งสมัยนั้นไม่มีใครทำกัน[10] พระเยซูไม่ได้จำกัดความรักของพระองค์ที่ชนชาติของพระองค์เอง ศรัทธา สถานะด้านศีลธรรมจรรยา หรือการที่บุคคลนั้นเป็นมิตรหรือศัตรู พระองค์แสดงความรักของพระบิดาต่อทุกคน

พระเจ้ารักเรา ไม่ใช่เพราะเราเป็นใคร ทว่าเพราะพระองค์เป็นใครต่างหาก พระองค์คือผู้สร้างสรรค์ทุกสิ่ง พระองค์คือพระเจ้าผู้สูงสุด พระองค์มีพลังทั้งสิ้น และล่วงรู้ทุกสิ่ง ถึงกระนั้นพระองค์ก็รักคุณและผม อันที่จริงแล้ว ไม่ใช่คุณและผมเท่านั้น ไม่ใช่เฉพาะพวกเราที่เป็นคริสเตียน ผู้ที่เห็นคุณค่าการเสียสละอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์มอบพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ให้พลีชีพเพื่อเรา ทว่าพระองค์รักทุกคนในโลกเท่าเทียมกัน โดยไม่มีข้อแม้ พระองค์รักเรา ก่อนที่เราจะเชื่อพระองค์ ก่อนที่เราจะรักพระองค์ ถึงแม้ว่าบางคนไม่เคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับพระเจ้าผู้เป็นพระบิดา ถึงแม้บางคนบอกว่าเขาเกลียดชังพระองค์ พระองค์ก็ยังคงรักบุคคลนั้นอย่างไม่มีข้อแม้ ความรักของพระเจ้าเหลือที่จะหยั่งได้ เป็นความรักที่เพียบพร้อม และไม่มีข้อแม้

ประเด็นพื้นฐานสำหรับเรา ในฐานะคริสเตียน เพื่อช่วยตอบสนองความจำเป็นของผู้คนที่เราพบปะ ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวิญญาณ คือ การเข้าใจว่าทุกคนล้ำค่าต่อพระเจ้า ไม่สำคัญว่าจะมีอายุ เชื้อสาย สัญชาติ รูปกายภายนอก สถานะทางเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนา พรรคการเมือง หรือรสนิยมทางเพศอย่างไร ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่สำคัญ พระเจ้ารักทุกคน พระองค์รักขอทานบนท้องถนน มากพอๆ กับรักคนร่ำรวยที่สุดในโลก

พระเจ้าขอให้เราเห็นคุณค่ารายบุคคล ทุกคน ขอให้เรามองเพื่อนมนุษย์ผ่านสายตาที่เปี่ยมด้วยความรักของพระองค์ ซึ่งหมายความว่าเราจะมองผู้อื่น โดยไม่ลำเอียง ไม่มีอคติ หรือความคิดฝังหัวเชิงลบ การอ้าแขนรับมุมมองของพระเจ้า และมองผู้อื่นเหมือนที่พระองค์เล็งเห็น เราจะหลีกเลี่ยงการมีสามัญทัศน์หรือการคิดแบบเหมารวมเกี่ยวกับผู้อื่น หรือการคิดว่าตัวเองดีกว่าผู้อื่น

การเข้าใจว่าพระเจ้ารักมนุษย์ทุกคนโดยไม่มีข้อแม้ และความรักของพระองค์ไม่มีขอบเขตด้านเชื้อชาติ ความเชื่อถือ หรือสถานภาพ ก็ช่วยเป็นแนวทางทัศนคติที่เรามีต่อผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่แตกต่างจากเราในบางแง่

พันธกิจของเราในฐานะสาวก ในฐานะผู้ที่ดำเนินรอยตามแบบอย่างของเจ้านาย คือ แสดงออกถึงความรักต่อผู้อื่นเช่นเดียวกันกับที่พระองค์ได้แสดงต่อเรา แน่นอนว่าพูดง่ายกว่าทำ น่าเสียดายที่ว่ามีสถานการณ์ที่บางครั้งเราอดไม่ได้ที่จะตัดสินความถูกผิด หรือถือว่าตัวเองมีความชอบธรรม หรือขาดความรักอย่างเห็นได้ชัด จึงควรค่าที่จะพิจารณาให้ถี่ถ้วนเป็นครั้งคราว เพื่อดูว่าเราเป็นอย่างไร ในการรักโดยไม่มีอคติ หรือเลือกที่รักมักที่ชัง เราอาจถามตัวเองว่า

ฉันมองดูผู้คนที่แตกต่างไปอย่างไร เช่น คนพิการ จะเป็นยังไง ถ้าบุคคลนั้นเป็นโรคที่ทำให้เขาเสียโฉม ไม่น่าดึงดูดใจ หรือบางคนมีการศึกษาน้อย อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ฉันมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อคนจรจัดที่กลิ่นตัวเหม็น หรือขอทานตรงมุมถนน ถ้าฉันเห็นคนติดยาเสพติด หรือโสเภณีเดินเตร่อยู่ ฉันนึกคิดหรือพูดจาถึงพวกเขาอย่างไร แล้วคนที่แตกต่างจากฉันล่ะ เขารวยล้นฟ้า บ้าแฟชั่น ผอมเป็นกุ้งแห้ง หรืออ้วนฉุ แล้วถ้าเขาเป็นเกย์ล่ะ เมื่อฉันเห็นใครแต่งกายที่สะท้อนถึงศาสนาซึ่งไม่ใช่คริสเตียน ฉันมีปฏิกิริยาอย่างไร

เมื่อคุณเห็นใครที่ลำบากยากแค้น คุณตัดสินเขาจากจิตใต้สำนึก หรือดูถูกดูแคลนเขาไหม หรือคุณพยายามเอาใจเขามาใส่ใจคุณ และถามตัวเองว่า “จะเป็นยังไง ถ้าฉันเป็นเช่นนั้น จะเป็นยังไง ถ้าฉันอยู่ในสภาพของเขา จะเป็นยังไง ถ้าฉันตกงาน และไม่มีเงินพอที่จะดูแลครอบครัว จะมีความหมายต่อฉันอย่างไร ถ้ามีคนช่วยเหลือ หรือมอบน้ำใจให้กับฉัน”

เราไม่ต้องชื่นชอบหลักความเชื่อ วิถีชีวิต หรือทางเลือกของทุกคน เราอาจไม่เห็นพ้องกับเขา เขาอาจดำเนินชีวิตโดยไม่ใส่ใจต่อมาตรฐานด้านศีลธรรมของพระเจ้า เขาอาจดำเนินชีวิตด้วยการทำบาปมหันต์ แต่เราต้องระลึกไว้ว่าไม่ว่าเขาจะมีสภาพเช่นไร พระเจ้ารักเขา พระเยซูกล่าวว่าเราควรปฏิบัติตนเยี่ยงสมาชิกในครอบครัวของพระเจ้า ในความรักที่เรามอบต่อผู้อื่น พระองค์บอกว่าเราควรมอบความรัก แม้แต่ต่อผู้ที่เป็นศัตรูของเรา เพื่อว่า “ท่านจะได้เป็นบุตรของพระบิดาในสวรรค์ พระองค์ให้ดวงอาทิตย์ขึ้นแก่ทั้งคนชั่วและคนดี และให้ฝนตกแก่ทั้งคนชอบธรรมและคนอธรรม[11]

เราควรจะเห็นคุณค่าและให้ความเคารพต่อทุกคน แต่ละคนบนโลกนี้เป็นสิ่งสร้างสรรค์ของพระเจ้า เช่นเดียวกับเรา พระเจ้ารักเขาเช่นเดียวกับที่พระองค์รักเรา ถ้าเราทำตามแบบอย่างของพระองค์ เราก็จะไม่คิดว่าคนอื่น “ต่ำ” กว่าเรา หรือด้อยกว่าเรา ไม่ว่าสภาพการณ์ของเขาจะเป็นเช่นไร เราทุกคนเท่าเทียมกันในสายตาของพระองค์

ถ้าหากเราจะดำเนินชีวิตด้วยการทำตามแบบอย่างและคำสอนของพระเยซู เมื่อนั้นก็สำคัญที่เราจะเข้าใจว่าพระเจ้ารักมนุษย์แต่ละคน และพระเยซูยอมตายเพื่อมนุษย์แต่ละคน เราได้รับคำแนะนำให้รักผู้คน จากหลักพื้นฐานดังกล่าว เราก็จะทำเท่าที่ทำได้อย่างสุดความสามารถ เพื่อมอบความรักของพระเจ้า ทั้งในทางปฏิบัติและทางวิญญาณ

พระเยซูกล่าวว่าบัญญัติสำคัญที่สุดสองประการ คือ รักพระเจ้าและรักผู้อื่น[12] เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าการรักเพื่อนมนุษย์สำคัญอย่างยิ่งต่องานที่เราได้รับมอบหมาย ในฐานะสาวก เมื่อเราระลึกว่าพระคัมภีร์กล่าวว่ามนุษย์ทุกคน ถูกสร้างขึ้นมาตามรูปลักษณ์ที่เหมือนพระเจ้า ความรักมาจากพระเจ้า พระเจ้าคือความรัก และพระองค์รักเราทุกคน เมื่อนั้นความนึกคิด การตัดสินใจ การกระทำ และสื่อสัมพันธ์ที่มีกับผู้อื่น ควรได้รับแนวทางจากหลักการที่มีพระคำของพระเจ้าเป็นพื้นฐาน[13] ความรักที่สุดยอดของพระเจ้า คือมาตรฐานของเรา เป็นแบบอย่างว่าเราควรจะรักผู้อื่นอย่างไร เมื่อเรามองดูเกณฑ์เปรียบเทียบนี้ เราก็เข้าใจว่าเราควรจะเลียนแบบคุณสมบัติของพระเจ้า ในด้านความรักและความเมตตากรุณา เหมือนที่พระเยซูได้ทำ

เราได้รับการบอกกล่าวให้ส่องแสง เพื่อผู้อื่นจะได้เห็นการดีของเรา และสรรเสริญพระเจ้า[14] นี่คือการมอบหมายให้ดำเนินการ ดังที่บ่งบอกให้เข้าใจว่าพระเจ้ามุ่งหมายให้เรามีสื่อสัมพันธ์กับผู้อื่น ในลักษณะที่สะท้อนถึงพระองค์ นี่เป็นงานมอบหมายให้ทำตามแบบอย่างของพระองค์ โดยปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรักและความเมตตากรุณา เราได้รับมอบหมายให้เป็นสื่อความรักที่แสนวิเศษและไม่มีข้อแม้ ที่พระองค์มีต่อผู้อื่น ทว่าเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ บนเส้นทางการเป็นสาวก นี่ต้องอาศัยการดำเนินการ ต้องอาศัยการมอบให้ บ่อยครั้งนี่ต้องอาศัยการเสียสละบางอย่าง แต่เมื่อคุณนึกถึงการที่พระเยซูเสียสละเพื่อเรา ก็ไม่มีอะไรเปรียบเทียบได้จริงๆ

เรื่องราวน่าซาบซึ้งใจนี้บ่งบอกประเด็นดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

มีเรื่องเล่าถึงเด็กหญิงชื่อ ลิซ ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่น้อยคนเป็นกัน ปรากฏว่าโอกาสที่เธอจะหายได้ คือ การถ่ายโลหิตจากน้องชายวัยห้าขวบ ผู้ซึ่งรอดชีวิตจากโรคเดียวกันมาได้อย่างมหัศจรรย์ และได้พัฒนาภูมิต้านทานเพื่อต่อต้านโรคร้ายนี้

แพทย์อธิบายสถานการณ์ให้น้องชายเธอฟัง และถามเด็กน้อยว่าเขาเต็มใจมอบโลหิตให้พี่สาวไหม เขาลังเลใจแค่ชั่วครู่ ก่อนที่จะสูดหายใจลึกๆ และตอบว่า “ครับ ผมจะทำ ถ้านี่จะช่วยชีวิตพี่ไว้ได้”

ขณะที่การถ่ายโลหิตดำเนินไป เขานอนเตียงข้างๆ พี่สาว และยิ้ม เช่นเดียวกับทุกคน เมื่อเห็นแก้มของเธอมีสีสันอีกครั้ง เขาก็น่าซีดลง และรอยยิ้มเลือนหายไป เขาเงยหน้ามองแพทย์ และถามด้วยเสียงสั่นว่า “ผมจะเริ่มตายทันทีไหมครับ”

เด็กน้อยเข้าใจแพทย์ผิด เขาคิดว่าเขาจะต้องมอบโลหิตทั้งหมดให้พี่สาวเพื่อให้เธอรอดชีวิต[15]

ช่างเป็นแบบอย่างความรักที่อ่อนโยนและน่าซาบซึ้งใจ! พระคัมภีร์กล่าวว่า “เช่นนี้เราจึงรู้ว่าความรักคืออะไร คือการที่พระเยซูคริสต์สละชีพเพื่อเรา และเราควรสละชีวิตเพื่อพี่น้อง”[16]

ข้อพระคัมภีร์ที่เชื่อมโยงกับค่านิยมหลักดังกล่าว ซึ่งคุณได้ยินตอนต้นของเรื่องนี้ ถ่ายทอดการกระทำภายนอก ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ บ่งชี้ถึงสิ่งที่เราควรทำ อาทิเช่น

นั่นเป็น “รายการสิ่งที่ควรทำ” จากพระคำของพระเจ้า ที่ค่อนข้างเยอะใช่ไหม

ข้อพระคำเหล่านี้ชี้นำให้เราหันเหการจดจ่อออกไปสู่ผู้อื่น โดยบ่งบอกถึงการกระทำ ทั้งทางวิญญาณและเชิงปฏิบัติ บ่งบอกถึงความจำเป็นโดยรวมของมนุษย์ คือการรับความครบถ้วนสมบูรณ์ทางวิญญาณ โดยหันมาหาพระเจ้า ผ่านการเชื่อในพระเยซู รวมทั้งความช่วยเหลือเชิงปฏิบัติที่จำเป็น เพื่อช่วยผู้ที่ถูกเหยียบย่ำและขัดสน บรรเทาความทุกข์ทรมานและความยากไร้ในทั่วโลก ทั้งต่างประเทศ และบ้านใกล้เรือนเคียง

นี่เป็นการมอบหมายให้สละชีวิต โดยมอบเวลา บริการ และสิ่งของ เพื่อช่วยผู้ที่ขัดสน ทั้งผู้ที่ต้องได้รับความรอด และมีความจำเป็นทางวัตถุหรือเชิงปฏิบัติ พระคำของพระเจ้าบอกว่าเราควรบอกผู้อื่นถึงพระเยซู และการที่พระองค์เสียสละเพื่อเรา นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการดูแลเอาใจใส่คนที่อ่อนแอ เจ็บป่วย หญิงม่าย เด็กกำพร้า คนที่หิวโหย และคนที่ถูกกดขี่ข่มเหง

ยากอบผู้เป็นน้องชายของพระเยซู บ่งบอกว่าการปฏิบัติตามความศรัทธาอย่างแท้จริง ประกอบด้วยการกระทำทั้งภายนอกและภายในจิตใจ ภายนอกคือการกระทำต่อผู้อื่นในเชิงปฏิบัติ ภายในจิตใจคือการอุทิศตนต่อพระเจ้า พระองค์กล่าวว่า “ศาสนาที่พระเจ้า ผู้เป็นพระบิดาของเรา ยอมรับว่าบริสุทธิ์ และไร้ตำหนิ คือ การดูแลลูกกำพร้าและหญิงม่ายที่ทุกข์ร้อน และการรักษาตัวเองให้พ้นจากมลทินทางโลก”[17]

การสะท้อนให้เห็นศรัทธาอย่างประจักษ์ชัด ไม่ใช่เป็นกิจกรรมทางจิตใจเท่านั้น เราได้รับมอบหมายให้บ่งบอกออกมาผ่านการกระทำเยี่ยงพระคริสต์ คือ การทำตามแบบอย่างของพระคริสต์ นี่ต้องอาศัยการสละเวลา ซึ่งเราคงจะใช้เพื่อตัวเอง ทว่ามอบให้คนอื่นแทน เป็นการสละแผนการที่วางไว้แล้ว เพื่อช่วยเหลือคนอื่นที่ขัดสน เป็นการดำเนินชีวิตตามความศรัทธา โดยตั้งใจทำสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์ของผู้ที่ขัดสน

ผู้ประพันธ์ เดฟ บรานอน เขียนไว้ว่า

เมื่อเดฟ โธมัส เสียชีวิตตอนต้นปี ค.ศ. 2002 เขาไม่ได้ทิ้งไว้แค่ร้านอาหารเวนดี้ที่มีสาขาหลายพันแห่ง ทว่าเขาทิ้งมรดกสืบทอดของการเป็นคนขยันขันแข็งและยึดหลักปฏิบัติ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เพราะค่านิยมแบบติดดินของเขา

ท่ามกลางคำแนะนำดีๆ ซึ่งยั่งยืนกว่าชีวิตผู้ประกอบการที่ยิ้มแย้ม คือ มุมมองของเขาที่ว่าคริสเตียนควรทำอะไรกับชีวิตตนเอง สมัยที่โธมัสยังเด็ก เขาได้รับแรงชักจูงจากคุณย่า เขากล่าวว่าผู้มีความเชื่อควรเป็นคริสเตียน ‘ผู้ลงมือทำ’

ในหนังสือชื่อ Well Done โธมัสกล่าวว่า คริสเตียน “ผู้ลงมือทำ” เล็งเห็นความเชื่อของคริสเตียนว่า เป็นศรัทธา และการกระทำ โดยที่จัดเวลาพูดคุยกับพระเจ้าผ่านคำอธิษฐาน ศึกษาพระคัมภีร์ แข็งขันในโบสถ์ และทำการกระจายพระคำที่เป็นข่าวดีไปสู่ผู้อื่น” เขากล่าวต่อว่า “ผู้คนที่ทำคุณความดีเพื่อพระคริสต์โดยไม่มีใครล่วงรู้ อาจทำคุณความดีมากกว่าคริสเตียนผู้มีชื่อเสียงทุกคนในโลก”[18]

ดังที่ ริค วาร์เรน กล่าวไว้ในหนังสือ The Purpose Driven Life (ชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยวัตถุประสงค์) ว่า

ในสวรรค์พระเจ้าจะไม่กล่าวว่า ‘เล่าให้เราฟังถึงอาชีพการงาน บัญชีธนาคาร และงานอดิเรกของเจ้า’ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์จะพิจารณาว่าคุณปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่ขัดสน[19]

พระเยซูเป็นแบบอย่างแนวคิดเรื่อง “การลงมือทำ” พระองค์มอบความรักต่อผู้อื่นตลอดเวลา พระองค์มีเมตตากรุณาต่อผู้ที่ขัดสน และได้รับแรงดลใจให้ทำสิ่งที่ประกอบด้วยความรัก พระองค์มีเมตตา พระองค์มอบความกรุณา พระองค์เลี้ยงอาหารคนที่หิวโหย และรักษาคนที่เจ็บป่วย พระองค์ต่อต้านความชั่วร้ายและความอธรรม

พระองค์ชี้นำเราแต่ละคนแตกต่างกันไป ในวิธีการมอบความรักและข่าวสารของพระเจ้า บางคนพระองค์ชี้นำไปสู่การงานด้านจิตใจเป็นหลัก บางคนพระองค์ชี้นำให้อนุเคราะห์ผู้ที่ขัดสนในเชิงปฏิบัติและทางวัตถุ บางคนพระองค์นำไปสู่การงานทั้งด้านจิตใจและการช่วยเหลือเชิงปฏิบัติ บางคนพระองค์ชี้นำให้มอบเงินสนับสนุนการงานทั้งด้านจิตใจและทางปฏิบัติ การช่วยเหลืองานของพระเจ้าทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนจำเป็น พระองค์พอใจ เมื่อเรามอบเวลา พละกำลัง และแหล่งปัจจัย จากแต่ละคนตามความสามารถ เพื่อมอบให้แต่ละคนตามความจำเป็น

ไม่ว่าคุณจะตอบสนองความจำเป็นให้กับผู้ที่คุณพบปะ ในทางจิตใจ ทางปฏิบัติ หรือทั้งสองด้าน สิ่งสำคัญที่ควรระลึกไว้ คือ พระเยซูกล่าวว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า สิ่งใดที่ท่านทำให้แก่ผู้เล็กน้อยที่สุดคนหนึ่งในพวกพี่น้อง ท่านก็ได้ทำให้เราด้วย”[20] ดังนั้นขอให้เราทำเท่าที่ทำได้ เพื่อเป็นแบบอย่างในชีวิตจริง ถึงความรักที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์ โดยทำตามที่พระองค์ชี้นำ เพื่อมอบพระองค์และความรักของพระองค์ให้กับผู้ที่ขัดสน โดยมอบให้ทางจิตใจ ผ่านการแนะนำเขาให้รู้จักพระเยซู และทางปฏิบัติโดยอนุเคราะห์ความจำเป็นด้านอื่นๆ ขอให้เราลงมือทำ และทำตามแบบอย่างของพระเยซู ดีไหม


[1] มัทธิว 5:14-16

[2] มัทธิว 9:36

[3] มัทธิว 25:36-40

[4] 2 โครินธ์ 5:14

[5] เอเฟซัส 5:1

[6] โรม 5:6-8

[7] มาระโก 1:34-35

[8] มัทธิว 8:5-13

[9] มาระโก 7:25-30

[10] มัทธิว 9:10–13; ลูกา 8:1–3; มัทธิว 27:55

[11] มัทธิว 5:45

[12] มัทธิว 22:37-40

[13] ปฐมกาล 1:26–27; 1 ยอห์น 4:7–8

[14] มัทธิว 5:16

[15] Unconditional Love (ความรักที่ไม่มีข้อแม้)

[16] 1 ยอห์น 3:16

[17] ยากอบ 1:27

[18] หนังสือ Our Daily Bread 6 กุมภาพันธ์ จากคำสอนโดย เดนนิส เดวิดสัน เรื่อง Authentic Faith Works   26 ตุลาคม ค.ศ. 2009

[19][19] หนังสือ The Purpose Driven Life (แกรนด์ราปิดส์ มิชิแกน: สำนักพิมพ์ซอนเดอร์แวน ค.ศ. 2002) หน้า 126

[20] มัทธิว 25:40

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้