การให้อภัยและความรอด

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

มีนาคม 22, 2011

ในโพสต์สองเรื่องก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับหัวข้อการให้อภัย ผมเขียนถึง 1) การให้อภัยผู้อื่น 2) หลีกเลี่ยงการทำอะไรที่ต้องได้รับการให้อภัย โดยปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่คุณอยากให้เขาปฏิบัติต่อคุณ ในโพสต์นี้ผมจะเอ่ยถึงหลักการที่ว่าการให้อภัยเชื่อมโยงกับความรอดอย่างไร

เมื่อพระเยซูกล่าวว่า “เพราะว่าถ้าท่านยกโทษให้ผู้อื่น พระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์จะทรงโปรดยกโทษให้ท่านด้วย แต่ถ้าท่านไม่ยกโทษให้ผู้อื่น พระบิดาของท่านจะไม่ยกโทษให้ท่านเหมือนกัน” พระองค์ไม่ได้กล่าวถึงการให้อภัยต่อบาป ตอนที่เรารับพระเยซูไว้เป็นพระผู้ช่วยให้รอด และเราได้รับความรอด[1] พระเยซูตายบนไม้กางเขนเพื่อความรอดของเรา เราจะได้รับการกอบกู้ เพื่อว่าบาปที่เราก่อไว้ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จะได้รับการให้อภัย

ใครก็ตามที่รับพระเยซูไว้เป็นพระผู้ช่วยให้รอด ก็ได้รับการให้อภัยต่อบาปที่เขาก่อ พระเจ้าถือว่าผู้ที่มีความรอดนั้นพ้นผิด เพราะพระเยซูยอมตายบนไม้กางเขน แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าพวกเราที่เป็นคริสเตียนไม่ใช่คนบาปอีกต่อไป เพราะว่าเราต่างก็ทำบาปตลอดชีวิต แต่เราเป็นคนบาปที่พ้นผิด เป็นคนบาปที่พระเยซูยอมสละชีวิตให้ ผู้ซึ่งรับพระองค์ไว้เป็นพระผู้ช่วยให้รอด และได้ครอบครองชีวิตนิรันดร์ไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม การให้อภัยเบื้องต้นที่เราได้รับ ไม่ใช่ใบเบิกทางให้เราทำบาปต่อไปเรื่อยๆ ทว่าเราควรจะสารภาพบาปต่อพระองค์ แสวงหาการให้อภัยจากพระองค์ และมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆที่เรารู้ว่าไม่เป็นที่ยอมรับต่อพระองค์

ถ้าจะว่ากันไปแล้ว การรับพระเยซูไว้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดนำเราเข้ามาสู่ครอบครัวของพระเจ้า และเรากลายเป็นลูกๆที่พระเจ้ารับไว้ การรับบุตรบุญธรรมเป็นภาษากฎหมายซึ่งบ่งชี้ว่าเด็กคนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวแล้ว ตามกฎหมาย ในทำนองเดียวกัน ความรอดก็เป็นสิทธิตามกฎหมายที่คุณครอบครอง สัมพันธภาพที่คุณมีกับพระเจ้าเปลี่ยนไป เมื่อคุณได้รับความรอด คุณไม่ใช่ผู้ที่ไม่ได้เป็นลูกของพระเจ้าอีกต่อไป แต่คุณคือผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระองค์ตามกฎหมาย

ในยอห์น 1:12 บ่งบอกไว้ว่า “ส่วนผู้ที่รับพระองค์ไว้ พระองค์ทรงให้เป็นบุตรของพระเจ้า คือคนที่เชื่อในพระนามของพระองค์” ในฐานะคนบาปที่พ้นผิด เราก็เป็นลูกที่พระเจ้ารับไว้ เราจึงเรียกพระเจ้าได้ว่าเป็นพระบิดาของเรา เมื่อเราสิ้นชีวิต เราก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปสู่สวรรค์ ในฐานะลูกคนหนึ่งของพระองค์ ดังนั้นการให้อภัยบาปตอนที่เราได้รับความรอด ก็เท่ากับการเปลี่ยนสภาวะทางกฎหมายให้เรากลายเป็นบุตรบุญธรรม บางคนเรียกว่าเป็นการให้อภัยด้านสภาวะ บางคนเรียกว่าการให้อภัยจากศาล หรือการให้อภัยทางกฎหมาย หรือการให้อภัยจากครอบครัวของพระเจ้า

ย้อนกลับมาที่ข้อความในมัทธิวบทที่ 6 เมื่อพระเยซูกล่าวว่าถ้าเราไม่ให้อภัยคนอื่น พระเจ้าก็จะไม่ให้อภัยเรา พระองค์ไม่ได้กล่าวถึงการให้อภัยด้านสภาวะ พระองค์ไม่ได้หมายความว่าถ้าเราไม่ให้อภัยใครที่ทำผิดต่อเรา เราจะสูญเสียความรอด แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์กล่าวถึงสิ่งที่เรียกได้ว่าการให้อภัยซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กัน ถึงแม้ว่าเรามีความรอด และมีสิทธิเป็นบุตรที่พระเจ้ารับอุปถัมภ์ไว้ เมื่อเราทำบาป ก็จะส่งผลกระทบต่อมิตรภาพและสื่อสัมพันธ์กับพระเจ้า

เมื่อพระเยซูสอนเหล่าสาวก ในคำอธิษฐานของพระองค์ โดยขอให้พระบิดายกโทษต่อความผิดหรือหนี้บาปของเขา พระองค์สอนให้เขาฟื้นฟูผลเสียซึ่งบาปที่เขาก่อขึ้นทุกวัน ส่งผลต่อสัมพันธภาพกับพระเจ้า บาปของเราก่อให้เกิดรอยร้าวในสัมพันธภาพที่เรามีกับพระเจ้าเป็นส่วนตัว เช่นเดียวกับการที่บุตรทำให้บิดาเคืองใจอย่างลึกๆ ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจ ถึงแม้ว่าเขายังคงเป็นบุตรอยู่เหมือนเดิม ตามสภาวะทางกฎหมาย และความรักที่บิดามีต่อบุตรอาจจะไม่เปลี่ยนแปลง ทว่าสัมพันธภาพระหว่างบิดากับบุตรต้องได้รับผลเสีย และต้องฟื้นฟูหรือสมานรอยร้าว

เมื่อพระเยซูกล่าวว่าพระเจ้าจะไม่ยกโทษให้เรา ถ้าเราไม่ยกโทษผู้ที่ทำผิดต่อเรา พระองค์ก็บอกว่าการที่พระเจ้าตอบรับเรา มีส่วนเชื่อมโยงกับการที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่น เมื่อเรากล่าวคำอธิษฐานที่พระองค์สอนไว้ เราก็ขออย่างเจาะจงให้พระเจ้ายกโทษเรา เช่นเดียวกับที่เรายกโทษผู้อื่น “โปรดยกหนี้ของข้าฯ เหมือนข้าฯยกหนี้ผู้ที่เป็นหนี้ข้าฯนั้น”[2] เราอธิษฐานขอให้พระเจ้าปฏิบัติต่อบาปของเรา เหมือนที่เราปฏิบัติต่อบาปของคนอื่น เราควรที่จะทำตามคำอธิษฐานของเรา และกระตือรือร้นที่จะยกโทษให้ผู้อื่น ซึ่งจะส่งผลในแง่บวกต่อการที่พระเจ้าปฏิบัติกับเรา

บาปจะส่งผลต่อสัมพันธภาพที่เรามีกับพระเจ้า จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่เพียงแต่ยกโทษผู้อื่นที่ทำบาปต่อเรา ทว่าสารภาพบาปต่อพระเจ้า และขอพระองค์ยกโทษให้เป็นประจำด้วย การทำเช่นนั้นจะช่วยให้เราคงไว้ซึ่งสัมพันธภาพที่ดีกับพระองค์

บางครั้งพระคัมภีร์อธิบายถึงสัมพันธภาพที่เรามีกับพระเจ้า ด้วยภาษาที่บ่งบอกถึงความใกล้ชิด หรือความห่างเหิน พระองค์ “ใกล้ชิด”เรา หรือพระองค์ “สถิตอยู่กับเรา” เมื่อเรามีสัมพันธภาพที่ดีกับพระองค์ และพระองค์ “จาก” เราไป หรือ “เหินห่าง” ไป เมื่อเราเหินห่างจากพระองค์ เพราะความบาป

ยากอบ 4:8 บ่งบอกไว้ในแง่บวกว่า

“จงเข้าใกล้พระเจ้า และพระองค์จะสถิตอยู่ใกล้ท่าน คนบาปทั้งหลาย จงชำระมือให้สะอาด และคนสองใจ จงชำระใจของตนให้บริสุทธิ์”

แล้วก็มีข้อพระคัมภีร์เกี่ยวกับการที่เราสร้างความเหินห่างขึ้นมา ว่า

“ความชั่วของเจ้าแบ่งแยกระหว่างเจ้ากับพระเจ้าของเจ้า”[3]

“พระเยโฮวาห์ทรงอยู่ห่างไกลจากคนชั่ว แต่พระองค์ทรงสดับคำอธิษฐานของคนชอบธรรม”[4]

การที่จะเข้าใจว่าการให้อภัยที่มีส่วนสัมพันธ์กันนั้นเป็นอย่างไร ก็คงช่วยได้ที่จะนึกถึงสัมพันธภาพที่คุณมีกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคู่ครอง คนสำคัญในชีวิตคุณ เพื่อนสนิท พี่น้อง พ่อแม่ หรือลูกๆ ถ้าคุณโต้เถียงหรือขัดแย้งกันครั้งใหญ่กับใครสักคน หรือถ้าคุณทำให้ผู้อื่นบาดหมางใจ หรือเจ็บลึกๆในใจ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นี่จะแยกคุณจากกัน ถึงแม้ว่าตัวยังอยู่ใกล้กัน แต่คุณมีความรู้สึกและจิตใจที่เหินห่างกัน การแยกจากกันเช่นนี้จะหายไป เมื่อมีการสมานรอยร้าวในสัมพันธภาพนั้นแล้ว โดยทั่วไปก็จะเกิดความใกล้ชิดกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ถ้าหากไม่ได้สมานรอยร้าว ก็ยังมีการเหินห่างกัน และจะทวีคูณขึ้นอีก

เมื่อเราทำบาป เราก็กระทำผิดต่อพระเจ้า เราทำตัวเหินห่างไปจากพระองค์ นี่ส่งผลเสียต่อสัมพันธภาพที่มีกับพระองค์ เหมือนกับเพื่อนหรือคู่ครอง เราต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อสมานสัมพันธ์ นั่นก็คือการที่เราสารภาพบาปต่อพระองค์ และขอให้พระองค์ยกโทษ พร้อมๆกับการเปลี่ยนพฤติกรรม และไม่ทำสิ่งเดิมๆอีกต่อไป ซึ่งพระองค์ไม่พอใจ ถ้าหากคุณทำให้คนที่คุณรักต้องสะเทือนใจ และคุณอยากจะแก้ไข โดยทั่วไปแล้วคุณก็จะต้องไปหาคนๆนั้น บอกเขาว่าคุณผิดไปแล้ว คุณเสียใจ และขอให้เขายกโทษคุณ แล้วก็พยายามอย่าทำอีก พระเจ้าก็เป็นเช่นนั้นด้วย เมื่อเราสารภาพผิด เราได้รับการให้อภัย ความเหินห่างระหว่างพระเจ้ากับเราหายไป นั่นคือวิธีที่เราฟื้นฟูสัมพันธภาพกับพระองค์ เมื่อเราก่อความเสียหายต่อสัมพันธภาพดังกล่าว เพราะความบาป

“ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์ทรงสัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม ก็จะทรงโปรดยกบาปของเรา และจะทรงชำระเราให้พ้นจากการอธรรมทั้งสิ้น”[5]

แต่ก็สำคัญด้วยที่จะระลึกถึงสิ่งที่พระเยซูกล่าวไว้เรื่องการให้อภัยผู้อื่น ว่า

“เพราะว่าถ้าท่านยกโทษให้ผู้อื่น พระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์จะทรงโปรดยกโทษให้ท่านด้วย แต่ถ้าท่านไม่ยกโทษผู้อื่น พระบิดาของท่านจะไม่ทรงโปรดยกโทษท่านเหมือนกัน[6]

“ความใกล้ชิด” หรือ “ความเหินห่าง” ในสัมพันธภาพที่เรามีกับพระเจ้า จะได้รับผลกระทบจากการที่เราให้อภัยหรือไม่ให้อภัยผู้อื่น ดังนั้นถ้าใครทำให้คุณบาดหมางใจ ก็ยกโทษให้เขา ไม่ว่าเขาจะมีทรรศนะอย่างไร หรือไม่ว่าเขาจะทำผิดต่อคุณอีกหรือเปล่า การให้อภัยมีคุณประโยชน์ทั้งต่อสัมพันธภาพที่คุณมีกับผู้อื่น และกับพระเจ้า

เป็นการมีสติปัญญาที่จะให้อภัย นี่เป็นการกระทำที่ประกอบด้วยความรัก เป็นการทำตัวเหมือนพระคริสต์ ธรรมชาติของพระเจ้าคือการมีความรัก และการให้อภัยก็เป็นส่วนหนึ่งในความรักของพระองค์ พระองค์มอบพระบุตรองค์เดียวให้ เพื่อยกโทษต่อบาปของเรา พระเยซูสละชีวิตของพระองค์ เพื่อเราจะได้รับการให้อภัย ถ้าคุณให้อภัยผู้อื่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยความรัก คุณก็สะท้อนให้เห็นพระเจ้า คุณเป็นเหมือนพระเยซู นั่นก็เป็นสิ่งที่ดี

ขอปิดท้ายด้วยตัวอย่างที่น่าซาบซึ้งใจ เป็นคำอธิษฐานสารภาพบาป และอ้อนวอนให้พระเจ้ายกโทษ ซึ่งอธิษฐานโดยผู้ที่ก่อบาปมหันต์ แต่เขากลับใจ และพระเจ้าเรียกเขาว่าคนโปรด ... คือกษัตริย์เดวิดนั่นเอง

ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงแสดงพระกรุณาต่อข้าฯ ตามความเมตตาของพระองค์ ขอทรงลบล้างความผิดของข้าฯออกไป ตามแต่พระกรุณาอันอุดมของพระองค์

ขอทรงชำระล้างข้าฯ จากความชั่วช้าให้หมดสิ้น และทรงชำระล้างข้าฯจากบาป

เพราะข้าฯทราบถึงความผิดของข้าฯแล้ว และบาปของข้าฯอยู่ต่อหน้าข้าฯเสมอ

ข้าฯได้ทำบาปต่อพระองค์ ต่อพระองค์เท่านั้น และได้กระทำสิ่งที่ชั่วร้ายในสายพระเนตรพระองค์ ทั้งนี้เพื่อพระองค์จะทรงชอบธรรมในคำตรัสของพระองค์ และกระจ่างแจ้งในการพิพากษาของพระองค์

ดูเถิด ข้าฯถือกำเนิดมาในความชั่วช้า และมารดาตั้งครรภ์ข้าฯในความบาป

ดูเถิด พระองค์ชื่นชมความจริงภายในใจ และทรงสอนสติปัญญาแก่ข้าฯ ภายในจิตใจลึกลับของข้าฯ

ขอทรงชำระล้างข้าฯด้วยต้นหุสบ ข้าฯจึงจะสะอาดหมดจด ขอทรงชะระล้างข้าฯ และข้าฯจะขาวบริสุทธิ์กว่าหิมะ

ขอทรงโปรดให้ข้าฯได้ยินถึงความชื่นบานและความยินดี เพื่อกระดูกซึ่งพระองค์ทรงหักนั้นจะเปรมปรีดิ์

ขอทรงเบือนพระพักตร์พระองค์จากบาปทั้งหลายของข้าฯเสีย และทรงลบล้างความชั่วช้าของข้าฯไปสิ้น

ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงสร้างจิตใจใสสะอาดภายในข้าฯ และฟื้นฟูน้ำใจที่หนักแน่นขึ้นใหม่ภายในข้าฯ

ขออย่าทรงทิ้งขว้างข้าฯไปเสีย จากเบื้องพระพักตร์พระองค์ ขออย่าทรงนำพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ไปจากข้าฯ

ขอทรงคืนความชื่นบานในความรอดแก่ข้าฯ และอุ้มชูข้าฯไว้ด้วยเต็มพระทัย

แล้วข้าฯจะสอนผู้กระทำผิดทั้งหลาย ถึงบรรดาพระมรรคาของพระองค์ และเหล่าคนบาปจะหันกลับมาหาพระองค์

ข้าแต่พระเจ้า คือพระเจ้าแห่งความรอดของข้าฯ ขอทรงช่วยข้าฯให้พ้นจากความผิดเพราะทำโลหิตเขาตก และลิ้นของข้าฯจะร้องเพลงถึงความชอบธรรมของพระองค์

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอทรงเบิกริมฝีปากของข้าฯ และปากของข้าฯจะสำแดงการสรรเสริญพระองค์

เพราะพระองค์มิได้ทรงประสงค์เครื่องบูชา มิฉะนั้นข้าฯจะถวายให้ พระองค์มิได้พอพระทัยเครื่องเผาบูชา

เครื่องบูชาที่พระเจ้าทรงรับ คือจิตใจที่ชอกช้ำ จิตใจที่สำนึกผิดและชอกช้ำนั้น ข้าแต่พระเจ้า พระองค์จะมิได้ทรงหมิ่น[7]

(Forgiveness and Salvation.)


[1] มัทธิว 6:14-15

[2] มัทธิว 6:12

[3] อิสยาห์ 59:2

[4] สุภาษิต 15:29

[5] 1 ยอห์น 1:9

[6] มัทธิว 6:14-15

[7] เพลงสดุดี 51:1-17

 

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้