สูตรห้าประการ: การจัดการด้านการเงิน

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

กรกฎาคม 1, 2014

“ขอพระองค์ประทานแก่ท่านตามใจปรารถนา และทำให้แผนงานทั้งสิ้นของท่านสำเร็จผล”[1]

ศิษยาภิบาลท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “การดำเนินชีวิตให้ถูกต้องทางด้านการเงินนั้นไม่สลับซับซ้อน อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ไม่สลับซับซ้อน” เป็นเรื่องยากเพราะการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องทางด้านการเงิน ไม่ใช่เพียงการเรียนยุทธศาสตร์การเงิน และเทคนิคการจัดการ เมื่อต้องบริหารจัดการเงิน การดำเนินชีวิตให้ถูกต้องทางด้านการเงินมีองค์ประกอบทางวิญญาณด้วย เป็นสิ่งสำคัญที่จะมีมุมมองตามแบบอย่างของพระเจ้าเกี่ยวกับเงิน และใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง เพื่อสง่าราศีของพระเจ้า

ข้อพระคัมภีร์ “การรักเงินเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งปวง” บ่อยครั้งมีการตีความหมายผิดๆ ว่าหมายถึง เงินคือรากเหง้าของความชั่วทั้งปวง[2] อันที่จริงแล้ว มีใจความว่า การรักเงินคือรากเหง้าของความชั่วทั้งปวง ซึ่งเป็นจริงอย่างแน่นอน นี่คืออันตรายที่แท้จริง ถ้าเราให้ความสำคัญหรือฝากความมั่นคงไว้กับเงินมากเกินควร ดังที่หลายคนค้นพบผ่านประสบการณ์ส่วนตัว ความมั่นคงทางการเงินเป็นสิ่งชั่วคราว ความมั่นคงที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงมีอยู่ในพระองค์ผู้เดียว

ถึงกระนั้นเราจำเป็นต้องมีเงิน เพื่อดำเนินชีวิต ดูแลครอบครัว ทำงานเพื่อพระองค์ และมอบให้แก่ผู้อื่น เราทุกคนอยากจะมอบความผาสุกให้กับคนอันเป็นที่รัก สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน และกระจายพระกิตติคุณ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ได้รับการสงเคราะห์จากเงิน ดังนั้นเรื่องการเงินจึงเป็นหัวข้อสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน

ผมไม่ใช่ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ในด้านนี้เห็นพ้องต้องกันกับประเด็นส่วนหนึ่งที่เป็นกุญแจใจไขไปสู่การจัดการด้านการเงินที่ดี ถ้าคุณมองหาสูตรที่จะช่วยให้จัดการเรื่องเงินอย่างมีสติปัญญา ผมขอแนะนำห้าประเด็นต่อไปนี้ เพื่อเป็นการเริ่มต้น

เมื่อเกิดประเด็นเรื่องเงิน หรือคุณได้ยินคำว่า “ความมั่นคงทางการเงิน” หรือ “การเก็บออม” คุณอาจโอดครวญ โดยเฉพาะถ้าคุณรู้สึกราวกับว่าทำอะไรไม่ถูก เพราะต้องปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์เรื่องเงินของคุณ บางทีคุณอาจดิ้นรนต่อสู้ทางด้านการเงินในขณะนี้ บางทีคุณเป็นหนี้สิน บางทีคุณไม่เห็นว่าจะเก็บออมได้อย่างไร หรือจะเก็บออมตามจำนวนที่ต้องการได้อย่างไร เนื่องจากสภาพการณ์ในปัจจุบัน ก่อนที่จะกล่าวต่อไป ผมอยากจะให้กำลังใจคุณด้วยข้อคิดที่ทรงพลังสองข้อ

ข้อแรกคือ ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า ไม่มีสิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้

ข้อสองคือ เป้าหมายใดที่พระเจ้ากำหนดไว้ จะบรรลุผลได้ ... ด้วยก้าวเล็กๆ ทีละก้าว

ดังนั้นถ้าคุณต้องก้าวไปอีกไกลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน ถ้าคุณต้องดิ้นรนต่อสู้กับหนี้สิน หรือถ้าคุณรู้สึกท้อใจหรือเผชิญหน้ากับความกลัดกลุ้ม หรือแม้แต่ความสิ้นหวัง ในเรื่องการเงินเป็นส่วนตัว ขอให้ระลึกไว้ว่า พลังของพระเจ้าทำให้ “สิ่งที่เป็นไปไม่ได้” กลับเป็นไปได้ รวมไปถึงเรื่องการเงิน ถ้าคุณแสวงหาพระองค์ ฝากแผนการของคุณไว้กับพระองค์ และแบ่งเป้าหมายเป็นย่างก้าวเล็กๆ และลงมือดำเนินการ พระเจ้าจะมอบพลังให้คุณทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น ในสถานการณ์ทางด้านการเงิน

ขอให้เรามาดูประเด็นสำคัญเชิงปฏิบัติห้าประการ เกี่ยวการเงินส่วนบุคคล ผ่านมุมมองดังกล่าว

1. จัดทำงบประมาณและยึดถือตามนั้น

สิ่งที่ต้องทำในการจัดการด้านการเงิน คือ ก) จัดทำงบประมาณ  ข) ใช้จ่ายตามงบประมาณ ส่วนสุดท้ายคือส่วนที่ยาก ทว่าเป็นกุญแจสำคัญต่อความสมดุล และความคืบหน้าทางด้านการเงินด้วย

งบประมาณเป็นตัวแทนของแผนการ ว่าคุณจะใช้จ่ายเงินอย่างไร ดังที่เดฟ แรมซีย์ กล่าวว่า “งบประมาณคือการระบุว่าเงินจะไปที่ไหนบ้าง แทนที่จะสงสัยว่าเงินหายไปไหน” เราทุกคนคงมีประสบการณ์เช่นนี้ คือนึกย้อนหลังไปในช่วงหนึ่งเดือน และสงสัยว่า “เงินหายไปไหน” เราต่างก็ต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นอย่างนั้น

1 โครินธ์ 4:2 กล่าวว่า “ผู้ได้รับมอบหมายต้องเป็นคนที่พิสูจน์แล้วว่าสัตย์ซื่อ” ในฐานะผู้ที่ขยันหมั่นเพียรต่อเงินที่พระเจ้าไว้วางใจให้เราดูแล ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือมาก เราต้องมีแผนสำหรับการใช้จ่ายและเก็บออมเงิน นี่เองเราจึงต้องจัดทำงบประมาณ

ชีวิตเต็มไปด้วยรายจ่าย ทว่าส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำ ซึ่งเรารู้ว่าจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน ทุกสามเดือน หรือรายปี รายจ่ายประจำหรือกึ่งประจำทุกอย่าง ควรจะจัดไว้ในงบประมาณ แน่นอนว่าบางครั้งก็เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นจริง ซึ่งไม่มีทางเตรียมรับได้ นั่นเป็นเหตุให้คุณต้องใช้จ่ายเกินงบประมาณ เราจะพูดถึงเรื่องนี้เพิ่มเติมในประเด็นที่สี่

เมื่อจัดทำงบประมาณแล้ว ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำสองสามอย่าง

ดังคำกล่าวที่ว่า ถ้าไม่เล็งเป้าอะไร ก็จะยิงถูกเป้าทุกครั้ง[4] คุณต้องจัดทำงบประมาณไว้ล่วงหน้า กำหนดและจดเป้าหมายการเงินไว้ บันทึกย่างก้าวไปสู่เป้าหมาย ก่อนที่คุณจะหวังให้บรรลุผลได้ ข้อสำคัญที่สุด คุณต้องดำเนินชีวิตอยู่ในวงเงินของงบประมาณนั้น

2. รายจ่ายน้อยกว่ารายรับ (ใช้จ่ายให้ต่ำกว่ารายได้)

วิธีหลีกเลี่ยงการมีหนี้สินเป็นเรื่องที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา คือ อย่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ กุญแจสำคัญในการประหยัดเงินเป็นเรื่องพื้นฐานเช่นกัน คือ ใช้จ่ายให้ต่ำกว่ารายได้ รายจ่ายน้อยกว่ารายรับ นี่เป็น “หลักพื้นฐานด้านการเงิน” เป็นวิธีเดียวที่จะมีเงินพอค่าใช้จ่าย และเก็บออมได้

ก็อีกนั่นแหละ นี่เน้นความสำคัญของการจัดทำงบประมาณ คุณต้องตรวจสอบรายได้และรายจ่าย เพื่อให้แน่ใจว่าคุณดำเนินชีวิตภายในวงรายได้ ถ้าคุณมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ตลอดเวลา ก็เป็นไปได้ทีเดียวว่าคุณจะประสบความฝืดเคืองทางการเงิน

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชักจูงให้ผู้คนออกนอกลู่นอกทาง ในเรื่องการดำเนินชีวิตภายในวงรายได้ บางประเด็นที่ควรระลึกไว้ ได้แก่

โลกวัตถุในปัจจุบัน เราถูกกลุ้มรุมด้วยโฆษณาสินค้าและบริการต่างๆ ราวกับว่าคือสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ มีแรงกดดันสูงให้ซื้อหามาบริโภคและสะสมไว้ คงเป็นการมีสติปัญญาที่จะเตือนใจตัวเองถึงข้อความหนึ่งจากพระเยซู ซึ่งพระองค์เอ่ยถึงวัตถุนิยม “แล้วพระองค์บอกเขาว่า ‘...ชีวิตคนเราไม่ได้อยู่ที่การมีทรัพย์สิ่งของเหลือเฟือ’”[6]

3. หลีกเลี่ยงภาวะหนี้สิน ปลดหนี้

วิธีป้องกันภาวะหนี้สินที่ดีที่สุด คือ ใช้ชีวิตอยู่ในวงรายได้ แต่ถ้าตอนนี้คุณมีหนี้สิน อย่าสิ้นหวัง บางครั้งสถานการณ์ที่นอกเหนือการควบคุมของเรา และเกินกว่าความพยายามสูงสุดของเรา อาจนำไปสู่การมีหนี้สิน เช่น เหตุฉุกเฉินต่อเนื่อง อุบัติเหตุ ความเจ็บป่วยร้ายแรงในครอบครัว สมาชิกครอบครัวเสียชีวิต ธุรกิจล้มเหลว ตกงาน ภัยพิบัติธรรมชาติ เศรษฐกิจในประเทศตกต่ำ หรือมหันตภัย ไม่ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะยากลำบากแค่ไหน หรือดำเนินอยู่นานเท่าใด คุณก็ไว้วางใจได้ว่าพระเจ้าสามารถช่วยคุณให้พ้นจากหนี้สินได้

การปฏิบัติตามรายละเอียดในงบประมาณ คือกุญแจสำคัญของการปลดหนี้ หรือปลอดหนี้สิน ผมชอบข้อความจาก เดฟ แรมซีย์ “คุณคงไม่สร้างบ้านโดยไม่มีพิมพ์เขียว แล้วทำไมคุณใช้จ่ายรายได้โดยไม่มีพิมพ์เขียวล่ะ”[7]

การชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงินก้อนเล็กหรือใหญ่ ต้องมีแผนการ ความมุ่งมั่นสูง และการเสียสละ แล้วก็ขึ้นอยู่กับจำนวนหนี้สิน คุณอาจต้องใช้วิธีการเชิงรุกพอสมควร ถ้ามีเป้าหมายที่จะเก็บออมสำหรับอนาคต การกลายเป็นคนปลอดหนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะหนี้สินประเภทต่างๆ มีอัตราดอกเบี้ยสูง คุณต้องการปลดหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงให้หมดไปเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันจะยาก ถ้าไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ ที่คุณจะเสริมสร้างสถานะการเงิน และเก็บออม ถ้าคุณมีหนี้ก้อนใหญ่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเอ่ยถึงการที่คุณจะรู้สึกโล่งอกและมีอิสระ เมื่อคุณปลอดหนี้

คุณสมบัติหนึ่งที่เข้ามามีบทบาท เมื่อคุณตั้งเป้าหมายที่จะปลดหนี้ หรือเก็บออมเงิน คือ วินัยในตนเอง “วินัยในตนเองคือการปฏิบัติตัวตามที่คุณคิด แทนที่จะทำตามความรู้สึกในขณะนั้น บ่อยครั้งเป็นการยอมสละความเพลิดเพลินและความตื่นเต้นชั่วขณะนั้น (บ่อยครั้งเรียกว่าการชะลอความพึงพอใจไว้ก่อน) สำหรับสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ดังนั้นการมีวินัยในตนเองจึงผลักดันคุณให้ทำตามความคำมั่น เมื่อสถานการณ์ยากลำบาก ถ้าจะว่ากันไปแล้ว หากคุณไม่ค่อยมีวินัยในตนเอง ข่าวดีก็คือ นี่เป็นสิ่งพัฒนาขึ้นมาได้”[8]

หมายเหตุ ถ้าคุณมีหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้ก้อนใหญ่ แม้ว่าข้อแนะนำทั่วไปเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างวิธีรับมือเรื่องการเงินโดยรวม ผมขอแนะนำให้คุณพิจารณาหนังสือหรือโปรแกรมที่ระบุยุทธศาสตร์เฉพาะเจาะจง เรื่องการปลดหนี้[9] หรือหาที่ปรึกษาจากธนาคาร ผู้ซึ่งมีความรู้เรื่องการเงิน เพื่อช่วยเหลือและแนะแนวทางให้คุณ

4. เก็บออม มีเงินสำรองฉุกเฉิน

สุภาษิต 13:11 กล่าวไว้อย่างมีสติปัญญาว่า

“ทรัพย์​สมบัติ​ที่​ได้​มา​เร็ว​จะ​ร่อย‍หรอ​หมด​ไป แต่​คน​ที่​เก็บ​เล็ก​ผสม​น้อย​จะ​มี​มาก​ขึ้น”

การเก็บออมเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้ว่าคุณจัดทำงบประมาณไว้อย่างดี และดำเนินชีวิตภายในวงรายได้ แต่มีเหตุผลที่สำคัญ แม้กระทั่งจำเป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะเก็บออม คุณคงสังเกตว่าถ้อยคำที่ให้กำลังใจในข้อพระคัมภีร์จากสุภาษิตเกี่ยวกับการเก็บออม กล่าวว่า “​เก็บ​เล็ก​ผสม​น้อย” คุณเก็บออมได้เท่าไรก็ควรค่า และควรค่าที่จะเริ่มเก็บออมทันทีเมื่อมีโอกาส ผู้ที่เก็บออมได้สำเร็จระบุว่า วินัย ความมัธยัสถ์ การเสียสละ การวางแผน ความมุมานะ และงานหนัก คือคุณสมบัติสำคัญในการเก็บออม และเสริมสร้างสถานะการเงิน[10]

ประเด็นเด่นในหัวข้อการเก็บออม คือ การมีเงินสำรองฉุกเฉิน เหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นกับทุกคน และไม่มีทางวางแผนเตรียมรับ หรือไม่มีวันรู้ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร

เหตุฉุกเฉินคือภาวะทางการเงินที่นอกเหนือความควบคุม ซึ่งจากทำให้งบรายเดือนตามปกติยุ่งเหยิงไปหมด เงินสำรองฉุกเฉินคือเงินออมที่มีไว้เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมายและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น รายได้ลดลงอย่างไม่ได้คาดหมาย ขาดงานเพราะเจ็บป่วย หรือถึงกับตกงาน ค่ารักษาพยาบาลก้อนใหญ่ การซ่อมแซมบ้านที่จำเป็น ปัญหาร้ายแรงเรื่องรถ การตั้งครรภ์โดยไม่คาดหมาย คนอันเป็นที่รักเสียชีวิต และอื่นๆ[11]

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้พยายามเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเป็นเวลาสามถึงหกเดือน นี่อาจไม่ครอบคลุมงบทั้งหมดเสมอไป ทว่าครอบคลุมขั้นต่ำสุดที่พอประทังชีพ โดยไม่ต้องเป็นหนี้สิน

การเริ่มเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน ขอให้พิจารณาที่จะเพิ่มรายการ “เงินสำรองฉุกเฉิน” ไว้ในงบรายเดือน ถ้าเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าจะเก็บได้เดือนละเล็กน้อย แต่ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ระลึกถึงการ “เก็บ​เล็ก​ผสม​น้อย” ที่กล่าวไว้ในหนังสือสุภาษิต การที่จะรักษาเงินสำรองฉุกเฉินไว้ คุณต้องเชื่อว่าจะเกิดเหตุที่ “ไม่คาดหมาย” และ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” ไม่ควรใช้เงินสำรองฉุกเฉินสำหรับสิ่งที่ไม่ใช่เหตุฉุกเฉินจริงๆ คุณต้องการเก็บเงินสำรองไว้ใช้ยามขัดสน เมื่อมีความจำเป็นจริงๆ นี่คือคุณค่าของเงินสำรองฉุกเฉิน

มีหัวข้ออื่นๆ ที่เป็นหลักพื้นฐานของการเก็บออม ซึ่งผมไม่ได้เอ่ยถึงในที่นี้  เช่น การลงทุน มีบทความและหนังสือมากมายให้ศึกษาในหัวข้อการลงทุน และเรื่องการเงินอื่นๆ ซึ่งผมขอสนับสนุนให้ศึกษา ประเด็นที่ผมเอ่ยถึงในที่นี้เป็นหลักเบื้องต้นบางอย่าง เพื่อพื้นฐานการเงินที่มั่นคง ซึ่งคุณก่อร่างสร้างขึ้นได้

5. มอบให้พระเจ้าและผู้อื่น

การมอบให้พระเจ้าและผู้อื่น คือ หลักเกณฑ์หนึ่งทางจิตวิญญาณ ในการดำเนินชีวิตทางการเงินที่ดีและได้รับพร ถ้าขณะนี้คุณกำลังดิ้นรนเรื่องการเงิน พยายามเก็บเงินซื้อบ้าน ออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ หรืออื่นๆ อาจดูเหมือนว่าขัดกับความรู้สึกของเราที่จะให้คำมั่นที่จะมอบ 10% จากรายได้ให้พระเจ้า รวมทั้งมอบเงินแก่ผู้ที่ขัดสนหรือการกุศล ซึ่งนอกเหนือจากเงินปันส่วนรายเดือน เป็นธรรมดาที่จะคิดว่า “ฉันต้องใช้เงินก้อนนั้น! ฉันไม่อาจสละ 10% จากรายได้”

นี่เป็นย่างก้าวความศรัทธาที่จะให้คำมั่นว่าจะมอบเงินปันส่วนและเงินถวายแก่พระเจ้าทุกเดือน แต่เป็นย่างก้าวที่พระเจ้าขอจากพวกเราผู้เชื่อในพระองค์ พวกเราที่ต้องการดำเนินชีวิตตามหลักทางวิญญาณของพระองค์ เงินปันส่วนคือหนึ่งในงบรายเดือน เหมือนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ นี่คือส่วนที่เราให้คำมั่นกับพระเจ้า ซึ่งพระองค์สัญญาไว้ว่าจะอวยพร พวกเราผู้มุ่งมั่นที่จะดำเนินชีวิตตามหลักสำคัญตามแบบอย่างของพระเจ้า ก็พบว่านั่นคือหลักที่ผ่านบททดสอบและเป็นจริง นี่คือการลงทุนทางการเงินด้วยสติปัญญา ซึ่งเราไม่อาจมองข้ามได้

ต่อไปนี้เป็นข้อความจากพระคัมภีร์ที่เน้นคุณค่าของการมอบให้พระเจ้า

บางคนยิ่งให้อย่างใจกว้างกลับยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น[12]

ผู้ที่หว่านด้วยใจกว้างขวาง ก็จะเก็บเกี่ยวผลมากมาย[13]

แต่ละคนควรให้ตามที่คิดหมายไว้ในใจ ไม่ใช่ให้อย่างลังเล หรือเพราะถูกผลักดัน เพราะพระเจ้ารักผู้ที่ให้ด้วยใจยินดี[14]

จงให้แล้วท่านจะได้รับ ... เพราะท่านใช้ทะนานอันใดตวงให้ ทะนานอันเดียวกันนั้นก็จะใช้ตวงให้แก่ท่าน[15]

ในฐานะคริสเตียน เราควรใช้จ่ายเงินอย่างมีมีความรับผิดชอบ ในแง่ที่ถวายสง่าราศีแด่พระเจ้า เมื่อคุณมอบเงินปันส่วน คุณแสดงให้เห็นถึงการเชื่อฟังและศรัทธา โดยที่มอบให้พระเจ้าก่อน ซึ่งเอ่ยถึงว่าเป็น “ผลแรก” ในพระคัมภีร์ สุภาษิต 3:9 กล่าวว่า

“จงถวายเกียรติแด่พระองค์ ด้วยทรัพย์สินของเจ้า ด้วยผลแรกจากผลผลิตทุกอย่าง”

เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 เขาจึงทราบดีเกี่ยวกับเรื่องการเงินและธุรกิจ เขากล่าวไว้ว่า

“ผมเฝ้าสังเกต 100,000 ครอบครัว ในช่วงหลายปีที่ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน ผมเล็งเห็นความเจริญก้าวหน้าและความสุขมากกว่าเสมอ ในครอบครัวที่มอบเงินปันส่วน ยิ่งกว่าในครอบครัวที่ไม่ให้เงินปันส่วน”[16]

การมอบเงินปันส่วนเป็นการสาธิตที่ชัดเจน ว่าพระเจ้ามีความสำคัญอันดับแรกในชีวิต รวมถึงด้านการเงิน ไม่ว่าบัญชีเงินฝากของคุณจะมากหรือน้อย นอกจากนี้ยังมีพรของพระเจ้า ซึ่งผมเองได้ประสบเป็นส่วนตัวในชีวิต ครั้งแล้วครั้งเล่า เช่นเดียวกับคริสเตียนผู้ให้เงินปันส่วน แต่การมอบเงินปันส่วนไม่ใช่แผนที่ช่วยให้ร่ำรวยอย่างรวดเร็ว ทว่าเป็นคำมั่นส่วนตัว ระหว่างคุณกับพระเจ้า ซึ่งเชื้อเชิญพรของพระองค์ให้เข้ามาสู่ชีวิตคุณ เป็นพรที่บ่อยครั้งจะค่อยๆ มา ทว่าปฏิเสธไม่ได้ ผมขอสนับสนุนให้คุณลองมอบเงินปันส่วนสักหนึ่งปี และดูว่าการเงินของคุณจะดีขึ้นหรือเปล่า พอถึงปลายปีแรกของการมอบเงินปันส่วน

ดังนั้น ขอทบทวนห้าประเด็นคร่าวๆ ดังนี้

1. จัดทำงบประมาณ และยึดถือตามนั้น
2. ใช้จ่ายน้อยกว่าเงินที่หาได้
3. หลีกเลี่ยงหนี้สิน ชำระหนี้สิน
4. เก็บออม มีเงินสำรองฉุกเฉิน
5. มอบให้พระเจ้าและผู้อื่น

พวกเราส่วนใหญ่เผชิญหน้าหรือจะเผชิญหน้า กับยามที่จะมีความจำเป็นด้านการเงิน ในฐานะคริสเตียน เราได้รับพรให้นำความจำเป็น ความวิตกกังวล และความห่วงใย มาเข้าเฝ้าพระเจ้า พระองค์ต้องการให้เราพึ่งพาพระองค์ในทุกด้านของชีวิต รวมถึงความจำเป็นด้านการเงิน ใช่แล้ว เราต้องทำส่วนของเรา และหนึ่งใน “การทำส่วนของเรา” คือนำความจำเป็นด้านการเงินมาเข้าเฝ้าพระองค์ ด้วยการอธิษฐาน เราแสดงให้เห็นว่าพึ่งพาพระเจ้า โดยอธิษฐานเรื่องการเงิน เอ่ยอ้างและขอพระองค์จัดหาให้อย่างล้นเหลือ ด้วยการอธิษฐานขออย่างเฉพาะเจาะจง ในฐานะลูกของพระองค์ เรารู้ว่าพระองค์รักเรา พระองค์ห่วงใยเรา และพระองค์สัญญาว่าจะจัดหาให้เรา นั่นช่วยให้เรามีสันติสุขอย่างยิ่ง

พระคัมภีร์ข้อหนึ่งที่ผมโปรดปรานเรื่องการเงิน คือ มัทธิว 6:33 “แต่จงแสวงหาอาณาจักรของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วสิ่งทั้งปวงเหล่านี้จะเพิ่มเติมให้แก่ท่าน”

ท้ายนี้ ผมขอเล่าเรื่องจริงเกี่ยวกับสุภาพบุรุษชราผู้หนึ่ง เขาอาศัยอยู่ที่เท็กซัส ตอนศตวรรษที่ 20 เขามั่งคั่งจากน้ำมัน เขามอบเงินก้อนใหญ่เพื่อสร้างสถานศึกษา และให้การศึกษาแก่คริสเตียนหนุ่มสาว เขามอบเงินจำนวนมากแก่โบสถ์ของเขา และถึงกับส่งศิษยาภิบาลไปยุโรป เพื่อประกาศแก่ทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อตลาดหุ้นล้มละลายในปี 1929 ชายผู้นี้สูญเสียทรัพย์สมบัติของเขา

วันหนึ่งเพื่อนคนหนึ่งเห็นเขาใช้ชีวิตอย่างต่ำต้อย และจำได้ว่าเขาเคยมั่งคั่ง จึงถามว่า “เมื่อคุณนึกถึงเงินทั้งหมดที่มอบให้ คุณเคยหวังว่าจะได้กลับคืนมาไหม” โดยไม่ลังเลใจ “เพื่อนเอ๋ย” เขาตอบ “สิ่งเดียวที่ผมเหลืออยู่คือสิ่งที่ผมมอบให้”[17]

ในฐานะลูกของพระเจ้าคนหนึ่ง ช่างแสนวิเศษที่ได้ทราบว่าทุกสิ่งที่คุณมอบแด่พระเจ้า ตลอดเวลาหลายปี คุณยังคงมีอยู่ตลอดไป พร้อมด้วยดอกเบี้ย ไม่มีการลงทุนใดที่ยิ่งใหญ่กว่านี้!

หากประสงค์ที่จะอ่านเนื้อหาเพิ่มเติม คลิกที่นี่


[1] สดุดี 20:4

[2] 1 ทิโมธี 6:10

[3] Mint เป็นโปรแกรมจัดงบประมาณและติดตามผลเรื่องการเงินทางออนไลน์ ซึ่งน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง แต่ก็มีโปรแกรมอื่นอีกมากมาย

[4] ซิก ซิกล่าร์

[5] ฟรานซีน ฮัฟฟ์ เรื่อง “How Do I Avoid the Urge to Spend?” ในหนังสือ Get Rich Slowly  9 กันยายน ค.ศ. 2010

[6] ลูกา 12:15

[7] ดู ลูกา 14:28

[8] ปีเตอร์ เคลเมนส์ เรื่อง“How to Build Self-Discipline,” ในหนังสือ Pick the Brain 29 กรกฎาคม ค.ศ.  2008

[9] ถ้าหากคุณประสบปัญหากับหนี้สิน มีหนังสือพร้อมรายละเอียดวิธีการปลดหนี้ เดฟ แรมซีย์ มีคำปรึกษาที่ดีในหัวข้อนี้ นี่เป็นเพียงหนึ่งในที่มาของข้อมูล

[10] โธมัส เจ. สแตนเลย์ ดุษฎีบัณฑิต วิลเลียม ดี. แดนโค ดุษฎีบัณฑิต ใน The Millionaire Next Door (สำนักพิมพ์ลองสตรีทเพรส: ค.ศ. 1996)

[11] ริชาร์ด บาร์ริงตัน เรื่อง “Why and How Do I Need to Save for Emergencies?” ในหนังสือ Get Rich Slowly 9 กันยายน ค.ศ. 2010

[12] สุภาษิต 11:24ก

[13] 2 โครินธ์ 9:6ข

[14] 2 โครินธ์ 9:7

[15] ลูกา 6:38

[16] ลู คาร์โลโซ ในเรื่อง "Can Tithing Make You Rich? Why Some of the World’s Wealthiest Give Away 10 Percent of Their Money," 7 เมษายน ค.ศ. 2014

[17] โจ แม็คคีเวอร์ ในเรื่อง “Lots of reasons to tithe (and a few reasons not to),” สำนักพิมพ์แบบติสต์ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2003

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้