เหมือนพระเยซูมากขึ้น: จงรักภักดีต่อพระเจ้า

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

มีนาคม 1, 2016

[More Like Jesus: Loyalty to God]

ถ้าเราปรารถนาที่จะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น จุดเริ่มต้นที่มีเหตุผลคือ เชื่อเหมือนที่พระองค์เชื่อ ยึดมั่นในความเชื่อดังกล่าว ปลูกฝังไว้ในชีวิตจิตใจของเรา เห็นได้ชัดว่าพระเยซูเชื่อและดำเนินชีวิตตามที่พระบิดาเผยไว้ในพระคัมภีร์ คือสิ่งพระเจ้าเผยให้เห็นผ่านพระคัมภีร์เดิม

หนึ่งในนัยที่มีความสำคัญมากที่สุดซึ่งพระเยซูสอน ผ่านสิ่งที่พระองค์กล่าว และการที่พระองค์ดำเนินชีวิต คือการที่พระเจ้ามีความสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตเรา พระเยซูถือว่าพระบิดาคือทุกสิ่งทุกอย่าง พระองค์อุทิศตนและหมายพึ่งพระบิดาโดยสิ้นเชิง พระองค์สอนผู้ติดตามให้ดำเนินชีวิตเช่นเดียวกัน แบบอย่างของพระเจ้าและการเป็นเหมือนพระคริสต์ เริ่มต้นด้วยการอ้าแขนรับพระเจ้าไว้ ดุจท่านผู้มีชีวิต ผู้ทรงพลัง ผู้สร้างสรรค์สรรพสิ่ง ผู้รักและห่วงใยมนุษย์ทุกคน พระองค์ไม่ได้อยู่ไกลโพ้น โดยที่สร้างจักรวาล ไขลานไว้ แล้วก็เดินจากไป และปล่อยให้ดำเนินไปเอง

เรื่องราวในพระคัมภีร์เดิมทั้งหมด คือ การที่พระเจ้ามีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ โดยเฉพาะเชื้อสายของอับราฮาม ซึ่งพระองค์เลือกเผยพระองค์ต่อพวกเขา จากเรื่องราวการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ดังที่บอกเล่าไว้ในพระคัมภีร์เดิม เราเข้าใจว่าพระเจ้าเป็นพระวิญญาณผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีความชอบธรรม เที่ยงตรง อดทน เมตตากรุณา มีความรัก มีตัวตน เป็นอมตะ ล่วงรู้ทุกสิ่ง ทรงพลัง และสถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง เนื่องจากพระเจ้าคือผู้สร้างสรรค์และค้ำจุนชีวิตจิตใจของเรา พระองค์คือส่วนที่สำคัญที่สุดในชีวิตเรา คือความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดของเรา พระองค์สมควรได้รับความรัก การนมัสการ การอุทิศตน การเชื่อฟัง และความจงรักภักดีจากเรา

เราเห็นความรักที่พระเยซูมีต่อพระบิดา รวมถึงนมัสการ อุทิศตน เชื่อฟัง และจงรักภักดีต่อพระบิดา ในพระกิตติคุณโดยตลอด นี่แสดงให้เราเห็นว่าพื้นฐานของการเป็นเหมือนพระคริสต์ เริ่มต้นด้วยการถวายตัวต่อพระเจ้า บทสรุปสั้นๆ ทว่าครอบคลุมการถวายตัวดังกล่าว เห็นได้ในข้อแรกของบัญญัติสิบประการ ซึ่งพระเจ้ามอบให้ชนชาติอิสราเอล หลังจากที่พระองค์ปลดปล่อยเขาให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์

เราคือพระยาเวห์ พระเจ้าของเจ้า ผู้นำเจ้าออกมาจากอียิปต์ ออกมาจากดินแดนแห่งความเป็นทาส อย่ามีพระเจ้าอื่นต่อหน้าเรา[1]

เมื่อมีคนถามพระเยซูว่าอะไรคือบัญญัติข้อใหญ่ที่สุด พระองค์หยิบยกประเด็นเดียวกันขึ้นมา โดยการใช้ถ้อยคำอื่น

รักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าสุดจิตสุดใจ สุดความคิด และสุดกำลังของท่าน[2]

“อย่ามีพระเจ้าอื่นต่อหน้าเรา” คือการที่เราไม่ถือว่าสิ่งใดในชีวิตอยู่เหนือพระเจ้า ไม่ใช่ว่าเราไม่รักไม่ห่วงใยสิ่งอื่นๆ เราทำเช่นนั้น และทำอย่างสุดซึ้ง แต่สิ่งสำคัญอันดับแรกสุดคือ รักพระเจ้าเหนือสิ่งอื่นใด ทั้งนี้ทั้งนั้น พระองค์คือผู้สร้างสรรพสิ่ง และสร้างสรรค์ทุกสิ่งที่เรารัก ได้แก่ ผู้ปกครอง สามีภรรยา ลูกหลาน พี่น้อง เพื่อนมิตร สัตว์เลี้ยง ฯลฯ ในถ้อยคำของพระเยซู และพระคัมภีร์เดิมโดยตลอด คาดหมายให้เรามีความปรารถนาต่อพระเจ้า เต็มใจที่จะรักและรับใช้พระองค์ ด้วยการทำอย่างสุดจิตสุดใจ

พระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่าน ไม่ได้ประสงค์สิ่งอื่นใด นอกจากให้ท่านยำเกรงพระเจ้า ดำเนินไปในวิถีทางของพระองค์ รักพระองค์ รับใช้พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านสุดจิตสุดใจ[3]

พระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่าน บัญชาพวกท่านในวันนี้ ให้ปฏิบัติตามกฎและบทบัญญัติเหล่านี้ จงถือปฏิบัติอย่างสุดจิตสุดใจ ด้วยความถี่ถ้วน[4]

เชื่อฟังพระองค์สุดจิตสุดใจ ในทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าแจ้งกับท่านวันนี้[5]

จงตั้งใจปฏิบัติตามบทบัญญัติและกฎเกณฑ์ซึ่งโมเสสผู้รับใช้ของพระองค์มอบไว้กับท่าน คือ จงรักพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน จงดำเนินตามทางทั้งสิ้นของพระองค์ จงปฏิบัติตามคำบัญชา จงยึดมั่นในพระองค์ และปรนนิบัติพระองค์สุดจิตสุดใจ[6]

จงยำเกรงและปรนนิบัติพระองค์อย่างสุดหัวใจ ด้วยความสัตย์ซื่อ จงใคร่ครวญถึงสิ่งยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทำเพื่อท่าน[7]

เราควรจะจงรักภักดีต่อพระเจ้าและพระคำของพระองค์ การคาดหมายความจงรักภักดีเช่นนี้มีอยู่ในพระคัมภีร์เดิม เป็นพื้นฐานพันธสัญญาที่พระเจ้าทำไว้กับอิสราเอล ว่าพระองค์จะเป็นพระเจ้าของเขา และเขาจะเป็นผู้คนของพระองค์ ฉะนั้น เขาควรจะรักษาบัญญัติของพระองค์ พระเจ้าจะตอบแทนเขาด้วยการมอบแผ่นดินให้เขาอยู่อาศัย แผ่นดินที่ได้ชื่อว่าเป็นของเขาเอง พระองคจะดูแลและจัดหาปัจจัยให้แก่เขา

การคาดหมายความจงรักภักดีต่อพันธสัญญา มีบ่งบอกไว้ในพระคัมภีร์ใหม่เช่นเดียวกัน การที่พระเยซูหลั่งโลหิตเพื่อเรา นำมาซึ่งพันธสัญญาใหม่ที่ดีกว่า และเป็นอมตระ ระหว่างพระเจ้ากับผู้คนของพระองค์ จอกนี้คือพันธสัญญาใหม่ด้วยโลหิตของเราซึ่งหลั่งรินออกมาเพื่อท่าน[8]ด้วยคำสาบานนี้พระเยซูจึงเป็นหลักประกันพันธสัญญาที่ดียิ่งกว่า[9] ด้วยเหตุนี้พระคริสต์จึงเป็นคนกลางของพันธสัญญาใหม่[10]พระเยซูเป็นผู้เลี้ยงที่ยิ่งใหญ่ โดยโลหิตแห่งพันธสัญญาชั่วนิรันดร์[11]

นอกจากนี้ เราได้ยินถึงความคาดหมายให้มีความรักและซื่อสัตย์ต่อพระเยซู เมื่อพระองค์กล่าวว่าความจงรักภักดีต่อพระองค์ เหนือล้ำความภักดีต่อครอบครัว ผู้ใดรักบิดามารดายิ่งกว่าเรา ก็ไม่คู่ควรกับเรา ผู้ใดรักบุตรชายบุตรสาวยิ่งกว่าเรา ก็ไม่คู่ควรกับเรา[12]หลักการที่พระเยซูดำเนินชีวิต และหลักการที่พระคัมภีร์สอน ได้แก่ ข้อสำคัญอันดับแรก รักพระเจ้า (คือ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์) สุดหัวใจ เรารักพระองค์อันดับแรก เหนือสิ่งอื่นใด แล้วรักพ่อแม่ สามีภรรยา ลูกหลาน ครอบครัว ฯลฯ การรักพระเจ้ามากที่สุด ไม่ได้แย่งชิงความรักสุดซึ้งที่เรามีต่อผู้อื่น ทว่าจัดไว้ในมุมมองที่ถูกต้องเหมาะสม

การรักพระเจ้าอันดับแรกเหนือสิ่งอื่นใด คือส่วนหนึ่งในการเป็นเหมือนพระเยซู เพราะนี่คือสิ่งที่พระเยซูทำ จนถึงขั้นที่ยินยอมต่อความประสงค์ของพระบิดา และยอมตายบนกางเขน เพื่อเราจะได้กลายเป็นลูกของพระเจ้า และเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระองค์

นมัสการ

ผลลัพธ์ตามธรรมชาติจากการรักท่านผู้ที่สร้างสรรค์ มอบความรัก และห่วงใยเรา ท่านผู้ที่เราจงรักภักดี คือการนมัสการ เรานมัสการพระองค์ เพราะผู้ที่พระองค์เป็น และสิ่งที่พระองค์ได้ทำ

สรรเสริญพระองค์ด้วยสง่าราศีที่ควรค่าต่อนามของพระองค์ นมัสการพระองค์ในความบริสุทธิ์ของพระองค์[13]

มาเถิด นมัสการและคำนับ คุกเข่าต่อหน้าพระยาห์เวห์ พระผู้สร้างของเรา เพราะพระองค์เป็นพระเจ้าของเรา เราเป็นประชากรที่พระองค์เลี้ยงดูในทุ่งหญ้า เป็นฝูงแกะที่พระองค์อุ้มชูด้วยหัตถ์ของพระองค์[14]

ในพระคัมภีร์เดิม การนมัสการรวมถึงการอธิษฐาน แต่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการบูชายัญที่ถวายในวิหาร ได้แก่ การบูชายัญสัตว์ รวมทั้งแป้ง น้ำมัน และไวน์ เมื่อพระเยซูกล่าวกับหญิงที่บ่อน้ำ พระองค์พูดถึงความแตกต่างที่จะมาถึง เมื่อสถานที่ซึ่งผู้คนนมัสการจะไม่สำคัญ แทนที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น วิหารชาวยิว หรือภูเขาเกริซิมของชาวซะมาเรีย ผู้มีความเชื่อจะกลายเป็นที่ซึ่งพระบิดา พระเยซู และพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตอยู่[15]

ถ้าผู้ใดรักเรา เขาจะเชื่อฟังคำสอนของเรา พระบิดาจะรักเขา พระบิดากับเราจะมาหาเขา และอยู่กับเขา[16]

พระเยซูประกาศว่า “หญิงเอ๋ย เชื่อเราเถิด ใกล้ถึงเวลาแล้ว เมื่อพวกท่านจะนมัสการพระบิดา ไม่ใช่ที่ภูเขานี้หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม พวกท่านชาวสะมาเรีย นมัสการสิ่งที่ท่านไม่รู้จัก ส่วนเรา นมัสการสิ่งที่เรารู้จัก เพราะความรอดมาจากชาวยิว กระนั้นก็ใกล้ถึงเวลาแล้ว บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ผู้นมัสการอย่างแท้จริง จะนมัสการพระบิดาด้วยจิตวิญญาณและความจริง เพราะพระบิดาแสวหาผู้ที่นมัสการเช่นนั้น พระเจ้าเป็นพระวญญาณ ผู้ที่นมสการพระองค์ต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง”[17]

ใครหรือสิ่งใดที่เรานมัสการ ขึ้นอยู่กับว่าใครหรือสิ่งใดที่เราถือว่ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตเรา คือผู้ที่เราจงรักภักดี เมื่อซาตานล่อใจพระเยซู มันพยายามชักจูงพระเยซูให้เปลี่ยนความจงรักภักดี มันล่อลวงพระองค์ด้วยความมั่งคั่งและเกียรติยศของโลกนี้

มารนำพระองค์มายังภูเขาที่สูงมาก แล้วแสดงอาณาจักรทั้งปวงในโลก และความโอ่อ่าตระการตาของอาณาจักรเหล่านั้นให้พระองค์ได้เห็น แล้วกล่าวว่า “เราจะยกทั้งหมดนี้ให้ท่าน หากท่านนมัสการเรา” พระเยซูตอบว่า “เจ้าซาตาน จงไปให้พ้น! เพราะมีคำเขียนไว้ว่า ‘จงนมัสการพระองค์ผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน และปรนนิบัติพระองค์แต่ผู้เดียว’”[18]

ส่วนหนึ่งของการเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น คือ มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้า ตามแบบอย่างความจงรักภักดีที่พระองค์มีต่อพระบิดา เราควรนมัสการพระเจ้าผู้เดียว โดยไม่มีสิ่งอื่นใดที่เหนือกว่าพระองค์

พระบิดา

พระเยซูกล่าวถึงพระบิดามากกว่า 100 ครั้ง ในพระกิตติคุณ การทำเช่นนั้น พระองค์ถ่ายทอดความสำคัญของการมีความเชื่อ ความเข้าใจ และความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้า พระเจ้าเผยธรรมชาติและวิสัยของพระองค์ต่อผู้คนของพระองค์ไว้ในพระคัมภีร์เดิม[19] และเผยให้เห็นเพิ่มเติมผ่านถ้อยคำที่พระเยซูกล่าว และสิ่งที่พระองค์กระทำ ในระหว่างที่ดำเนินชีวิตบนโลก

พระเยซูช่วยให้รายบุคคลมีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น ถึงความสัมพันธ์ที่เขามีกับพระเจ้าได้ พระองค์หยิบยกแง่คิดที่ว่าพระเจ้าเป็นพระบิดา ส่วนเราเป็นลูกของพระองค์ และเรามีความสัมพันธ์กับพระองค์เช่นนั้น ในข้อนี้พระองค์ช่วยให้ความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระเจ้าเป็นส่วนตัวมากขึ้น เราคือลูกของพระองค์ พระองค์รักและดูแลเอาใจใส่เรา เราไว้วางใจพระองค์ได้อย่างเต็มที่ โดยสิ้นเชิง ในทุกแง่มุมของชีวิต เราเลิกวิตกกังวลได้ เพราะพระองค์ล่วงรู้ และรักเรา พระองค์ทราบว่าเราต้องการอะไร

พระบิดาทราบว่าท่านต้องการอะไร ก่อนที่ท่านจะขอพระองค์... ฉะนั้นอย่ากังวลว่า “เรากินอะไร” หรือ “เราจะดื่มอะไร” หรือ “เราจะนุ่งห่มอะไร” ... พระบิดาของท่านในสวรรค์ทราบว่าท่านต้องมีสิ่งเหล่านี้ แต่จงแสวงหาอาณาจักรของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน พระองค์จะมอบสิ่งทั้งปวงเหล่านี้แก่ท่าน[20]

แม้ท่านเองผู้เป็นคนบาปยังรู้จักให้สิ่งดีๆ แก่บุตร พระบิดาของท่านในสวรรค์จะมอบสิ่งดีแก่ผู้ที่ขอพระองค์ ยิ่งกว่านั้นสักเพียงใด![21]

ถ้าผู้ใดรับใช้เรา พระบิดาจะให้เกียรติเขา[22] พระบิดารักท่าน เพราะท่านรักเรา และเชื่อว่าเรามาจากพระเจ้า[23] เราจะกลับไปหาพระบิดาของเราและพระบิดาของท่าน ไปหาพระเจ้าของเรา และพระเจ้าของท่าน[24]

ขณะที่ในพระคัมภีร์เดิมบรรยายไว้หลายครั้งว่า พระเจ้าเป็นพระบิดา[25] แต่ไม่เคยเอ่ยถึงพระองค์เช่นนั้นโดยตรง พระเยซูนำเสนอคำว่า พระบิดา เป็นคำที่แนบชิด ในการเอ่ยถึงพระเจ้า พระองค์ใช้คำอะราเมอิคว่า อับบา ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่หมายถึงความรักซึ่งใช้สำหรับบิดา การนำเสนอคำศัพท์นี้ พระเยซูถ่ายทอดแง่คิดถึงความแนบชิดและความรัก พระองค์ให้ประเด็นว่าพระบิดารักเรา และปฏิบัติต่อเราดุจลูกของพระองค์ เราเชื่อมสัมพันธ์กับพระองค์ได้ ด้วยความแนบชิดฉันครอบครัว ดังที่คนเราเชื่อมสัมพันธ์กับบิดาผู้มีความรัก

อัครสาวกเปาโลชี้ให้เห็นว่า

ท่านไม่ได้รับวิญญาณซึ่งทำให้ท่านเป็นทาสของความกลัวอีกแล้ว แต่ท่านได้รับพระวิญญาณผู้ทำให้ท่านเป็นบุตรของพระเจ้า โดยพระองค์ เราร้องว่า “อับบา บิดา” พระวิญญาณเป็นสักขีพยานว่าเราเป็นลูกของพระเจ้าในจิตวิญญาณ[26]

ในเมื่อท่านเป็นบุตร พระเจ้าจึงให้พระวิญญาณของพระบุตรเข้ามาในใจเรา พระวิญญาณผู้ร้องเรียกว่า “อับบา บิดา” ฉะนั้นท่านจึงไม่เป็นทาสอีกต่อไป แต่เป็นบุตร เพราะท่านเป็นบุตร พระเจ้าจึงให้ท่านเป็นทายาทด้วย[27]

ถึงแม้ว่าพระเยซูคือพระเจ้า ผู้เป็นพระบุตรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ แต่เราก็เป็นบุตรชายหญิงของพระเจ้าด้วย พระบิดารักเราเช่นนั้น พระองค์ห่วงใยเรา และเห็นคุณค่าเราแต่ละคน ความสัมพันธ์ที่เราควรจะมีกับพระเจ้า ไม่ได้มุ่งหมายให้เหินห่าง เย็นชา และหวาดกลัว แต่ควรจะเปี่ยมด้วยความรักและความไว้วางใจ

เมื่อทราบว่าเราน่าจะมีความสัมพันธ์เช่นไรกับพระบิดาในสวรรค์ ก็ควรจะช่วยให้เราเข้าใจ และเชื่อในคุณค่าของเราเป็นรายบุคคล เรามีคุณค่าต่อพระเจ้า ในฐานะลูกของพระองค์ เพราะเราเป็นเช่นนั้น เราควรสำนึกถึงคุณค่าในตัวตนของเรา

พระเยซูเผยให้เห็นความสัมพันธ์ที่พระองค์มีกับพระบิดา เป็นความสัมพันธ์ที่ประกอบด้วยความรักและความไว้วางใจ การทำเช่นนั้น เป็นการกำหนดแบบอย่างความสัมพันธ์แบบที่เราควรจะมีกับพระเจ้า การเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น คือ จริงจังในการสานสัมพันธ์กับพระเจ้า รักพระองค์ จงรักภักดีต่อพระองค์ ถือว่าพระองค์มาเป็นอันดับแรกในชีวิตและความรักของเราต่อไปเรื่อยๆ โดยเข้าใจว่าพระเจ้าคือผู้สร้าง พระองค์ยิ่งใหญ่กว่าเราแน่นอน ถึงกระนั้น พระองค์ก็รักเรา เราควรจะสรรเสริญและนมัสการพระองค์ เราควรจะรักพระองค์ เชื่อฟังพระองค์ และปรารถนาที่จะทำสิ่งที่ถวายสง่าราศีแด่พระองค์

พระเยซูมุ่งเน้นพระเจ้า และดำเนินชีวิตด้วยการยอมจำนนต่อความประสงค์ของพระบิดาโดยสิ้นเชิง พระองค์สะท้อนให้เห็นพระบิดา ในทุกสิ่งที่พระองค์ทำ ในฐานะผู้ติดตามของพระเยซู ซึ่งประสงค์ที่จะทำตามแบบอย่างของพระองค์ เราควรหมายมั่นที่จะมุ่งเน้นพระเจ้าเช่นกัน โดยทำสุดความสามารถที่จะรักและนมัสการพระองค์จากส่วนลึกในใจ รวมถึงเชื่อฟังพระคำ ดำเนินชีวิตในแง่ที่สะท้อนให้เห็นคุณสมบัติของพระองค์ และถวายสง่าราศีแก่พระองค์


[1] อพยพ 20:2-3

[2] มาระโก 12:30

[3] พระบัญญัติ 10:12

[4] พระบัญญัติ 26:16

[5] พระบัญญัติ 30:2

[6] โยชูวา 22:5

[7] 1 ซามูเอล 12:24

[8] ลูกา 22:20

[9] ฮีบรู 7:22

[10] ฮีบรู 9:15

[11] ฮีบรู 13:20

[12] มัทธิว 10:37

[13] สดุดี 29:2

[14] สดุดี 95:6-7

[15] เครก เอส คีเนอร์ The Gospel of John, A Commentary เล่ม 1 (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์เบเกอร์อะแคเดมิค ค.ศ. 2003) หน้า 617

[16] ยอห์น 14:23

[17] ยอห์น 4:21-24

[18] มัทธิว 4:8-10

[19] หากประสงค์ที่จะเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับธรรมชาติของพระเจ้า ขอให้อ่านบทความเรื่องธรรมชาติและวิสัยของพระเจ้า ในชุด หัวใจสำคัญ

[20] มัทธิว 6:8, 31-33

[21] มัทธิว 7:11

[22] ยอห์น 12:26

[23] ยอห์น 16:27

[24] ยอห์น 20:17

[25] พระบัญญัติ 32:6; 2 ซามูเอล 7:14; 1 โครนิกา 17:13, 22:10, 28:6; สดุดี 68:5, 89:26; อิสยาห์ 63:16; เยเรมีย์ 3:4, 19; มาลาคี 1:6, 2:10

[26] โรม 8:15-16

[27] กาลาเทีย 4:6-7

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้