เหมือนพระเยซูมากขึ้น: ร่วมมิตรภาพกับพระเจ้า (ตอนที่ 2)

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

เมษายน 5, 2016

[More Like Jesus: Fellowship with God (Part 2)]

ดังที่เราเห็นได้ในบทความก่อนหน้านี้ (ร่วมมิตรภาพกับพระเจ้า ตอนที่ 1) การร่วมมิตรภาพกับพระเจ้าคือกุญแจสำคัญในการเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น จากการร่วมมิตรภาพดังกล่าว เราสานสัมพันธ์กับพระองค์ เราหล่อเลี้ยงความรักและความแนบชิด เราทำความรู้จักกับพระองค์อย่างแท้จริง ยิ่งเรารู้จักพระองค์มากขึ้น เราก็ยิ่งปรารถนาที่จะอยู่กับพระองค์มากขึ้น ในหนังสือสดุดี มีการเอ่ยปากบ่งบอกถึงความปรารถนาที่จะร่วมมิตรภาพกับพระองค์

ข้าแต่พระเจ้า กวางกระหายหาธารน้ำฉันใด จิตวิญญาณของข้าก็โหยหาพระองค์ฉันนั้น จิตวิญญาณของข้าถวิลหาพระเจ้าผู้มีชีวิต เมื่อไรหนอ ข้าจะได้ไปเข้าเฝ้าพระองค์[1] ข้าแต่พระเจ้า พระองค์เป็นพระเจ้าของข้า ข้าแสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง จิตวิญญาณของข้าพระองค์ถวิลหาพระองค์ ร่างกายของข้าโหยหาพระองค์[2] นอกจากพระองค์แล้ว ข้ามีผู้ใดอื่นในฟ้าสวรรค์หรือ และในโลกนี้ข้าไม่ปรารถนาสิ่งใดนอกจากพระองค์ [3]

วิธีหนึ่งที่ข้อพระคัมภีร์บ่งบอกถึงสายสัมพันธ์ที่เรามีกับพระองค์ คือ ความสัมพันธ์รัก เป็นการสมรส ริค วาร์เรน บ่งบอกไว้ว่า

การที่จะรู้จักใครอย่างแนบชิด และชื่นชมเขาเป็นส่วนตัว คุณต้องใช้เวลาที่มีคุณภาพกับเขา สื่อสารกับเขาอย่างมีความหมาย เฝ้าดูเขาในสถานการณ์ต่างๆ บรรทัดฐานเดียวกันนี้ปรับใช้กับการทำความรู้จักและชื่นชมพระเจ้าเช่นกัน ขอให้ระลึกไว้ว่า เป็นการยากที่จะสานสัมพันธ์รักในหมู่คน คุณต้องอยู่ตามลำพังกับบุคคลนั้น นี่คือวิธีที่พระคัมภีร์กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า โดยผ่านพระคริสต์ ดุจสัมพันธ์รัก อันที่จริงแล้ว นี่เรียกว่าการสมรส พระคริสต์คือเจ้าบ่าว และเรา ในหมู่ผู้มีความเชื่อ คือเจ้าสาวของพระองค์[4]

การใช้เวลาตามลำพังกับพระองค์คือสื่อที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ในการทำความรู้จักพระองค์ และการสานสัมพันธ์กับพระองค์ ลองถามตัวเองว่าคุณมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นแค่ไหนกับคู่ครองของคุณ ครอบครัว เพื่อนมิตร หรือเพื่อนร่วมงาน ถ้าคุณสื่อสารกับเขาเหมือนที่คุณสื่อสารกับพระองค์ คนอันเป็นที่รักรู้สึกว่าคุณใช้เวลากับเขามากพอไหม เขารู้สึกไหมว่าการร่วมมิตรภาพกับคุณช่วยให้ความสัมพันธ์ของคุณเบ่งบาน ความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระเจ้าคือความสัมพันธ์อันดับแรก การที่จะให้มีชีวิตชีวาและเบ่งบาน เราต้องใช้เวลากับพระองค์ เช่นเดียวกับที่เราต้องใช้เวลากับคนอื่นซึ่งเรามีความสัมพันธ์ด้วย

เป็นเพราะความรับผิดชอบที่พระเจ้ามอบไว้ให้เราแต่ละคน การใช้เวลามากๆ กับคนที่เรารัก มักจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเป็นเช่นนี้ โดยทั่วไปแล้ว เราพยายามทุ่มเทความสนใจและพลังงานให้ ในช่วงเวลาที่เราอยู่กับเขา เราต้องการใช้เวลากับคนที่เรารักอย่างมีคุณภาพ เป้าหมายหนึ่งในการพยายามเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้นก็คือ ทำให้เวลาที่อยู่กับพระองค์เป็นเวลาที่มีคุณภาพเช่นกัน เนื่องจากวันเวลาของเราแสนยุ่ง อาจเป็นความท้าทาย ต้องอาศัยความตั้งใจที่จะจัดเวลาไว้โดยเฉพาะ เพื่ออยู่กับพระองค์เป็นประจำทุกวัน แล้วใช้เวลานั้นสานสัมพันธ์กับพระองค์ จากใจถึงใจ

องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการร่วมมิตรภาพ คือ การสื่อสารที่มีร่วมกัน เป็นการรับฟังและพูดคุยกัน ซึ่งทำให้เรารู้จักกันดีขึ้น การร่วมมิตรภาพกับพระองค์ก็ไม่แตกต่างแต่อย่างใด เราต้องรับฟัง และพูดกับพระองค์ด้วย สื่อที่สำคัญเป็นอันดับแรกในการรับฟังพระเจ้า ได้แก่การอ่านพระคำ คือพระคัมภีร์ พระองค์พูดกับเราผ่านข้อพระคัมภีร์ ขณะที่เราอ่าน นึกคิดถึงสิ่งที่พระคัมภีร์กล่าว ทำสมาธิ ถามตัวเองว่ามีความหมายต่อเราอย่างไร และจะนำความหมายนั้นมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างไร พระองค์พูดกับจิตใจเราด้วย เมื่อเราอยู่เงียบๆ และรับฟังเสียงค่อยๆ ที่หนักแน่นของพระองค์

เวลา

องค์ประกอบแรกของเวลาที่มีคุณภาพกับพระองค์คือ ความมุ่งมั่นที่จะพบปะกับพระองค์ ถ้าให้ดีก็ทำเป็นประจำทุกวัน แล้วก็มีวินัยในตนเองที่จะรักษาความมุ่งมั่นดังกล่าว ถ้าปราศจากความมุ่งมั่นและวินัยในระยะยาว จุดมุ่งเน้นการร่วมมิตรภาพจะเป็นกิจกรรมแบบประเดี๋ยวประด๋าว วันนี้ทำ พรุ่งนี้ไม่ทำ ข้อที่ควรถามก็คือ พระเจ้าสำคัญแค่ไหนในชีวิตฉัน เป็นผู้ล่วงรู้จิตใจและวิญญาณของเราดีกว่าตัวเราเอง พระผู้สร้างมีความสำคัญสูงสุด เนื่องจากพระองค์รักเรา จึงเปิดโอกาสให้เราเชื่อมสัมพันธภาพกับพระองค์ และปรารถนาที่จะร่วมมิตรภาพกับเรา ความมุ่งมั่นที่จะใช้เวลาที่มีคุณภาพกับพระองค์ ควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกอย่างเห็นได้ชัด

คนส่วนใหญ่ที่เขียนเรื่องการจัดเวลาไว้สำหรับพระเจ้า บอกว่าช่วงเช้าก่อนที่วันอันแสนยุ่งจะเริ่มต้น คือเวลาเหมาะที่สุดในการนัดหมายนี้ โดยส่วนตัวผมพบว่าเป็นจริง ทว่าผมได้อ่านเกี่ยวกับคนอื่นที่จัดเวลาไว้ตอนค่ำ เพื่อร่วมมิตรภาพกับพระองค์ ส่วนบางคนใช้เวลาทานข้าวมื้อกลางวันกับพระองค์ ผมเลือกช่วงเช้า เพราะพอตกค่ำ ผมก็เหน็ดเหนื่อย และไม่อยู่ในสภาพเหมาะที่สุด ในกรณีของผม การตื่นเช้ามากพอที่จะใช้เวลากับพระองค์ หมายความว่าผมต้องฝึกวินัยในตนเอง โดยการเข้านอนเร็วขึ้น ผมจะได้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ และยังมีเวลากับพระองค์อีกมาก ไม่ว่าคุณจะจัดเวลาช่วงไหนเพื่อการร่วมมิตรภาพ ก็ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและวินัยในตนเอง ถึงจะทำตามนั้นได้

ไม่มีข้อกำหนดแน่นอนว่าต้องใช้เวลากับพระองค์มากน้อยแค่ไหน แต่คุณต้องการมีเวลามากพอที่จะอ่านพระคำ อธิษฐาน และให้พระองค์มีเวลาบอกกล่าวกับคุณ คุณคงต้องการจัดเวลาไว้เพื่อจดบันทึกสิ่งที่พระองค์ชี้ให้เห็น ในขณะที่คุณอ่าน หรือสิ่งที่พระองค์กล่าวกับจิตใจคุณ จำนวนเวลาไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพ และสิ่งที่คุณทำในช่วงเวลานั้น

เป็นการเหมาะสมที่จะเริ่มช่วงเวลากับพระผู้สร้าง โดยการอยู่นิ่งๆ ชั่วขณะ เพื่อสำนึกว่าเราเข้ามาเฝ้าพระองค์ และสรรเสริญพระองค์ เข้าเฝ้าพระองค์ด้วยการขอบคุณ เข้ามาในนิเวศของพระองค์ด้วยการสรรเสริญ! ขอบพระคุณพระองค์ และสรรเสริญนามของพระองค์![5] เป็นการดีที่จะกล่าวคำอธิษฐานสั้นๆ เพื่ออุทิศเวลาให้กับพระองค์ ขอให้พระองค์นำทางช่วงเวลาที่อยู่ร่วมกัน ขจัดสิ่งที่ทำให้วอกแวก หรือขัดขวาง ช่วยเปิดตาให้คุณจะได้เห็นความน่าอัศจรรย์ใจจากคำสอนของพระองค์[6]

รับฟังจากการอ่าน

อันดับต่อไป คุณคงต้องการให้พระองค์กล่าวกับคุณผ่านพระคำ เนื่องจากพระคำคือเสียงที่พระองค์กล่าวกับคุณ จึงควรค่าที่จะใช้เวลามีส่วนร่วม โดยที่ค่อยๆ อ่าน แม้แต่อ่านออกเสียง นึกถึงสิ่งที่คุณอ่าน ถามตัวเอง เพื่อให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจสิ่งที่พระคำกล่าว ว่ามีความหมายอะไรในชีวิตคุณ คงมีส่วนช่วยได้ด้วยที่จะอ่านข้อพระคำหรือข้อความหรือบทนั้น สักสองครั้งหรือมากกว่านั้น เพื่อมุ่งเน้นอย่างเต็มที่ และซึมซับประเด็นจากข้อความนั้น สิ่งที่พระคำบอกเกี่ยวกับพระเจ้าหรือตัวคุณเอง ว่าเกี่ยวโยงหรือมีผลกระทบต่อคุณอย่างไร

ถึงแม้ว่าไม่จำเป็นเสมอไป แต่จะช่วยให้เข้าใจสิ่งที่พระเจ้ากล่าวได้ดีขึ้น ถ้าคุณอ่านพระคัมภีร์ทั้งเล่มโดยตลอด แทนที่จะอ่านที่นี่บทหนึ่ง และอ่านข้อนั้นข้อนี้ การอ่านพระคัมภีร์ทั้งเล่มโดยตลอดหลายครั้ง จะช่วยให้ภาพรวมว่าพระคัมภีร์สอนอะไร บางครั้งก็ช่วยได้ที่จะอ่านทั้งเล่มผ่านๆ เพื่อให้ได้รับมุมมองโดยสังเขป แล้วค่อยๆ อ่านอีกครั้ง โดยใช้เวลามากขึ้นกับแต่ละข้อความ

การอ่านข้อพระคัมภีร์ โดยนึกคิดว่าสิ่งที่คุณอ่านจะนำมาปรับใช้กับชีวิตคุณได้อย่างไร แตกต่างจากการศึกษาพระคัมภีร์ ถือกันว่าการศึกษาพระคัมภีร์เป็นวินัยทางจิตวิญญาณ ซึ่งแตกต่างจากการอ่านพระคัมภีร์เป็นประจำทุกวัน จุดมุ่งเน้นการศึกษาเช่นนั้นคือ การเรียนรู้เกี่ยวกับพระคำของพระเจ้า แทนที่จะมุ่งเน้นสิ่งที่พระคำของพระเจ้ากล่าวกับคุณเป็นส่วนตัว โดยทั่วไปแล้วทำในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน นอกเหนือจากเวลาร่วมมิตรภาพเป็นประจำทุกวัน เวลาอ่านพระคำคือเวลาเชื่อมสัมพันธภาพกับพระองค์ ตรึกตรอง ทำสมาธิกับสิ่งที่อ่านด้วยใจอธิษฐาน เปิดโอกาสให้พระวิญญาณบริสุทธิ์แสดงวิธีนำมาปรับใช้กับชีวิตคุณ แน่นอนว่าการนำข้อพระคัมภีร์มาปรับใช้บ่อยๆ ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเรา เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ท้าทายเราในด้านความนึกคิดหรือการปฏิบัติตน นี่แหละคือการเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น

ขณะที่คุณคิดคำนึงถึงสิ่งที่พระคำของพระเจ้ากล่าวไว้ ก็ช่วยได้ที่จะถามตัวเองว่า ข้อความนี้สอนอะไรฉัน ฉันนำมาปรับใช้ได้อย่างไร นี่แสดงให้ฉันเห็นด้านที่ฉันทำบาปอยู่ใช่ไหม ถ้าเป็นเช่นนั้น ฉันจะทำอย่างไร มีคำสัญญาไหม ถ้าเป็นเช่นนั้น ฉันทำตามเงื่อนไขหรือเปล่า เพื่อให้คำสัญญานั้นเกิดผล ถ้าไม่ทำ ฉันต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เพื่อจะได้เอ่ยอ้างคำสัญญานั้น ข้อความนี้มอบตัวอย่างเชิงบวกที่ฉันควรทำตาม หรือตัวอย่างเชิงลบที่ฉันควรหลีกเลี่ยง สิ่งที่ฉันอ่านอยู่ทำให้ฉันระลึกถึงสิ่งใด หรือผู้คนที่ฉันควรอธิษฐานเผื่อหรือไม่ ประเด็นสำคัญก็คือ นึกคิดถึงสิ่งที่คุณอ่าน และหาทางนำมาปรับใช้ เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตคุณ

เมื่อตั้งคำถามดังกล่าว ขอให้เปิดใจรับคำตอบที่พระองค์มอบให้ และแสดงถึงวิธีนำสิ่งที่พระคำบอกกล่าวมาปรับใช้ เมื่อพระองค์ทำเช่นนั้น ขอให้บันทึกไว้ การบันทึกสิ่งที่พระองค์แสดงต่อคุณผ่านพระคำ มีประโยชน์อย่างมาก ทว่าบ่อยครั้งเป็นแง่มุมที่ถูกละเลย ในการร่วมมิตรภาพกับพระองค์ เมื่อคุณจดบันทึกสิ่งที่พระองค์กล่าวกับจิตใจคุณ ไม่ว่าผ่านพระคำของพระองค์ เสียงค่อยๆ ที่หนักแน่น หรือพรสวรรค์ในการรับคำพยากรณ์ คุณจะกลับไปทบทวนได้ในภายหลัง เพื่อดูว่าคุณทำตามสิ่งที่พระองค์ชี้ให้เห็น และนำสิ่งที่พระองค์กล่าวกับคุณมาใช้กับตัวเองหรือไม่ เพื่อจะได้เติบโตในความสัมพันธ์กับพระองค์ ถ้าคุณไม่จดบันทึกไว้ ก็ง่ายที่จะลืม

การอธิษฐาน

ขั้นต่อไป หลังจากรับฟังพระองค์ผ่านพระคำที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว คือการใช้เวลาอธิษฐาน นี่เป็นการที่คุณสนทนากับพระเจ้า คล้ายกับการเริ่มอ่านข้อพระคัมภีร์ด้วยการสรรเสริญ นอกจากนี้ก็เหมาะที่จะเริ่มสนทนากับพระเจ้าด้วยการสรรเสริญและเลื่อมใส โดยที่สำนึกในบุญคุณพระองค์อย่างที่ควร ในฐานะพระผู้สร้างและพระผู้ช่วยให้รอด สดุดี 146-150, 1 พงศาวดาร 29:10-13 และ 16:25-36 นำเสนอแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมในการสรรเสริญพระเจ้า

นอกจากนี้ เราควรใช้เวลาขอบคุณและสรรเสริญพระองค์ สำหรับสิ่งที่พระองค์ได้ทำเพื่อเรา ช่วยเราให้รอด จัดหาปัจจัยและดูแลเอาใจใส่เรา ตอบคำอธิษฐานของเรา ขอให้นึกถึงสิ่งเฉพาะเจาะจงที่คุณรู้สึกขอบคุณพระองค์

การสารภาพบาปของเรา ขอรับการให้อภัยจากพระองค์ รวมทั้งแสวงหาความช่วยเหลือของพระองค์ เพื่อหนีห่างจากความบาป ก็เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมิตรภาพกับพระองค์ด้วย การเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น คือการเลิกพฤติกรรมที่เป็นบาป ส่วนหนึ่งคือการสารภาพ หนีห่างจากบาป และเลิกทำบาป แน่นอนว่าพระองค์ล่วงรู้ถึงบาปของเราแล้ว แต่การที่เราเต็มใจยอมรับว่าเราทำบาป และกลับใจ จะนำมาซึ่งการให้อภัย ถ้าเราสารภาพบาป พระองค์สัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม จะอภัยบาปของเรา และชำระเราให้พ้นจากความอธรรมทั้งสิ้น[7]

เราทำได้ และเราควรอ้อนวอนพระองค์ด้วยคำขอเป็นส่วนตัว ดังที่พระคัมภีร์สอน คำขอดังกล่าวอาจขอเพื่อความจำเป็นทางวัตถุหรือทางจิตวิญญาณ การรับมือหรือฟันฝ่าปัญหาในชีวิต เป็นการดีที่จะเก็บบันทึกคำขอ และคำอธิษฐานว่าได้รับคำตอบเมื่อไร การจดบันทึกคำอธิษฐานที่ได้รับคำตอบ อาจเป็นเครื่องเตือนใจที่ทรงพลังว่าพระเจ้ารักคุณ พระองค์มีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตคุณ และสัตย์ซื่อที่จะตอบ ในกรณีที่คุณเล็งเห็นว่าพระองค์ไม่ตอบคำขอ การกลับไปเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยคำอธิษฐานอาจส่งผลดีทางจิตวิญญาณ เพื่อดูว่าพระองค์ต้องการบอกกล่าวอะไรกับคุณหรือไม่ ว่าเหตุใดพระองค์จึงไม่ตอบ

ขอให้ใช้เวลาอ้อนวอนเพื่อผู้อื่นด้วย ได้แก่ ครอบครัว เพื่อนมิตร เพื่อนร่วมงาน ผู้คนที่คุณเป็นพยานหรือให้การอนุเคราะห์ มิชชันนารี นายจ้าง หรือลูกจ้าง รวมทั้งสถานการณ์โลกและผู้นำโลก คุณควรจะอธิษฐานสำหรับคนที่คุณไม่ชอบ หรือคนที่ไม่ชอบคุณด้วย คุณอาจพิจารณาที่จะอธิษฐานเผื่อใครต่อใคร หรือบุคคลประเภทต่างๆ ในแต่ละวันของสัปดาห์

ปิดท้าย

การจัดเวลาเพื่อร่วมมิตรภาพกับพระองค์เป็นส่วนตัว คือเวลาที่อุทิศให้กับการหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ของคุณ การรับฟังพระองค์ผ่านพระคำ พระวิญญาณ เสียงของพระองค์ คือสิ่งที่สำคัญยิ่ง ถ้าคุณต้องการเป็นเหมือนพระเยซู ขณะที่เราศึกษาคำสอนของพระองค์ ให้โอกาสพระคำบอกกล่าวกับเรา ช่วยให้เราสำนึกผิด ท้าทายเรา และเปลี่ยนแปลงเรา เราจะเปลี่ยนไปมากขึ้น สู่ภาพลักษณ์และการเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น การพูดคุยกับพระองค์ บอกเล่าความในใจ ภาระ ความวิตกกังวล และความกลัว รวมทั้งความหวัง ความยินดี และความฝัน ความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ก็จะงอกงาม การมีปฏิสัมพันธ์กับพระองค์ รักพระองค์ ใช้เวลารับฟังพระองค์ เรียนรู้จากพระองค์ นำพระคำของพระองค์มาปรับใช้ ร่วมมิตรภาพกับพระองค์เป็นประจำ คือส่วนหนึ่งในการเป็นเหมือนพระองค์


[1] สดุดี 42:1-2

[2] สดุดี 63:1

[3] สดุดี 73:25

[4] ริค วาร์เรน ใน Rick Warren’s Bible Study Methodsหน้า237

[5] สดุดี 100:4

[6] สดุดี 119:18

[7] 1 ยอห์น 1:9

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้