เหมือนพระเยซูมากขึ้น: แบบอย่างของพระคริสต์

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

เมษายน 26, 2016

[More Like Jesus: Christ's Example]

เมื่อเราอยู่ในขั้นตอนการหาทางเปลี่ยนแปลงชีวิต เพื่อเราจะได้กลายเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น ก็ติดตามด้วยการที่เราควรจะมองดูแบบอย่างว่าพระเยซู ซึ่งเป็นมนุษย์ผู้เดียวที่มีคุณธรรมครบถ้วนสมบูรณ์ ดำเนินชีวิตเช่นไร เราควรมองหาแนวทางจากการที่พระองค์ดำเนินชีวิต รวมถึงการที่พระองค์มีปฏิสัมพันธ์กับพระบิดาและผู้อื่น ควบคู่กับการทำเช่นนี้ เราคงต้องการสำรวจพระคัมภีร์ใหม่ส่วนที่เหลือ เพื่อดูว่าผู้ติดตามพระองค์รุ่นแรกดำเนินชีวิตเช่นไร และสอนผู้อื่นให้ทำตามแบบอย่างของพระองค์ เราจะสำรวจทั้งสองอย่างในเรื่องชุดนี้

ขอเริ่มต้นด้วยการพิจารณาโดยทั่วไปถึงแง่มุมบางอย่างในชีวิตของพระเยซู ซึ่งเป็นป้ายบอกทาง ในการที่เราแสวงหาที่จะเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น[1]

พระเยซูมีความแนบชิดอย่างที่สุดกับพระเจ้า

ในพระคัมภีร์เดิม เราเห็นว่ามนุษย์ตอบรับต่อพระเจ้าด้วยความเกรงขาม อันเป็นความรู้สึกที่ประกอบด้วยความจำนนและความยำเกรงในระดับต่างๆ[2]

ยกตัวอย่างเช่น ข้อพระคัมภีร์บอกเราว่าเมื่อพระเจ้ากล่าว โมเสสปิดหน้าตนเอง เพราะเขากลัวที่จะมองดูพระเจ้า[3]เมื่ออยู่ต่อหน้าพระเจ้า ผู้พยากรณ์อิสยาห์กล่าวว่า วิบัติแก่ข้าพเจ้า! ข้าพเจ้าพินาศแล้ว! ... เพราะตาของข้าพเจ้าได้เห็นจอมกษัตริย์ คือพระยาห์เวห์ผู้ทรงฤทธิ์[4]

เมื่อเทียบกันแล้ว เราเห็นว่าความสัมพันธ์ของพระเยซูกับพระเจ้าแตกต่างไป พระองค์มีความแนบชิดอย่างที่สุดกับพระเจ้า ซึ่งพระองค์บ่งบอกโดยเอ่ยถึงพระเจ้าว่า “พระบิดา” พระเยซูทราบว่าพระองค์ได้รับทั้งความรักและการยอมรับจากพระบิดา

พระเยซูสอนสาวกของพระองค์ว่าเขาควรเอ่ยถึงพระเจ้าว่าเป็นพระบิดาเช่นกัน[5] ในการทำเช่นนั้น พระเยซูถ่ายทอดความเป็นบุตรของพระองค์ให้ครอบคลุมเขาส่วนหนึ่งด้วย ถึงแม้ว่าเขาไม่ใช่บุตรของพระเจ้าในทางที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เช่นเดียวกับพระเยซู ถึงกระนั้นเขาก็เป็นลูกของพระเจ้า พระองค์รักเขาเช่นนั้น และเขามีความสัมพันธ์กับพระองค์ โดยเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระองค์ และเป็นที่ยอมรับของพระองค์ ในคำสอนบนภูเขา พระเยซูเน้นต่อสาวกของพระองค์โดยตลอดว่าพระเจ้าคือพระบิดาของเขา[6]

การเข้าใจว่าพระเจ้าคือพระบิดาของเรา และพระองค์รักเรา เป็นการวางพื้นฐานความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ ในฐานะลูกของพระเจ้า เรารู้สึกมั่นคงด้วยการรู้ว่าพระองค์รักเราอย่างไม่มีเงื่อนไข เรามาเข้าเฝ้าพระองค์ได้ด้วยความมั่นใจ และคาดหมายว่าพระองค์ทราบว่าเราต้องการอะไร พระองค์จะจัดหาให้ และดูแลเอาใจใส่เรา

พระเยซูบ่งบอบถึงความรักฉันบิดา และความห่วงใยที่พระเจ้ามีต่อเรา เมื่อพระองค์กล่าวว่า

พระบิดาทราบว่าท่านต้องการอะไร ก่อนที่ท่านจะขอพระองค์[7] ใครบ้างในพวกท่าน ถ้าบุตรขอขนมปังจะให้ก้อนหิน หรือถ้าบุตรขอปลาจะให้งูแก่เขา ถ้าแม้ท่านเองซึ่งเป็นคนชั่วยังรู้จักให้สิ่งดีๆ แก่บุตร พระบิดาของท่านในสวรรค์จะมอบสิ่งดีๆ ให้แก่ผู้ที่ขอพระองค์ ยิ่งกว่านั้นสักเพียงใด[8] อย่ามีจดใจจ่อว่าท่านจะกินอะไร จะดื่มอะไร อย่ากังวลไปเลย ... พระบิดาทราบว่าท่านจำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้[9]

การมองว่าพระเจ้าเป็นพระบิดา ไม่ได้หมายความว่าเรามีความสัมพันธ์เหมือนที่เด็กมีกับพ่อแม่ ถึงแม้ว่าเราจะพึ่งพาพระองค์สำหรับความเป็นอยู่ของเราเสมอ แต่พระองค์ให้เรามีอิสระในการตัดสินใจ และให้เราเป็นตัวของตัวเอง นอกจากจะแสดงให้เราเห็นว่าเรารู้สึกมั่นคงได้ ในความสัมพันธ์กับพระบิดา พระเยซูแสดงให้เราเห็นด้วยว่าเรามาเข้าเฝ้าพระบิดาในลักษณะผู้ใหญ่ต่อผู้ใหญ่ได้ด้วย เราเล็งเห็นภาพสะท้อนเช่นนี้จากคำอธิษฐานของพระเยซูในสวนเกทเสมนี เมื่อพระเยซูขอว่าถ้าเป็นไปได้ ขอให้พระบิดา “เอาจอกนี้ไป” จากพระองค์ คือจอกแห่งความทุกข์ทรมาน พระเยซูตั้งคำถาม คิดคำนึงถึงสถานการณ์ และตัดสินใจที่จะทำตามความประสงค์ของพระบิดา

ในฐานะลูกของพระเจ้า ก็คาดหมายให้เราใช้ความคิดและเชาวน์ปัญญา หมั่นอธิษฐาน แสวงหาการชี้นำจากข้อพระคัมภีร์ ถกประเด็นต่างๆ กับพระเจ้า และรับฟังคำตอบจากพระองค์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการตัดสินใจ และความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระองค์

พลังการถ่อมตน

ถึงแม้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าจุติมาเกิด มีพลังเยียวยารักษาคนเจ็บป่วย ชุบชีวิตคนตาย และเลี้ยงอาหารฝูงชน ทว่าพระเยซูใช้พลังของพระองค์ด้วยความถ่อมตน พระองค์อาจเรียกร้องสิทธิพิเศษ ซึ่งพระองค์คงมีสิทธิได้รับ เมื่อพิจารณาสถานภาพของพระองค์ ในความสัมพันธ์กับพระเจ้า อย่างไรก็ตาม พระองค์ละสิทธิพิเศษดังกล่าวไว้ และรับใช้ผู้อื่น

ผู้มีสภาพพระเจ้า แต่ไม่ได้ยึดติดในความเท่าเทียมกับพระเจ้า พระองค์กลับสละทุกสิ่ง มารับสภาพทาส บังเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อปรากฏเป็นมนุษย์ พระองค์ถ่อมตน และยอมเชื่อฟัง แม้ต้องตายบนไม้กางเขน[10]

แทนที่จะใช้พลังอำนาจของพระองค์ เพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเสียง หรือใช้อำนาจหน้าที่ต่อผู้อื่น ดังที่ซาตานล่อใจให้พระองค์ทำเช่นนั้น พระองค์ใช้พลังอำนาจเพื่อเห็นแก่ผู้อื่น เมื่อพระองค์รับรู้ว่าผู้คนพยายามแต่งตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ พระองค์ปลีกตัวไปยังภูเขาตามลำพัง[11] พระองค์กล่าวว่า

บุตรมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่มาเพื่อปรนนิบัติ และมอบชีวิตเป็นค่าไถ่ เพื่อคนหมู่มาก[12]

พระองค์สอนผู้ติดตามของพระองค์ ครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าเขาควรมีทัศนคติที่ถ่อมตน และรับใช้ผู้อื่น

พระเยซูเรียกเหล่าสาวกมาพร้อมหน้ากัน และกล่าวว่า “ท่านรู้อยู่ว่าผู้ปกครองของคนต่างชาติ เป็นเจ้าเหนือหัวเขา และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็ใช้อำนาจเหนือพวกเขา แต่สำหรับพวกท่านไม่เป็นเช่นนั้น ตรงกันข้าม ใครอยากเป็นใหญ่ในพวกท่าน ต้องรับใช้พวกท่าน และผู้ใดปรารถนาที่จะเป็นเอก ต้องยอมเป็นทาสของพวกท่าน[13]

พระเยซู พระบุตรของพระเจ้า ยอมเป็นผู้รับใช้ด้วยความถ่อมตน ในฐานะผู้มีความเชื่อ เราควรทำตามแบบอย่างของพระองค์

หาสมดุลต่อข้อเรียกร้องที่ไม่หยุดหย่อน

พระเยซูเผชิญหน้ากับข้อเรียกร้องมากมายที่ไม่หยุดหย่อน จากครอบครัวของพระองค์[14] สาวก เพื่อนมิตร[15] ศัตรู และฝ่ายปรปักษ์[16] เหนือสิ่งอื่นใด มีข้อเรียกร้องจากฝูงชน เพราะเขาต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์อย่างที่สุด ฝูงชนห้อมล้อมและเบียดเสียดพระองค์[17] ในเหตุการณ์หนึ่งพระองค์ออกปากว่าพระองค์รู้สึกว่าพลังอำนาจออกไปจากตัวพระองค์[18] ครั้งหนึ่งพระองค์ต้องเสี่ยงอันตรายกับการถูกฝูงชนเบียดเสียด[19]

นอกจากบรรยายถึงข้อเรียกร้องที่ผู้คนขอจากพระเยซูแล้ว พระกิตติคุณยังแสดงให้เห็นการที่พระองค์ตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าว แบบอย่างของพระองค์คือการอยู่กับสาธารณชน ด้วยการสอน เยียวยารักษา ไตร่ตรอง แล้วก็หาความสมดุลในสิ่งเหล่านั้น โดยการปลีกตัวไปกับสาวก บางครั้งก็ตามลำพัง เพื่ออยู่กับพระบิดา และอธิษฐาน ช่วงเวลาที่พระองค์เผชิญหน้ากับความขัดแย้งหรือภัยอันตราย ก็หาความสมดุลด้วยกลยุทธ์การปลีกถอนตัวเช่นกัน การปลีกตัวไปเช่นนี้ ช่วยให้ได้รับการพักผ่อนหย่อนใจ การเติมพลังทางจิตวิญญาณ ซึ่งเกื้อหนุนและค้ำจุนพระองค์

เมื่อพระเยซูทราบว่ายอห์นถูกจับกุม พระองค์กลับไปยังแคว้นกาลิลี[20] พระเยซูจึงไม่อยู่ในหมู่ชาวยิวอย่างเปิดเผยอีกต่อไป แต่ปลีกตัวไปอยู่ที่หมู่บ้านเอฟราอิมใกล้ถิ่นกันดาร พระองค์อยู่ที่นั่นกับเหล่าสาวกของพระองค์[21]

นอกจากนี้ เราได้อ่านถึงการที่ดูเหมือนว่าพระเยซูจะชื่นชมการทานอาหารกับผู้อื่น ซึ่งรวมไปถึงการดื่มไวน์ ยังผลให้พวกฟาริสีกล่าวหาพระองค์ว่าเป็นคนสํามะเลเทเมา

บุตรมนุษย์มาทั้งกินและดื่ม พวกท่านก็กล่าวว่า “นี่คือคนสํามะเลเทเมา เป็นมิตรกับคนเก็บภาษีและคนบาป!”[22]

แสดงความเอื้อเฟื้อ

หนึ่งในรูปแบบหลักของการแสดงความเอื้อเฟื้อ คือ การเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารที่บ้านของคุณ วัฒนธรรมชาวยิวในสมัยพระเยซู นั่นค่อนข้างแตกต่างไป คือเมื่อบุคคลสำคัญ เช่น รับบีหรืออาจารย์ได้รับเชิญไปบ้านใด ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าแขกคือผู้ที่แสดงความเอื้อเฟื้อ การรับคำเชิญและเป็นแขกที่บ้านใครสักคน นำมาซึ่งเกียรติและการยอมรับนับถือ ต่อผู้เชิญชวน ต่อบ้านและครอบครัวของเขา ตัวอย่างครั้งหนึ่งของความเอื้อเฟื้อดังกล่าวในส่วนของพระเยซู คือเมื่อพระองค์บอกศักเคียสหัวหน้าคนเก็บภาษี ผู้ซึ่งเพื่อนร่วมชาติเกลียดชังเขา ว่าพระองค์ต้องการมาพักที่บ้านของเขา ผู้คนบ่นว่าพระองค์เป็นแขกของคนบาป[23] ศักเคียสเป็นกากเดนสังคม เพราะเขาร่วมมือกับผู้กดขี่ข่มเหงชาวโรมัน ผู้คนถือว่าเขาเป็นศัตรูของชาวยิว

นี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่พระเยซูหยิบยื่นความเอื้อเฟื้อเหนือล้ำขอบเขตที่สังคมยอมรับ ตัวอย่างอื่นๆ รวมถึงหญิงชาวซะมาเรีย[24] หญิงผู้ล้างเท้าพระองค์ในบ้านชาวฟาริสี[25] คนเก็บภาษี[26] นายร้อยชาวโรมัน[27] รวมทั้งการสัมผัสรักษาคนโรคเรื้อน และคนอื่นๆ ที่ถือกันว่า “ไม่สะอาด” ในทางพิธีกรรม พวกเขาล้วนเป็นคนวงนอก ทว่าพระองค์ต้อนรับเขา พระองค์ประกาศว่าพวกเขาควรค่าและเป็นที่ยอมรับ โดยมอบแบบอย่างความรักและการยอมรับของพระบิดาต่อคนบาป รวมทั้งการที่พระองค์ปรารถนาจะกอบกู้เขา ในพระกิตติคุณโดยตลอด พระเยซูใช้เวลากับผู้ที่สังคมไม่ยอมรับ ผู้ที่ได้รับการดูถูกดูแคลน คนวงนอก และ “อื่นๆ”

ถ้าหากเราประสงค์จะเป็นเหมือนพระเยซู เราจะเปิดชีวิตจิตใจเพื่อยอมรับ และยินดีต้อนรับ “คนอื่น” ที่แตกต่างจากเรา นี่อาจหมายถึงผู้ที่มีความเชื่อแตกต่างไป ในด้านศาสนาหรือการเมือง สัญชาติหรือเผ่าพันธุ์ สถานะเศรษฐกิจ สิ่งที่ชอบและไม่ชอบ คือผู้ที่แตกต่างจากเราในทางใดก็ตาม การแสดงความเอื้อเฟื้อ และทัศนคติที่ต้อนรับต่อผู้ที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งในแวดวงของเราตามปกติ จะช่วยทลายกำแพงขวางกั้น และสะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณของพระคริสต์

ความเมตตากรุณา

ความเมตตากรุณาคืออารมณ์ความรู้สึกที่ผลักดันคนเราให้ลงมือดำเนินการ เป็นการสำนึกถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น ควบคู่กับความปรารถนาที่จะช่วยปัดเป่าบรรเทาทุกข์ ในพระกิตติคุณเราเล็งเห็นว่าความเมตตากรุณาคืออารมณ์ความรู้สึกที่เป็นคุณสมบัติของพระเยซูมากที่สุดตลอดเวลา พระองค์เกิดความสงสารเมื่อเห็นผู้ที่ขัดสน และพระองค์ลงมือดำเนินการเพื่อปัดเป่าบรรเทาทุกข์ให้กับสถานการณ์ของเขา เมื่อพระเยซูขึ้นจากเรือ และเห็นคนกลุ่มใหญ่ พระองค์ก็สงสารเขา และรักษาคนเจ็บป่วยในหมู่พวกเขา[28] ก่อนที่จะเลี้ยงอาหารฝูงชน พระองค์กล่าวว่า เราสงสารคนเหล่านี้ พวกเขามาอยู่กับเราสามวันแล้ว และไม่มีอะไรกิน[29] เมื่อคนตาบอดสองคนร้องเรียก พระเยซูสงสารเขา และสัมผัสตาของเขา ทันใดนั้นทั้งสองก็มองเห็น และตามพระองค์ไป[30] เมื่อพระเยซูไปหามารีย์และมาร์ธา หลังจากที่น้องชายของเขา คือลาซารัส เสียชีวิต เมื่อพระเยซูเห็นนาง [มารีย์] ร่ำไห้ และพวกยิวที่มากับนางร้องไห้ด้วย พระองค์ก็เป็นทุกข์และสะเทือนใจยิ่งนัก[31] พระองค์ร่ำไห้ แล้วชุบชีวิตลาซารัสจากความตาย ในแต่ละกรณี พระเยซูเกิดความรู้สึกสงสาร และลงมือดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่น

คำกรีกที่ใช้ในพระกิตติคุณสัมพันธ์สำหรับความเมตตากรุณา คือ splagchnizomai ซึ่งหมายความว่าท้องไส้ปั่นป่วน เพราะถือกันว่าส่วนท้องเป็นเป็นจุดกำเนิดของความรักความกรุณา ในพระกิตติคุณยอห์น ใช้คำภาษากรีก embrimaomai เพื่อบ่งบอกว่าพระเยซูทุกข์ใจอย่างที่สุด และสะเทือนใจยิ่งนัก ข้างหลุมศพของลาซารัส ทั้งสองคำเป็นความรู้สึกเชิงลึก มีความไม่พอใจควบคู่มากับการเห็นมนุษย์ทุกข์ทรมานและขัดสน แต่ละครั้งที่มีคำบรรยายว่าพระเยซูรู้สึกเช่นนั้น เราก็ได้รับการบอกเล่าว่าพระองค์ดำเนินการทันทีเพื่อแก้ไขสถานการณ์

ความเมตตากรุณาลงมือดำเนินการ เพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายของผู้อื่นให้ดีขึ้น ถ้าไม่มีการกระทำ ก็ไม่ใช่ความเมตตากรุณา ทว่าเป็นความเห็นใจ การรับรู้ถึงความจำเป็นของใครสักคน หรือความรู้สึกเห็นใจที่ใครสักคนมีความขัดสน พระเยซูไม่เพียงรู้สึกเห็นอกเห็นใจ พระองค์ลงมือดำเนินการ นี่คือสิ่งที่พวกเราที่เป็นผู้ติดตามของพระองค์ ควรจะทำตาม แม้ว่าเราคงไม่สามารถตอบรับได้เหมือนที่พระเยซูเสียทีเดียว แต่เราก็ทำตามแบบอย่างของพระองค์ได้ โดยการทำบางสิ่งซึ่งมีส่วนช่วยผู้ที่ขัดสน

ไม่เคียดแค้น

ในคำสอนบนภูเขา พระเยซูสอนหลักการเกี่ยวกับการไม่เคียดแค้น

ถ้าผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาด้วย ถ้าใครต้องการฟ้องร้องเอาเสื้อของท่าน จงให้เสื้อคลุมของท่านแก่เขาด้วย ถ้ามีผู้บังคับให้ท่านไปหนึ่งกิโลเมตร จงไปกับเขาสองกิโลเมตร[32]

นอกจากการสอนว่าเราไม่ควรจะคิดเคียดแค้น เราเล็งเห็นว่าพระองค์ปฏิบัติตามนั้นด้วย ในระหว่างที่พระองค์ต้องทนทรมาน เมื่อทหารมาเอาตัวพระองค์ไป พระองค์ปฏิเสธทางเลือกที่จะใช้กำลังปกป้องตนเอง

พระเยซูตรัสกับเขา [เปโตร] ว่า “เก็บดาบเสียเถิด เพราะคนทั้งปวงที่ชักดาบจะตายด้วยดาบ ท่านคิดว่าเราไม่อาจขอพระบิดาหรือ พระองค์จะให้ทูตสวรรค์กว่าสิบสองกองแก่เราทันที[33]

เปโตรผู้เป็นสาวกและเพื่อนของพระองค์ เขียนถึงพระองค์ในภายหลังว่า

เมื่อพวกเขารุมสบประมาท พระองค์ก็ไม่ได้ตอบโต้ ขณะที่ทนทุกข์ พระองค์ก็ไม่ได้อาฆาต แต่มอบพระองค์เองไว้กับพระเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างยุติธรรม[34]

พระเยซูสอนว่าสาวกของพระองค์ไม่ควรจะเคียดแค้นต่อผู้ที่คิดทำร้ายเขา พระองค์บอกผู้ติดตามของพระองค์ให้ยับยั้งชั่งใจในการตอบโต้ความชั่วด้วยความชั่ว การแก้แค้นมีแต่จะทำให้เรื่องแย่ลง หลักการดังกล่าวนี้ก่อร่างสร้างขึ้นบนความไว้วางใจ ว่าพระเจ้าเป็นผู้ควบคุม และจะลงโทษหรือแก้แค้นผู้ที่สมควรได้รับโทษ แทนที่จะคิดแก้แค้น เราควรให้อภัยผู้ที่ทำผิดต่อเรา นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผลตามมา สำหรับผู้ที่ก่อความเสียหาย ทว่าเราไม่ควรจัดการแก้แค้นเอง

บทสรุป

การดำเนินรอยตามพระเยซู โดยมีความแนบชิดอย่างที่สุดกับพระเจ้า โดยการรับใช้ผู้อื่นด้วยความถ่อมตน รักษาความสมดุลตามแบบอย่างของพระเจ้าในชีวิตเรา การมอบความเอื้อเฟื้อต่อผู้ที่แตกต่างจากเรา รู้สึกเมตตากรุณา ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น และไม่แก้แค้น เมื่อคนอื่นทำให้เราเจ็บช้ำในบางแง่ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะว่าเราเป็นคริสเตียน

การดำเนินชีวิตตามพระเยซู การเติบโตในวิสัยเยี่ยงพระเจ้า และสะท้อนถึงผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนตัว การเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นมาจากความปรานีของพระเจ้า ซึ่งมอบให้แก่ผู้ที่ตัดสินใจ และมุ่งมั่นที่จะเติบโตในพระองค์ โดยการนำสิ่งที่พระองค์สอนมาปรับใช้ และกลายเป็นเหมือนพระองค์


[1] ประเด็นต่อไปนี้สรุปมาจาก The Psychology of Christian Character Formation, โดย โจแอนนา คอลลีคัตต์ (ลอนดอน: สำนักพิมพ์เอสซีเอ็มเพรส ค.ศ. 2015)

[2] คอลลีคัตต์ Psychology of Christian Character Formation หน้า 31

[3] อพยพ 3:6

[4] อิสยาห์ 6:5

[5] ฉะนั้นท่านควรอธิษฐานดังนี้ว่า “ข้าแต่พระบิดา ผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้นามของพระองค์เป็นที่เทิดทูนสักการะ” (มัทธิว 6:9)

[6] มัทธิว 5:16, 45, 48; 6:1, 4, 6, 8, 9, 14, 15, 18, 26, 32; 7:11, 21

[7] มัทธิว 6:8

[8] มัทธิว 7:9-11

[9] ลูกา 12:29–30. ดู มัทธิว 6:25–32; 7:7–11; ลูกา 11:11–13; 12:22–30 ด้วย

[10] ฟิลิปปี 2:6–8

[11] ยอห์น 6:15

[12] มัทธิว 20:28 และ มาระโก 10:45; ลูกา 22:27 ด้วย

[13] มัทธิว 20:25–27 และ มัทธิว 23:11, มาระโก 9:35, 10:43–44, ลูกา 22:26, ยอห์น 13:15–16 ด้วย

[14] มัทธิว 12:46–47; ยอห์น 2:2–4; 7:1–7

[15] มัทธิว 16:22, 20:20–21; มาระโก 10:35–37; ยอห์น 11:21,32

[16] มัทธิว 16:1, 19:3, 21:23, 22:16–32; ยอห์น 8:1–11, 10:24

[17] ลูกา 8:45

[18] ลูกา 8:46

[19] มาระโก 3:9

[20] มัทธิว 4:12

[21] ยอห์น 11:54 และ มัทธิว 14:13, 15:21; มาระโก 7:24; ลูกา 9:10; ยอห์น 4:1–3, 7:1 ด้วย

[22] ลูกา 7:34, มัทธิว 11:19

[23] ลูกา 19:5–7 และ มัทธิว 8:8, ลูกา 7:6 ด้วย

[24] ยอห์น 4:1–42

[25] ลูกา 7:36–50

[26] มัทธิว 9:10–13

[27] ลูกา 7:2–9

[28] มัทธิว 14:14

[29] มาระโก 8:2

[30] มัทธิว 20:34

[31] ยอห์น 11:33

[32] มัทธิว 5:39–41

[33] มัทธิว 26:52–53

[34] 1 เปโตร 2:23

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้