เหมือนพระเยซูมากขึ้น: เป็นเหมือนพระเจ้า (ตอนที่ 2)

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

กรกฎาคม 26, 2016

[More Like Jesus: In God's Likeness (Part 2)]

(บทความนี้มาจากประเด็นสำคัญในหนังสือ โดย เอฟ ลีรอย ฟอร์ไลน์ส[1]

ตอนที่หนึ่งของเรื่อง “เป็นเหมือนพระเจ้า” กล่าวถึงการที่เราถูกสร้างขึ้นมาให้เหมือนพระเจ้าในภาวะทางสรีรวิทยา และเชิงปฏิบัติ ในฐานะมนุษย์ผู้มีเหตุผลและคุณธรรม เหมือนพระเจ้า เรามีความรู้สึกนึกคิดและประพฤติตนในทางที่คล้ายคลึงกับพระเจ้า เรามีความคิดจิตใจที่รู้สึกและตัดสินใจเองได้ เมื่อความบาปแทรกเข้ามาสู่มวลมนุษย์ ก็ทำลายการที่มนุษย์ไม่สามารถทำบาป และบาปแบ่งแยกเราจากพระเจ้า ทว่าการที่พระเยซูใช้ชีวิตและยอมตายอย่างเสียสละ พันธนาการที่ความบาปมีต่อชีวิตเราก็ขาดสะบั้น ด้วยความปรานีของพระเจ้า และผลงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ชีวิตจิตใจเราเปลี่ยนแปลงได้

เมื่ออัครสาวกเปาโลกกล่าวถึงชีวิตจิตใจ[2] ท่านไม่ได้พยายามแยกแยะระหว่างร่างกายและดวงวิญญาณของเรา เพราะในฐานะที่เป็นบุคคล เราประกอบด้วยร่างกายและดวงวิญญาณ ดวงวิญญาณมีร่างกาย และร่างกายก็มีดวงวิญญาณ คนเรามีทั้งสองอย่าง[3] เปาโลเขียนไว้อย่างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับความคิด จิตใจ ดวงวิญญาณ และร่างกาย บ่อยครั้งในแง่ที่หัวใจ เป็นตัวแทนส่วนลึกในใจ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราอ่านข้อความว่า ถวายตัวแด่พระเจ้า เป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิต บริสุทธิ์ และเป็นที่พอใจของพระเจ้า[4] เราเข้าใจว่าความคิดและความตั้งใจมีส่วนอย่างแข็งขันเช่นกัน ในการถวายตัว และเราถวายทั้งชีวิตจิตใจเป็นเครื่องบูชา

ในทำนองเดียวกัน เราหาเหตุผลและเข้าใจด้วยความคิด แต่หัวใจของเราได้รับ “ความกระจ่าง”[5] ด้วย การเชื่อฟังจากใจก็เหมือนกับการเชื่อฟังจากดวงวิญญาณ เราเล็งเห็นการผนึกกันเช่นนี้ ตามที่บ่งบอกไว้ เมื่อท่านเปาโลเขียนว่า

พระเจ้าแห่งสันติสุขชำระล้างท่านให้บริสุทธิ์หมดจด ขอให้ทั้งวิญญาณ จิตใจ และร่างกายของท่านไม่มีที่ติ เมื่อพระเยซูกลับมา[6]

สองคำที่มีความสำคัญในพระคำข้อนี้ คือ หมดจด (ชำระล้างให้บริสุทธิ์หมดจด) และ ทั้งหมด (ทั้งวิญญาณ จิตใจ และร่างกาย) คำภาษากรีก holoteles หมายถึง ครบถ้วนทุกแง่มุม ดังนั้นการ ชำระให้บริสุทธิ์หมดจด หมายถึง ชีวิตจิตใจคุณโดยสิ้นเชิง คำภาษากรีก holokleros หมายถึง ครบถ้วนทุกส่วน เปาโลกล่าวว่า “ขอให้ท่านไร้ที่ติ ทั้งวิญญาณ จิตใจ และร่างกาย” ด้วยการรวมวิญญาณ จิตใจ และร่างกายไว้ ในแง่ที่เน้นความเป็นหนึ่งเดียวของวิญญาณ ความคิดจิตใจ ความตั้งใจ ดวงจิต และร่างกาย[7]

แม้ว่าองค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมานี้ผนึกเข้าด้วยกัน แต่มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่อยู่ในใจเรา (ความคิด ความปรารถนา การตัดสินใจ ความรู้สึก ฯลฯ) ซึ่งเป็นนามธรรม และการกระทำทางกาย ซึ่งเป็นกายธรรม เราตัดสินใจจากส่วนลึก (ในความคิดจิตใจและดวงวิญญาณ) แล้วนำการตัดสินใจนั้นมาปฏิบัติในโลกวัตถุ ผ่านร่างกายของเรา ตลอดบทความนี้เมื่ออ้างอิงถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม ผมจะใช้คำว่า วิญญาณ แทนความคิดจิตใจและดวงวิญญาณ นั่นคือตัวตนภายในของเรา

ส่วนร่างกายคือ ตัวตนของเราในโลกวัตถุและทางสังคม เรามีปฏิสัมพันธ์กับชาวโลก ผ่านร่างกายของเรา ทางเลือกและความปรารถนาในใจจะแสดงออกมาภายนอก ผ่านร่างกายของเรา ตัวอย่างเช่น เมื่อเราหัดพูดภาษาอื่น ขี่จักรยาน หรือขับรถ เราฝึกร่างกายให้ทำสิ่งเหล่านี้ เมื่อร่างกายได้รับการฝึกฝนแล้ว ก็ไม่ต้องคิดอีกต่อไปว่าจะทำอย่างไร เพราะมีข้อมูลเก็บไว้ในจิตสำนึกแล้ว ร่างกายสามารถทำได้โดยไม่ต้องครุ่นคิดมากนัก

นิสัยใจคอ การกระทำ สิ่งที่เราตัดสินใจและแสดงออก ล้วนแต่สะท้อนถึงตัวตนภายในของเรา เมื่อวันเวลาผ่านไป การตัดสินใจแบบเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ ความปรารถนาต่อสิ่งเดิมๆ จะพัฒนากรอบความคิด แล้วนำมาปฏิบัติในโลกวัตถุ เราฝึกตนเองให้ปฏิบัติตัวในแง่หนึ่ง การกระทำภายนอกในสังคมโลก เป็นภาพสะท้อนภายนอกของตัวตนภายใน

วิญญาณของเราเสื่อมเสีย เนื่องจากความบาป เรามีแนวโน้มที่จะทำบาป ซึ่งส่งผลต่อเราทั้งในระดับจิตสำนึก และจิตใต้สำนึก เรามีแนวโน้มที่จะรู้สึกนึกคิด และประพฤติตนในแง่ที่ขัดกับวิสัยของพระเจ้า

ผมไม่ค่อยชอบพูดคุยเรื่องบาป การที่บาปครอบงำเรา และบ่อนทำลายความสัมพันธ์ โดยเฉพาะการที่บาปแบ่งแยกเราจากความสัมพันธ์พื้นฐานที่มีต่อพระเจ้า อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามีเป้าหมายที่จะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจเรื่องบาป และเผชิญหน้ากับมัน อย่างไรก็ตาม มันอาจสะท้อนให้เห็นในชีวิตเรา

ในพระคัมภีร์กล่าวถึงบาปว่าเป็นทั้งการกระทำและอำนาจ อัครสาวกเปาโลอธิบายไว้บ่อยครั้งว่าเป็นอำนาจที่เข้ามาสู่โลก และกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ ผ่านบาปของอาดัม[8] ยังผลให้มวลมนุษย์ตกอยู่ใต้พันธนาการ เป็นทาสความบาป[9] ดำเนินชีวิตภายใต้ความบาป[10] จากข้อเขียนของเปาโล บ่อยครั้งท่านใช้คำว่า เนื้อหนัง (ภาษากรีกคือคำว่า sarx) เพื่อบ่งบอกตัวตนและทัศนคติของมนุษย์ ซึ่งคัดค้านและขัดแย้งกับพระเจ้า และพระวิญญาณของพระเจ้า เนื้อหนังปฏิญาณความภักดีต่ออำนาจอีกฝ่ายหนึ่ง ในเนื้อหนังข้าพเจ้ารับใช้กฎแห่งบาป[11] อำนาจของความบาปล้มล้างทั้งบุคคล ทั้งร่างกายและวิญญาณ

เราเห็นได้เมื่อเปาโลเขียนเกี่ยวกับ “ผลงานของเนื้อหนัง” ซึ่งท่านรวมบาปทางเนื้อหนัง และบาปทางจิตวิญญาณไว้ด้วย ในรายการหนึ่งท่านรวมสิ่งที่คงจัดได้ว่าเป็นบาปทางเนื้อหนัง เช่น ความสัมพันธ์ทางเพศที่ผิดทำนองคลองธรรม และความมึนเมา แต่รายการที่มีอิทธิพลจากบาปทางจิตใจและวิญญาณ ได้แก่ ความเกลียด ความแตกร้าว ความอิจฉาริษยา ความโกรธ ความโมโห การทะเลาะเบาะแว้ง/ชิงดีชิงเด่น ความขัดแย้ง/ความแตกแยก และการถือพวกถือพ้อง[12] เห็นได้ชัดว่าบาปไม่ใช่ความผิดอย่างเดียวในทางร่างกาย ทว่ามีบาปทางวิญญาณด้วย ความบาปไม่เพียงแต่แบ่งแยกเราจากพระเจ้า ทว่าแบ่งแยกเราจากคนอื่นด้วย

ความรอดหักล้างอำนาจที่บาปมีต่อเรา และความปรานีของพระเจ้าช่วยให้เราต่อสู้เพื่อชนะความบาปในชีวิต เปาโลเขียนไว้ว่า

เราจะได้มีชีวิตใหม่ เช่นเดียวกับที่พระคริสต์ฟื้นคืนชีพจากความตาย...[13] เรารู้ว่าตัวเก่าของเราถูกตรึงไว้กับพระองค์แล้ว เพื่อกายแห่งความบาปนั้นจะถูกขจัดไป เราจะได้ไม่ตกเป็นทาสบาปอีกต่อไป เพราะว่าผู้ใดที่ตายแล้วก็เป็นอิสระจากบาป...[14] ในทำนองเดียวกัน ขอให้ถือว่าตัวท่านเองตายต่อบาป และมีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้า ในพระเยซูคริสต์ เหตุฉะนั้นอย่าให้บาปครอบครองกายของท่านที่ต้องตาย ซึ่งทำให้ท่านยอมทำตามความปรารถนาชั่วของกายนั้น...[15] บาปจะไม่เป็นนายของท่านอีกต่อไป ด้วยว่าท่านไม่ได้อยู่ใต้บทบัญญัติ แต่อยู่ภายใต้พระคุณ[16] แต่ขอบคุณพระเจ้า แม้ท่านเคยตกเป็นทาสของบาป ท่านเชื่อฟังคำสอนอย่างสุดใจ ซึ่งมอบหมายไว้กับท่าน ท่านได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากบาป และกลายเป็นทาสของความชอบธรรม[17]

เราไม่เป็นอิสระจากบาปทั้งสิ้น นั่นเป็นไปไม่ได้ เพราะเราจะไม่มีวันสมบูรณ์แบบในชีวิตนี้ แต่เราเป็นอิสระจากการที่ไม่มีบาปเป็นนาย การรับพระเยซูไว้ทำให้เรากลายเป็นสิ่งสร้างสรรค์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสต์ เขากลายเป็นคนใหม่ สิ่งเก่าๆ ล่วงเลยไป นี่แน่ะ สิ่งใหม่ๆ เข้ามา[18] นับจากนั้น เราเริ่มขั้นตอนการเติบโตในแบบอย่างของพระเจ้า และการเป็นเหมือนพระคริสต์

ขอให้เจริญขึ้นในพระคุณขององค์พระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดของเรา และทำความรู้จักพระองค์มากขึ้น[19] ท่านจงกำจัดสิ่งทั้งปวงนี้ให้หมดไป คือ ความโกรธ ความโมโห ความเคียดแค้น การใส่ร้ายป้ายสี และวาจาหยาบช้าจากปากของท่าน อย่าโกหกกัน ในเมื่อท่านสลัดทิ้งตัวตนเก่าๆ พร้อมกับความประพฤติเดิมๆ แล้ว และสวมตัวตนใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ตามภาพลักษณ์ของพระผู้สร้าง ขณะที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์มากขึ้น[20] พวกเราผู้ไม่มีผ้าคลุมหน้าล้วนเห็นสง่าราศีของพระองค์ เรากำลังเปลี่ยนแปลงให้เป็นเหมือนพระองค์ ด้วยสง่าราศีที่เพิ่มพูนขึ้นทุกที[21]

ถ้าเรากลายเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น โดยเปลี่ยนไปสู่ภาพลักษณ์ของพระองค์และพระบิดา เมื่อนั้นเราต้องมุ่งมั่นที่จะกลายเป็นเหมือนพระองค์ ทั้งจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก ในบุคลิกลักษณะของเรา การเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรู้จักกันว่าเป็นการชำระล้างให้บริสุทธิ์ คือผลงานจากความปรานีของพระเจ้า ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนวิสัยเบื้องต้นภายในส่วนลึก ความคิด ถ้อยคำ การกระทำ และทัศนคติในใจ จะได้สะท้อนถึงพระคริสต์[22] ผลงานจากความปรานีของพระเจ้า ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ คือกระบวนการที่ดำเนินไปชั่วชีวิต เพราะเราจะไม่บรรลุถึงซึ่งการชำระล้างอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จนกว่าเราไปอยู่ในสวรรค์

ในข้อพระคำที่เอ่ยถึงข้างต้น (2 โครินธ์ 3:18) คำภาษากรีก metamorphoo แปลว่า เปลี่ยนแปลง กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงภายใน มากกว่าแค่การเปลี่ยนแปลงภายนอก คำเดียวกันนี้ถูกนำมาใช้ เมื่อเปาโลเขียนไว้ว่า

อย่าดำเนินชีวิตตามอย่างผู้คนในโลกนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจของท่านเสียใหม่[23]

นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบผิวเผิน ทว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในเบื้องต้น เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงลึก ที่ทำให้ชีวิตภายนอกสะท้อนถึงความเป็นจริงภายใน

หนังสือ Classical Arminianism (ซึ่งผมใช้เป็นพื้นฐานบทความนี้) กล่าวว่า

ความหมายคือ การสารภาพบาปของคริสเตียนกำหนดให้เปลี่ยนความคิดจิตใจโดยสิ้นเชิง ข้อความทั้งหมดอาจหมายถึง “การให้พระเจ้าเปลี่ยนตัวตนภายในส่วนลึกของคุณ ด้วยการมอบความคิดจิตใจใหม่ให้คุณอย่างสิ้นเชิง” หรือ “เปลี่ยนความคิดจิตใจคุณให้แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง”[24]

ในที่นี้จิตไม่ใช่แค่ความคิด ทว่ารวมถึงใจ ความตั้งใจ และดวงวิญญาณด้วย คือชีวิตจิตใจของเรา ตัวตนภายในส่วนลึกของเราต้องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพื่อว่าการกระทำของเราจะได้มาจากความเป็นจริงภายในจิตวิญญาณของเรา

นี่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ความรอดปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากพันธนาการของบาป ทว่าไม่ได้เปลี่ยนเราให้เป็นเหมือนพระคริสต์ในทันที มีผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตเรา แต่ความรอดไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทันที ในด้านความรู้สึกนึกคิด หรือการกระทำ วิญญาณของเราไม่ได้ย้อนกลับไปสู่ “ความชอบธรรมดั้งเดิม” ทันที ซึ่งอาดัมกับอีฟเคยมี ก่อนหน้าที่จะตกอับ เรายังคงมีบาป และแตกสลาย เราจะเป็นเช่นนั้นเสมอ ชั่วชีวิตในทางโลก อย่างไรก็ตาม เมื่อเรายินยอมอ่อนน้อมต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ และทำตัวให้สอดคล้องกับพระคำของพระเจ้า เรากลายเป็นผู้ที่สะท้อนให้เห็นผลของพระวิญญาณ คือผู้ที่มีความยินดี สันติสุข ความอดทน ความกรุณา ความดีงาม ความสัตย์ซื่อ ความอ่อนโยน และการรู้จักควบคุมตนเอง[25]

เรานิ่งเฉยไม่ได้ ในขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เราไม่อาจคาดหมายให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ฟื้นฟูความคิดจิตใจ ความตั้งใจ และดวงวิญญาณของเราอย่างอัตโนมัติ โดยไม่ให้ความร่วมมือหรือเพียรพยายาม เราควรมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน โดยร่วมมือกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ และทำตามบทบาทในการเปลี่ยนแปลง เรามีส่วนรับผิดชอบที่จะสำนึกถึงวิสัยคนบาป และตั้งใจมุ่งมั่นที่จะดำเนินชีวิตตามที่พระเจ้าแนะนำ ผ่านพระคำของพระองค์

เมื่อกล่าวถึงความบาปในชีวิตเรา อัครสาวกเปาโลใช้ข้อความว่า จงสังหารโลกียวิสัยของท่าน[26] ในข้อความอื่นท่านระบุบาปบางอย่าง และกล่าวว่า อย่าเอ่ยถึงสิ่งเหล่านี้ในหมู่ท่าน[27] ทุกวันเราถูกล่อใจให้ทำบาป แต่เมื่อเราปรารถนาที่จะเป็นเหมือนพระคริสต์ เราต้องทุ่มเทความพยายามให้กับขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง โดยสำนึกถึงเครื่องล่อใจดังกล่าว และยืนหยัดเพื่อต่อต้าน เราทำเช่นนี้ได้ ด้วยความปรานีของพระเจ้า และความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เจตนารมณ์ของเรา ซึ่งยึดถือความรักและความสำนึกในบุญคุณที่เรามีต่อพระเจ้า คือการเข้ามาใกล้ชิดพระองค์ และทำให้พระองค์พอใจ โดยนำสิ่งที่พระองค์เผยให้เห็นในข้อพระคัมภีร์มาปรับใช้กับชีวิตเรา เมื่อเราทำเช่นนี้ ก็จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในวิญญาณ และค่อยๆ เปลี่ยนตัวตนภายในของเรา

พระเยซูกล่าวถึงสภาวะจิตใจของเรา เมื่อพระองค์กล่าวว่า

เพราะที่ออกมาจากภายในใจคนเรา คือความคิดชั่ว ความสัมพันธ์ทางเพศที่ผิดทำนองคลองธรรม การลักขโมย การเข่นฆ่า การล่วงประเวณี ความโลภ การมุ่งร้าย การฉ้อฉล ราคะตัณหา ความอิจฉา การนินทาว่าร้าย ความหยิ่งจองหอง ความโฉดเขลา สารพัดความชั่วนี้มาจากภายใน และทำให้มนุษย์เป็นมลทิน[28] อัครสาวกเปาโลเพิ่มรายการไว้ด้วย ได้แก่ ความโสมม ราคะตัณหา ความปรารถนาชั่ว ความโลภ[29] ความไม่บริสุทธิ์ การลามก การกราบไหว้รูปเคารพ การใช้คาถาอาคม ความเกลียดชัง ความบาดหมาง ความริษยาหึงหวง ความโมโหโทโส ความทะเยอทะยานอย่างเห็นแก่ตัว การแตกแยก การแบ่งพรรคแบ่งพวก การอิจฉากัน ความมึนเมา[30]

เห็นได้ชัดว่า ในฐานะคริสเตียนผู้ที่ต้องการเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น เราก็เผชิญหน้ากับความท้าทาย

เราเป็นมนุษย์ปุถุชน และเผชิญหน้ากับเครื่องล่อใจเป็นประจำทุกวัน คือเครื่องล่อใจให้ทำบาป ทั้งในความคิดและการกระทำ ทว่าด้วยความปรานีของพระเจ้า และการร่วมมือกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะเติบโตทางจิตวิญญาณได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อว่าความคิดจิตใจ ความตั้งใจ อารมณ์ (จิตสำนึกและจิตใต้สำนึก) ดวงวิญญาณ และการกระทำของเรา จะได้ค่อยๆ เปลี่ยนไป และกลายเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น ต้องอาศัยการอธิษฐาน วินัยทางวิญญาณ และปณิธานที่จะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น แต่มีข่าวดี ถ้าเราเลือกเส้นทางนี้ ด้วยความปรานีของพระเจ้า เราจะเติบโตทางวิญญาณทีละวัน และก้าวไปสู่การเป็นเหมือนพระเจ้ามากขึ้น

(บทความต่อถัดไปจะเอ่ยถึงวิธีเร่งขั้นตอนการชำระล้างให้บริสุทธิ์ในชีวิตเรา)


[1] แนชวิลล์: สำนักพิมพ์ แรนดอลล์เฮาส์พับลิเคชั่น ค.ศ. 2011

[2] เอเฟซัส 3:16, 2 โครินธ์ 4:16, โรม 7:22

[3] เกราลด์ เอฟ ฮอว์โธร์น, ราล์ฟ พี มาร์ติน, ดาเนียล จี เรด บรรณาธิการของ Dictionary of Paul and His letters (ดาวเนอร์ส โกรฟ รัฐอิลลินอยส์: สำนักพิมพ์ อินเตอร์วาร์ซิตี้เพรส ค.ศ. 1993) หน้า 770

[4] โรม 12:1

[5] เอเฟซัส 1:18

[6] 1 เธสะโลนิกา 5:23

[7] ฮอว์โธร์น, มาร์ติน และเรด ใน Dictionary of Paulหน้า 770

[8] โรม 5:12-21

[9] โรม 6:20

[10] โรม 3:9

[11] โรม 7:25

[12] กาลาเทีย 5:19-21

[13] โรม 6:4

[14] โรม 6:6-7

[15] โรม 6:11-12

[16] โรม 6:14

[17] โรม 6:17-18

[18] 2 โครินธ์ 5:17

[19] 2 โครินธ์ 3:18

[20] โคโลสี 3:8-10

[21] 2 โครินธ์ 3:18

[22] เอฟ ลีรอย ฟอร์ไลนส์ Classical Arminianism (แนชวิลล์: สำนักพิมพ์ แรนดอลล์เฮาส์พับลิเคชั่น ค.ศ. 2011) หน้า 283

[23] โรม 12:2

[24] บาร์เคลย์ เอ็ม นิวแมน และยูจีน เอ นิด้า ในหนังสือ A Translator’s Handbook on Paul’s Letter to Romans (นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์ ยูไนเต็ดไบเบิลโซไซเอตี้ส ค.ศ. 1973) หน้า 235

[25] กาลาเทีย 5:22-23

[26] โคโลสี 3:5

[27] เอเฟซัส 5:3

[28] มาระโก 7:21-23

[29] โคโลสี 3:5

[30] กาลาเทีย 5:19-21

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้