เหมือนพระเยซูมากขึ้น: ความบริสุทธิ์ (ตอนที่ 1)

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

กันยายน 6, 2016

[More Like Jesus: Holiness (Part 1)]

(บทความนี้มีพื้นฐานจากประเด็นสำคัญในหนังสือ The Pursuit of Holiness โดย เจอร์รี บริดเจส)[1]

ข้อความสำคัญตอนหนึ่งในพระคัมภีร์ที่เอ่ยอ้างไว้ในเรื่องชุดนี้ คือ เอเฟซัส 4:22-24

วิถีชีวิตเดิมนั้น ท่านได้รับการสอนให้ทิ้งตัวตนเก่าของท่าน ซึ่งกำลังเสื่อมโทรมไป โดยตัณหาอันล่อลวง เพื่อรับความคิดจิตใจใหม่ และสวมตัวตนใหม่ ซึ่งพระเจ้าสร้างขึ้นให้เป็นเหมือนพระองค์ ในความชอบธรรม และความบริสุทธิ์ที่แท้จริง

ข้อความนี้แนะนำเรา ผู้เป็นสิ่งสร้างสรรค์ใหม่[2] ให้สวมตัวตนใหม่ ซึ่งพระเจ้าสร้างขึ้นให้เป็นเหมือนพระเจ้า โดยบ่งบอกในที่นี้ว่าเป็น ความชอบธรรมและความบริสุทธิ์ที่แท้จริง สำหรับหลายคน คำว่า “บริสุทธิ์” หรือแง่คิดของ “ความบริสุทธิ์” ทำให้ระลึกถึงการเชื่อฟังตามตัวบทกฎหมาย หรือทัศนคติที่ถือว่าตัวเองเลิศเลอกว่า ซึ่งไม่เป็นที่ชื่นชอบ นี่ไม่ใช่สิ่งที่อัครสาวกเปาโลกล่าวถึง[3]

ความบริสุทธิ์คือคุณสมบัติอย่างหนึ่งของพระเจ้า คือส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งในความเป็นพระองค์ พระองค์โดดเด่น แตกต่าง และยิ่งใหญ่ กว่าสิ่งใดหรือผู้ใดที่มีตัวตนอยู่ นอกจากนี้พระองค์บริสุทธิ์ในทางทำนองคลองธรรมด้วย ความบริสุทธิ์ของพระองค์คือความแตกต่างที่สำคัญ ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ แม้ว่าเราอาจจะสามารถสะท้อนให้เห็นพระเจ้า ผ่านการกระทำจากใจบริสุทธิ์ ทว่าพระเจ้าคือความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ของพระองค์คือการปราศจากความชั่วร้าย การเป็นอิสระอย่างเต็มรูปแบบ จากความชั่วร้ายทั้งสิ้น ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เราไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ ใน 1 ยอห์น 1:5 เราอ่านพบว่า พระเจ้าเป็นความสว่าง ในพระองค์ไม่มีความมืดเลย ความสว่างและความมืด เมื่อนำมาใช้ในพระคัมภีร์เช่นนี้ มีนัยสำคัญยิ่งกว่ากลางวันและกลางคืน ยอห์นบอกเราว่าพระเจ้าเป็นอิสระโดยสิ้นเชิง จากความชั่วร้ายใดๆ ทางทำนองคลองธรรม พระองค์คือพระองค์เอง อันเป็นแก่นแท้ของความบริสุทธิ์ทางทำนองคลองธรรม[4]

พระเจ้าปฏิบัติตนตามวิสัยของพระองค์อย่างสมบูรณ์แบบเสมอ และทำสิ่งที่สอดคล้องกับวิสัยอันบริสุทธิ์ของพระองค์เสมอ เพราะพระองค์บริสุทธิ์ การกระทำทั้งสิ้นของพระองค์ก็บริสุทธิ์ เราจึงมั่นใจได้ว่าการกระทำของพระองค์ต่อเรานั้น มีความสมบูรณ์แบบและเที่ยงธรรมเสมอ พระเจ้าไม่เคยอยุติธรรม เพราะการทำเช่นนั้นขัดกับวิสัยอันเป็นแก่นแท้ของพระองค์

เนื่องจากพระเจ้าบริสุทธิ์ เราก็ได้รับมอบหมายให้ทำตัวบริสุทธิ์เช่นกัน อัครสาวกเปโตรเขียนไว้ว่า

ในฐานะลูกผู้เชื่อฟัง อย่าดำเนินตามตัณหาชั่วซึ่งเคยมี เมื่อใช้ชีวิตอย่างผู้ที่ไม่รู้ความจริง แต่จงบริสุทธิ์ในการทุกอย่างที่ทำ เหมือนพระองค์ผู้เรียกท่านนั้นบริสุทธิ์ เพราะมีคำเขียนไว้ว่า “จงบริสุทธิ์ เพราะเราบริสุทธิ์”[5]

คำภาษากรีกแปลไว้ในที่นี้ว่า การกระทำ หมายถึงรูปแบบของชีวิต การกระทำ ความประพฤติ และอากัปกิริยา ท่าทางที่บุคคลใดประพฤติตน ส่วนที่อื่น ข้อพระคัมภีร์สอนว่าเราควรเพียรพยายามที่จะอยู่อย่างสงบสุขร่วมกับคนทั้งปวง และเป็นผู้บริสุทธ์ เพราะถ้าปราศจากความบริสุทธิ์แล้ว จะไม่มีใครได้เห็นพระองค์เลย[6]

เนื่องจากพระเจ้า (พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ) มีความบริสุทธิ์ พวกเราที่ประสงค์จะเป็นเหมือนพระเจ้า หรือเป็นเหมือนพระคริสต์ ต้องมีความบริสุทธิ์เช่นกัน แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีความบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง เพราะเราเป็นมนุษย์ เราทำบาป ถึงกระนั้นความบริสุทธิ์เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตกับพระองค์ และการเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น

ความบริสุทธิ์มีความหมายสองอย่าง ประการแรกอ้างอิงถึงการแยกตัวออกมา ในพระคัมภีร์เดิม อิสราเอลถูกเรียกว่า “ผู้คนที่บริสุทธิ์” เพราะเขาเป็นของพระเจ้าแต่ผู้เดียว และแยกตัวจากประเทศอื่นๆ นี่สอดคล้องกับการแยกตัวของพระเจ้า หรือ “ความแตกต่าง” จากสิ่งทั้งปวงที่ถูกสร้างขึ้นมา แง่คิดของคริสเตียนในฐานะผู้คนที่บริสุทธิ์ ก็เห็นได้เช่นกันในพระคัมภีร์ใหม่

แต่พวกท่านเป็นประชากรที่พระเจ้าได้เลือกสรร เป็นปุโรหิตหลวง เป็นชนชาติบริสุทธิ์ เป็นพลเมืองของพระเจ้า เพื่อท่านจะได้ประกาศราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ผู้เรียกท่านออกจากความมืด มาสู่ความสว่างอันล้ำเลิศของพระองค์[7]

ผู้คนของพระเจ้ามีความบริสุทธิ์ โดยคุณสมบัติในการเป็นคนของพระองค์ ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะ

ความหมายที่สองของ “บริสุทธิ์” อ้างอิงถึงความสะอาดบริสุทธิ์ พระคัมภีร์เดิมประกอบด้วยพิธีกรรมที่มีความบริสุทธิ์อย่างมาก รวมถึงพิธีการชำระล้าง การแยกแยะระหว่างอาหารที่สะอาดและไม่สะอาด นอกจากนี้ก็พูดถึงการชำระล้างจากบาป

เพราะในวันนี้จะมีการล้างบาปสำหรับเจ้า เพื่อชำระเจ้าให้สะอาด แล้วเจ้าจะสะอาด พ้นจากบาปทั้งสิ้น ต่อหน้าพระองค์[8]

ในพระคัมภีร์ใหม่ พระเยซูยกเลิกความบริสุทธิ์ทางพิธีกรรม และมุ่งเน้นที่ความบริสุทธิ์ภายใน ความบริสุทธิ์ทางทำนองคลองธรรม ความบริสุทธ์ของจิตใจ[9]

เรากลายเป็นคนบริสุทธิ์ (ได้รับชำระล้าง)[10] โดยผ่านความรอด เราจึงได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ โดยการถวายร่างของพระเยซูคริสต์ เป็นเครื่องบูชาเพียงครั้งเดียว[11] ถึงแม้เราได้รับการยกโทษต่อบาป เราก็ไม่ได้ไร้บาป แม้ว่าบาปไม่ได้ครอบงำชีวิตเรา ก็ยังมีอยู่ในตัวเรา ถ้าเราอ้างว่าไม่มีบาป เราก็หลอกตัวเอง และความจริงไม่ได้อยู่ในเรา[12] เห็นได้ชัดว่าเรายังคงทำบาป แต่ถ้าเราสารภาพบาป พระองค์สัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม จะอภัยบาปของเรา และชำระเราให้พ้นจากความอธรรมทั้งสิ้น[13]

บาปไม่ได้ครอบงำเราเหมือนเดิม ก่อนหน้าความรอด ทว่าเรายังคงดิ้นรนต่อสู้กับมัน ถ้าจะว่ากันไป เรา“บริสุทธิ์” เมื่อได้รับความรอด แต่มีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งดำเนินไปตลอดชีวิตที่เหลือ คือการเติบโตในความบริสุทธิ์ อัครสาวกเปาโลบ่งบอกไว้เช่นนี้

เราผู้ไม่มีผ้าคลุมหน้า ล้วนเล็งเห็นสง่าราศีของพระองค์ เรากำลังเปลี่ยนเป็นเหมือนพระองค์ ด้วยสง่าราศีที่เพิ่มพูนขึ้นทุกที จากพระองค์ผู้เป็นพระวิญญาณ[14]

การเติบโตในความบริสุทธิ์ไม่ได้เป็นไปโดยอัตโนมัติ ต้องอาศัยความพยายาม ดังที่เห็นได้จากมโนภาพการวิ่งแข่ง

ฉะนั้น เมื่อเรามีพยานหมู่ใหญ่พรั่งพร้อมรอบด้านเช่นนี้แล้ว ให้เราละทิ้งทุกอย่างที่หน่วงเหนี่ยว และบาปที่เกาะติด ให้เราวิ่งด้วยความอดทนบากบั่นไปตามลู่ที่กำหนดไว้สำหรับเรา[15]

มีการละบาปอย่างต่อเนื่อง ตลอด“การวิ่งแข่ง”ในชีวิตของเรา เราไม่มีวันบรรลุการเป็นเหมือนพระคริสต์โดยสิ้นเชิง หรือขจัดบาปให้หมดไปในชีวิตทางโลก ถึงแม้เราทราบว่านี่จะเกิดขึ้นอย่างครบถ้วน ในชีวิตภายภาคหน้าเท่านั้น แต่เราได้รับมอบหมายให้มุ่งมั่นไปสู่สภาวะดังกล่าวในชีวิตปัจจุบัน

เพื่อนที่รัก บัดนี้เราเป็นลูกของพระเจ้า ภายหน้าเราจะเป็นอย่างไร เรายังไม่อาจรู้ได้ แต่เรารู้ว่าเมื่อพระองค์ปราฏ เราจะเป็นเหมือนพระองค์ เราจะเห็นพระองค์อย่างที่พระองค์เป็นอยู่ ทุกคนที่มีความหวังในพระองค์เช่นนี้ ย่อมชำระตนให้บริสุทธิ์ เหมือนที่พระองค์บริสุทธิ์[16]

คำว่า ชำระตนให้บริสุทธิ์ และ บริสุทธิ์ ในประโยคสุดท้าย ทั้งสองคำมาจากภาษากรีกคำเดียวกัน ซึ่งใช้บ่งบอกถึง ความบริสุทธิ์ และ บริสุทธิ์

เราควรพยายามให้ทั้งตัวตนของเราสอดคล้องกับสภาพของพระเจ้า ทั้งทางความคิดจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก และดวงวิญญาณ ขณะที่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง การกระทำของร่างกายเราจะสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายใน การกระทำ ถ้อยคำ และปฏิสัมพันธ์ที่เรามีกับผู้อื่น จะสะท้อนถึงพระคริสต์ ดังที่อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า

ท่านที่รัก ในเมื่อเรามีคำสัญญาเช่นนี้ ขอให้เราชำระตนเองจากทุกสิ่งที่ทำให้ร่างกายและจิตวิญญาณแปดเปื้อน จงทำให้ความบริสุทธิ์สมบูรณ์ พร้อมด้วยความยำเกรงพระเจ้า[17]

ผู้ประพันธ์ เจ ร็อดแมน วิลเลียมส์ เขียนไว้ว่า

ในทางจิตวิญญาณ ผู้มีความเชื่อต้องผ่านการชำระล้างต่อเนื่องอย่างมากแน่นอน อาจมีความหยิ่งยโสทางจิตวิญญาณที่ต้องลดลงไปสู่ความถ่อมตน ความขมขื่นทางจิตวิญญาณที่ต้องเพิ่มความอ่อนหวานจากพระวิญญาณของพระเจ้า จิตวิญญาณที่ชอบตัดสินผู้อื่น ต้องผ่านการกลั่นกรองด้วยความรัก จิตวิญญาณที่กลัดกลุ้ม ต้องได้รับการฟื้นฟูในความสงบและสันติสุข นอกจากนี้ ขอเสริมโดยเฉพาะจิตวิญญาณที่ไม่ให้อภัย ต้องได้รับการปลดปล่อยจากความแข็งกร้าว และการขาดความสำนึกในบุญคุณ[18]

ข้อพระคัมภีร์ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผ่านการฟื้นฟูจิตใจอย่างต่อเนื่อง อย่าดำเนินชีวิตตามอย่างผู้คนในโลกนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจของท่านใหม่[19] เราได้รับมอบหมายให้พัฒนากรอบความคิดทางจิตวิญญาณ เพื่อว่าค่านิยม ความปรารถนา และหลักจริยธรรมของเรา จะได้มีพื้นฐานบนคำสอนในพระคัมภีร์ แทนที่จะเป็นบรรทัดฐานของสังคม

การเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น หมายถึงอารมณ์ความรู้สึก ความปรารถนา และศรัทธาแรงกล้าของเรา ต้องเป็นเหมือนพระคริสต์ด้วย นี่สอนให้เราปฏิเสธความอธรรมและโลกียตัณหา สอนเราให้ดำเนินชีวิตในยุคนี้อย่างผู้ที่รู้จักควบคุมตนเอง เป็นคนยุติธรรม และอยู่ในแบบอย่างของพระเจ้า[20] ฉะนั้น ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความโลภ กิเลสตัณหา และความหึงหวง ต้องเปลี่ยนเป็นความรู้สึกที่เหมือนพระคริสต์

การที่จะทำตามแบบอย่างของพระเจ้า เราต้องเปลี่ยนความตั้งใจของเราด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับความประสงค์ของพระเจ้า ดังที่เผยให้เห็นในข้อพระคัมภีร์ เราอ้าแขนรับสิ่งที่พระเจ้าประสงค์ และปฏิเสธสิ่งที่ต่อต้านขัดขืนพระองค์ ทางเลือก การตัดสินใจ และการกระทำของเรา สอดคล้องกับความประสงค์และวิสัยของพระองค์ ดังที่เผยไว้ในพระคำ ความปรานีของพระเจ้าช่วยเราให้ตัดสินใจเลือกอย่างถูกทำนองคลองธรรม

การเปลี่ยนเป็นเหมือนพระคริสต์ คือ องค์รวมในแง่ที่ว่าเปลี่ยนแปลงเราทั้งตัวตน เป็นขั้นตอนที่เริ่มต้นเมื่อเราได้รับความรอด และต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ซึ่งบรรลุผลโดยผ่านความปรานีของพระเจ้า และผลการเปลี่ยนแปลงของพระวิญญาณบริสุทธิ์ นี่ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าเปลี่ยนเราให้เป็นเหมือนพระคริสต์ โดยที่เราไม่ต้องพยายามทำส่วนของเรา เมื่อเราจริงจังกับการเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น แน่นอนว่าเราอธิษฐานขอให้พระองค์เปลี่ยนเรา แต่เราทำการตัดสินใจซึ่งช่วยให้เราก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์ด้วย และเรานำการตัดสินใจดังกล่าวมาถือปฏิบัติ

การกระทำที่ถอดตัวเก่าออกไป และสวมตัวตนใหม่ ดังที่บ่งบอกไว้ในเอเฟซัส 4:20-24 อ้างอิงถึงการเปลี่ยนแปลงและความบริสุทธิ์ เพราะการที่จะทำเช่นนั้น เราต้องขจัดบาป และรับความชอบธรรมไว้ด้วย อัครสาวกเปาโลระบุไว้อย่างเฉพาะเจาะจงในโคโลสี บทที่ 3

เหตุฉะนั้น จงประหารโลกียวิสัยของท่าน คือ การผิดทำนองคลองธรรมทางเพศ มลทิน ราคะตัณหา ความปรารถนาชั่ว และความโลภ ซึ่งเป็นการบูชารูปเคารพ ... แต่ท่านจงกำจัดสิ่งทั้งปวงนี้ให้หมดจากตัวท่าน คือ ความโกรธ ความเกรี้ยวกราด การคิดปองร้าย การกล่าวร้าย และวาจาหยาบช้า จากปากของท่าน อย่าโกหกกัน ในเมื่อท่านสลัดตัวตนเก่าทิ้ง พร้อมกับความประพฤติเดิมๆ และสวมตัวตนใหม่ ซึ่งกำลังสร้างขึ้นใหม่ ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ ขณะที่ท่านทำความรู้จักพระองค์มากขึ้น[21]

จากนั้นท่านเปาโลกล่าวข้อคิดเชิงบวก ว่า

ฉะนั้น ในฐานะผู้ที่พระเจ้าเลือก ผู้บริสุทธิ์และเป็นที่รักของพระองค์ จงมีใจเมตตากรุณา ความอ่อนโยน ความเจียมตน และความอดทน จงอดทนอดกลั้นต่อกัน ไม่ว่าท่านมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจประการใด จงยกโทษให้กัน ท่านจงยกโทษให้กัน เหมือนที่พระองค์ได้ยกโทษให้ท่าน จงสวมความรัก เหนือคุณความดีทั้งหมดนี้ ความรักผูกพันสิ่งเหล่านี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ จงให้สันติสุขของพระคริสต์ครองใจท่าน เพราะพระเจ้าเรียกท่านมาให้เป็นดุจอวัยวะของร่างเดียวกัน เพื่อท่านจะได้รับสันติสุข จงมีใจขอบพระคุณ[22]

การที่จะเป็นเหมือนพระคริสต์ เราต้องมีวินัยในตนเอง และยืนหยัดต่อต้านการกระทำในแง่ลบ ความหุนหันพลันแล่น และความนึกคิดในใจเรา ซึ่งนำไปสู่บาป แล้วอ้าแขนรับคุณธรรม ค่านิยม และจริยธรรมที่สะท้อนวิสัยของพระเจ้า สองสามบทความในตอนต่อไป จะเอ่ยถึงบาป ความบริสุทธิ์ในแง่ “การขจัด” อะไรคือสิ่งที่เราต้องขจัดไปจากชีวิต เพื่อจะได้เป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น หลังจากนั้นจะหันไปมุ่งเน้นที่ “การรับไว้” คือพัฒนาในใจเรา คือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตเราเหมือนกับชีวิตของพระคริสต์


[1] เจอร์รี บริดเจส The Pursuit of Holiness (โคโลราโด สปริงส์: สำนักพิมพ์นาฟเพรส ค.ศ. 2006)

[2] 2 โครินธ์ 5:17

[3] หากประสงค์คำอธิบายเพิ่มเติมเรื่องความบริสุทธิ์ของพระเจ้า ขอให้ดู หัวใจสำคัญ: ธรรมชาติและวิสัยของพระเจ้า

[4] บริดเจส The Pursuit of Holiness หน้า 22-23

[5] 1 เปโตร 1:14-16

[6] ฮีบรู 12:14

[7] 1 เปโตร 2:9

[8] เลวีนิติ 16:30

[9] มัทธิว 5:8

[10] คำภาษากรีก hagios และคำที่มีรากศัพท์เดียวกัน แปลไว้ในพระคัมภีร์ใหม่ว่า บริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ ชำระล้าง การชำระล้าง

[11] ฮีบรู 10:10

[12] 1 ยอห์น 1:8

[13] 1 ยอห์น 1:9

[14] 2 โครินธ์ 3:18

[15] ฮีบรู 12:1

[16] 1 ยอห์น 3:2-3

[17] 2 โครินธ์ 7:1

[18] เจ ร็อดแมน วิลเลียมส์ Renewal Theologyเล่ม 3 (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์ซอนเดอร์แวน ค.ศ. 1996) หน้า 93-94

[19] โรม 12:2

[20] ติทัส 2:12

[21] โคโลสี 3:5, 8-10

[22] โคโลสี 3:12-15

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้