Formula of Five: Study Tips

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

กันยายน 1, 2015

[สูตรห้าประการ: ข้อแนะนำในการศึกษา]

“ความสุขเกิดแก่ผู้ที่พบปัญญา และผู้ที่มีความเข้าใจ”[1]

เมื่อสองปีที่แล้ว ผมสมัครเรียนหลักสูตรศาสนศาสตร์ ซึ่งมีส่วนช่วยผมอย่างมาก ขณะเตรียมเรื่องชุดต่างๆ ที่ผมเขียนสำหรับมุมผู้ชี้ทาง อาทิเช่น หัวใจสำคัญ เรื่องที่พระเยซูบอกเล่า และ พระเยซู — ชีวิตและข่าวสารของพระองค์

ผลลัพธ์ก็คือ ผมต้องใช้เวลาศึกษาพอสมควร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผม เพราะตามปกติแล้วผมไม่ใช่เด็กเรียน ผมอ่านหนังสือไม่ค่อยเร็ว ผมเรียนไม่ค่อยเก่ง ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะผมไม่ชอบเรียน แม้แต่ตอนนี้ก็ต้องอาศัยความพยายามและวินัยในการที่ผมจะศึกษา แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมีความสุขมาก ก็คือ เมื่อวันเวลาผ่านไป การศึกษากลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจครั้งใหญ่ หรือไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะเราทำได้ดีขึ้นแน่นอน ในเรื่องส่วนใหญ่ เมื่อเราทุ่มเทเวลาให้มากขึ้น การศึกษาก็เหมือนกัน

นอกจากจะดีขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อทำสิ่งใดซ้ำแล้วซ้ำอีก ในช่วงระยะหนึ่ง ผมเรียนรู้และเอาข้อแนะนำสองสามอย่างที่มีประโยชน์จากการศึกษามาปรับใช้ด้วย ตอนนี้ผมขอบอกเล่าข้อแนะนำบางส่วน

ผมกล้าพูดได้เลยว่ามีคุณหลายคนที่กำลังศึกษาอยู่ในบางแง่ ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัย หรือประกาศนียบัตรเฉพาะทาง หรืออาจเป็นไปได้ว่าคุณศึกษาหาความรู้เฉพาะทาง ในด้านที่คุณสนใจ เช่น สุขภาพและโภชนาหาร วิธีอบรมเลี้ยงดูเด็กให้มีความสุขและปรับตัวได้ดีขึ้น หรือทักษะปฏิบัติ เช่น การพูดในที่ชุมชน การออกแบบเว็บไซท์ การตัดต่อวิดีโอหรือเสียง การเล่นดนตรี หรือวิชาชีพอื่นๆ

เนื่องจากงานอันดับแรกของผมเกี่ยวข้องกับการเขียนสำหรับ TFI ผมจึงศึกษาศาสนศาสตร์ ผมทราบว่ามีคนหลายคนที่ให้การหล่อเลี้ยงผู้อื่นทางจิตวิญญาณ ดังนั้นคุณรู้สึกได้รับมอบหมายให้ศึกษาด้านนี้เช่นกัน เพราะมีส่วนช่วยในการงาน คุณบางคนรู้สึกได้รับมอบหมายให้ศึกษาหัวข้อที่มีความหมายและมีค่า ในเส้นทางที่พระองค์มอบหมายแก่คุณ ถ้าคุณก้าวเข้าสู่การงานในสาขาใหม่ หรือหน้าที่การงานใหม่ หรือถ้าคุณพยายามเรียนรู้สิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิตคุณ คุณก็จะอยู่ในสถานะที่ต้องศึกษาบางครั้งเช่นกัน

อันที่จริงแล้ว เมื่อคุณคิดดู เราจะศึกษาเรียนรู้และทำความคืบหน้าตลอดชีวิต ถึงแม้ไม่ใช่การเรียนอย่างเป็นทางการ ดังที่เดวิดผู้ก่อตั้งกลุ่มของเรากล่าวไว้ว่า “เรียนรู้ เรียนรู้ เรียนรู้ ไม่มีวันสิ้นสุด ผมชื่นชอบ!” ชีวิตจะน่าเบื่อมาก ถ้าเราไม่เรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ และค้นพบสิ่งใหม่ๆ

เมื่อเราตั้งใจและปรับปรุงตัว ผ่านการศึกษา สำรวจหัวข้อใหม่ๆ และเพิ่มพูนทักษะ เราก็ขยายฐานความรู้และทักษะ ซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้น และมีความมั่นใจมากขึ้น ถ้าคุณไม่มีส่วนร่วมในเส้นทางการศึกษาที่ชัดเจนตอนนี้ บางทีคุณอาจจะทำเช่นนั้น ช่วงใดช่วงหนึ่งในอนาคต เพราะสมัยนี้มีหลายเส้นทางที่จะศึกษา และเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญ ในด้านที่เราสนใจ

เอาล่ะ มาคุยกันถึงแนวคิดบางอย่างเรื่องนิสัยการศึกษาที่มีประสิทธิผล ถ้าเราจะทุ่มเทเวลาเพื่อการศึกษา เราต้องทำสุดความสามารถ และหาทางรับผลประโยชน์มากที่สุด นี่ไม่ใช่ข้อแนะนำในการศึกษาที่ “สำคัญที่สุด” มีบทความออนไลน์ดีๆ มากมายเกี่ยวกับหัวข้อนี้ แต่นี่เป็นข้อแนะนำบางอย่างที่มีส่วนช่วยผม ผมจะสรุปสั้นๆ ถ้าบางหัวข้อกระตุ้นความสนใจของคุณ ผมขอแนะนำให้คุณค้นคว้าเพิ่มเติม

ข้อที่ 1: มี “เหตุผล” ชัดเจนในการศึกษา มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเฉพาะเจาะจง

การที่จะทำงานใหญ่ให้สำเร็จครบถ้วน หรือศึกษาบางสาขาวิชาให้เก่ง เราต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน การมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนจะสร้างแรงจูงใจ ซึ่งช่วยให้ง่ายขึ้นที่จะหมั่นศึกษา และฝึกวินัยที่จำเป็น เพื่อทำโครงการยาก ๆ ให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะโครงการที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เช่น โปรแกรมการศึกษา ผมขอแนะนำให้คุณใช้เวลานึกเหตุผลในการศึกษาให้ชัดเจน ว่าอะไรคือเป้าหมายสูงสุด อะไรคือเหตุผลในการกระทำของคุณ มีส่วนช่วยได้ที่จะจดบันทึกเป้าหมายไว้ พร้อมรายละเอียดบางอย่าง และมีกรอบเวลา ว่าคุณวางแผนให้บรรลุเป้าหมายเมื่อไร ขอให้ทบทวน “เหตุผล” นี้บ่อยๆ ทบทวนเป็นประจำทุกวัน นึกภาพตนเองดำเนินขั้นตอนต่างๆ ที่จำเป็นต้องทำ จนบรรลุผลตามเป้าหมาย

ในหัวข้อนี้ ผู้ประพันธ์ ทอม ฮอพคินส์ แนะนำไว้ว่า “จดจ่อว่าความรู้ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยคุณมากแค่ไหน นึกภาพผลประโยชน์ที่คุณจะได้รับจากการมีความรู้นั้น สร้างภาพที่ชัดเจนและมีชีวิตชีวาในหัวคิด ว่าเหตุใดคุณจึงศึกษาเนื้อหานั้น แต่ละครั้งที่เริ่มศึกษา ใช้เวลาหนึ่งหรือสองวินาทีนึกภาพที่ชัดเจน ถึงผลประโยชน์ที่คุณแสวงหา”[2]

ถ้าคุณทำเช่นนี้ เมื่อรู้สึกอยากล้มเลิก หรือเมื่อการเรียนน่าเบื่อ คุณจะมี “แรงผลักดัน” เป็นพิเศษ เพื่อก้าวต่อไป เพราะคุณจะได้รับการเตือนใจว่าเหตุใดคุณจึงเสียสละ และเหตุใดจึงสำคัญที่คุณต้องก้าวต่อไปบนเส้นทางนั้น

ข้อที่ 2: หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ไขว้เขว

ถึงแม้ว่าจะมีแรงจูงใจอย่างมาก และมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เราทุกคนต่างก็สู้ศึกกับสิ่งที่ทำให้ไขว้เขว นั่นมีค่าแลกเปลี่ยนสูง เราต้องหมั่นต่อต้านสิ่งที่ทำให้ไขว้เขว นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการสู้ศึกประจำวัน โดยเฉพาะในยุคนี้ที่มีอุปกรณ์พกพาซึ่งหันเหความสนใจของเราได้ง่ายดายมาก ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำบางอย่างให้พิจารณา เพื่อลดความไขว้เขวให้มากที่สุด

นายโจ นักศึกษา ตั้งใจปลีกเวลาตอนค่ำเพื่อจดจ่อกับการศึกษา ต่อไปนี้เป็นแบบอย่างโดยทั่วไปว่าเขามักจะใช้เวลาตอนค่ำทำอะไร

โจพร้อมที่จะเริ่มศึกษาตอนหนึ่งทุ่ม แต่ดูเหมือนว่าอาหารมื้อเย็นหนักไปนิด เขาจึงตัดสินใจดูทีวีสักหน่อย เวลาสักหน่อยผ่านไปหนึ่งชั่วโมง ตอนสองทุ่มเขานั่งที่โต๊ะเรียน แต่ลุกขึ้นทันที เพราะเพิ่งจำได้ เขาสัญญาว่าจะโทรหาแฟนสาว เวลาหมดไปอีก 40 นาที (เขาไม่ได้คุยกับเธอทั้งวันเลยนะ) มีคนโทรเข้ามา ใช้เวลาอีก 20 นาที ตอนเดินกลับไปที่โต๊ะเรียน เกมปิงปองดึงดูดใจโจ อีกหนึ่งชั่วโมงผ่านไป เกมปิงปองทำให้เหงื่อออกจนเหนียวตัว เขาจึงไปอาบน้ำ จากนั้นเขาต้องทานของว่าง...

ดังนั้น ตอนค่ำที่วางแผนไว้ด้วยความตั้งใจ หลุดลอยไป ตีหนึ่งแล้ว เขาเปิดหนังสือ แต่ง่วงเกินกว่าที่จะซึมซับเนื้อหา ผลที่สุดเขาก็ยอมแพ้โดยสิ้นเชิง เช้าวันรุ่งขึ้นเขาบอกอาจารย์ว่า “อาจารย์น่าจะเห็นใจผมบ้าง ผมดูตำราถึงตีสอง เพื่อเตรียมตัวสอบครั้งนี้”

นายโจ นักศึกษา ไม่ได้ลงมือทำ เพราะเขามัวแต่ใช้เวลาเตรียมการ และโจ นักศึกษา ไม่ใช่คนเดียวที่ตกเป็นเหยื่อ “การมัวแต่เตรียมตัว” นายโจ ผู้บริหาร นายโจ มืออาชีพ คุณโจเซฟีน แม่บ้าน พวกเขาต่างก็พยายามเตรียมตัว ด้วยการแชทที่ออฟฟิศ หยุดพักจิบกาแฟ เหลาดินสอ อ่านหนังสือ กิจธุระส่วนตัว จัดของบนโต๊ะ ดูทีวี และกลไกหลบหลีกอื่นๆ อีกหลายสิบอย่าง

แต่มีวิธีเลิกนิสัยเช่นนี้ บอกตัวเองว่า “ฉันอยู่ในสภาพพร้อมที่จะเริ่มเดี๋ยวนี้ ฉันไม่ได้รับผลอะไรจากการผลัดไว้ก่อน ฉันจะลงมือทำเลย”

เมื่อคุณเริ่ม ขอให้มุ่งเน้น ให้เวลาศึกษามีประสิทธิผล อย่าแค่จ้องมองหน้ากระดาษ ขณะที่หัวคิดโลดแล่นไปที่อื่น หรือปล่อยเวลาให้เสียไปเปล่าๆ เพียงเพื่อจะบอกว่าคุณใช้เวลานั้น “ศึกษา”[3]

ข้อที่ 3: นำข้อควรปฏิบัติมาใช้ เพื่อการศึกษาที่เกิดผล

มีข้อควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติ ซึ่งอาจช่วยให้เวลาศึกษาดำเนินไปในทางที่ดีขึ้น ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 4: อย่าตัดเวลานอน

เป็นไปได้ทีเดียว ถ้าคุณเริ่มต้นบนเส้นทางการศึกษา โดยที่คุณเรียนนอกเวลา จากการทำงานปกติ การศึกษาจึงเป็นส่วนเพิ่มเติม นั่นหมายความว่าคุณต้องศึกษาตอนกลางคืน เช้าตรู่ และสุดสัปดาห์ ภาระที่มากขึ้นจะเพิ่มความเครียด และอาจหมายความว่าบ่อยครั้งคุณ “เรียนจนดึก” ถึงแม้ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในบางครั้ง เราไม่ควรจะมีตารางเวลาเช่นนั้นในระยะยาว การมีตารางเวลาที่ยุ่งสุดๆ และนอนน้อย ไม่ใช่เกียรติที่น่าภูมิใจ การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ดีต่อสุขภาพมากกว่า และก่อเกิดผลมากกว่า ในเชิงปฏิบัติ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการศึกษา

เมื่อคุณง่วงนอน ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาให้มีประสิทธิผล และการอดนอนทำให้งานเป็นภาระหนัก นี่ไม่เพียงน่าทุกข์ร้อนใจ ทว่าการนอนหลับไม่พอ เป็นเหตุให้สมองไม่สามารถประมวลข้อมูล ธารา พาร์เกอร์-โพพ นักข่าวนิวยอร์กไทม์ เขียนไว้ว่า

การนอนหลับเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาที่ดี ช่วงแรกของวงจรการนอนหลับ จะช่วยให้จดจำข้อเท็จจริง ช่วงที่สองสำคัญต่อทักษะคณิตศาสตร์ ดังนั้นนักศึกษาที่จะสอบภาษาต่างประเทศควรเข้านอนเร็ว เพื่อจะได้มีความจำมากที่สุดจากการนอน แล้วก็ทบทวนในตอนเช้า ส่วนนักศึกษาคณิตศาสตร์ การนอนหลับช่วงหลังของวงจรสำคัญที่สุด ซึ่งดีกว่าที่จะทบทวนเนื้อหาก่อนเข้านอน แล้วนอนตื่นสาย เพื่อให้สมองประมวลข้อมูล

“การนอนหลับคือขั้นตอนสุดท้ายของการเรียน [ตามที่เบเนดิคท์ คาเรย์ นักข่าววิทยาศาสตร์นิวยอร์กไทม์ กล่าวไว้] สมองพร้อมที่จะประมวลผลข้อมูล จัดหมวดหมู่ และตกผลึกสิ่งที่ได้เรียนรู้มา เมื่อคุณเหนื่อย สมองก็บอกว่าพอแล้ว”[5]

ดังนั้นถ้าคุณไม่ค่อยคืบหน้าในการศึกษา หรือไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ปรารถนา ลองพิจารณาตารางเวลาของคุณดู คุณอาจต้องจัดเวลามากขึ้นเพื่อการนอนหลับ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียบง่าย น่ายินดี และช่วยฟื้นฟูกำลัง!

ประเด็นที่ 5: เชื่อว่าคุณเรียนรู้ได้ทุกอย่าง มีกรอบความคิดที่เติบโต

ประเด็นสุดท้ายในสูตรห้าประการนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับขีดจำกัดที่คุณกำหนดให้ตนเองเรื่องการเรียนรู้ บ่อยครั้งเราบอกตนเองและผู้อื่นว่า “ฉันไม่เก่งคณิตศาสตร์ หรือ “ฉันเรียนภาษาต่างประเทศไม่เก่ง” หรือ “ฉันไม่เคยชอบทำอาหาร...” หรือคอมพิวเตอร์ หรือออกกำลังกาย หรืออะไรก็ตาม พวกเราหลายคนเชื่อว่าเรามีสิ่งที่อ้างได้ว่าเป็น “ทักษะประจำตัว” นั่นคือเราได้รับพรสวรรค์ตั้งแต่เกิด โดยที่มีแนวโน้มบางอย่าง ในทางกลับกันเราก็เสียเปรียบในด้านอื่นๆ และเราทำอะไรไม่ได้เพื่อเปลี่ยนแปลง ก็แค่นี้แหละ แต่ไม่ใช่เช่นนั้น

คาโรล ดเวค ศาสตราจารย์และนักวิจัย ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีชื่อเสียงจากผลงานเรื่องกรอบความคิดจำกัดและกรอบความคิดเติบโต เธอเขียนไว้ว่า

ในกรอบความคิดจำกัด นักเรียนเชื่อว่าความสามารถเบื้องต้น เชาวน์ปัญญา และทักษะพิเศษ เป็นเพียงคุณสมบัติประจำตัว ซึ่งเขามีอยู่บางส่วน ก็แค่นั้น เขาจึงตั้งเป้าหมายที่จะกลายเป็นคนที่ดูฉลาดตลอดเวลา และไม่เคยดูโง่เขลาเลย ในกรอบความคิดที่เติบโต นักเรียนเข้าใจว่าพรสวรรค์และความสามารถของเขานั้น พัฒนาได้ จากความพยายาม การสอนที่ดี และความพากเพียร เขาไม่คิดว่าทุกคนเหมือนกัน หรือใครๆ ก็เป็นไอสไตน์ได้ แต่เขาเชื่อว่าทุกคนฉลาดขึ้นได้ ถ้าพยายามปรับปรุง...[6]

มีผลการศึกษาวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ ในทางจิตวิทยาและประสาทวิทยา ซึ่งสนับสนุนกรอบความคิดเติบโต เราค้นพบว่าสมองมีความยืดหยุ่นขึ้น เมื่อวันเวลาผ่านไป มากยิ่งกว่าที่เราคาดคิด แง่มุมเบื้องต้นของเชาวน์ปัญญาสามารถเพิ่มพูนได้ผ่านการเรียนรู้ เมื่อเผชิญหน้ากับอุปสรรค การอุทิศตนและความพากเพียร คือองค์ประกอบสำคัญของผลงานที่โดดเด่น[7]

ถ้าเราอ้าแขนรับกรอบความคิดที่เติบโต เราจะก้าวไปอีกไกล เรามีแนวโน้มที่จะรับความท้าทายมากขึ้น ลองสิ่งใหม่ๆ และคาดหมายว่าเราจะทำได้ดี เราจะมีเป็นเลิศในระดับส่วนตัว โดยที่เพียงก้าวย่างไปอย่างสม่ำเสมอ มุ่งเน้นในความคืบหน้า ทำตามตารางเวลา และบรรลุเป้าหมายในการไม่ล้มเลิก อย่าจำกัดตนเองในสิ่งที่เราทำได้

เจมส์ เคลียร์ นักกีฬาหนุ่ม นักเขียน และนักประกอบการ กล่าวว่า

นี่คือความจริง สิ่งที่คุณทำเป็นประจำทุกวัน จะเปลี่ยนสิ่งที่คุณเชื่อเกี่ยวกับตนเอง และบุคคลที่คุณจะเป็น นี่คือการกำหนดตารางเวลา ทำตามหน้าที่ และยึดมั่นในคำสัญญา โดยมุ่งเน้นการสร้างเอกลักษณ์ที่ถูกต้อง แทนที่จะมัววิตกกังวลถึงผลลัพธ์ที่ถูกต้อง

จากประสบการณ์ของผม นิสัยที่ยึดเอกลักษณ์เป็นหลัก เชื่อมโยงโดยตรงกับผลงานวิจัยของดเวค และนักวิจัยร่วมสมัยของเธอ เมื่อคุณปล่อยให้ผลลัพธ์กำหนดนิยามของคุณ เช่น ความสามารถพิเศษ ผลการสอบ น้ำหนักตัว การงาน ผลงาน ภาพลักษณ์ คุณก็ตกเป็นเหยื่อกรอบความคิดที่จำกัด แต่เมื่อคุณอุทิศตนทำตามหน้าที่ในแต่ละวัน และมุ่งเน้นนิสัยการสร้างเอกลักษณ์ที่ดีกว่า เมื่อนั้นคุณก็จะเรียนรู้และพัฒนา กรอบความคิดที่เติบโตเป็นเช่นนี้แหละ ในโลกของความเป็นจริง

...ส่วนทักษะคือสิ่งที่คุณสามารถปลูกฝัง ไม่ใช่แค่สิ่งที่คุณมีมาแต่กำเนิด คุณกลายเป็นคนที่สร้างสรรค์ มีเชาวน์ปัญญา เป็นนักกีฬา หัวศิลป์ และประสบความสำเร็จมากขึ้นได้ โดยมุ่งเน้นที่ขั้นตอน ไม่ใช่ผลลัพธ์[8]

ถ้าจับตาไว้กับสิ่งที่เราทำเป็นประจำทุกวัน แทนที่จะให้ผลลัพธ์คอยผลักดัน ในที่สุดเราจะเก็บเกี่ยวบำเหน็จรางวัล เป็นผลลัพธ์ที่เรามองหา แต่การที่จะทำเช่นนั้นได้ เราต้องกำหนดกิจวัตรสำหรับนิสัยประจำวันที่ก่อเกิดผล และทำตามขั้นตอนที่ช่วยเราให้มุ่งหน้าต่อไป โดยไม่ล้มเลิก เมื่อเรารู้สึกไม่มีแรงบันดาลใจ เหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย หรือไขว้เขว การพัฒนากรอบความคิดที่เติบโต จะส่งผลดีต่อเรา เมื่อวันเวลาผ่านไป เราจะเรียนรู้และเติบโต ในฐานะรายบุคคล และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ดังนั้น ขอให้ทบทวนประเด็นในหลักสูตรห้าประการสำหรับการศึกษา ได้แก่

1. มี “เหตุผล” ชัดเจนในการศึกษา มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเฉพาะเจาะจง
2. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ไขว้เขว
3. นำข้อควรปฏิบัติมาใช้ เพื่อการศึกษาที่เกิดผล
4. อย่าตัดเวลานอน
5. เชื่อว่าคุณเรียนรู้ได้ทุกอย่าง มีกรอบความคิดที่เติบโต

มาไขว่คว้าดวงดาวกันเถิด! ขอให้เรายึดมั่นในคำสัญญาของพระเจ้า และรู้ว่า “ฉันทำได้! มีหนทาง! พระเจ้าจะช่วยฉัน” นี่เป็นวิธีการที่ดี ไม่ใช่เฉพาะสำหรับเป้าหมายในการศึกษา ทว่าสำหรับทุกแง่ทุกมุมที่สำคัญของชีวิต


[1] สุภาษิต 3:13

[2] หนังสือ How to Master the Art of Selling (นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์วาร์เนอร์บุ๊คส์ ค.ศ.2005)

[3] หนังสือ The Magic of Thinking Big (นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์เพรนทิส-ฮอลล์ ค.ศ. 1959)

[4] บาร์บารา โอคเลย์  ศาสตราจารย์วิศวกรรม ที่มหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ ผู้ประพันธ์หนังสือ A Mind for Numbers: How to Excel at Math and Science (Even If You Flunked Algebra) (นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์ทราเชอร์ ค.ศ. 2014)

[5] ธารา พาร์เกอร์-โพพ บทความเรื่อง “Better Ways to Learn,” นิวยอร์กไทม์ 6 ตุลาคม ค.ศ 2014

[6] ตามที่เอ่ยอ้างโดย เจมส์ เคลียร์ ใน “How Your Beliefs Can Sabotage Your Behavior (And What You Can Do About It)

[7] คาโรล เอส ดเวค ในเรื่อง “The Perils and Promises of Praise,” Educational Leadership 65.2 (ค.ศ. 2007): 34–39. นำมาใช้ 12 มีนาคม ค.ศ. 2015

[8] เคลียร์ ในเรื่อง “How Your Beliefs” โพสต์ที่บล็อก มีการเน้นเพิ่มเติม

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้