More Like Jesus: Christian Character (Part 2)

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

ธันวาคม 6, 2016

[เหมือนพระเยซูมากขึ้น: อุปนิสัยคริสเตียน (ตอนที่ 2)]

(บทความนี้มาจากประเด็นสำคัญในหนังสือ The Practice of Godliness [การฝึกทำตามแบบอย่างพระเจ้า] โดย เจอร์รี บริดเจส[1])

ดังที่เราเห็นได้ในบทความก่อนหน้านี้ เรื่องพื้นฐานการเป็นเหมือนพระคริสต์ ว่าการเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้นต้องอาศัยการอุทิศตนต่อพระเจ้า ซึ่งมีรากฐานในความยำเกรงพระเจ้า และการที่เราเข้าใจความรักที่พระองค์มีต่อเราเป็นรายบุคคล การมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางชีวิตเปิดโอกาสให้เราเติบโตในด้านอุปนิสัยที่เหมือนพระคริสต์ ความรักและการอุทิศตนที่เรามีต่อพระเจ้า เปิดทางให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เปลี่ยนอุปนิสัยของเรา เพื่อพัฒนาผลจากพระวิญญาณ ได้แก่ ความรัก ความชื่นชมยินดี สันติสุข ความอดทน ความกรุณา ความดีงาม ความสัตย์ซื่อ ความสุภาพอ่อนโยน และการรู้จักควบคุมตนเอง นอกเหนือจากผลเฉพาะเจาะจงที่กล่าวมานี้ คุณลักษณะอื่นใดที่ยกย่องไว้ในพระคัมภีร์ว่าเป็นแบบอย่างของพระเจ้า ก็เห็นได้ว่าเป็นผลจากพระวิญญาณด้วย เช่น ความถ่อมตน ความเมตตา ความขอบคุณ ความอิ่มเอิบใจ และอื่นๆ

ถึงแม้อาจดูเหมือนเป็นความท้าทายทีเดียวที่จะสะท้อนให้เห็นผลดังกล่าว เราก็อุ่นใจได้ว่าเราจะเติบโตในด้านเหล่านี้ อันเป็นผลลัพธ์จากการที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินงานในใจเรา แน่นอน นี่ไม่ได้หมายความว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินงานทั้งหมด โดยที่เราไม่มีส่วนรับผิดชอบในการพัฒนาอุปนิสัยของคริสเตียน เราต้องเปิดใจและให้ความร่วมมือกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราต้องมีความรับผิดชอบในการที่จะเติบโตจนเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น ด้วยแนวทางและพลังจากพระวิญญาณ เราจะไม่เป็นเหมือนพระคริสต์ โดยที่ปราศจากพระวิญญาณของพระเจ้าดำเนินงานในใจเรา

บทความถัดไปจะครอบคลุมเกี่ยวกับผลของพระวิญญาณโดยละเอียด ทว่าก่อนอื่น มีหลักการทั่วไปบางอย่าง ซึ่งมีประโยชน์ที่จะเอ่ยถึง เพราะปรับใช้กับทุกแง่มุมของอุปนิสัยที่เหมือนพระคริสต์

เจตนารมณ์ที่ถูกต้อง

อันดับแรกคือมีเจตนารมณ์ที่ถูกต้อง เราต้องการละเว้นการมีเจตนารมณ์ที่นึกถึงแต่ตนเอง โดยคำนึงถึงพระเจ้ามากกว่า ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วการเป็นเหมือนพระคริสต์จะส่งผลให้เราเป็นที่ชื่นชอบต่อผู้อื่น และทำให้เรารู้สึกดีเกี่ยวกับตนเอง แต่เราไม่ควรจะมีเจตนารมณ์แอบแฝง การที่เราอุทิศตนต่อพระเจ้าควรจะเป็นเจตนารมณ์ของเรา ในการกระทำที่พระเจ้าพอใจ เราเล็งเห็นเจตนารมณ์เช่นนี้ในพระคัมภีร์เดิมเกี่ยวกับโยเซฟ เมื่อภรรยาของโปทิฟาร์พยายามยั่วยวนเขา เขาไม่ได้ปฏิเสธเธอจากเหตุผลที่ว่า “ถ้าข้าทำเช่นนี้ และเจ้านายทราบเรื่อง ข้าจะถูกประหาร” แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เขากล่าวว่า

ข้าจะทำสิ่งชั่วร้ายเช่นนี้ และทำบาปต่อพระเจ้าได้อย่างไร[2]

เจอร์รี บริดเจส เขียนไว้ว่า

ครั้งหนึ่งผมถูกล่อใจด้วยโอกาสการร่วมทำธุรกิจที่น่าสงสัย เป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่คลุมเครือ ซึ่งเรามักจะใช้เป็นเหตุผลต่อการกระทำของเรา ขณะที่ผมนึกถึงเรื่องนี้ ผมคิดว่า “ไม่ทำดีกว่า ผมอาจได้รับโทษจากพระเจ้า” แน่นอนว่าเมื่อเจตนารมณ์ที่ถูกต้องทั้งสิ้นไม่ได้ผล ก็ดีกว่าแน่นอนที่จะสำรวจจิตใจ ด้วยความยำเกรงการลงโทษจากพระเจ้า แทนที่จะคล้อยตามบาป ทว่านั่นไม่ใช่เจตนารมณ์ที่ถูกต้อง ในสถานการณ์เช่นี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยผมไว้ ผมนึกในใจว่า เอาล่ะ (ความกลัวการลงโทษของพระเจ้า) เป็นเจตนารมณ์ที่ไม่สมควรแน่ๆ เหตุผลแท้จริงที่ว่าทำไมผมไม่ควรทำคือ เพราะพระเจ้าควรค่าต่อความประพฤติที่มีเกียรติที่สุดของผม พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยให้ผมสำนึก โดยที่คำนึงถึงตนเองในเจตนารมณ์แรก และมุ่งเน้นพระเจ้าในเจตนารมณ์ที่ถูกต้อง[3]

เจตนารมณ์ที่เรามีต่อการกระทำควรจะเป็นสำนึกที่อุทิศตนต่อพระเจ้า อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า

ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะกิน จะดื่ม หรือทำอะไรก็ตาม จงทำทุกสิ่งเพื่อถวายเกียรติพระเจ้า[4]

แหล่งพลัง

แหล่งพลังในการดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระเจ้านั้นมาจากพระคริสต์ ดังนั้นลู่ทางในการสัมผัสพลังดังกล่าว คือการมีสัมพันธภาพกับพระองค์ พระเยซูกล่าวว่า

แนบสนิทอยู่กับเรา และเราจะแนบสนิทอยู่กับเจ้า แขนงจะออกผลเองไม่ได้ มันต้องติดอยู่กับเถาองุ่น ท่านก็เช่นกัน จะเกิดผลเองไม่ได้ นอกจากจะแนบสนิทอยู่กับเรา เราเป็นเถาองุ่น ท่านเป็นแขนง ถ้าผู้ใดแนบสนิทอยู่กับเรา และเราแนบสนิทอยู่กับเขา ผู้นั้นจะเกิดผลมาก เพราะถ้าแยกจากเราแล้ว ท่านทำสิ่งใดไม่ได้เลย[5]

ในการแนบสนิทอยู่กับพระคริสต์ เราพัฒนาอุปนิสัยตามแบบอย่างของพระเจ้า และเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น พลังที่เปลี่ยนแปลงเรามาจากภายนอกตัวเรา เราต้องเชื่อมโยงกับแหล่งพลัง คือพระเยซู และเราเชื่อมโยงกับพระองค์ต่อไป ด้วยการแนบสนิทอยู่กับพระองค์และพระคำ เราเชื่อมสัมพันธภาพกับพระองค์ ผ่านการอธิษฐานและอุทิศตน

ความรับผิดชอบและการหมายพึ่ง

หลักการต่อไปคือ ถึงแม้ว่าพลังในการที่จะมีอุปนิสัยตามแบบอย่างของพระเจ้า จะมาจากพระคริสต์ ทว่าเรามีความรับผิดชอบในการพัฒนาและแสดงออกถึงอุปนิสัยนั้น เราได้รับการบอกกล่าวว่า จงหันเหจากความชั่วร้ายและทำความดี จงใฝ่หาสันติภาพ และมุ่งมั่นเพื่อให้ได้มา[6] ใฝ่หาความชอบธรรม เลื่อมใสศรัทธา มีความรัก แน่วแน่ และสุภาพอ่อนโยน[7] จงฝึกตนด้วยความเลื่อมใสศรัทธา[8] รู้จักควบคุมตนเอง ซื่อตรง และดำเนินชีวิตในทางของพระเจ้า[9] ถึงแม้ว่าเราหมายพึ่งพระคุณของพระองค์ และพลังเพื่อการเติบโตจนเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น แต่เราไม่อาจโยนกลองและคาดหมายให้พระองค์บันดาลให้เราดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระเจ้า เราต้องใช้ความเพียรพยายามบ้าง อันที่จริงแล้วเราต้องเพียรพยายามมากทีเดียว นี่ย้อนกลับมาสู่แง่คิด “การสลัด” และ “การสวมใส่” ซึ่งเรากล่าวถึงไว้ในบทความก่อนหน้านี้[10] ถ้าจะว่ากันไปแล้ว เราหมายพึ่งพระองค์อย่างสิ้นเชิง โดยผ่านพระวิญญาณ ด้วยการขอให้พระองค์เปลี่ยนเรา ขณะเดียวกันเราก็มีความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิงที่จะทำส่วนของเรา เพื่อช่วยให้เป็นไปได้ เราได้รับมอบหมายให้มุ่งมั่นที่จะทำตามความประสงค์ของพระเจ้าอย่างแข็งขัน ในด้านคุณธรรม โดยการอุทิศตนต่อพระเจ้า ทำทุกสิ่งเท่าที่ทำได้เพื่อพัฒนาอุปนิสัยของคริสเตียน และดำเนินชีวิตให้สอดคล้อง ตามคำสอนในพระคัมภีร์ ขณะเดียวกันก็หมายพึ่งให้พระองค์เปลี่ยนเรา ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ โดยผ่านพลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

เราผู้ไม่มีผ้าคลุมหน้า ต่างก็คำนึงถึงสง่าราศีของพระองค์ เรากำลังรับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเหมือนพระองค์ ด้วยสง่าราศีที่เพิ่มพูนขึ้นทุกที อันเป็นสง่าราศีที่มาจากพระองค์ ผู้เป็นพระวิญญาณ[11]

การเติบโตอย่างสมดุล

เมื่อเรามุ่งมั่นที่จะเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น เราต้องการให้ผลทั้งสิ้นของพระวิญญาณงอกงามในชีวิตเรา รวมถึงผลซึ่งไม่ได้รวมไว้ในกาลาเทีย 5:22-23 นี่รวมถึงคุณลักษณะอาทิเช่น ความเมตตากรุณา ความถ่อมตน ฯลฯ การเติบโตจนเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น ไม่ได้เกี่ยวกับบุคลิกหรือนิสัยใจคอ ทว่าเกี่ยวกับการแสวงหาที่จะเติบโต ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้า ในอุปนิสัยของคริสเตียนทุกด้าน เราต่างก็มีบุคลิกด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของคริสเตียน ไม่มากก็น้อย บางคนมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ อดทน ฯลฯ ทว่าแม้แต่ในด้านเหล่านี้ พระวิญญาณของพระเจ้าจะกระตุ้นเราให้ยืดขยายและเติบโต บ่อยครั้งจากการที่เราเผชิญหน้ากับความท้าทาย ซึ่งต้องอาศัยการย่างก้าวออกไปหรือทำอะไรเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีผลจากพระวิญญาณที่อาจขัดกับบุคลิกของเรา และจะต้องมุ่งเน้นมากขึ้นอีกหลายเท่า ถึงจะเติบโต

ยกตัวอย่างเช่น คนที่คิดบวกและร่าเริง อาจพบว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะร่าเริงและเมตตากรุณา แต่เขาอาจพบว่ายากที่จะควบคุมตนเอง หรือสัตย์ซื่อในความรับผิดชอบ หรือคนที่สงบ มีอารมณ์คงที่ ซึ่งตามปกติแล้วไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกมากนัก อาจพบว่าผลของความยินดีน่าท้าทาย ส่วนบางคนที่ตามปกติแล้วมีวินัยในตนเองมาก อาจขาดความอดทนกับคนที่ประสบกับความท้าทายในด้านนี้ และคงต้องการความช่วยเหลือจากพระวิญญาณ เพื่อจะได้มีความอดทนและอ่อนโยนกับผู้อื่น ส่วนคนที่เสียสละ อ่อนไหวต่อความต้องการของผู้อื่น และเต็มใจช่วยเสมอ อาจมีแนวโน้มที่จะวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นที่ทำน้อยกว่า เขาคงต้องมุ่งเน้นการเติบโตด้านความรักและความกรุณา

ไม่ว่าคุณสมบัติตามแบบอย่างของพระเจ้าข้อใด เป็นนิสัยใจคอของเรา เราทุกคนก็เผชิญหน้ากับความจำเป็นที่ต้องเติบโต ในการสะท้อนให้เห็นผลจากพระวิญญาณ เราแต่ละคนมีความท้าทายแตกต่างกันไป ที่จะแสดงออกถึงผลจากพระวิญญาณในชีวิตเรา เมื่อเราไม่แสดงออกถึงผลอย่างใดอย่างหนึ่งตามธรรมชาติ ก็ไม่พอหรอกที่จะกล่าวว่า “ฉันเป็นแบบนี้แหละ” หลักการที่ต้องเรียนรู้และนำมาปรับใช้คือ เราแต่ละคนมีความรับผิดชอบที่จะแสดงออกถึงลักษณะนิสัยตามแบบอย่างของพระเจ้าทุกอย่าง ในแง่ที่มีความสมดุล ลักษณะตามแบบอย่างของพระเจ้าบางส่วน งอกงามยากกว่าส่วนอื่นๆ นี่จะต้องอาศัยการอธิษฐานและความตั้งอกตั้งใจเป็นพิเศษ ทว่านี่คือส่วนหนึ่งในการฝึกเป็นเหมือนพระคริสต์ ระลึกไว้ว่าการเติบโตตามแบบอย่างของพระเจ้า ต้องอาศัยทั้ง “การสลัด” และ “การสวมใส่” เช่นเดียวกับนักกีฬาที่อยากประสบความสำเร็จ ต้องพยายามอย่างหนักเพื่อเสริมสร้างด้านที่อ่อนแอ ดังนั้นเราก็ต้องพยายามที่จะสะท้อนผลทั้งหมดจากพระวิญญาณ

การเจริญเติบโตก้าวหน้า

การเติบโตจนเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น โดยมีอุปนิสัยตามแบบอย่างพระเจ้า คือการพัฒนาความก้าวหน้า ไม่ว่าเราจะเติบโตสักแค่ไหน ก็มีโอกาสเจริญเติบโตต่อไปเสมอ เช่นเดียวกับนักกีฬาผู้ฝึกฝนเป็นประจำ เพื่อเดินหน้าต่อไป เราก็ต้องเติบโตต่อไปตามแบบอย่างของพระเจ้า ถ้าเราไม่คืบหน้า เราก็จะถอยหลัง ไม่ว่าเรารู้ตัวหรือไม่ สิ่งที่เราตัดสินใจทำเป็นประจำ และนิสัยที่เราเพาะขึ้นมา จะฝึกอุปนิสัยของเรา เมื่อกล่าวถึงผู้สอนเทียมเท็จ อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า

เขาช่ำชองในความโลภ[12]

นี่บอกเป็นนัยว่าเราฝึกตัวเองได้ ไม่ใช่เพียงการดำเนินตามแบบอย่างพระเจ้า ทว่าการดำเนินตามแบบอย่างที่ไร้พระเจ้าด้วย

เจอร์รี บริดเจส เอ่ยถึงประเด็นนี้ว่า

ความหมายของคำว่าช่ำชองที่เปโตรใช้ เตือนสติอย่างมาก เป็นไปได้ที่เราจะฝึกตัวเองให้ช่ำชองในทางที่ผิด! นั่นแหละคือสิ่งที่ผู้สอนเทียมเท็จเหล่านี้ได้ทำ เขาฝึกความโลภจนช่ำชอง เขาจึงเป็นคนขี้โลภ! ดังนั้น มีสำนึกในการที่เราเติบโตด้านอุปนิสัยทุกวัน คำถามก็คือ เราเติบโตไปในทางใด เราเติบโตตามแนวทางที่มีอุปนิสัยเยี่ยงพระเจ้า หรือไร้พระเจ้า เราเติบโตในความรักหรือความเห็นแก่ตัว ในความก้าวร้าวหรือความอดทน ในความโลภหรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ในความซื่อสัตย์หรือไร้สัตย์ ในความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ทุกวันเราฝึกตัวเองในทางใดทางหนึ่ง ด้วยความนึกคิด ถ้อยคำที่เรากล่าว กระทำ และพฤติกรรมของเรา[13]

การเติบโตด้านอุปนิสัยตามแบบอย่างของพระเจ้า ต้องเข้าใจความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างความประพฤติและอุปนิสัย เมื่อเราทำสิ่งใดซ้ำๆ (ไม่ว่าจะดีหรือเลว) โดยทำแล้วทำอีก ในที่สุดการกระทำนั้นจะกลายเป็นนิสัย จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนของเรา และเป็นส่วนหนึ่งในอุปนิสัยของเรา ขณะเดียวกันอุปนิสัยก็จะกำหนดการกระทำของเราด้วย เช่น ถ้าเรามีอุปนิสัยที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราก็มีแนวโน้มที่จะช่วยใครสักคนที่ขัดสน เพราะอุปนิสัยของเราดลใจให้เราทำสิ่งที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีนิสัยเห็นแก่ตัว ทว่าเราฝึกตัวเองให้เอาชนะความเห็นแก่ตัว เราก็จะหาทางช่วยเหลือผู้ที่ขัดสนเป็นประจำ ยิ่งเราทำเช่นนั้น ก็ยิ่งกลายเป็นนิสัยของเรามากขึ้น เราพัฒนาอุปนิสัยที่ไม่เห็นแก่ตัว เราทำเช่นไร เราก็จะเป็นเช่นนั้น และเราเป็นเช่นไร เราก็จะทำเช่นนั้น ความประพฤติหล่อเลี้ยงอุปนิสัยของเราเสมอ และอุปนิสัยก็หล่อเลี้ยงความประพฤติของเราเสมอด้วย จึงสำคัญมากที่เราจะฝึกทำตามแบบอย่างของพระเจ้าทุกวัน ทั้งในความประพฤติและอุปนิสัย

ความคาดหมายที่สมเหตุสมผล

การเติบโตจนเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและความตั้งใจแน่วแน่ รวมทั้งการดำเนินงานอันทรงพลังของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในใจเรา พระคัมภีร์กล่าวถึงคุณลักษณะตามแบบอย่างของพระเจ้าไว้มากมายโดยตลอด เราคงรู้สึกเหลือบ่ากว่าแรง และไม่เป็นจริง ในการที่จะพยายามทำทั้งหมดเลยทีเดียว การบ่มเพาะอุปนิสัยต้องอาศัยเวลา ทั้งใน“การสวมใส่” คุณลักษณะตามแบบอย่างพระเจ้า และ“การสลัด” คุณลักษณะที่ไร้พระเจ้าไปเสีย การที่จะเริ่มต้นจากจุดไหน เป็นเรื่องที่ต้องอธิษฐาน และแสวงหาพระองค์ให้แสดงต่อคุณ โดยพระคำของพระองค์ ผ่านพระวิญญาณ ว่าพระองค์จะชี้นำให้คุณใส่ใจด้านใดสักระยะหนึ่ง และเมื่อไรควรมุ่งเน้นคุณลักษณะที่แตกต่างไป ขอให้พระวิญญาณของพระเจ้านำทางคุณในเรื่องนี้

อย่าคาดหมายที่จะกลายเป็นคนแสนวิเศษชั่วข้ามคืน ต้องอาศัยเวลาเพื่อเปลี่ยนแปลงและเติบโต ขอให้มุ่งมั่นที่จะมีอุปนิสัยตามแบบอย่างของพระเจ้า และเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น แล้วร่วมงานกับพระวิญญาณ อธิษฐานขอแนวทาง และพละกำลัง เพื่อพยายามดำเนินตามแบบอย่างของพระเจ้า ในความเชื่อ การกระทำ ความประพฤติ และอุปนิสัย ขอให้ทำส่วนของคุณด้วยการชักใบเรือขึ้น สายลมของพระเจ้าจะได้พัดพาคุณไปในทิศทางการเติบโต จนเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น


[1] เจอร์รี บริดเจส The Practice of Godliness (การฝึกทำตามแบบอย่างพระเจ้า) (โคโลราโด สปริงส์: สำนักพิมพ์เนฟเพรส ค.ศ. 2010)

[2] ปฐมกาล 39:9

[3] บริดเจส The Practice of Godliness หน้า 60

[4] 1 โครินธ์ 10:31

[5] ยอห์น 15:4-5

[6] สดุดี 34:14

[7] 1 ทิโมธี 6:11

[8] 1 ทิโมธี 4:7

[9] ทิตัส 2:12

[10] คุณค้นหาบทความอื่นๆ ได้ในเรื่องชุด “เหมือนพระเยซูมากขึ้น” ซึ่งเอ่ยถึงหัวข้อดังกล่าว ตามลิงค์ต่อไปนี้

https://directors.tfionline.com/th/post/more-jesus-introduction-and-background-part-2_th/

https://directors.tfionline.com/th/post/more-jesus-part-3_th/

https://directors.tfionline.com/th/post/more-jesus-gods-likeness-part-2_th/

https://directors.tfionline.com/th/post/more-jesus-renewal-basics_th/

https://directors.tfionline.com/th/post/more-jesus-holiness-part-1_th/

https://directors.tfionline.com/th/post/more-jesus-holiness-part-3_th/

[11] 2 โครินธ์ 3:18

[12] 2 เปโตร 2:14

[13] บริดเจส The Practice of Godliness (การฝึกทำตามแบบอย่างพระเจ้า)  หน้า 70

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้