More Like Jesus: Gratitude (Part 2)

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

มกราคม 17, 2017

[เหมือนพระเยซูมากขึ้น: ความสำนึกในบุญคุณ (ตอนที่ 2)]

เราอ่านในพระคัมภีร์ใหม่ และในเรื่องชุดนี้โดยตลอด ว่าการเติบโตจนเป็นเหมือนพระคริสต์ต้องอาศัย “การสวมใส่” และ “การสลัด” ความสำนึกในบุญคุณคือองค์ประกอบสำคัญในการเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น ดังนั้นการเรียนรู้ว่าย่างก้าวใดบ้างที่จะช่วยให้เราพัฒนาความสำนึกในบุญคุณ รวมทั้งการกระทำใดบ้างที่จะหักล้างความไม่สำนึกในบุญคุณ ก็จะช่วยให้เรากางใบเรือ เพื่อพระวิญญาณของพระเจ้าจะได้พัดพาเราเคลื่อนหน้าไป จนใกล้เป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น บทความนี้และอีกสองบทความต่อจากนี้ จะเอ่ยถึงห้าแง่มุม เพื่อพัฒนาความสำนึกในบุญคุณ มีสองหัวข้อได้แก่ ความอิ่มเอิบใจและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งยู่ภายใต้ “การสวมใส่” ส่วนอีกสามหัวข้อได้แก่ ความโลภ ความอิจฉาริษยา และความละโมบ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นสิ่งที่เราต้อง “สลัด” ไปเสีย

แง่มุมหนึ่งของทรรศนะการสำนึกในบุญคุณคือความอิ่มเอิบใจ ความอิ่มเอิบใจคืออะไร ตามที่บ่งบอกไว้ในพระคัมภีร์ คือความพึงพอใจจากส่วนลึกในใจ ซึ่งช่วยให้เรามีสันติสุข ไม่ว่าสภาพการณ์ภายนอกจะเป็นเช่นไร เราเล็งเห็นภาพสะท้อนเช่นนี้ได้ ในสิ่งที่อัครสาวกเปาโลเขียนไว้เกี่ยวกับประสบการณ์ของท่าน

ข้าพเจ้าเรียนรู้ที่จะพอใจในสิ่งที่ตนมี ไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไร ข้าพเจ้ารู้ว่ายามขาดแคลนเป็นอย่างไร และรู้ว่ายามมีเหลือเฟือเป็นอย่างไรเช่นกัน ข้าพเจ้ารู้จักเคล็ดลับที่จะพอใจกับสิ่งที่ตนมี ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะอิ่มหนำหรือหิวโหย มั่งมีหรือขัดสน ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งได้ โดยพระองค์ผู้มอบพละกำลังแก่ข้าพเจ้า[1]

ท่านเปาโลบ่งบอกไว้ ไม่ว่าท่านจะพบตนเองในสถานการณ์เช่นไร ในใจท่านมีสันติสุขกับการที่พระเจ้าจัดหาปัจจัยทางวัตถุให้แก่ท่าน

คำภาษากรีกที่ใช้บ่งบอกความอิ่มเอิบใจ และคำที่มีรากศัพท์เหมือนกัน อยู่ในข้อพระคัมภีร์ อาทิเช่น

ถ้าเรามีอาหารและเสื้อผ้า ให้เราพอใจกับสิ่งเหล่านั้น[2]

จงรักษาชีวิตท่านให้เป็นอิสระจากการรักเงินทอง จงพอใจในสิ่งที่ตนมี เพราะพระเจ้ากล่าวไว้ว่า “เราจะไม่มีวันทอดทิ้งหรือจากท่านไป”[3]

นอกจากนี้ คำเดียวกันในภาษากรีกแปลไว้ว่าความพอเพียง

พระเจ้าสามารถมอบพระคุณล้นเหลือให้แก่ท่าน เพื่อท่านจะได้มีทุกสิ่งที่จำเป็น ทุกเวลา และท่านจะมีล้นเหลือ ในการดีทุกอย่าง[4]

พระองค์บอกข้าพเจ้าว่า “พระคุณของเราเพียงพอสำหรับเจ้า เพื่อว่าพลังอำนาจของเราจะได้ส่งผลเต็มที่ในความอ่อนแอ”[5]

เมื่อเราอิ่มเอิบใจ เราก็พึงพอใจและสำนึกในบุญคุณ ต่อสิ่งที่พระเจ้ามอบให้เรา ไม่ว่าสภาพการณ์ของเราจะเป็นเช่นไร

ผู้ประพันธ์คนหนึ่งอธิบายความอิ่มเอิบใจไว้ดังนี้

บุคคลผู้อิ่มเอิบใจรู้สึกพอเพียงในการที่พระเจ้าจัดหาปัจจัยให้เขา และรู้สึกพอเพียงในพระคุณจากพระเจ้าสำหรับสภาพการณ์ของเขา เขาเชื่อว่าพระเจ้าจะตอบสนองความจำเป็นทางวัตถุให้เขาอย่างครบถ้วน และพระองค์จะบันดาลให้ทุกสภาพการณ์ลงเอยเพื่อผลดีแก่เขา นี่เองท่านเปาโลจึงกล่าวได้ว่า “การใฝ่ใจในพระเจ้า กอปรกับความอิ่มเอิบใจ คือผลประโยชน์ใหญ่หลวง” คนที่ใฝ่ใจในพระเจ้าจะพบสิ่งที่คนโลภหรือคนอิจฉาผู้ไม่อิ่มใจ เฝ้าแสวงหา ทว่าไม่มีวันค้นพบ นั่นคือเขาพบความพึงพอใจและการพักผ่อนในดวงวิญญาณของเขา[6]

เมื่อเราอิ่มเอิบใจ เราพึงพอใจกับปัจจัยในการดำรงชีวิต ในการดูแลและการจัดหาที่พระเจ้ามอบให้เราขณะนั้น นี่ไม่ได้บ่งชี้ถึงการก้มหน้ารับสถานการณ์ของเราอย่างนิ่งเฉย นี่ไม่ปิดกั้นเราจากการไล่ล่าเป้าหมาย หรือเลิกปรารถนาที่จะปรับปรุงแก้ไข นี่ไม่ใช่ความเฉื่อยชาหรือความพอใจในตัวเอง โดยไม่ปรารถนาที่จะทำความคืบหน้า นี่ไม่ใช่การเชื่อในโชคชะตาเช่นกัน ไม่ใช่การยอมรับสิ่งต่างๆ ยังไงก็ยังงั้น และไม่ยอมปรับปรุงแก้ไข ทว่านี่เป็นความอุ่นใจเชิงบวกที่ว่าพระเจ้าได้จัดหาปัจจัยให้อย่างพอเพียง และจะทำเช่นนั้นต่อไป ความอิ่มเอิบใจพื้นฐานอยู่ที่ความไว้วางใจและศรัทธาในพระเจ้า โดยรู้ว่าพระองค์ดูแลเรา เนื่องจากพระองค์ทำเช่นนั้น เราก็มีสันติสุขกับสิ่งที่พระองค์จัดหาให้สำหรับช่วงชีวิตในปัจจุบัน เช่นเดียวกับท่านเปาโล ผู้เรียนรู้ที่จะอิ่มใจในสถานการณ์ของท่าน ไม่ว่าจะมีมากหรือมีน้อย เราพบสันติสุขและความอิ่มเอิบใจเช่นเดียวกันได้ด้วย

ขอให้สังเกตว่าท่านเปาโลกล่าวว่าได้เรียนรู้ที่จะอิ่มใจ ท่านประสบความยากลำบากมากมายในชีวิต รวมถึงเรืออับปาง ถูกจำคุก ถูกโบยตี และโดนปาด้วยก้อนหิน ท่านเรียนรู้ที่จะพัฒนาแหล่งปัจจัยภายในตนเอง โดยมีใจขอบคุณพระเจ้าสำหรับพระคุณ การดูแลเอาใจใส่ และการจัดหา ไม่ว่าท่านจะมีสภาพเช่นไร เช่นเดียวกัน ไม่ว่าสถานการณ์ของเราจะเป็นเช่นไร ด้วยพระคุณของพระองค์ เราก็สำนึกในบุญคุณที่พระเจ้าจัดหาปัจจัยให้ ความอิ่มเอิบใจของเราไม่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพการณ์หรือสิ่งต่างๆ ความยินดีของเรามาจากสิ่งที่อยู่หนือความยากไร้หรือความเจริญรุ่งเรือง ทว่ามาจากศรัทธาในพระเจ้าเป็นหลัก รวมถึงการไว้วางใจในความรักและการดูแลของพระองค์

เราพบว่าความไม่อิ่มใจตั้งแต่ตอนเริ่มแรกของมนุษยชาติ ในหนังสือปฐมกาล พระเจ้ามอบทุกสิ่งที่อาดัมและอีฟจำเป็นต้องมี โดยให้เขาอยู่ในสวน ซึ่งพระเจ้าบันดาลให้ต้นไม้ทุกชนิดงอกงาม ทั้งที่งดงามน่าดูและที่เหมาะเป็นอาหาร[7]พระองค์บอกเขาว่าทานผลจากต้นไม้ได้ทุกต้น ยกเว้นต้นเดียว เขามีปัจจัยครบถ้วน ทว่าถูกหลอกล่อให้รู้สึกไม่อิ่มใจ เมื่อเจ้างูหยิบยกขึ้นมาว่าเขาทานผลจากต้นไม้ต้นเดียวนั้นไม่ได้ เขาถูกล่อใจให้สงสัยในคุณความดีของพระเจ้า นั่นเป็นสาเหตุของความไม่อิ่มเอิบใจ

ผู้มีความเชื่อที่ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมผู้บริโภคทุกวันนี้ เผชิญหน้ากับความท้าทายที่จะรู้สึกอิ่มเอิบใจ เป็นการง่ายที่จะรับทรรศนะวัตถุนิยม ว่ายิ่งมีสิ่งของมากขึ้น ใหญ่ขึ้น และดีขึ้น เราจะมีความสุข โฆษณาประดังเข้ามาแบบไม่ขาดสาย สื่อความว่าการซื้อผลิตภัณฑ์อย่างนั้นอย่างนี้จะช่วยเติมเต็ม ด้วยข้อสรุปที่แอบแฝงมาว่า ถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านั้น เราจะไม่มีความสุข และไม่รู้สึกว่าเติมเต็ม ถ้าเราหลงเชื่อข่าวสารดังกล่าว เราจะไม่พึงพอใจกับสิ่งที่มีอยู่ เราจะต้องการมากขึ้นหรือดีขึ้น เราพัฒนาทัศนคติที่ว่าสิ่งที่พระเจ้าอวยพรเราให้นั้นไม่เพียงพอ เรากลายเป็นคนไม่อิ่มใจ แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะความรู้สึกว่าเรามีวัตถุสิ่งของไม่มากพอ ซึ่งทำให้เราไม่อิ่มใจ แต่เราอาจพบตัวเองนึกคิดว่าถ้าเราแค่ได้ทำงานนั้น หรือเงินเดือนขึ้น หรือได้ปริญญาใบนั้น หรือมีแฟน ได้สามีหรือภรรยา เราก็จะมีความสุข

บางครั้งสาเหตุของความไม่อิ่มใจอาจสืบเนื่องมาจากฐานะทางสังคมหรือการงาน เช่น เราอาจไม่มีความสุขที่เราต้องทำงานและรับคำสั่งจากคนอื่น โดยที่เราไม่ใช่ผู้ควบคุมดูแล และคนอื่นก้าวหน้าเร็วกว่าเรา เมื่อเราไม่อิ่มใจ เรามีแนวโน้มที่จะดูว่ามีอะไรบ้างรออยู่ข้างหน้า ดูความสำเร็จข้างหน้า เป้าหมายข้างหน้า เพื่อจะได้รู้สึกเติมเต็ม แต่ระหว่างนั้นเราละสายตาไปจากการอวยพรในสถานการณ์ปัจจุบัน

เมื่อเราอิ่มใจกับการอวยพรที่พระเจ้านำมาสู่ชีวิตเรา และรู้สึกขอบคุณสำหรับสิ่งที่พระองค์จัดหาให้ เราก็เป็นอิสระจากการรักเงินทอง การจดจ่อกับความมั่งคั่งที่ทบทวี ความกระหายไม่สิ้นสุดที่จะสะสมทรัพย์สินมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าความอิ่มใจไม่ได้หมายถึงการที่คุณจะไม่มีวันซื้ออะไรใหม่ๆ หรือไม่มีวันเจริญก้าวหน้าด้านการเงิน เพราะสิ่งต่างๆ สึกหรอ ครอบครัวเติบโต และความจำเป็นก็เช่นกัน สิ่งที่เคยเพียงพอ บางครั้งก็ไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับสภาพการณ์ปัจจุบัน และจำเป็นต้องปรับปรุง ในสถานการณ์เช่นนั้น การปรับปรุงจะช่วยตอบสนองความจำเป็นที่สมเหตุสมผล ถ้าพระเจ้าเปิดลู่ทางให้คุณทำการปรับปรุง นั่นก็เป็นพรจากพระเจ้า

ในอีกแง่หนึ่ง บางครั้งสภาพการณ์เปลี่ยนไปในทางที่อาจถือว่าตกต่ำลง ก็ยากที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ เมื่อรายได้ลดลง และเราไม่สามารถดำรงชีวิตแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เมื่อมีรายได้และรายจ่ายระดับหนึ่ง คนจำนวนมากเป็นหนี้สิน โดยขอยืมเงิน เพื่อรักษาการดำรงชีวิตแบบเดิมที่เขาไม่มีเงินพอจะใช้สอยอีกต่อไป แทนที่จะปรับการดำรงชีวิตให้เหมาะสมกับรายได้ การเรียนรู้ที่จะอิ่มใจท้าทายให้เราเลิกกลัดกลุ้ม และไม่กลัวการสูญเสียทรัพย์สิ่งของ ทว่าปรับตัวเชิงบวกต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยไว้วางใจและขอบคุณพระเจ้า อัครสาวกเปาโลผู้ประสบการเปลี่ยนแปลงมากมายในสภาพการณ์ต่างๆ รวมทั้งความยากลำบากสารพัดอย่าง ท่านเขียนไว้ว่า

ข้าพเจ้าเรียนรู้ที่จะพอใจในสิ่งที่ตนมี ไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไร[8] ... แม้จะยากจน แต่ก็ทำให้หลายคนมั่งคั่ง แม้จะไม่มีอะไร แต่ก็ครอบครองทุกสิ่ง[9]

ความอิ่มเอิบใจคืออิสรภาพจากการรู้สึกว่าเราขาดแคลน เราควรจะมีมากขึ้น หรือควรจะอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่า เมื่อความขาดแคลนเรากลายเป็นจุดสนใจ เราตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเกิดความไม่พอใจ โดยคำนึงถึงสิ่งที่ดีในชีวิตเราได้น้อยลง เพราะรู้สึกตลอดเวลาว่าสิ่งต่างๆ ควรจะดีกว่านี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามุ่งเน้นความดีงามที่เราประสบอยู่ขณะนี้ และการอวยพรที่พระองค์มอบให้ เราจะมีความขอบคุณ พอใจ และอิ่มใจมากขึ้น การรู้สึกกลัดกลุ้มและไม่มีความสุข เปลี่ยนเป็นสันติสุขในใจ และความรู้สึกขอบคุณในใจ เราจะกลายเป็นคนที่อิ่มใจ ไม่เพียงเพราะสิ่งที่เรามี ทว่าสิ่งที่เราไม่มีด้วย

ดังนั้น เราจะปลูกฝังความอิ่มเอิบใจได้อย่างไร วิธีหนึ่งก็คือเตือนใจตัวเองถึงสิ่งที่เรามี เราไม่ใช่เจ้าของ ทุกสิ่งที่เรามีมอบไว้ให้เราดูแล เรารับผิดชอบที่จะนำมาใช้ด้วยสติปัญญา ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ล้วนเป็นของพระเจ้า[10] ในฐานะผู้ดูแลทรัพย์สินของพระเจ้า เราควรจะขอบคุณสำหรับสิ่งที่พระองค์จัดหาให้ และหมายพึ่งให้พระองค์มอบแนวทาง ในการนำสิ่งที่พระองค์ไว้วางใจให้เราดูแล มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ก็มีส่วนช่วยที่จะระลึกไว้ว่า ทุกสิ่งที่เรามี เป็นผลลัพธ์จากความรักและพระคุณของพระองค์

ความมั่งคั่งและเกียรติมาจากพระองค์ ... พลังอำนาจอยู่ในหัตถ์ของพระองค์ที่จะเชิดชู และมอบพละกำลังแก่ทุกคน[11]

เมื่อเราตระหนักว่าสิ่งใดก็ตามที่เรามี คือของขวัญและพรจากพระองค์ เราก็มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะขอบคุณพระองค์ และสำนึกในบุญคุณต่อสิ่งที่พระองค์มอบให้เรา

พระคัมภีร์เน้นย้ำไว้พอสมควรถึงการมีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับวัตถุสิ่งของ อุปมาอุปไมยเกือบครึ่งหนึ่งของพระเยซูเกี่ยวกับการควบคุมดูแลทรัพย์สิ่งของ มีข้อพระคำมากกว่าสองร้อยข้อในพระกิตติคุณอ้างอิงถึงเงิน[12]  ... มีส่วนช่วยได้ที่จะรอบรู้ข้อพระคำซึ่งช่วยเราให้นึกคิดตามคำสอนในพระคัมภีร์ หรือแม้แต่ท่องจำบางข้อ เช่น

ระวังให้ดี ระวังตนจากความโลภทุกชนิด ชีวิตคนเราไม่ได้อยู่ที่การมีทรัพย์สิ่งของเหลือเฟือ[13]...

วิถีทางของพระเจ้า พร้อมกับความพอใจในสิ่งที่ตนมี ย่อมเป็นผลดีงาม เพราะเราเข้ามาในโลกตัวเปล่า เมื่อออกจากโลกก็เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ แต่ถ้าเรามีอาหารและเสื้อผ้า ก็ให้เราพอใจกับสิ่งเหล่านั้น[14]...

จงรักษาชีวิตของท่านให้เป็นอิสระจากการรักเงินทอง จงพอใจในสิ่งที่ตนมี เพราะพระองค์กล่าวว่า “เราจะไม่มีวันทอดทิ้งหรือจากท่านไป”[15]...

เมื่อทำสมาธิกับข้อพระคำเหล่านี้ เราคงต้องการขอพระองค์ชี้ให้เห็นว่ามีด้านใดบ้างที่เราไม่อิ่มใจ พยายามเปลี่ยนทัศนคติ และช่วยเราให้อิ่มใจ โดยผ่านการดำเนินงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในใจเรา

อีกวิธีหนึ่งที่จะพัฒนาความอิ่มเอิบใจ คือมุ่งเน้นกับสิ่งที่พระคำของพระเจ้าบอกว่าเป็นค่านิยมแท้จริง

จะมีประโยชน์อะไรที่คนใดได้โลกนี้ทั้งโลก แต่ต้องสูญเสียจิตวิญญาณของตน[16]...

ความสุขมีแก่ผู้ที่พบปัญญา ผู้ที่เกิดความเข้าใจ  เพราะปัญญาให้ประโยชน์ยิ่งกว่าเงิน  และส่งผลตอบแทนยิ่งกว่าทองคำ ปัญญาล้ำค่ายิ่งกว่าอัญมณี สิ่งใดที่เจ้าปรารถนาก็เทียบไม่ได้[17]...

ข้าปีติยินดีในสักขีพยานของพระองค์ เหมือนผู้ที่ชื่นชมทรัพย์สมบัติมหาศาล โปรดหันเหสายตาของข้าจากสิ่งที่ไร้ค่า มอบชีวิตให้ข้าตามวิถีทางของพระองค์ บทบัญญัติจากปากพระองค์ล้ำค่ายิ่งกว่าเงินทองนับพันนับหมื่น[18]...

ข้อพระคำเช่นนี้บอกเราว่าสิ่งใดที่พระเจ้าถือว่าสำคัญ และสิ่งใดที่พระองค์ต้องการให้เราเห็นคุณค่ายิ่งกว่าวัตถุสิ่งของ

พระเจ้ามอบการอวยพรให้ในลักษณะที่เหนือล้ำความเข้าใจของเรา พระองค์เป็นเจ้าของทุกสิ่ง พระองค์เลือกที่จะมอบพรให้เช่นไร เป็นสิทธิของพระองค์ เรามีความรับผิดชอบที่จะไว้วางใจว่าพระองค์รู้ดีที่สุด โดยไม่ข้องใจการตัดสินของพระองค์ หรืออิจฉาสิ่งที่พระองค์มอบให้ผู้อื่น

อีกวิธีหนึ่งที่จะพัฒนาความอิ่มเอิบใจ คือสำนึกว่าถ้าพระองค์อวยพรเราด้วยวัตถุสิ่งของ เรามีความรับผิดชอบต่อการที่เราใช้สิ่งที่พระองค์มอบให้อย่างไร และพระองค์คาดหมายให้เราเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (มีรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในบทความต่อไป)

จงกำชับผู้คนร่ำรวยในปัจจุบันนี้ ไม่ให้หยิ่งทะนง หรือฝากความหวังไว้กับทรัพย์สมบัติที่ไม่จีรังยั่งยืน แต่หวังใจในพระเจ้าผู้จัดเตรียมทุกสิ่งให้เราอย่างบริบูรณ์ เพื่อความเบิกบานใจของเรา กำชับพวกเขาให้ทำดี ร่ำรวยในการทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เต็มใจแบ่งปัน [19]...

ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะให้ความพอใจแก่เราอย่างยั่งยืน เพราะเราถูกสร้างขึ้นมาเพื่อพระเจ้า ความพึงพอใจ ความยินดี และการเติมเต็มสูงสุดของเรา อยู่ในพระองค์ ผู้รักเรา ผู้สร้างสรรรค์เรา และคอยค้ำจุนเรา ขณะที่เราชื่นชมพรทางวัตถุที่พระเจ้ามอบให้ ทว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่ระบุตัวตนของเรา เติมเต็มเรา หรือนำความยินดีที่ยั่งยืนมาสู่เรา ถ้าเป้าหมายโดยรวมของเราคือการเป็นเหมือนพระคริสต์ เมื่อนั้นเราควรแสดงความสำนึกในบุญคุณต่อการอวยพรจากพระเจ้าในชีวิตเรา โดยเรียนรู้ที่จะอิ่มใจกับพรที่พระเจ้ามอบให้เรา ไม่ว่าจะมากหรือน้อย

(มีรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องความสำนึกในบุญคุณ ในตอนที่สามและสี่)


[1] ฟิลิปปี 4:11-13

[2] 1 ทิโมธี 6:8

[3] ฮีบรู 13:5

[4] 2 โครินธ์ 9:8

[5] 2 โครินธ์ 12:9

[6] เจอร์รี บริดเจส หนังสือ The Practice of Godliness (การฝึกใฝ่ใจในพระเจ้า) (โคโลราโดสปริงส์: สำนักพิมพ์แนฟเพรส ค.ศ. 2010) หน้า 95

[7] ปฐมกาล 2:8-9

[8] ฟิลิปปี 4:11

[9] 2 โครินธ์ 6:10

[10] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องหลักการเป็นผู้ดูแล คลิกที่นี่

[11] 1 พงศาวดาร 29:12

[12] แรนดี ฟราซี หนังสือ  Think, Act, Be Like Jesus (นึกคิด ปฏิบัติ เป็นเหมือนพระเยซู) (แกรนด์ราปิดส์:  สำนักพิมพ์ซอนโดแวน ค.ศ. 2014) หน้า 146

[13] ลูกา 12:15

[14] 1 ทิโมธี 6:6-8

[15] ฮีบรู 13:5

[16] มาระโก 8:36

[17] สุภาษิต 3:13-15

[18] สดุดี 119:14, 37, 72

[19] 1 ทิโมธี 6:17-18

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้