More Like Jesus: Gratitude (Part 4)

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

มกราคม 31, 2017

[เหมือนพระเยซูมากขึ้น: ความสำนึกในบุญคุณ (ตอนที่ 4)]

ความสำนึกในบุญคุณคือกรอบความคิดที่ช่วยให้เราเล็งเห็นสภาพการณ์ของเรา  โดยมองผ่านความขอบคุณที่เรามีต่อพระเจ้า และปฏิบัติตนในแง่ที่สะท้อนถึงความสำนึกในบุญคุณ การกระทำบางส่วนที่เอ่ยถึงไว้ในโพสต์ก่อนๆ ได้แก่ การเพิ่มพูนความอิ่มเอิบใจ สำนึกในบุญคุณต่อทุกสิ่งที่พระเจ้ามอบให้ และพยายามฟันฝ่าสิ่งที่บั่นทอนความสำนึกในบุญคุณ ได้แก่ ความอิจฉาริษยา และความละโมบโลภมาก การกระทำอีกอย่างหนึ่งที่มีพื้นฐานจากทัศนคติที่สำนึกในบุญคุณ ซึ่งช่วยให้เราเติบโต จนเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น คือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

เนื่องจากเรามีเป้าหมายที่จะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น หนึ่งในคุณลักษณะของพระเจ้าที่เป็นแบบอย่างคือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมื่อเรานึกถึงพระเจ้าในแง่ของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราตระหนักว่าพระองค์มอบให้เราอย่างล้นเหลือ เราเล็งเห็นความเอื้อเฟื้อของพระองค์ จากการมอบพระบุตรให้สละชีพเพื่อเรา เราจะได้สัมผัสการให้อภัยและชีวิตนิรันดร์ พระองค์มอบความรอดให้เราเป็นของขวัญ

เพราะท่านได้รับความรอด โดยพระคุณผ่านความศรัทธา ความรอดนี้ไม่ได้มาจากตัวท่านเอง แต่เป็นของขวัญจากพระเจ้า[1]

พระองค์มอบพระคุณให้ไม่อั้น

ในพระเยซู เราได้รับการไถ่บาป โดยโลหิตของพระองค์ คือได้รับการอภัยโทษจากบาป ในพระคุณอันอุดมของพระเจ้า ซึ่งพระองค์มอบแก่เราอย่างเหลือล้น…[2]

พระคุณของพระองค์หลั่งลงมาสู่ข้าอย่างล้นพ้น พร้อมด้วยความศรัทธาและความรักในพระเยซูคริสต์[3]

นอกจากนี้ เราเห็นความเอื้อเฟื้อของพระเจ้าทุกวันจากโลกรอบข้าง จากสิ่งสร้างสรรค์ที่มีความงามตามธรรมชาติ สีสันตระการตา พระอาทิตย์ตกดินที่งดงาม เสียงนกร้องขับขาน และอะไรอีกมากมาย โดยที่ไม่ต้องเอ่ยถึงการดำเนินงานของสิ่งสร้างสรรค์

พระองค์ดูแลผืนดิน รดน้ำให้ความชุ่มชื่น ทะนุบำรุงผืนดินให้อุดมสมบูรณ์ สายธารของพระเจ้าเต็มเปี่ยม เพื่อให้พืชพันธุ์ธัญญาหารแก่ผู้คน เพราะพระองค์บัญชาไว้เช่นนั้น พระองค์ส่งสายฝนลงมาพร่างพรมรอยไถ ไร่นามีน้ำเต็มปริ่ม ผิวดินอ่อนนุ่ม และอวยพรให้เกิดดอกออกผล พระองค์มอบบำเหน็จรางวัลมากมาย ยุ้งฉางมีธัญญาหารเหลือล้น ทะเลทรายกลับกลายเป็นทุ่งหญ้าเขียวขจี เนินเขาปกคลุมด้วยดอกไม้เบ่งบาน ท้องทุ่งเต็มไปด้วยฝูงแกะ ส่วนหุบเขาก็ดาษดื่นด้วยไร่นา ผู้คนโห่ร้องยินดีและร้องเพลง[4]

นอกจากนี้ยังมีสวรรค์

ไม่เคยมีใครได้เห็น ไม่เคยมีใครได้ยิน ไม่เคยมีจิตใจผู้ใดหยั่งรู้ สิ่งที่พระเจ้าเตรียมไว้ให้ผู้ที่รักพระองค์[5]

เมื่อเราเข้าใจว่าปกติแล้วพระเจ้าเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทุกสิ่งที่พระองค์มอบให้เราล้วนแต่มีค่า โดยที่เราไม่สมควรได้รับ เมื่อเราปรารถนาที่จะเป็นเหมือนพระองค์ เราก็ควรจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับผู้อื่นเช่นกัน

ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คือส่วนหนึ่งของความอิ่มเอิบใจ เป็นการง่ายกว่าที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถ้าเรามีทัศนคติว่าพระเจ้าดูแลเราอย่างเต็มที่ และตอบสนองความต้องการของเรา เมื่อเรามีสันติสุข ซึ่งมาจากความอิ่มเอิบใจ ความรู้สึกที่เปี่ยมศรัทธาและไว้วางใจ ว่าพระเจ้าจัดหาปัจจัยให้แล้ว และจะจัดหาสิ่งที่จำเป็นให้เราต่อไป เมื่อนั้นก็ง่ายขึ้นที่จะหยิบยื่นให้แก่ผู้อื่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นการแสดงออก ซึ่งสะท้อนถึงความอิ่มเอิบในใจ เมื่อผู้ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เล็งเห็นความจำเป็น เขาจะกล่าวว่า “ฉันมีพอแล้ว แต่คุณไม่มี ฉันจึงอยากแบ่งปันสิ่งที่มีกับคุณ”

กุญแจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คือ มีความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการเป็นเจ้าของ โดยตระหนักว่าในฐานะผู้สร้างสรรค์ สุดท้ายแล้วพระเจ้าก็เป็นเจ้าของทุกสิ่ง และพระองค์ไว้วางใจให้เราดูแล[6]

ทุกสิ่งภายใต้ฟ้าสวรรค์เป็นของเรา[7]

ถึงแม้ว่าเราอาจหาเงินมาซื้อสิ่งของได้ แต่ท้ายที่สุดพระองค์คือผู้มอบชีวิต ความสามารถ และทุกสิ่งที่เรามี ซึ่งช่วยให้เราทำสิ่งต่างๆ เราจะเห็นแง่คิดเช่นนี้ในเฉลยธรรมบัญญัติ 8:10 เมื่อชาวอิสราเอลได้รับคำแนะนำให้ขอบคุณพระเจ้าสำหรับพืชพันธุ์ธัญญาหาร เพราะพระเจ้ามอบผืนดินให้เขาเพาะปลูก ถึงแม้ว่าเขาทำงานเพื่อผลผลิต แต่พระเจ้ามอบลู่ทางให้

เมื่อท่านได้ทานจนอิ่มหนำ สรรเสริญพระองค์ผู้เป็นพระเจ้า สำหรับดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งพระองค์ได้มอบแก่ท่าน

ในหนังสือ Character Makeover (เป็นคนใหม่) ผู้ประพันธ์สอดแทรกประเด็นที่ดีไว้ว่า

ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีพื้นฐานบนความถ่อมตน เป็นเรื่องน่าถ่อมตนที่จะให้ความดีความชอบต่อพระเจ้า สำหรับทุกสิ่งที่เราได้มา แต่เมื่อเราทำเช่นนั้น ก็จะช่วยเราให้ปล่อยวางสิ่งของที่เราครอบครอง และมอบให้พระองค์เป็นผู้ควบคุม[8]

เมื่อเรายอมรับว่าเราเป็นผู้ดูแลสิ่งที่พระเจ้าอวยพรให้แก่เรา และพระองค์คือแบบอย่างสูงสุดของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราก็จะต้องการปรับทัศนคติให้สอดคล้องกับพระองค์ ในเรื่องการมอบให้ ลองดูข้อพระคัมภีร์บางส่วนที่บอกเราเกี่ยวกับมุมมองของพระเจ้าเรื่องการมอบให้

ผู้ที่เมตตาคนยากจน ก็เท่ากับให้พระองค์หยิบยืม พระองค์จะมอบรางวัลตอบแทนสิ่งที่เขาทำ[9]

จงให้ แล้วท่านจะได้รับ ทะนานที่ตวงเต็มจนพูนล้น จะถูกเทลงบนตักของท่าน เพราะท่านใช้ทะนานอันใด ก็จะใช้ทะนานอันเดียวกันนั้นตวงให้แก่ท่าน[10]

ระลึกไว้ว่าผู้ที่หว่านอย่างตระหนี่ จะเก็บเกี่ยวผลน้อย ผู้ที่หว่านด้วยใจกว้างขวาง จะเก็บเกี่ยวผลมาก[11]

แต่ละคนควรให้ตามที่คิดหมายไว้ในใจ ไม่ใช่ลังเล หรือถูกผลักดัน เพราะพระเจ้ารักผู้ที่ให้ด้วยใจยินดี[12]

เราต้องช่วยคนอ่อนแอ ระลึกถึงพระคำที่พระเยซูกล่าวไว้ว่า ‘ผู้ให้จะได้รับพรยิ่งกว่าผู้รับ’[13]

พวกเราส่วนมากมีเงินไม่ค่อยมาก ทว่าการให้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เงินเท่านั้น ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายให้ทำตามแบบอย่างพระบิดาผู้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราก็เอื้อเฟื้อได้ด้วยการใช้เวลา ความสามารถพิเศษ และพรสวรรค์ที่พระเจ้ามอบให้ รวมทั้งการเงิน ในยามที่เรามี เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ถึงแม้ว่าเราทุกคนมีเงินหรือวัตถุสิ่งของไม่เท่ากัน หรือแม้แต่มีเวลาที่ปลีกให้ได้ไม่เท่ากัน เราทุกคนก็หาทางปลีกเวลาด้วยความเสียสละเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

การอาสาดูแลเด็กให้คนอื่นสองสามชั่วโมง ช่วยขับรถพาคนที่ขับรถไม่ได้ไปซื้อของ ช่วยแจกอาหารในชุมชน เป็นที่ปรึกษาใครสักคน ไปเยี่ยมเยียนผู้ที่โดดเดี่ยว นี่คือตัวอย่างความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งบางครั้งมอบให้ยากกว่าเงินเสียอีก

บางทีคุณมีพรสวรรค์พิเศษที่ใช้เพื่อเป็นพรแก่คนอื่นได้ เช่น บางทีคุณทำอาหารเก่ง และอาจใช้พรสวรรค์เพื่อช่วยทำอาหารเดือนละครั้งสองครั้งที่โรงทานในชุมชน ถ้าคุณมีทักษะด้านใด คุณคงหาทางใช้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้ เราแต่ละคนมีพรสวรรค์ที่พระเจ้ามอบให้ มีความสามารถพิเศษ และสมรรถนะ เราคงอยากพิจารณาที่จะมอบบางส่วนคืนให้พระองค์ ผ่านการใช้ช่วยเหลือผู้อื่นในบางแง่ ไม่ว่าเราจะมอบเงิน หรือเวลา และความสามารถพิเศษ ไม่ว่าเราให้ได้มากหรือน้อย การมอบให้ก็เป็นความเอื้อเฟื้อ เมื่อเรามอบเท่าที่ให้ได้

การเป็นเหมือนพระเยซู คือการให้เกียรติพระเจ้า โดยทำตามแบบอย่างพระองค์ด้านความเอื้อเฟื้อ ในทางใดที่เราทำได้ การที่เราเป็นผู้ดูแลทุกสิ่งที่พระองค์มอบให้ เมื่อเราใช้พรสวรรค์ ความสามารถพิเศษ ทักษะ และการเงิน ในแง่ที่สอดคล้องกับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของพระองค์ เราก็ให้เกียรติพระองค์

จงถวายเกียรติพระองค์ด้วยทรัพย์สมบัติ ด้วยผลผลิตรุ่นแรกทั้งหมดของเจ้า[14]

ผู้คนพากันชื่นชมยินดีที่เขาเต็มใจมอบถวายแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างสุดหัวใจ[15]

ถึงแม้ว่าการมอบเงินหรือความสามารถพิเศษที่พระเจ้าให้ คือการเสียสละ พระคัมภีร์สอนว่าผู้ที่เสียสละเช่นนี้ จะได้รับบำเหน็จรางวัลในชีวิตนี้ และในภายภาคหน้า

ผู้ใดนำมาซึ่งการอวยพร จะอุดมสมบูรณ์ และผู้ที่หยิบยื่นความชุ่มชื่นให้แก่คนอื่น จะได้รับความชุ่มชื่น[16]

ผู้ใดให้น้ำเย็นสักถ้วยแก่ผู้น้อยคนหนึ่ง เพราะเขาเป็นสาวกของเรา เราขอบอกท่านว่าผู้นั้นจะไม่ขาดบำเหน็จรางวัล[17]

กำชับเขาเหล่านั้นให้ทำดี มั่งคั่งในการทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เต็มใจแบ่งปัน การทำเช่นนี้จะสะสมทรัพย์สมบัติไว้ให้ตนเอง เป็นรากฐานมั่นคงสำหรับภายหน้า เพื่อเขาจะได้รับชีวิตแท้จริง[18]

อัครสาวกเปาโลเขียนไว้เรื่องการมอบให้แก่ผู้ที่ขัดสน

ระลึกไว้ว่าผู้ที่หว่านอย่างตระหนี่ จะเก็บเกี่ยวผลน้อย ผู้ที่หว่านด้วยใจกว้างขวาง จะเก็บเกี่ยวผลมาก แต่ละคนควรให้ตามที่คิดหมายไว้ในใจ ไม่ใช่ลังเลหรือถูกผลักดัน เพราะพระเจ้ารักผู้ที่ให้ด้วยใจยินดี พระเจ้าสามารถมอบพระคุณอย่างล้นเหลือแก่ท่าน เพื่อท่านจะได้มีทุกอย่างพอเพียง ทุกเวลา และท่านจะมีล้นเหลือ ในการดีทุกอย่าง เหมือนที่เขียนไว้ว่า “เขาแจกจ่ายให้คนยากจน ความชอบธรรมของเขาคงอยู่เป็นนิจ” พระองค์ผู้มอบเมล็ดแก่ผู้หว่าน มอบอาหารแก่ผู้คน จะบันดาลให้ยุ้งฉางของท่านทวีคูณเช่นกัน และจะเพิ่มพูนการเก็บเกี่ยวความชอบธรรมของท่าน พระองค์จะให้ท่านมั่งคั่งในทุกด้าน เพื่อท่านจะได้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในทุกโอกาส ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของท่านส่งผลให้เราขอบพระคุณพระเจ้า งานรับใช้ที่ท่านทำอยู่นี้ไม่เพียงจุนเจือคนของพระเจ้าเท่านั้น ทว่ายังช่วยให้มีการขอบพระคุณพระเจ้าอย่างล้นพ้นด้วย ท่านได้พิสูจน์ตนเองด้วยการทำงานรับใช้ เพราะงานรับใช้ดังกล่าว ผู้คนจะสรรเสริญพระเจ้า เนื่องด้วยการเชื่อฟังของท่าน ซึ่งมาพร้อมกับการประกาศตัวว่าเชื่อข่าวประเสริฐของพระคริสต์ เนื่องด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของท่าน ในการแบ่งปันกับพวกเขาและคนอื่นๆ ใจของเขาจะนึกถึงท่าน ขณะอธิษฐานเพื่อท่าน เนื่องด้วยพระคุณล้นพ้นที่พระเจ้ามอบแก่ท่าน ขอบคุณพระเจ้าสำหรับพรสวรรค์อันสุดจะพรรณนาจากพระองค์![19]

ท่านเปาโลบ่งบอกชัดเจนว่าความเอื้อเฟื้อส่งผลสามอย่าง ประการแรก ผู้ที่มอบให้จะอุดมสมบูรณ์ เมื่อหว่านออกไปอย่างล้นเหลือ ก็จะเก็บเกี่ยวผลล้นเหลือ พระเจ้าบันดาลให้พระคุณพรั่งพรูมาสู่เขา เขาจึงได้รับสิ่งที่จำเป็น พระองค์รักผู้ที่มอบให้ด้วยใจยินดี ประการที่สอง เมื่อผู้คนอุดมสมบูรณ์ และได้รับพรจากการให้ เขาก็ได้รับพรมากขึ้น เขาจึงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้มากขึ้น ประการสุดท้าย เนื่องจากการมอบให้อย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ผู้ที่ได้รับก็ขอบคุณพระเจ้าอย่างเหลือล้น และถวายสง่าราศีแด่พระองค์

แน่นอนว่าบางคนมอบให้ได้มากกว่าคนอื่น เพราะเขามีมากกว่า การอวยพรผู้ที่มอบให้ ไม่ได้เกี่ยวโยงกับจำนวนที่เขาให้ พระเยซูเอ่ยถึงข้อนี้ เมื่อเห็นคนรวยให้เงินถวายในวิหาร และเห็นหญิงม่ายยากจนหย่อนเหรียญทองแดงเล็กๆ สองเหรียญถวายด้วย พระองค์กล่าวว่า “เราขอบอกท่านว่าหญิงม่ายยากจนคนนี้ให้มากกว่าคนอื่นๆ เพราะคนเหล่านั้นให้ส่วนเล็กน้อยจากความมั่งคั่งของเขา แต่หญิงม่ายยากจนให้เงินเลี้ยงชีพทั้งหมด”[20] นอกจากนี้เราเล็งเห็นประเด็นเรื่องการให้เท่าที่ให้ทำได้  ในหนังสือเอสรา หลังจากได้รับอนุญาตให้กลับมายังอิสราเอล ชาวยิวมอบให้เพื่อการสร้างวิหาร ตามกำลังความสามารถ[21]

หลักเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมถึงการมอบให้พระองค์ ในพระคัมภีร์เดิมมีข้อเรียกร้องให้ชาวยิวมอบสิบเปอร์เซนต์จากผลกำไรแก่พระองค์ พระคัมภีร์ใหม่ไม่ได้ระบุจำนวนเปอร์เซนต์อย่างเจาะจง หรือไม่มีข้อเรียกร้องเรื่องการให้หนึ่งในสิบ ทว่าคาดหมายให้คริสเตียนมอบแก่พระองค์ด้วยใจเอื้อเฟื้อ ทั้งนี้ทั้งนั้นพระองค์คือผู้ที่อวยพรเรา และท้ายที่สุดทุกอย่างก็เป็นของพระองค์ เมื่อพระเจ้ากล่าวถึงการให้ในพระคัมภีร์เดิม เป็นที่เข้าใจว่าหนึ่งในสิบคือขั้นต่ำสุด และการมอบให้ผู้ที่ขัดสนคือส่วนที่นอกเหนือจากหนึ่งในสิบ ดูเหมือนว่านั่นเป็นมาตรฐานที่ดีเรื่องการให้ คือมอบสิบเปอร์เซนต์ให้แก่พระองค์และงานของพระองค์ รวมทั้งมอบเท่าที่ทำได้เพื่อช่วยผู้ที่ขัดสน

การมอบเงินให้แก่พระองค์และผู้อื่นอาจเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะถ้าคุณต้องดิ้นรนกับการหาเลี้ยงชีพ มีเหตุผลที่จะรู้สึกว่าเรามอบให้ไม่ได้ เมื่อเรามีไม่เพียงพอ ถ้าคุณรู้สึกว่าไม่สามารถมอบสิบเปอร์จากรายได้จริงๆ ก็พิจารณาการเริ่มมอบจำนวนเล็กๆ และไว้วางใจว่าเมื่อคุณทำเช่นนั้น พระองค์จะอวยพรคุณ เมื่อพระองค์อวยพรคุณ ก็มอบให้พระองค์ต่อไป และเพิ่มจำนวนขึ้นเมื่อทำได้ โดยมีเป้าหมายที่จะมอบให้สิบเปอร์เซนต์ในที่สุด ถ้าคุณไม่มีเงินเหลือเพื่อช่วยผู้ที่ขัดสน ขอให้ระลึกไว้ว่าการมอบให้ไม่ต้องเป็นเงิน คุณสละเวลาหรือความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นแก่ผู้คนที่ขัดสนก็ได้

ดังที่พระองค์แสดงความเอื้อเฟื้อต่อเราในวิถีทางที่นับไม่ถ้วน เราปรารถนาที่จะเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น ความเอื้อเฟื้อควรอยู่อันดับต้นๆ ในการที่จะเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น การที่จะปลูกฝังความเอื้อเฟื้อ เราต้องเชื่อว่าเราเป็นผู้ดูแลวัตถุสิ่งของ ไม่ใช่เป็นเจ้าของ พระองค์คาดหมายให้เราเป็นผู้ดูแลที่ดี ต่อสิ่งที่พระองค์ไว้วางใจให้เราครอบครอง ในฐานะผู้ดูแล เราควรหมายพึ่งแนวทางจากพระองค์ ว่าจะนำสิ่งที่พระองค์อวยพรเรามาใช้งานเช่นไร โดยถามพระองค์ว่าต้องการให้เราใช้สิ่งที่มีอยู่อย่างไร เพื่อถวายสง่าราศีพระองค์ เราค้นพบแนวทางมากมายในพระคัมภีร์ เราทราบว่าเราควรจัดหาให้แก่ครอบครัวของเรา[22] ทำเท่าที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขัดสน[23] มีความเมตตากรุณา[24] มอบให้พระองค์[25] ดำเนินชีวิตตามอัตภาพ[26] อิ่มเอิบใจ[27] มีสติปัญญา[28] หมั่นอธิษฐาน[29] เราควรไว้วางใจให้พระเจ้าจัดหาให้ปัจจัย และขอบคุณพระองค์ ไม่ว่าจะขาดแคลนหรือมีเหลือล้น[30]

ความขอบคุณ

โพสต์ก่อนหน้าในเรื่องชุดนี้ เราได้เห็นว่าวิธีปลูกฝังการรู้คุณในชีวิต เราต้องตัดความอิจฉาริษยาและความละโมบโลภมากออกไป แล้วมีความอิ่มเอิบใจและเอื้อเฟื้อ เมื่อเราทำเช่นนี้ เราจะคืบหน้าในการรู้คุณต่อพระองค์ เราจะตระหนักและขอบคุณยิ่งขึ้น ต่อพรล้นเหลือจากพระองค์ ซึ่งเราคงไม่ทันสังเกตเห็นหลายอย่างในตอนนี้

เมื่อเรามีใจขอบคุณต่อพระองค์ ก็แสดงให้พระองค์เห็นว่าเราสำนึกถึงคุณความดีและความสัตย์ซื่อของพระองค์ ในการจัดหาปัจจัยและดูแลเอาใจใส่เรา เป็นการบอกพระองค์ว่าเราพึ่งพาพระองค์โดยสิ้นเชิง และเราได้รับทุกสิ่งจากพระองค์ เมื่อเราสำนึกในบุญคุณต่อพระองค์ เรายอมรับความยิ่งใหญ่ ความเอื้อเฟื้อ ความรัก และการดูแลเอาใจใส่ที่พระองค์มอบให้เรา

เมื่อเขียนถึงชาวโคโลสีเกี่ยวกับหลักพื้นฐานในการดำเนินชีวิตด้วยศรัทธา ท่านเปาโลรวมความขอบคุณไว้ด้วย

ดังนั้น เมื่อท่านรับพระเยซูคริสต์ไว้แล้ว จงดำเนินชีวิตในพระองค์ต่อไป ด้วยการหยั่งรากและก่อร่างสร้างขึ้นในพระองค์ มีความศรัทธามั่นคงยิ่งขึ้น ตามที่ได้รับการสอน และท่วมท้นด้วยความขอบคุณ[31]

การรู้คุณคือส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตกับพระเจ้า น่าเศร้าที่ว่าบางครั้งเราไม่ให้เห็นคุณค่าและขอบคุณพระเจ้าสำหรับพรที่ได้รับ มีตัวอย่างน่าเศร้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ในพระกิตติคุณ

[ขณะที่พระเยซู] เข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีชายโรคเรื้อนสิบคนยืนรอพระองค์อยู่แต่ไกล เขาร้องเสียงดังว่า “พระเยซู อาจารย์เจ้าข้า เวทนาเราด้วยเถิด!” เมื่อพระองค์เห็นเขาก็กล่าวว่า “จงไปแสดงตัวต่อปุโรหิต” ขณะกำลังเดินไป เขาก็หายโรค คนหนึ่งในพวกนั้น เมื่อเห็นว่าตนหายจากโรค ก็กลับมาสรรเสริญพระเจ้าเสียงดัง เขาสยบลงแทบเท้าพระเยซู และขอบคุณพระองค์ เขาเป็นชาวสะมาเรีย พระเยซูถามว่า “มีสิบคนหายโรคไม่ใช่หรือ อีกเก้าคนอยู่ที่ไหน ไม่มีสักคนกลับมาสรรเสริญพระเจ้า นอกจากคนต่างชาติคนนี้หรือ”  แล้วพระองค์กล่าวกับเขาว่า “ลุกขึ้นไปเถิด ความศรัทธาทำให้เจ้าหายโรค”[32]

เป็นการยากที่จะนึกภาพออกว่าอีกเก้าคนไม่ได้ขอบคุณ ทว่ามีคนเดียวที่เห็นคุณค่าและขอบคุณพระเจ้าโดยเฉพาะ ขอพระองค์ช่วยให้เราทุกคนขอบคุณพระองค์สำหรับพรที่เราได้รับ

การรู้คุณคือส่วนสำคัญในสัมพันธภาพที่มีกับพระเจ้า และการเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น การปลูกฝังการู้คุณ ก็เหมือนกับคุณลักษณะอื่นๆ ตามแบบอย่างของพระเจ้า ซึ่งต้องอาศัยความเพียรพยายาม ทว่าการทุ่มเทความพยายามคือส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตกับพระองค์ เป็นการง่ายที่จะเคยชินกับพรที่ได้รับ หรือแม้แต่ไม่คำนึงถึงการที่พระเจ้าหยิบยื่นพรให้ ทว่าถ้าเราปรารถนาที่จะเป็นเหมือนพระเจ้ามากขึ้น เราต้องพยายามปลูกฝังการรู้คุณ ผ่านความอิ่มเอิบใจและความเอื้อเฟื้อ เราต้องพยายามให้ตัวเองตระหนักยิ่งขึ้นถึงพรล้นเหลือจากพระเจ้าในชีวิต โดยพัฒนานิสัยในการสำนึกถึงพรต่างๆ ทั้งเรื่องใหญ่และเล็ก ด้วยการสรรเสริญและขอบคุณพระองค์เป็นประจำสำหรับพรที่ได้รับ ขอบคุณพระเจ้า ผู้เป็นพระบิดา สำหรับทุกสิ่งเสมอ ในนามพระเยซูคริสต์[33]


[1] เอเฟซัส 2:8

[2] เอเฟซัส 1:7-8

[3] 1 ทิโมธี 1:14

[4] สดุดี 65:9-13

[5] 1 โครินธ์ 2:9

[6] ดูบทความ The Spiritual Disciplines: Stewardship/Simplicity

[7] โยบ 41:11

[8] เคที บราเซลตัน และ เชลลีย์ ลีธ ในเรื่อง Character Makeover (เป็นคนใหม่)  (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์ซอนเดอร์แวน ค.ศ. 2008) หน้า 248

[9] สุภาษิต 19:17

[10] ลูกา 6:38

[11] 2 โครินธ์ 9:6

[12] 2 โครินธ์ 9:7

[13] กิจการ 20:35

[14] สุภาษิต 3:9

[15] 1 พงศาวดาร 29:9

[16] สุภาษิต 11:25

[17] มัทธิว 10:42

[18] 1 ทิโมธี 6:18-19

[19] 2 โครินธ์ 9:6-15

[20] ลูกา 21:1-4

[21] เอสรา 2:69

[22] ถ้าผู้ใดไม่จุนเจือญาติพี่น้อง โดยเฉพาะคนในครอบครัวของตนเอง ผู้นั้นได้ปฏิเสธความเชื่อแล้ว และแย่ยิ่งกว่าผู้ไม่เชื่อ (1ทิโมธี 5:8)

[23] พระบัญญัติ 15:11; เอเฟซัส 4:28; ฮีบรู 13:16; มัทธิว 5:42; สุภาษิต 3:27; โรม 12:13

[24] มัทธิว 9:36; โคโลสี 3:12

[25] สุภาษิต 3:9; พระบัญญัติ 14:22; 2 พงศาวดาร 31:6

[26] สุภาษิต 22:7; 26-27

[27] ฮีบรู 13:5; 1 ทิโมธี 6:6

[28] สุภาษิต 2:1-15; สดุดี 111:10

[29] 1 เธสะโลนิกา 5:17; สดุดี 105:4

[30] ฟิลิปปี 4:12

[31] โคโลสี 2:6-7

[32] ลูกา 17:12-19

[33] เอเฟซัส 5:20

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้