More Like Jesus: Joy (Part 2)

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

เมษายน 4, 2017

[เหมือนพระเยซูมากขึ้น: ความชื่นชมยินดี (ตอนที่ 2)]

ขณะที่ศึกษาเรืองความชื่นชมยินดีของคริสเตียน ผมพบว่าน่าสนใจที่เห็นว่าความชื่นชมยินดีเชื่อมโยงมากกับความศรัทธา ความหวัง และความสำนึกในบุญคุณ ดังที่ผมเอ่ยไว้ในบทความแรกของหัวข้อนี้ สำหรับผู้มีความเชื่อ ความชื่นชมยินดีเชื่อมโยงกับมุมมองระยะยาวของชีวิต ซึ่งมีพื้นฐานบนความศรัทธาในพระเจ้า การไว้วางใจในสิ่งที่พระองค์บอกเราผ่านพระคัมภีร์ และการทราบว่าชีวิตเราในโลกเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์ชั่วนิรันดร์กับพระองค์

ความชื่นชมยินดีมีพื้นฐานบนศรัทธาในสิ่งที่พระคัมภีร์สอน นั่นคือพระเจ้าเป็นพระผู้สร้าง ถึงแม้ว่ามนุษย์เหินห่างจากพระองค์ เนื่องจากบาปของเรา พระองค์ก็ปูทางให้เราสมานไมตรีกับพระองค์ ผ่านการที่พระเยซูยอมพลีชีพ และให้อภัยต่อบาปของเรา การสมานไมตรีดังกล่าวช่วยให้เราสานสัมพันธ์กับพระองค์ พระวิญญาณของพระองค์สถิตอยู่ในเรา และความสัมพันธ์ของเราจะยั่งยืนตลอดไป

ศรัทธาที่เรามีในพระเจ้า และการไว้วางใจอย่างลึกซึ้งในคำสัญญาของพระองค์เรื่องความรอด การสมานไมตรี การมีพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตอยู่ในเรา และผลลัพธ์สูงสุดคือความรอด ได้แก่ นิรันดร์กาลกับพระเจ้า ช่วยเราให้มีสันติสุขในใจ และมุมมองที่มีความเชื่อมั่น ความเชื่อของเราสร้างความหวัง ความคาดหมายที่จะเกิดสิ่งดีๆ และทำให้เราดำเนินชีวิตด้วยความชื่นชมยินดี

สรรเสริญพระเจ้า พระบิดาของพระเยซูคริสต์ ด้วยความเมตตายิ่งใหญ่พระองค์ให้เราบังเกิดใหม่ในความหวังอันยั่งยืนโดยการที่พระเยซูคริสต์ฟื้นคืนชีพ และได้รับมรดกที่ไม่มีวันเสื่อมสลาย เน่าเสีย หรือเลือนหายไปซึ่งเตรียมไว้ในสวรรค์เพื่อท่าน โดยความศรัทธา พระเจ้าได้ปกป้องท่านไว้ด้วยพลังอำนาจของพระองค์จนถึงความรอด ซึ่งพร้อมแล้วที่จะเผยให้เห็นในยุคสุดท้าย[1] 

เพื่อท่านจะได้รู้ถึงความหวังที่มอบหมายให้ท่านนั้น และรู้ถึงความมั่งคั่งจากมรดกที่น่าปลื้มปีติของพระองค์สำหรับนักบุญ[2]

พระคุณของพระเจ้าที่นำไปสู่ความรอดได้ปรากฏแก่คนทั้งปวงแล้ว สอนให้เราละทิ้งความอธรรมและกิเลสตัณหา โดยดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบันนี้อย่างมีสติสัมปชัญญะ ด้วยความชอบธรรม ตามวีทางพระเจ้า คอยความหวังอันเป็นสุข และการปรากฏด้วยสง่าราศีของพระเจ้าผู้ใหญ่ยิ่ง และพระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดของเรา[3]

ความสำนึกในบุญคุณเชื่อมโยงกับความชื่นชมยินดี เมื่อเราสำนึกในบุญคุณต่อสิ่งที่พระเจ้าได้ทำเพื่อเรา เมื่อเราจดจ่อกับความดีงาม ความรัก และความห่วงใยของพระองค์ รวมถึงอิ่มใจกับพรของพระองค์ เมื่อนั้นเราก็มีเหตุผลที่จะชื่นชมยินดี การมีใจขอบคุณต่อพรของพระเจ้า ช่วยเราให้ดำเนินชีวิตในความชื่นชมยินดี เพราะเรามีทัศนคติเชิงบวกต่อชีวิต

ความชื่นชมยินดีคือการตอบรับพระเจ้าในชีวิตเรา คือการตอบรับพร การที่พระองค์สถิตอยู่ด้วย คำสัญญาของพระองค์ ความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระองค์ และการที่เราเป็นลูกของพระองค์ นี่คือการตอบรับต่อผู้ที่พระองค์เป็น ต่อการที่พระองค์มีส่วนในชีวิตเรา และต่อความรักของพระองค์

แม้ท่านยังไม่เห็นพระองค์ แต่ก็รักพระองค์ แม้ขณะนี้ท่านไม่เห็นพระองค์ แต่ก็เชื่อในพระองค์ และมีความชื่นชมยินดีสุดจะพรรณนา และเปี่ยมด้วยสง่าราศี[4]

เนื่องจากความชื่นชมยินดีคือการตอบรับต่อผู้ที่พระเจ้าเป็น และพรที่เรามีในพระองค์ ไม่ใช่ต่อสภาพการณ์ของเรา ความชื่นชมยินดีจึงเพิ่มพูน แม้ในยามที่เจ็บปวดและทุกข์ยาก

เราชื่นชมยินดีในความทุกข์ยากของเรา[5]

ท่านได้ทำตามแบบอย่างเรา และพระองค์ ทั้งๆ ที่ต้องทนทุกข์อย่างหนัก ท่านก็รับพระคำไว้ด้วยความชื่นชมยินดี ซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์มอบให้[6]

จากบททดสอบหนักหน่วง ความชื่นชมยินดีล้นพ้น และความยากไร้ของเขา กลับเอ่อล้นเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่[7]

ทุกข์โศก แต่ก็ยังชื่นชมยินดี[8]

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปีติยินดีในความเศร้าโศก อันที่จริง โดยทั่วไปแล้วไม่ใช่วิสัยของคนเราที่จะชื่นชมยินดีและปลื้มปีติตลอดเวลา แต่พระคัมภีร์กล่าวว่า จงชื่นชมยินดีอยู่เสมอ[9] พวกเราหลายคนต้องการปลูกฝังจิตวิญญาณที่ชื่นชมยินดี ทว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เราทำได้ด้วยพลังอำนาจของเราเอง ความชื่นชมยินดีคือผลจากพระวิญญาณ และการที่จะปลูกฝัง เราต้องชักใบเรือขึ้นมารับลมปราณจากพระวิญญาณ เพื่อขับเคลื่อนเราไปในทิศทางของความชื่นชมยินดี

หนึ่งในวิธีที่จะชักใบเรือขึ้น คือการอ่าน ซึมซับ และดำเนินชีวิตตามคำสอนในพระคัมภีร์ พระเยซูกล่าวกับสาวกของพระองค์ ก่อนถูกตรึงบนไม้กางเขน ว่า

ถ้าท่านเชื่อฟังคำบัญชาของเรา ท่านจะมั่นคงในความรักของเรา ดังที่เราได้เชื่อฟังคำบัญชาของพระบิดา และมั่นคงในความรักของพระองค์ เราบอกท่านเช่นนี้ เพื่อความชื่นชมยินดีของเราจะได้อยู่ในท่าน และความชื่นชมยินดีของท่านจะบริบูรณ์[10]

เมื่อคลื่นลมและมรสุมชีวิตโหมกระหน่ำ เราจะพบความชื่นชมยินดีได้จากการรู้ว่า พระเจ้าบันดาลให้ทุกสิ่งลงเอยด้วยดีแก่ผู้ที่รักพระองค์ คือผู้ที่พระองค์ได้เรียกตามความประสงค์[11] เราได้รับการปลอบโยนและศรัทธา เพื่อทนความยากลำบากที่ต้องประสบ และมีชัย ขณะที่เราหมายพึ่งคำสัญญาจากพระคำของพระเจ้า

ข้าพเจ้าเห็นว่าความทุกข์ยากของเราในปัจจุบัน เทียบไม่ได้เลยกับสง่าราศีซึ่งจะเผยแก่เรา[12]

เพราะฉะนั้นท่านจงถ่อมตนภายใต้หัตถ์อันทรงพลังของพระเจ้า เพื่อพระองค์จะได้ยกชูกท่านเมื่อถึงเวลาอันควร จงละความกังวลทั้งสิ้นไว้กับพระองค์ เพราะพระองค์ห่วงใยท่าน[13]

ผู้ที่อดทนบากบั่นเมื่อถูกทดลองจะได้รับพร เพราะเมื่อเขายืนหยัดผ่านการทดสอบ ก็จะได้รับมงกุฎแห่งชีวิต ซึ่งพระเจ้าสัญญาไว้กับผู้ที่รักพระองค์[14]

การรับฟังเสียงของพระองค์ และการปลอบโยนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ในข้อพระคำเช่นนี้ มอบความหวังให้เราในยามทุกข์ร้อนใจ ความหวังนั้นดลบันดาลใจให้ชื่นชมยินดี โดยรู้ว่าพระเจ้าสถิตอยู่ด้วยเสมอ แม้ในยามที่เราทุกข์ยาก

เราคือพระยาห์เวห์ พระเจ้าของเจ้า ผู้กุมมือขวาของเจ้าไว้ และบอกกับเจ้าว่า "อย่ากลัวเลย เราจะช่วยเจ้า"[15]

ขณะที่เราอ่านพระคัมภีร์ พระวิญญาณของพระเจ้าใช้ข้อพระคัมภีร์กล่าวกับจิตใจเรา เพื่อปลอบโยนและชี้แนะนำทางเรา เราจึงได้รับศรัทธาและความหวัง ซึ่งเป็นย่างก้าวที่นำไปสู่ความชื่นชมยินดี เราทำเท่าที่ทำได้ โดยตั้งมั่นอยู่ในพระคำของพระเจ้า และพระวิญญาณเคลื่อนไหวในเรา เพื่อมอบความชื่นชมยินดีให้เรา

เราปลูกฝังความชื่นชมยินดี โดยไว้วางใจในพระเจ้า ส่วนหนึ่งในตัวตนของพระเจ้าคือ เป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิสัยของพระองค์ พระคัมภีร์พร่ำสอนไว้โดยตลอด ให้เราไว้วางใจพระองค์ การไว้วางใจพระองค์หมายถึงการเชื่อมั่นในพระองค์ โดยรู้ว่าพระองค์รักเรา และตั้งใจให้เราได้รับสิ่งที่ดีเลิศ

จิตใจของเรายินดีในพระองค์ เพราะเราวางใจในนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์[16]

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์เป็นความหวัง และเป็นผู้ที่ข้าวางใจ[17]

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกคนที่รู้จักนามของพระองค์ จะวางใจในพระองค์ เพราะพระองค์ไม่เคยทอดทิ้งผู้ที่แสวงหาพระองค์[18]

ผู้ที่ไว้วางใจในพระองค์จะได้รับพร[19]

ความไว้วางใจนำไปสู่ความหวัง และความหวังนำไปสู่ความชื่นชมยินดี

เรามีความชื่นชมยินดีเพิ่มพูนขึ้น เมื่อเราพัฒนาความขอบคุณ และความสำนึกในบุญคุณ สำหรับสถานการณ์ใดก็ตามที่เราประสบ

จงขอบพระคุณในทุกสถานการณ์ เพราะนี่คือความประสงค์ของพระเจ้าสำหรับท่าน ในพระเยซูคริสต์[20]

ไม่ว่าสภาพการณ์ของเราจะน่ายินดีหรือไม่น่าพึงประสงค์ เราควรมีใจขอบคุณ นี่ไม่ได้หมายความว่าเราจำเป็นต้องขอบคุณสำหรับสภาพการณ์ที่ยากลำบาก ทว่าเราขอบคุณท่ามกลางทุกสภาพการณ์ ไม่ว่าดีหรือเลว พระคัมภีร์สอนเราให้ขอบคุณพระองค์ที่ดำเนินงานในสภาพการณ์ปัจจุบันของเรา เพื่อให้เกิดผลดี เมื่อรู้ว่าพระองค์จะไม่มอบภาระให้เราจนเหลือบ่ากว่าแรง และพระคุณของพระองค์เพียงพอที่จะช่วยให้เรารับไหว เมื่อเราขอบคุณและสรรเสริญพระองค์ ก็เกิดความชื่นชมยินดีที่เป็นมรดกของเราในพระคริสต์[21]

ดังที่เราได้เห็นว่าความชื่นชมยินดีของคริสเตียน มีส่วนเชื่อมโยงและเป็นผลลัพธ์จากระบบความเชื่อของเรา เราเชื่อพระเจ้า ในฐานะที่เป็นพระผู้สร้างและพระบิดาของเรา เราเชื่อในพระคำของพระองค์ ซึ่งบอกเราเกี่ยวกับพระองค์ เราใช้พระคำของพระองค์เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ เรามีความสัมพันธ์ที่ติดต่อสื่อสารกับพระองค์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะดำเนินไปชั่วนิรันดร์กาล พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์สถิตอยู่ในเรา และความชื่นชมยินดีเป็นผลจากการมีพระองค์สถิตอยู่ด้วย ในฐานะคริสเตียน เราเชื่อสิ่งเหล่านี้ ทว่าคำถามที่ผมถามตัวเอง และคุณก็คงอยากถามตัวเองเช่นกัน คือ ความเชื่อเหล่านี้นำความชื่นชมยินดีมาสู่ชีวิตฉันไหม ผู้ประพันธ์ชื่อ ไมเคิล ซิกาเรลลี เขียนไว้ว่าการมีความชื่นชมยินดีนี้หมายถึงอะไร หลังจากอ่านข้อเขียนของเขา ผมอธิษฐานดูว่าผมดำเนินชีวิตโดยมีความชื่นชมยินดีล้นพ้น เท่าที่จะทำได้หรือไม่

จากมุมมองของพระคัมภีร์ เราให้นิยามความชื่นชมยินดีได้ว่า "มีจิตวิญญาณที่ปีติยินดีในทุกสภาพการณ์ เป็นประจำทุกวัน" นี่ยิ่งกว่าความอิ่มเอิบในใจ ยิ่งกว่าความดีใจ ยิ่งกว่าความพึงพอใจกับชีวิตโดยรวม[22]

จากพื้นฐานการสำรวจครั้งหนึ่งของคริสเตียน 5,000 คน ซิกาเรลลีสรุปว่า ความยินดีที่เสมอต้นเสมอปลายในชีวิตคริสเตียน ส่งผลต่ออุปนิสัยอย่างยิ่ง เขาเขียนไว้ว่า

ในแวดวงคริสเตียน บ่อยครั้งเราพูดคุยถึงความชื่นชมยินดีว่า คือคุณสมบัติที่ผลักดันให้เป็นเหมือนพระคริสต์[23]

ริชาร์ด ฟอสเตอร์ ให้ความเห็นถึงความสำคัญของความชื่นชมยินดีในชีวิตคริสเตียนไว้ว่า

ความชื่นชมยินดีเป็นเหมือนมอเตอร์ที่ขับเคลื่อนทุกสิ่ง ... ความชื่นชมยินดีสร้างพลังงาน ความชื่นชมยินดีทำให้เราแข็งแกร่ง[24]

ซิกาเรลลีพบวาผู้ที่มีรายงานว่าชื่นชมยินดี "บ่อย" หรือ "เสมอ" แสดงออกถึงบุคลิกลักษณะอื่นๆ ที่เหมือนพระคริสต์มากกว่าคนที่บอกว่าเขา "ไม่ค่อย" ชื่นชมยินดี หรือ "แค่บางครั้ง" เขาอธิบายว่า คุณสมบัติที่ส่งผลมากที่สุดจากการมีความชื่นชมยินดีอย่างเสมอต้นเสมอปลายคือ ความกรุณาและความอดทน[25]

ถึงแม้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะนับหรือวัดสภาวะทางวิญญาณ แน่นอนว่าผลการสำรวจอาศัยการตีความหมาย ผมพบว่าผลการสำรวจของซิกาเรลลีมอบแนวทางที่มีประโยชน์ โดยหยิบยกว่าดูเหมือนการฝึกคุณสมบัติเฉพาะจะช่วยให้คนเราเติบโต ในการเป็นเหมือนพระคริสต์ เขาพบว่าคริสเตียนจำนวนมาก ถึงแม้แข็งแกร่งในการที่มีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง และมีความสำนึกในบุญคุณ แต่รายงานว่าเขามีความชื่นชมยินดีต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในชีวิต จากผลการสำรวจ คนเหล่านี้ค่อนข้างดิ้นรนกับการมีความกรุณาและความอดทน เขาหยิบยกว่าเมื่อบุคคลที่ทำตามแบบอย่างของพระเจ้า ทว่าไม่ประสบความชื่นชมยินดีที่เสมอต้นเสมอปลายในชีวิต มีแนวโน้มที่จะหงุดหงิดกับผู้อื่น ไม่ค่อยมีความโอนอ่อนผ่อนปรนกับสิ่งกวนใจในชีวิต และไม่ค่อยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บ่อยครั้งเป็นเพราะว่าเขามีอะไรต้องทำมากเกินไป ซึ่งขัดขวางเขาจากการมีความกรุณาและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นได้ชัดว่าการหมดกะจิตกะใจคือตัวการหลักที่ทำลายความชื่นชมยินดี

เมื่อพูดถึงผลประโยชน์ของการหล่อเลี้ยงความชื่นชมยินดีที่เสมอต้นเสมอปลายในชีวิต เขาหยิบยกว่าผู้ที่มีความชื่นชมยินดีมากกว่า จะสังเกตเห็นได้ว่าอดทนและกรุณามากกว่า โดยรวมก็เป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากกว่า ถึงแม้ว่าเราระบุกลไกแน่นอนไม่ได้ ว่านี่เกิดขึ้นอย่างไร ก็ไม่เกินเลยที่จะคาดคะเนว่าความชื่นชมยินดีที่เสมอต้นเสมอปลาย จะเพิ่มพูนความอดทนและความกรุณา เพราะคุณสมบัติสองอย่างนี้เป็นผลพวงตามธรรมชาติจากอารมณ์โดยรวมของเรา อีกนัยหนึ่งก็คือ บุคคลผู้มีอารมณ์ชื่นชมยินดีอย่างสม่ำเสมอ มีแนวโน้มที่จะแบ่งปันความชื่นชมยินดีดังกล่าว โดยถือว่าผู้อื่นมาก่อน ด้วยการระบุและตอบสนองความจำเป็นของผู้อื่น ในสภาพความคิดจิตใจเช่นนั้น เราจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นมากขึ้น โอนอ่อนผ่อนปรนต่อข้อบกพร่องของผู้อื่นมากขึ้น และผ่อนคลายมากกว่า เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่น่ากวนใจ ในทางกลับกัน บุคคลที่ไม่มีความชื่นชมยินดีอย่างสม่ำเสมอ ไม่อาจแบ่งปันสิ่งที่เขาไม่มี พลังขับเคลื่อนจากความชื่นชมยินดี ในการที่จะมีความรักและโอนอ่อนผ่อนปรนต่อผู้อื่น ไม่ใช่ของแน่ที่จะมีอยู่ในชีวิตเขา สิ่งหนึ่งที่ไม่ต้องคาดคะเนก็คือ ดูเหมือนว่าความชื่นชมยินดีสม่ำเสมอ จะช่วยเราให้เอาชนะจิตใจที่แข็งกระด้าง หรือแนวโน้มที่ถือตามตัวบทกฎเกณฑ์ ซึ่งทำให้เราเป็นคนแข็งกระด้าง ขาดความอดทน ไม่ห่วงใย คือเป็นคนที่ตรงกันข้ามกับพระเยซูจริงๆ[26]

นอกจากนี้ ผลการสำรวจของซิกาเรลลีแสดงให้เห็นว่าคนที่ให้อภัยผู้อื่น "บ่อยๆ" หรือ "เสมอ" มีแนวโน้มที่จะชื่นชมยินดีมากกว่าผู้ที่ไม่ให้อภัยถึงสองเท่า เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เพราะองค์ประกอบพื้นฐานอย่างหนึ่งในการมีความชื่นชมยินดีของคริสเตียน คือความรอด  คือข้อเท็จจริงที่ว่าเราได้รับการให้อภัยจากบาปของเรา

ดูเหมือนว่าการไม่ให้อภัยปลูกฝังความโกรธ ความขมขื่น ความไม่พอใจ และความขุ่นเคือง ซึ่งขัดขวางการมีสันติสุขและความชื่นชมยินดีในใจ การเลือกที่จะให้อภัยขจัดอุปสรรคเหล่านั้นไปเสีย โดยปูทางให้ความชื่นชมยินดีที่สม่ำเสมอมากขึ้น และอื่นๆ[27]

การที่ความชื่นชมยินดีจะเติบโตงอกงามได้ ก็ต้องอาศัยการนึกคิดและทำสมาธิเป็นประจำ ในความดีงามและความรักที่พระเจ้ามีต่อเรา ความชื่นชมยินดีเป็นผลพวงจากการอ่าน การเชื่อ และการทำตามพระคำของพระเจ้า การมีพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตอยู่ในเรา และการที่พระเยซูเสียสละเพื่อเรา ความชื่นชมยินดีของคริสเตียนคือการดำเนินชีวิตภายในกรอบความสำนึกถึงความรักและความห่วงใยที่พระเจ้ามีต่อเรา การเผชิญหน้าสภาพขึ้นๆ ลงๆ ในชีวิต ด้วยศรัทธาที่ลึกซึ้งว่าพระองค์สถิตอยู่ด้วยเสมอ พระองค์ปลอบโยนและห่วงใยเรา พระองค์ดีใจและปีติยินดีที่เราอยู่ภายใต้การดูแลที่เปี่ยมด้วยความรักของพระองค์

ความชื่นชมยินดีในพระองค์เป็นพละกำลังของท่าน[28]


[1] 1 เปโตร 1:3-5

[2] เอเฟซัส 1:18

[3] ติทัส 2:11-13

[4] 1 เปโตร 1:8

[5] โรม 5:3

[6] 1 เธสะโลนิกา 1:6

[7] 2 โครินธ์ 8:2

[8] 2 โครินธ์ 6:10

[9] 1 เธสะโลนิกา 5:16

[10] ยอห์น 15:10-11

[11] โรม 8:28

[12] โรม 8:18

[13] 1 เปโตร 5:6-7

[14] ยากอบ 1:12

[15] อิสยาห์ 41:13

[16] สดุดี 33:21

[17] สดุดี 71:5

[18] สดุดี 9:10

[19] เยเรมีย์ 17:7

[20] 1 เธสะโลนิกา 5:18

[21] เจอร์รีย์ บริดเจส ใน The Practice of Godliness (โคโลราโดสปริงส์: สำนักพิมพ์เนฟเพรส ค.ศ. 2012) หน้า 129–30

[22] ไมเคิล เอ ซิกาเรลลี ใน Cultivating Christian Character (โคโลราโดสปริงส์: สำนักพิมพ์เพอโพสฟูลดีไซน์พับลิเคชั่น ค.ศ. 2005) หน้า 49

[23] ซิกาเรลลี ใน Cultivating Christian Character หน้า 50

[24] ริชาร์ด เจ ฟอสเตอร์ ใน Celebration of Discipline (นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์ฮาร์เพอร์วัน ค.ศ 1998) หน้า 191

[25] ซิกาเรลลี ใน Cultivating Christian Characterหน้า 50

[26] เรื่องเดียวกัน หน้า 52

[27] เรื่องเดียวกัน หน้า 54

[28] เนหะมีย์ 8:10

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้