โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม
มกราคม 4, 2019
[หัวใจสำคัญ: ธรรมชาติและวิสัยของพระเจ้า -- ความพิโรธของพระเจ้า]
(หากประสงค์ทราบบทนำและคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องชุดนี้โดยรวม กรุณาดู หัวใจสำคัญ: บทนำ)
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นตอนต่อจากเรื่องชุด "ธรรมชาติและวิสัยของพระเจ้า" ผมขอแนะนำว่าก่อนที่จะอ่านบทความนี้ (และอีกสองสามบทความถัดไป) ขอให้ทบทวนบทความก่อนๆ เรื่องธรรมชาติและวิสัยของพระเจ้า ความพิโรธของพระเจ้าจะเป็นที่เข้าใจได้ดีที่สุด เมื่อเชื่อมโยงกับความบริสุทธิ์ ความชอบธรรม ความเที่ยงธรรม ความอดทน ความเมตตา ความรัก และความกรุณาปรานีของพระเจ้า เป็นธรรมดาที่หัวข้อเรื่องความพิโรธของพระเจ้าจะสร้างคำถามมากมาย รวมถึงเรื่องความรอด เช่น เกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องพระเยซูตลอดชีวิต หรือผู้ที่ถูกพร่ำสอนแต่เด็กว่าพระเยซูไม่ใช่พระเจ้า ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสมากพอที่จะเชื่อในพระองค์ หัวข้อบทความนี้คือ ความพิโรธของพระเจ้า เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติและวิสัยของพระเจ้า ดังที่บรรยายไว้ในพระคัมภีร์ ประเด็นอื่นที่คำนึงถึง ทว่าไม่ได้เชื่อมโยงโดยตรงกับหัวข้อดังกล่าว จะกล่าวครอบคลุมในบทความต่อๆ ไป เช่น บทความในหัวข้อความรอด การจัดหาปัจจัยของพระเจ้า ชีวิตภายภาคหน้า สวรรค์และนรก ฯลฯ
เราได้เห็นจากบทความก่อนๆ ในเรื่องชุดนี้ ว่าธรรมชาติและวิสัยของพระเจ้า รวมถึงความบริสุทธิ์ ความชอบธรรม และความเที่ยงธรรมอันสมบูรณ์แบบของพระองค์ ความพิโรธของพระเจ้าหรือความโกรธ ต่อความชั่วและบาป คือส่วนสำคัญเช่นกัน ในธรรมชาติของพระองค์ เนื่องจากพระเจ้าบริสุทธิ์ พระองค์ปลาบปลื้มในความบริสุทธิ์และความดีงาม ธรรมชาติของพระองค์จึงต่อต้านความบาป เนื่องจากพระเจ้ารักสิ่งที่บริสุทธิ์ ดีงาม และถูกต้อง พระองค์จึงเกลียดชังสิ่งที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น สรุปแล้ว พระเจ้าเกลียดชังความบาป
มีหกประการที่พระองค์เกลียดชัง อันที่จริงแล้ว มีเจ็ดประการที่พระองค์รังเกียจ ได้แก่00
สายตาหยิ่งยโส ลิ้นโป้ปด มือที่เข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ จิตใจที่คิดชั่วร้าย เท้าที่ปราดไปทำชั่ว พยานเท็จผู้กล่าวมุสา และคนที่ยุยงให้ญาติพี่น้องแตกแยกกัน[1]
พระองค์ไม่ใช่พระเจ้าที่พอใจในสิ่งชั่วร้าย คนชั่วไม่อาจอยู่ร่วมกับพระองค์ คนหยิ่งจองหองไม่อาจยืนอยู่ต่อหน้าพระองค์ พระองค์เกลียดชังทุกคนที่ทำชั่ว พระองค์ทำลายล้างคนโกหก ส่วนคนที่กระหายเลือดและคนคดโกงนั้น พระองค์ชิงชัง[2]
สิ่งที่ใช่และไม่ใช่ความพิโรธของพระเจ้า
พระเจ้าเกลียดชังความชั่ว พระองค์เกลียดผลจากความชั่วที่มีต่อมวลมนุษย์ พระองค์เกลียดที่ความชั่วสร้างความเสียหายต่อผู้ที่พระองค์รัก นั่นคือทุกคน พระองค์รักเราอย่างสุดซึ้ง พระองค์ต่อต้านและเกลียดชังสิ่งที่ทำร้ายและบ่อนทำลายเรา ความโกรธของพระองค์ไม่ใช่ความเดือดดาลหรือโมโหโทโส ซึ่งควบคุมไม่อยู่ ไม่ใช่ว่าพระเจ้าอารมณ์เสีย เดือดดาล และทำลายผู้คนหรือสิ่งของ พระองค์บริสุทธิ์ ความโกรธเกิดขึ้น เมื่อความบริสุทธิ์และความชอบธรรมของพระองค์มาประจันหน้ากับบาป
ผู้ประพันธ์ ลูวิสและเดมาเรสต์ อธิบายไว้ดังนี้
พระองค์ห่วงใยความผาสุกของสิ่งมีชีวิตที่พระองค์สร้างขึ้น พระเจ้าจึงรังเกียจความอยุติธรรม ความไม่ชอบธรรม และความทุจริต ซึ่งบ่อนทำลายสุขภาพร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก จิตใจ และวิญญาณ พระคัมภีร์กล่าวไว้บ่อยครั้งถึงความกริ้วโกรธอันชอบธรรมของพระเจ้าต่อความชั่วร้าย ซึ่งบ่อนทำลายผู้คนของพระองค์ และการงานของเขาในโลก ความขุ่นเคืองอันชอบธรรมคือความโกรธที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะอารมณ์ครอบงำที่ขาดเหตุผลหรือเห็นแก่ตัว ทว่าเป็นความห่วงใยต่อผู้คนที่ทนทุกข์จากความอยุติธรรม ความเห็นแก่ตัว ความโลภ กิเลสตัณหา ความอิจฉา ความหึงหวง และไม่รู้จักบังคับตน ด้วยประการทั้งปวง พระเจ้าเกลียดชังความชั่วในแง่ดังกล่าวนี้[3]
นักศาสนศาสตร์ จอห์น ธีโอดอร์ มูลเลอร์ เขียนไว้ว่า
พระองค์ [พระเจ้า] คือบ่อเกิดของความบริสุทธิ์ และต่อต้านความบาปโดยตรง[4]
นักศาสนศาสตร์เวย์น กรูเดม แถลงอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า
ความพิโรธของพระเจ้าหมายความว่าพระเจ้าเกลียดชังบาปทั้งปวงอย่างที่สุด[5]
เนื่องจากเป็นธรรมชาติของพระเจ้า จึงไม่มีทางเลือกอื่นใดสำหรับพระองค์ นอกจากเกลียดชังบาป ถ้าเป็นอย่างอื่น ก็คงเป็นการปฏิเสธธรรมชาติของพระองค์ ถ้าพระองค์ไม่เกลียดชังบาป หมายถึงอะไร นั่นคือพระองค์ยอมรับและยอมให้ทำบาป นั่นหมายความว่าพระองค์ไม่ชอบ ทว่าไม่ขัดข้องมากนัก พระองค์เฉยเมยต่อบาป ถ้าพระองค์มีทัศนคติเป็นอย่างอื่น ที่นอกเหนือจากการเกลียดชังบาป และออกห่างจากบาป ก็หมายความว่าพระองค์ไม่บริสุทธิ์ ไม่ชอบธรรม หรือไม่เที่ยงธรรม ดังนั้นพระองค์ก็คงไม่ใช่พระเจ้า
ความรักบริสุทธิ์ประกอบด้วยคุณธรรมความดีงาม และความเกลียดชังอันบริสุทธิ์ต่อความชั่วทางคุณธรรม คือความจริงแท้ฝ่ายเบื้องบน ... เราคิดไม่ได้ว่าสองสิ่งไม่เกี่ยวข้องกัน การคิดว่าสองสิ่งไม่เกี่ยวข้องกัน เราก็ต้องคิดว่าพระเจ้าเฉยเมยไม่แยแส ระหว่างความชอบธรรมและความบาป[6]
ถึงแม้ว่าบางครั้งความพิโรธบ่งบอกออกมาเป็นการทำลายล้างโดยสิ้นเชิงในพระคัมภีร์ ทว่าบ่อยครั้งเป็นการบ่งบอกความโกรธอันชอบธรรมที่พระเจ้ามีต่อบาป ส่วนใหญ่แล้วเมื่อใช้คำว่าความพิโรธในพระคัมภีร์เดิม ไม่ได้หมายถึงการทำลายล้าง และการทำโทษ ทว่าหมายถึงความโกรธที่พระเจ้ามีต่อบาป บางครั้งเมื่อพระเจ้ามีความพิโรธต่อบาป ส่งผลเป็นการทำลายล้าง สืบเนื่องมาจากความเลวร้ายโดยสิ้นเชิง และวิสัยที่ไม่สำนึกผิดของผู้คนสมัยนั้น เช่น น้ำท่วมโลก และการทำลายล้างเมืองซะโดมและโกมอร์ราห์
เมื่อเข้าใจว่าความบริสุทธิ์ของพระเจ้าทำให้พระองค์รังเกียจบาป และออกห่างจากบาป ช่วยเผยให้เห็นความรักและความเมตตาของพระองค์ พระองค์แสดงความเมตตาและความรักต่อทุกคน และจะทำเช่นนี้ต่อไป ด้วยการให้อภัยบาป
แบบอย่างการที่พระเจ้าเกลียดชังบาป ซึ่งเชื่อมโยงกับความพิโรธของพระองค์ คือปฏิกิริยาที่พระองค์มีต่อบาปของชนชาติอิสราเอล ในการสร้างลูกวัวทองคำเพื่อบูชายัญและนมัสการ ตอนที่โมเสสอยู่บนภูเขาไซนาย สี่สิบวันสี่สิบคืน
พระองค์กล่าวกับโมเสสว่า "เราเห็นแล้วว่าคนเหล่านี้ดื้อด้าน ด้วยเหตุนี้จงปล่อยไว้ให้เป็นธุระของเราเอง เราจะเดือดดาล และทำลายล้างพวกเขาให้หมด แล้วเราจะให้เจ้าเป็นชนชาติยิ่งใหญ่[7]
หลังจากที่โมเสสอ้อนวอนพระเจ้าอย่างแรงกล้า ให้เลิกกริ้วโกรธ พระองค์มีเมตตา
พระองค์จึงเปลี่ยนใจและไม่นำภัยพิบัติมาสู่คนของพระองค์ตามที่กล่าวไว้[8]
ความเมตตาและความอดทนของพระเจ้า เชื่อมโยงกับความพิโรธของพระองค์
นอกจากจะแสดงให้เห็นว่าพระเจ้ากริ้วโกรธเดือดดาลต่อบาปแล้ว ข้อความดังกล่าวบ่งบอกถึงคุณสมบัติอื่นๆ ของพระองค์ด้วย ได้แก่ ความรัก ความเมตตา และความอดทน แบบอย่างความอดทน ความรัก และความเมตตาของพระองค์ จะเห็นได้ชัดในพระคัมภีร์เดิมโดยตลอด พระองค์แสดงตนว่ามีความรักและความกรุณา ด้วยการให้อภัยผู้คนของพระองค์ เมื่อเขาสำนึกผิดจากบาปของเขา พระองค์อดทนกับอิสราเอล รุ่นแล้วรุ่นเล่า ทั้งๆ ที่เขานมัสการรูปเคารพ และหันหลังให้พระองค์ หลายครั้งหลายหน ความเมตตาที่พระเจ้ามีต่อผู้ที่ไม่สมควรได้รับ และเต็มใจให้เวลาผู้คนกลับตัวกลับใจ ด้วยความรักที่พระองค์มีต่อเขา จะเล็งเห็นได้ตลอดพระคัมภีร์เดิม จากต้นจนจบ
แม้ว่าพระคัมภีร์เดิมจะกล่าวถึงความพิโรธของพระเจ้าบ่อยมากกว่า แต่ก็เอ่ยถึงในพระคัมภีร์ใหม่เช่นกัน
ผู้ใดที่เชื่อในพระบุตร มีชีวิตนิรันดร์ แต่ผู้ใดที่ไม่ยอมรับพระบุตร จะไม่เห็นชีวิต เพราะพระเจ้ายังพิโรธเขา[9]
พระเจ้าแสดงความพิโรธจากสวรรค์ ต่อบรรดาความอธรรมและความชั่วร้ายทั้งปวงของมนุษย์ ผู้ใช้ความชั่วร้ายของตนปิดกั้นความจริง[10]
พระเจ้าจะตอบแทนแต่ละคนตามการกระทำของเขาสำหรับผู้ที่พากเพียรทำความดี คือคนที่แสวงหาศักดิ์ศรี เกียรติ และความเป็นอมตะ พระองค์จะมอบชีวิตนิรันดร์ แต่ผู้ที่มุ่งหาประโยชน์ใส่ตัวผู้ที่ปฏิเสธความจริงและติดตามความชั่ว จะได้รับอาญาและความพิโรธ[11]
จากนั้นบรรดากษัตริย์ในโลก เจ้านาย ขุนพล เศรษฐี ผู้ยิ่งใหญ่ และทุกผู้ทุกคน ไม่ว่าทาสหรือไท ต่างหลบซ่อนในถ้ำ ในหลืบหิน ร้องบอกภูเขาและหินผาว่า "จงถล่มลงมากลบเรา และซ่อนเราไว้จากพระองค์ผู้อยู่บนบัลลังก์ และจากความพิโรธของพระเมษโปดก เพราะวันยิ่งใหญ่แห่งความพิโรธของทั้งสองพระองค์ มาถึงแล้ว ใครเล่าจะทนได้"[12]
พระเจ้าต้องตอบรับต่อความบาป และโทษของบาป คือความพิโรธจากพระองค์ มีอยู่จริง เพราะไม่มีผู้ใดชอบธรรม ทุกคนที่ทำบาป ถ้าไม่ใช่เพราะความเมตตา ความอดกลั้น แผนการเรื่องความรอด และการไถ่บาปจากพระเจ้า มนุษย์ทั้งปวงในสภาพธรรมชาติคงถูกลิขิตให้โทษเพราะบาป และลิขิตให้รับความพิโรธจากพระเจ้า
ดังที่เขียนไว้ว่า "ไม่มีสักคนที่ชอบธรรม ไม่มีแม้แต่คนเดียวเลย"[13]
เพราะว่าทุกคนทำบาป และเสื่อมจากสง่าราศีของพระเจ้า[14]
พระเจ้าบริสุทธิ์ ส่วนมนุษย์มีบาป ดังนั้นมนุษย์จึงต้องแยกจากพระเจ้า อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติพระเจ้าเกลียดชังบาป ทว่าวิสัยของพระองค์ยังประกอบด้วยความรัก ความเมตตา และความกรุณาปรานี ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการที่พระองค์ยอมไปจนถึงที่สุด ในความรักที่มีต่อมวลมนุษย์ เพื่อทำให้การอภัยบาปเป็นไปได้ Logos แปลว่าพระเจ้าผู้เป็นพระบุตร ได้จุติมาบังเกิด ดำเนินชีวิตโดยปราศจากบาป และพลีชีพด้วยความตายที่โหดร้าย เพราะความรักสุดซึ้ง เพื่อให้เป็นไปได้ที่มนุษย์จะสมานไมตรีกับพระเจ้า พระองค์ยอมทนทุกข์แทนเรา โดยรับโทษจากความพิโรธของพระเจ้า เพื่อบาปที่เราก่อ
อิสรภาพจากความพิโรธ
ความพิโรธของพระเจ้าเป็นสิ่งที่เตือนสติ และน่าหวาดหวั่น อย่างไรก็ตาม พระเจ้ามีความรักลึกซึ้งต่อมนุษย์ทุกคน ดังที่เห็นได้ชัดจากการที่พระองค์ยอมเสียสละ เราไม่ควรมีข้อสงสัยข้องใจในความดีงาม ความรัก และความเมตตาของพระองค์ พระองค์ไม่ประสงค์ให้ผู้ใดพินาศ พระองค์ต้องการให้ทุกคนกลับใจสำนึกผิด[15] พระองค์ทำให้เป็นไปได้ที่จะหลีกเลี่ยงความโกรธและความพิโรธของพระองค์ ด้วยการที่พระเยซูรับไว้เอง
เขาถูกแทงเพราะการล่วงละเมิดของเรา เขาบอบช้ำเพราะความชั่วช้าของเรา เขารับโทษทัณฑ์ เพื่อเราจะได้สมบูรณ์ บาดแผลของเขาทำให้เราได้รับการรักษาให้หาย[16]
ลูวิสและเดมาเรสต์ บ่งบอกไว้ดังนี้
เนื่องจากการเสียสละ ยอมเป็นเครื่องบูชายัญ ด้วยความตายของพระคริสต์ พระเจ้ามองเห็นผู้มีความเชื่อ โดยปราศจากความไม่พอใจ และผู้มีความเชื่อสมานไตรีกับพระเจ้าได้ "พระเจ้าให้พระเยซูเป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาป แก่ผู้ที่มีความศรัทธาในโลหิตของพระเยซู"[17]
เพราะความพิโรธของพระเจ้าผันแปรไป เราจึงได้ชื่นชมการสมานไมตรีกับพระเจ้า พระคริสต์ไม่เพียงลบล้างความพิโรธ ทว่าบันดาลให้ทุกสิ่งทั้งบนแผ่นดินโลกและในสวรรค์ สมานไมตรีกับพระองค์ ด้วยการสร้างสันติภาพ โดยโลหิตของพระองค์หลั่งรินที่ไม้กางเขน[18]พวกเราที่เคยกลัวความพิโรธของพระเจ้า บัดนี้ชื่นชมยินดีต่อพักตร์พระบิดา[19]พระเจ้าไม่ถือโทษต่อบาปของเรา[20] สำหรับผู้มีความเชื่อ พระองค์ยึดถือความชอบธรรมของพระคริสต์[21]
ความรักของพระเจ้าบันดาลให้ความพิโรธของพระองค์ กลายเป็นสันติสุข โดยการที่พระคริสต์ไถ่บาป[22]
เมื่อเขียนเกี่ยวกับการที่พระเยซูรับโทษแทนเรา นักศาสนศาสตร์ เจ ร็อดแมน วิลเลียส์ กล่าวว่า
ความพิโรธทั้งสิ้นของพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ หลั่งไหลลงมาที่พระองค์ ... ความหนักหนาของความกริ้วโกรธจากเบื้องบน ต่อบาปที่ไม้กางเขนโดยตรง เป็นสิ่งที่เหนือความเข้าใจมนุษย์ นี่คือการที่พระเจ้าสมานไมตรี ระหว่างชาวโลกกับพระองค์ ในพระคริสต์ โดยที่พระองค์ทนการประณาม และรับโทษของเรา ยอมสละชีวิตเพื่อไถ่บาปมนุษย์ทั้งปวง พระคริสต์รับโทษแทนเรา พระองค์รับการตัดสินโทษทั้งหมด และความตายที่เราสมควรได้รับ นี่คือการรับโทษแทน เกินกว่าที่มนุษย์จะรับไหว พระคริสต์รับผลกรรมทั้งสิ้นจากบาปของเรา[23]
เพราะความรักของพระเจ้า เพราะพระเยซูรับโทษจากบาปของมวลมนุษย์ไว้เอง ทุกคนที่รับพระเยซูไว้ ก็รอดพ้นจากความพิโรธของพระเจ้า
ในเมื่อบัดนี้เราถูกนับว่าเป็นผู้ชอบธรรมแล้วโดยโลหิตของพระองค์ ยิ่งไปกว่านั้น เราจะรอดพ้นจากความพิโรธของพระเจ้า โดยพระองค์ เพราะถ้าเราได้สมานไมตรีกับพระเจ้าด้วยการที่พระบุตรยอมพลีชีวิตขณะที่เราเป็นศัตรูกับพระองค์ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเราได้สมานไมตรีกับพระองค์แล้ว เราจะได้รับความรอด โดยชีวิตของพระองค์[24]
รอคอยบุตรของพระองค์จากสวรรค์ ผู้ซึ่งพระองค์บันดาลให้ฟื้นคืนชีพ คือพระเยซู ผู้ช่วยเราให้รอดพ้นจากความพิโรธที่จะมาถึง[25]
ปัจจุบันมนุษย์มีสภาวะธรรมชาติซึ่งถูกตัดขาดจากพระเจ้าเพราะบาป ส่งผลให้เขาถูกตัดสินโทษในชีวิตภายภาคหน้า ผู้ที่เชื่อในพระเยซูจะไม่ถูกตัดสิน เพราะพระองค์รับโทษแทนเขา ส่วนผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับความรอดที่พระองค์หยิบยื่นให้ จะถูกตัดสินและถูกตัดขาดจากพระเจ้าต่อไป เหมือนที่เป็นอยู่แล้ว ความรอดหยิบยื่นการเปลี่ยนสถานภาพจากการถูกตัดสินลงโทษ พระเยซูไม่ได้มายังโลกนี้เพื่อตัดสินผู้คน ทว่าเพื่อกอบกู้เขาจากการถูกตัดสิน ซึ่งเขาได้รับอยู่แล้ว เนื่องจากการวิสัยของมนุษย์ผู้ตกต่ำและมีบาปแต่กำเนิด ถ้าเขายอมรับพระองค์ เขาจะไม่พินาศ ถ้าเขาเลือกที่จะไม่ยอมรับพระองค์ เขาก็จะถูกตัดสินต่อไป นั่นเป็นสภาวะตามธรรมชาติของมนุษย์
พระเยซูอธิบายต่อนิโคเดมัสไว้ดังนี้
เพราะพระเจ้าไม่ได้ส่งพระบุตรมาในโลกเพื่อพิพากษาลงโทษแต่เพื่อช่วยชาวโลกให้รอด โดยพระบุตรนั้น ผู้ใดที่เชื่อในพระองค์ ก็ไม่ถูกพิพากษาแต่ผู้ใดที่ไม่เชื่อ ก็ถูกพิพากษาอยู่แล้วเพราะเขาไม่เชื่อในพระนามของพระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า[26]
พระเจ้าเที่ยงแท้ต่อคุณลักษณะและวิสัยทุกอย่างของพระองค์ ในคุณลักษณะที่บริสุทธิ์ ชอบธรรม เที่ยงธรรม มีความรักความเมตตา และความกรุณาปรานี พระองค์มอบลู่ทางการสมานไมตรีระหว่างพระองค์กับสิ่งสร้างสรรค์ พระเยซูยอมเสียสละ การที่พระองค์พลีชีพบนไม้กางเขน ทำให้เป็นไปได้ที่ผู้คนไม่ต้องทนทุกข์จากการพิพากษาอันชอบธรรมของพระเจ้า ต่อบาปที่เขาก่อ ดังนั้นเขาจึงหลีกเลี่ยงที่จะประสบกับความพิโรธของพระองค์
นี่คือความรักที่พระเจ้ามีต่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง แน่นอนว่าการที่ผู้คนจะตระหนักและเข้าใจถึงการสมานไมตรีที่พระเจ้าหยิบยื่นให้ เขาต้องได้ยินได้ฟังเรื่องนี้ พวกเราที่เป็นอิสระจากความพิโรธของพระเจ้า ซึ่งสมานไมตรีกับพระองค์แล้ว โดยผ่านพระเยซู เราได้รับมอบหมายจากพระองค์ให้แบ่งปันข่าวดีที่แสนวิเศษนี้กับชาวโลก
ทั้งหมดนี้มาจากพระเจ้า ผู้ให้เราสมานไมตรีกับพระองค์ โดยผ่านพระคริสต์และมอบหมายพันธกิจการสมานไมตรีแก่เรา คือพระเจ้าให้ชาวโลกสมานไมตรีกับพระองค์ในพระคริสต์และไม่ถือโทษบาปของมนุษย์พระองค์มอบหมายข่าวสารการสมานไมตรีนี้ไว้กับเรา เราจึงเป็นทูตของพระคริสต์ เสมือนหนึ่งพระเจ้าร้องเรียกท่านผ่านเรา[27]
ส่วนท่านได้ตายแล้ว ในการล่วงละเมิดและบาปที่ท่านเคยก่อ เมื่อดำเนินชีวิตตามวิถีของโลกนี้และวิถีของผู้มีอำนาจในฟ้าอากาศ คือวิญญาณที่ดำเนินการอยู่ในหมู่ผู้คนที่ไม่เชื่อฟัง ครั้งหนึ่งเราเคยใช้ชีวิตร่วมกับพวกนั้น เพื่อสนองกิเลสตัณหาทางเนื้อหนัง สนองความอยากทางร่างกายและความนึกคิด ตามวิสัยของชนชาติที่สมควรได้รับความพิโรธ เหมือนคนอื่นๆ แต่เนื่องจากความรักใหญ่หลวงที่มีต่อเราพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาเหลือล้น จึงให้เรามีชีวิตอยู่กับพระคริสต์ แม้ว่าเราได้ตายแล้วในบาปคือ ท่านได้รับความรอดโดยพระคุณ และพระองค์ให้เราฟื้นขึ้นมากับพระคริสต์พระเจ้าให้เรานั่งอยู่ในสวรรค์กับพระคริสต์ เพื่อในยุคต่อๆไป พระองค์จะได้แสดงพระคุณอันหาใดเปรียบซึ่งแสดงด้วยความกรุณาที่มีต่อเราในพระเยซูคริสต์ เพราะว่าท่านได้รับความรอดโดยพระคุณ ผ่านความศรัทธาไม่ได้มาจากตัวท่านเองแต่เป็นของขวัญจากพระเจ้า ไม่ใช่ความรอดโดยการประพฤติจึงไม่มีใครอวดได้[28]
[1] สุภาษิต 6:16-19
[2] สดุดี 5:4-6
[3] กอร์ดอน อาร์ ลูวิส และ บรูซ เอ เดมาเรสต์ ใน Integrative Theology (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์ซอนเดอร์แวน ค.ศ. 1996) เล่ม 1 หน้า 236
[4] จอห์น ธีโอดอร์ มูลเลอร์ ใน Christian Dogmatics, A Handbook of Doctrinal Theology for Pastors, Teachers, and Laymen (เซนต์หลุยส์: สำนักพิมพ์คอนคอร์เดียพับลิชชิงเฮาส์ ค.ศ. 1934) หน้า 172
[5] เวย์น กรูเดม ใน Systematic Theology, An Introduction to Biblical Doctrine (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์อินเตอร์วาร์ซิตี้เพรส ค.ศ. 2000) หน้า 206
[6] จอห์น ไมเลย์ ใน Systematic Theology (นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์ฮันท์แอนด์อีตัน ค.ศ. 1892) หน้า 201
[7] อพยพ 32:9-10
[8] อพยพ 32:14
[9] ยอห์น 3:36
[10] โรม 1:18
[11] โรม 2:6-8
[12] วิวรณ์ 6:15-17
[13] โรม 3:10
[14] โรม 3:23
[15] พระองค์ไม่ได้เชื่องช้าที่จะทำตามคำสัญญาอย่างที่บางคนคิด แต่อดทนกับท่าน เพราะพระองค์ไม่ประสงค์ให้ผู้ใดพินาศ แต่ประสงค์ให้ทุกคนกลับใจ 2 เปโตร 3:9
[16] อิสยาห์ 53:5
[17] พระเจ้าให้พระเยซูเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปแก่ผู้ที่มีความเชื่อในโลหิตของพระเยซู พระเจ้าทำเช่นนี้เพื่อแสดงความชอบธรรมของพระองค์ เพราะโดยความอดกลั้น พระองค์จึงไม่ได้ลงโทษบาปที่ทำไปก่อนหน้านั้น โรม 3:25
[18] เพราะว่าพระเจ้าพอใจที่จะให้ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นของพระองค์อยู่ในพระบุตร และให้สรรพสิ่ง ทั้งบนแผ่นดินโลกและในสวรรค์ สมานไมตรีกับพระองค์ผ่านพระบุตร สันติภาพนี้มีขึ้นโดยโลหิตของพระบุตร ซึ่งหลั่งรินบนไม้กางเขน โคโลสี 1:19-20
[19] เราชื่นชมยินดีในพระเจ้า โดยพระเยซูคริสต์ บัดนี้พระองค์ให้เราสมานไมตรีกับพระเจ้าแล้ว โรม 5:11
[20] พระเจ้าให้ชาวโลกสมานไมตรีกับพระองค์ ในพระคริสต์ และไม่ถือโทษบาปของมนุษย์ พระองค์มอบหมายข่าวสารการสมานไมตรีนี้ไว้กับเรา 2 โครินธ์ 5:19
[21] กอร์ดอน อาร์ ลูวิส และ บรูซ เอ เดมาเรสต์ ใน Integrative Theology (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์ซอนเดอร์แวน ค.ศ. 1996) เล่ม 2 หน้า 406
[22] กอร์ดอน อาร์ ลูวิส และ บรูซ เอ เดมาเรสต์ ใน Integrative Theology (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์ซอนเดอร์แวน ค.ศ. 1996) เล่ม 2 หน้า 154
[23] เจ ร็อดแมน วิลเลียมส์ ใน Renewal Theology, Systematic Theology from a Charismatic Perspective (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์ซอนเดอร์แวน ค.ศ. 1996) หน้า 359
[24] โรม 5:9-10
[25] 1 เธสะโลนิกา 1:10
[26] ยอห์น 3:17-18
[27] 2 โครินธ์ 5:18-20
[28] เอเฟซัส 2:1-9
Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้