หัวใจสำคัญ: ตรีเอกานุภาพ (ตอนที่ 3)

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

พฤษภาคม 31, 2011

ดังที่เราเห็นแล้วจากตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ในหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ ว่านี่ไม่ใช่หลักการที่เข้าใจได้ง่าย บางส่วนเราคงไม่เข้าใจด้วยการคิดหาเหตุผลธรรมดาๆ ฉะนั้นจึงเป็นความเร้นลับ แม้ว่าจะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึงกระนั้นก็ยังเป็นความจริง

นักปรัชญาคริสเตียน ชื่อ เคนเนธ แซมเปิลส์ แถลงว่า “ถึงแม้ว่าหัวคิดที่จำกัดของมนุษย์จะไม่เข้าใจหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพอย่างถ่องแท้ แต่สิ่งที่คริสเตียนเชื่อเกี่ยวกับหลักคำสอนนี้ก็ชัดเจนและแน่นอน ในหลักความเชื่อและถ้อยแถลงเรื่องความศรัทธาของโบสถ์ อย่างไรก็ตาม ความจริงของหลักคำสอนก็สื่อความกันได้อย่างชัดเจนและน่าเชื่อ ถ้าผู้มีความเชื่อรับผิดชอบอย่างจริงจัง ที่จะศึกษา และแสดงตนให้เป็นที่ชอบพระทัย (2 ทิโมธี 2:15)”[1]

ทั้งๆที่มีคุณลักษณะเร้นลับ บางครั้งเราก็พบว่าต้องอธิบายหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ ในขณะที่เราเป็นพยาน หรือสอนคนอื่น ผู้ซึ่งมีความประสงค์จะเติบโตในความศรัทธา

อุปมาอุปไมยเรื่องตรีเอกานุภาพ

เมื่อคริสเตียนพบว่าจำเป็นต้องอธิบายเรื่องตรีเอกานุภาพให้ใครสักคนฟัง วิธีที่ใช้กันมากที่สุดก็คือ การเปรียบเทียบกับสิ่งที่คุ้นเคย โดยใช้ภาพจากอุปมาอุปไมย คุณอาจบอกว่า “ตรีเอกานุภาพเป็นเหมือน...” แล้วก็รวมการเปรียบเทียบไว้ เพื่อช่วยอธิบายตรีเอกานุภาพในแง่ที่เข้าใจได้ หรือคุ้นเคย นี่เป็นวิธีอธิบายอย่างง่ายๆที่ดีทีเดียว ถึงแม้ว่าการใช้ภาพจากอุปมาอุปไมยจะค่อนข้างยาก แม้ว่าการใช้อุปมาอุปไมยมีความคล้ายคลึงกับตรีเอกานุภาพ ก็ไม่ได้อธิบายอย่างครบถ้วนหรือตรงตัวทีเดียว อาจดูเหมือนว่าบางอย่างเป็นคำอธิบายที่ดี เมื่อดูผิวเผิน แต่อาจขัดแย้งกับหลักคำสอนก็ได้

ผมคิดว่าคงช่วยได้ ถ้าจะเอ่ยถึงภาพจากอุปมาอุปไมยบางอย่างที่ใช้กันมากกว่า เผื่อว่าคุณอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้อธิบายแง่คิดเรื่องตรีเอกานุภาพ นอกจากนี้ก็มีประโยชน์ด้วยที่จะทราบข้อบกพร่องในภาพจากอุปมาอุปไมยต่างๆ เพื่อจะได้ระมัดระวัง เมื่อนำมาใช้อธิบาย

ตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอุปมาอุปไมยที่นิยมคือ ตรีเอกานุภาพเป็นเหมือนน้ำ ซึ่งมีสถานะต่างๆ เช่น น้ำแข็ง (ของแข็ง) น้ำ (ของเหลว) และไอน้ำ (ก๊าซ) ทั้งสามสถานะแตกต่างกัน ทว่ามีแก่นแท้เดียวกัน แม้ว่าจะดูเป็นอุปมาอุปไมยที่ดีในระดับเบื้องต้น ข้อบกพร่องก็คือ น้ำอยู่สถานภาพอย่างใดอย่างหนึ่งตามลำดับ แต่ไม่สามารถเป็นทั้งสามสถานภาพพร้อมๆกัน อีกตัวอย่างหนึ่งคืออุปมาอุปไมยเรื่องไข่ เช่นไข่ประกอบด้วยสามส่วน คือเปลือก ไข่แดง และไข่ขาว ซึ่งประกอบกันเป็นไข่ พระเจ้าก็ประกอบด้วยสามท่านในองค์เดียว

อุปมาอุปไมยทั้งสองอย่างเสนอแนะความคล้ายคลึงบางส่วนกับตรีเอกานุภาพ ทว่ามีจุดอ่อนข้อใหญ่ด้วย อุปมาอุปไมยเรื่องน้ำบ่งบอกถึง modalism ซึ่งบ่งบอกว่าสามท่านในตรีเอกานุภาพไม่แตกต่างจากกัน ทว่าเป็นเพียงภาพสะท้อนที่แตกต่างกันของพระเจ้า อุปมาอุปไมยเรื่องไข่ชี้ให้เห็นสามส่วนที่ประกอบกันเป็นไข่ อย่างไรก็ตามไม่มีส่วนใดตามลำพังที่ครบถ้วน เป็นไข่ทั้งฟอง ทว่าในตรีเอกานุภาพแต่ละส่วน พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ต่างก็เป็นพระเจ้า และมีแก่นแท้เดียวกัน

คำอุปมาอุปไมยซึ่งมีพื้นฐานจากความสัมพันธ์ ที่ว่าตรีเอกานุภาพเป็นเหมือนครอบครัว หรือสังคม หรือเหมือนฝ่ายชายผู้เป็นพ่อ เป็นบุตร และเป็นสามี ฉะนั้นจึงเป็นสามสภาพในองค์เดียว แล้วก็มีอุปมาอุปไมยที่เกี่ยวโยงกับลักษณะความนึกคิด เช่น เชาวน์ปัญญา ความจำ และความประสงค์ บางคนก็นำแง่คิดจากโลกธรรมชาติมาใช้ เช่น ภูเขาซึ่งมียอดสามยอดจากฐานเดียวกัน หรือผลแอปเปิลที่มีเปลือก เนื้อ และแกน หรือใบไม้ที่มีสามแฉก บ้างก็เปรียบกับมิติความสูง ความกว้าง และความยาว

ตัวอย่างที่นิยมใช้ทั้งหมดนี้ คือความคล้ายคลึง หรืออุปมาอุปไมย ถึงแม้ว่าไม่สามารถอธิบายหลักคำสอนอย่างครบถ้วน ก็มีส่วนช่วยได้ในการเป็นเครื่องมือบ่งบอกความคล้ายคลึงกับตรีเอกานุภาพที่เข้าใจได้ ดังนั้นก็มีประโยชน์ในการเป็นพยานกับผู้อื่นในระดับเบื้องต้น ทว่าไม่ได้ถ่ายทอดภาพที่ถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อมีการถกกัน หรือการโต้แย้งที่น่าท้าทายกับคนที่มีความรู้ นี่จะใช้ไม่ได้ในการชี้ให้เห็นความจริงอย่างครบถ้วนเรื่องตรีเอกานุภาพ อุปมาอุปไมยมีประโยชน์ในระดับเบื้องต้น ทว่ามีขีดจำกัด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าไม่มีอุปมาอุไมยใดที่อธิบายได้ถูกต้องและครบถ้วน หรือไม่มีคำอธิบายใดเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพที่ช่วยให้เข้าใจหลักคำสอนได้ยอย่างถ่องแท้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่อาจเข้าใจด้วยความเข้าใจที่พระเจ้ามอบให้ ผมชอบคำอธิบายจากนักศาสนศาสตร์คริสเตียน ชื่อ โรเบิร์ต เอ็ม. โบแมน จูเนียร์ เมื่อเอ่ยถึงประเด็นเรื่องหัวคิดที่จำกัดของมนุษย์ ทำความเข้าใจตรีเอกานุภาพ ว่า “การบอกว่าตรีเอกานุภาพนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ ก็ไม่ถูกต้อง หรืออย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้เกิดการตีความหมายผิด นักศาสนศาสตร์ว่าด้วยเรื่องตรีเอกานุภาพไม่ได้มุ่งหมายที่จะสื่อความว่าตรีเอกานุภาพเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่มีเชาวน์ปัญญา แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ประเด็นสำคัญที่เขาบ่งบอกไว้ก็คือ ตรีเอกานุภาพเป็นเรื่องที่ไม่อาจหยั่งรู้หรือเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ด้วยหัวคิดที่จำกัดของมนุษย์ มีข้อแตกต่างระหว่างการเข้าใจบางเรื่องโดยทั่วไป กับการเข้าใจอย่างถ่องแท้และครบถ้วน นักศาสนศาสตร์หลายคนอธิบายข้อแตกต่างไว้ว่า ตรีเอกานุภาพเป็นที่ ‘เข้าใจได้’ ทว่า ‘หยั่งรู้’ ไม่ได้”[2]

ซี. เอส. ลูวิส บ่งบอกถึงประเด็นความเข้าใจเรื่องตรีเอกานุภาพไว้ในหนังสือ ชื่อ Mere Christianityเขาแถลงไว้ว่า “ในระดับเบื้องบน เรายังคงเห็นบุคลิกลักษณะต่างๆ ทว่าระดับเบื้องบน เป็นลักษณะที่ผสมผสานกันในแง่ใหม่ แต่เราไม่ได้อยู่ในระดับนั้น และไม่อาจจินตนาการได้ ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ในมิติของพระเจ้า เราเห็นว่าท่านผู้มีสามสถานะ ทว่ายังคงเป็นท่านเดียว ... แน่นอนว่าเราไม่หยั่งรู้อย่างถ่องแท้ ถึงท่านผู้นั้น สมมุติว่าเราถูกสร้างขึ้นมาให้เข้าใจได้สองมิติเท่านั้น คือความกว้างและความยาว เราก็ไม่มีทางจินตนาการถึงความสูงหรือความลึกได้อย่างถูกต้อง

“เมื่อเรานึกถึงตรีเอกานุภาพ เราไม่ควรคิดว่าเป็นความขัดแย้งที่เป็นไปไม่ได้ หรือเป็นคณิตศาสตร์ที่ไม่ได้ความ (1+1+1=1) การนึกคิดเช่นนี้เป็นการทึกทักว่าเราเข้าใจพระเจ้า เช่นเดียวกับที่เราเข้าใจมนุษย์และความสัมพันธ์ของมนุษย์ เราไม่อาจหยั่งรู้ถึงพระเจ้าได้ในบางส่วน ทั้งนั้นทั้งนั้น เรากำลังพูดถึงพระผู้สร้างผู้เป็นอมตะ”[3]

หลักความเชื่อของคริสเตียนสมัยแรกๆ

ในการพยายามมอบคำสอนและคำจำกัดความที่ชัดเจน สำหรับผู้มีความเชื่อทุกคน ข้ออ้างอิงที่เรากล่าวถึงไว้ว่าเป็น “หลักความเชื่อ” หลายชุด ถูกแยกแยะไว้สมัยแรกๆในประวัติความเป็นมาของโบสถ์ ซึ่งเป็นทั้งคำประกาศถึงความศรัทธา และถ้อยแถลงถึงหลักคำสอนของผู้มีความเชื่อ

ในบทความที่แล้ว เรื่องตรีเอกานุภาพ มีข้ออ้างอิงถึงหลักข้อเชื่อที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือ หลักข้อเชื่อไนเซีย หลักข้อเชื่อนี้เป็นผลงานของสภาสมานฉันท์ ซึ่งประกอบด้วยบิชอปจากโบสถ์คริสเตียนทุกแห่งในสมัยนั้น สภาดังกล่าวตั้งขึ้นโดยจักรพรรดิคอนสแตนติน ในปี ค.ศ.325 เพื่อถกถึงข้อข้องใจเรื่องลัทธิเอเรียน (Arianism) บุคคลที่นำการโต้แย้งต่อต้านเอเรียส มีนามว่า เอธานาเซียส วัยยี่สิบเก้าปี ซึ่งเป็นเลขาธิการของบิชอปแห่งอเล็กซานเดรีย สองสามปีต่อมาเขากลายเป็นบิชอปแห่งอเล็กซานเดรีย

ถึงแม้ว่าสภาเห็นพ้องกับเอธานาเซียส และได้กำหนดหลักข้อเชื่อไนเซียขึ้นมา และกล่าวประณามลัทธิเอเรียน แต่เรื่องนี้ยังคงเป็นข้อโต้แย้งต่อไป จนมีการจัดประชุมสภาสมานฉันท์อีกครั้ง คือสภาที่ปรึกษาแห่งคอนสแตนติโนเปิล ในปี ค.ศ.381 ซึ่งให้การยืนยันสนับสนุนหลักข้อเชื่อไนเซีย และมีข้อแก้ไขเพิ่มเติมบางประการ หลังจากนั้นลัทธิเอเรียนก็เริ่มหมดความนิยม และเลือนหายไป

หลักความเชื่อเช่นหลักข้อเชื่อไนเซีย และหลักความเชื่อของอัครสาวกสมัยแรกๆ มีการท่องจำและท่องปากเปล่าในโบสถ์ต่างๆ และในการร่วมมิตรภาพ เพื่อเป็นสื่อในการสอนสมาชิกถึงหลักความเชื่อและคำสอนของคริสเตียน ยังคงมีการสอนหลักข้อเชื่อไนเซีย และท่องจำกันตามโบสถ์จำนวนมากในปัจจุบัน ฉบับที่ท่องกันสมัยนี้มีข้อแก้ไขเพิ่มเติมบางประการรวมไว้ด้วย จากสภาที่ปรึกษาคอนสแตนติโนเปิล นอกจากนี้ก็รวมบท filioqueไว้ด้วย ซึ่งเพิ่มเติมในภายหลัง[4] คำว่า Filioqueหมายความว่าพระบุตร ในภาษาลาติน ซึ่งเพิ่มเติมไว้ในประโยคที่เดิมที่มีใจความว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์มาจากพระบิดา” ในปัจจุบันมีใจความว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์มาจากพระบิดาและพระบุตร”

ต่อไปนี้เป็นหลักข้อเชื่อไนเซีย พร้อมความเห็นที่เพิ่มเติมไว้เป็นตัวเอน เพื่อบ่งชี้ประเด็นเรื่องตรีเอกานุภาพอย่างเฉพาะเจาะจง และการที่มีใจความตรงตัว

หลักข้อเชื่อไนเซีย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันด้วยว่าหลักข้อเชื่อไนเซียและคอนสแตนติโนเปิล

(ข้อความตัวเอนเป็นคำอธิบายที่ผมเพิ่มเติมไว้)

เราเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว คือพระบิดาผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สร้างสวรรค์และโลก ทุกสิ่งที่มองเห็น และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

เราเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว คือพระเยซูคริสต์ พระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า ผู้บังเกิดมาจากพระบิดา ก่อนโลกทั้งปวง (บ่งบอกว่าพระบุตรมีอยู่ก่อนสิ่งสร้างสรรค์) พระเจ้าแห่งพระเจ้า ความสว่างแห่งความสว่าง พระเจ้าแน่แท้แห่งพระเจ้าแน่แท้ ผู้บังเกิดมา ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา มีแก่นแท้เดียวกันกับพระบิดา ผู้สร้างสรรค์สรรพสิ่งทั้งปวง (พระบุตรคือพระเจ้าแห่งพระเจ้า ผู้บังเกิดมา ไม่ใช่ถูกสร้างขึ้นมา มีแก่นแท้เดียวกันกับพระบิดา หมายความว่าพระบุตรมีแก่นแท้เดียวกัน มีสภาพเบื้องบนเดียวกัน และเป็นพระเจ้าเท่าเทียมกัน พระองค์ไม่ได้ถูกสร้างหรือเนรมิตขึ้นมา โดยพระบิดา ดังที่เอเรียสเอ่ยอ้าง) เพื่อเราและความรอดของเรา พระองค์ได้ลงมาจากสวรรค์ และจุติมาโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ จากพระนางมารี สาวพรหมจารีย์ แล้วรับสภาพเป็นมนุษย์ ถูกตรึงบนไม้กางเขนเพื่อเราด้วย ภายใต้คำสั่งของผู้ว่าการปิลาต พระองค์ต้องทนทุกข์ และถูกฝังไว้ วันที่สามพระองค์ฟื้นคืนชีพ ตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ ประทับอยู่เบื้องขวาของพระบิดา พระองค์จะกลับมาอีกครั้ง ด้วยสง่าราศี เพื่อพิพากษาทั้งคนเป็น (มีชีวิต)และคนตาย อาณาจักรของพระองค์จะไม่มีที่สิ้นสุด

เราเชื่อในพระวิญญาณบริสุทธิ์ องค์พระผู้เป็นเจ้า และผู้มอบชีวิต ผู้มาจากพระบิดาและพระบุตร (คำว่า filioqueคือพระบุตรเพิ่มเติมไว้ภายหลัง) ผู้ซึ่งได้รับนมัสการและสง่าราศี ร่วมกับพระบิดาและพระบุตร ผู้ซึ่งเหล่าผู้พยากรณ์เอ่ยถึง เราเชื่อในโบสถ์คาทอลิกและอพอสโตลิกที่ศักดิ์สิทธิ์โบสถ์เดียว (คำว่าคาทอลิกในที่นี้ หมายถึงสากล หรือชุมชนโดยรวม หรือโบสถ์คริสเตียน ไม่ใช่โบสถ์โรมันคาทอลิก) เรารับรองการบัพติศมาครั้งหนึ่ง เพื่อการไถ่บาป เราตั้งตารอคอยการฟื้นคืนชีพของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว และชีวิตในโลกภายภาคหน้า อาเมน

อีกหลักความเชื่อหนึ่งที่นำมาใช้มากขึ้น ในสมัย ค.ศ.400 คือ “หลักข้อเชื่ออะทาเนเซียน” ถึงแม้ไม่คิดกันว่าเขียนโดยอะทาเนเซีย แต่ก็ยืนยันความเชื่อในหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ หลักข้อเชื่ออะทาเนเซียนแจกแจงประเด็นต่างๆในหลักคำสอนตรีเอกานุภาพไว้อย่างชัดเจน ผมขอรวมไว้เฉพาะประเด็นต่างๆซึ่งเอ่ยถึงตรีเอกานุภาพ ฉะนั้นจึงไม่ได้หยิบยกหลักความเชื่อทั้งหมดมา ถ้าคุณสนใจที่จะอ่านหลักความเชื่อทั้งหมด ขอให้คลิ๊กดูได้ที่นี่

ข้อความที่หยิบยกมาจากหลักข้อเชื่ออะทาเนเซียน

3. ความศรัทธาของคาทอลิกมีดังนี้ เรานมัสการพระเจ้าองค์เดียวในตรีเอกานุภาพ และตรีเอกานุภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

4. ไม่สับสนในเรื่องบุคคลหรือแบ่งแยกแก่นแท้

5. เพราะมีองค์เดียวคือพระบิดา อีกองค์หนึ่งคือพระบุตร และอีกองค์หนึ่งคือพระวิญญาณบริสุทธิ์

6. ทว่าพระเป็นเจ้าคือพระบิดา คือพระบุตร คือพระวิญญาณบริสุทธิ์ ล้วนเป็นหนึ่งเดียว มีสง่าราศีเท่าเทียมกัน มีความยิ่งใหญ่เป็นอมตะร่วมกัน

7. พระบิดาเป็นเช่นไร พระบุตรก็เป็นเช่นนั้น และพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เช่นกัน

8. พระบิดาไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา พระบุตรไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา และพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา

9. พระบิดาเหนือล้ำความเข้าใจ พระบุตรเหนือล้ำความเข้าใจ และพระวิญญาณบริสุทธิ์เหนือล้ำความเข้าใจ

10. พระบิดาเป็นอมตะ พระบุตรเป็นอมตะ และพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นอมตะ

11. ทว่าทั้งสามท่านไม่ใช่อมตะสามองค์ ทว่าเป็นอมตะหนึ่งเดียว

12. เช่นเดียวกัน ไม่ใช่สามองค์ผู้ที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา หรือไม่ใช่สามองค์ผู้เหนือความเข้าใจ ทว่าองค์เดียวผู้ที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา และองค์เดียวผู้ที่เหนือล้ำความเข้าใจ

13. พระบิดายิ่งใหญ่ฉันใด พระบุตรก็ยิ่งใหญ่ฉันนั้น และพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็ยิ่งใหญ่เช่นกัน

14. ทว่าท่านไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่สามท่าน ทว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่หนึ่งเดียว

15. ดังนั้นพระบิดาคือพระเจ้า พระบุตรคือพระเจ้า และพระวิญญาณบริสุทธิ์คือพระเจ้า

16. ทว่าท่านไม่ใช่พระเจ้าสามองค์ ทว่าเป็นพระเจ้าองค์เดียว

17. ฉะนั้นพระบิดาคือองค์พระผู้เป็นเจ้า พระบุตรคือองค์พระผู้เป็นเจ้า และพระวิญญาณบริสุทธิ์คือองค์พระผู้เป็นเจ้า

18. ทว่าท่านไม่ใช่องค์พระผู้เป็นเจ้าสามองค์ แต่คือองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว

19. ความจริงในหลักของคริสเตียนกะเกณฑ์ให้ยอมรับว่าทุกท่านเป็นพระเจ้า และองค์พระผู้เป็นเจ้าลำพังองค์เดียว

20. ดังนั้นศาสนาคาทอลิกจึงมีข้อห้ามไม่ให้กล่าวว่า มีพระเจ้าสามองค์ หรือองค์พระผู้เป็นเจ้าสามองค์

21. พระบิดาไม่ได้ประกอบด้วยสิ่งใด ไม่ใช่ถูกสร้าง หรือบังเกิดมาจากสิ่งใด

22. พระบุตรมาจากพระบิดาผู้เดียว ไม่ใช่ถูกสร้างหรือเนรมิต ทว่าบังเกิดมา

23. พระวิญญาณบริสุทธิ์มาจากพระบิดาและพระบุตร ไม่ใช่ถูกสร้าง หรือเนรมิตา หรือบังเกิดมา ทว่ามาจากพระบิดาและพระบุตร

24. ดังนั้นจึงมีพระบิดาองค์เดียว ไม่ใช่พระบิดาสามองค์ มีพระบุตรองค์เดียว ไม่ใช่พระบุตรสามองค์ มีพระวิญญาณบริสุทธิ์องค์เดียว ไม่ใช่สามองค์

25. ในตรีเอกานุภาพนี้ ไม่มีผู้ใดนำหน้า หรือตามหลัง ไม่มีผู้ใดใหญ่กว่าหรือด้อยกว่ากัน

26. ทว่าทั้งสามท่านเป็นอมตะร่วมกัน และเท่าเทียมกัน

27. ดังนั้นในทุกสิ่ง ดังที่กล่าวไว้แล้ว เราควรนมัสการความเป็นหนึ่งเดียวในตรีเอกานุภาพ และตรีเอกานุภาพที่เป็นหนึ่งเดียว

บรรพบุรุษของผู้มีความเชื่อและมรดกสืบทอด

บรรพบุรุษของผู้มีความเชื่อในช่วงสี่ศตวรรษแรก พยายามหาถ้อยคำทางเทคนิคที่ถูกต้อง เพื่ออธิบายหลักคำสอนนี้ให้ชัดเจน ดังที่บ่งบอกไว้ในตอนที่สองของเรื่องตรีเอกานุภาพ การพัฒนาหลักคำสอนและถ้อยคำที่ใช้นั้นค่อยเป็นค่อยไป บ่อยครั้งเมื่อเนื้อหาความจริงของหลักคำสอนมีคนท้าทาย โดยเอ่ยอ้างความเท็จขึ้นมาต่อต้าน บรรพบุรุษของผู้มีความเชื่อสมัยแรกๆ หลายท่านพลีชีพเพื่อความศรัทธา เป็นผู้บุกเบิกหลักคำสอนและศาสนศาสตร์ของคริสเตียน พวกท่านสมควรได้รับคำขอบคุณจากเรา ที่ยอมรับความรับผิดชอบในการแจกแจงหลักคำสอนที่เป็นความเชื่อของคริสเตียน ซึ่งพวกเราในทุกวันนี้ต่างก็ได้รับประโยชน์ 

ในยุคสมัยนี้ เมื่อมีข้อมูลมากมายพร้อมที่หาดูได้ ก็ยากที่จะนึกภาพว่าใช้เวลาหลายร้อยปี ในการเรียบเรียงหลักคำสอนขึ้นมา ทว่าช่วงเวลานั้นแตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก หนังสือไม่ได้มีให้หาอ่านง่ายๆ ยังไม่มีการตีพิมพ์ และหนังสือทุกเล่มคัดลอกด้วยมือ การเดินทางก็เชื่องช้า ด้วยการเดินเท้า หรือขี่ม้า ลา หรืออูฐ หรือนั่งเรือ การสื่อสารก็ช้าพอๆกับการเดินทาง

นอกจากนี้คริสเตียนยังประสบการข่มเหงรังแก ในช่วงศตวรรษดังกล่าว การข่มเหงรังแกทุกครั้งไม่ได้รุนแรงเท่ากัน แต่อย่างน้อยก็ขัดจังหวะ บางครั้งยังผลให้ผู้มีความเชื่อเสียชีวิต รวมทั้งอัครสาวกบางท่าน และบรรพบุรุษรุ่นต่อๆมา เกิดการข่มเหงรังแกครั้งใหญ่สิบครั้ง ซึ่งต่อต้านคริสเตียน เริ่มต้นประมาณปี ค.ศ.64 ภายใต้จักรพรรดินีโร ก่อตัวเป็นการข่มเหงรังแกครั้งใหญ่ ภายใต้จักรพรรดิไดโอคลีเชียน ตั้งแต่ปี ค.ศ.303 ถึง ปี ค.ศ.311 ในช่วงเวลานั้นคริสเตียนถูกสังหารในสังเวียนเพื่อความบันเทิง

จนกระทั่งคอนสแตนตินขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ และออกประกาศิตแห่งมิลาน ในปี ค.ศ.313 ประกาศให้คริสตศาสนาถูกต้องตามกฎหมาย และการข่มเหงรังแกยุติลง จึงเป็นไปได้ที่ผู้นำโบสถ์มารวมตัวกัน เช่น ระหว่างการประชุมคณะที่ปรึกษาไนเซีย เพื่อปรึกษาหารือประเด็นต่างๆร่วมกัน พวกเราในฐานะคริสเตียนปัจจุบัน รู้สึกขอบคุณต่อท่านผู้ขยันหมั่นเพียรเหล่านั้น บรรพบุรุษจากหลายศตวรรษ และท่านผู้มีความศรัทธา ในศตวรรษต่อๆมาเช่นกัน  ในการที่พวกท่านตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำงานหนัก เพื่อค้นหาภาษาและศัพท์ มาดำเนินการด้านศาสนศาสตร์ เพื่อว่าทุกวันนี้เราจึงได้มีความเข้าใจมากขึ้น ถึงรากฐานความศรัทธาของเรา

ป.ล. ถ้าคุณประสงค์ที่จะศึกษาเพิ่มเติมถึงหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ คุณคงอยากฟังบทเรียนจาก วิลเลียม เลน เคร็ก ชื่อ “The Doctrine of the Trinity” คุณค้นหาดูได้ที่เว็บไซต์ของเขาที่ http://www.reasonablefaith.org/site/PageServer?pagename=podcasting_main

อีกแหล่งหนึ่งในการศึกษาหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพเพิ่มเติม คือ ชุดสิ่งตีพิมพ์ของ เคนเนธ แซมเปิลส์ ซึ่งค้นดูได้ที่ http://www.reasons.org/siteSearch/node/?keys=Trinity

สรุปบทความเรื่อง “ตรีเอกานุภาพ”

1. พระบิดาคือพระเจ้า
2. พระบุตรคือพระเจ้า
3. พระวิญญาณบริสุทธิ์คือพระเจ้า
4. พระบิดาไม่ใช่พระบุตร
5. พระบุตรไม่ใช่พระวิญญาณบริสุทธิ์
6. พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ใช่พระบิดา
7. มีพระเจ้าองค์เดียว


ชีวประวัติ

คาร์ล บาร์ธ หนังสือ The Doctrine of the Word of God ฉบับที่ 1 ตอนที่ 2 สำนักพิมพ์ Peabody: Hendrickson Publishers ปี ค.ศ. 2010

หลุยส์ เบอร์คอฟ หนังสือ Systematic Theology สำนักพิมพ์ Grand Rapids: Wm. B. Eerdmans Publishing Company ปี ค.ศ.1996

ฟิลลิป แครี่ คำบรรยายชุด The History of Christian Theology ชุดที่ 11, 12 สำนักพิมพ์ Chantilly: The Teaching Company ปี ค.ศ.2008

วิลเลียม เลน เคร็ก คำบรรยายชุด Defenders Series Lecture เรื่อง The Doctrine of the Trinity http://www.reasonablefaith.org/site/PageServer?pagename=podcasting_main

เจมส์ ลีโอ จูเนียร์ การ์เร็ต หนังสือ Systematic Theology, Biblical, Historical, and Evangelicalฉบับที่ 1 สำนักพิมพ์ N. Richland Hills: BIBAL Press ปี ค.ศ.2000

เวย์น กรูเดม หนังสือ Systematic Theology, An Introduction to Biblical Doctrineสำนักพิมพ์ Grand Rapids: InterVarsity Press ปี ค.ศ.2000

ปีเตอร์ ครีฟท์ และ โรนัลด์ เค. เทเซลลี หนังสือ Handbook of Christian Apologeticsสำนักพิมพ์ Downers Grove: InterVarsity Press ปี ค.ศ.1994

กอร์ดอน อาร์. ลูวิส และ บรูซ เอ. เดมาเร็สท์ หนังสือ Integrative Theology สำนักพิมพ์ Grand Rapids: Zondervan ปี ค.ศ.1996

บรูซ มิลเน หนังสือ Know the Truth, A Handbook of Christian Belief สำนักพิมพ์ Downers Grove: InterVarsity Press ปี ค.ศ.2009

จอห์น ธีโอดอร์ มูลเลอร์ หนังสือ Christian Dogmatics, A Handbook of Doctrinal Theology for Pastors, Teachers, and Layman สำนักพิมพ์ St. Louis: Concordia Publishing House ปี ค.ศ.1934

อ็อต ลุดวิค หนังสือ Fundamentals of Catholic Dogma สำนักพิมพ์ Rockford: Tan Books and Publishers, Inc. ปี ค.ศ.1960

เคนเนธ แซมเปิลส์ หนังสือ Without a Doubt – Answering the 20 Toughest Faith Questionsสำนักพิมพ์ Baker Books ปี ค.ศ.1984

จอห์น สต็อต หนังสือ Basic Christianity สำนักพิมพ์ Downers Grove: InterVarsity Press ปี ค.ศ.1971

เจ. ร็อดแมน วิลเลียมส์ หนังสือ Renewal Theology, Systematic Theology from a Charismatic Perspective สำนักพิมพ์ Grand Rapids: Zondervan ปี ค.ศ.1996

(The Heart of It All: The Trinity (Part 3).)


[1] เคนเนธ แซมเปิลส์ จากหนังสือ The Trinity: One What and Three Whos ปี ค.ศ. 2007

[2] โรเบิร์ต เอ็ม. โบแมน จูเนียร์ จากหนังสือ Orthodoxy and Heresy: A Biblical Guide to Doctrinal Discernment สำนักงาน Grand Rapids: Baker ปี ค.ศ.1992

[3] ซี.เอส. ลูวิส จากหนังสือ Mere Christianity สำนักพิมพ์ New York: HarperCollins Publishers, Inc. หน้า 162

[4] ในปี ค.ศ.1054 บท filioque มีเพิ่มเติมไว้ในหลักความเชื่อ ซึ่งก่อให้เกิดความแตกแยกหรือช่องว่าง ระหว่างโบสถ์ตะวันตกซึ่งมีฐานที่โรม กับโบสถ์ตะวันออกซึ่งมีฐานที่คอนสแตนติโนเปิล ทั้งสองฝ่ายแยกจากกันจนทุกวันนี้ ได้แก่ฝ่ายโรมันคาธอลิก และฝ่ายอีสเทิร์นออโธด็อกซ์ การแยกตัวจากกันครั้งนี้ เกิดจากการที่สันตะปะปาโรมันคาธอลิก เพิ่มบทหนึ่งเข้าไป โดยไม่ได้ปรึกษากับโบสถ์อีสเทิร์น

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้