หัวใจสำคัญ: การจุติมาเกิด (ตอนที่ 2)

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

กรกฎาคม 5, 2011

การพยายามค้นคว้าหาคำจำกัดความทางศาสนศาสตร์เกี่ยวกับพระเยซู สภาพมนุษย์และสภาพพระเจ้าของพระองค์ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสองช่วงเวลา ช่วงแรกในศตวรรษที่สี่และห้า ช่วงที่สองในศตวรรษที่สิบเก้าและยี่สิบ

เมื่อหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพถูกพัฒนาขึ้นมา และสรุปผลอย่างเป็นทางการ อันดับต่อมาก็มีการจดจ่อเรื่องหลักศาสนศาสตร์ เกี่ยวกับสองสภาพของพระคริสต์ (1) ในฐานะพระเจ้า พระองค์มีสภาพพระเจ้า และ (2) ในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พระองค์มีสภาพมนุษย์เช่นกัน ดังที่เราได้เห็นว่าหลักความเชื่อนีเซีย แถลงว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าและมนุษย์โดยแท้ คำถามก็คือ พระเยซูชาวนาซาเร็ธมีทั้งสองสภาพได้อย่างไร และทั้งสองสภาพเกี่ยวโยงกันอย่างไร สภาพหนึ่งเหนือกว่าหรือเปล่า สภาพพระเจ้าครอบครองเหนือสภาพมนุษย์ใช่ไหม ทั้งสองสภาพประกอบกันเป็นหนึ่งเดียวหรือ นี่เป็นไปอย่างไร

คำจำกัดความที่ไม่เพียงพอสำหรับสภาพของพระเยซู

ในศตวรรษที่สี่และห้า มีบิชอพหลายท่าน และหัวหน้าคริสตจักรท่านอื่นๆ ต่างก็เสนอรูปแบบตามที่เข้าใจว่าเป็นไปอย่างไร ปัญหาก็คือรูปแบบเหล่านี้ไม่เพียงพอ เพราะไม่ได้แยกแยะ และประกอบเข้าด้วยกัน ระหว่างสภาพพระเจ้าและสภาพมนุษย์ ฉะนั้นเขาจึงสรุปว่าพระเยซูมีสองบุคคล

ผมจะขอกล่าวคร่าวๆ ถึงรูปแบบหลักๆที่สรุปความไว้ไม่เพียงพอ มีประโยชน์ที่จะทราบข้อมูลดังกล่าว เพราะเป็นส่วนหนึ่งในประวัติการพัฒนาหลักความเชื่อคริสเตียน ซึ่งช่วยให้เรามีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น นี่มีประโยชน์โดยเฉพาะ เมื่อเกิดคำถามที่ท้าทาย หรือเผชิญหน้ากับคนที่ส่งเสริมหลักคำสอนที่ไม่ใช่ความจริง สองรูปแบบแรกได้แก่ Docetism และ Ebionism ซึ่งมีขึ้นสมัยแรกๆของหลักความเชื่อคริสเตียน ในช่วงศตวรรษที่หนึ่งและสอง ส่วนรูปแบบอื่นๆมีขึ้นในศตวรรษที่สี่และห้า

Docetismปฏิเสธว่าพระเยซูเป็นมนุษย์ คนกลุ่มนี้คิดว่าพระเจ้าที่ดีไม่อาจผนึกกับเนื้อหนังที่ชั่วร้าย เขาถือว่าชีวิต การกำเนิด การทนทุกข์ และความตายของพระเยซู ล้วนเป็นความเข้าใจผิด ภาพลวงตา และไม่ใช่ความจริง ฉะนั้นเขาจึงปฏิเสธว่าพระเยซูมีสภาพเป็นมนุษย์จริง

(อัครสาวกยอห์น หักล้างความเชื่อ Docetism ไว้ใน 1 ยอห์น 4:2-3 “โดยข้อนี้ท่านรู้จักพระวิญญาณของพระเจ้า คือวิญญาณทั้งปวงที่ยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ได้เสด็จมาเป็นมนุษย์ วิญญาณนั้นก็มาจากพระเจ้า และวิญญาณทั้งปวงที่ไม่ยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ได้เสด็จมาเป็นมนุษย์ วิญญาณนั้นก็ไม่ได้มาจากพระเจ้า วิญญาณนั้นแหละเป็นปฏิปักษ์ต่อพระคริสต์ ซึ่งท่านได้ยินว่าจะมา และบัดนี้ก็อยู่ในโลกแล้ว” และ 2 ยอห์น 7 “เพราะว่ามีผู้ล่อลวงเป็นอันมากท่องไปในโลก คือคนที่ไม่รับว่าพระเยซูคริสต์ได้เสด็จมาเป็นมนุษย์ คนนั้นแหละเป็นผู้ล่อลวงและเป็นปฏิปักษ์ต่อพระคริสต์”)

Ebionismมาจากรูปแบบความเชื่อคริสเตียนซึ่งมีพื้นฐานจากศาสนายิว เนื่องจากเขาไม่อาจยอมรับว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า เพราะศาสนายิวมีพระเจ้าองค์เดียว พวกนี้ยึดถือว่าพระเยซูมีสภาพเป็นมนุษย์ แต่ปฏิเสธว่าพระองค์เป็นพระเจ้า เขาบอกว่าพระองค์เป็นมนุษย์ เนื่องจากว่าพระองค์ยึดถือบัญญัติอย่างเคร่งครัด พระองค์กลายเป็นพระมาซีฮา และพระบุตรของพระเจ้า ตอนที่รับบัพติศมาจากยอห์น ผู้ให้บัพติศมา

Arianism:ดังที่เราได้เห็นในบทความก่อนหน้านี้ เอเรียสเห็นว่า Logos คือพระบุตรของพระเจ้า เป็นสิ่งสร้างสรรค์ของพระเจ้า ฉะนั้นจึงไม่ใช่พระเจ้า ด้วยเหตุนี้เขาจึงปฏิเสธสภาพพระเจ้าของพระเยซู

Apollinarianism: อพอลลินาเรียส เป็นบิชอพที่เลาดิเซีย ตอนราวๆ ค.ศ. 361 เขาสอนว่าพระคริสต์มีร่างมนุษย์ และมีดวงจิตมนุษย์ (สัตว์) แต่ไม่ใช่ดวงจิตหรือวิญญาณของมนุษย์ที่มีความคิด ดวงจิตหรือวิญญาณที่มีความคิดของมนุษย์ ซึ่งดำเนินอยู่ในพระองค์ มาจาก Logos คือพระบุตรผู้เป็นพระเจ้า ถ้าเป็นเช่นนี้ พระเยซูก็ไม่ใช่มนุษย์เต็มตัว เพราะพระองค์ไม่มีความนึกคิดของมนุษย์ มีแต่ร่างมนุษย์ ดังที่แถลงไว้ในบทความข้างต้น พระเยซูต้องเป็นมนุษย์เต็มตัว จึงจะเป็นสื่อไปสู่ความรอด เพื่อไถ่บาปให้มนุษย์ ข้อโต้แย้งหนึ่งที่ต่อต้าน Apollinarianism ก็คือ “สิ่งที่ท่านไม่ได้ครอบครอง ท่านก็เยียวยารักษาไม่ได้” ในความรอด ร่างมนุษย์ไม่เพียงต้องมีพระเยซูเป็นตัวแทน ทว่าพระองค์ต้องเป็นตัวแทนในความนึกคิดและวิญญาณของมนุษย์ด้วย

Nestorianism: เนสทอเรียส เป็นบิชอพแห่งคอนสแตนติโนเปิล ในปี ค.ศ.428 คำสอนในนามของเขาคือ พระคริสต์มีสองบุคคลจริง ในร่างเดียว แทนที่จะเป็นบุคคลเดียว เขาโต้แย้งว่าไม่มีการผนึกกันอย่างแท้จริง ระหว่าง Logos และมนุษย์ ทว่าเป็นการสถิตอยู่ร่วมกัน แต่ข้อนี้ไม่สอดคล้องกับที่พระคัมภีร์ใหม่สะท้อนให้เห็นพระเยซู ซึ่งไม่ได้บ่งบอกว่าสภาพมนุษย์ของพระองค์ แยกจากสภาพพระเจ้า ไม่มีสัมพันธภาพส่วนบุคคลที่แยกแยะระหว่างสภาพมนุษย์และสภาพพระเจ้าของพระองค์ ไม่มีสัมพันธภาพที่บ่งบอกไว้ว่าเป็น “เรา” และ “ท่าน” ดังที่มีอยู่ระหว่างสามองค์ในตรีเอกานุภาพ ผู้เขียนในพระคัมภีร์ใหม่ไม่ได้บ่งบอกว่าสภาพมนุษย์ของพระเยซูทำเช่นนี้ หรือสภาพพระเจ้าของพระองค์ทำเช่นนั้น ทว่าสะท้อนให้เห็นพระเยซูเป็นบุคคลเดียว ไม่ใช่สองบุคคล

Monophysitism (รู้จักในนาม Euthychianism ด้วย) เป็นคำสอนที่คัดค้าน Nestorianism ยูไทเชส (ราวๆปี ค.ศ.378-454) สอนว่าสภาพมนุษย์ของพระเยซูผนึกกับสภาพพระเจ้า ฉะนั้นพระองค์จึงมีสภาพเดียว ยังผลให้สภาพของพระเยซูเป็นสภาพรวม ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า หมายความว่าสภาพรวมนี้ เป็นสภาพประเภทที่สาม คือไม่ใช่มนุษย์ และไม่ใช่พระเจ้า ซึ่งถือกันว่าเป็นสภาพที่สับสนหรืองงงัน

สภาพความเป็นจริงของพระเยซู

เป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าใจว่าพระเยซูมีสองสภาพ คือ สภาพพระเจ้า และสภาพมนุษย์ แต่สภาพหนึ่งไม่ได้ซึมซับอีกสภาพหนึ่งไว้ จึงไม่มีความสับสนระหว่างสภาพดังกล่าว ถึงแม้ว่าพระเยซูมีสองสภาพ แต่มีเพียงบุคคลเดียว ทั้งสองสภาพไม่ได้อยู่เคียงข้างกันภายในพระเยซู เพราะนั่นคงทำให้พระเยซูเป็นสองบุคคลในร่างเดียว ทว่าทุกสิ่งพรั่งพรูออกมาจากบุคคลเดียวที่เป็นศูนย์กลาง ทั้งสองสภาพพรั่งพรูออกมาร่วมกันด้วยความกลมเกลียวในพระเยซู พระองค์จึงไม่ใช่พระเจ้าและมนุษย์ ทว่าคือมนุษย์ผู้เป็นพระเจ้า คือบุคคลเดียว[1]

วิลเลียม เลน เคร็ก อธิบายไว้คร่าวๆเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “การกล่าวว่าพระคริสต์คงอยู่ในสองสภาพ หมายถึงอะไร นั่นหมายความว่าพระคริสต์เป็นบุคคลจากเบื้องบน ผู้ซึ่งจุติมาเกิดในร่างกายและดวงจิตที่รู้จักนึกคิด อันเป็นแก่นแท้ของมนุษย์ พระองค์คือทุกสิ่งที่ต้องมีเพื่อเป็นพระเจ้า และทุกสิ่งที่ต้องมีเพื่อเป็นมนุษย์”[2]

ไม่ว่าคนเราพยายามสักแค่ไหนที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่าทั้งสองสภาพปฏิบัติงานอย่างไรในพระเยซู ก็เป็นไปไม่ได้ เราทราบและเข้าใจแง่คิดได้ เช่นเดียวกับเรื่องตรีเอกานุภาพ แต่นั่นไม่ใช่ความเป็นไปจริงๆ พระเยซูคือผู้เดียวที่เป็นพระเจ้าจุติมาเกิด คือมนุษย์ผู้เป็นพระเจ้า ฉะนั้นจึงไม่มีสิ่งใดในแวดวงประสบการณ์ของมนุษย์ ที่จะนำมาเปรียบเทียบได้ ฉะนั้นจึงไม่มีทางเข้าใจได้อย่างถ่องแท้

การที่พระเยซูปฏิสนธิขึ้นมา มีบทบาทในการที่พระเจ้า “มีร่างเป็นมนุษย์” พระนางมารี มารดาของพระองค์ ตั้งครรภ์โดยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับชายใด นางเป็นสาวพรหมจารี ผู้ที่หมั้นหมาย แต่ยังไม่ได้แต่งงาน กับโจเซฟ พระนางมารีตั้งครรภ์ ด้วยพลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จลงมาบนเธอ และฤทธิ์เดชของผู้สูงสุดจะสวมสถิตเธอ เหตุฉะนั้นองค์บริสุทธิ์ที่จะบังเกิดมานั้นจึงได้ชื่อว่า พระบุตรของพระเจ้า[3]

พระเยซูเป็นผู้เดียวที่ปฏิสนธิขึ้นมา โดยไม่มีบิดาที่เป็นมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่พระองค์มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนใคร ในแง่ที่ว่าพระองค์เป็นมนุษย์เต็มตัวและเป็นพระเจ้าเต็มตัว มีทั้งสภาพพระเจ้าและสภาพมนุษย์ การที่พระองค์ปฏิสนธิมาจากสาวพรหมจารี ก็เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นพระเจ้า รวมทั้งการที่พระองค์จุติมาเกิดเป็นมนุษย์

ผมขอเสริมเกี่ยวกับพระนางมารีไว้ ณ ที่นี้ด้วย พระนางมารีได้รับนามว่า “มารดาของพระเจ้า” จากภาษากรีก Theotokos นางได้รับนามนี้ เพื่อบ่งบอกให้ชัดเจนว่า นับจากการปฏิสนธิ พระคริสต์คือพระเจ้า ฉะนั้นนางจึงเป็นมารดาของพระเจ้า อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่านางเป็นผู้ให้กำเนิด Logos ผู้อมตะ หรือพระบุตรผู้เป็นพระเจ้า เพราะพระบุตรเป็นอมตะอยู่แล้ว ก่อนที่พระองค์จะปฏิสนธิในครรภ์พระนางมารี ฉะนั้นพระนางมารีจึงเป็นมารดาของพระเจ้า ในสภาพมนุษย์ของพระองค์

ดังที่ วิลเลียม เลน เคร็ก อธิบายไว้ว่า “หลักคำสอนคริสเตียนเรื่องการจุติมาเกิด แถลงไว้ว่าพระเยซูคริสต์คือพระเจ้าในร่างมนุษย์ ฉะนั้นพระเยซูจึงเป็นพระเจ้าโดยแท้ และเป็นมนุษย์โดยแท้เช่นกัน พระองค์บังเกิดมาจากพระนางมารี ผู้เป็นสาวพรหมจารี คือ พระเยซูปฏิสนธิอย่างปาฏิหาริย์ แต่ถือกำเนิดขึ้นมาตามธรรมชาติทุกประการ เนื่องจากพระเยซูเป็นพระเจ้าในร่างมนุษย์ ฉะนั้นพระนางมารีจึงได้รับนามในหลักความเชื่อคริสเตียนสมัยแรกๆว่า ‘มารดาของพระเจ้า’ หรือ ‘ผู้ให้กำเนิดพระเจ้า’ นี่ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้ามีตัวตน จากการที่พระนางมารีปฏิสนธิ หรือว่าพระนางมารีสร้างสรรค์พระเจ้าขึ้นมา ทว่าพระนางมารีได้รับนามว่าผู้ให้กำเนิดพระเจ้า เพราะบุคคลที่อยู่ในครรภ์ของนาง ถือกำเนิดมาเป็นพระเจ้า ฉะนั้นการที่พระเยซูกำเนิดมา ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ก็เป็นพระเจ้ากำเนิดมา”[4]

คณะที่ปรึกษาชาลเซดอน และการสรุปประเด็นนี้

ในปี ค.ศ.451 คณะที่ปรึกษาคริสตจักรจัดประชุมขึ้น โดยจักรพรรดิมาร์เซียน ที่เมืองชาลเซดอน (ปัจจุบันคือตุรกี) เพื่อสรุปประเด็นเกี่ยวกับสภาพพระเจ้าและสภาพมนุษย์ของพระเยซู มีบิชอพกว่า 500 คน มาประชุมปรึกษาหารือ เพื่อตกลงใจกันในเรื่องนี้ คณะที่ปรึกษากำหนดขอบเขตในการตั้งสมมุติฐานทางศาสนศาสตร์ เกี่ยวกับทั้งสองสภาพของพระเยซู คณะที่ปรึกษาไม่ได้พยายามแก้ปัญหาว่าการจุติมาเกิดเป็นอย่างไร หรือเป็นไปได้อย่างไร ทว่าเพียงแต่กำหนดว่าบอกกล่าวอะไรได้ และบอกกล่าวอะไรไม่ได้ โดยกำหนดขอบเขตให้ถกกันถึงปัญหานี้

คณะที่ปรึกษาให้การยืนยันดังนี้

สรุปแล้ว คุณไม่ควรจะสับสนกับทั้งสองสภาพ หรือแบ่งแยกบุคคล มีสองสภาพ ทว่ามีบุคคลเดียวในพระคริสต์

นักศาสนศาสตร์ส่วนใหญ่ เมื่อชี้ไปยังขอบเขตหลักศาสนศาสตร์ที่เหมาะสมในประเด็นนี้ มักจะเปรียบเทียบกับการแล่นเรือระหว่างโขดหินใหญ่สองก้อน ฝั่งหนึ่งคือสองสภาพ อีกฝั่งหนึ่งคือบุคคลเดียว ตราบใดที่แล่นเรืออยู่ระหว่างสองฝั่งนี้ คุณก็ปลอดภัยในด้านหลักศาสนศาสตร์

คณะที่ปรึกษาไม่ได้จัดพิมพ์หลักความเชื่อใหม่ขึ้นมา (ไม่มีหลักความเชื่อเพิ่มเติม หลังจากหลักความเชื่อนีเซีย และคอนสแตนติโนเปิล) เพียงแต่จัดพิมพ์คำจำกัดความของศรัทธา ซึ่งให้การปฏิเสธ Apollinarianism Nestorianism และ Monophysitism คำจำกัดความของชาลซีโดเนียน มีใจความว่า (ข้อความในวงเล็บเป็นคำอธิบายของผม)

เราติดตามบรรพบุรุษผู้บริสุทธิ์ โดยเห็นพ้องต้องกัน และสอนให้ผู้คนยอมรับพระบุตรองค์เดียวกัน คือพระเยซูคริสต์เจ้า พระองค์เพียบพร้อมในความเป็นพระเจ้า และเพียบพร้อมในสภาพมนุษย์ [ซึ่งคัดค้าน Apollinarianism] เป็นพระเจ้าโดยแท้ และเป็นมนุษย์โดยแท้ โดยมีดวงจิตที่นึกคิด และร่างกาย

มีตัวตนเหมือนกันกับพระบิดา ในสภาพพระเจ้า และมีตัวตนเหมือนกับเรา ในสภาพมนุษย์

เหมือนเราทุกประการ [เป็นมนุษย์เต็มตัว] ปราศจากบาป

บังเกิดมาจากพระบิดา ก่อนทุกยุคสมัย ในสภาพพระเจ้า [คงอยู่เป็นอมตะในสภาพพระเจ้า] เพื่อเราและความรอดของเรา พระองค์ถือกำเนิดมาจากสาวพรหมจารี คือพระนางมารี มารดาของพระเจ้า ในสภาพมนุษย์ [แสดงให้เห็นว่านางไม่ใช่มารดาในสภาพพระเจ้า แต่เป็นมนุษย์] นี่เป็นพระคริสต์องค์เดียวกัน คือพระบุตร องค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้บังเกิดมาองค์เดียว มีส่วนรับสองสภาพ โดยไม่สับสน ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แบ่งแยก ไม่พรากจากกัน ในสภาพที่แยกแยะ ด้วยการผนึกกัน [ซึ่งคัดค้าน Monophysitism] ทว่าสงวนแต่ละสภาพไว้ บังเกิดในบุคคลเดียว ตัวตนเดียว ไม่แบ่งแยกเป็นสองบุคคล [ซึ่งคัดค้าน Nestorianism] ทว่าเป็นพระบุตรองค์เดียว ผู้บังเกิดมาจากพระเจ้า เป็นพระคำ องค์พระเยซูคริสต์เจ้า ดังที่ผู้พยากรณ์สมัยแรกๆป่าวประกาศถึงพระองค์ไว้ และพระเยซูคริสต์ก็ได้สอนเรา และตามหลักความเชื่อของบรรพบุรุษผู้บริสุทธิ์ที่สืบทอดมายังเรา

หลายศตวรรษหลังจากการประชุมคณะที่ปรึกษาชาลเซดอน มีคำสอนชื่อ monothelitism เกิดขึ้น คำสอนนี้เอ่ยอ้างว่าพระคริสต์เป็นบุคคลเดียวที่มีสองสภาพ ฉะนั้นจึงให้การสนับสนุนคณะที่ปรึกษาชาลเซดอน คือมีอำนาจจิตเดียวของพระเจ้าและมนุษย์ ฉะนั้นจึงมีสองสภาพ ทว่ามีอำนาจจิตเดียวในพระเยซู บ้างก็เล็งเห็นว่านี่เป็นการบอกปฏิเสธคำจำกัดความของคณะที่ปรึกษาชาลเซดอน

ในการประชุมครั้งที่สามของคณะที่ปรึกษาคอนสแตนติโนเปิล ในปี ค.ศ.681 ผู้นำคริสตจักรกำหนดว่ามีสองอำนาจจิตในพระคริสต์ อำนาจจิตนี้มาจากสองสภาพที่แตกต่างกันของพระคริสต์ ไม่ใช่ของบุคคล ในคริสตจักรโดยทั่วไปเชื่อถือหลักคำสอนเรื่องสองอำนาจจิต ทว่าไม่ใช่โดยสากล

นี่คือการโต้แย้งครั้งสุดท้ายของคริสตจักรสมัยก่อนถึงหัวข้อนี้ ในศตวรรษต่อๆมา โดยเฉพาะศตวรรษที่สิบเก้าและยี่สิบ มีการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้ ซึ่งเราจะพิจารณากันในบทความต่อไป


บรรณานุกรม

คาร์ล บาร์ธ The Doctrine of the Word of God เล่ม 1 ตอนที่ 2 สำนักพิมพ์ Peabody: Hendrickson Publishers ปี ค.ศ.2010

หลุยส์ เบอร์คอฟ Systematic Theology สำนักพิมพ์ Grand Rapids: Wm. B. Eerdmans Publishing Company ปี ค.ศ.1996

ฟิลลิป แครีย์ ชุดคำบรรยายเรื่อง The History of Christian Theology ชุดที่ 11,12 สำนักพิมพ์ Chantilly: The Teaching Company ปี ค.ศ.2008

วิลเลียม เลน เคร็ก The Birth of God

วิลเลียม เลน เคร็ก The Doctrine of Christ ในคำบรรยายชุด Defenders Series

เจมส์ ลีโอ การ์เร็ตต์ จูเนียร์ Systematic Theology, Biblical, Historical, and Evangelical เล่ม 1 สำนักพิมพ์ N. Richland Hills: BIBAL Press ปี ค.ศ.2000

เวย์น กรูเดม Systematic Theology, An Introduction to Biblical Doctrineสำนักพิมพ์Grand Rapids: InterVarsity Press ปี ค.ศ.2000

ปีเตอร์ ครีฟท์ และ โรนัลด์ เค. ทาเซลลี Handbook of Christian Apologeticsสำนักพิมพ์Downers Grove: InterVarsity Press ปี ค.ศ.1994

กอร์ดอน อาร์. ลูวิส และ บรูซ เอ. เดมาเรสต์ Integrative Theology สำนักพิมพ์ Grand Rapids: Zondervan ปี ค.ศ.1996

บรูซ มิลเน่ Know the Truth, A Handbook of Christian Belief สำนักพิมพ์ Downers Grove: InterVarsity Press ปี ค.ศ.2009

จอห์น ธีโอดอร์ มูลเลอร์ Christian Dogmatics, A Handbook of Doctrinal Theology for Pastors, Teachers, and Laymenสำนักพิมพ์ St. Louis: Concordia Publishing House ปี ค.ศ.1934

ลุดวิก อ็อต Fundamentals of Catholic Dogmaสำนักพิมพ์ Rockford: Tan Books and Publishers, Inc. ปี ค.ศ.1960

จอห์น สก็อต Basic Christianity สำนักพิมพ์ Downers Grove: InterVarsity Press ปี ค.ศ.1971

ร็อดแมน เจ. วิลเลียมส์ Renewal Theology, Systematic Theology from a Charismatic Perspective สำนักพิมพ์ Grand Rapids: Zondervan ปี ค.ศ.1996


[1] เจ. ร็อดแมน วิลเลียมส์ Renewal Theology, Systematic Theology from a Charismatic Perspective (สำนักพิมพ์ Grand Rapids: Zondervan ปี ค.ศ.1996) หน้า 343-344

[2] วิลเลียม เลน เคร็ก Fictionalism and the Two Natures of Christ ปี ค.ศ.2007

[3] ลูกา 1:35

[4] วิลเลียม เลน เคร็ก The Birth of God ที่ไซท์ reasonablefaith.org

 

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้