มีรัก มีชีวิต ประกาศ สอน – ประกาศพระองค์

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

มกราคม 3, 2012

เราได้ครอบคลุมองค์ประกอบที่สองของการเป็นสาวกคือ การมีชีวิตตามพระองค์ และหลักการเก้าประการที่เกี่ยวโยงกัน ได้แก่ ความยึดมั่นในพระเยซู ความรัก ความสามัคคี ความถ่อมตน ความไม่กลัดกลุ้ม การให้อภัย การร่วมมิตรภาพ ความเอื้อเฟื้อ และการอธิษฐาน

องค์ประกอบที่สามในสี่อย่างของการเป็นสาวกคือ ประกาศพระองค์ คำอำลาของพระเยซู ก่อนที่จะขึ้นสู่สวรรค์ เป็นถ้อยแถลงงานมอบหมายแก่สาวก “ท่านจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวประเสริฐแก่มนุษย์ทุกคน”[1]

สี่สิบสามวันก่อนหน้า พระองค์สิ้นใจบนไม้กางเขน และสามวันหลังจากนั้น พระองค์ฟื้นคืนชีพ โดยมีวัตถุประสงค์ที่แท้จริง คือ มนุษยชาติจะได้มีโอกาสรับการให้อภัยจากบาป สมานไมตรีกับพระเจ้า และมีชีวิตนิรันดร์ พระเยซูทำหน้าที่เสร็จลุล่วง พระองค์บรรลุผลในงานมอบหมายบนโลกนี้แล้ว การที่พระองค์สิ้นใจ และฟื้นคืนชีพ ช่วยให้เป็นไปได้ที่เราจะรับความรอด พระองค์ช่วยให้เป็นไปได้ที่เราจะอยู่กับพระองค์ตลอดไป

ในช่วงปีท้ายๆ ของชีวิต พระองค์ได้มอบแผนยุทธศาสตร์สองต่อ คือ ให้ประกาศข่าวสารเกี่ยวกับอาณาจักรและความรอด รวมทั้งให้หากลุ่มแกนนำ ผู้ซึ่งจะอ้าแขนรับคำสอนของพระองค์ และช่วยกระจายข่าวสารออกไป เพื่อสร้างสาวก พระองค์ดำเนินชีวิตตามถ้อยแถลงในงานมอบหมาย เช่นเดียวกันกับที่มอบให้สาวก พระองค์มายังโลกนี้ และประกาศพระกิตติคุณ พระองค์ได้พบปะผู้คนที่สามารถฝึกให้ รักพระองค์ มีชีวิตตามพระองค์ ประกาศพระองค์ และสอนเกี่ยวกับพระองค์ เมื่อพระองค์ปลูกฝังทุกสิ่งที่จำเป็นให้เขาแล้ว พระองค์ก็จากไปได้ แล้วพระวิญญาณบริสุทธิ์จะมามอบพลังให้เหล่าสาวก เพื่อกระจายข่าวสารออกไปทั่วโลก

พระองค์ทำงานช่วยเหลือสาธารณชนตลอดหลายปี พระองค์ใช้เวลาประกาศ สั่งสอน และฝึกอบรม ในบทความนี้เราจะเน้นที่คำประกาศของพระองค์

หลังจากได้รับบัพติศมาจากยอห์น ผู้ให้บัพติศมา ที่แม่น้ำจอร์แดน ภายหลังจากถือศีลอดอาหาร 40 วัน 40 คืน พระองค์ไปที่เมืองคาเปอรนาอุม ในแคว้นกาลิลี นับจากนั้นมา ตามที่กล่าวไว้ในพระกิตติคุณของมาระโก พระองค์ก็เริ่ม

ประกาศข่าวประเสริฐแห่งอาณาจักรของพระเจ้า และตรัสว่า “เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว และอาณาจักรของพระเจ้าก็ใกล้เข้ามาแล้ว ท่านจงกลับใจเสียใหม่ และเชื่อข่าวประเสริฐ”[2]

พระกิตติคุณของมัทธิวกล่าวว่า

ตั้งแต่นั้นมา พระเยซูได้ทรงตั้งต้นประกาศว่า “จงกลับใจเสียใหม่ เพราะว่าอาณาจักรแห่งสวรรค์ใกล้จะมาถึงแล้ว”[3]

พระเยซูบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า การที่พระองค์ประกาศพระกิตติคุณ คือเหตุผลหนึ่งที่พระองค์มายังโลกนี้

พระองค์ตรัสแก่เขาว่า “ให้เราไปยังบ้านเมืองใกล้เคียง เพื่อเราจะได้ประกาศที่นั่นด้วย ที่เรามาก็เพื่อการนั้นเอง”[4]

แต่พระองค์ตรัสแก่เขาว่า “เราต้องไปประกาศเรื่องอาณาจักรของพระเจ้าแก่เมืองอื่นด้วย ที่เรามาก็เพราะเหตุนี้เอง”[5]

เมื่อพระองค์ไปเยี่ยมบ้านเกิดที่นาซาเร็ธ และเข้าไปที่ธรรมศาลา พระองค์ยืนขึ้นอ่านจากข้อพระคัมภีร์ พระองค์ได้รับมอบหมายให้อ่านจากหนังสืออิสยาห์ มีใจความดังนี้

“พระวิญญาณสถิตอยู่กับข้าพเจ้า เพราะว่าพระองค์ได้ทรงเจิมข้าพเจ้า ให้ประกาศข่าวประเสริฐแก่คนยากจน พระองค์ได้ทรงใช้ข้าพเจ้าให้รักษาคนที่ชอกช้ำใจ ให้ประกาศอิสรภาพแก่ผู้ที่ถูกพันธนาการ ให้ประกาศแก่คนตาบอดว่าจะได้เห็นอีก ให้ปล่อยผู้ที่ถูกกดขี่เป็นอิสระ และให้ประกาศปีแห่งความโปรดขององค์พระผู้เป็นเจ้า” แล้วพระองค์ม้วนหนังสือส่งคืนให้ แล้วนั่งลง คนทั้งปวงในธรรมศาลาเพ่งดู พระองค์จึงเริ่มตรัสแก่เขาว่า “คัมภีร์ตอนนี้ที่ท่านได้ยินกับหูของท่าน ก็สำเร็จผลในวันนี้แล้ว”[6]

พระเยซูถูกส่งมาประกาศพระกิตติคุณ และพระองค์สอนสาวกให้ทำเช่นเดียวกัน

พระองค์ทรงใช้เขาไปประกาศอาณาจักรของพระเจ้า และรักษาคนเจ็บป่วยให้หาย[7]

จงไปพลางประกาศพลาง ว่า “อาณาจักรแห่งสวรรค์ใกล้จะมาถึงแล้ว”[8]

ซึ่งเรากล่าวแก่พวกท่านในที่มืด ท่านจงกล่าวในที่สว่าง ซึ่งท่านได้ยินกระซิบข้างหู ท่านจงประกาศจากดาดฟ้าหลังคาบ้าน[9]

พระองค์จึงตั้งสาวกสิบสองคนไว้ให้เขาอยู่กับพระองค์ เพื่อจะทรงใช้เขาไปประกาศ ให้มีอำนาจรักษาโรคต่างๆ และขับวิญญาณร้ายได้[10]

พระเยซูประกาศพระกิตติคุณ และได้สอนให้สาวกทำเช่นเดียวกัน จากแบบอย่างของพระองค์ โดยให้โอกาสเขามีประสบการณ์ในการประกาศด้วยตนเอง หลังจากที่พระองค์สิ้นใจ และฟื้นคืนชีพ พระองค์กล่าวกับเขาว่า

“พระบิดาของเราทรงใช้เรามาฉันใด เราก็ใช้ท่านไปฉันนั้น” ครั้นพระองค์ตรัสดังนั้นแล้ว จึงทรงระบายลมหายใจเหนือเขา และตรัสกับเขาว่า “ท่านจงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์เถิด”[11]

ก่อนหน้าที่จะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ พระองค์ประกาศว่า

ท่านจะได้รับพลังอำนาจ เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือท่าน ท่านจะเป็นพยานฝ่ายเรา ทั้งในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรีย จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก”[12]

ภายในไม่กี่วัน พระวิญญาณบริสุทธิ์มาสวมสถิต แล้วสาวกสมัยแรกก็ประกาศพระกิตติคุณอย่างทรงพลัง ในกรุงเยรูซาเล็ม และทั่วอิสราเอล เมื่อวันเวลาผ่านไป รวมทั้งภายนอกอิสราเอล และทั่วโลก

จากการประกาศพระกิตติคุณ ความเชื่อของคริสเตียนก็กระจายไป จากการเป็นพยาน ของขวัญคือความรอด จากการที่พระเยซูสิ้นชีวิต ก็ถูกส่งมอบต่อให้แก่ผู้อื่น ถ้าสาวกรุ่นแรกไม่ประกาศพระกิตติคุณ และสอนให้คนอื่นทำเช่นเดียวกัน ก็คงไม่มีใครล่วงรู้ถึงพระกิตติคุณ พระเจ้าได้มอบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้แก่เรา ซึ่งช่วยเปลี่ยนชีวิตผู้คนชั่วนิรันดร์ เราจึงมีความรับผิดชอบ ในฐานะสาวก ที่จะมอบให้แก่ผู้อื่น เพื่อให้เขาได้รับโอกาสเช่นเดียวกัน

สาวกประกาศข่าวสารจากพระกิตติคุณ ดังที่เปโตรกล่าวไว้ใน กิจการ 10 ว่า

พระองค์สั่งให้เราประกาศแก่คนทั้งปวง และเป็นพยานว่าพระเจ้าตั้งพระองค์ไว้เป็นผู้ตัดสิน ทั้งคนเป็นและคนตาย[13]

เพราะว่า “ผู้ใดที่ร้องเรียกนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า ก็จะรอด” แต่ผู้ที่ยังไม่เชื่อในพระองค์ จะทูลขอต่อพระองค์อย่างไร และผู้ที่ยังไม่ได้ยินถึงพระองค์ จะเชื่อในพระองค์อย่างไร เมื่อไม่มีผู้ใดประกาศให้เขาฟัง เขาจะได้ยินอย่างไร ถ้าไม่มีใครใช้เขาไป เขาจะไปประกาศอย่างไร ตามที่มีคำเขียนไว้แล้วว่า “เท้าของคนเหล่านั้นที่ประกาศข่าวประเสริฐ ก็งามสักเท่าใด”[14]

สาวกประกาศด้วยถ้อยคำที่เขากล่าว ด้วยชีวิตที่เขาดำเนินอยู่ และด้วยภาพสะท้อนของพระวิญญาณพระเจ้าในตัวเขา ซึ่งนำมาสู่หัวข้อต่อไปนี้

หลักการยกชูแสงสว่าง

ท่านเป็นความสว่างของโลก นครซึ่งอยู่บนภูเขาจะปิดบังไว้ไม่ได้ ไม่มีผู้ใดจุดเทียนแล้วนำไปวางไว้ในถัง แต่ย่อมตั้งไว้บนเชิงเทียน จะได้ส่องสว่างแก่ทุกคนที่อยู่ในเรือนนั้น จงให้ความสว่างของท่านส่องไปต่อหน้าคนทั้งปวง เพื่อว่าเขาจะได้เห็นความดีที่ท่านทำ และจะได้สรรเสริญพระบิดาในสวรรค์[15]

ส่วนหนึ่งในการประกาศพระกิตติคุณก็คือ การดำเนินชีวิตโดยที่ผู้คนเห็นแสงสว่างของพระเจ้าในตัวคุณ ได้แก่ ความห่วงใย ความยินดี ความซื่อสัตย์ ภาพสะท้อนของพระเจ้า และความรักของพระองค์ในใจคุณ พระวิญญาณของพระองค์สถิตอยู่ในคุณ คุณมีแสงสว่างแห่งชีวิต มีพระเยซูในใจคุณ ถ้าคุณดำเนินชีวิตตามความศรัทธา ผู้คนก็จะเห็นว่าคุณใช้ชีวิตด้วยการมอบความสว่างแก่ผู้อื่น เมื่อผู้คนเห็นคุณ และสิ่งที่คุณทำ เขาก็จะเห็นและรู้สึกถึงพระวิญญาณของพระเจ้า

เราเป็นความสว่างของโลก ผู้ที่ตามเรามา จะไม่ดำเนินอยู่ในความมืด แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต[16]

ดังที่เปาโลเขียนถึงชาวเอเฟซัสว่า

เพราะว่าเมื่อก่อนท่านอยู่ในความมืด แต่บัดนี้ท่านพบความสว่างแล้ว ในองค์พระผู้เป็นเจ้า จงดำเนินชีวิตอย่างลูกของความสว่าง[17]

และเปาโลเขียนถึงชาวฟีลิปปี ว่า

เพื่อท่านจะได้ปราศจากมลทินและไม่มีความผิด เป็นบุตรที่ปราศจากตำหนิของพระเจ้า ท่ามกลางยุคที่คดโกงและวิปริต ท่านอยู่ในหมู่พวกเขา ดุจความสว่างในโลก[18]

พระองค์ขอให้เราดำเนินชีวิตโดยสื่อความถึงพระองค์ต่อผู้อื่น ไม่ใช่เฉพาะถ้อยคำ ทว่าด้วยการกระทำและความจริง แน่นอนว่าถ้อยคำก็มีความสำคัญ เพราะด้วยถ้อยคำ คุณก็อธิบายเรื่องความรอด และบอกถึงความรักของพระเยซู แต่การกระทำ คุณความดี แบบอย่าง ความรักความกรุณาที่มอบให้แก่ผู้คน และการที่คุณห่วงใยเขา ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะแสดงให้เห็นว่าถ้อยคำที่คุณกล่าวถึงพระเยซูนั้นเป็นจริง เพราะผู้ที่คุณพูดคุยด้วยจะรู้สึกถึงพลังของพระองค์ที่สะท้อนออกมาให้เห็น

ในฐานะสาวก ก็สำคัญที่ความสว่างของพระเจ้าจะส่องแสงผ่านคุณ ซึ่งจะเป็นเช่นนั้น เมื่อคุณรักพระองค์ มีชีวิตตามพระองค์ ประกาศพระองค์ และสอนถึงพระองค์

หลักเรื่องการ “อยู่ในโลก”

เราควรจะทำงานอย่างแข็งขันอยู่ในโลก โดยที่ไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลก

พระเยซูคือพระเจ้าจุติลงมาดำเนินชีวิตอยู่ในโลก พระองค์ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโลก แต่ดำเนินชีวิตอยู่ในโลก การที่พระองค์อยู่ในโลก ช่วยให้เป็นไปได้ที่พระองค์จะเชื่อมสัมพันธ์กับผู้ที่มีความจำเป็น โดยรักผู้คน ช่วยเหลือเขา รักษาเขา เป็นเพื่อนเขา และเป็นพยานกับเขา

ในลักษณะเดียวกัน เราอยู่ในโลก เราก็มีโอกาสเช่นกันที่จะมอบความรัก และช่วยเหลือผู้อื่น โดยนำความรักและชีวิตนิรันดร์ของพระเจ้าไปมอบให้เขา การรักพระองค์ และมีชีวิตตามพระองค์ ป้องกันเราไว้จากโลก แต่ไม่ได้แยกเราออกมาจากโลก สาวกเชื่อมสัมพันธ์กับผู้อื่น เมื่อมีโอกาส เขาก็มอบข่าวดีเรื่องความรอดให้แก่ผู้คน

หลักการก็คือ มีส่วนเกี่ยวข้องในโลกของคุณ สังคมที่คุณอาศัยอยู่ ที่ทำงาน เขตที่คุณประกาศข่าวสาร ที่ไหนก็ตามที่คุณอยู่ ในแง่ที่คุณจะเป็นพรต่อผู้อื่น

ขณะที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแข็งขันในโลกของคุณ เราต้องแน่ใจว่าเราคงไว้ซึ่งสื่อสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้า โดยถือว่าพระเจ้า พระคำ และงานมอบหมายที่ยิ่งใหญ่ มีความสำคัญในลำดับที่ถูกต้องเหมาะสม เราไม่ต้องการให้ตัวเองถูกกลืน ด้วยวิถีทางหรือสิ่งที่ชาวโลกถือว่าสำคัญ พระเยซูกล่าวถึงเรื่องนี้ในคำอธิษฐานต่อพระบิดา เมื่อพระองค์กล่าวว่า

ข้าไม่ได้ขอให้พระองค์เอาเขาออกไปจากโลก แต่ขอให้ปกป้องเขาไว้จากความชั่วร้าย เขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโลก เหมือนดังที่ข้าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโลก[19]

หลักการเรื่อง “ผู้คนบนเส้นทางชีวิต”

สาวกพร้อมที่จะเป็นพยาน อธิษฐานให้ผู้อื่น และหล่อเลี้ยงใครก็ตามที่พระเจ้านำมาตามเส้นทางชีวิต 2 ทิโมธี 4:2 บ่งบอกถึงหลักการนี้ไว้เป็นอย่างดี ว่า “จงประกาศพระคำ พร้อมที่จะดำเนินการ ทั้งในขณะที่มีโอกาส และไม่มีโอกาส” ข้อความที่ว่า “ขณะที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส” คำแปลในพระคัมภีร์บางฉบับมีใจความว่า มุ่งมั่นไม่ว่าจะสะดวกหรือไม่ ทำต่อไปเมื่อมีโอกาส และในเวลาที่ไม่เหมาะ มุ่งมั่นไม่ว่าโอกาสเป็นใจหรือไม่เป็นใจ เราบอกไม่ได้ว่าเมื่อใดคุณจะพบปะกับใครที่ต้องการข่าวสาร เมื่อถึงเวลา ในฐานะสาวก คุณควรพร้อมที่จะมอบข่าวสารของพระเจ้าให้แก่เขา

พระเยซูพร้อมที่จะตอบสนองความจำเป็น ไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไร พระองค์เผชิญหน้ากับฝูงชนในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งพระองค์ต้องลงมือดำเนินการทันที เพื่อเป็นพยาน มอบความรัก ชนะใจ เยียวยารักษา ให้อภัย และทำมหัศจรรย์ พระองค์รับมือกับทุกโอกาส

ตัวอย่างเช่น หญิงชาวสะมาเรีย งานสมรสที่คานา นิโคเดมัสมาเยี่ยม หญิงผู้ล่วงประเวณี นายร้อย ชาวกรีกที่ต้องการคุยกับพระองค์ แม่ยายของเปโตร คนใบ้ หญิงชาวคานาอัน เด็กๆ นักปกครองหนุ่มที่ร่ำรวย มารดาของยากอบและยอห์น ชายผู้เป็นอัมพาต หญิงชาวซีเรียฟีนิเซีย เด็กชายที่ถูกวิญญาณสิงสู่ บารทิเมอัสตาบอด คนโรคเรื้อน ชายมือลีบ หญิงที่ตกเลือด ศักเคียส ปีลาต และโจรที่ถูกตรึงกางเขน[20] พระองค์พร้อมเสมอ ทั้งในขณะที่มีโอกาส และไม่มีโอกาส พระองค์พร้อมทุกเมื่อ สำหรับใครก็ตามที่พระบิดานำมาบนเส้นทางชีวิตของพระองค์

พระเยซูหยิบยื่นความเอื้อเฟื้อแก่ผู้ที่พระองค์มุ่งหมายจะช่วยเหลือ คนบาปผู้ที่ต้องได้รับความรอด ผู้ซึ่งพระองค์พบปะ และทานอาหารด้วย พวกเขาไม่ใช่คนร่ำรวย คนชอบธรรม หรือผู้ที่ “ดำเนินชีวิตถูกต้อง” เสมอไป พระองค์พร้อมที่จะหล่อเลี้ยงผู้ที่คนอื่นปฏิเสธ คนเก็บภาษีที่ใครๆ เกลียดชัง คนบาป คนที่สกปรกและไม่ควรค่า พระองค์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อพระองค์เชื่อมสัมพันธ์กับคนเหล่านั้น แต่พระองค์บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าดวงวิญญาณทุกดวงสำคัญแค่ไหน ไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไร

ครั้งนั้นบรรดาคนเก็บภาษีและพวกคนบาปก็เข้ามาใกล้ เพื่อจะฟังพระองค์ ฝ่ายพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ก็บ่นว่า “คนนี้ต้อนรับคนบาป และร่วมวงกินกับเขา”[21]

พระองค์จึงเล่าเรื่องอุปมาอุปไมยให้ฟังว่า

ในพวกท่านคนใดที่มีแกะร้อยตัว และตัวหนึ่งหายไป จะไม่ละเก้าสิบเก้าตัวไว้กลางทุ่งหญ้า และเที่ยวหาตัวที่หายไปนั้น จนกว่าจะพบหรือ เมื่อพบแล้วก็อุ้มขึ้นใส่บ่าแบกมาด้วยความดีใจ พอถึงบ้าน จึงชวนมิตรสหายและเพื่อนบ้านมา บอกว่า “ยินดีกับข้าพเจ้าเถิด เพราะข้าพเจ้าพบแกะที่หายไปแล้ว” เราบอกท่านว่า เช่นนั้นแหละ จะมีความยินดีในสวรรค์ เพราะคนบาปคนเดียวที่กลับใจ มากกว่าเพราะคนชอบธรรมเก้าสิบเก้าคนที่ไม่ต้องกลับใจ

หญิงคนใดที่มีเหรียญเงินสิบเหรียญ และเหรียญหนึ่งหายไป จะไม่จุดเทียนกวาดเรือนค้นหา จนกว่าจะพบหรือ เมื่อพบแล้ว จึงชวนมิตรสหายและเพื่อนบ้านให้มา บอกว่า “ยินดีกับข้าพเจ้าเถิด เพราะข้าพเจ้าพบเหรียญเงินที่หายไปแล้ว” เช่นนั้นแหละ เราบอกท่านว่า จะมีความยินดีต่อหน้าทูตสวรรค์ของพระเจ้า เพราะคนบาปคนเดียวที่กลับใจ[22]

ทุกคนมีค่าต่อพระเจ้า พระองค์ต้องการให้ทุกคนได้รับความรอด พระองค์ชื่นชมเมื่อเขาทำเช่นนั้น พระเจ้านำผู้คนมาตามทาง เพื่อให้เราเป็นพยาน ไม่ว่าเขาจะมีสถานภาพทางสังคม มีชื่อเสียงหรือไม่มี ก็ไม่ควรจะสร้างความแตกต่าง ถ้าคุณเป็นสาวกที่พระองค์นำบุคคลผู้นี้มาพบปะ คุณควรพร้อมที่จะพูดคุยกับเขา ไม่ว่าเขาจะร่ำรวยหรือยากจน พระเจ้าไม่เลือกหน้าใคร ไม่ว่าผู้คนจะมีสถานภาพอย่างไร ก็ล้วนเป็นคนบาปต่อหน้าพระองค์ เขาต้องได้รับความรักและการไถ่บาปจากพระองค์ สาวกไม่มีหน้าที่ตัดสินหรือแยกแยะใคร แต่มีหน้าที่ประกาศพระกิตติคุณแก่ทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่พระองค์นำมาตามเส้นทางชีวิต

เมื่อรับฟังคอร์สเรื่องประวัติความเป็นมาของปรัชญาคริสเตียน ผมพบข้อความหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจ เกี่ยวกับการประกาศและการสอนคนยากจน ผู้สอนกล่าวถึงนิกายเพนตาคอส ด้วยความชื่นชมเป็นพิเศษ ในการงานที่เขาทำเพื่อเข้าถึงคนยากจน

ศาสตราจารย์ผู้นี้กล่าวว่า “นิกายเพนตาคอสเป็นรูปแบบความเชื่อคริสเตียนระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด และเติบโตรวดเร็วที่สุด นิกายเพนตาคอสกระจายตัวออกไป ดุจไฟป่า เป็นโบสถ์ที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในแถบลาติอเมริกา มีแรงชักจูงมากในแอฟริกา ในประเทศเหล่านี้ โบสถ์เพนตาคอสเป็นโบสถ์ของคนจน คนจนชื่นชอบประสบการณ์ดังกล่าว เป็นที่ประจักษ์ชัดพอสมควรว่าพระเจ้าสถิตอยู่กับเขา แม้ในสภาพที่ยากไร้ เราอาจพูดอย่างไม่เป็นทางการว่า นี่ค่อนข้างจะเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ชาวเพนตาคอสเลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่ม สามีเลิกทุบตีภรรยา และเลิกเที่ยวเตร่ มีครอบครัวที่มั่นคงในหมู่คนยากจน คนอัตคัด ดังนั้นบุตรหลานของคนยากจน ก็เป็นคนยากจนที่น่านับถือ แม้แต่กลายเป็นคนชั้นกลางระดับล่าง บุตรหลานของเขาอาจลงเอยด้วยการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพนตาคอสเป็นโบสถ์ของคนจน คนรุ่นที่สองหรือสาม ก็จะไม่ยากจนอีกต่อไป สืบเนื่องมาจากนิกายเพนตาคอส ผมคิดว่านี่เป็นพยานที่ทรงพลังมาก ที่ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินงานในหมู่นิกายเพนตาคอส[23]

ผมคิดว่าน่าสนใจที่แสดงให้เห็นผลกระทบในการประกาศและการสอน ไม่ใช่เพียงผลที่มีต่อคนที่คุณเป็นพยานและชนะใจ แต่ถ้าคุณสอนเขาให้เป็นพยาน เมื่อนั้นผลจากการสอนของคุณ จะเปลี่ยนคนรุ่นต่อๆ ไปด้วย ถึงแม้ว่าคำบรรยายจะกล่าวถึงนิกายเพนตาคอส หลักการที่เขาพูดถึง นำมาปรับใช้ได้กับใครก็ตามที่ประกาศพระกิตติคุณ และสอนถึงความเชื่อของคริสเตียน

การทำตามหลักการเรื่อง ผู้คนบนเส้นทางชีวิต หมายความว่าไม่จำกัดเฉพาะคนที่คุณเป็นพยาน คนที่คุณสอนหรือปลูกฝังให้เป็นสาวกเท่านั้น แต่กับผู้ที่คุณคุ้นเคยหรือเป็นกันเองด้วย การเข้าถึงคนชั้นกลางและคนระดับสูงในวงสังคม หรือผู้ที่มีฐานะด้อยกว่า ก็มีความสำคัญต่อพระองค์ทั้งนั้น พระองค์สร้างสาวกจากใครก็ได้ ผู้ซึ่งเปลี่ยนจิตใจ เรียนรู้ที่จะรักพระองค์ และต้องการรับใช้พระองค์ ใครก็ตามที่พระเจ้านำมาบนเส้นทางชีวิตคุณ ใครก็ตามที่พระองค์มอบหมายให้คุณเข้าถึง คือผู้ที่คุณควรจะเป็นพยานด้วย และช่วยหล่อเลี้ยง ขอให้พร้อมเสมอ ทั้งที่มีโอกาส และไม่มีโอกาส

พระเยซูสอนสาวกให้ประกาศข่าวสาร นี่เป็นงานมอบหมาย เป็นถ้อยแถลงเรื่องงานมอบหมายที่พระองค์ฝากไว้ สาวกในปัจจุบันมีงานมอบหมายเช่นเดียวกัน เราควรจะให้ความสว่างของเราส่องแสง และเชื่อมสัมพันธ์กับชาวโลก โดยที่ไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลก ขอให้หล่อเลี้ยงผู้ที่พระเจ้านำมาบนเส้นทางชีวิตคุณ นี่คือการประกาศพระเยซู นี่คือการทำงานมอบหมาย นี่คือวิธีที่จะชนะใจสาวกใหม่



[1] มาระโก 16:15

[2] มาระโก 1:14-15

[3] มัทธิว 4:17

[4] มาระโก 1:38

[5] ลูกา 4:43

[6] ลูกา 4:18-21

[7] ลูกา 9:2

[8] มัทธิว 10:7

[9] มัทธิว 10:27

[10] มาระโก 3:14-15

[11] ยอห์น 20:21-22

[12] กิจการ 1:8

[13] กิจการ 10:42

[14] โรม 10:13-15

[15] มัทธิว 5:14-16

[16] ยอห์น 8:12

[17] เอเฟซัส 5:8-9

[18] ฟีลิปปี 2:15

[19] ยอห์น 17:15-16

[20]

หญิงชาวสะมาเรีย: ยอห์น 4:7

งานสมรสที่คานา: ยอห์น 2:1-11

นิโคเดมัสมาเยี่ยม: ยอห์น 3:1-21

หญิงผู้ล่วงประเวณี: ยอห์น 8:3-11

นายร้อย: มัทธิว 8:5-13

ชาวกรีก: ยอห์น 12:20-26

แม่ยายของเปโตร: มัทธิว 8:14-15

คนใบ้: มัทธิว 9:32-33

หญิงชาวคานาอัน: มัทธิว 15:22-28

เด็กๆ: มัทธิว 19:13-14

นักปกครองหนุ่มที่ร่ำรวย: มัทธิว 19:16-22

มารดาของยากอบและยอห์น: มัทธิว 20:20-23

ชายผู้เป็นอัมพาต: มัทธิว 9:2-7

หญิงชาวซีเรียฟีนิเซีย: มาระโก 7:26-30

เด็กชายที่ถูกวิญญาณสิงสู่: ลูกา 9:37-43

บารทิเมอัสตาบอด: มาระโก 10:46-52

คนโรคเรื้อน: มัทธิว 8:2-4

ชายมือลีบ: มาระโก 3:1-5

หญิงที่ตกเลือด: ลูกา 8:43-48

ศักเคียส: ลูกา 19:1-10

ปีลาต: ลูกา 23:1-4

โจรที่ถูกตรึงกางเขน: ลูกา 23:39-43

[21] ลูกา 15:1-2

[22] ลูกา 15:4-10

[23] ศาสตราจารย์ ฟิลิป แครี ในคำบรรยายที่ 28 หัวข้อ The History of Christian Theology

Copyright © 2024 The Family International. นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการใช้งานคุกกี้