สูตรห้าประการ: การเติบโตทางจิตวิญญาณ

กรกฎาคม 8, 2014

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

ท่านแสวงหาพระเจ้า … ตราบเท่าที่ท่านแสวงหาพระองค์ พระเจ้าก็มอบความสำเร็จให้กับท่าน[1]

ถ้าคุณต้องการมีสุขภาพกายที่แข็งแรง คุณก็ต้องทานอาหารให้ถูกต้อง และออกกำลังกาย โดยทุ่มเทเวลาและความพยายามให้กับการสร้างนิสัยทายกายภาพที่ดี เช่นเดียวกัน ถ้าคุณต้องการเติบโตทางวิญญาณ หรืออาจกล่าวได้ว่า ถ้าคุณต้องการมีสุขภาพจิตแข็งแรง มีข้อเรียกร้องให้ลงทุนกับหลักเกณฑ์ด้านจิตวิญญาณ

การที่จะมีสุขภาพจิตดีและรักษาสภาพดังกล่าวไว้ ต้องอาศัยเวลา ความมุ่งมั่น การมีวินัยในตนเอง และการยอมเสียสละ นอกจากนี้ต้องอาศัยศรัทธาด้วย เพราะการถือว่าชีวิตทางจิตวิญญาณมีความสำคัญเป็นอันดับแรก หมายถึงคุณจะมีเวลาน้อยลงเพื่อทำสิ่งอื่นๆ ขณะนี้ชีวิตคุณอาจยุ่งมาก จนไม่รู้ว่าจะสละอะไรไปได้

เมื่อผมเผชิญหน้ากับอุปสรรคหรือสภาพการณ์ที่ดูเหมือนว่าจะดึงผมไปจากความมุ่งมั่นต่อสุขภาพจิต มีส่วนช่วยได้ที่จะเตือนใจตนเองถึงความจริงบางประการ เพื่อให้มีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง ความจริงดังกล่าวได้แก่

  1. การที่ผมมอบเวลาและหัวใจให้พระเจ้า คือการลงทุนที่ยั่งยืนในสัมพันธภาพที่สำคัญที่สุด
  2. เวลาที่มีกับพระเจ้าช่วยให้ผมเป็นสามี พ่อ ปู่ตา เพื่อนมิตร และบุคคลที่ดีขึ้น การมีเวลากับพระเยซูไม่เพียงแค่ช่วยผม ทว่ามีประโยชน์ต่อทุกคนที่ผมห่วงใย
  3. แม้ยามที่ผมขาดตกบกพร่องในการใช้เวลากับพระเจ้า ผมวางใจได้ว่าพระองค์ยินดีกับความพยายามทุกครั้งที่ผมทุ่มเทให้ แม้แต่ความพยายามเล็กๆ พระองค์เข้าใจสภาพและภาวะของเรา พระองค์เต็มใจร่วมงานกับเรา

ความปรารถนายิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของพระเจ้า คือ การให้เรามีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระองค์ น่าอุ่นใจที่ทราบว่าพระองค์ยินดีช่วยเราอย่างเต็มที่ เมื่อเราพยายามปรับปรุงสุขภาพจิตของเรา

เอาล่ะ ทีนี้มาดูห้าประเด็นในสูตรการเติบโตทางจิตวิญญาณ

ประเด็นที่ 1: เชื่อมสัมพันธภาพกับพระเจ้า ผ่านการหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ

การจัดเวลาเป็นประจำทุกวันเพื่อรับการหล่อเลี้ยง คือสิ่งสำคัญสูงสุดในการมีชีวิตชีวาทางจิตวิญญาณ พระเยซูยืนยันว่าพระคำของพระเจ้าคือแหล่งที่มาของการหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ เมื่อพระองค์เอ่ยอ้างพระคัมภีร์เดิมที่ว่า “มนุษย์ไม่อาจดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ดำรงชีวิตด้วยทุกถ้อยคำจากพระเจ้า”[2]

พระคัมภีร์คือ “พระคำที่มาจากพระเจ้า” เช่นเดียวกับที่เราต้องทานอาหารทางกายทุกวัน เพื่อยังชีพและให้มีสุขภาพที่ดี เราก็ต้องรับการหล่อเลี้ยงทางจิตวิญญาณทุกวัน การอ่านพระคำของพระเจ้าไม่ใช่สิ่งดีๆ ที่สอดแทรกไว้ เมื่อเรามีเวลา ทว่าเป็นสิ่งที่เราแต่ละคนต้องจัดเวลาไว้ เราต้องได้รับการเติมเต็มทางจิตวิญญาณเป็นประจำทุกวัน แม้ว่าจะเป็นช่วงสั้นๆ ถ้าคุณมีเวลาเพียงสองสามนาทีกับพระเจ้า อย่าผลัดไปก่อน และคิดว่าไม่มีความหมาย หรือคิดว่าไม่สร้างความแตกต่างใดๆ ขอให้ใช้ช่วงเวลานั้น พระเยซูกล่าวว่า “ถ้อยคำที่เรากล่าวกับท่านเป็นวิญญาณ และเป็นชีวิต”[3] อย่าพลาดการเติมเต็มประจำวัน ซึ่งเป็น “วิญญาณ” และ “ชีวิต”

การหล่อเลี้ยงทางจิตวิญญาณควรจะมาจากไหน อันดับแรก เหนือสิ่งอื่นใด คือพระคัมภีร์ พระคำของพระเจ้า พระคัมภีร์เป็นแผนการที่พระเจ้าวางไว้ให้มนุษย์ “เป็นแผนการของพระเจ้าสำหรับชีวิตนิรันดร์ เป็นพื้นฐานแท้จริงที่มั่นคงของความจริงที่เราก่อร่างสร้างขึ้น พระเจ้าเป็นผู้มอบให้ พระคัมภีร์สรุปคร่าวๆ ถึงแผนการที่พระองค์วางไว้ให้มนุษย์ นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นในปฐมกาล จนถึงคำสัญญาการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ ผ่านการฟื้นคืนชีพ เรื่อยไปจนถึงคำสัญญาของความเป็นอมตะ และความสุขสำราญบนสวรรค์ชั่วนิรันดร์กับพระเจ้า ในบทวิวรณ์ พระคัมภีร์เป็นหนังสือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้ประพันธ์ท่านเดียวที่รับประกันชีวิตและความรัก ในชีวิตภายภาคหน้า รวมถึงความสุขและสวรรค์ตลอดไป พระคัมภีร์คือรากฐาน แนวทาง มาตรฐาน และเครื่องวัดที่เราใช้พิจารณาทุกสิ่ง”[4]

ที่มาอีกแหล่งหนึ่งเพื่อการหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ คือ สิ่งพิมพ์ (หรือสื่อ) ในการอุทิศตน และเสริมสร้างศรัทธา ประพันธ์โดยชายหญิงผู้ทำตามแบบอย่างของพระเจ้า เป็นข้อเขียนที่ได้รับแรงดลใจของคริสเตียนอื่นๆ ซึ่งช่วยเสริมสร้างศรัทธา ช่วยเปิดทางให้เข้าใจข้อพระคัมภีร์ และช่วยนำพระคำของพระเจ้ามาปรับใช้เชิงปฏิบัติ ต่อความจำเป็นและความท้าทายในปัจจุบัน

เราจำเป็นต้องอ่านและศึกษาพระคำของพระเจ้า เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับพระเจ้า คือสัมพันธภาพที่ลึกซึ้งกับพระองค์ เมื่อวิญญาณคุณสงบ และคุณทำสมาธิด้วยการจดจ่ออยู่กับพระคำของพระเจ้า เมื่อคุณรับฟัง “เสียงแผ่วเบา” ของพระองค์ พระองค์จะกล่าวกับจิตใจคุณ จะชี้แนะและนำทางคุณเป็นส่วนตัว บนเส้นทางชีวิตของคุณ พระเจ้าต้องการมีสัมพันธภาพที่ลึกซึ้งกับเราแต่ละคน เหมือนที่คุณมีสัมพันธภาพกับเพื่อนสนิทและคนที่คุณไว้วางใจ ทว่าเป็นสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นยิ่งกว่านั้นอีก เราสร้างและถนอมความสัมพันธ์แสนวิเศษเช่นนี้ กับพระเจ้าแห่งจักรวาลผู้เปี่ยมความรัก โดยใช้เวลากับพระองค์ ดื่มด่ำในพระคำ ทำสมาธิ ให้พระคำฝังลึกในความคิดจิตใจเรา และให้พระคำเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ และชี้นำการกระทำของเรา

โยชูวา 1:8 บ่งบอกเคล็ดลับสู่ความสำเร็จของชีวิตไว้ในถ้อยคำว่า “อย่าให้หนังสือธรรมบัญญัติ[พระคำของพระเจ้า]นี้ห่างจากปากเจ้า จงใคร่ครวญทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อเจ้าจะปฏิบัติตามทุกสิ่งที่เขียนไว้อย่างเคร่งครัด แล้วเจ้าจะประสบความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรือง”

ความจริงนี้ไม่ได้สูญหายไปกับชายหญิงผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดจำนวนมากในประวัติศาสตร์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา นักประดิษฐ์ รัฐบุรุษ และอื่นๆ คุณสามารถค้นหาเว็บไซท์ที่นำเสนอข้อความจากชายหญิงผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งยึดถือพระคัมภีร์เป็นแสงสว่างนำทางชีวิต[5]

ในโลกปัจจุบันที่แสนยุ่ง เป็นความท้าทายประจำวันที่จะจัดเวลาสำหรับพระเจ้า ทว่าในฐานะคริสเตียน เวลาที่เราเชื่อมสัมพันธ์กับพระเจ้าและพระคำของพระองค์ ควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ถ้าเรารักษาเวลานี้ไว้ให้ได้ ก็จะช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพกับพระเจ้า ตามที่พระองค์ต้องการ และได้รับพรจากการดำเนินชีวิตใกล้ชิดพระองค์ยิ่งขึ้น การใช้เวลาที่มีคุณภาพกับพระเจ้าอย่างสม่ำเสมอ คือการลงทุนยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งบุคคลใดทำได้ในชีวิต นี่มีผลตอบแทนมหาศาลชั่วนิรันดร์

ประเด็นที่ 2: พัฒนาชีวิตการอธิษฐานที่แข็งขัน

การอธิษฐานคือองค์ประกอบสำคัญในชีวิตทางวิญญาณ เป็นวิธีที่เราสื่อสารกับพระเจ้า คือพระผู้สร้างของเรา เราพูดคุยกับพระองค์ได้ เราสรรเสริญและนมัสการพระองค์ได้ เราบอกเล่าให้พระองค์ฟังถึงความกังวล ความยุ่งยาก และความจำเป็นของเรา โดยขอให้พระองค์ยื่นมือเข้ามาช่วย ขอพละกำลัง และอะไรก็ตามที่จำเป็น การอธิษฐานคือการขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของพระเจ้า เรารับฟังเสียงของพระองค์ เราแสวงหาแนวทาง กำลังใจ การปลอบโยน และคำแนะนำจากพระองค์ การอธิษฐานออกแบบไว้ให้เป็นการสนทนาโต้ตอบ เป็นลู่ทางการพัฒนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าให้ลึกซึ้ง

ชีวิตทางวิญญาณที่แข็งแกร่งคือ ชีวิตที่รวมการอธิษฐานไว้เป็นประจำทุกวัน พระคัมภีร์สอนเราให้ “อธิษฐานอย่าเว้น”[6]  เราอธิษฐานโดยทำตามคำแนะนำนี้ แต่เราเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มากมายเช่นกัน เมื่อเราพัฒนาวินัยด้านการอธิษฐาน

  • เราได้รับคำตอบต่อคำอธิษฐาน เราได้รับแนวทาง การชี้นำ และปัจจัย ตามความประสงค์ของพระเจ้า
  • เราอ้อนวอนในคำอธิษฐานได้ เพื่อคนที่เรารักและห่วงใย เรามอบการช่วยเหลือที่ทรงพลังที่สุด และตรงประเด็นที่สุดให้กับบางคนได้ ถึงแม้เขาจะอยู่ห่างไกล โดยผ่านการอธิษฐาน
  • เราได้รับสันติสุข เมื่อเราฝากความกังวลและความกลัดกลุ้มไว้กับพระเจ้า โดยไว้วางใจว่าพระองค์จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ดีที่สุดสำหรับเรา
  • เรามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับพระเจ้า ผ่านชีวิตการอธิษฐานที่สม่ำเสมอและมีความมุ่งมั่น
  • เราเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น เมื่อเราปลีกเวลามาอธิษฐาน

พระเจ้ามอบการอธิษฐานให้เป็นของขวัญ เราฝากความห่วงใยในโลกทั้งสิ้นไว้บนบ่าอันแข็งแกร่งของพระองค์ได้ ผ่านคำอธิษฐาน ชีวิตนี้เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ความกลัว และความกลัดกลุ้ม แต่ท่านเปาโลบอกเราว่า “อย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับสิ่งใด” และให้ “อธิษฐานเกี่ยวกับทุกสิ่ง”[7] ขอบคุณพระเจ้าเราไม่ต้องวิตกกังวลว่าควรอธิษฐานถึงเรื่องที่อยู่ในใจเราหรือไม่ การอธิษฐานคือทางเลือกที่ถูกต้องเสมอ ถ้าในใจคุณห่วงใยเกี่ยวกับบางเรื่อง พระเจ้าก็เป็นห่วงเช่นกัน ดังที่มีกล่าวไว้ว่า “ถ้าเป็นเรื่องใหญ่พอที่จะวิตกกังวล ก็ใหญ่พอที่จะอธิษฐาน”

คุณอาจคิดว่า “ฉันยุ่งเกินกว่าที่จะอุทิศเวลาให้กับการอธิษฐาน!” แต่คุณมีเวลา 168 ชั่วโมง แต่ละสัปดาห์ เช่นเดียวกับคนอื่น นี่ขึ้นอยู่กับลำดับความสำคัญก่อนหลัง คุณจะเลือกทำอะไรบ้างในช่วงเวลา 168 ชั่วโมง

ช่วงเวลการอธิษฐานด้วยใจแรงกล้าอย่างต่อเนื่อง คุ้มค่ากับการลงทุน แต่พระเจ้าต้องการให้เราฝึกเชื่อมสัมพันธภาพกับพระองค์ในใจตลอดทั้งวันด้วย ระหว่างที่กิจกรรมต่างๆ เราไม่ต้องหยุดทุกสิ่งที่ทำอยู่ เพื่ออธิษฐาน เมื่อเราผสมผสานชีวิตกับคำอธิษฐานเข้าด้วยกัน ผลลัพธ์ก็คือ ชีวิตที่ได้รับพร

อีแวน โรเบิร์ตส กล่าวว่า “การอธิษฐานคือพลังเร้นลับ” ดังที่ มาร์ติน ลูเธอร์ กล่าวไว้ว่า “ช่างตัดเสื้อผ้ามีหน้าที่ตัดเย็บเสื้อผ้า ส่วนช่างทำรองเท้ามีหน้าที่ทำรองเท้าฉันใด คริสเตียนก็มีหน้าที่อธิษฐานฉันนั้น”

ประเด็นที่ 3: รักษาจิตใจให้ถูกต้องต่อพระองค์

ประเด็นต่อไปในสูตรการเติบโตและสุขภาพจิตวิญญาณ คือ มีจิตใจถูกต้องต่อพระองค์ นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องดีพร้อม เราทุกคนทำบาป เราทุกคนทำผิดพลาด อันที่จริงแล้ว เราทำผิดทำบาปทุกวันเลย พระองค์ทราบข้อนี้ดี พระองค์ไม่ประณามเราที่ไม่ดีพร้อม หรือในยามที่เราพลาดพลั้ง พระเยซูทราบถึงความผิดทุกอย่างของเรา พระองค์เข้าใจข้อบกพร่องและจุดอ่อนตามประสามนุษย์ เพราะพระองค์เคยมีประสบการณ์ชีวิตในฐานะที่เป็นมนุษย์ เมื่อพระองค์สละชีวิตเพื่อบาปของเรา พระองค์ทราบดีว่าเราไม่มีวันเข้าใจทุกอย่างถูกต้อง หรือทำทุกอย่างถูกต้อง ไม่ว่าเราจะพยายามสักแค่ไหน เราก้าวเข้าสู่สถานที่แสนวิเศษที่มีสันติสุขและการให้อภัยได้ โดยสารภาพความผิดพลาดและบาปของเราต่อพระองค์เป็นประจำ เราพบสันติสุขได้ในการให้อภัยจากพระองค์ เมื่อเราถ่อมตน ยอมรับความผิด และวิ่งไปหาพระองค์ผู้อ้าแขนรับเราเสมอ

สรุปแล้ว อาจให้คำนิยามบาปว่า การทำผิด การพลาดเป้าหมาย การไม่เชื่อฟังขัดขืน การทำตัวเหินห่าง และออกไปจากเส้นทางที่ถูกต้อง พวกเราทุกคนทำบาป ปัญญาจารย์ 7:20 กล่าวว่า “ไม่มีสักคนเดียวในโลกนี้ทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง และไม่เคยทำบาป”

เราทำบาปสองวิธีด้วยกัน โดยทำสิ่งที่เรารู้ว่าไม่ควรทำ ซึ่งรู้จักกันว่าบาปสถานหนัก และไม่ทำสิ่งที่เรารู้ว่าควรทำ ซึ่งรู้จักกันว่าบาปสถานเบา บาปสถานหนักคือการทำสิ่งที่เรารู้ว่าไม่ควรทำ เป็นการเบือนหน้าหนีไปจากพระเจ้าและความประสงค์ของพระองค์ ฝ่าฝืนบัญญัติของพระองค์ หรือละเลยไม่ทำสิ่งที่สอดคล้องกับหลักจริยธรรมของพระเจ้า ในด้านการกระทำ ทัศนคติ หรืออุปนิสัย ซึ่งอยู่ในจิตสำนึกของเราตั้งแต่เกิด คือสำนึกผิดชอบชั่วดี ตามที่บ่งบอกไว้ในพระคัมภีร์

บาปสถานเบาคือ การไม่ทำสิ่งที่เรารู้ว่าถูกต้อง ดังที่อธิบายไว้ใน ยากอบ 4:17 “ผู้ใดรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งดีที่ควรทำแต่ไม่ทำก็บาป”

ถ้าเราดำเนินชีวิตด้วยความยำเกรงพระองค์ เราจะรู้สึกสำนึกผิดและสารภาพบาปต่อพระองค์เป็นประจำ เราจะขอให้พระองค์อภัย ถ้าเราทำเช่นนี้จนเป็นนิสัย ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เหมือนกับการมีสวน คุณต้องกำจัดวัชพืช เมื่อวัชพืชเพิ่งงอกขึ้นมา คุณก็ถอนได้ง่ายดาย แต่ถ้าไม่ใส่ใจกับวัชพืช จนมันโตขึ้น ในที่สุดก็ฝังรากลึก เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องอาศัยเวลาและงานหนักมากขึ้นหลายเท่า เพื่อขุดรากถอนโคนวัชพืชให้หมด การดูแลสวนในใจคุณก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุณสารภาพผิดต่อพระองค์เป็นประจำ คุณก็ไม่ปล่อยให้บาปฝังรากลึก

การชำระล้างจิตใจเป็นประจำ จะเปิดโอกาสให้ชีวิตทางจิตวิญญาณเบ่งบาน และนำมาซึ่งสันติสุข นี่ช่วยให้คุณใกล้ชิดพระองค์ยิ่งขึ้น เพราะจะช่วยเยียวยาผลเสียใดๆ จากบาป ต่อสัมพันธภาพที่คุณมีกับพระองค์ เมื่อคุณทราบว่าคุณมีจิตใจถูกต้องต่อพระองค์ เมื่อคุณไม่มีบาปที่ไม่ได้สารภาพในชีวิตคุณ ก็มีโอกาสมากกว่าที่คุณจะใช้เวลากับพระองค์เพื่อนมัสการและอธิษฐาน คุณมีศรัทธามากขึ้นว่าพระเจ้าจะอวยพรคุณ และดูแลคุณ[8]

ประเด็นที่ 4: เชื่อฟังพระเจ้า (พระคำ เสียงและแนวทางจากพระองค์)

ในฐานะผู้ติดตามของพระเยซู เรามุ่งมั่นที่จะทราบเกี่ยวกับพระเจ้าและพระคำของพระองค์เพิ่มเติม เราศึกษาค้นคว้า และทำสมาธิ โดยจดจ่ออยู่กับความจริงในพระคัมภีร์ และข้อเขียนของคริสเตียนที่ได้รับแรงบันดาลใจ เราท่องจำข้อพระคัมภีร์ และศึกษาพระคัมภีร์ เราพูดคุยเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้ากับผู้มีความเชื่อคนอื่นๆ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดี แต่หน้าที่ที่เรามีต่อพระเจ้าไม่ได้จบแค่นั้น ประเด็นพื้นฐานอีกอย่างหนึ่งในการเติบโตทางจิตวิญญาณคือ ทำตามที่พระคำบอกกล่าว เราได้รับมอบหมายให้เชื่อฟังตามที่พระเจ้าขอจากคริสเตียนทุกคน รวมทั้งแนวทางและคำแนะนำส่วนตัวที่พระองค์มอบให้เราเป็นรายบุคคล

เราไม่ต้องการเป็นแค่ “คริสเตียนฉลาด” ผู้ทราบเกี่ยวกับเรื่องทางจิตวิญญาณ หลักคำสอน และศาสนศาสตร์อย่างมาก เราไม่ต้องการแค่สามารถพูดถึงพระเยซู และความคาดหมายที่พระองค์มีต่อผู้ติดตามของพระองค์ เราควรนำหลักการทางจิตวิญญาณมาปรับใช้ เราควรลงมือปฏิบัติการตามที่พระเยซูคาดหมายจากเรา เราต้องการเป็นแบบอย่างในชีวิตจริง ซึ่งมาจากการเป็นผู้ทำตามพระคำ ไม่ใช่เป็นผู้ฟังเท่านั้น[9]

พระเจ้าไม่ได้ชี้นำให้เราทุกคนทำสิ่งเดียวกันหมดเลย แต่พระองค์ชี้นำเราทุกคนให้ลงมือทำ เชื่อฟัง เป็นแบบอย่าง ปฏิบัติตาม และให้ศรัทธาเกิดผล เราควรจะดำเนินชีวิตภายในแวดวงความประสงค์ของพระองค์ ดังนั้นเราก็ควรจะแสวงหาพระองค์เพื่อขอแนวทางในการเลือกเส้นทางชีวิต และแสวหาความประสงค์ของพระองค์ในชีวิตเรา แล้วดำเนินชีวิตด้วยศรัทธาแรงกล้า และด้วยความเป็นเลิศ ขณะที่เราทำทุกสิ่งภายในวงอำนาจของเราเพื่อติดตามพระเจ้าอย่างสุดหัวใจ

การเชื่อฟังคือหน้าที่ของเรา แต่มีคำสัญญาเป็นพรควบคู่มาด้วย พระเยซูกล่าวไว้ในยอห์น 13:17 ว่า “เมื่อท่านทราบสิ่งเหล่านี้ หากท่านปฏิบัติตาม ท่านก็จะเป็นสุข”[10]

ต่อไปนี้เป็นข้อความที่หยิบยกมาจากเรื่อง The Purpose-Driven Life (ชีวิตที่เคลื่อนไปด้วยวัตถุประสงค์) โดย ริค วอร์เรน

พระเจ้าไม่มีหน้าที่ที่จะต้องอธิบายหรือให้เหตุผลสำหรับทุกสิ่งที่พระองค์ขอให้คุณทำ ความเข้าใจคอยก่อนได้ แต่การเชื่อฟังคอยไม่ได้ การเชื่อฟังทันทีจะสอนคุณเกี่ยวกับพระเจ้า มากกว่าการถกกันเกี่ยวกับพระคัมภีร์ในชั่วชีวิต อันที่จริงแล้ว คุณจะไม่มีวันเข้าใจข้อเรียกร้องบางอย่าง จนกว่าคุณจะเชื่อฟังก่อน การเชื่อฟังไขรหัสไปสู่ความเข้าใจ

บ่อยครั้งเราพยายามเสนอการเชื่อฟังบางส่วน เราต้องการเลือกบัญญัติข้อที่เราอยากทำตาม เรามีรายการบัญญัติที่เราชอบ และเชื่อฟังตามนั้น ขณะที่ไม่ใส่ใจกับข้อที่เราคิดว่าไม่มีเหตุผล เป็นเรื่องที่ยาก มีค่าแลกเปลี่ยนสูง หรือไม่เป็นที่นิยมชอบ เช่น ฉันจะไปโบสถ์ แต่ฉันจะไม่ถวายเงินหนึ่งในสิบ ฉันจะอ่านพระคัมภีร์ แต่ฉันจะไม่ให้อภัยคนที่ทำให้ฉันเจ็บช้ำ ทว่าการเชื่อฟังบางส่วนก็คือการไม่เชื่อฟัง

การเชื่อฟังสุดหัวใจคือ การทำด้วยใจยินดี และกระตือรือร้น  พระคัมภีร์กล่าวว่า “เชื่อฟังพระองค์ด้วยความยินดี”... ยากอบกล่าวต่อคริสเตียน ว่า “พระเจ้าพอใจสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่สิ่งที่เราเชื่อ” พระคำกล่าวไว้ชัดเจนว่าคุณไม่อาจมีความรอดได้เอง คุณมีความรอดด้วยความปรานีเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยความพยายามของคุณ แต่ในฐานะลูกของพระเจ้า คุณนำความยินดีมาสู่พระบิดาในสวรรค์ได้ ด้วยการเชื่อฟัง นอกจากนี้ การปฏิบัติตามด้วยความเชื่อฟังก็เป็นการนมัสการ ทำไมพระเจ้าถึงพอใจการเชื่อฟังยิ่งนัก เพราะนั่นพิสูจน์ให้เห็นว่าคุณรักพระองค์จริงๆ พระเยซูกล่าวว่า “ถ้าท่านรักเรา ท่านจะทำตามบัญญัติของเรา”... พระเยซูบ่งบอกชัดเจนว่าการเชื่อฟังคือเงื่อนไขของความแนบชิดกับพระเจ้า พระองค์กล่าวว่า “ท่านเป็นมิตรสหายของเรา ถ้าท่านทำตามที่เราบัญชา”

เราเชื่อฟังพระเจ้า ไม่ใช่เพราะหน้าที่หรือความกลัวหรือการบังคับ แต่เพราะเรารักพระองค์ และไว้วางใจว่าพระองค์ทราบว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา เราต้องการติดตามพระคริสต์ เพราะสำนึกในบุญคุณต่อทุกสิ่งที่พระองค์ทำเพื่อเรา ยิ่งเราติดตามพระองค์ใกล้ชิดมากขึ้นเท่าไร มิตรภาพของเราก็ยิ่งลึกซึ้งมากขึ้นเท่านั้น บ่อยครั้งผู้ไม่มีความเชื่อคิดว่าคริสเตียนเชื่อฟังเพราะพันธะหน้าที่ ความรู้สึกผิด หรือกลัวถูกลงโทษ แต่ความจริงกลับกันเลย เนื่องจากเราได้รับการให้อภัย และถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ เราเชื่อฟังเพราะความรัก การที่เราเชื่อฟังนำมาซึ่งความยินดีล้นพ้น! พระเยซูกล่าวว่า “เรารักท่าน ดังที่พระบิดารักเรา ดำรงอยู่ในความรักของเรา เมื่อท่านเชื่อฟังเรา ท่านก็ดำรงอยู่ในความรักของเรา ดังที่เราเชื่อฟังพระบิดา และดำรงอยู่ในความรักของพระองค์ เราบอกท่านเช่นนี้ เพื่อว่าท่านจะได้เติมเต็มด้วยความยินดีของเรา ใช่แล้ว ความยินดีของท่านจะท่วมท้น!”[11]

ตอนนี้เราจะพิจารณาประเด็นสุดท้ายในสูตรของเรา เพื่อการเติบโตทางจิตวิญญาณ

ประเด็นที่ 5: สร้างหมู่คณะผู้มีความเชื่อ

ผมขออ่านข้อพระคัมภีร์บางข้อ เพื่อเริ่มต้นหัวข้อหมู่คณะ

“หากท่านสักสองคนในโลกเห็นชอบร่วมกันในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ท่านขอ พระบิดาของเราในสวรรค์จะกระทำสิ่งนั้นให้แก่ท่าน เพราะที่ไหนมีสองสามคนมาร่วมชุมนุมกันในนามของเรา เราสถิตอยู่กับพวกเขาที่นั่น”[12]

“เหตุฉะนั้นเมื่อมีโอกาส ให้เราทำดีต่อคนทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนที่อยู่ในครอบครัวแห่งความเชื่อ”[13]

“จงช่วยแบ่งเบาภาระของกันและกัน ทำดังนี้แล้วท่านก็ได้ปฏิบัติตามบัญญัติของพระคริสต์”[14]

“อย่าให้เราขาดการประชุม เหมือนที่บางคนทำเป็นประจำ แต่ให้เรามอบกำลังใจกันมากยิ่งขึ้น และทำเช่นนั้นให้มากยิ่งขึ้นอีก เมื่อเห็นว่าวันนั้นใกล้เข้ามาทุกที”[15]

ดังที่อธิบายไว้ในเรื่อง “Spiritual Discipline: Fellowship” ว่ามีแง่มุมต่างๆ ของการร่วมมิตรภาพ การร่วมมิตรภาพที่ผมพูดถึงในที่นี้เป็นการมาชุมนุมกันเพื่อนมัสการ อธิษฐาน และร่วมมิตรภาพกับเพื่อนคริสเตียนด้วยกัน เมื่อพวกเราผู้มีความเชื่อมาชุมนุมกัน เราก็ได้รับผลประโยชน์อย่างมาก เมื่อเราใช้เวลากับคริสเตียนคนอื่นๆ เพื่อนมัสการพระองค์ อ่านพระคำ ร้องเพลงและอธิษฐานร่วมกัน เปิดใจต่อกัน เราจะจากไปโดยที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น เราจะได้รับการฟื้นฟู เราจะมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนขึ้น เราเตรียมพร้อมดีขึ้นสำหรับสิ่งที่พระองค์จะนำมาสู่ชีวิตเรา ขณะที่เราดำเนินงานเพื่ออาณาจักรของพระองค์

ในหนังสือเรื่อง Rediscovering Church บิล ไฮเบลส์ บอกเล่าข่าวสารโดย ดร. กิลเบิร์ต ผู้กล่าวว่า “การร่วมมิตรภาพตามที่บ่งไว้ในพระคัมภีร์ มีพลังที่ปฏิวัติชีวิต ไม่มีเครื่องบังหน้า การสนทนาจะลึกซึ้งยิ่งขึ้น มีการเปิดใจ มีการแบ่งปันชีวิต ยินดีรับผิดชอบ และมีความอ่อนโยนที่ถ่ายทอดถึงกัน ผู้คนกลายเป็นเหมือนพี่น้องกันจริงๆ เขาช่วยแบ่งเบาภาระให้กัน”[16]

เป็นความท้าทายที่จะจัดเวลาเพื่อการร่วมมิตรภาพที่มีคุณภาพ หรือการก่อร่าง หรือค้นหาหมู่คณะคริสเตียน ที่ซึ่งคุณรู้สึกเป็นกันเอง แต่ผมขอส่งเสริมให้คุณพยายามมาชุมนุมกันกับหมู่คณะผู้มีความเชื่อ บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงเพื่อผลประโยชน์และความชื่นชอบส่วนตัว ทว่าจะช่วยมอบพลังให้คุณสร้างสรรค์ความแตกต่างในโลกด้วย

เป็นสิ่งสำคัญที่พวกเราผู้มีความเชื่ออยู่ในหมู่คณะ ร่วมมิตรภาพ และนมัสการพระเจ้าด้วยกัน นอกจากนี้ หมู่คณะของเราควรจะเป็นที่ปลอดภัย ซึ่งผู้คนที่เสาะหาที่จะทราบเกี่ยวกับพระเจ้าและพระคัมภีร์เพิ่มเติม รู้สึกได้รับการต้อนรับ มีส่วนร่วม และถามคำถามได้ ทั้งได้รับการเสริมสร้างศรัทธา

ริค วอร์เรน เขียนไว้ว่า

ในพระคัมภีร์ใหม่ใช้วลี “ซึ่งกันและกัน” หรือ “กันและกัน” มากกว่าห้าสิบครั้ง เราได้รับบัญชาให้รักซึ่งกันและกัน อธิษฐานเพื่อกันและกัน ให้กำลังใจกันและกัน ยอมรับกันและกัน ให้เกียรติกันและกัน แบ่งเบาภาระกันและกัน ให้อภัยกันและกัน ยอมจำนนต่อกันและกัน อุทิศตนต่อกันและกัน ร่วมงานอื่นๆ กันอีกมากมาย นี่คือการเป็นสมาชิกตามที่บ่งไว้ในพระคัมภีร์! นี่คือ “ความรับผิดชอบต่อครอบครัว” ของคุณ ซึ่งพระเจ้าคาดหมายให้คุณทำตาม ด้วยการร่วมมิตรภาพในท้องถิ่น คุณทำสิ่งเหล่านี้กับใครบ้าง

พระเจ้ามุ่งหมายให้เรามีประสบการณ์ชีวิตร่วมกัน พระคัมภีร์เรียกประสบการณ์ที่มีร่วมกันนี้ว่า การร่วมมิตรภาพ[17]

ผมขอส่งเสริมให้คุณหยิบยื่นมิตรภาพแก่ผู้มีความเชื่อคนอื่นๆ และก่อร่างสร้างหมู่คณะเพื่อสง่าราศีของพระเจ้า ทุกสิ่งที่คุณได้รับจะยิ่งกว่าคุ้มค่ากับเวลา เงิน และการเสียสละ เมื่อมาเรียกับผมร่วมมิตรภาพกับสมาชิก TFI และคริสเตียนอื่นๆ เราดีใจเสมอที่ปลีกเวลาทำเช่นนั้น ต้องอาศัยเวลา ความพยายาม และพลังงาน เพื่อร่วมมิตรภาพทางจิตวิญญาณกับคนอื่น แต่ก็ช่วยฟื้นฟูวิญญาณ และผมรู้สึกขอบคุณที่ผมปลีกเวลาไปร่วมด้วย[18]

ดังนั้นการปลูกฝังชีวิตทางจิตวิญญาณที่งอกงาม มีหลักพื้นฐานห้าประการ ดังนี้

  1. เชื่อมสัมพันธภาพกับพระเจ้าผ่านการหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ
  2. พัฒนาชีวิตการอธิษฐานที่แข็งขัน
  3. รักษาสภาวะจิตใจให้ถูกต้องต่อพระเจ้า
  4. เชื่อฟังพระเจ้า
  5. ก่อร่างสร้างหมู่คณะผู้มีความเชื่อ

ขณะที่คุณประเมินชีวิตทางจิตวิญญาณ กับห้าประเด็นที่มุ่งเน้นข้างต้น ขอให้ระลึกถึงคำสัญญาแสนวิเศษที่พระเจ้าควบคู่มากับการเชื่อฟัง

ต่อไปนี้เป็นข้อความบางส่วนจากพระคัมภีร์ ซึ่งกล่าวถึงพรจากพระเจ้าต่อผู้ที่รักพระองค์ ผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยการเชื่อฟังพระองค์ และรักษาบัญญัติของพระองค์[19]

พระองค์กล่าวว่าพระองค์จะ

...ขจัดโรคภัยไข้เจ็บท่ามกลางพวกคุณ

...เปิดประตูสวรรค์ และให้พรพรั่งพรูมา จนไม่มีที่รองรับ

พระองค์กล่าวว่าคุณจะ

...ได้รับพรในสิ่งที่คุณทำ

...เจริญรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จ

...บุตรหลานของคุณจะมีความผาสุกอย่างยิ่ง

และ ... อะไรก็ตามที่เราขอ เราจะได้รับจากพระองค์

เราไม่สมควรได้รับเลย ถึงกระนั้นเราก็ได้รับจากพระเจ้ามากมาย นี่ควรจะกระตุ้นเราให้สรรเสริญ นมัสการ และถวายสง่าราศีแด่พระเจ้าตลอดเวลา สำหรับความดีงาม ความเมตตา และความรักอันไม่มีที่สิ้นสุดของพระองค์!

พวกเราคริสเตียนเป็น “ผู้คนที่พระเจ้าเลือกสรร เป็นปุโรหิตหลวง เป็นชนชาติบริสุทธิ์ เป็นพลเมืองของพระเจ้า เพื่อเราจะได้ประกาศคำสรรเสริญพระองค์ ผู้เรียกเราออกจากความมืดมาสู่ความสว่างอันล้ำเลิศของพระองค์”[20]


[1] 2 พงศาวดาร 26:5

[2] มัทธิว 4:4; พระบัญญัติ 8:3

[3] ยอห์น 6:63

[4] ปรับเปลี่ยนจากข้อเขียนของ เดวิด บรานท์ เบิร์ก เรื่อง “พระคำ: ใหม่และเก่า” กันยายน ค.ศ. 1974 จม.เลขที่ 329:7–8

[5] ดูตัวอย่างได้ ที่นี่ และ ที่นี่

[6] 1 เธสะโลนิกา 5:17

[7] ฟิลิปปี 4:6

[8] อ่านเพิ่มเติม: HOIA: Sin; Spiritual Disciplines on confession

[9] ยากอบ 1:22

[10] พระคัมภีร์

[11] ริค วอร์เรน ในเรื่อง The Purpose-Driven Life: What On Earth Am I Here For? (แกรนด์ราปิดส์ มิชิแกน: สำนักพิมพ์ซอนเดอร์แวน ค.ศ. 2002) หน้า 72–73, 95–96

[12] มัทธิว 18:19-20

[13] กาลาเทีย 6:10

[14] กาลาเทีย 6:2

[15] ฮีบรู 10:25

[16] จากคำสอนโดย เดฟ แม็คแฟดเดน “A Golden Lampstand” 8 มิถุนายน ค.ศ. 2010  ดร. กิลเบิร์ต บิเลซิเคียน ชาวอเมริกัน เกิดที่ฝรั่งเศส เป็นนักเขียนคริสเตียน ศาสตราจารย์ และศิษยาภิบาลแบพติสท์ ท่านเป็นผู้ก่อตั้ง วิลโลว์ครีคคอมมูนิตี้เชิช ร่วมกับบิล ไฮเบลส์

[17] วอร์เรน ในเรื่อง The Purpose-Driven Life หน้า 134, 138

[18] อ่านเพิ่มเติม: เรื่องชุด Spiritual Disciplines

[19] พระบัญญัติ 30:16

[20] 1 เปโตร 2:9