The Heart of It All: The Nature and Character of God

พฤศจิกายน 22, 2011

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

Patience, Mercy, and Grace (Part 2)

[หัวใจสำคัญ: ธรรมชาติและวิสัยของพระเจ้า]

[ความอดทน ความเมตตา และความปรานี (ตอนที่ 2)]

(หากประสงค์ทราบบทนำและคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องชุดนี้โดยรวม กรุณาดู หัวใจสำคัญ: บทนำ)

อาจเข้าใจกันว่าความเมตตาของพระเจ้าคือความรักและคุณความดีของพระจ้า ต่อผู้ที่ทุกข์ตรมและเดือดร้อน ผู้ที่ขัดสน แม้แต่ผู้ที่ไม่สมควรได้รับ เนื่องจากมนุษย์ปุถุชนมีบาป และจะรับผลที่ตามมาจากการทำบาป เราจึงอยู่ในสภาพที่น่าสมเพช และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า พระเจ้าสงสารผู้ที่ขัดสน พระองค์มีความกรุณาปรานี และแสดงความเมตตาต่อเรา

นิยามความเมตตาของพระเจ้า

นักศาสนศาสตร์ เจมส์ ลีโอ การ์เร็ตต์ เขียนไว้ว่า

คำศัพท์ในพระคัมภีร์สำหรับความเมตตาจากเบื้องบน หรือความกรุณาปรานี ถ่ายทอดความอบอุ่น และอารมณ์ความรู้สึกจากวิสัยของพระเจ้า ในการให้อภัย เยียวยารักษา และฟื้นฟูมนุษย์ผู้มีบาป[1]

หลุยส์ เบอร์คอฟ บ่งบอกถึงความเมตตาของพระเจ้าว่าเป็นคุณความดีหรือความรักของพระเจ้าที่แสดงต่อผู้ซึ่งทุกข์ตรมหรือเดือดร้อน โดยไม่คำนึงว่าเขาสมควรได้รับอะไร[2]

คำที่ใช้บ่อยที่สุดในพระคัมภีร์เดิมสำหรับความเมตตา คือ checed ซึ่งแปลไว้ตลอดพระคัมภีร์เดิมว่า ความเมตตา ความกรุณา ความรักความกรุณา คำแปลภาษาอังกฤษสมัยใหม่บางฉบับใช้ ความรักแน่วแน่ และ ความรักเปี่ยมล้น อีกคำหนึ่งในพระคัมภีร์เดิมซึ่งถ่ายทอดความเมตตาและความกรุณาปรานี คือ racham ซึ่งหมายความว่ามีเมตตา กรุณาปรานี มีความเอ็นดู หรือความเมตตาจากใจอ่อนโยน ความสงสาร ซึ่งใช้เพื่อแสดงความกรุณาปรานีและความเมตตาจากเบื้องบน

ในพระคัมภีร์ใหม่ คำภาษากรีกที่ใช้มากที่สุดสำหรับคำว่าเมตตา คือ eleos มีคำนิยามว่า ความกรุณา หรือไมตรีจิต ต่อผู้ที่ทุกข์ตรมและเจ็บป่วย กอปรกับความปรารถนาที่จะช่วยเหลือเขา ความเมตตาที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์ คือการปกป้องคุ้มครองโดยทั่วไป ความเมตตากรุณาของพระเจ้าในการมอบและเสนอความรอดผ่านพระคริสต์ให้แก่มนุษย์[3] คำนี้บ่งบอกถึงความเมตตาจากเบื้องบนของพระเจ้า ความเมตตาของพระองค์ในการนำความรอดมาสู่มวลมนุษย์ รวมถึงความสงสารและความกรุณาปรานี โดยมีกรุณาปรานีต่อใครสักคน

ตลอดพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ ความเมตตา ความกรุณาปรานี และความสงสาร มักจะกล่าวถึงสถานการณ์ที่ผู้คนเดือดร้อน ทุกข์ตรม หรือขัดสน

ดาวิดตอบกาดว่า “เราลำบากใจมาก ขออยู่ในอุ้งมือพระองค์ เพราะความเมตตาของพระองค์ใหญ่หลวง”[4]

ท่านมีใจสงสารผู้ที่อ่อนแอและขัดสน และช่วยชีวิตผู้ยากไร้[5]

พระเยซูสงสารเขา จึงยื่นมือแตะต้องเขา และกล่าวว่า “เราจะรักษา จงหายเถิด”[6]

เมื่อพระองค์มาเกือบถึงประตูเมือง มีคนหามศพชายหนุ่มคนหนึ่งมา เขาเป็นลูกชายคนเดียวของหญิงม่าย ชาวเมืองมากมายมากับหญิงนั้น เมื่อพระองค์เห็นนางก็สงสารนางยิ่งนัก และกล่าวว่า “อย่าร้องไห้เลย” แล้วพระองค์เข้าไปแตะโลงศพ คนหามก็ยืนนิ่ง พระองค์กล่าวว่า “พ่อหนุ่ม เราสั่งเจ้าให้ลุกขึ้นเถิด” ผู้ตายก็ลุกขึ้นนั่งและเริ่มพูดจา พระเยซูจึงมอบเขาคืนให้มารดา[7]

เมื่อพระองค์เห็นประชาชน ก็สงสารเขา เพราะพวกเขาถูกรังควานและไร้ที่พึ่งเหมือนแกะขาดคนเลี้ยง[8]

พระเยซูสงสารเขา และแตะตาของเขา ทันใดนั้นทั้งสองก็มองเห็น และตามพระองค์ไป[9]

แง่มุมความเมตตาของพระเจ้า

ความเมตตาของพระเจ้าเปี่ยมล้น และยั่งยืนตลอดไป

พระองค์แสนดี และพร้อมที่จะให้อภัย เปี่ยมล้นด้วยความเมตตาต่อผู้คนที่ร้องเรียกพระองค์[10]

ความเมตตาของพระองค์ใหญ่ยิ่งถึงฟ้าสวรรค์ ความจริงของพระองค์สูงเทียมเมฆ[11]

จงขอบคุณพระเยโฮวาห์ เพราะพระองค์แสนดี! เพราะความเมตตาของพระองค์ยั่งยืนเป็นนิจ[12]

เขาร้องเพลงตอบกัน สรรเสริญและขอบคุณพระองค์ว่า “เพราะพระองค์แสนดี เพราะความเมตตาของพระองค์ต่ออิสราเอล ยั่งยืนเป็นนิจ[13]

พระเจ้าแสดงความเมตตาต่อผู้ที่รักพระองค์

ขอให้รู้เถิดว่า พระองค์คือพระเจ้า คือพระเจ้าผู้สัตย์ซื่อ ผู้รักษาสัญญา มีความเมตตาต่อผู้คนที่รักพระองค์ และรักษาบัญญัติของพระองค์ ถึงพันชั่วอายุคน[14]

ความเมตตาของพระองค์แผ่มาสู่ผู้ที่ยำเกรงพระองค์ ทุกชั่วอายุสืบไป[15]

นอกจากนี้พระองค์หยิบยื่นความเมตตาให้แก่ผู้ที่ไม่รักพระองค์

พระองค์ดีต่อทุกคน พระองค์เมตตาสรรพสิ่งที่สร้างขึ้น[16]

จงรักศัตรูของท่าน จงทำดีต่อเขา และให้เขายืม โดยไม่หวังผลตอบแทน แล้วท่านจะได้รับบำเหน็จใหญ่หลวง และจะได้เป็นบุตรของพระเจ้าผู้สูงสุด เพราะพระองค์กรุณาต่อคนอกตัญญูและคนชั่ว จงเมตตากรุณา เช่นเดียวกับที่พระบิดาเมตตากรุณา[17]

พระผู้เป็นเจ้าเปี่ยมด้วยความเมตตา และให้อภัย แม้ว่าข้าขัดขืนต่อพระองค์[18]

พระเยซูจุติลงมาเกิดด้วยความเมตตาของพระเจ้า

แบบอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดที่แสดงถึงความเมตตาของพระเจ้าต่อมวลมนุษย์ คือการที่พระเยซูจุติลงมาเกิดในร่างมนุษย์ และยอมตายเพื่อบาปของเรา ด้วยการรับโทษที่เราสมควรได้รับ นี่คือภาพสะท้อนที่สมบูรณ์แบบ ถึงความรักความเมตตาของพระเจ้า ด้วยความรักความเมตตาจากเบื้องบน พระองค์เลือกที่จะเสียสละเช่นนี้ เพื่อช่วยให้เราสมานไมตรีกับพระองค์

ในคำบรรยายถึงคุณลักษณะของพระเจ้า เจ ไอ แพ็คเกอร์ กล่าวว่า

สติปัญญาจากเบื้องบนปรากฏชัดในวิถีทางแห่งความรอด โดยผ่านไม้กางเขน ซึ่งแก้ไขปัญหาที่มนุษย์พบว่าแก้ไม่ได้ บุคคลผู้มีบาปในตนเอง และขาดคุณธรรม จะมีจิตใจถูกต้องต่อพระเจ้าได้อย่างไร คำตอบก็คือ ผ่านการไถ่โทษ ทว่ามนุษย์คงไม่มีวันใฝ่ฝันว่าสิ่งนั้นเป็นไปได้ พระเจ้าคิดค้นขึ้นมา พระเจ้าเผยให้เห็น พระองค์ได้ทำเช่นนั้น พระเจ้าสมควรได้รับการสรรเสริญ พระคริสต์คือสติปัญญาของพระเจ้า สติปัญญาซึ่งประจักษ์ชัดว่าสูงสุด ในวิถีทางแห่งความรอด[19]

ด้วยความรักความเมตตา พระเจ้าได้เปิดทางให้พวกเราผู้เป็นคนบาปได้รับการไถ่บาป ความบริสุทธิ์และความชอบธรรมของพระองค์ กอปรกับพระคุณและความเมตตา ล้วนเป็นธรรมชาติและวิสัยของพระเจ้า ซึ่งเป็นส่วนในพระวิญญาณของพระองค์ พร้อมกับความรักจากเบื้องบนของพระองค์ บันดาลให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์ คือการไถ่โทษบาปแทนเรา เราจึงไม่ต้องถูกพรากไปจากพระเจ้า เพราะความบาป เราจะได้อยู่กับพระองค์ตลอดไป

แม้ท่านสิ้นชีวิตแล้ว เพราะการละเมิดกฎและบาป ซึ่งท่านเคยทำเมื่อดำเนินตามวิถีทางของโลกนี้ และวิถีทางของวิญญาณในอากาศ ซึ่งมีอำนาจครอบงำผู้ที่ไม่เชื่อฟัง เมื่อก่อนเราเคยใช้ชีวิตร่วมกับพวกที่ทำตามกิเลสตัณหาของเนื้อหนัง โดยตอบสนองความปรารถนาทางเนื้อหนัง และความคิดตามวิสัยมนุษย์ เราจึงสมควรได้รับความพิโรธ เหมือนคนอื่น แต่เนื่องด้วยความรักใหญ่หลวงที่มีต่อเรา พระเจ้าผู้เปี่ยมล้นด้วยความเมตตาจึงให้เรามีชีวิตอยู่กับพระคริสต์ แม้ว่าเราตายไปแล้วในความบาป คือท่านได้รับความรอดโดยพระคุณ พระองค์บันดาลให้เราฟื้นคืนชีพกับพระองค์ และอยู่ในสวรรค์กับพระเยซูคริสต์เพื่อว่าในยุคภายภาคหน้าพระองค์จะได้แสดงพระคุณเหลือล้น อันหาใดเปรียบ ซึ่งแสดงด้วยความกรุณาที่มีต่อเราในพระเยซูคริสต์ เพราะว่าท่านได้รับความรอดโดยพระคุณ ด้วยศรัทธา ความรอดนี้ไม่ได้มาจากตัวท่านเอง แต่เป็นของขวัญจากพระเจ้า[20]

นักปรัชญาและนักศาสนศาสตร์ รูฟัส เอ็ม โจนส์ เสนอคำอธิบายเชิงลึกดังต่อไปนี้ เกี่ยวกับบาป และการที่พระคริสต์ไถ่โทษแทนความผิดบาปของเรา

แง่มุมเบื้องต้นสองประการของบาป คือ (1) คุณธรรมในใจที่ส่งผลต่อดวงวิญญาณ เป็นอำนาจที่ครอบงำคนบาป (2) บาปมีแนวโน้มที่จะสร้างรอยร้าวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าพระเจ้ากริ้วโกรธ พระคริสต์ตอบสนองสถานการณ์ดังกล่าวของมนุษย์อย่างไร อะไรคือหัวใจสำคัญของพระกิตติคุณ ก่อนอื่น ... พระองค์เผยให้เห็นว่าพระเจ้าคือบิดา ผู้มีความรัก ความอ่อนโยน และการให้อภัย เป็นธรรมชาติโดยแท้ พระองค์แสดงออกถึงความรักไม่มีที่สิ้นสุด แทนที่จะเป็นผู้ทรงอำนาจที่เรียกร้องความยุติธรรม ยอห์นเพียงเอ่ยถึงสิ่งที่พระเยซูคริสต์สอน ด้วยการกระทำทุกอย่างในชีวิตของพระองค์ และความรักสูงสุดที่พระองค์เผยให้เห็นบนไม้กางเขน เมื่อพระองค์กล่าวว่า "พระเจ้าคือความรัก" การยอมรับความจริงดังกล่าว และเริ่มคำนึงว่าพระเจ้าผู้ที่เราควรจะทำให้พอใจ สมานไมตรี หรือเปลี่ยนทัศนคติ ก็คือการยอมรับหัวใจสำคัญของพระกิตติคุณ ... พระองค์มาเพื่อแสดงพระบิดาให้เราเห็น ได้แสดงอย่างชัดเจนถึงพระองค์ผู้เปี่ยมด้วยความรัก ไม่เฉพาะต่อนักบุญ และผู้เป็นบุตรที่แท้จริง ทว่าต่อคนบาปด้วย ต่อผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นบุตร พระเจ้าคือความรัก หรือไม่เราก็ต้องสรุปว่าพระคริสต์ไม่ได้เผยให้เห็นว่าพระองค์เป็นเช่นนั้น[21]

พระเจ้าผู้บริสุทธิ์ ชอบธรรม และเที่ยงธรรม พระเจ้าผู้อดทน มีเมตตา และกรุณาปรานี ไม่ต้องการเห็นใครพินาศจากความบาป โดยชดใช้บาปกรรมด้วยความตาย

พระองค์ไม่เชื่องช้าที่จะทำตามคำสัญญาอย่างที่บางคนคิด แต่อดทนกับท่าน เพราะพระองค์ไม่ประสงค์ให้ผู้ใดพินาศ แต่ประสงค์ให้ทุกคนกลับใจ[22]

พระผู้เป็นเจ้าประกาศว่า เราพึงพอใจในความตายของคนชั่วร้ายหรือ เราไม่ยินดีมากกว่าหรือเมื่อเขาหันเหจากทางชั่วของตน และมีชีวิต ... เพราะเราไม่ได้พึงพอใจในความตายของผู้ใด ขอให้กลับใจ และมีชีวิตอยู่เถิด[23]

จงบอกเขาว่า พระผูเป็นเจ้าประกาศว่า เรามีชีวิตอยู่ฉันใด เราไม่พอใจให้คนชั่วต้องตายฉันนั้น แต่อยากให้เขาหันไปจากทางชั่ว และมีชีวิต จงหันไปจากทางชั่ว จะตายทำไมเล่า ชนชาติอิสราเอล[24]

ผลตอบแทนจากบาปคือความตาย แต่ของขวัญจากพระเจ้า คือชีวิตนิรันดร์ในพระเยซูคริสต์ พระผู้เป็นเจ้าของเรา[25]

ปิดท้าย ต่อไปนี้คือข้อความจากนักศาสนศาสตร์ คาร์ล บาร์ธ ซึ่งบ่งบอกอย่างแสนวิเศษว่า ความรัก ความเมตตา และพระคุณของพระเจ้า พรั่งพรูจากพระวิญญาณและชีวิตจิตใจของพระองค์

ความเมตตาของพระเจ้ามาจากการที่พระองค์พร้อมจะเห็นอกเห็นใจผู้ที่ทุกข์ร้อน คือความพร้อมที่หลั่งไหลมาจากส่วนลึกของพระองค์ ประทับไว้ในชีวิตจิตใจและการกระทำทั้งสิ้นของพระองค์[26]

ความรักและพระคุณของพระเจ้า ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์หรือกลไก ทว่ามีตำแหน่งแห่งที่แท้จริง และมีจุดกำเนิดการเคลื่อนไหวในหัวใจของพระเจ้า[27]

ไม่มีผู้ใดจากเบื้องบนที่สูงส่งกว่าพระเจ้าผู้มีพระคุณ ไม่มีความบริสุทธิ์ใดจากเบื้องบนที่สูงส่งกว่าที่พระองค์แสดงให้เห็น ในความเมตตาและการให้อภัยบาป เพราะการทำเช่นนี้ พระองค์ไม่ได้มอบสิ่งอื่นใด นอกจากการที่พระองค์เข้ามากั้นกลาง ด้วยความตั้งใจดี พระองค์รับเหตุและความรับผิดชอบไว้ ทั้งๆ ที่เรามีความตั้งใจไม่ดี การทำเช่นนี้ พระองค์สะท้อนให้เห็นความสูงส่งทั้งสิ้นของพระองค์ เมื่อเราทำบาปต่อพระเจ้า พระเจ้าก็ดำเนินการเพื่อสมานไมตรีกับเรา โดยมอบพระคุณให้แก่เรา ถ้าเราค้นพบ สำนึก และยอมรับพระคุณของพระองค์ เราก็ค้นพบ สำนึก และยอมรับพระองค์นั่นเอง ดังนั้นพระคุณซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ต่อต้านความบาปได้อย่างมีประสิทธิผล จึงดำเนินการ[28]

พระองค์ไม่ประสงค์ให้ผู้ใดพินาศ พระเจ้าเปิดทางความรอด โดยผ่านพระเยซู เพื่อด้วยศรัทธาในพระองค์ เราก็รอดพ้นจากความตาย จากการลงโทษเพราะบาปของเรา และการถูกพรากไปจากพระเจ้า นี่คือของขวัญล้ำค่าจากพระเจ้า ผู้มีความอดทน มีพระคุณ และมีเมตตา


[1] การ์เรตต์ จูเนียร์ เจมส์ ลีโอ Systematic Theology, Biblical, Historical, and Evangelical ฉบันที่ 1 เอ็น ริชแลนด์ ฮิลล์ส: สำนักพิมพ์ ไบบัลเพรส ค.ศ. 2000 หน้า 285

[2] เบอร์คอฟ หลุยส์ Systematic Theology แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์ ดับบลิวเอ็ม บี เอิร์ดแมนส์ ค.ศ. 1996 หน้า 73

[3] ศัพท์เฉพาะ/ความสอดคล้อง BlueletterBible.org

[4] 2 ซามูเอล 24:14

[5] สดุดี 72:13

[6] มาระโก 1:41

[7] ลูกา 7:12-15

[8] มัทธิว 9:36

[9] มัทธิว 20:34

[10] สดุดี 86:5

[11] สดุดี 57:10

[12] 1 พงศาวดาร 16:34

[13] เอสรา 3:11

[14] พระบัญญัติ 7:9

[15] ลูกา 1:50

[16] สดุดี 145:9

[17] ลูกา 6:35-36

[18] ดาเนียล 9:9

[19] แพ็คเกอร์ เจ ไอ ใน The Attributes of God (คุณลักษณะของพระเจ้า) ตอนที่ 2 คำบรรยาที่ 12 พระเจ้าสมควรได้รับการสรรเสริญ

[20] เอเฟซัส 2:1-8

[21] โจนส์ รูฟัส เอ็ม The Double Search - Studies in Atonement and Prayer (การค้นคว้าสองต่อ – การศึกษาเรื่องการไถ่โทษ และการอธิษฐาน) ฟิลาเดลเฟีย บริษัทเดอะจอห์นซีวินสตัน ค.ศ. 1906 หน้า 73

[22] 2 เปโตร 3:9

[23] เอเสเคียล 18:23,32

[24] เอเสเคียล 33:11

[25] โรม 6:23

[26] บาร์ธ คาร์ล The Doctrine of the Word of God (หลักคำสอนเรื่องพระคำของพระเจ้า) ฉบับที่ 1 ตอนที่ 2 พีบอดี้: สำนักพิมพ์เฮนดริคสัน ค.ศ. 2010 หน้า 369

[27] บาร์ธ คาร์ล The Doctrine of the Word of God (หลักคำสอนเรื่องพระคำของพระเจ้า) ฉบับที่ 1 ตอนที่ 2 พีบอดี้: สำนักพิมพ์เฮนดริคสัน ค.ศ. 2010 หน้า 370

[28] บาร์ธ คาร์ล The Doctrine of the Word of God (หลักคำสอนเรื่องพระคำของพระเจ้า) ฉบับที่ 1 ตอนที่ 2 พีบอดี้: สำนักพิมพ์เฮนดริคสัน ค.ศ. 2010 หน้า 350