หัวใจสำคัญ: การจุติมาเกิด (ตอนที่ 1)

มิถุนายน 28, 2011

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

ในบทความเรื่อง “มนุษย์ผู้เป็นพระเจ้า” และ “ตรีเอกานุภาพ” เราสำรวจความจริงในพระคัมภีร์เกี่ยวกับสภาพพระเจ้าของพระเยซู ว่าพระองค์คือพระเจ้าโดยแท้ ในบทความเรื่อง “การจุติมาเกิด” เราจะอธิบายแบบเจาะลึกพระคัมภีร์ ถึงสภาพมนุษย์ของพระเยซู ว่าพระองค์คือมนุษย์เต็มตัว และเป็นพระเจ้าเต็มตัวด้วย

สภาพมนุษย์ของพระเยซู

ตามแผนการของพระเจ้าในเรื่องความรอด สภาพมนุษย์ของพระเยซูคือส่วนสำคัญพอๆกับสภาพพระเจ้าของพระองค์ เพราะความรอดของเราขึ้นอยู่กับการที่พระเยซูเป็นทั้งมนุษย์และพระเจ้าเต็มตัว

เนื่องจากพระองค์เป็นหนึ่งในตรีเอกานุภาพ คือพระเจ้าผู้เป็นพระบุตร จึงเป็นไปได้ที่เราจะมีความรอด พระเจ้าผู้เดียวที่แบกภาระความบาปของชาวโลกไว้ได้ พระเจ้าผู้อมตะองค์เดียวเท่านั้นที่ทำการเสียสละอย่างหาค่ามิได้ และเชื่อฟังบัญญัติของพระเจ้าครบถ้วน โดยรองรับความพิโรธของพระเจ้า เพื่อเป็นการไถ่บาป ฉะนั้นจึงปลดปล่อยคนอื่นให้เป็นอิสระจากการพิพากษาโทษตามบัญญัติ[1]

ในทำนองเดียวกัน ท่านผู้เดียวผู้รับสภาพเป็นมนุษย์ ซึ่งช่วยให้เป็นไปได้ที่เราจะมีความรอด เพราะมนุษย์คนแรก คืออาดัม ได้ทำบาป และส่งผลให้มนุษย์ทุกคนต้องรับโทษ ฉะนั้นจึงจำเป็นที่มนุษย์คนหนึ่งจะรับโทษและการพิพากษาจากพระเจ้า โดยที่มนุษย์เท่านั้นที่จะเป็นตัวแทนของมนุษยชาติได้

พระคริสต์ทรงเป็นขึ้นมาจากความตายแล้ว และทรงเป็นผลแรกในคนทั้งหลายที่ได้ล่วงลับไปแล้วนั้น เพราะว่าความตายได้อุบัติขึ้น เพราะมนุษย์คนหนึ่งเป็นเหตุฉันใด การเป็นขึ้นมาจากความตายก็ได้อุบัติขึ้นเพราะมนุษย์ผู้หนึ่งเป็นเหตุฉันนั้น เพราะว่าคนทั้งปวงต้องตาย เกี่ยวเนื่องกับอาดัมฉันใด คนทั้งปวงก็จะกลับได้ชีวิต เกี่ยวเนื่องกับพระคริสต์ฉันนั้น[2]

ฉะนั้นจึงจำเป็นที่พระเยซู ผู้เป็นท่านที่สองในตรีเอกานุภาพ จะจุติมาเกิด เพื่อรับสภาพมนุษย์เต็มตัว เพื่อเป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์เต็มตัว เพื่อช่วยให้เป็นไปได้ที่เราจะมีความรอด

แม้ว่าอัครสาวกและคริสเตียนรุ่นแรกๆ เข้าใจว่าพระเยซูคือพระเจ้า และเป็นมนุษย์ด้วย หลักคำสอนจริงๆเรื่องการจุติมาเกิดนั้นมีขึ้นในภายหลัง คำว่า จุติมาเกิด เป็นศัพท์ทางเทคนิคในศาสนศาสตร์คริสเตียน ซึ่งมาจากภาษาลาตินว่า carnemหมายถึงร่างมนุษย์ การจุติมาเกิดหมายถึงการที่พระเยซูคือพระเจ้าในคราบมนุษย์ การที่พระเยซูจุติมาเกิดคือช่วงเวลาเดียวในประวัติศาสตร์ เมื่อพระเจ้ากลายเป็นมนุษย์ พระเจ้าจุติมาเกิด คือพระเจ้าในร่างมนุษย์[3] ตามลำดับแล้ว การจุติมาเกิดบ่งบอกไว้เป็นหลักคำสอนทางการ หลังจากที่ได้พัฒนาหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพขึ้นมาแล้ว ตรีเอกานุภาพอธิบายว่าพระเจ้าคือใคร การจุติมาเกิดบ่งบอกว่าพระเยซูเป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ เช่นเดียวกับการชี้แจงหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพให้ชัดเจน ซึ่งใช้เวลาระยะหนึ่ง และมีข้อโต้แย้งบ้าง เพื่อชี้แจงและหาคำมาบ่งบอกว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าและมนุษย์เต็มตัว

บ่อยครั้งผู้คนจดจ่อกับพระเยซูในสภาพพระเจ้า และไม่ค่อยใส่ใจกับสภาพมนุษย์ของพระองค์ แต่ระหว่างที่พระเยซูเป็นพระเจ้าอาศัยอยู่บนโลกในร่างมนุษย์ พระองค์เป็นมนุษย์เหมือนๆกับคุณและผม พระองค์มีความจำเป็นทางกายภาพ และมีความอ่อนแอเช่นเดียวกับเรา พระองค์มีขีดจำกัดทางกายภาพ และมีความคิดเช่นเดียวกัน พระองค์มีอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกัน พระองค์ถูกล่อใจให้ทำบาป และทนทุกข์ทางวิญญาณ เช่นเดียวกับพวกเรา พระองค์เคยเป็นมนุษย์ พระองค์บังเกิดมา มีชีวิต และสิ้นใจไป เหมือนมนุษย์ธรรมดาสามัญ พระองค์มีนิสัยใจคอของมนุษย์ ทั้งร่างกาย ดวงจิต หรือวิญญาณมนุษย์

ขอให้เรามาศึกษาข้อพระคัมภีร์ที่บ่งบอกถึงสภาพมนุษย์ของพระเยซู ผมจะแจกแจงเป็นประเภท

องค์ประกอบของมนุษย์ คือ ร่างกายและดวงจิตที่เป็นวิญญาณมนุษย์

พระเยซูมีองค์ประกอบหลักของธรรมชาติมนุษย์ทั้งสองอย่าง คือร่างกายและดวงจิตที่เป็นวิญญาณมนุษย์ พระองค์กล่าวถึงร่างกายและดวงจิต/วิญญาณของพระองค์ (ในบางกรณีดวงจิตและวิญญาณใช้สับเปลี่ยนกัน โดยมีความหมายเดียวกัน) พระองค์กล่าวถึงร่างมนุษย์และกระดูกของพระองค์ หนังสือฮีบรูกล่าวถึงการที่พระองค์มีเลือดเนื้อ ในข้อพระคัมภีร์อื่นๆ พระองค์กล่าวถึงการที่พระองค์มีดวงจิตหรือวิญญาณ

ดูมือเราและเท้าของเรา ว่าเป็นเราเอง จับตัวเราดู เพราะว่าผีไม่มีร่างและกระดูก เหมือนท่านเห็นเรามีอยู่นั้น”[4]

ครั้นบุตรทั้งหลายมีส่วนในเลือดเนื้ออยู่แล้ว พระองค์ก็ได้ทรงรับเลือดเนื้อเหมือนกัน[5]

พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “ใจของเราเป็นทุกข์แทบจะตาย จงเฝ้าอยู่กับเราที่นี่เถิด”[6]

พระเยซูทรงร้องเสียงดังตรัสว่า “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพระองค์ฝากจิตวิญญาณของข้าฯไว้ในหัตถ์ของพระองค์”[7]

ข้อพระคัมภีร์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพระเยซูมีองค์ประกอบที่จำเป็นของมนุษย์

พระเยซูเรียกพระองค์เองว่าเป็นมนุษย์ และคนอื่นยืนยันว่าพระองค์เป็นมนุษย์

ท่านหาโอกาสที่จะฆ่าเรา ซึ่งเป็นผู้ที่บอกท่านถึงความจริงที่เราได้ยินมาจากพระเจ้า[8]

 

“ชนชาติอิสราเอล ขอฟังคำเหล่านี้เถิด คือพระเยซูชาวนาซาเร็ธ เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดชี้แจงให้ท่านทราบ โดยการอัศจรรย์ การมหัศจรรย์ และหมายสำคัญต่างๆ ซึ่งพระเจ้าได้ทรงกระทำโดยพระองค์นั้น ท่ามกลางท่าน...”[9]

เพราะว่าความตายได้อุบัติขึ้นเพราะมนุษย์คนหนึ่งเป็นเหตุฉันใด การเป็นขึ้นมาจากความตายก็ได้อุบัติขึ้นเพราะมนุษย์ผู้หนึ่งเป็นเหตุฉันนั้น[10]

เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน พระเยซูก็อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติเรื่องการเจริญเติบโตและพัฒนาของมนุษย์ พระองค์บังเกิดมา พระองค์เติบโตทางร่างกาย จากวัยเด็กเป็นวัยผู้ใหญ่ พระองค์ผ่านขั้นตอนการเรียนรู้ตามประสาเด็กทั่วไป พระองค์เติบโต มีความรู้ ความเข้าใจ สติปัญญา และความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆ เมื่อโตขึ้น พระองค์เจริญวัยจนมีจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง เมื่อวันเวลาผ่านไป ซึ่งคงมาจากการเรียนบทเรียนต่างๆ เช่น การเชื่อฟังบิดามารดา การทนทุกข์ทรมาน และประสบการณ์อื่นๆ ถึงแม้ว่าไม่ได้เอ่ยถึงไว้ในข้อพระคัมภีร์ เรื่องการที่พระองค์เจ็บป่วย แต่สมมุติฐานได้ว่าพระองค์เจ็บป่วยเป็นครั้งคราว

นางจึงประสูติบุตรชายหัวปี[11]

พระกุมารนั้นก็เจริญวัย และเข้มแข็งขึ้นฝ่ายจิตวิญญาณ ประกอบด้วยสติปัญญา และพระคุณของพระเจ้าอยู่กับท่าน[12]

พระเยซูจำเริญขึ้นในด้านสติปัญญา ในด้านร่างกาย และเป็นที่ชอบจำเพาะพระเจ้า และต่อหน้าคนทั้งปวงด้วย[13]

ถึงแม้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตร พระองค์ทรงเรียนรู้ที่จะนอบน้อมยอมเชื่อฟัง โดยความทุกข์ลำบากที่พระองค์ได้ทรงทน[14]

ความจำเป็น ความอ่อนแอ และอารมณ์ความรู้สึก ตามประสามนุษย์

พระเยซูมีความอ่อนแอและความจำเป็นทางร่างกาย ซึ่งเรามี ในฐานะที่เป็นมนุษย์ พระองค์หิวกระหาย เหน็ดเหนื่อย ร่างกายพระองค์อ่อนล้า พระองค์อิดโรย ครั้งหนึ่งพระองค์เหนื่อยมาก จนหลับสนิทอยู่ในเรือประมง ขณะที่พายุโหมกระหน่ำ

เมื่อพระองค์ทรงอดพระกระยาหารสี่สิบวันสี่สิบคืนแล้ว ภายหลังพระองค์ก็ทรงอยากพระกระยาหาร[15]

พระเยซูทรงดำเนินทางมาเหน็ดเหนื่อย จึงประทับบนขอบบ่อน้ำ เป็นเวลาประมาณเที่ยง มีหญิงชาวสะมาเรียคนหนึ่งมาตักน้ำ พระเยซูตรัสกับนางว่า “ขอน้ำให้เราดื่มบ้าง”[16]

เกิดพายุใหญ่ในทะเลจนคลื่นซัดท่วมเรือ แต่พระองค์บรรทมหลับอยู่[17]

เมื่อเขาพาพระองค์ออกไป เขาเกณฑ์ซีโมนชาวไซรีน ที่มาจากบ้านนอก แล้วเอากางเขนให้เขาแบกตามพระเยซูไป[18](สันนิษฐานว่าพระเยซูเหนื่อยอ่อนมาก เนื่องจากถูกโบยตีอย่างทรมาน จนแบกกางเขนไม่ไหว)

พระเยซูมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกับเรา พระองค์รู้สึกสงสารผู้คน พระองค์สงสารผู้ที่ขัดสน พระองค์ร่ำไห้ พระองค์ประหลาดใจ พระองค์รู้สึกซาบซึ้ง หิวโหย ทุกข์ใจ พระองค์อธิษฐานสุดจิตสุดใจ โศกเศร้า ปวดร้าวใจ บางครั้งพระองค์เป็นทุกข์ (คำภาษากรีก tarrasso หมายความว่าร้อนใจ หรือตกใจเพราะภัยอันตราย) พระองค์มีเพื่อน และพระองค์รักเขา

เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นประชาชน ก็ทรงสงสารเขา ด้วยเขาอิดโรย กระจัดกระจายไป ดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง[19]

ครั้นพระเยซูทรงได้ยินดังนั้น ก็ประหลาดพระทัยนัก ตรัสกับบรรดาคนที่ตามพระองค์ว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า เราไม่เคยพบความเชื่อที่ไหนมากเท่านี้ แม้ในอิสราเอล[20]

ฉะนั้นเมื่อพระเยซูทอดพระเนตรเห็นเธอร้องไห้ และพวกยิวที่มากับเธอร้องไห้ด้วย พระองค์ก็ทรงคร่ำครวญร้อนพระทัย และทรงเป็นทุกข์[21]

พระเยซูทรงพระกันแสง[22]

พระองค์มีพระทัยเป็นทุกข์ เพราะใจเขาแข็งกระด้างนัก และได้ทอดพระเนตรดูรอบด้วยพระพิโรธ และพระองค์ตรัสกับชายคนนั้นว่า “จงเหยียดมือออกเถิด” เขาก็เหยียดออก และมือของเขาหายเป็นปกติ[23]

เมื่อพระองค์ทรงเป็นทุกข์แสนสาหัส พระองค์ยิ่งปลงพระทัยอธิษฐาน พระเสโทของพระองค์เป็นเหมือนโลหิตไหลหยดลงถึงดิน เป็นเม็ดใหญ่[24]

พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “ใจของเราเป็นทุกข์แทบจะตาย จงเฝ้าอยู่กับเราที่นี่เถิด”[25]

เมื่อพระเยซูตรัสดังนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงเป็นทุกข์ในพระทัย และตรัสเป็นพยานว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า คนหนึ่งในพวกท่านจะทรยศเรา”[26]

“บัดนี้จิตใจของเราเป็นทุกข์ และเราจะพูดว่าอะไร จะว่า ข้าแต่พระบิดา ขอทรงโปรดช่วยข้าพระองค์ให้พ้นเวลานี้ อย่างนั้นหรือ หามิได้ เพราะด้วยความประสงค์นี้เอง เราจึงมาถึงเวลานี้[27]

พระเยซูทรงรักมารธาและน้องสาวของเธอ และลาซารัส[28]

พระเยซูสิ้นพระชนม์ เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน ร่างกายของพระองค์สิ้นลมปราณ

เมื่อพระเยซูทรงรับน้ำองุ่นเปรี้ยวแล้ว พระองค์ตรัสว่า “สำเร็จแล้ว” และทรงก้มพระเศียรลง ปล่อยพระวิญญาณจิตออกไป[29]

พระเยซูทรงร้องเสียงดังตรัสว่า “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพระองค์ฝากจิตวิญญาณของข้าฯไว้ในหัตถ์ของพระองค์” ตรัสอย่างนั้นแล้ว จึงทรงปล่อยพระวิญญาณจิตออกไป[30]

ผู้คนที่พระเยซูเติบโตมาด้วย และอาศัยอยู่รอบข้าง จนกระทั่งเริ่มงานของพระองค์ ดูเหมือนทุกคนถือว่าพระองค์เป็นมนุษย์ธรรมดา เมื่อดูจากปฏิกิริยาของพวกเขา เมื่อพระองค์เริ่มงาน หลังจากที่ทำมหัศจรรย์ และประกาศข่าวสารที่กาลิลี มีคนฝูงใหญ่ติดตามพระองค์ พระองค์ไปเยี่ยมบ้านเกิดที่นาซาเร็ธ คนในเมืองและเพื่อนบ้านพากันปฏิเสธพระองค์

ต่อมาเมื่อพระเยซูตรัสคำอุปมาเหล่านี้แล้ว พระองค์เสด็จไปจากที่นั่น เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงบ้านเมืองของพระองค์ พระองค์สั่งสอนในธรรมศาลาของเขา จนคนทั้งหลายประหลาดใจ แล้วพูดกันว่า “คนนี้มีสติปัญญาและการอิทธิฤทธิ์อย่างนี้มาจากไหน คนนี้เป็นลูกช่างไม้ มิใช่หรือ มารดาของเขาชื่อมารีมิใช่หรือ น้องชายของเขาชื่อยากอบ โยเสส ซีโมน และยูดาส มิใช่หรือ และน้องสาวของเขาก็อยู่กับเรา มิใช่หรือ เขาได้สิ่งทั้งปวงเหล่านี้มาจากไหน” เขาจึงหมางใจในพระองค์ ฝ่ายพระเยซูตรัสกับเขาว่า “ศาสดาพยากรณ์จะไม่ขาดความนับถือ  เว้นแต่ในบ้านเมืองและในครัวเรือนของตน” พระองค์จึงมิได้ทรงกระทำการอิทธิฤทธิ์มากที่นั่น เพราะเขาไม่มีความเชื่อ[31]

แม้แต่พี่น้องของพระองค์ก็ไม่เชื่อพระองค์ ถึงแม้ว่าในที่สุดบางคนกลายเป็นผู้มีความเชื่อ และเป็นหัวหน้าเหล่าผู้มีความเชื่อ เช่น ยากอบ ยูดาส และอาจจะมีพี่น้องคนอื่นๆด้วย

แม้พวกน้องๆของพระองค์ก็มิได้เชื่อในพระองค์[32]

ถ้าผู้ที่ใช้ชีวิตและอยู่รอบข้างพระองค์เป็นส่วนใหญ่ พากันฉงนใจว่าพระองค์ได้สติปัญญาและความรู้มาจากไหน ถึงบอกกล่าวและประกาศข่าวสารด้วยอำนาจหน้าที่ จนเขาทึ่งใจ ก็เห็นได้ชัดทีเดียวว่าเขามองดูว่าพระองค์เป็นบุคคลธรรมดา ไม่ใช่พระเจ้า ไม่ใช่แม้แต่อาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ด้วยซ้ำ แต่เป็นแค่มนุษย์ปุถุชน

มาร์ติน ลูเธอร์ บ่งบอกถึงความจริงเกี่ยวกับสภาพมนุษย์เต็มตัวของพระเยซูไว้ เมื่อเขากล่าวว่า “พระองค์ดื่มกิน นอน และตื่นขึ้น พระองค์เหนื่อยล้า เสียใจ ยินดี ร่ำไห้ หัวเราะ หิวโหย กระหาย หนาวเย็น เหงื่อออก พูดคุย ทำงาน และอธิษฐาน[33]

ข้อพระคัมภีร์ข้างต้นล้วนชี้ให้เห็นว่าพระเยซูเป็นมนุษย์เต็มตัว พระองค์เหมือนกับคุณหรือผม ในสภาพมนุษย์และวิสัยของมนุษย์ พระองค์มีประสบการณ์ในชีวิตเหมือนเรา โดยมีจุดแข็งและจุดอ่อน ทางกายภาพและความคิดเหมือนกัน พระองค์เป็นมนุษย์ในทุกๆแง่ ยกเว้นในเรื่องบาป นั่นคือข้อแตกต่างอย่างเดียว พระองค์ไม่เคยทำบาป

พระเยซูไม่ได้ทำบาป ทว่าถูกล่อใจ

ข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้กล่าวถึงสภาพที่ไร้บาปของพระเยซู

เพราะว่าพระเจ้าได้ทรงกระทำให้พระองค์ผู้ทรงไม่มีบาป เป็นความบาป เพราะเห็นแก่เรา เพื่อเราจะได้เป็นคนชอบธรรมของพระเจ้า ผ่านพระองค์[34]

พระองค์ไม่ได้ทรงกระทำบาปเลย และไม่ได้พบอุบายในพระโอษฐ์ของพระองค์เลย[35]

ท่านก็รู้อยู่แล้วว่า พระองค์ได้ทรงปรากฏเพื่อนำบาปทั้งหลายของเราไปเสีย และบาปในพระองค์ไม่มีเลย[36]

มีผู้ใดในพวกท่านหรือที่ชี้ให้เห็นว่าเราได้ทำบาป[37]

เนื่องจากว่าพระเยซูไม่ได้ทำบาป พระองค์ก็ไม่จำเป็นต้องพลีชีพเพื่อบาปของพระองค์เอง แต่พระองค์ยอมตายเพื่อบาปของมนุษย์

คุณอาจฉงนใจว่าพระเยซูอาจทำบาป คำตอบจากข้อพระคัมภีร์ดูเหมือนว่าไม่ใช่เช่นนั้น พระองค์ไม่ได้ทำบาป ถ้าคุณพิจารณาข้อพระคัมภีร์ เราก็จะทราบว่า

1) พระเยซูไม่ได้ทำบาป ดังที่ชี้ให้เห็นในข้อพระคัมภีร์ข้างต้น

2) พระเยซูถูกล่อใจในทุกๆด้าน เช่นเดียวกับเรา ดังนั้นเราจึงทราบว่าพระองค์ถูกล่อใจให้ทำบาปโดยแท้

เพราะว่าเรามิได้มีมหาปุโรหิตที่ไม่เห็นใจในความอ่อนแอของเรา แต่ได้ทรงถูกทดลองเหมือนอย่างเราทุกประการ ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังปราศจากบาป[38]

3) พระเยซูคือพระเจ้า และพระเจ้าไม่อาจถูกล่อใจให้ทำความชั่ว

เมื่อผู้ใดถูกล่อลวงให้หลง อย่าให้ผู้นั้นพูดว่า “พระเจ้าทรงล่อลวงข้าพเจ้าให้หลง” เพราะว่าความชั่วจะมาล่อลวงพระเจ้าให้หลงไม่ได้ และพระองค์เองก็ไม่ทรงล่อลวงผู้ใดให้หลง[39]

คุณสมบัติประการหนึ่งของพระเจ้า คือความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหมายความว่าพระองค์แยกออกมาจากความบาป พระเจ้าทำบาปไม่ได้ ถ้าพระองค์ทำบาป พระองค์ก็ไม่ใช่พระเจ้า

ข้อพระคัมภีร์บอกเราว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าและมนุษย์เต็มตัว นอกจากนี้ก็บอกเราด้วยว่าพระเยซูถูกล่อใจ และพระเจ้าถูกล่อใจไม่ได้

ถ้าสภาพมนุษย์ของพระเยซูแยกต่างหากจากสภาพพระเจ้าของพระองค์ เมื่อนั้นพระองค์ก็คล้ายคลึงกับอาดัมและอีฟ เมื่อเขาถูกสร้างขึ้นมาตอนแรก นั่นคือพระองค์ปราศจากบาป แต่ตามหลักแล้วพระองค์สามารถทำบาปได้ ทว่าสภาพมนุษย์ของพระเยซูไม่ได้แยกจากสภาพพระเจ้าของพระองค์ พระองค์มีทั้งสองสภาพรวมอยู่ในบุคคลเดียว การทำบาปคือการกระทำที่ผิดศีลธรรมจรรยา ซึ่งดูเหมือนว่าเกี่ยวข้องกับพระคริสต์ทั้งองค์ ทั้งสภาพพระเจ้าและสภาพมนุษย์ ถ้าเป็นเช่นนั้น สภาพพระเจ้าของพระเยซูก็จะทำบาป หมายความว่าพระเจ้าทำบาป นั่นก็หมายความว่าพระองค์ไม่ใช่พระเจ้า แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะนั่นหมายความว่าพระเจ้ากระทำขัดกับสภาพของพระองค์เอง ซึ่งพระเจ้าไม่ทำเช่นนั้น ฉะนั้นก็เห็นได้ว่าการผนึกระหว่างสภาพพระเจ้าและสภาพมนุษย์ของพระเยซูในบุคคลเดียว ป้องกันไม่ให้พระองค์ทำบาป อย่างไรก็ตาม เป็นเช่นไรแน่ เราไม่ทราบได้ นั่นเป็นความเร้นลับอย่างหนึ่งที่เราประสบ ในหลักความเชื่อของคริสเตียน ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ เมื่อพิจารณาว่าพระเยซูคือผู้เดียวที่มีสองสภาพ คือสภาพพระเจ้าและสภาพมนุษย์ ดังนั้นก็สมเหตุสมผลแล้วที่เป็นเรื่องยาก ถ้าไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ ที่เราจะทราบว่าเรื่องเช่นนี้เป็นไปอย่างไรในพระองค์

ผมขอเสริมด้วยว่านักศาสนศาสตร์ทุกคนที่ผมได้ศึกษาผลงาน ต่างก็สรุปประเด็นนี้ว่า พระเยซูทำบาปไม่ได้ ขณะเดียวกันแต่ละคนก็เห็นพ้องว่าพระเยซูถูกล่อใจให้ทำบาปจริงๆ เช่นเดียวกับเรา เพราะพระองค์เป็นมนุษย์ และถูกล่อใจในทุกๆเรื่อง เช่นเดียวกับเรา ด้วยความหนักหน่วงเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าเราไม่เข้าใจอย่างเต็มที่ว่าการถูกล่อใจ ทว่าไม่สามารถทำบาป เป็นอย่างไร เราก็ทราบจากข้อพระคัมภีร์ว่าพระเยซูถูกล่อใจจริงๆ ทว่าไม่เคยยอมคล้อยตามความล่อใจให้ทำบาป

เราทุกคนต่างก็ถูกล่อใจให้ทำบาป ซึ่งเกิดการดิ้นรนต่อสู้ภายในส่วนลึก ในการที่จะไม่ทำบาป ลองนึกภาพตัวเองในสถานการณ์ที่ยากลำบากด้านการเงิน เช่น ถึงเวลาชำระบิล คุณไม่มีเงินจ่าย คุณอาจต้องเสียบ้านไป นี่หมายความว่าคุณอาจไร้ที่อยู่อาศัย ถ้าไม่เช่นนั้น อย่างน้อยก็ต้องย้ายบ้าน ซึ่งจะส่งผลต่อโรงเรียนและการศึกษาของลูก เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณก็คงไม่ค่อยมีอาหารดีๆทาน แล้วคุณมีโอกาสทำเงินก้อนใหญ่ ซึ่งจะตอบสนองความจำเป็นด้านการเงิน ในปัจจุบันและอนาคต อย่างไรก็ตาม โอกาสนี้เปิดช่องทางให้คุณทำบาป ด้วยการหลอกลวง พวกเราส่วนใหญ่คงนึกภาพออกถึงการดิ้นรนต่อสู้ กับการหยั่งผลประโยชน์ในการคว้าโอกาสไว้ กับความยากลำบากในการตัดสินใจเลือกทางที่ถูกต้องด้านศีลธรรมจรรยา และต้องรับผลที่อาจตามมา จากการทำเช่นนั้น ในสถานการณ์ดังกล่าว ลองนึกภาพดูว่าคุณตัดสินใจไม่คว้า “โอกาส” นั้น และไม่ทำบาป

ถึงแม้ว่าคุณเลือกที่จะไม่ทำบาป ฉะนั้นจึง “ไร้บาป” ในกรณีดังกล่าว แต่ความรู้สึกถูกล่อใจก็ยังมีจริง นี่เป็นเรื่องหนักหน่วง ซึ่งเรียกร้องศรัทธา ความปรานี และพละกำลังทางวิญญาณอย่างมหาศาล เพื่อที่จะต้านทานได้ ตัวอย่างนี้อาจช่วยให้คุณเข้าใจประสบการณ์ที่พระเยซูถูกล่อใจ

พระองค์ถูกล่อใจอย่างเต็มที่ ในทุกด้านเหมือนเรา ทว่าในทุกๆกรณี พระองค์ต่อต้านเครื่องล่อใจ ฉะนั้นจึงไม่ทำบาป พระองค์ต้องต่อสู้เครื่องล่อใจทุกอย่าง เพื่อจะได้ไม่ทำบาป แรงดึงดูดให้ทำบาปที่พระองค์ประสบนั้น ก็เหมือนกับที่เราประสบ ข้อแตกต่างคือ พระเยซูไม่เคยยอมคล้อยตามเครื่องล่อใจ ดังนั้นพระองค์จึงไม่ได้ทำบาป

นักปรัชญาและผู้ปกป้องคริสเตียน ชื่อ วิลเลี่ยม เลน เคร็ก อธิบายไว้ว่า

“แล้วเราจะเข้าใจเรื่องที่พระคริสต์ถูกล่อใจได้อย่างไร ก็ง่ายนิดเดียว คุณไม่ต้องมีความสามารถในการทำบางสิ่ง ถึงจะถูกล่อใจให้ทำ ... สมมุติว่าคุณอยู่ในห้องแล็บของนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง คุณเชื่อจริงๆว่าเขามีเครื่องดีโลเรียนที่เจาะกาลเวลา เขาให้คุณเฝ้าห้องแล็บ พร้อมด้วยคำสั่งเคร่งครัดว่า ‘อย่าใช้เครื่องดีโลเรียนเจาะกาลเวลา’ คุณอาจถูกล่อใจอย่างหนักให้เจาะกาลเวลา ระหว่างที่เขาไม่อยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณอาจรีบกลับมาทันทีหลังจากเดินทางข้ามกาลเวลา ก็จะไม่มีใครรู้! คุณคงต้องดิ้นรนต่อสู้กับเครื่องล่อใจจริงๆ คุณไม่รู้ว่านักวิทยาศาสตร์คนนั้นเสียสติ และไม่มีทางที่คุณจะเดินทางข้ามเวลาได้! แต่คุณก็ทำตามหน้าที่ คุณต่อต้านเครื่องล่อใจ และสมควรได้รับคำชมเชยด้วย คุณคงได้รับการเสริมสร้างพลังในชีวิตด้านศีลธรรมจรรยา โดยฝึกความตั้งใจเช่นนี้

“หรืออาจมีตัวอย่างที่เป็นชีวิตจริงมากกว่า สมมุติว่าคุณกำลังควบคุมอาหาร และถูกล่อใจให้ไปหยิบเค้กช็อกโกแลตในตู้เย็น ซึ่งภรรยาเก็บไว้เมื่อคืน คุณต่อต้านด้วยความใจกล้า โดยไม่รู้เลยว่าภรรยาทานเค็กไปแล้วตอนเที่ยงคืน และเค้กไม่ได้อยู่ในตู้เย็น! ผมคิดว่าตัวอย่างเช่นนี้น่าเชื่อถือมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การถูกล่อใจให้ทำบางสิ่ง เราไม่ต้องสามารถทำสิ่งที่ถูกล่อใจให้ทำได้จริงๆ”[40]

ข้อเท็จจริงที่ว่ากองทัพไม่พ่ายแพ้การสู้ศึก ไม่ได้หมายความว่าการสู้ศึกไม่หนักหน่วง ทหารยังคงต้องต่อสู้ และทนทุกข์ จนได้รับชัยชนะ พระเยซูทำบาปไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าศึกในการต่อสู้ความล่อใจไม่หนักหน่วง พระองค์ยังคงต้องต่อสู้

พระองค์เชื่อฟังพระบิดาในทุกสิ่ง ฉะนั้นจึงไม่ได้ทำบาป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย พระคัมภีร์กล่าวว่า “พระองค์เรียนรู้เรื่องการเชื่อฟัง จากสิ่งที่ต้องทนทุกข์” ข้อพระคัมภีร์ข้างต้นบอกว่าพระองค์อธิษฐานด้วยการร่ำไห้เสียงดัง

ฝ่ายพระเยซู ขณะเมื่อพระองค์ดำรงอยู่ในเนื้อหนัง พระองค์ได้ถวายคำอธิษฐาน ทูลวิงวอนด้วยทรงกันแสงมากมาย และน้ำพระเนตรไหล ต่อพระเจ้าผู้ทรงสามารถช่วยพระองค์ให้พ้นจากความตายได้ พระเจ้าทรงสดับ เพราะพระองค์นั้นได้ยำเกรง ถึงแม้ว่าพระองค์ทรงเป็นบุตร พระองค์ก็ทรงเรียนรู้ที่จะนอบน้อมยอมเชื่อฟัง โดยความทุกข์ลำบากที่พระองค์ได้ทรงทนเอา เมื่อทรงถูกทำให้เพียบพร้อมทุกประการแล้ว พระองค์ทรงเป็นผู้มอบความรอดชั่วนิรันดร์ สำหรับคนทั้งปวงที่เชื่อฟังพระองค์[41]

ในสวนเกสะมานี ก่อนหน้าที่จะถูกจับกุมไม่นานนัก ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะถูกโบยอย่างทารุณ แล้วถูกตรึงกางเขน เมื่ออธิษฐานต่อพระบิดา พระองค์ดิ้นรนต่อสู้อย่างเห็นได้ชัด กับการตัดสินใจทำตามความประสงค์ของพระบิดา โดยต่อสู้กับเครื่องล่อใจที่จะไม่ “ดื่มจอกนั้น” พระองค์อธิษฐานด้วยความปวดร้าวใจ

พระเยซูถูกล่อใจอย่างหนัก พระองค์เรียนรู้การนอบน้อมเชื่อฟัง พระองค์อธิษฐานสุดจิตสุดใจที่จะทำตามความประสงค์ของพระบิดา พระองค์ไม่ได้พึ่งสภาพพระเจ้าของพระองค์ เพื่อช่วยให้นอบน้อมเชื่อฟังได้ง่ายขึ้น แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ต้องต่อสู้ในสภาพมนุษย์ ขณะที่พระองค์เผชิญหน้าและฟันฝ่าเครื่องล่อใจทุกอย่าง

เมื่อเราพิจารณาว่าพระบุตรผู้เป็นพระเจ้าเลือกที่จะถ่อมตน โดยรับสภาพเป็นมนุษย์ มีร่างมนุษย์ และทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเป็นมนุษย์ เพื่อเราแต่ละคนจะได้มีโอกาสรับการให้อภัยต่อบาปของเรา และมีชีวิตตลอดไป เราก็อดไม่ได้ที่จะรักและขอบคุณพระองค์ที่ทำเช่นนั้น พระองค์สละชีวิตเพื่อเรา คือสละชีวิตทางร่างกายในสภาพมนุษย์ แต่ถ้าจะว่าไป ก็สละชีวิตในสวรรค์ของพระองค์ด้วย เพราะพระองค์ต้องยอมสละ เพื่อใช้เวลาหลายปีบนโลก ในฐานะมนุษย์ ถ้าเปรียบเทียบ ก็คงเหมือนการที่มนุษย์ยอมไปเกิดเป็นไส้เดือน และใช้ชีวิตแบบไส้เดือนหลายปี คงเป็นการอับอายขายหน้าอย่างยิ่ง จะยากสักแค่ไหนที่รู้ว่าตนเป็นมนุษย์ ทว่าดำเนินชีวิตเยี่ยงไส้เดือน เป็นความนึกคิดที่ช่วยให้มีมุมมองใหม่ ถึงความรักที่พระองค์มีต่อเรา

ดังนี้แหละเราจึงรู้จักความรักของพระเจ้า เพราะว่าพระองค์ได้ทรงยอมวางชีวิตของพระองค์เพื่อเรา[42]

โดยข้อนี้ความรักของพระเจ้าที่มีต่อเรา ก็เป็นที่ประจักษ์แล้ว เพราะว่าพระเจ้าทรงใช้พระบุตรองค์เดียวของพระองค์ที่บังเกิด ให้เสด็จเข้ามาในโลก เพื่อเราจะได้ดำรงชีวิตโดยพระบุตรนั้น[43]

พระเยซูปราศจากบาป พระองค์บริสุทธิ์ในความนึกคิดและการกระทำทุกอย่าง รวมทั้งในความรู้สึก โดยกระทำด้วยความรักอันเพียบพร้อม ต่อพระเจ้าและมนุษย์ พระองค์หาทางทำตามความประสงค์ของพระบิดาเสมอ พระองค์ประสบความสำเร็จ พระองค์ทำเช่นนี้ได้อย่างไร นั่นเป็นความเร้นลับเรื่องความศรัทธา แต่เราทราบได้จากข้อพระคัมภีร์ว่าเป็นเช่นนั้น

เราได้เห็นจากบทความก่อนหน้า ว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าเต็มตัว และในที่นี้พระองค์ก็เป็นมนุษย์เต็มตัว ในบทความต่อไป เราจะสำรวจความยากลำบากที่บรรพบุรุษผู้มีความเชื่อประสบ ในการกำหนดว่าสภาพพระเจ้าและสภาพมนุษย์ ผนึกกันอยู่ในบุคคลเดียวได้อย่างไร


บรรณานุกรม

คาร์ล บาร์ธ The Doctrine of the Word of God เล่ม 1 ตอนที่ 2 สำนักพิมพ์ Peabody: Hendrickson Publishers ปี ค.ศ.2010

หลุยส์ เบอร์คอฟ Systematic Theology สำนักพิมพ์ Grand Rapids: Wm. B. Eerdmans Publishing Company ปี ค.ศ.1996

ฟิลลิป แครี ชุดคำบรรยายเรื่อง The History of Christian Theology ชุดที่ 11, 12  สำนักพิมพ์ Chantilly: The Teaching Company ปี ค.ศ.2008

วิลเลียม เลน เคร็ก ชุดคำบรรยายชุด Denfenders เรื่อง The Doctrine of Christ

เจมส์ ลีโอ การ์เร็ตต์ จูเนียร์ Systematic Theology, Biblical, Historical, and Evangelical เล่มที่ 1 สำนักพิมพ์ N. Richland Hills: BIBAL Press ปี ค.ศ.2000

เวย์น กรูเดม Systematic Theology, An Introduction to Biblical Doctrine สำนักพิมพ์ Grand Rapids: InterVarsity Press ปี ค.ศ.2000

ปีเตอร์ ครีฟท์ และ โรนัลด์ เค. เทเซลลี Handbook of Christian Apologetics สำนักพิมพ์ Downers Grove: InterVarsity Press ปี ค.ศ.1994

กอร์ดอน อาร์. ลูวิส และ บรูซ เอ. เดมาเรสต์ Integrative Theology สำนักพิมพ์ Grand Rapids: Zondervan ปี ค.ศ.1996

บรูซ มิลเน Know the Truth, A Handbook of Christian Belief สำนักพิมพ์ Downers Grove: InterVarsity Press ปี ค.ศ.2009

จอห์น ธีโอดอร์ มูลเลอร์ Christian Dogmatics, A Handbook of Doctrinal Theology for Pastors, Teachers, and Laymen สำนักพิมพ์ St. Louis: Concordia Publishing House ปี ค.ศ.1934

ลุดวิก อ็อต Fundamentals of Catholic Dogma สำนักพิมพ์ Rockford: Tan Books and Publishers, Inc. ปี ค.ศ.1960

จอห์น สต็อต Basic Christianity สำนักพิมพ์ Downers Grove: InterVarsity Press ปี ค.ศ.1971

ร็อดแมน เจ. วิลเลียมส์ Renewal Theology, Systematic Theology from a Charismatic Perspective สำนักพิมพ์ Grand Rapids: Zondervan ปี ค.ศ.1996


[1] หลุยส์ เบอร์คอฟ Systematic Theology (สำนักพิมพ์ Grand Rapids: Wm. B. Eerdmans Publishing Company ปี ค.ศ.1996) หน้า 319

[2] 1 โครินธ์ 15:20-22

[3] ฟิลลิป แครี่ The History of Christian Theology ชุดคำบรรยายที่ 11 (สำนักพิมพ์ Chantilly: The Teaching Company ปี ค.ศ.2008)

[4] ลูกา 24:39

[5] ฮีบรู 2:14

[6] มัทธิว 26:38

[7] ลูกา 23:46

[8] ยอห์น 8:40

[9] กิจการ 2:22

[10] 1 โครินธ์ 15:21

[11] ลูกา 2:7

[12] ลูกา 2:40

[13] ลูกา 2:52

[14] ฮีบรู 5:8

[15] มัทธิว 4:2

[16] ยอห์น 4:6-7

[17] มัทธิว 8:24

[18] ลูกา 23:26

[19] มัทธิว 9:36

[20] มัทธิว 8:10

[21] ยอห์น 11:33

[22] ยอห์น 11:35

[23] มาระโก 3:5

[24] ลูกา 22:44

[25] มัทธิว 26:38

[26] ยอห์น 13:21

[27] ยอห์น 12:27

[28] ยอห์น 11:5

[29] ยอห์น 19:30

[30] ลูกา 23:46

[31] มัทธิว 13:53-58

[32] ยอห์น 7:5

[33] เจมส์ ลีโอ การ์เร็ตต์ จูเนียร์ Ststematic Theology, Biblical, Historical, and Evangelical เล่ม 1 (สำนักพิมพ์ N. Richland Hills: BIBAL Press ปี ค.ศ. 2000) หน้า 612

[34] 2 โครินธ์ 5:21

[35] 1 เปโตร 2:22

[36] 1 ยอห์น 3:5

[37] ยอห์น 8:46

[38] ฮีบรู 4:15

[39] ยากอบ 1:3

[40] วิลเลียม เลน เคร็ก “Could Christ Have Sinned?”

[41] ฮีบรู 5:7-9

[42] 1 ยอห์น 3:16

[43] 1 ยอห์น 4:9