หัวใจสำคัญ: มนุษย์ผู้เป็นพระเจ้า (ตอนที่ 1)

เมษายน 19, 2011

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

คุณคงอยากจะอ่านเรื่อง “หัวใจสำคัญ: บทนำ” ก่อนอ่านบทความนี้ หรือบทความส่วนที่เหลือในเรื่องชุดนี้

หัวใจสำคัญในความศรัทธาของเรา ในฐานะคริสเตียน อยู่ที่คำตอบต่อคำถามง่ายๆข้อเดียว ทว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่สุด ว่า ใครคือพระเยซู? การที่จะเข้าใจความศรัทธาของเรา เข้าใจเรื่องราวของพระเยซู และความเป็นมาในชีวิตของพระองค์ ได้แก่ คำสอนของพระองค์ และเหตุผลที่พระองค์มายังโลกนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าพระองค์คือใคร

พระเยซูคือพระเจ้า พระองค์คือบุคคลที่สองในตรีเอกานุภาพ ได้แก่ พระเจ้าผู้เป็นพระบิดา พระเจ้าผู้เป็นพระบุตร และพระเจ้าผู้เป็นพระวิญญาณบริสุทธิ์ (หากประสงค์ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพ กรุณาดู หัวใจสำคัญ เรื่องตรีเอกานุภาพ)

ความจริงที่แสนวิเศษนี้ก็คือ การที่พระองค์คือพระเจ้า หมายความว่าทุกคนจากทุกยุคทุกสมัย ผู้ซึ่งขอให้พระเยซูเข้ามาสู่ชีวิตเขา ก็ได้รับการให้อภัยต่อบาปของเขา รวมทั้งมีชีวิตนิรันดร์ เพราะพวกเราที่เป็นมนุษย์ทำบาป และบาปคือการทำผิดต่อพระเจ้า เราจำเป็นต้องได้รับการให้อภัยจากพระเจ้า และสมานไมตรีกับพระองค์ วิธีเดียวที่จะทำเช่นนั้นได้ก็คือ พระเยซูผู้เป็นพระเจ้า กลายเป็นมนุษย์ ดำเนินชีวิตโดยปราศจากบาป ยอมตายเพื่อบาปของเรา และฟื้นคืนชีพ นี่แหละคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เหตุผลและที่มาว่าการที่พระเยซูสิ้นชีวิต นำมาซึ่งการให้อภัยจากพระเจ้าได้อย่างไร จะเป็นหัวข้อในบทความต่อๆไปของเรื่องชุดนี้ ตอนนี้ขอกล่าวเพียงว่าพระคัมภีร์สอนไว้ว่าการที่พระเยซูตายเพื่อบาปของชาวโลก คือพื้นฐานและแผนการเรื่องความรอดสำหรับมนุษย์ พระเยซูทำตามข้อเรียกร้องที่จำเป็นทุกอย่าง สำหรับการที่มนุษย์จะได้รับการให้อภัยจากพระเจ้าต่อบาปของเขา

Logos (พระคำ)

พระเยซูเป็นหนึ่งในตรีเอกานุภาพ คือพระเจ้าผู้เป็นพระบุตร ร่วมกับพระเจ้าผู้เป็นพระบิดา และพระเจ้าผู้เป็นพระวิญญาณบริสุทธิ์ ดังนั้นพระองค์จึงมีคุณสมบัติทุกอย่างของพระเจ้า (หากประสงค์ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของพระเจ้า กรุณาดู หัวใจสำคัญ เรื่องธรรมชาติและวิสัยของพระเจ้า)

พระเจ้าคือพระผู้สร้างทุกสิ่ง พระเจ้าเป็นอมตะ และทรงอยู่ ก่อนที่อะไรอื่นจะมีตัวตนขึ้นมา เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่พระเยซูเป็นพระเจ้า พระองค์ก็ต้องเป็นอมตะ ต้องมีพระองค์อยู่ ก่อนที่อะไรอื่นจะมีตัวตนขึ้นมาด้วย พระองค์ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่าง ตามข้อพระคัมภีร์ ทั้งหมดนี้เป็นจริงในพระเยซู

ข้อพระคัมภีร์สามข้อแรกในพระกิตติคุณยอห์น บ่งบอกถึงประเด็นนี้ไว้เป็นอย่างดีว่า

เมื่อเดิมนั้นพระวาทะเป็นอยู่แล้ว และพระวาทะนั้นได้อยู่กับพระเจ้า และพระวาทะนั้นเป็นพระเจ้า เมื่อเดิมพระองค์นั้นได้อยู่กับพระเจ้า พระองค์ได้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งปวง และสิ่งทั้งปวงที่เป็นขึ้นแล้วนั้น ไม่มีสักสิ่งเดียวที่เป็นขึ้นนอกเหนือพระองค์

เมื่อยอห์นกล่าวถึงพระเจ้าผู้เป็นพระบุตร ก่อนที่พระองค์จะมาประสูติในโลก เขาอ้างอิงถึงพระองค์ว่าเป็นพระคำ ไม่ใช่เป็นพระเยซู ข้อพระคัมภีร์ชี้ให้เห็นว่าพระคำ/พระเยซูมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ คือ “พระองค์ได้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งปวง” คำที่ยอห์นใช้ แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Word (พระคำ) มาจากภาษากรีกดั้งเดิมว่า Logos คำว่า Logos ใช้ครั้งแรกเมื่อหกศตวรรษก่อนคริสตศักราช โดยนักปรัญชาชาวกรีก ชื่อ เฮราคลิตัส เพื่อระบุเหตุผลจากเบื้องบน หรือแผนการที่สอดคล้องกับจักรวาลที่มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นสำหรับนักพูดชาวกรีกในสมัยนั้น Logos จึงหมายถึง เหตุผล เขาจึงเข้าใจข้อพระคัมภีร์ที่ว่า “เมื่อเดิมนั้นมีเหตุผลหรือความนึกคิดของพระเจ้า” เขาเข้าใจว่าก่อนการสร้างสรรค์ Logos เป็นอมตะอยู่กับพระเจ้าแล้ว ดังนั้นเอง Logos พระคำ พระเจ้าผู้เป็นพระบุตร มีอยู่แล้วก่อนสร้างสรรค์ใดๆ รวมทั้งเวลา พื้นที่ว่าง หรือพลังงาน

ดังที่บรรพบุรุษของผู้มีความเชื่อยุคแรกผู้หนึ่ง ชื่อ อะธานาเซียส เขียนไว้ว่า “ไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่พระองค์ (Logos) ไม่มีตัวตนอยู่”[1] พระองค์เป็นอมตะ Logosพระเจ้าผู้เป็นพระบุตร สถิตอยู่กับพระเจ้าผู้เป็นพระบิดา และเป็นพระเจ้า

ยอห์น 1:14 กล่าวว่า

พระวาทะนั้นได้บังเกิดเป็นเนื้อหนัง  และได้อาศัยอยู่กับเรา และเราได้เห็นสง่าราศีของพระองค์ ซึ่งบุตรองค์เดียวได้จากพระบิดา บริบูรณ์ไปด้วยคุณและความจริง

ยอห์นบ่งบอกไว้อย่างชัดเจนว่า Logos คือพระคำ พระเจ้าผู้เป็นพระบุตร บังเกิดเป็นมนุษย์ และอาศัยอยู่ในโลก นี่หมายความว่าพระเจ้าผู้เป็นพระบุตร อาศัยอยู่ในโลกเยี่ยงมนุษย์ชั่วระยะเวลาหนึ่ง หมายความว่าพระองค์ผู้เป็นอมตะ เข้ามาสู่สิ่งสร้างสรรค์ในขอบเขตของเวลาและพื้นที่ว่าง นี่เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพระเจ้าจุติมาเกิด ถ้าพระองค์กลายเป็นมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นเช่นนั้นจริง เมื่อพระเยซูแห่งนาซาเร็ธประสูติ พระองค์กลายเป็นมนุษย์ผู้เป็นพระเจ้า เป็นพระเจ้าในร่างมนุษย์ ซึ่งอาศัยอยู่ท่ามกลางพวกเรา

เนื่องจากว่านี่เป็นหลักพื้นฐานในความศรัทธาของคริสเตียน ผมคิดว่าคงเป็นการดีที่จะทบทวนว่าพระเยซูกล่าวอะไรไว้บ้างเกี่ยวกับพระองค์ ในเรื่องที่พระองค์เป็นพระเจ้า

การที่พระเยซูกล่าวอ้างว่าเป็นพระเจ้า

เป็นสิ่งสำคัญที่จะสังเกตว่าตามบัญญัติของโมเสส ใครที่เอ่ยอ้างตัวว่าเป็นพระเจ้า ก็หมิ่นพระเจ้า และโทษของผู้ที่หมิ่นพระเจ้าคือความตาย ชาวยิวหยิบก้อนหินขึ้นมาขว้างปาพระเยซู มากกว่าหนึ่งครั้ง เมื่อพระองค์ถูกพิจารณาคดีต่อหน้าผู้นำศาสนาชาวยิว เขาตัดสินให้พระองค์มีโทษถึงตาย เพราะเอ่ยอ้างว่าเป็นพระเจ้า เป็ฯที่ประจักษ์ชัดว่าชาวยิวในสมัยของพระองค์เข้าใจว่าพระองค์เอ่ยอ้างตัวเป็นพระเจ้า

คำเอ่ยอ้างตรงๆครั้งหนึ่งบันทึกอยู่ในยอห์น บทที่ 8 มีใจความว่า

“อับราฮามบิดาของท่านชื่นชมยินดีที่จะได้เห็นวันเวลาของเรา ท่านได้เห็นแล้วและมีความยินดี” พวกยูดายจึงกล่าวต่อพระองค์ว่า “อายุของตัวยังไม่ได้ห้าสิบปี และตัวได้เห็นอับราฮามแล้วหรือ” พระเยซูตรัสแก่เขาว่า “เราบอกท่านตามจริงว่า เราเป็นอยู่ก่อนอับราฮามเกิดอีก” คนทั้งหลายจึงหยิบก้อนหินจะขว้างพระองค์ แต่พระองค์ได้เลี่ยงหลีกออกไปจากโบสถ์[2]

สิ่งที่พระเยซูกล่าวไว้ในข้อความนี้มีนัยสำคัญสองแง่ อันดับแรก พระองค์ยังอายุไม่ถึงห้าสิบปีด้วยซ้ำ พระองค์เอ่ยอ้างว่าพระองค์มีชีวิตอยู่ก่อนหน้าอับราฮาม ผู้ซึ่งมีชีวิตและตายไปเมื่อสองพันปีที่แล้ว พระเจ้าเท่านั้นที่เป็นอมตะ ซึ่งพระเยซูเอ่ยอ้าง ประการที่สอง เมื่อกล่าวว่า “เราเป็นอยู่ก่อนอับราฮามเกิดอีก” พระเยซูก็ให้ชื่อตัวเองว่าเป็นพระเจ้า

ในอพยพ 3:14 พระเจ้าเผยต่อโมเสสว่า “เราเป็นซึ่งเราเป็น” แล้วบอกโมเสสให้บอกชนชาติชาวอิสราเอลว่า เราผู้เป็น ได้ส่งข้ามาหาพวกท่าน ชื่อของพระเจ้า เราผู้เป็น คือ YHWH หรือ Yahweh จากพระคัมภีร์เดิม เป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์มาก นับตั้งแต่สมัยก่อนพระเยซู เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ชาวยิวผู้เคร่งครัดหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยชื่อนี้ (เนื่องจากชาวยิวผู้เคร่งศาสนา ไม่เอ่ยชื่อ YHWH เขาจึงใช้ชื่อ Adonai แทน ซึ่งแปลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า”) แต่พระเยซูใช้ชื่อพระเจ้าชื่อนี้ อ้างอิงถึงพระองค์เอง ชาวยิวที่พระองค์พูดด้วย เข้าใจอย่างชัดเจนว่าพระองค์เอ่ยอ้างอะไร และหยิบก้อนหินขึ้นมาขว้าง หมายจะสังหารพระองค์

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งชาวยิวเข้าใจว่าพระเยซูเอ่ยอ้างตัวเป็นพระเจ้า มีบรรยายไว้ในยอห์น บทที่ 10

เวลานั้นเป็นเทศกาลแห่งการอุทิศตนที่กรุงเยรูซาเล็ม และเป็นฤดูหนาว พระองค์ดำเนินอยู่ในบริเวณวิหารที่เฉลียงของซะโลโม พวกยูดายจึงล้อมพระองค์ไว้ และทูลว่า “จะให้เราสงสัยนานเท่าใด ถ้าท่านเป็นพระคริสต์ จงบอกเราให้แจ้งเถิด” พระเยซูตรัสตอบเขาว่า “เราได้บอกท่านแล้ว และท่านมิได้เชื่อ การซึ่งเรากระทำในนามพระบิดาของเรา การนั้นเป็นพยานถึงเรา แต่ท่านไม่เชื่อ เพราะมิได้เป็นฝูงแกะของเรา แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา เรารู้จักแกะนั้น และแกะนั้นตามเรา เราให้ชีวิตนิรันดร์แก่แกะนั้น แกะนั้นจะมิได้พินาศเลยเป็นนิจ และจะไม่มีผู้ใดชิงแกะนั้นไปจากมือเราได้ พระบิดาของเราที่ประทานแกะนั้นแก่เรา เป็นใหญ่กว่าสารพัดทั้งปวง และไม่มีผู้ใดอาจชิงแกะนั้นจากพระหัตถ์พระบิดาของเราได้ เรากับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

พวกยูดายจึงหยิบก้อนหินจะขว้างพระองค์อีก พระเยซูตรัสแก่เขาว่า “การดีหลายประการซึ่งมาจากพระบิดาของเรา เราได้สำแดงแก่ท่านทั้งหลาย ท่านจะหยิบก้อนหินขว้างเรา เพราะข้อใดในการดีเหล่านั้น” พวกยูดายตอบว่า “เราจะขว้างตัวเพราะการดีก็หามิได้ แต่เพราะการหมิ่นประมาท และเพราะตัวเป็นมนุษย์ แต่ตั้งตัวเป็นพระเจ้า”

“ถ้าเราไม่ทำการของพระบิดา อย่าเชื่อเราเลย แต่ถ้าเราทำการนั้น แม้ท่านมิได้เชื่อเรา จงเชื่อเพราะการนั้น เพื่อท่านจะรู้ และเข้าใจว่าพระบิดาอยู่ในเรา และเราอยู่ในพระบิดา” เพราะเหตุนั้นเขาได้หาโอกาสที่จะจับกุมพระองค์อีก แต่พระองค์ทรงดำเนินพ้นมือเขาไป[3]

ในข้อความนี้พระเยซูอ้างอิงถึงมหัศจรรย์ที่พระองค์ได้ทำ โดยบอกว่าพวกยิวควรจะเชื่อในการงานที่พระองค์ได้ทำ เพราะแสดงให้เห็นว่า “พระบิดาอยู่ในเรา และเราอยู่ในพระบิดา”

พระเยซูได้แถลงว่า เราเป็น หลายครั้ง นี่คือการเอ่ยอ้างทางอ้อม ถึงการที่พระองค์เป็นพระเจ้า พระองค์ทำมหัศจรรย์ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันถ้อยแถลงที่พระองค์กล่าว ตัวอย่างเช่น หลังจากวันที่เลี้ยงอาหารคน 5,000 คน ด้วยปลาและขนมปัง ซึ่งทวีคูณจากปลาสองตัวและขนมปังห้าก้อน พระองค์กล่าวว่า

“เราเป็นทิพย์อาหารแห่งชีวิต ผู้ที่มาหาเรา จะมิได้อดอยาก และผู้ที่วางใจในเรา จะมิได้กระหายอีกเลย”[4]

“เราเป็นอาหารที่มีชีวิต ซึ่งลงมาจากสวรรค์ ถ้าผู้ใดจะกินอาหารนี้ ผู้นั้นจะมีชีวิตนิรันดร์ และอาหารที่เราจะให้นั้นคือเนื้อของเรา ซึ่งเราจะให้เพื่อเป็นชีวิตของโลก”[5]

พวกยูดายจึงกระซิบบ่นว่าพระองค์ เพราะพระองค์ตรัสว่า “เราเป็นทิพย์อาหารที่ลงมาจากสวรรค์” เขาจึงว่า “คนนี้เป็นเยซู ลูกของโยเซฟมิใช่หรือ พ่อแม่ของเขาเรารู้จักมิใช่หรือ เหตุฉะไหนคนนี้จึงพูดว่า เราได้ลงมาจากสวรรค์[6]

ในยอห์น บทที่ 9 พระเยซูแถลงว่า เราเป็น อีกครั้ง ติดตามด้วยมหัศจรรย์ที่สอดคล้องกัน ขณะที่พระองค์ออกมาจากวิหาร พระองค์เห็นชายผู้ซึ่งตาบอดแต่กำเนิด และกล่าวว่า

“เมื่อเรายังอยู่ในโลก เราเป็นความสว่างของโลก” เมื่อตรัสอย่างนั้นแล้ว พระองค์ทรงบ้วนน้ำลายที่ดิน เอาน้ำลายผสมเป็นโคลนทาที่ตาของคนตาบอด แล้วตรัสแก่เขาว่า “จงไปล้างเสียที่สระซีโลอาม” (ซึ่งแปลว่าส่งไป) เขาก็ไปล้าง พอกลับเขาก็มองเห็น[7]

เมื่อพวกฟาริสีสอบสวนชายผู้นี้ และถามว่าเขาหายตาบอดได้อย่างไร เขาอธิบายว่าพระเยซูรักษาเขา ชายผู้นั้นก็ถูกไล่ออกจากวิหาร ข้อความในบทนั้นกล่าวต่อไปว่า

พระเยซูทรงได้ยินว่าเขาไล่คนนั้นไปเสียแล้ว เมื่อพระองค์ทรงพบเขา จึงตรัสแก่เขาว่า “เจ้าเชื่อถือในพระบุตรของพระเจ้าหรือ” คนนั้นทูลตอบว่า “ท่านเจ้าข้า พระบุตรนั้นคือผู้ใด เพื่อข้าพเจ้าจะได้เชื่อถือในพระองค์” พระเยซูตรัสแก่เขาว่า “เจ้าได้เห็นท่านแล้ว เป็นผู้นั้นเองที่กำลังพูดอยู่กับเจ้า” เขาจึงทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า ข้าพเจ้าเชื่อ” เขาจึงกราบไหว้พระองค์[8]

ถ้อยแถลงว่าเราเป็น ติดตามด้วยมหัศจรรย์ที่ยืนยัน กล่าวไว้ในยอห์น บทที่ 11 เมื่อเพื่อนของพระเยซู ชื่อลาซารัสตาย สี่วันต่อมาพระเยซูเดินทางมายังเบธานี ที่ซึ่งลาซารัสถูกฝังไว้ น้องสาวของเขาชื่อมาร์ธา กล่าวว่าถ้าพระเยซูอยู่ด้วย พี่ชายคงไม่เสียชีวิต

พระเยซูตรัสแก่เขาว่า “เราบันดาลให้คนทั้งปวงฟื้นคืนชีพ และมีชีวิต ทุกคนที่วางใจในเรา แม้ว่าเขาตายแล้ว ก็ยังจะมีชีวิตอีก และทุกคนที่มีชีวิต และวางใจในเรา จะไม่ตายเลย เจ้าเชื่อข้อนี้หรือ” มาธาทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์เป็นพระคริสต์บุตรของพระเจ้าที่เสด็จมาในโลก[9]

แล้วพระเยซูก็ชุบชีวิตลาซารัสขึ้นมาจากความตาย เป็นเหตุให้หลายคนเชื่อในพระองค์ มหาปุโรหิตและพวกฟาริสี ตอบรับเหตุการณ์นี้ โดยจัดประชุมปรึกษาหารือกัน “ตั้งแต่วันนั้นมาเขาจึงคิดอ่านจะฆ่าพระองค์เสีย”[10]

ถ้อยแถลงว่า เราเป็น ซึ่งพระเยซูกล่าวไว้ ได้แก่

“เราเป็นประตู ถ้าผู้ใดเข้าไปทางเรา ผู้นั้นจะรอด เขาจะเข้าออกได้ โดยสะดวก และจะพบอาหาร”[11]

“เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดา เว้นไว้มาทางเรา ถ้าท่านได้รู้จักเราแล้ว ท่านก็คงจะได้รู้จักพระบิดาของเราด้วย ตั้งแต่นี้ไป ท่านก็รู้จักพระองค์ และได้เห็นพระองค์”[12]

มหาปุโรหิตจึงถามพระองค์อีกว่า “ท่านเป็นพระคริสต์บุตรของผู้ทรงบรมสุขหรือ” พระเยซูตอบว่า “เราเป็น และท่านจะได้เห็นบุตรมนุษย์นั่งอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของผู้ทรงฤทธานุภาพ และเสด็จมาในเมฆฟ้า” มหาปุโรหิตจึงฉีกเสื้อของตน แล้วกล่าวว่า “เราต้องการพยานอะไรอีกเล่า ท่านทั้งหลายได้ยินคำหมิ่นประมาทของเขาแล้ว ท่านคิดเห็นอย่างไร” คนทั้งปวงจึงเห็นพร้อมกันว่าควรจะมีโทษถึงตาย[13]

การที่พระองค์ใช้ทั้งคำว่า เราเป็น และ บุตรมนุษย์ พวกฟาริสีเข้าใจดีว่าพระเยซูเอ่ยอ้างตัวเป็นพระเจ้า และพวกเขาถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท และกล่าวว่าพระองค์สมควรถูกลงโทษถึงตาย

บุตรมนุษย์

พระเยซูใช้คำว่า บุตรมนุษย์ ในพระกิตติคุณโดยตลอด ทุกครั้งที่ใช้คำนี้ในพระกิตติคุณ พระเยซูอ้างอิงถึงตัวเอง เป็นการกล่าวย้อนไปถึงข้อความใน ดาเนียล 7:13-14 ซึ่งอธิบายว่าบุตรมนุษย์ได้รับอำนาจ สง่าราศี พลังสูงสุด และอาณาจักรที่จะคงอยู่ตลอดไป ข้อความนี้กล่าวไว้ชัดเจนถึงบุคคลที่อยู่ในสวรรค์แล้ว ผู้ซึ่งจะปกครองโลกชั่วนิรันดร์ ชาวยิวในสมัยพระเยซูได้ยินข้อความนี้จากดาเนียลจนคุ้นหู และรู้ว่าพระเยซูอ้างอิงถึงอะไร เมื่อพระองค์ใช้คำศัพท์นี้

ข้าพเจ้าได้ฝันเห็นในกลางคืนนั้น นี่แน่ะ มีผู้หนึ่งรูปร่างดังบุตรของมนุษย์นั่งมาบนเมฆ แล้วเข้ามาหาผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์ แล้วเขาก็พาผู้นั้นมาเฝ้าต่อหน้าพระที่นั่ง แล้วผู้นั้นได้รับมอบรัชช เกียรติยศ และอาณาจักร เพื่อทุกประเทศ ทุกชาติ ทุกภาษา จะได้ปฏิบัติท่าน รัชชของท่านดำรงอยู่เป็นนิจ ไม่มีวันสิ้นสุด และอาณาจักรของท่านไม่รู้จักล่มสลาย[14]

ข้อความสำคัญอีกสองสามตอนที่พระเยซูอ้างอิงถึงพระองค์เองว่าบุตรมนุษย์ ได้แก่

บุตรมนุษย์มีอำนาจในโลกที่จะยกความผิดได้[15]

เหตุว่าเมื่อบุตรมนุษย์จะเสด็จมาด้วยรัศมีแห่งพระบิดา พร้อมกับเหล่าทูตสวรรค์ เวลานั้นจะพระราชทานบำเหน็จให้ทุกคนตามการประพฤติของตน[16]

บุตรมนุษย์ผู้สถิตในสวรรค์นั้น โมเสสได้ยกงูขึ้นในป่าฉันใด บุตรมนุษย์จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น เพื่อทุกคนที่ได้วางใจในพระองค์ จะได้ชีวิตนิรันดร์[17]

นอกเหนือจากถ้อยแถลงว่า เราเป็น และ บุตรมนุษย์ แล้ว พระเยซูได้บ่งบอกด้วยว่าพระองค์สถิตอยู่กับพระเจ้าแล้ว ก่อนที่พระองค์จะมายังโลก

เราได้มาจากพระบิดา และเข้ามาในโลกแล้ว เราจะจากโลกไปสู่พระบิดาอีก[18]

ข้าพเจ้าได้ถวายเกียรติยศแก่พระองค์ในโลก เพราะข้าพเจ้าได้กระทำการซึ่งพระองค์ทรงประทานให้ข้าพเจ้ากระทำนั้นสำเร็จแล้ว เดี๋ยวนี้ พระบิดาเจ้าข้า ขอโปรดให้ข้าพเจ้ามีเกียรติจำเพาะพระพักตร์พระองค์ คือเกียรติยศซึ่งข้าพเจ้าได้มีกับพระองค์ในกาลก่อน เมื่อยังไม่มีโลกนี้[19]

ให้อภัยบาป

นอกเหนือจากการที่พระเยซูเอ่ยอ้างโดยตรงแล้ว พระองค์ได้กระทำและกล่าวในทางอ้อม ถึงสิ่งที่มีนัยว่าพระองค์เป็นพระเจ้า ในกรณีเช่นนี้ พระองค์ไม่ได้กล่าวว่า “เราคือพระเจ้า” แต่กล่าวแถลงหรือทำสิ่งที่เป็นคุณสมบัติของพระเจ้าเท่านั้น พระเยซูกล่าวต่อเขาว่า “พระบิดาของเรายังทรงกระทำการอยู่จนถึงบัดนี้ และเราก็กระทำด้วย”[20] ตัวอย่างหนึ่งคือการที่พระองค์ให้อภัยบาป ถึงแม้ว่ารายบุคคลให้อภัยบางคนที่ทำบาปต่อเขาได้ ทว่าพระเยซูให้อภัยบาปของคนที่กระทำบาปต่อผู้อื่น

ซี.เอส. ลูวิส อธิบายไว้ว่า “เราทุกคนเข้าใจได้ถึงการที่คนเราให้อภัยผู้ที่กระทำผิดต่อเราเอง คุณเหยียบเท้าผม ผมให้อภัยคุณ คุณขโมยเงินผม ผมให้อภัยคุณ แต่คุณควรจะคิดยังไงกับคนที่ไม่ได้ถูกขโมย และไม่มีใครเหยียบเท้าเขา แต่ประกาศว่าเขาให้อภัยคุณที่เหยียบเท้าคนอื่น และขโมยเงินจากคนอื่น โง่เขลาสิ้นดี[21] เป็นคำอธิบายเบาะที่สุดที่เราบ่งบอกถึงความประพฤติของเขา ทว่าพระเยซูได้ทำเช่นนั้น พระองค์บอกผู้คนว่าเขาได้รับการให้อภัยต่อบาป และไม่เคยรอปรึกษาคนอื่นๆทุกคนที่บาปของผู้นั้นก่อให้เกิดผลเสียหายต่อเขาอย่างไม่ต้องสงสัย พระองค์ทำเช่นนั้นโดยไม่ลังเลใจ ราวกับว่าพระองค์เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องคนสำคัญ และเป็นบุคคลหลักที่ได้รับการกระทำผิดในทุกกรณี นี่สมเหตุสมผลก็ต่อเมื่อ พระองค์เป็นพระเจ้าจริงๆ โดยที่เขาฝ่าฝืนบัญญัติของพระองค์ และความรักของพระองค์บอบช้ำในความบาปทุกอย่าง”[22]

ในสองข้อความต่อไปนี้ พระเยซูให้อภัยบาป เมื่อพระองค์ทำเช่นนั้น ก็เกิดข้อสงสัยข้องใจในหัวคิดของผู้นำชาวยิว เพราะเขาเข้าใจนัยสำคัญ

แล้วมีสี่คนหามคนง่อยคนหนึ่งมาหาพระองค์ เมื่อเขาเข้าไปให้ถึงพระองค์ไม่ได้ เพราะคนมาก เขาจึงรื้อดาดฟ้าหลังคาตึกที่พระองค์อยู่นั้น เมื่อรื้อแล้ว เขาเอาที่นอนที่คนง่อยกำลังนอนอยู่นั้นหย่อนลง เมื่อพระเยซูทรงเห็นความเชื่อของเขา พระองค์จึงตรัสแก่คนง่อยนั้นว่า “ลูกเอ๋ย ความผิดของเจ้าทรงโปรดยกเสียแล้ว” แต่มีพวกอาลักษณ์บางคนนั่งอยู่ที่นั่น เขาคิดในใจว่า “คนนี้พูดหมิ่นประมาทเช่นนี้ทำไมเล่า ใครจะยกความผิดได้ เว้นแต่พระเจ้าองค์เดียว” ในทันใดนั้นเมื่อพระเยซูทรงทราบในพระทัยว่าเขาคิดในใจอย่างนั้น พระองค์จึงตรัสแก่เขาว่า “เหตุไฉนท่านคิดในใจอย่างนี้เล่า ซึ่งจะว่ากับคนง่อยว่า ความผิดของเจ้าโปรดยกเสียแล้ว หรือจะว่า จงยกที่นอนเดินไปเถิด อันไหนจะง่ายกว่ากัน แต่ว่าเพื่อท่านจะได้รู้ว่า บุตรมนุษย์มีอำนาจโปรดยกโทษในแผ่นดินโลกได้” พระองค์จึงตรัสแก่คนง่อยว่า “เราสั่งเจ้าว่า จงลุกขึ้นยกที่นอนไปยังบ้านของตนเถิด” ทันใดนั้นคนง่อยได้ลุกขึ้นยกที่นอนของตนเดินออกไปต่อหน้าคนทั้งปวง ผู้คนก็ประหลาดใจนัก จึงสรรเสริญพระเจ้าว่า “เราไม่เคยเห็นเช่นนี้เลย”[23]

พระเยซูให้อภัยบาปของชายผู้นั้น แล้วก็ส่งเสริมความเชื่อถือต่ออำนาจจากเบื้องบนของพระองค์ ด้วยการทำมหัศจรรย์

ตัวอย่างที่สองก็คือ เมื่อพระเยซูไปเยี่ยมบ้านฟาริสีคนหนึ่งชื่อ ไซมอน ขณะที่พระองค์อยู่ที่นั่น มีหญิงคนหนึ่งซึ่งรู้กันดีว่าเป็นคนบาป เธอร่ำไห้ และล้างเท้าพระองค์ด้วยน้ำตา และเอาเส้นผมเช็ด แล้วเจิมเท้าพระองค์ด้วยขี้ผึ้ง

พระองค์จึงเหลียวดูผู้หญิงนั้น และตรัสกับซีโมนว่า “ท่านเห็นผู้หญิงนี้หรือ เราเข้ามาในบ้านของท่าน ท่านมิได้ให้น้ำล้างเท้าของเรา แต่ผู้หญิงนี้ได้เอาน้ำตาชำระเท้าของเรา และได้เอาผมของตนเช็ด ท่านมิได้จูบเรา แต่ผู้หญิงนี้ตั้งแต่เข้ามา มิได้หยุดจูบเท้าของเรา ท่านมิได้เอาน้ำมันชะโลมศีรษะของเรา แต่ผู้หญิงนี้ได้เอาน้ำมันหอมชะโลมเท้าของเรา เหตุฉะนั้นเราบอกท่านว่า ความผิดบาปของผู้หญิงนี้ซึ่งมีมากได้โปรดยกเสียแล้ว เพราะเธอรักมาก แต่ผู้ที่ได้รับการยกโทษน้อย ผู้นั้นก็รักน้อย” พระองค์จึงตรัสแก่ผู้หญิงนั้นว่า “ความผิดบาปของเจ้าโปรดยกเสียแล้ว” ฝ่ายคนที่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน คิดในใจว่า “คนนี้เป็นใคร ถึงความผิดก็ยกได้” พระองค์ตรัสแก่ผู้หญิงนั้นว่า “ความเชื่อของเจ้าได้ทำให้เจ้ารอด จงไปและเป็นสุขเถิด”[24]

ครั้งแล้วครั้งเล่า สิ่งที่พระเยซูะกล่าวและทำ ซึ่งบ่งบอกโดยตรงหรือทางอ้อม ถึงการที่พระองค์เอ่ยอ้างว่าเป็นพระเจ้า บาเรียนและผู้นำชาวยิวเข้าใจเช่นนั้นดี จึงถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท

การพิพากษาโทษมนุษย์

พระเยซูเอ่ยอ้างในทางอ้อมอีกอย่างหนึ่งก็คือ พระองค์จะพิพากษามนุษย์ในชีวิตภายภาคหน้า ซึ่งชาวยิวทราบดีว่าหน้าที่นี้สงวนไว้สำหรับพระเจ้าเท่านั้น ตามข้อพระคัมภีร์ของเขา

เมื่อบุตรมนุษย์จะเสด็จมาด้วยรัศมีภาพของพระองค์ ทั้งหมู่ทูตสวรรค์ เมื่อนั้นพระองค์จะทรงนั่งบนพระที่นั่งอันรุ่งเรืองของพระองค์ บรรดาชนชาติต่างๆจะประชุมพร้อมกัน ต่อพระพักตร์พระองค์ และพระองค์จะทรงแยกเขาทั้งหลายออกจากกัน เหมือนอย่างผู้เลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ ส่วนฝูงแกะนั้นจะทรงจัดให้อยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์ แต่ฝูงแพะนั้นจะทรงจัดให้อยู่เบื้องซ้าย ขณะนั้นพระมหากษัตริย์จะตรัสแก่บรรดาผู้ที่อยู่เบื้องขวาว่า “ท่านที่ได้รับพรจากพระบิดาของเรา จงมารับเอาแผ่นดินซึ่งตระเตรียมไว้สำหรับท่านตั้งแต่แรกสร้างโลก” ... “พระองค์จึงตรัสแก่บรรดาผู้ที่อยู่เบื้องซ้ายว่า เจ้าทั้งหลายผู้ต้องแช่งสาป จงถอยไปจากเรา เข้าไปอยู่ในไฟที่ไหม้อยู่เป็นนิตย์ ซึ่งเตรียมไว้สำหรับมารและพรรคพวกของมัน[25]

“เพราะว่าพระบิดามิได้ทรงพิพากษาผู้ใด แต่การพิพากษาทั้งสิ้น พระองค์ทรงมอบไว้แก่พระบุตร เพื่อจะให้คนทั้งปวงนับถือพระบุตร เหมือนที่ได้นับถือพระบิดา ผู้ที่มิได้นับถือพระบุตรก็มิได้นับถือพระบิดาที่ทรงใช้พระบุตรนั้นมา”[26]

สื่อสัมพันธภาพกับพระบิดา

นอกจากนี้พระเยซูเอ่ยอ้างว่ามีสื่อสัมพันธ์พิเศษไม่เหมือนใครกับพระบิดา

“เราบอกความจริงแก่ท่านว่า พระบุตรจะกระทำสิ่งใดตามใจไม่ได้ นอกจากที่ได้เห็นพระบิดาทรงกระทำ เพราะสิ่งใดที่พระบิดาทรงกระทำ สิ่งนั้นพระบุตรจึงทรงกระทำด้วย เพราะว่าพระบิดาทรงรักพระบุตร และทรงแสดงให้พระบุตรเห็นทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ และพระองค์จะทรงแสดงให้พระบุตรเห็นการยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก เพื่อท่านจะได้ประหลาดใจ[27]

“เรากับพระบิดาของเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”[28]

“พระบิดาของเราได้ทรงมอบสิ่งสารพัดให้แก่เรา และไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตร ผู้ใดก็ตามที่พระบุตรประสงค์ จะแสดงให้รู้”[29]

จอห์น สก็อต นักบวชนิกายแองลิกัน เป็นผู้นำที่มีชื่อเสียงในกลุ่มอีแวนเจลิเคิล และเป็นผู้ประพันธ์ที่ลือชื่อ บ่งบอกถึงสื่อสัมพันธ์พิเศษสุดไม่เหมือนใครที่พระเยซูมีกับพระบิดาไว้ดังนี้

พระองค์เหมือนพระเจ้ามาก จึงเป็นธรรมดาที่พระองค์ [พระเยซู] จะเปรียบทรรศนะที่มนุษย์มีต่อพระองค์เอง โดยเทียบกับทรรศนะ [ตามประสามนุษย์] ที่พระองค์มีต่อพระเจ้า ฉะนั้น

การรู้จักพระองค์ ก็ได้รู้จักพระเจ้า

การได้เห็นพระองค์ ก็ได้เห็นพระเจ้า

การเชื่อในพระองค์ ก็เชื่อในพระเจ้า

การรับพระองค์ไว้ ก็รับพระเจ้าไว้

การเกลียดชังพระองค์ ก็เกลียดชังพระเจ้า

การให้เกียรติพระองค์ ก็ให้เกียรติพระเจ้า[30]

การที่พระเยซูเอ่ยอ้างเช่นนั้น ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าเสมอไป แต่คำเอ่ยอ้างแสดงให้เห็นว่าพระองค์เองมีความเข้าใจว่าพระองค์คือพระเจ้า แน่นอนว่าคนเสียสติอาจเชื่อว่าเขาเป็นพระเจ้าด้วย แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริง ในหนังสือชื่อ The Case for Christลี สโตรเบล สัมภาษณ์ ดร. แกรี่ อาร์. คอลลินส์ ผู้ประพันธ์หนังสือ 45 เล่ม ในหัวข้อที่เกี่ยวกับจิตวิทยา สุขภาพจิตของพระเยซู คอลลินส์บ่งบอกเหตุผลหลายประการว่าเหตุใดจึงดูเหมือนพระเยซูมีสภาพจิตปกติธรรมดา ผมจะขอหยิบยกข้อความจากหนังสือมาโดยย่อ ถ้าคุณอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ผมขอแนะนำให้คุณอ่านหนังสือชั้นยอดเล่มนี้

“ผู้คนที่มีปัญหาทางจิต อาจนึกคิดผิดปกติ เขาไม่อาจสนทนาอย่างมีเหตุมีผล เขาด่วนสรุปความผิดๆ เขาไม่มีเหตุผล เราไม่เห็นว่าพระเยซูเป็นเช่นนี้ใน พระองค์บอกกล่าวอย่างชัดเจน ทรงพลัง และใช้คำพูดที่มีสำนวนโวหาร พระองค์ปราดเปรื่อง และหยั่งรู้อย่างน่าทึ่งที่สุด ต่อธรรมชาติของมนุษย์

“อาการอีกอย่างหนึ่งของคนที่จิตไม่ปกติก็คือ ความประพฤติที่ไม่เหมาะสม เช่น แต่งตัวแปลกๆ หรือเข้าสังคมกับคนอื่นไม่เป็น ความประพฤติของพระเยซูสอดคล้อง ตามที่คาดหมายกัน พระองค์มีสื่อสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอย่างลึกซึ้งกับผู้คนหลากหลาย จากแวดวงต่างๆในชีวิต

“พระองค์มีความรัก แต่ไม่ให้ความสงสารครอบงำ พระองค์ไม่มีความหยิ่งยโส ถึงแม้ว่าบ่อยครั้งจะถูกห้อมล้อมด้วยฝูงชนที่ยกย่องชมเชยพระองค์ พระองค์คงไว้ซึ่งความสมดุล ทั้งๆที่บ่อยครั้งมีวิถีชีวิตที่ภารกิจรัดตัว พระองค์ทราบเสมอว่ากำลังทำอะไรอยู่ และจะบ่ายหน้าไปทางไหน พระองค์ห่วงใยผู้คนอย่างสุดซึ้ง รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก ซึ่งสมัยนั้นไม่ถือกันว่ามีความสำคัญ พระองค์ยอมรับผู้คน โดยที่ไม่มองข้ามความบาป พระองค์ตอบรับรายบุคคล ตามสภาพที่เขาเป็นอยู่ และตามความจำเป็นเฉพาะอย่างของเขา

“แล้วด๊อกเตอร์ครับ มีคำวินิจฉัยอย่างไรครับ” ผมถาม

“สรุปแล้ว ผมไม่เห็นว่าพระเยซูมีปัญหาโรคจิตใดๆ” เขาสรุป และกล่าวเสริมด้วยรอยยิ้มว่า “พระองค์สุขภาพจิตดีกว่าใครๆที่ผมรู้จัก รวมทั้งผมด้วย”[31]

มีข้อโต้แย้งที่ลือชื่อจาก ซี.เอส. ลูวิส คือคำถามโลกแตกของลูวิส ซึ่งเอ่ยถึงคำถามว่าพระเยซูเป็นคนเสียสติ หรือเป็นพระเจ้า บ่อยครั้งอ้างอิงถึงว่า “Lord, Liar or Lunatic” (พระผู้เป็นเจ้า คนโกหก หรือคนบ้า) ในหนังสือ Mere Christianityลูวิสเขียนไว้ว่า

ผมพยายามป้องกันไม่ให้ใครกล่าวสิ่งที่เหลวไหลจริงๆ ซึ่งบ่อยครั้งผู้คนกล่าวถึงพระองค์ ผมพร้อมที่จะยอมรับพระเยซู ในฐานะปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่ผมไม่ยอมรับที่พระองค์เอ่ยอ้างว่าเป็นพระเจ้า นั่นคือสิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่กล่าวเช่นนั้น คนธรรมดาๆที่กล่าวอะไรเหมือนพระเยซู คงจะไม่ใช่ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ เขาคงจะเป็นคนบ้า ในระดับเดียวกับคนที่บอกว่าเขาเป็นไข่ตุ๋น หาไม่แล้วเขาคงเป็นจอมปีศาจจากขุมนรก คุณต้องเลือกว่า ชายผู้นี้เป็นพระบุตรพระเจ้า หรือคนบ้า หรืออะไรที่แย่กว่านั้น คุณผลักไสไปว่าพระองค์เป็นคนโง่ คุณถ่มน้ำลายรดพระองค์ และสังหารพระองค์ ในฐานะปีศาจ หรือไม่คุณก็สยบลงแทบเท้าพระองค์ และเรียกพระองค์ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่อย่ากล่าวสิ่งที่เหลวไหลว่าพระองค์คือมนุษย์ที่เป็นปรมาจารย์ พระองค์ไม่ได้ให้ทางเลือกนั้นแก่เรา พระองค์ไม่ได้มุ่งหมายเช่นนั้น[32]

บางคนโต้แย้งคำถามโลกแตกของลูวิส ว่ามีทางเลือกอื่น ปีเตอร์ ครีฟท์ และ โรนัลด์ แทเซลลี ในหนังสือชื่อ Handbook of Christian Apologetics เสริมคำโต้แย้งของลูวิส ชื่อ “Lord, Liar or Lunatic” โดยรวมความเป็นไปได้อีกสองอย่างไว้ คือ “กูรู” หรือ “เทพนิยาย” เขาโต้แย้งได้สำเร็จว่าพระเยซูไม่ใช่คนโกหก คนบ้า กูรู หรือเทพนิยาย แต่อันที่จริงแล้ว ก็เป็นตามที่พระองค์กล่าวไว้นั่นแหละว่า พระองค์คือพระบุตรของพระเจ้า[33]

พระเยซูเอ่ยอ้างโดยตรงว่าเป็นพระเจ้า กอปรกับมหัศจรรย์ที่พระองค์กระทำ การที่พระองค์ฟื้นคืนชีพ และขึ้นไปสู่สวรรค์ รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ตามคำพยากรณ์ที่กล่าวถึงพระองค์ไว้ในพระคัมภีร์เดิม ก็บ่งชัดว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า

พระองค์ไม่ใช่ผู้เดียวที่กล่าวเช่นนั้น ในบทความต่อไปของเรื่องชุดนี้ เราจะครอบคลุมว่าผู้ที่รู้จักพระองค์เป็นส่วนตัวกล่าวไว้อย่างไรบ้าง


บรรณานุกรม

บาร์ธ คาร์ล. The Doctrine of the Word of God เล่ม 1 ตอน 1 สำนักพิมพ์ Peabody: Hendrickson Publisher ปี ค.ศ.2010

เบอร์คอฟ หลุยส์ Systematic Theology สำนักพิมพ์ Grand Rapids: Wm. B. Eerdmans Publishing Company ปี ค.ศ.1996

แครี่ ฟิลลิป The History of Christian Theology คำบรรยาย ชุดที่ 11 และ 12 สำนักพิมพ์ Chantilly: The Teaching Company ปี ค.ศ.2008

เคร็ก วิลเลี่ยม เลน The Doctrine of Christ คำบรรยายชุด Defenders Series http://www.reasonablefaith.org/site/PageServer?pagename=podcasting_main

การ์เร็ตท์ จูเนียร์ เจมส์ ลีโอ Systematic Theology, Biblical, Historical, and Evangelical เล่ม 1 สำนักพิมพ์ N. Richland Hills: BIBAL Press ปี ค.ศ.2000

กรูเดม เวย์น Systematic Theology, An Introduction to Biblical Doctrine สำนักพิมพ์ Grand Rapids: InterVarsity Press ปี ค.ศ.2000

ครีฟท์ ปีเตอร์ และ โรนัลด์ เค. แทเซลลี Handbook of Christian Apologetics สำนักพิมพ์ Downers Grove: InterVarsity Press ปี ค.ศ.1994

ลูวิส กอร์ดอน อาร์. และ บรูซ เอ. เดมาเรสท์ Integrative Theology สำนักพิมพ์ Grand Rapids: Zondervan ปี ค.ศ.1996

มิลเน บรูซ Know the Truth, A Handbook of Christian Belief สำนักพิมพ์ Downers Grove: InterVarsity Press ปี ค.ศ.2009

มูลเลอร์ จอห์น ธีโอดอร์ Christian Dogmatics, A Handbook of Doctrinal Theology for Pastors, Teachers, and Laymen. สำนักพิมพ์ St. Louis: Concordia Publishing House ปี ค.ศ.1934

อ็อท ลุดวิก Fundamentals of Catholic Dogma สำนักพิมพ์ Rockford: Tan Books and Publishers, Inc. ปี ค.ศ.1960

สต็อท จอห์น Basic Christianity สำนักพิมพ์ Downers Grove: InterVarsity Press ปี ค.ศ.1971

วิลเลี่ยม เจ. ร็อดแมน Renewal Theology, Systematic Theology from a Charismatic Perspectiveสำนักพิมพ์ Grand Rapids: Zondervan ปี ค.ศ.1996

(The Heart of It All: The God-Man (Part 1).)


[1] ฟิลลิป แครี ในคำบรรยายชุด The History of Christian Theology (Chantilly: The Teaching Company, 2008) คำบรรยาย บทที่ 10

[2] ยอห์น 8:56-59

[3] ยอห์น 10:22-33, 37-39

[4] ยอห์น 6:35

[5] ยอห์น 6:51

[6] ยอห์น 6:41-42

[7] ยอห์น 9:5-7

[8] ยอห์น 9:35-38

[9] ยอห์น 11:25-27

[10] ยอห์น 11:53

[11] ยอห์น 10:9

[12] ยอห์น 14:6-7

[13] ยอห์นร 14:61-64

[14] ดาเนียล 7:13-14

[15] มัทธิว 9:6

[16] มัทธิว 16:27

[17] ยอห์น 3:14-15

[18] ยอห์น 16:28

[19] ยอห์น 17:4-5

[20] ยอห์น 5:17

[21] ช่างเหลวไหลไร้สาระอย่างที่สุด

[22] ซี.เอส. ลูวิส ในหนังสือ Mere Christianityเล่ม 2 บทที่ 3 “The Shocking Alternative” (HarperCollins ebooks, 2009) หน้า 51-52

[23] มาระโก 2:3-12

[24] ลูกา 7:44-50

[25] มัทธิว 25:31-34, 41

[26] ยอห์น 5:22-23

[27] ยอห์น 5:19-20

[28] ยอห์น 10:30

[29] มัทธิว 11:27

[30] เจ. สต็อท ในหนังสือ Basic Christianity (สำนักพิมพ์ IVP ปี 2006) หน้า 34

[31] ลี สโตรเบล หนังสือ The Case for Christ (สำนักพิมพ์ ซอนเดอร์แวน ปี ค.ศ.1998) หน้า 147

[32] ซี.เอส. ลูวิส หนังสือ Mere Christianity เล่ม 2 บทที่ 3 “The Shocking Alternative” (HarperCollins ebooks ปี ค.ศ.2009) หน้า 53

[33] การที่จะเข้าใจข้อโต้แย้งอย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น ขอให้อ่าน Handbook of Christian Apologetics บทที่ 10