More Like Jesus: The Foundation of Christlikeness

พฤศจิกายน 22, 2016

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

[เหมือนพระเยซูมากขึ้น: พื้นฐานการเป็นเหมือนพระคริสต์]

(บทความนี้มีพื้นฐานจากประเด็นสำคัญในหนังสือ The Practice of Godliness  โดย เจอร์รี บริดเจส[1])

ในการแสวงที่จะเป็นเหมือนพระเจ้า หรือเป็นเหมือนพระคริสต์ องค์ประกอบสำคัญคือ การเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น ซึ่งสานต่อได้จากความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้าเท่านั้น การเป็นเหมือนพระเจ้านิยามได้ว่า มีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับพระเจ้า และการกระทำที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว ย่างก้าวแรกของการเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น คือ พัฒนาการกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพระเจ้า พื้นฐานการเป็นเหมือนพระคริสต์คือการอุทิศตน โดยมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง การมีทัศนคติส่วนตัวที่ถูกต้องต่อพระเจ้า การตระหนักว่าพระองค์คือใคร และสำนึกถึงฐานะของเรา ในความสัมพันธ์ที่มีกับพระองค์ ทัศนคติดังกล่าวมีองค์ประกอบสามอย่าง คือ ความยำเกรงพระเจ้า ความรักของพระเจ้า และใฝ่หาพระเจ้า (เราจะเอ่ยถึงองค์ประกอบสามอย่างในบทความนี้)

อุปนิสัยและการประพฤติตนของคริสเตียนมาจากทัศนคติตามแบบอย่างพระเจ้า และการอุทิศตนที่มีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง เมื่อพระเจ้าเป็นศูนย์กลางของชีวิต การกระทำ และความนึกคิดของเรา เราก็อยู่ในตำแหน่งที่จะดำเนินชีวิตตามแบบอย่างและถวายสง่าราศีแด่พระองค์ เราสามารถเป็นคริสเตียนผู้อุทิศตนต่อวิสัยทัศน์และหน้าที่การงาน แต่ถ้าปราศจากการอุทิศตนอย่างแท้จริงต่อพระเจ้า เราจะขาดตกบกพร่อง ในการเป็นเหมือนพระคริสต์ การอุทิศตนต่อเจ้าส่งผลให้ชีวิตสะท้อนถึงพระองค์ นั่นทำให้พระองค์พอใจอย่างแท้จริง

เราเล็งเห็นได้ว่าองค์ประกอบของการอุทิศตนต่อพระเจ้ามีลักษณะเช่นไร ในคำอธิบายสั้นๆ ของเอโนค ในพระคัมภีร์เดิม

เมื่อเอโนคอายุ 65 ปี เขามีบุตรชายชื่อเมธูเสลาห์ หลังจากนั้นเอโนคดำเนินชีวิตกับพระเจ้าอีก 300 ปี และมีบุตรชายหญิงอีกหลายคน เอโนคมีอายุรวมทั้งสิ้น 365 ปี เอโนคดำเนินไปกับพระเจ้า แล้วไม่มีใครพบเขาอีกเลย เพราะพระเจ้ารับเขาไป[2]

สำนวนที่ว่า “ดำเนินไปกับพระเจ้า” คือการทำให้พระเจ้าพอใจ และมีมิตรภาพที่ใกล้ชิดกับพระเจ้า

ด้วยศรัทธา เอโนคถูกรับขึ้นไป เพื่อจะไม่ต้องประสบความตาย ไม่มีผู้ใดพบเขา เพราะพระเจ้ารับเขาไปแล้ว ก่อนหน้านั้นเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่พระเจ้าพอใจ[3]

นอกจากนี้ ในข้อความอื่นเราเห็นว่าการ “ดำเนินไปกับพระเจ้า” ถ่ายทอดถึงการมีสัมพันธภาพกับพระองค์ ในข้อพระคัมภีร์ อาทิเช่น

โนอาห์มีความชอบธรรม ไม่มีที่ติ เมื่อเทียบกับคนในยุคของเขา และดำเนินไปกับพระเจ้า[4]

สิ่งใดที่พระองค์ประสงค์จากท่าน คือจงประพฤติตนเที่ยงธรรม รักความเมตตากรุณา และดำเนินไปกับพระเจ้าอย่างถ่อมตน[5]

เหมือนเอโนค เราได้รับมอบหมายให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้า และอุทิศกายใจต่อพระเจ้า เพื่อพัฒนาการเป็นเหมือนพระคริสต์ ขอให้เราพิจารณาองค์ประกอบสามอย่าง ซึ่งประกอบกันเป็นการอุทิศตนต่อพระเจ้า

ความยำเกรงพระเจ้า

พระคัมภีร์ใช้ข้อความว่า “ความยำเกรงพระเจ้า” ในสองแง่ที่ชัดเจน 1) ความหวาดหวั่น 2) ความเลื่อมใส ความนับถือ และความเกรงขาม ความยำเกรงที่หวาดหวั่น เกิดจากการตระหนักถึงโทษต่อบาปที่ใกล้เข้ามา เช่น อาดัมหลบหน้าพระเจ้า หลังจากที่ทำบาป เพราะเขาหวาดกลัว[6] อย่างไรก็ตาม คริสเตียนได้รับการปลดปล่อยให้หลุดพ้นจากความกริ้วโกรธของพระเจ้า ดังนั้นองค์ประกอบของความกลัวที่จะถูกตัดขาดจากพระเจ้าชั่วนิรันดร์ จึงไม่มีอีกต่อไป แน่นอนว่าเราอาจถูกพระเจ้าลงโทษเพราะบาป และเราคงจะกลัวการลงโทษจากพระองค์ ทว่าเราไม่ต้องหวาดกลัวความกริ้วโกรธของพระเจ้า

สำหรับผู้มีความเชื่อ ความหมายหลักของความยำเกรงพระเจ้า คือ ความเลื่อมใสและเกียรติยศ ความเคารพนับถือ และความเกรงขาม เจอร์รี บริดเจส เขียนไว้ว่า

นี่คือทัศนคติที่นำมาซึ่งความเทิดทูนและความรัก ความเคารพนับถือและเกียรติยศจากใจเรา นี่ไม่ได้มุ่งเน้นความกริ้วโกรธของพระเจ้า ทว่ามุ่งเน้นความสง่างาม ความบริสุทธิ์ และสง่าราศีอันสูงส่งของพระเจ้า[7]

เมื่อเรานึกถึงความยำเกรงพระเจ้าเช่นนั้น เราควรมองว่าเป็นความเคารพนับถือและความเกรงขาม

เราอ่านข้อความที่กล่าวว่า เมื่ออิสยาห์อยู่ต่อหน้าพระเจ้า เขารู้สึกตื้นตันใจ ด้วยสง่าราศีและความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า การตอบรับของเขาแสดงให้เห็นว่าเขารู้สึกเกรงขามเพียงใด เมื่ออยู่ต่อหน้าความบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์เช่นนั้น

“ข้าพเจ้าเป็นคนที่ปากมีมลทิน และใช้ชีวิตในหมู่ชนชาติที่ปากมีมลทิน ตาของข้าพเจ้าได้เห็นจอมกษัตริย์ คือพระยาห์เวห์ผู้ทรงฤทธิ์”[8]

อัครสาวกโยฮันเขียนเกี่ยวกับการได้เห็นพระเยซูในสวรรค์ ว่า

ข้าพเจ้าเหลียวมาดูว่าใครพูดกับข้าพเจ้า ... เมื่อเห็นพระองค์ ข้าพเจ้าล้มลงแทบพระบาท เสมือนกับตายแล้ว จากนั้นพระองค์วางหัตถ์ขวาบนข้าพเจ้า และกล่าวว่า “อย่ากลัวเลย ...[9]

นี่เป็นการตอบรับความรู้สึกเลื่อมใส เกียรติยศ และความเกรงขามอย่างสุดซึ้ง

บ่อยครั้งเรามุ่งเน้นความรักและความเมตตาความปรานีของพระเจ้า ขณะที่ไม่ค่อยใส่ใจความน่าเกรงขาม สง่าราศี ความยิ่งใหญ่ ความบริสุทธิ์ และพลังอำนาจของพระองค์ ทว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นคุณสมบัติของพระเจ้า บางครั้งเกิดแรงดึงที่มีคุณประโยชน์ในใจเรา ระหว่างทั้งสองแง่มุม พระเยซูบอกสาวกให้กล่าวถึงพระเจ้าว่าเป็น พระบิดา ซึ่งบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ใกล้ชิด ในพระคัมภีร์บอกเล่าไว้ว่ากลุ่มผู้มีความเชื่อหมั้นหมายกับพระเยซู

เพราะข้าพเจ้าหวงแหนท่าน ด้วยความหวงแหนที่มาจากพระเจ้า ข้าพเจ้าหมั้นหมายท่านไว้สำหรับสามีคนเดียว คือพระคริสต์ เพื่อจะได้ถวายท่าน ในฐานะที่เป็นพรหมจารีบริสุทธิ์[10]

ให้เราชื่นชมยินดีและเปรมปรีดิ์ ถวายสง่าราศีแด่พระองค์ เพราะถึงกำหนดอภิเษกสมรสของพระเมษโปดก และเจ้าสาวของพระองค์เตรียมตัวพร้อมแล้ว[11]

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์แนบชิดสนิทสนม เป็นการเหมาะสมที่จะบ่งบอกถึงความใกล้ชิดในสัมพันธภาพที่เรามีกับพระเจ้า ในทำนองเดียวกัน ก็เหมาะสมที่จะยอมรับความเลื่อมใส ความน่าเกรงขาม ความยิ่งใหญ่ และสง่าราศีของพระเจ้า เป็นความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระองค์ในด้านที่บ่งบอกออกมา เมื่อเกิดความยำเกรงพระเจ้า เราเล็งเห็นความน่าเกรงขามและความเคารพนับถือ ทั้งในพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่

พระคัมภีร์เดิม:

ท่านที่ยำเกรงพระองค์ จงสรรเสริญพระองค์! ท่านทั้งปวงผู้เป็นวงศ์วานของยาโคบ จงถวายเกียรติแด่พระองค์ จงยำเกรงพระองค์เถิด ท่านทั้งปวงผู้เป็นวงศ์วานของอิสราเอล![12]

จงประกาศฤทธานุภาพของพระเจ้า บารมีของพระองค์อยู่เหนืออิสราเอล ฤทธานุภาพของพระองค์อยู่ในฟ้าสวรรค์ ข้าแต่พระเจ้า พระองค์น่าเกรงขามยิ่งนัก ในสถานนมัสการของพระองค์ พระเจ้าแห่งอิสราเอล ผู้ประทานพลังอำนาจ และพละกำลังแก่คนของพระองค์ ขอสรรเสริญพระเจ้า![13]

ให้พวกเขาสรรเสริญพระนามอันยิ่งใหญ่และน่าเกรงขามของพระองค์! พระองค์ผู้บริสุทธิ์![14]

พระคัมภีร์ใหม่:

เพราะฉะนั้น เมื่อเราได้รับอาณาจักรที่ไม่รู้สั่นคลอน ขอให้เราขอบคุณและนมัสการพระเจ้าตามที่ทรงพอใจ ด้วยความเคารพยำเกรง เพราะว่าพระเจ้าเป็นดุจไฟเผาผลาญ[15]

พระเยซูคริสต์ ... ผู้เป็นที่เทิดทูนสรรเสริญ เป็นผู้ครอบครองแต่เพียงผู้เดียว เป็นจอมราชัน เป็นเจ้าเหนือหัว พระองค์ผู้เดียวเป็นอมตะ และอยู่ในความสว่างไสว เป็นผู้ที่ไม่มีใครเคยพบเห็น ขอให้เกียรติและเดชานุภาพมีแด่พระองค์สืบไป อาเมน[16]

ขอถวายเกียรติและสง่าราศีแด่จอมราชันผู้อมตะ ผู้ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นพระเจ้าแต่ผู้เดียว สืบไปเป็นนิจ อาเมน[17]

แด่พระองค์ผู้ทรงคุ้มครองไม่ให้ท่านพลาดพลั้ง และนำท่านมาสู่พระพักตร์ อันเปี่ยมด้วยสง่าราศี ปราศจากตำหนิ ด้วยความชื่นชมยินดีล้นพ้น แด่พระเจ้าองค์เดียว ผู้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา ขอถวายสง่าราศี บารมี เดชานุภาพ และพลังอำนาจแด่พระองค์ ผ่านพระเยซูคริสต์ แด่พระเจ้าผู้ดำรงอยู่ทุกยุคสมัย ในอดีต ในปัจจุบัน และสืบไปเป็นนิจ อาเมน[18]

ส่วนหนึ่งในความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระองค์ คือ “ยำเกรง” พระองค์ ในแง่ของความเลื่อมใส เคารพนับถือ เกียรติ ยกย่องชมเชย และเทิดทูนอย่างสุดซึ้ง การยำเกรงพระองค์คือการสารภาพถึงเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่มีใครเหมือนโดยสิ้นเชิง คือการยอมรับความยิ่งใหญ่ ความบริสุทธิ์ ความน่าเกรงขาม สง่าราศี และพลังอำนาจของพระองค์ เมื่อเรารวมสิ่งนี้ไว้ในความเข้าใจพระเจ้า เราก็มีแรงจูงใจที่จะเชื่อฟังพระคำ เมื่อเราตระหนักว่าการทำบาปทุกครั้ง เป็นการหมิ่นศักดิ์ศรีและความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ความเคารพนับถือที่เรามีต่อพระเจ้าจะส่งแรงชักจูงต่อพฤติกรรม และควบคุมความประพฤติของเรา (หากประสงค์รายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อนี้ ดูบทความ “The Fear of God” ในมุมผู้ชี้ทาง)

ความรักของพระเจ้า

องค์ประกอบที่สองของการมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อพระเจ้า คือ ความเข้าใจและการยอมรับความรักที่พระองค์มีต่อเรา เนื่องจากพระเจ้าคือความบริสุทธิ์เพียบพร้อม พระองค์ต้องแยกตัวจากบาป และในฐานะมนุษย์ เราเป็นคนบาป จึงมีการแบ่งแยกระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การที่พระเยซูยอมตายบนไม้กางเขน จุดแบ่งแยกนั้นได้รับการเชื่อมต่อ ในหนังสือยอห์นฉบับที่ 1 กล่าวว่า พระเจ้าคือความรัก และยอห์นอธิบายว่า พระเจ้าแสดงความรักต่อเรา ด้วยการส่งพระบุตรของพระองค์มาเป็นเครื่องบูชา เพื่อล้างบาปของเรา เป็นการเสียสละ เราจึงได้รับการให้อภัย และฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระเจ้า

พระเจ้าแสดงความรักของพระองค์ท่ามกลางเรา คือพระองค์ส่งพระบุตรองค์เดียวเข้ามาในโลก เพื่อเราจะได้มีชีวิตโดยพระบุตรนั้น นี่คือความรัก ไม่ใช่ที่เรารักพระเจ้า แต่ที่พระเจ้ารักเรา และส่งพระบุตรของพระองค์มาเป็นเครื่องบูชา ลบล้างบาปของเรา[19]

ในฐานะคริสเตียน เราเข้าใจว่าถ้าปราศจากความรักของพระเจ้า ที่สะท้อนให้เห็นผ่านการเสียสละของพระเยซู เราก็จะต้องโทษจากความกริ้วโกรธของพระเจ้า ด้วยความรักที่พระองค์มีต่อมนุษย์ พระองค์ทำให้เป็นไปได้ที่เราจะหลีกเลี่ยงการพิพากษา ซึ่งพระองค์ต้องลงโทษเพราะบาป เนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์อันบริสุทธิ์ของพระองค์ และพระองค์ทำเช่นนี้ด้วยการที่พระเยซูมาจุติ ดำเนินชีวิต ยอมตาย และฟื้นคืนชีพ พระองค์ไถ่เราไว้จากการถูกลงโทษเพราะบาป แน่นอนว่าความรักของพระเจ้าสะท้อนให้เราเห็นหลากหลายหนทาง ผ่านโลกอันงดงามที่เราอาศัยอยู่ สิ่งสร้างสรรค์ของพระองค์ การจัดหาปัจจัยให้ ครอบครัว เพื่อนมิตรของเรา และอื่นๆ ทว่าหนทางที่สำคัญซึ่งเราสัมผัสความรักของพระองค์ คือ ยอมรับการเสียสละที่พระองค์ได้ทำ เพื่อฟื้นฟูให้เราคืนสู่มิตรภาพกับพระองค์ คือการที่พระบุตรของพระเจ้ายอมตายอย่างเสียสละ

เรามอบความรักและความเคารพนับถือแด่พระเจ้า เพราะความรักและการให้อภัยของพระองค์ ในฐานะผู้ที่ประสงค์จะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น เราเล็งเห็นว่าความรอดไม่ใช่แค่สิ่งที่พระเจ้ามีไว้ให้มวลมนุษย์ ทว่ามีให้เราเป็นส่วนตัว เมื่อเราอ่านข้อความว่า พระเจ้ารักโลก จนได้มอบพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่เชื่อในพระบุตร จะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์[20] เราถือว่านี่คือ “พระเจ้ารักฉันเป็นส่วนตัว” การรับรู้ถึงความรักที่พระเจ้ามีต่อเราเป็นรายบุคคล การที่พระองค์ให้อภัยต่อบาปของเรา การฟื้นฟูมิตรภาพกับพระองค์เป็นส่วนตัว คือพื้นฐานการเติบโต ในการที่จะเป็นเหมือนพระคริสต์

ความรักและการให้อภัยอันงดงามของพระเจ้า คือผลงานจากความปรานี เป็นผลงานของพระเยซูผู้เดียว มอบให้เราเป็นของขวัญ ด้วยความรัก เนื่องจากมีพื้นฐานบนความปรานี ไม่ใช่ผลงานหรือความประพฤติของเรา ความรักที่พระองค์มีต่อเราจึงไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ความรักของพระองค์ไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะมีสภาวะขึ้นๆ ลงๆ ทางจิตวิญญาณ บาป ความล้มเหลว หรือความท้อใจที่ต้องประสบมากเพียงใด เราก็อุ่นใจได้ว่าพระเจ้ายังคงรักเรา เป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าใจว่าความล้มเหลวทางจิตวิญญาณ ไม่มีผลกระทบต่อความรักที่พระเจ้ามีต่อเรา พระองค์รับเราไว้ในครอบครัวของพระเจ้า พระเจ้ารักเราดุจลูกคนหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าเราเป็นหนึ่งเดียวกับพระบุตรของพระองค์ ผ่านความรอด ไม่มีอะไรพรากเราไปจากพระเจ้าและความรักของพระองค์

ข้าพเจ้าเชื่อมั่น ไม่ว่าความตายหรือชีวิต ไม่ว่าทูตสวรรค์หรือวิญญาณชั่วร้าย ไม่ว่าปัจจุบันหรืออนาคต หรือพลังอำนาจใดๆ ไม่ว่าเบื้องสูงหรือเบื้องลึก หรือสิ่งอื่นใดในสรรพสิ่งที่พระเจ้าสร้าง ไม่มีสิ่งใดพรากเราไปจากความรักของพระเจ้า ในพระเยซูคริสต์ พระผู้เป็นเจ้าของเรา[21]

การรับรู้และมั่นใจในความรักไม่มีเงื่อนไขที่พระเจ้ามีต่อเราเช่นนี้ ควรจูงใจเราให้อุทิศกายใจแด่พระเจ้ามากยิ่งขึ้น การอุทิศตนเช่นนี้ไม่ใช่แค่รู้สึกถึงความรักอันอบอุ่นต่อพระเจ้า ทว่าเป็นพลังแข็งขันที่ผลักดันเราให้ทำตัวสอดคล้องกับพระเจ้า ทั้งในความคิดจิตใจ ร่างกาย และวิญญาณ

ความปรารถนาพระเจ้า

ความรักที่พระเจ้ามีต่อเรา ประกอบกับความเคารพนับถือ (ยำเกรง) และความปรารถนาที่เรามีต่อพระองค์ คือพื้นฐานของการอุทิศตนต่อพระองค์ ความปรารถนาที่เรามีต่อพระเจ้าเห็นได้จากที่กษัตริย์ดาวิดเขียนไว้ว่า

สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าขอพระองค์ สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าใฝ่หา คือการที่ข้าพเจ้าจะได้อยู่ในที่พำนักของพระองค์ ทุกวันคืน ตลอดชีวิตข้าพเจ้า เพื่อชื่นชมความงามของพระองค์ เพื่อแสวงหาพระองค์ในวิหาร[22]

เนื่องจากพระเจ้าเป็นวิญญาณ ดาวิดไม่ได้ชื่นชมความงามทางกายของพระเจ้า ทว่าในคุณสมบัติของพระองค์ เนื่องจากเป็นพระเจ้า และความรักที่พระองค์มีต่อเรา เราปรารถนาที่จะร่วมมิตรภาพกับพระองค์ เช่นเดียวกับเอโนคและโนอาห์ เราต้องการ “ดำเนินไปกับพระเจ้า” เราปรารถนาที่จะ อาศัยอยู่ในที่พำนักของพระองค์ตลอดไป[23] เพื่ออยู่ในพระองค์ และพระองค์สถิตอยู่ในเรา[24]

ความปรารถนาที่เรามีต่อพระองค์นั้น เหนือกว่าการรับใช้พระองค์ และง่วนอยู่กับงานของพระองค์ เหนือกว่าการอธิษฐานหรืออ่านพระคัมภีร์ ทว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่ง การปรารถนาพระองค์คือการถวิลหาพระองค์ ร่วมมิตรภาพกับพระองค์ และมีพระองค์สถิตอยู่ในชีวิต เราเห็นจุดสูงสุดของการร่วมมิตรภาพกับพระเจ้าในอนาคต จากคำบรรยายถึงเยรูซาเล็มใหม่ เมื่อพระองค์สถิตอยู่กับผู้คนของพระองค์บนโลกนี้

ข้าพเจ้าเห็นเมืองบริสุทธิ์ คือเยรูซาเล็มใหม่ที่พระเจ้าบันดาลให้เลื่อนลอยลงมาจากสวรรค์ เมืองนี้ตระเตรียมไว้ เหมือนเจ้าสาวแต่งกายงดงามรอรับเจ้าบ่าว ข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังมาจากพระที่นั่งว่า “บัดนี้ที่ประทับของพระเจ้ามาอยู่กับมนุษย์แล้ว พระองค์จะสถิตกับเขา เขาจะเป็นคนของพระองค์ พระเจ้าจะอยู่กับเขา และเป็นพระเจ้าของเขา”[25]

พระเยซูร้องเรียกโบสถ์แห่งหนึ่งในวิวรณ์ เป็นเสียงเดียวกันที่ร้องเรียกเราในปัจจุบัน

เรายืนเคาะอยู่ที่ประตู ถ้าผู้ใดได้ยินเสียงของเรา และเปิดประตู เราจะเข้าไปทานอาหารกับผู้นั้น และเขาจะทานร่วมกับเรา[26]

การทานอาหารร่วมกับใครสักคน เข้าใจกันว่าหมายถึงการร่วมมิตรภาพกับเขา ความปรารถนาที่เรามีต่อพระเจ้า รวมถึงการปรารถนาที่จะร่วมมิตรภาพกับพระองค์ รู้จักพระองค์ดีขึ้น และรักพระองค์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เมื่อเราใช้เวลาต่อหน้าพระองค์ เราสะท้อนให้ผู้อื่นเห็นคุณสมบัติของพระองค์ ได้แก่ สง่าราศี ความรัก ความกรุณา ไออุ่น และความเมตตา เราสะท้อนให้เห็นพระองค์ เพราะเราเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น

ความเคารพนับถือและความเกรงขามที่เรามีต่อพระองค์ ความเข้าใจถึงความรักลึกซึ้งที่พระองค์มีต่อเรา และความปรารถนาสุดซึ้งที่เรามีต่อพระองค์ เป็นแง่มุมสำคัญในการมุ่งเน้น สำหรับผู้ที่ปรารถนาจะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นการอุทิศตน โดยที่มีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางในใจเรา นี่คือพื้นฐานของการเป็นเหมือนพระองค์


[1] เจอร์รี บริดเจส The Practice of Godliness (โคโลราโด สปริงส์: สำนักพิมพ์เนฟเพรส ค.ศ. 2010)

[2] ปฐมกาล 5:21-24

[3] ฮีบรู 11:5

[4] ปฐมกาล 6:9

[5] มีคาห์ 6:8

[6] ปฐมกาล 3:9-10

[7] บริดเจส The Practice of Godlinessหน้า 16

[8] อิสยาห์ 6:5

[9] วิวรณ์ 1:12,17

[10] 2 โครินธ์ 11:2

[11] วิวรณ์ 19:7

[12] สดุดี 22:23

[13] สดุดี 68:34-35

[14] สดุดี 99:3

[15] ฮีบรู 12:28-29

[16] 1 ทิโมธี 6:14-16

[17] 1 ทิโมธี 1:17

[18] ยูดา 1:24-25

[19] 1 ยอห์น 4:8-10

[20] ยอห์น 3:16

[21] โรม 8:38-39

[22] สดุดี 27:4

[23] สดุดี 23:6

[24] ยอห์น 15:4

[25] วิวรณ์ 21:2-3

[26] วิวรณ์ 3:20