More Like Jesus: Holiness (Part 2)

กันยายน 13, 2016

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

[เหมือนพระเยซูมากขึ้น: ความบริสุทธิ์ (ตอนที่ 2)]

(บทความนี้มีพื้นฐานจากประเด็นสำคัญในหนังสือ The Pursuit of Holiness โดย เจอร์รี บริดเจส)[1]

ขณะที่เรามองหาวิธีเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น ก็สำคัญที่จะตรวจสอบว่าความบริสุทธิ์ของพระเจ้าหมายถึงอะไร และเรามีส่วนร่วมได้อย่างไร ในแผนการของพระเจ้าเรื่องความรอด บุคคลที่สองของตรีเอกานุภาพ คือพระเจ้าผู้เป็นพระบุตร กลายเป็นมนุษย์ ดำเนินชีวิตที่ปราศจากบาป แล้วพลีชีพบนไม้กางเขนเพื่อบาปของมนุษยชาติ พระองค์ช่วยให้เป็นไปได้ที่เราจะมีความรอด ทั้งการที่พระองค์ดำเนินชีวิตและสละชีวิต เราไม่ได้มีมหาปุโรหิตที่ไม่เห็นใจในความอ่อนแอของเรา แต่พระองค์ถูกลองใจเช่นเดียวกับเราทุกประการ ถึงกระนั้นก็ปราศจากบาป[2]

ในพระคัมภีร์ใหม่โดยตลอด เราอ่านเรื่องพระเยซูดำเนินชีวิตที่ปราศจากบาป พระองค์มาเพื่อลบล้างบาปของเรา ในพระองค์ไม่มีบาป[3] พระองค์ไม่ได้ทำบาป และไม่เคยกล่าวคำโกหกหลอกลวง[4] พระเจ้าทำให้พระองค์ผู้ปราศจากบาปเป็นคนบาปเพื่อเรา พระองค์จะได้ทำให้เรากลายเป็นผู้มีความชอบธรรมของพระเจ้า[5] ในพระกิตติคุณ เราได้ยินเรื่องราวสักขีพยานของพระเยซู เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของพระองค์ พระองค์ท้าทายฟาริสีต่อหน้าสาวกผู้ที่อยู่ร่วมกับพระองค์วันแล้ววันเล่า ว่า มีใครในพวกท่านที่พิสูน์ได้ว่าเราทำบาป[6] พระเยซูไม่เพียงแต่ไม่มีบาป พระองค์ประพฤติตนสอดคล้องกับความประสงค์ของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์แบบ เรามาจากสวรรค์ ไม่ใช่เพื่อทำตามใจเราเอง แต่เพื่อทำตามความประสงค์ของพระองค์ผู้ส่งเรามา[7] พระเยซูกล่าวกับเขาว่า “อาหารของเราคือการทำตามความประสงค์ของพระองค์ผู้ส่งเรามา”[8] “เราทำสิ่งที่พระองค์พอใจเสมอ”[9]

แน่นอนว่าเราไม่ได้ปราศจากบาปเหมือนพระเยซู เราไม่อาจเป็นเช่นนั้น แต่เราอุ่นใจได้ในข้อเท็จจริงที่ว่าความชอบธรรมของพระเยซูมีไว้ให้เรา ความรอดช่วยให้เรา“อยู่ในพระองค์” ดังนั้นความบริสุทธิ์และความชอบธรรมของพระองค์มีไว้ให้เรา เพราะชีวิตอันบริสุทธิ์ของพระองค์ และการที่พระองค์ยอมตายบนไม้กางเขน พระเจ้ายกบาปของเราหรือให้พระคริสต์รับบาปแทนเรา และพระองค์ยกความชอบธรรมของพระคริสต์ให้แก่เรา เราสามารถมาเข้าเฝ้าพระเจ้า ผู้เป็นความบริสุทธิ์สูงสุด เพราะเรามีความบริสุทธิ์โดยผ่านพระคริสต์ เพราะพระเยซูยอมตายเพื่อบาปของเรา เราจึงเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระเจ้า และร่วมสัมพันธภาพกับพระบิดา ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพราะความปรานีของพระเจ้า อย่างไรก็ตาม คุณภาพความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระเจ้าขึ้นอยู่กับเรา

การเป็นเหมือนพระคริสต์ และมีความบริสุทธิ์ โดยพื้นฐานแล้วเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระเจ้า ผู้เป็นพระบิดา เราไม่สามารถบรรลุสถานภาพความสมบูรณ์แบบของพระคริสต์ในชีวิตเรา แต่เห็นเป็นแบบอย่างได้ เป็นอุดมการณ์ให้เราก้าวไปใกล้ที่สุดเท่าที่จะทำได้ พระองค์มุ่งเน้นการทำตามความประสงค์ของพระเจ้า และทำสิ่งที่พระเจ้าพอใจ เราตั้งเป้าหมายที่จะทำให้พระเจ้าพอใจหรือเปล่า เราเต็มใจนึกคิดตามที่พระเจ้านึกคิด และตั้งใจทำตามที่พระเจ้าประสงค์ไหม นี่คือการมุ่งมั่นที่จะเป็นเหมือนพระคริสต์ พระเยซูมาสู่โลกของเรา เพื่อทำตามความประสงค์ของพระบิดา เพื่อเป็นแบบอย่างให้เราทำตาม ถ้าเราปฏิบัติตามแบบอย่างของพระองค์ แนวทางสร้างจูงใจที่ชี้นำความคิด การกระทำ และนิสัยใจคอของเรา ควรได้แก่การปรารถนาที่จะทำตามความประสงค์ของพระบิดา

เมื่อกล่าวถึงการทำตามความประสงค์ของพระเจ้าในเนื้อหานี้ จุดมุ่งเน้นไม่ได้อยู่ที่การค้นหาความประสงค์ของพระเจ้า สำหรับการตัดสินใจที่เฉพาะเจาะจง (เช่น ควรเสาะหาอาชีพใด ควรแต่งงานกับใคร ฯลฯ) ทว่าคือการทำตามความประสงค์ของพระเจ้า ดังที่บ่งบอกไว้ในข้อพระคัมภีร์ ด้วยการมุ่งมั่นอย่างแข็งขันในสิ่งที่พระองค์แนะนำให้ลูกๆ ของพระองค์ทำโดยเฉพาะ ส่วนหนึ่งในการมุ่งมั่นดังกล่าว คือการขจัดบาป และมีตัวตนใหม่ ดังที่ท่านเปาโลกล่าวถึง[10] ด้วยความปรานีของพระเจ้า และความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะดำเนินชีวิตในแง่ที่บริสุทธิ์มากขึ้น และสอดคล้องกับความประสงค์ของพระองค์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เรามีความรับผิดชอบที่จะทำเช่นนั้น

การชำระล้างให้บริสุทธิ์ การมีความบริสุทธิ์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเป็นเหมือนพระคริสต์ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง เพราะว่าเราเป็นคริสเตียน ด้วยความปรานีของพระองค์ พระองค์ช่วยเราให้พ้นจากอาณาจักรมืด และนำเราเข้ามาสู่อาณาจักรของพระบุตรที่รัก[11] นอกจากนี้ยังบอกไว้ด้วยว่า อย่าให้บาปครอบงำร่างกายที่ต้องดับสูญ จนยอมทำตามความปรารถนาชั่วของร่างกายนั้น[12] เราได้รับการปลดปล่อยจากอาณาจักรแห่งบาป และการที่มันครอบงำเราไว้ ทว่าเรายังถูกมันโจมตี บาปในตัวเราหมดอำนาจที่จะครอบงำเราเหมือนก่อน แต่ยังมีบาป นั่นคือสิ่งที่เราต้องเผชิญหน้าและฟันฝ่าเป็นประจำ

การที่จะเอาชนะบาปในชีวิต ก็ช่วยได้ที่จะมีความเข้าใจถูกต้องเรื่องบาป เราเป็นสมาชิกผู้ได้รับความรอด ในครอบครัวของพระเจ้า เราจึงมีความสัมพันธ์กับพระองค์ บาปที่เราทำไม่ได้ถอดถอนเราจากการเป็นลูกของพระองค์ อย่างไรก็ตาม บาปส่งกระทบต่อความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระองค์ ในการมุ่งมั่นที่จะเป็นเหมือนพระคริสต์ เราต้องตระหนักว่าการทำบาปทุกอย่างคือการต่อต้านพระเจ้า หลังจากที่กษัตริย์ดาวิดหลับนอนกับภรรยาของชายอื่น แล้วสั่งการให้เขาถูกฆ่า โดยเข้าใจถึงบาปที่ทำร้ายผู้อื่น ผลที่สุดแล้ว นั่นก็เป็นการทำบาปต่อพระเจ้า เมื่ออธิษฐานขอความเมตตาและการยกโทษจากพระเจ้า ดาวิดอธิษฐานว่า ข้าทำบาปต่อพระองค์ ต่อพระองค์ผู้เดียว และทำสิ่งที่ชั่วในสายตาพระองค์[13] เมื่อเราทำบาป ไม่ว่าจะเป็นบาปอะไร ผลที่สุดเราก็ทำบาปต่อพระเจ้า

บาปไม่ใช่เพียงจุดอ่อนของตนเอง ไม่ใช่เพียงบางส่วนในชีวิตที่ต้องปรับปรุง แต่เป็นเรื่องร้ายแรง บาปคือการกระทำที่บุคคลผู้นั้นหนีห่างจากพระเจ้าและความประสงค์ของพระองค์ เป็นการกระทำที่ต่อต้านพระเจ้าในส่วนของเรา พระองค์ถือว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลอย่างที่สุด แน่นอนว่าบาปบางอย่างไม่ใช่การตัดสินใจโดยสำนึกที่จะต่อต้านพระเจ้า แต่ทำไปเพราะความไม่รู้ หรือในขณะที่เผลอตัว ถึงแม้ว่ายังเป็นบาปที่ต้องได้รับการให้อภัย แต่ก็แตกต่างจากการที่ตั้งใจทำบาป เมื่อตัดสินใจโดยรู้แน่แก่ใจที่จะทำการขัดกับความประสงค์ของพระเจ้า

ในปัจจุบันคริสเตียนจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะไม่ถือว่าบาปส่วนใหญ่เป็นเรื่องจริงจัง แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงบาปมหันต์เช่นการฆาตกรรม เราเล็งเห็นว่าร้ายแรงชัดๆ แต่บ่อยครั้งเรามองแตกต่างไปอย่างมากกับการโกหก “เล็กๆ” ที่นั่นนิดที่นี่หน่อย หรือการคุยโอ้อวด การซุบซิบนินทา ฯลฯ เป็นการง่ายที่เราคิดแยกแยะว่าบาปบางอย่างคือเรื่องที่รับได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่เรื่องที่รับไม่ได้โดยสิ้นเชิง แต่ถ้าเรามีเป้าหมายที่จะทำตามแบบอย่างของพระเจ้าในชีวิต เราก็ต้องเข้าใจว่าบาปทุกอย่างเป็นสิ่งที่ผิด และขัดกับความบริสุทธิ์ของพระเจ้า ดังนั้นการเป็นเหมือนพระคริสต์จึงแยกแยะไม่ได้ว่าบาปบางอย่างไม่เป็นไร ทว่าเราต้องเต็มใจรับผิดชอบโดยส่วนตัวต่อบาปของเรา แน่นอนว่าเราได้รับความปรานีที่แสนวิเศษของพระเจ้า เพื่อช่วยเราเอาชนะบาป แม้ว่า “ความปรานีอย่างเดียว” จะส่งผลสำหรับความรอดขั้นแรก แต่เราต้องดำเนินการเพื่อจะได้คืบหน้าไปสู่การมีความบริสุทธิ์มากขึ้น

เป็นสิ่งสำคัญที่จะรู้ว่าถึงแม้เราทำบาป เราจะไม่สูญเสียความรอด เรายังเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระเจ้าต่อไป นอกจากนี้เราก็ได้รับการให้อภัย ถ้าหากเรายอมรับ สำนึกผิด และขอให้พระเจ้ายกโทษ

ผู้ที่ปกปิดบาปของตนจะไม่เจริญ แต่ผู้ที่สารภาพผิด และละทิ้งบาป จะพบความเมตตากรุณา[14] ถ้าเราสารภาพบาป พระองค์สัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม จะอภัยบาปของเรา และชำระล้างเราให้พ้นจากอธรรมทั้งสิ้น[15]

แนวคิดเรื่องดำเนินการต่อต้านบาปในชีวิต ไม่ใช่ “ความพยายาม” หรือการรณรงค์เพื่อให้ตนเองสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่เป้าหมายที่จะบรรลุความสมบูรณ์แบบ วัตถุประสงค์ของการต่อต้านบาปอย่างแข็งขันในชีวิต เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระเจ้า การที่เราปรารถนาจะใกล้ชิดพระองค์ และใกล้ชิดพระองค์ต่อไป ข้าแต่พระองค์ ผู้ใดจะได้พักพิงในพลับพลาของพระองค์ ผู้ใดจะได้อาศัยบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ คือผู้ที่ดำเนินชีวิตอย่างไม่มีที่ติ ผู้ที่ทำสิ่งที่ชอบธรรม ผู้ที่พูดความจริงจากใจของตน[16]

เราปรารถนาที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้า เราเป็นลูกของพระองค์แล้ว โดยผ่านความรอด ทว่าเราต้องการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระบิดาของเราเป็นส่วนตัว การใกล้ชิดพระองค์ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับความบริสุทธิ์ของแต่ละบุคคล จงเข้ามาใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะอยู่ใกล้ท่าน คนบาปทั้งหลายจงล้างมือให้สะอาด คนสองใจจงชำระใจให้บริสุทธิ์[17] ในสาส์นทุกฉบับ เราอ่านถึงความจำเป็นที่ต้องลงมือดำเนินการ จงตัดโลกียวิสัยของท่าน[18] เลิกละทุกอย่างที่ถ่วงเราไว้ และบาปที่ติดตัว ให้เราวิ่งด้วยความอดทน[19] หมั่นเพียรที่จะให้พระองค์เห็นว่าท่านปราศจากมลทิน ไม่ด่างพร้อย[20] จงยืนหยัดต่อสู้กับมาร และมันจะหนีไปจากท่าน[21]

นี่ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ ที่จะเอาชนะบาปในชีวิต เพราะเราได้รับความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ การที่พระวิญญาณสถิตอยู่ในใจเรา เรามีลู่ทางที่จะทำตามวิสัยของพระเจ้า

ผู้ที่ทำตามวิสัยทางเนื้อหนังไม่อาจเป็นที่พอใจของพระเจ้า หากพระวิญญาณของพระเจ้าอยู่ในท่าน ท่านก็ไม่ได้ถูกควบคุมโดยวิสัยทางเนื้อหนัง แต่โดยพระวิญญาณ[22] เราผู้ไม่มีผ้าคลุมหน้า ล้วนเห็นสง่าราศีของพระองค์ เรากำลังเปลี่ยนเป็นเหมือนพระองค์ ด้วยรัศมีที่เพิ่มพูนขึ้นทุกที คือรัศมีจากพระองค์ ผู้เป็นพระวิญญาณ[23] ส่วนผลของพระวิญญาณคือ ความรัก ความชื่นชมยินดี สันติสุข ความอดทน ความปรานี ความดี ความสัตย์ซื่อ ความสุภาพอ่อนโยน และการควบคุมตนเอง[24]

พระวิญญาณบริสุทธิ์มีบทบาทในการที่เราถูกชำระให้บริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง เราไม่ได้อยู่ตามลำพัง ทว่าเรามีบทบาทสำคัญ

แง่มุมหนึ่งที่สำคัญคือ การรับผิดชอบโดยส่วนตัวต่อการเติบโตทางจิตวิญญาณ ซึ่งรวมถึงการละเลิก และการรับไว้ เมื่ออ้างถึงการละเลิกบาป อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า

จงตัดโลกียวิสัยของท่าน...[25] คำภาษากรีกในที่นี้คือ nekroo หมายความว่า สังหาร และ ถอนอำนาจ ตัดกำลัง

ดังนั้นพระคัมภีร์ข้อนี้จึงกล่าวถึงการตัดกำลัง ทำให้อ่อนกำลัง และถอนอำนาจสิ่งที่เป็นบาปในชีวิต เราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร

ก้าวแรกคือ ตัดสินใจว่าการเป็นเหมือนพระคริสต์ ซึ่งส่วนหนึ่งคือความบริสุทธิ์ มีความสำคัญต่อเรา และเราเต็มใจมุ่งหน้าไปสู่การเป็นเช่นนี้ โดยตัดสินใจอย่างถูกทำนองคลองธรรม ซึ่งต้องอาศัยความมั่นใจส่วนบุคคลเกี่ยวกับการเชื่อ การปฏิบัติตาม การปรับใช้สิ่งที่ข้อพระคัมภีร์สอนเกี่ยวกับบาป และการดำเนินชีวิตตามนั้น นี่นำมาซึ่งความขัดแย้งใน ใจ เมื่อค่านิยมและความเชื่อทางจิตวิญญาณขัดกับวิสัยของมนุษย์ “ที่ตกต่ำ” และค่านิยมทางโลกที่ไม่เป็นไปตามแบบอย่างของพระเจ้า เมื่อเป็นเช่นนั้น ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราเลือกเชื่อฟังสิ่งที่ข้อพระคัมภีร์สอน แม้ว่าจะยากลำบาก หรือขัดกับสิ่งที่เราอยากทำมากกว่า

นี่คือบทพิสูจน์ความปรารถนาที่จะเป็นเหมือนพระคริสต์ แก่นแท้ในการเป็นเหมือนพระคริสต์ มาจากการเชื่อเหมือนพระเยซู ในแง่ที่ว่าสิ่งใดดีงามและถูกต้อง สิ่งใดผิดและเป็นบาป พื้นฐานของการเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น คือการเปลี่ยนแปลงในวิญญาณของเรา เพื่อว่าการกระทำภายนอกจะสะท้อนตัวตนภายในที่เปลี่ยนแปลง นี่ต้องอาศัยวัตถุประสงค์ในการมุ่งมั่นที่จะทำตามแบบอย่างของพระเจ้า โดยเผชิญหน้ากับบาป และเอาชนะให้ได้ ผ่านการอธิษฐาน และดำเนินการ การอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ที่จะเอาชนะบาป และดำเนินการด้วยการตั้งใจต่อต้านบาปในชีวิต


[1] เจอร์รี บริดเจส The Pursuit of Holiness (โคโลราโดสปริงส์: สำนักพิมพ์นาฟเพรส ค.ศ. 2006)

[2] ฮีบรู 4:15

[3] 1 ยอห์น 3:5

[4] 1 เปโตร 2:22

[5] 2 โครินธ์ 5:21

[6] ยอห์น 8:46

[7] ยอห์น 6:38

[8] ยอห์น 4:34

[9] ยอห์น 8:29

[10] โคโลสี 3:5-10

[11] โคโลสี 1:13

[12] โรม 6:12

[13] สดุดี 51:4

[14] สุภาษิต 28:13

[15] 1 ยอห์น 1:9

[16] สุดดี 15:1-2

[17] ยากอบ 4:8

[18] โคโลสี 3:5

[19] ฮีบรู 12:1

[20] 2 เปโตร 3:14

[21] ยากอบ 4:7

[22] โรม 8:8-9

[23] 2 โครินธ์ 3:18

[24] กาลาเทีย 5:22-23

[25] โคโลสี 3:5