More Like Jesus: Holiness (Part 3)

ตุลาคม 11, 2016

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

[เป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น: ความบริสุทธิ์ (ตอนที่ 3)]

(บทความนี้มีพื้นฐานจากประเด็นสำคัญในหนังสือ Decision Making and the Will of God โดย แกรี่ ไฟรเซน[1])

ดังที่เราได้เห็นจากเรื่องความบริสุทธิ์ตอนที่ 1 และ 2 ว่าการเป็นเหมือนพระคริสต์ หรือเป็นเหมือนพระเจ้า มาจากการเปลี่ยนให้ความประสงค์ของเราสอดคล้องกับความประสงค์ของพระเจ้า ถ้าเราปรารถนาที่จะกลายเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น จุดเริ่มต้นคือ เข้าใจความประสงค์ของพระเจ้า เพื่อทำตัวให้สอดคล้องตามนั้น การทำตามที่พระเจ้าประสงค์หมายถึงการทำตัวให้สอดคล้องตามความประสงค์ของพระเจ้าทางคุณธรรม

พระเจ้าเผยความประสงค์ทางคุณธรรมของพระองค์ไว้ในข้อพระคัมภีร์ ซึ่งสอนเราว่าควรจะเชื่อและดำเนินชีวิตอย่างไร พระองค์บ่งไว้ชัดเจนว่ามีบางสิ่งที่ผิดคุณธรรม ดังนั้นจึงเป็นบาป ด้วยความปรานีของพระเจ้า และพลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เรามุ่งมั่นที่จะหลีกเลี่ยงบาป และรับบุคลิกลักษณะ อุปนิสัย และทัศนคติที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งสะท้อนให้เห็นและเลียนแบบธรรมชาติและวิสัยของพระเจ้า (พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์) ยกตัวอย่างเช่น

ความบริสุทธิ์: ท่านจงบริสุทธิ์ในการทุกอย่างที่ท่านทำ เหมือนที่พระองค์ผู้เรียกท่านนั้นบริสุทธิ์ เพราะมีข้อความเขียนไว้ว่า “จงบริสุทธิ์ เพราะเราบริสุทธิ์”[2]

ความชอบธรรม: ผู้ที่ทำสิ่งที่ถูกต้องก็เป็นคนชอบธรรมเหมือนที่พระองค์ชอบธรรม[3]

ความไร้มลทิน: ทุกคนที่มีความหวังในพระองค์เช่นนี้ ย่อมชำระตนเองให้ไร้มลทิน เหมือนที่พระองค์ไร้มลทิน[4]

ความรัก: ท่านจงทำตามแบบอย่างพระเจ้าให้สมกับเป็นบุตรที่รัก และดำเนินชีวิตในความรัก เหมือนที่พระคริสต์รักเรา และสละพระองค์เองเพื่อเรา ดุจเครื่องหอมที่เป็นของถวาย และเครื่องบูชาแด่พระเจ้า[5]

การให้อภัย: ท่านจงยกโทษให้กัน เหมือนที่พระองค์ยกโทษให้ท่าน[6]

ความเมตตากรุณา: จงเมตตากรุณา เช่นเดียวกับที่พระบิดาของท่านเมตตากรุณา[7]

การยอมจำนน: พระคริสต์ทนทุกข์เพื่อท่าน และวางแบบอย่างไว้ให้ท่านดำเนินรอยตาม พระองค์ไม่ได้ทำบาป และไม่เคยกล่าวคำโกหกหลอกลวง เมื่อพวกเขารุมสบประมาท พระองค์ก็ไม่ได้ตอบโต้ ขณะทนทุกข์ พระองค์ไม่ได้อาฆาต แต่มอบพระองค์เองไว้กับพระเจ้า ผู้พิพากษาอย่างยุติธรรม[8]

ความถ่อมตนและการเชื่อฟัง: ท่านควรมีความนึกคิดเช่นเดียวกับพระเยซูคริสต์ ผู้มีสภาพพระเจ้า แต่ไม่ได้ยึดติดในความเท่าเทียมกับพระเจ้า พระองค์กลับสละทุกสิ่ง มารับสภาพทาส บังเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อปรากฏเป็นมนุษย์ พระองค์ถ่อมพระองค์ และยอมเชื่อฟัง แม้ต้องตายบนไม้กางเขน[9]

ความกรุณา: จงรักศัตรูของท่าน จงทำดีต่อเขา และให้เขายืมโดยไม่หวังจะได้อะไรคืนมา แล้วท่านจะได้รับบำเหน็จใหญ่หลวง และจะได้เป็นบุตรขององค์ผู้สูงสุด เพราะพระองค์กรุณาต่อคนอกตัญญูและคนชั่ว[10]

จากที่กล่าวมานี้ และตัวอย่างอื่นๆ อีกมากมายในพระคัมภีร์โดยตลอด เราได้รับการสอนถึงวิธีดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความประสงค์ทางคุณธรรมของพระเจ้า เราได้รับมอบหมายให้ทำตามคำสอนของพระองค์ โดยรับไว้เป็นแนวทางของเราเอง และใช้เป็นเข็มทิศตลอดเส้นทางชีวิตของเรา การรักพระเจ้าคือการเชื่อฟังบัญชาของพระเจ้า และบัญชาของพระองค์ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรง[11] เมื่อเรานำคำสอนในข้อพระคัมภีร์มาปรับใช้ เราสะท้อนถึงความเหมือนที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวต่อพระบิดาของเรา ท่านจงเลียนแบบพระเจ้าให้สมกับเป็นบุตรที่รัก[12]

การที่จะกลายเป็นลูกของพระเจ้า โดยผ่านศรัทธาในพระเยซู สร้างเราให้เป็นคนใหม่[13] ผู้ที่เปลี่ยนเป็นเหมือนพระบุตรของพระองค์[14] ผู้ซึ่งรับตัวตนใหม่ที่สร้างขึ้นใหม่ ตามภาพลักษณ์ของพระผู้สร้าง ขณะที่ท่านทำความรู้จักพระองค์มากขึ้น[15] ส่วนหนึ่งในขั้นตอนการฟื้นฟูให้เป็นเหมือนพระองค์คือ การดำเนินชีวิตตามความประสงค์ทางคุณธรรมของพระองค์ โดยให้ความประพฤติและการกระทำ รวมทั้งเจตนารมณ์และทัศนคติของเรา สอดคล้องกับพระคำของพระองค์

การที่จะรู้ เข้าใจ และนำพระคำของพระเจ้ามาปรับใช้ คือกุญแจไขไปสู่การดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความประสงค์ทางคุณธรรมของพระเจ้า จากพระคำของพระองค์ เราเรียนรู้ว่าทัศนคติและการกระทำใดที่ถูกหรือผิด อะไรคือบาป และอะไรไม่ใช่ สิ่งใดทำให้พระเจ้าพอใจ และสิ่งใดที่พระเจ้าไม่พอใจ สิ่งใดสะท้อนให้เห็นวิสัยของพระองค์ และสิ่งใดไม่ใช่ เรานึกภาพความประสงค์ทางคุณธรรมของพระเจ้า ดุจพื้นที่ล้อมรอบด้วยวงกลม ภายในวงกลมประกอบด้วยบัญญัติและหลักการทั้งสิ้น ซึ่งผูกพันผู้มีความเชื่อในทางคุณธรรม ความนึกคิด ทัศนคติ หรือการกระทำใดที่ไม่สอดคล้องกับคำสอนในข้อพระคัมภีร์ จะอยู่นอกวงกลมดังกล่าว และไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่เป็นที่พอใจต่อพระเจ้า และเป็นบาป การตัดสินใจหรือการกระทำใดที่อยู่ภายในวงกลมนั้น จะเป็นที่ยอมรับต่อพระเจ้า และไม่เป็นบาป (ส่วนที่ไม่มีกล่าวไว้ในข้อพระคัมภีร์ เช่น ควรซื้อรถคันไหน ควรทานอาหารอะไรมื้อต่อไป ก็เป็นที่ยอมรับเช่นกัน) ดังนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่เราทราบว่ามีอะไรบ้างอยู่ภายในและภายนอกวงกลมดังกล่าว

เราทราบข้อนี้เพราะผลจากการอ่าน ทำสมาธิ ยอมรับ และนำพระคำของพระเจ้ามาปรับใช้ การยอมรับสิ่งที่พระเจ้ากล่าว หมายความว่าเมื่อเราอ่านถึงการที่พระเจ้าตำหนิการกระทำ ความปรารถนา และทัศนคติบางอย่าง เรายอมรับว่านั่นอยู่ภายนอกแวดวงความประสงค์ทางคุณธรรมของพระองค์ ดังนั้นจึงผิดและเป็นบาป ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราอ่านในเอเฟซัสว่าเราไม่ควรลักขโมย หรือไม่พูดจาเสื่อมเสีย หรือข้อความในโคโลสีที่บอกว่าเราควรขจัดความโกรธ ความเกรี้ยวกราด การคิดปองร้าย การกล่าวร้าย และวาจาหยาบช้า ความปรารถนาชั่ว กิเลสตัณหา และความโลภ เราควรเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ภายนอกแวดวงความประสงค์ทางคุณธรรมของพระเจ้า ดังนั้นจึงเป็นบาป และเป็นสิ่งที่พระเจ้าไม่พอใจ[16]

สำหรับผู้มีความเชื่อที่จริงจังเกี่ยวกับการเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น มีส่วนช่วยได้ที่จะมองเชิงลึกยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความเข้าใจถ่องแท้ขึ้นว่าข้อพระคัมภีร์สอนอะไรบ้างเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ เพื่อจะได้ดูให้ออกในตนเอง และขจัดไปจากชีวิตเรา รวมทั้งหลีกเลี่ยงในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลเขียนไว้เรื่องการขจัดการกล่าวร้ายป้ายสีไปจากชีวิตเรา คำนิยามของการกล่าวร้ายป้ายสีบอกว่าเป็นการพูดจาเท็จและเสียหายเกี่ยวกับบางคน บ่อยครั้งนี่จะเกิดขึ้นเมื่อซุบซิบนินทาผู้อื่น เมื่อค้นดูพระคำในหัวข้อการกล่าวร้ายป้ายสี เราจะมีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงมุมมองของพระเจ้าในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นความประสงค์ทางคุณธรรมของพระเจ้า ขอให้พิจารณาดู

ข้าแต่พระองค์ ผู้ใดจะได้พักพิงในที่นมัสการของพระองค์ ผู้ใดจะได้อาศัยบนภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ คือผู้ที่ ... ไม่ใส่ร้ายคนอื่น[17]

ผู้ที่แพร่คำนินทาว่าร้าย เป็นคนโง่[18]

เพราะความคิดชั่ว ... การนินทาว่าร้าย ล้วนออกมาจากจิตใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์เป็นมลทิน[19]

ท่านจงกำจัดสิ่งต่อไปนี้ให้หมดจากใจท่าน คือ ความโกรธ ความเกรี้ยวกราด การคิดปองร้าย การกล่าวร้าย และวาจาหยาบช้าจากปากของท่าน[20]

จงขจัดความมุ่งร้าย การฉ้อฉล ความหน้าซื่อใจคด ความอิจฉาริษยา และการว่าร้ายทุกอย่างไปจากตัวท่าน[21]

พวกนางจะกลายเป็นคนเกียจคร้าน เที่ยวไปบ้านนั้นบ้านนี้ และไม่เพียงเกียจคร้านเท่านั้น แต่ยังชอบซุบซิบนินทา และยุ่งเรื่องชาวบ้าน พูดสิ่งที่ไม่ควรพูด[22]

อย่าเที่ยวซุบซิบนินทาว่าร้ายในหมู่พวกเจ้า[23]

อย่าเป็นพยานเท็จใส่ร้ายเพื่อนบ้าน[24]

เห็นได้ชัดว่าพระคัมภีร์บอกว่าการกล่าวร้าย ซุบซิบนินทา ลอบกัด แพร่ข่าวลือ และกลบเกลื่อนความจริง ล้วนแต่อยู่นอกแวดวงความประสงค์ทางคุณธรรมของพระเจ้า ดังนั้นจึงเป็นบาป ซึ่งหมายความว่าเมื่อใดที่เราทำสิ่งเหล่านี้ เราก็ทำบาป เช่นเดียวกับข้อห้ามอื่นๆ มากมายในพระคัมภีร์ เช่น กิเลสตัณหา ความโกรธอันไม่ชอบธรรม ความไม่ซื่อสัตย์ ความอิจฉา การขาดคุณธรรม ความหึงหวง ความหยิ่ง ฯลฯ

แน่นอนว่าบัญญัติทุกข้อในความประสงค์ทางคุณธรรมของพระเจ้า คือการบ่งบอกถึงบัญญัติยิ่งใหญ่ที่สุด เหนือสิ่งอื่นใด คือรักพระเจ้า

จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของท่านสุดจิตสุดใจ สุดความคิด และสุดกำลังของท่าน ส่วนข้อที่สองคือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ไม่มีบทบัญญัติใดใหญ่กว่าสองข้อนี้[25]

เราได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติตนด้วยความรักต่อผู้อื่น

ฉะนั้นในทุกสิ่ง จงทำต่อผู้อื่นอย่างที่ท่านอยากให้เขาทำต่อท่าน เพราะนี่สรุปสาระของบทบัญญัติและผู้พยากรณ์[26]

คำสอนที่กล่าวมานี้ของพระเยซู สรุปคำสอนทั้งสิ้นเรื่องบาป เมื่อเราถือว่าความรักที่มีต่อพระเจ้าและผู้อื่น เป็นหลักนำทางชีวิต เมื่อการกระทำ ความนึกคิด และทัศนคติของเรา มีพื้นฐานบนจิตใจที่รักพระเจ้าอย่างเต็มที่ สุดชีวิตจิตใจ และมีความรักเช่นเดียวกันต่อผู้อื่น เหมือนที่เรามีต่อตนเอง เมื่อนั้นเราก็จะหลีกเลี่ยงการทำบาป

ในฐานะมนุษย์ผู้ตกอับ บางครั้งเรามีแนวโน้มที่จะแก้ตัว ว่าเราทำไปด้วยความรัก ในเมื่ออันที่จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น หรือเราอาจคิดว่าการกระทำบางอย่างประกอบด้วยความรัก ดังนั้นจึงไม่เป็นบาป โดยไม่ได้สำรวจผลกระทบทุกอย่างที่อาจเป็นไปได้จากการกระทำดังกล่าว ซึ่งอาจลงเอยด้วยการขาดความรักต่อผู้อื่น นอกจากนี้มีบางโอกาสเมื่อไม่ได้ศึกษามากพอ เราอาจตีความหมายข้อพระคัมภีร์ผิดไป โดยคิดว่าบางสิ่งไม่ใช่บาป ในเมื่อเป็นบาป ถึงแม้พระเยซูกล่าวว่าการทำสิ่งใดด้วยความรัก และทำต่อผู้อื่นเหมือนที่เราต้องการให้เขาทำต่อเรา เป็นข้อสรุปของบัญญัติและผู้พยากรณ์ทั้งสิ้น แต่พระองค์ก็อ้างอิงถึงบาปที่เจาะจงไว้ด้วย ความคิดชั่ว การเข่นฆ่า การล่วงประเวณี การผิดศีลธรรมทางเพศ การลักขโมย การเป็นพยานเท็จ การนินทาว่าร้าย ล้วนออกมาจากจิตใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์เป็นมลทิน[27] เห็นได้ชัดว่าสำคัญที่เรามีความเข้าใจอย่างดี ว่าความประสงค์ทางคุณธรรมของพระเจ้ารวมหรือไม่รวมสิ่งใดไว้บ้าง ความเข้าใจเช่นนี้มาจากการอ่าน ศึกษา และทำสมาธิกับคำสอนในพระคัมภีร์

เป้าหมายของเราไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ เราไม่ได้พยายามเชื่อฟังข้อเล็กข้อน้อยในพระคัมภีร์ ราวกับเป็นหุ่นยนต์ โดยตั้งเป้าหมายที่จะไร้ความบาป นั่นเป็นไปไม่ได้ เป้าหมายของเราควรตอบรับความประสงค์ทางคุณธรรมของพระเจ้าที่ป่าวประกาศไว้ ในลักษณะที่บ่งบอกอย่างจริงใจถึงความเป็นจริงของดวงวิญญาณที่ได้รับความรอด จากใจที่เปี่ยมด้วยความสำนึกในบุญคุณ เราเชื่อฟังพระองค์เพราะเรารักพระองค์ เรารักพระองค์เพราะพระองค์เป็นพระผู้สร้างและพระผู้ช่วยให้รอด เราปรารถนาที่จะทำตามแบบอย่างของพระองค์ เพราะพระองค์คือความรักบริสุทธิ์ ความดีงามที่บริสุทธิ์ และความสูงส่งอันบริสุทธิ์ เราต้องการทำตามแบบอย่างของพระองค์ ทั้งภายในและภายนอก เนื่องจากพระเจ้าคือมาตรฐานของคุณธรรม และเนื่องจากพระองค์ได้เผยให้เห็นว่าพระองค์เป็นเช่นไร พระองค์เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับสิ่งใดบ้าง ถ้าเราปรารถนาที่จะเป็นเหมือนพระองค์ เราจะใส่ใจต่อสิ่งเหล่านี้ เมื่อพระคำของพระองค์บอกเราว่าการกระทำ ความปรารถนา และทัศนคติบางอย่างถูกต้อง เราควรจะเชื่อ เราควรจะยอมรับสิ่งที่พระองค์บอกกล่าว และทำตามนั้น เมื่อพระคำข้อความเดียวกันบอกเราว่าสิ่งใดผิดและเป็นบาป เราก็จะเชื่อ เราจะยอมรับการตัดสินของพระองค์ และทำสุดความสามารถที่จะหลีกเลี่ยงการทำสิ่งเหล่านี้

พระเจ้าเป็นความดีงามที่สมบูรณ์แบบ เป็นความรักที่สมบูรณ์แบบ เป็นความบริสุทธิ์ และความชอบธรรม พระองค์เป็นแบบอย่างต่อเราถึงความสมบูรณ์แบบทางธรรมจรรยา ถึงแม้ว่าเราไม่อาจบรรลุความสมบูรณ์แบบ ทว่าคาดหมายให้เราเข้าใจ โดยที่เชื่อว่ามาตรฐานของพระองค์ถูกต้องและแท้จริง เราควรจะรับไว้เป็นมาตรฐานของเราเอง เราได้รับมอบหมายให้ปลูกฝังมาตรฐานของพระเจ้า และดำเนินชีวิตตามนั้น โดยทำสุดความสามารถที่จะสะท้อนให้เห็นพระองค์

เจ้าจงบริสุทธิ์ เพราะเราคือพระยาห์เวห์ พระเจ้าของเจ้า เป็นผู้บริสุทธ์[28]


[1] แกรี่ ไฟรเซน Decision Making and the Will of God (โคโลราโด สปริงส์: สำนักพิมพ์ มัลต์โนมาห์ บุคส์ ค.ศ. 2994)

[2] 1 เปโตร 1:15-16

[3] 1 ยอห์น 3:7

[4] 1 ยอห์น 3:3

[5] เอเฟซัส 5:1-2

[6] เอเฟซัส 3:13

[7] ลูกา 6:36

[8] 1 เปโตร 2:21-23

[9] ฟิลิปปี 2:5-8

[10] ลูกา 6:35

[11] 1 ยอห์น 5:3

[12] เอเฟซัส 5:1

[13] 2 โครินธ์ 5:17

[14] โรม 8:29

[15] โคโลสี 3:10

[16] เอเฟซัส 4:28-29; โคโลสี 3:8

[17] สดุดี 15:1-3

[18] สุภาษิต 10:18

[19] มัทธิว 15:19-20

[20] โคโลสี 3:8

[21] 1 เปโตร 2:1

[22] 1 ทิโมธี 5:13

[23] เลวีนิติ 19:16

[24] อพยพ 20:16

[25] มาระโก 12:30-31

[26] มัทธิว 7:12

[27] มัทธิว 15:19-20

[28] เลวีนิติ 19:2