เหมือนพระเยซูมากขึ้น: คำนำและภูมิหลัง (ตอนที่ 1)

มกราคม 5, 2016

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

More Like Jesus: Introduction and Background (Part 1)

หนึ่งในเพลงโปรดทุกยุคทุกสมัยของผม คือ “เหมือนพระเยซู” เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินหรือได้ร้องเพลงนี้ก็เตือนใจผมถึงแง่มุมที่สำคัญของการดำเนินชีวิตด้วยศรัทธา นี่เป็นเหมือนคำอธิษฐานสั้นๆ ซึ่งรวมถึงส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตด้วยศรัทธา ในฐานะที่เป็นคริสเตียน คือการพัฒนาตัวให้เหมือนพระคริสต์ ในชีวิตของเรา

(คำแปล)

เอาสิ่งทั้งหลายที่คอยกั้นขวางฉันไว้ 
โปรดช่วยให้พ้นไปไกลจากความเย่อหยิ่ง
ช่วยฉันรักท่านด้วยใจจริง
เข้าใจท่านยิ่งกว่าตอนนี้
สิ่งที่ฉันร้องเรียกหา
หยุดการเสแสร้งแกล้งทำและความหลงงมงาย
อยากมีชีวิตเรียบง่ายที่ไร้กังวล
อยากรับพระคำให้ท่วมท้น 
หลุดพ้นอาวรณ์แห่งความหลัง
ช่วยคลายความร้าวระทม ขื่นขมฤดี
อย่าให้ฉันรักโลกนี้ที่ล่อลวงใจ
ปลดโซ่ตรวนที่ผูกล่ามไว้
โอบอุ้มฉันไว้ในวงแขน

สร้อย:

อยากจะขอให้ฉัน เหมือนพระเยซูท่าน
เหมือนพระเยซูท่านกว่าตอนนี้
เหมือนพระเยซูท่าน เหมือนพระเยซูท่านกว่าก่อน

(เนื้อร้องภาษาอังกฤษ โดย ไมลอน เลเฟเร  ปรับเปลี่ยนโดย แซม ฮัลเบิร์ต)

เนื้อร้องไพเราะใช่ไหม ผมคิดว่าเราทุกคนอยากเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น โดยที่มีความดีงามและความเลื่อมใสศรัทธาของพระองค์มากขึ้นในชีวิตเรา มีเครื่องถ่วงและบาปที่คอยขัดขวางเราน้อยลง ถึงแม้ว่าคริสเตียนจะได้รับการให้อภัยต่อบาป เนื่องจากเรายอมรับการเสียสละของพระเยซู นี่ไม่ได้ช่วยให้เราเลิกทำบาปโดยอัตโนมัติ หรือการรับผลกระทบจากบาปในชีวิตเรา และการส่งผลกระทบต่อผู้อื่นเพราะบาปที่เราก่อ ความรอดผ่านการสมานไมตรีกับพระเจ้า ที่เราได้รับผ่านการเสียสละของพระเยซูบนไม้กางเขน ไม่ใช่เพียงมุ่งหมายให้ส่งผลต่อชีวิตเราในภายภาคหน้า แต่มุ่งหมายที่จะเปลี่ยนชีวิตที่เราดำเนินอยู่ในวันนี้ทุกวันด้วย

การเปลี่ยนแปลงประจำวันเช่นนี้ และกลายเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น เราจะเริ่มสัมผัสกับชีวิตที่พระเจ้ามุ่งหมายไว้ให้มนุษย์แต่เดิมที ก่อนที่ความบาปจะเข้ามาสู่โลก เราจะพัฒนาความสัมพันธ์กับพระผู้สร้าง ตามที่มุ่งหมายไว้ ผ่านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เราจะมีความยินดี สันติสุข ความสุข และความสมปรารถนามากขึ้น เพราะเราดำเนินชีวิตด้วยความเข้าใจพระเจ้าอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และมีความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์มากขึ้นกับพระองค์

การมุ่งเน้นโดยรวมในฐานะที่เป็นคริสเตียน คือการดำเนินชีวิตเยี่ยงผู้คนของพระเจ้า คือเป็นคนใหม่ ตามที่ข้อพระคัมภีร์บอกว่า ถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสต์ การสร้างใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งเก่าล่วงไป ดูเถิด สิ่งใหม่เข้ามา[1] ในเรื่องชุดนี้เราจะพิจารณาวิถีทางต่างๆ รวมถึงความหมายของการดำเนินชีวิตและการเติบโตให้เหมือนพระคริสต์ โดยทบทวนแบบอย่างชีวิตของพระเยซู สิ่งที่พระองค์และผู้ติดตามรุ่นแรกของพระองค์สอนไว้ เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตเยี่ยงคนใหม่ที่พระคริสต์สร้าง

เรื่องชุดเหมือนพระเยซูมากขึ้นนี้ จะประกอบด้วยหลายบทความ ซึ่งแต่ละส่วนพูดถึงองค์ประกอบในการเป็นเหมือนพระคริสต์ และคุณลักษณะของคริสเตียน

การที่จะเข้าใจแง่คิดเรื่องการเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น มีส่วนช่วยได้ที่จะพิจารณาบางแง่มุมในพระคัมภีร์เดิม พระกิตติคุณ และสาส์นต่างๆ การเชื่อมโยงประเด็นจากข้ออ้างอิงในพระคัมภีร์โดยตลอด อาจช่วยนำมาซึ่งความเข้าใจเชิงลึกยิ่งขึ้น ถึงความสำคัญในการทำตามแบบอย่างพระคริสต์

พระคัมภีร์เดิม[2]

หนึ่งในเค้าเรื่องหลักตลอดพันธสัญญาเดิม คือการเข้าใจว่าความสัมพันธ์ที่พระเจ้ามีกับมนุษย์นั้นเป็นพันธสัญญา[3]

พระคัมภีร์บอกเราว่าพระผู้สร้างสรรพสิ่งทำพันธสัญญากับมนุษย์ที่พระองค์สร้างขึ้นมา พระคัมภีร์บ่งบอกไว้ดังนี้

ดังนั้นพระเจ้าได้สร้างมนุษย์ตามรูปแบบของพระองค์ ตามรูปแบบของพระเจ้า พระองค์สร้างเขาขึ้นมา พระองค์สร้างทั้งผู้ชายและผู้หญิง พระเจ้าอวยพรเขา และกล่าวว่า “จงมีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง และทวีจำนวนขึ้นจนเต็มโลก จงมีอำนาจเหนือแผ่นดิน จงครอบครองปลาในทะเล นกในอากาศ และสัตว์ที่เลื้อยคลาน แล้วพระเจ้ากล่าวว่า “เรามอบพืชพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วแผ่นดิน และพันธุ์ไม้ทั้งปวงให้เป็นอาหารของเจ้า ส่วนสิงสาราสัตว์บนโลก นกในอากาศ สัตว์เลื้อยคลาน คือทุกสิ่งที่มีชีวิต เราให้พืชสีเขียวทุกชนิดเป็นอาหาร” ก็เป็นไปตามนั้น[4]

ภายหลัง พระเจ้าต่อสัญญาสากลกับมนุษย์ เมื่อพระองค์กล่าวกับโนอาห์ว่า

“บัดนี้เราจะเป็นผู้ทำพันธสัญญากับเจ้าและเชื้อสายของเจ้า ตลอดจนสรรพสัตว์ที่อยู่กับเจ้า คือ นก สัตว์ใช้งาน สัตว์ป่า และสัตว์ทั้งปวงที่ออกมาจากนาวา คือสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในโลกนี้ เราทำพันธสัญญากับเจ้าว่าจะไม่ให้น้ำท่วมทำลายล้างสิ่งมีชีวิตทั้งปวงอีก และจะไม่ให้น้ำท่วมทำลายโลกอีกเลย”[5]

จากนั้นพระเจ้าทำพันธสัญญาที่เฉพาะเจาะจงกับอับราฮาม บอกเขาว่าพระองค์จะให้เกิดชนชาติยิ่งใหญ่จากเขา และทุกครอบครัวในโลกจะได้รับพรเพราะเขา

พระองค์กล่าวกับอับราฮามว่า “จงละบ้านเมือง วงศ์ตระกูล และครอบครัวบิดาของเจ้า เพื่อไปยังดินแดนที่เราจะแสดงแก่เจ้า เราจะทำให้เจ้าเป็นชนชาติยิ่งใหญ่ เราจะอวยพรเจ้า เราจะทำให้ชื่อเสียงของเจ้าเลื่องลือ และเจ้าจะเป็นพร เราจะอวยพรบรรดาผู้ที่อวยพรเจ้า เราจะสาปแช่งบรรดาผู้ที่สาปแช่งเจ้า ทุกชนชาติทั่วโลกจะได้รับพรผ่านเจ้า”[6]

“ดูเถิด นี่คือพันธสัญญาของเรากับเจ้า คือเจ้าจะเป็นบิดาของชนชาติต่างๆ เขาจะไม่เรียกเจ้าว่าอับรามอีกต่อไป เจ้าจะมีชื่อว่าอับราฮาม เพราะเราให้เจ้าเป็นบิดาของชนชาติต่างๆ”[7]

หลายศตวรรษต่อมา พระเจ้าปลดปล่อยลูกหลานของอับราฮามจากการเป็นทาสและการกดขี่ในอียิปต์ ด้วยเหตุนี้พวกเขากลายเป็นผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์[8] ในฐานะผู้มีส่วนร่วมพันธสัญญากับพระเจ้า มีสิ่งที่ชาวฮีบรูต้องทำเพื่อรักษาพันธสัญญาในส่วนของเขา โดยทั่วไปคำบรรยายส่วนที่เหลือของพระคัมภีร์เดิม คือพระเจ้าสัตย์ซื่อต่อพันธสัญญาอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ชนชาติอิสราเอลละเลยที่จะทำตามสัญญาตลอดเวลา

เพราะชนชาติอิสราเอลมีพันธสัญญากับพระเจ้าผู้บริสุทธิ์ พวกเขาควรจะบริสุทธิ์เช่นกัน พวกเขาถูกมอบหมายให้ “ร่วมนมัสการอันบริสุทธิ์”[9] ความบริสุทธิ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเชื่อฟังพระเจ้า เป็นการเชื่อฟังด้วยความรักและความสำนึกในบุญคุณ

จงรักพระเจ้าของท่านสุดจิตสุดใจและสุดกำลัง[10] “ในอนาคตเมื่อลูกหลานถามว่า ‘ข้อกำหนด กฎหมาย และบทบัญญัติที่พระเจ้าของเราบัญชาไว้เช่นนี้ มีความหมายอย่างไร’ จงบอกเขาว่า ‘พวกเราเคยเป็นทาสฟาโรห์อยู่ในอียิปต์ แต่พระองค์นำเราออกมาจากอียิปต์ ด้วยหัตถ์อันทรงพลัง พระองค์แสดงสัญญาณและปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่น่าสะพึงกลัว ต่ออียิปต์และฟาโรห์ รวมทั้งราชวงศ์ ต่อหน้าเรา’”[11]

ความชอบธรรมสำหรับชาวยิวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเชื่อฟัง และการเชื่อฟังนั้นหมายถึงการแยกตัวจากสิ่งที่ถือว่าเป็นมลทิน ไม่นมัสการเทพเจ้าอื่น และอุทิศตนเพื่อรับใช้พระเจ้า นอกเหนือจากการดำเนินชีวิตตามบัญญัติของพระเจ้าเป็นหัวใจสำคัญ นี่ก็หมายถึงการดำเนินชีวิตเป็นหมู่คณะแห่งความศรัทธา

ผู้ประพันธ์ สแตนเลย์ เกรนซ์ เขียนไว้ว่า

อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้คนที่บริสุทธิ์ของพระเจ้า ไม่ได้ลงเอยด้วยชีวิตที่มีแนวทางมุ่งไปสู่พระเจ้า การมีพันธสัญญากับพระเจ้า กำหนดให้ชนชาติอิสราเอลเป็นชุมชนที่บริสุทธิ์ เป็นผู้คนที่ทราบว่าสถานะพันธสัญญานั้น ต้องกลายเป็นการประพฤติตนอย่างเหมาะสมต่อผู้อื่น การดำเนินชีวิตให้บริสุทธิ์ครอบคลุมทุกมิติในปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ รวมถึงแง่มุมหลากหลายของชีวิตครอบครัวและการประกอบธุรกิจ ความบริสุทธิ์เรียกร้องให้ห่วงใยผู้ที่ด้อยโอกาส กำหนดขอบเขตการแก้แค้น[12] ทั้งยังเรียกร้องให้ดูแลเอาใจใส่สัตว์อย่างถูกต้อง[13]... ความบริสุทธิ์ไม่ได้มุ่งเน้นการหลับหูหลับตาเชื่อฟังเป็นหลัก จนถึงขั้นกำหนดกฎเกณฑ์เป็นเป้าหมายในตัว แทนที่จะเป็นเช่นนั้น นี่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับผิดชอบอย่างจริงจัง โดยเกี่ยวโยงกับการได้รับของขวัญ คือความปรานีจากเบื้องบน[14]

การร่วมพันธสัญญากับพระเจ้า หมายถึงการดำเนินชีวิตตามแบบอย่างพระเจ้า และการที่พระองค์ดำเนินการกับชนชาติอิสราเอล จากพระคำที่พระองค์มอบให้เขา พระเจ้าเผยคุณลักษณะของพระองค์ต่อชนชาติอิสราเอล เขาเรียนรู้ว่าพระองค์สัตย์ซื่อ บริสุทธิ์ เที่ยงธรรม และมีเมตตา พระองค์บรรยายว่าเป็น “พระองค์คือพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาและพระคุณ กริ้วช้า บริบูรณ์ด้วยความรักมั่นคง และความซื่อสัตย์”[15] ผู้พยากรณ์มีคากล่าวว่า พระองค์ได้แสดงแก่ท่านแล้วว่าอะไรดี และอะไรที่พระองค์ประสงค์จากท่าน คือจงประพฤติอย่างเที่ยงธรรม รักความเมตตากรุณา และดำเนินไปอย่างถ่อมตนต่อพระเจ้า[16]

เนื่องจากพระเจ้าเผยคุณลักษณะของพระองค์ต่อผู้คนแห่งพันธสัญญา โดยมุ่งหมายให้เขาทำตามแบบอย่างพระองค์ เขาควรจะมีความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรม มีเมตตา มีความรัก และให้อภัย

พระกิตติคุณ

ชาวฮีบรูตั้งตารอคอยเวลาที่พระเจ้าจะดำเนินการแทนเขา ดังที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ พระเจ้าตอบสนองความคาดหมายนี้ โดยการส่งพระเยซูมา การที่พระองค์ดำเนินชีวิต ยอมตาย และฟื้นคืนชีพ นำมาซึ่งพันธสัญญาใหม่

[พระเยซู]หยิบขนมปัง ขอบพระคุณพระเจ้า แล้วหักส่งให้พวกเขาและกล่าวว่า “นี่คือกายของเราซึ่งให้แก่ท่าน จงทำเช่นนี้เป็นการระลึกถึงเรา” หลังจากทานแล้ว พระองค์หยิบถ้วยและกระทำอย่างเดียวกัน แล้วกล่าวว่า “ถ้วยนี้คือพันธสัญญาใหม่ด้วยโลหิตของเรา ซึ่งหลั่งรินเพื่อท่าน”[17]

พันธสัญญาใหม่นี้กล่าวถึงไว้ล่วงหน้าในหนังสือเยเรมีย์

“พระองค์ประกาศว่า “เวลานั้นจะมาถึง เมื่อเราทำพันธสัญญาใหม่กับชนชาติอิสราเอลกับยูดาห์ เป็นพันธสัญญาซึ่งไม่เหมือนพันธสัญญาที่เราทำไว้กับบรรพบุรุษของเขา เมื่อเราพาเขาออกมาจากดินแดนอียิปต์ เพราะเขาละเมิดพันธสัญญาที่ทำไว้กับเรา ทั้งๆ ที่เราเป็นเจ้านายของเขา พระองค์ประกาศดังนั้น พระองค์ประกาศว่า “นี่คือพันธสัญญาที่เราจะทำกับชนชาติอิสราเอล หลังจากสมัยนั้น เราจะมอบบทบัญญัติของเราไว้ในจิตใจเขา และจารึกไว้ที่หัวใจเขา เราจะเป็นพระเจ้าของเขา และเขาจะเป็นประชากรของเรา....เพราะเราจะอภัยให้ความชั่วของเขา และจะไม่จดจำบาปทั้งหลายของเขาอีกต่อไป”[18]

ในสมัยพระเยซู พวกฟาริสีถือว่าการมีความชอบธรรมและบริสุทธิ์ มีข้อกำหนดให้ทำตามพระบัญญัติที่พระเจ้ามอบให้อย่างเคร่งครัด และเขาถือว่าคนของพระเจ้าคือผู้ที่ทำตามพระบัญญัติอย่างเข้มงวด เขามุ่งเน้นที่การทำตามตัวบทกฎหมายในพระบัญญัติ โดยไม่ได้ใจใส่อย่างควรต่อหลักการเรื่องความรัก ความเมตตา การให้อภัย ฯลฯ ซึ่งอยู่เบื้องหลังพระบัญญัติ เขาเชื่อว่าพระเจ้าพอใจ เพราะเขาเชื่อฟังหลักความเชื่อของชาวยิวอย่างเคร่งครัด และทำตามพระบัญญัติทุกตัวบทกฎหมาย พระเยซูไม่เห็นด้วยกับเขา พระองค์ป่าวประกาศว่าคนของพระเจ้าไม่ใช่ผู้ที่ดูเหมือนชอบมีความชอบธรรม เนื่องจากรักษาบัญญัติอย่างเคร่งครัด ทว่าคือผู้ที่ซื่อตรง ผู้ที่รู้ว่าเขาเป็นคนบาป เสียใจต่อความผิดของเขา โดยขอความเมตตาและการให้อภัยจากพระเจ้าอย่างถ่อมตน พระเจ้ายอมรับคนเช่นนั้น และปฏิเสธคนหยิ่งยโสที่เอ่ยอ้างว่าไม่ต้องได้รับการให้อภัย พระองค์ตั้งประเด็นว่าเราไม่สมควรได้รับความชื่นชอบจากพระเจ้า เพราะสิ่งที่เราทำ เราทำให้ตัวเองมีความชอบธรรมไม่ได้ในสายตาของพระเจ้า แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ความชอบธรรมของเรามาจากพระเจ้า ผู้มอบให้เปล่าๆ อย่างไม่มีเงื่อนไข ด้วยความปรานี

ขณะที่พวกฟาริสีในสมัยพระองค์คิดว่าการกระทำภายนอก ด้วยการเชื่อฟังพระบัญญัติ คือกุญแจไปสู่ความชอบธรรม ส่วนพระเยซูมุ่งเน้นที่สภาพจิตใจภายใน พระองค์คำนึงถึงนิสัยใจคอ แรงจูงใจ และหัวใจ พระองค์ทราบว่าต้องแก้ไขปัญหา“ในใจ” ความเลื่อมใสศรัทธาในใจ และแรงจูงใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่การทำตามพระบัญญัติจากภายนอก ทว่าบ่งบอกถึงการเชื่อฟังที่แท้จริง และความรักที่มีต่อพระเจ้า กุญแจไปสู่การแก้ไขปัญหา“ในใจ” และการเป็นคนชอบธรรม มาจากความรอด ผ่านการที่พระเยซูสละชีพ ความชอบธรรมคือของขวัญที่พระเจ้ามอบให้ด้วยความปรานี ผ่านการที่พระบุตรของพระองค์เสียสละ แต่ของขวัญที่มอบให้ด้วยความปรานีไม่ใช่จุดจบของเรื่อง ทว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้น การที่พระเยซูเสียสละ ผู้มีความเชื่อจึงกลายเป็นคนของพระเจ้า และมีส่วนร่วมในพันธสัญญาใหม่ ความสำนึกในบุญคุณต่อสิ่งที่พระเจ้าได้ทำเพื่อเราผ่านพระเยซู ก็คาดหมายว่าเราจะสะท้อนให้เห็นพระเจ้าในโลกของเรา เราจะดำเนินชีวิตในลักษณะที่ถวายสง่าราศีแด่พระองค์ การดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูเข้ามามีบทบาทตอนนี้แหละ

เช่นเดียวกับชาวฮีบรูในพระคัมภีร์เดิม เราทราบถึงคุณลักษณะของพระเจ้าที่เผยไว้ อย่างไรก็ตาม นอกจากนั้นเราก็มีชีวิตของพระเยซู คือพระเจ้าจุติมาบังเกิด เป็นแบบอย่างเพิ่มเติมถึงความรัก ความเมตตา และความดีงามของพระเจ้า พระเยซูเผยความจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเจ้า ผ่านคำสอนและแบบอย่างของพระองค์ พระองค์ประกาศถึงอาณาจักรของพระเจ้า พระองค์สอนให้เราเข้าใจพระเจ้า ว่าเป็นพระบิดาของเรา พระองค์ดำเนินชีวิตเป็นภาพสะท้อนอันบริสุทธิ์ของพระบิดา

ในพระกิตติคุณ เราพบว่าพระเยซูชี้ไปที่แบบอย่างของพระองค์เอง เพื่อให้เห็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตเยี่ยงพระเจ้า เช่น พระองค์ท้าทายพวกสาวกให้รักกัน ตามแบบอย่างความรักที่พระองค์มีต่อเขา เราให้บัญญัติใหม่แก่ท่าน คือ จงรักซึ่งกันและกัน ท่านต้องรักซึ่งกันและกัน เหมือนที่เราได้รักท่าน[19] คำบัญชาของเราคือ จงรักซึ่งกันและกัน เหมือนที่เราได้รักท่าน[20] พระองค์เป็นแบบอย่างถึงการยอมจำนนต่อความประสงค์ของพระบิดา ซึ่งในที่สุดก็นำพระองค์ไปสู่กางเขน ข้าแต่พระบิดา หากเป็นไปได้ขอให้จอกนี้พ้นไปจากข้าเถิด อย่างไรก็ตาม อย่าให้เป็นไปตามใจของข้า แต่ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของพระองค์[21]

พระเยซูแสดงถึงชีวิตที่พระองค์ปรารถนาให้สาวกดำเนิน ผ่านการกระทำที่เป็นสัญลักษณ์ ดังที่เห็นได้เมื่อพระองค์ล้างเท้าพวกเขา พระเยซูเอาน้ำและผ้าขนหนูมา แล้วล้างเท้าให้สาวกแต่ละคน ปกติแล้วนี่เป็นหน้าที่คนรับใช้ เมื่อแขกเข้ามาในบ้าน[22] เมื่อพระองค์ทำเสร็จแล้ว พระองค์ประกาศถึงลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ จากการกระทำของพระองค์ว่า

ท่านเข้าใจสิ่งที่เราได้ทำให้ท่านหรือไม่ ท่านเรียกเราว่าพระอาจารย์และองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งถูกต้องแล้ว เพราะเราเป็นเช่นนั้น ในเมื่อเราผู้เป็นพระเจ้า และเป็นอาจารย์ของท่าน ยังล้างเท้าให้ท่าน ท่านก็ควรล้างเท้าให้กันและกันด้วย เราได้วางแบบอย่างไว้ เพื่อท่านจะได้ทำเหมือนที่เราทำเพื่อท่าน[23]

เมื่อสาวกของพระองค์เถียงกันว่าใครควรเป็นใหญ่ที่สุด พระเยซูกล่าวแก่เขาว่า

กษัตริย์ของชนต่างชาติย่อมเป็นเจ้าเป็นนายเขา และผู้ที่ใช้อำนาจเหนือเขา เรียกตนเองว่าเจ้าบุญนายคุณ แต่ท่านไม่ควรเป็นเช่นนั้น ตรงกันข้าม ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหมู่พวกท่านควรเป็นเหมือนผู้เยาว์ที่สุด และผู้ที่ปกครองควรเป็นเสมือนผู้รับใช้ เพราะคนที่นั่งโต๊ะกับคนที่คอยรับใช้ ใครยิ่งใหญ่กว่ากัน คนที่นั่งโต๊ะไม่ใช่หรือ แต่เราอยู่ท่ามกลางพวกท่านเหมือนคนรับใช้[24]

พระเยซูไม่ได้เพียงถ่ายทอดข่าวสารเกี่ยวกับการทำสิ่งเฉพาะเจาะจงที่พระองค์ได้ทำ ทว่าถ่ายทอดสิ่งที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น พระองค์ไม่เพียงส่งเสริมให้เลียนแบบการกระทำของพระองค์ แต่แถลงว่าสาวกของพระองค์ควรจะอุทิศตนแบบที่เชื่อมโยงเขากับพระองค์ในเชิงลึกที่สุด การอุทิศตนต่อพระเยซูนำไปสู่การทำตามแบบอย่างของพระองค์มากขึ้น หลังจากล้างเท้าสาวก พระองค์ไม่ได้เพียงแนะนำเขาให้รัก เหมือนที่เขาเห็นพระองค์รัก แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์กล่าวว่า ท่านต้องรักซึ่งกันและกัน เหมือนที่เราได้รักท่าน[25] เขาควรจะรัก เหมือนที่พระองค์รักเขา เขาแต่ละคนได้สัมผัสความรักของพระองค์เป็นส่วนตัวโดยตรง และเขาควรจะรักผู้อื่นด้วยความรักเช่นนั้น

แรงจูงใจที่จะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น ไม่ได้มาจากการชื่นชมบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เราต้องการเลียนแบบ ทว่าเป็นความสำนึกในบุญคุณที่พรั่งพรูออกมา และความรักต่อผู้ที่เราได้สัมผัสความรักของท่านเป็นส่วนตัว

สแตนเลย์ เกรนซ์ อธิบายว่า

เราไม่ได้มองว่าพระองค์เป็นเพียงตัวละครเอกในตำนานที่มีมานานแล้ว ซึ่งเราสะท้อนให้เห็น และรับคำแนะนำจากชีวิตของท่านได้ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ท่านรักเรา และสละชีวิตเพื่อเรา การได้สัมผัสความรักยิ่งใหญ่ของพระเยซูเป็นส่วนตัว เราพบว่าต้องตอบรับด้วยความสำนึกในบุญคุณและความรัก ดังนั้นแทนที่จะเพียงดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระองค์ เราจึงร่วมสัมพันธภาพกับพระองค์ ในความสัมพันธ์นี้ เราปรารถนาที่จะดำเนินชีวิตตามที่พระองค์ต้องการ นั่นคือมีพระคริสต์อยู่ในเรา[26]

การที่พระเยซูยอมตายบนไม้กางเขนเปลี่ยนชีวิตเราอย่างกลับตาลปัตร โดยกอบกู้ดวงวิญญาณของเรา และทำให้เป็นไปได้ที่เราจะมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า ผู้ซึ่งเราจะอยู่ด้วยชั่วนิรันดร์ ความสำนึกในบุญคุณและความรัก จากการที่พระเยซูยอมสละชีวิต เพื่อเราจะได้กลายเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระเจ้า คือแรงจูงใจที่สำคัญในการอยากเป็นเหมือนพระเยซู

ตอนที่สองของ “คำแนะนำและภูมิหลัง” เราจะครอบคลุมแง่คิดนี้ ดังที่บ่งบอกไว้ในสาส์นต่างๆ


[1] 2 โครินธ์ 5:17

[2] บทความส่วนที่เหลือเป็นข้อสรุปบทที่สาม ในหนังสือของ สแตนเลย์ เจ เกรนซ์ ชื่อ The Moral Quest (ดาวเนอร์สโกรฟ: ฝ่ายวิชาการ ไอวีพี ค.ศ. 1997)

[3] โดยทั่วไปแล้วเข้าใจว่าพันธสัญญาเป็นข้อตกลงเคร่งครัดที่ผูกมัดทุกฝ่าย พระเจ้าทำพันธสัญญากับมนุษย์  รายบุคคล และชนชาติฮีบรู พันธสัญญาที่พระองค์ให้ไว้ตอนสร้างโลก ต่อมาพันธสัญญากับโนอาห์ เป็นพันธสัญญาสากลกับมวลมนุษย์ พันธสัญญาที่พระองค์ทำกับอับราฮามเป็นเรื่องส่วนบุคคล ทว่ากำหนดให้อับราฮามทำสิ่งที่เฉพาะเจาะจง ถ้าเขาทำเช่นนั้น เขากับลูกหลานโดยเฉพาะ และมนุษย์โดยทั่วไป จะได้รับพร พันธสัญญาที่พระเจ้าทำกับชาวอิสราเอลเป็นที่รู้จักกันว่า พันธสัญญา suzerain ซึ่งแพร่หลายบริเวณตะวันออกใกล้ในกาลก่อน สมัยที่มีการอพยพ พันธสัญญา suzerain ทำขึ้นเมื่อกษัตริย์ที่เหนือกว่าทำสัญญากับกษัตริย์ที่ด้อยกว่า (หรือขุนนาง) เอกสารดังกล่าวระบุชื่อฝ่ายต่างๆ  และกฤษฎีกาของผู้มีอำนาจเหนือกว่า  ซึ่งเป็นคำสั่งระบุว่าขุนนางและบริวารควรประพฤติตนอย่างไร รวมถึงความสวามิภักดิ์ต่อผู้มีอำนาจเหนือกว่าโดยสิ้นเชิง และกฎเกณฑ์ที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าต้องการให้ขุนนางเชื่อฟัง นี่ตามด้วยพรจากการเชื่อฟัง และการลงโทษเมื่อไม่เชื่อฟัง แง่มุมทั้งหมดนี้ระบุไว้ในพันธสัญญาที่พระเจ้าทำกับชาวอิสราเอล พระองค์ตั้งชื่อของพระองค์ว่า “เราคือองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของเจ้า” ซึ่งบอกว่าพระองค์ได้ทำอะไรบ้าง คือ “ผู้พาเจ้าออกมาจากอียิปต์ และการเป็นทาส” แล้วพระองค์มอบบัญญัติให้ บางข้อมีบทลงโทษตราไว้ บัญญัติแรกเรียกร้องให้จงรักภักดีต่อพันธสัญญาโดยสิ้นเชิง ข้ออื่นบ่งบอกว่าความจงรักภักดีควรจะเป็นรูปแบบใด

[4] ปฐมกาล 1:27-30

[5] ปฐมกาล 9:9-11

[6] ปฐมกาล 12:1-3

[7] ปฐมกาล 17:4-5

[8] เราจะดำเนินอยู่ท่ามกลางพวกเจ้า เป็นพระเจ้าของเจ้า เจ้าจะเป็นประชากรของเรา (เลวีนิติ 26:12)

[9] ในวันแรกและวันที่เจ็ดของพิธีฉลอง จัดให้มีการประชุมนมัสการศักดิ์สิทธิ์ อย่าทำงานใดๆ ในสองวันนั้น นอกจากเตรียมอาหารให้ทุกคนทาน นั่นคือทุกสิ่งที่เจ้าจัดเตรียมได้ (อพยพ 12:16)

[10] พระบัญญัติ 6:5

[11] พระบัญญัติ 6:20-22

[12] อย่าโบยเขาเกินสี่สิบที มิฉะนั้นโทษทัณฑ์จะรุนแรงเกินเหตุ และพี่น้องของท่านจะต้องเสื่อมเสียเกียรติต่อหน้าท่าน (พระบัญญัติ 25:3)

[13] พระบัญญัติ 22:1-4

[14] เกรนซ์ ในหนังสือ The Moral Questหน้า 99

[15] อพยพ 34:6-7

[16] มีคาห์ 6:8

[17] ลูกา 22:19-20

[18] เยเรมีย์ 31:31-33,34

[19] ยอห์น 13:34

[20] ยอห์น 15:12

[21] มัทธิว 26:39

[22] ยอห์น 13:1-11

[23] ยอห์น 13:12-15

[24] ลูกา 22:25-27

[25] ยอห์น 13:34

[26] เกรนซ์ ในหนังสือ The Moral Questหน้า 116