More Like Jesus: Renewal Basics

สิงหาคม 23, 2016

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

เหมือนพระเยซูมากขึ้น: หลักเบื้องต้นของการฟื้นฟู

ดังที่เอ่ยถึงในสองบทความที่แล้ว เป็นเหมือนพระเจ้า ตอนที่หนึ่ง และตอนที่สอง การกลายเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น ต้องอาศัยการฟื้นฟูตัวตนภายในของเรา ได้แก่ จิตใจ ความประสงค์ อารมณ์ความรู้สึก ความนึกคิด (จิตสำนึกและจิตใต้สำนึก) ดวงจิตและวิญญาณ ซึ่งจะเป็นเหตุให้การกระทำของเราสะท้อนถึงตัวตนภายในที่ผ่านการฟื้นฟู ถ้าเราปรารถนาจะเป็นเหมือนพระคริสต์ เราต้องเริ่มต้นด้วยวิญญาณที่เปลี่ยนแปลง (ต่อไปนี้ผมใช้คำว่า “วิญญาณ” แทนความคิดจิตใจ ดวงจิตและวิญญาณ คือตัวตนภายในของเรา) ความรอดและการที่พระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตอยู่ในเรา นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่อวิญญาณของเรา นี่หักล้างพลังที่ความบาปมีเหนือเรา และช่วยให้ขั้นตอนการเติบโตทางวิญญาณดำเนินไปได้ ซึ่งจะเปลี่ยนวิสัยพื้นฐานภายในตัวเรา

ขั้นตอนไปสู่การมีความคิด ถ้อยคำ การกระทำ และทัศนคติที่สะท้อนให้เห็นพระคริสต์ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง นี่ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงภายในจิตสำนึก อัครสาวกเปาโลบ่งบอกไว้โดยกล่าวว่า จงทิ้งตัวตนเก่าของท่าน ซึ่งควบคู่มากับวิถีชีวิตเดิม อันจะเสื่อมเสียไปตามตัณหาที่หลอกลวง จงให้จิตวิญญาณของท่านเปลี่ยนใหม่ และให้ท่านสวมตัวตนใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ตามแบบอย่างของพระเจ้า ในความชอบธรรมและความบริสุทธิ์ที่แท้จริง[1] ดังนั้นเราทำจะอย่างไร เพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณของเรา เพื่อสวมตัวตนใหม่

องค์ประกอบสำคัญในการกลายเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น คือ การเชื่อตามที่พระเยซูเชื่อ หมายถึงการเชื่อตามที่พระคัมภีร์สอน ความเชื่อแบบที่ส่งผลในการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ความเชื่อที่เพียงเห็นพ้องหรือยอมรับทางเชาวน์ปัญญา ทว่าคือความเชื่อที่เป็นรากฐานการดำเนินชีวิต การเชื่อว่ามีพระเจ้าก็เป็นเรื่องหนึ่ง ทว่าการดำเนินชีวิตโดยมีพระผู้สร้างเป็นศูนย์กลางในชีวิตนั้นแตกต่างไปมากทีเดียว โดยที่การตัดสินใจและการกระทำอยู่บนพื้นฐานสื่อสัมพันธ์ที่มีกับพระองค์ การเชื่อในที่นี้หมายถึงความเชื่อมั่น และการมุ่งมั่นที่จะดำเนินชีวิตตามความเชื่อ ต่อไปนี้คือความเชื่อหลักๆ บางส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นเหมือนพระคริสต์

เชื่อในพระเจ้าตามที่สอนไว้ในพระคัมภีร์

พระคัมภีร์สอนว่าพระเจ้ามีจริง พระองค์สร้างสรรค์โลก(จักรวาล)ขึ้นมา และทุกสิ่งในโลกจากความว่างเปล่า[2] พระองค์มีตัวตน[3] พระองค์เป็นตรีเอกานุภาพ (หนึ่งพระเจ้าในสามบุคคล)[4] พระองค์มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับโลกที่สร้างสรรค์ขึ้นมา[5] ถึงแม้ว่าพระองค์ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโลกที่สร้างสรรค์ขึ้นมา[6] ทว่าพระองค์รักและห่วงใยโลกกับผู้คนในโลก[7] พระองค์รักและห่วงใยพวกเราที่เป็นลูกของพระองค์[8] พระองค์มีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของเรา[9] พระองค์แสนดี[10] เราสัมผัสความดีงามของพระองค์ในชีวิตเรา[11] ถึงแม้ว่าทุกสิ่งในชีวิตเราไม่ใช่สิ่งที่ดี และเราไม่เข้าใจเสมอไปว่าทำไมบางสิ่งจึงเกิดขึ้น แต่เราไว้วางใจในพระองค์[12] เพราะวิถีทางของพระองค์สูงส่งกว่าทางของเรา[13]

พระผู้สร้างปรารถนาให้เราเข้ามามีสื่อสัมพันธ์กับพระองค์ด้วยความรัก อย่างไรก็ตาม บาปและความวิตกกังวลในชีวิตนี้ ช่วงชิงความรักและความปรารถนาของเรา มีสิ่งไขว้เขวมากมายที่ดึงความจงรักภักดี การมุ่งเน้น และความปรารถนาของเราไปจากพระเจ้า บ่อยครั้งเราเผชิญหน้ากับทางเลือกว่าควรจะแนบชิดและนมัสการพระเจ้า หรือหันไปหาสิ่งต่างๆ ที่ดึงเราไปจากพระองค์ และเทิดทูนสิ่งเหล่านั้น เมื่อทราบว่าพระเจ้าต้องการให้เราต่อต้านขัดขืนความชั่วร้าย เราหมายพึ่งพระองค์เพื่อขอพระคุณและพลังอำนาจเพื่อทำเช่นนั้น แล้วก็ทำส่วนของเราในการต่อต้านขัดขืนและเอาชนะบาปในชีวิตเรา

เราไว้วางใจพระเจ้า เพราะเราเชื่อว่าพระองค์มีความรัก เป็นกันเอง มีพลังอำนาจทั้งสิ้น และวิถีทางของพระองค์สูงส่งกว่าทางของเรา เราอ้าแขนรับพระองค์ไว้ โดยทราบว่าพระองค์ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา พระองค์รู้จักเรา ห่วงใยเรา เข้าใจจุดอ่อนของเรา และให้อภัยเรา ดังนั้นเราจึงไว้วางใจพระองค์ ติดตามพระองค์ และแสวงหาการชี้นำจากพระองค์ในชีวิตเรา

การไถ่บาป

เนื่องจากความรักที่พระองค์มีต่อมวลมนุษย์ พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักจึงหาทางฟื้นฟูมิตรภาพที่เรามีกับพระองค์ ถึงแม้ว่าเราเป็นคนบาป และขัดขืนต่อพระองค์ พระองค์ก็หาทางให้เราได้รับการยกโทษ และสมานไมตรี โดยการรับพระคริสต์ไว้เป็นพระผู้ช่วยให้รอด เรากลายเป็นลูกของพระเจ้า ผ่านความดีงาม ความรัก และความกรุณาของพระเจ้า เรามีชีวิตนิรันดร์[14]

ในพระคริสต์

เราอยู่ “ในพระคริสต์” โดยผ่านความรอด

เพราะว่าคนทั้งปวงต้องตาย เนื่องจากอาดัมฉันใด คนทั้งปวงก็จะกลับได้ชีวิต เนื่องจากพระคริสต์ฉันนั้น[15] เพราะว่าท่านเป็นบุตรของพระเจ้า โดยความศรัทธา[16] โดยพระองค์[พระเจ้า] ท่านจึงอยู่ในพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นสติปัญญาจากพระเจ้า[17] เหตุฉะนั้น ถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสต์ ผู้นั้นก็เป็นคนใหม่ สิ่งเก่าๆ ล่วงไป ดูเถิด กลายเป็นสิ่งใหม่ทั้งนั้น[18] จงถวายคำสรรเสริญแด่พระเจ้า พระบิดาแห่งพระเยซูคริสต์ พระผู้เป็นเจ้าของเรา ผู้โปรดประทานพรฝ่ายวิญญาณแก่เรานานาประการในสวรรค์ โดยพระคริสต์[19]

การอยู่ในพระคริสต์หมายถึง การเป็นส่วนหนึ่งในร่างของพระคริสต์[20] เป็นลูกของพระเจ้า และเป็นทายาทในอาณาจักรของพระองค์[21] เป็นวิหารที่พระเจ้าสถิตอยู่[22] เป็นคนใหม่[23] เป็นชาวสวรรค์[24] การทราบเช่นนี้นำมาซึ่งความมั่นใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้า พระองค์เป็นพระบิดาของเรา พระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอด และพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตอยู่ในเรา เราเป็นมนุษย์ที่ได้รับการให้อภัย พระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุดรักมนุษย์เรา เพราะเราอยู่ในพระคริสต์ เราก็บ่งบอกได้ว่าเราเป็นใครในพระองค์ โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าเราเป็นใคร

ผู้ประพันธ์ แรนดี้ ฟราซี อธิบายไว้ดังนี้

หนึ่งในภาพยนตร์ที่ผมโปรด คือ Chariots of Fire (เกียรติยศแห่งชัยชนะ) ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ เป็นเรื่องราวชีวิตจริงของ เอริค ลิดเดล และ ฮาโรลด์ อับราฮัมส์ ... ในภาพยนตร์บอกเล่าถึงการที่ทั้งสองวิ่งแข่งและได้รับเหรียญทอง ข้อแตกต่างน่ะหรือ ฮาโรลด์ อับราฮัมส์ วิ่งเพื่อพิสูจน์ว่าเขาเป็นใคร ส่วนเอริค ลิดเดล วิ่งเพื่อบ่งบอกว่าเขาทราบว่าเขาอยู่ในพระคริสต์ ... มีฉากหนึ่งซึ่งน้องสาวของลิดเดลเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะรู้สึกว่าการวิ่งแข่งดึงเขาไปจากความมุ่งมั่นที่จะไปเป็นมิชชันนารีในประเทศจีน เขาจ้องตาน้องสาวอย่างลึกซึ้ง และกล่าวว่า “พี่เชื่อว่าพระเจ้าสร้างพี่มาเพื่อวัตถุประสงค์หนึ่ง ทว่าพระองค์สร้างพี่มาให้วิ่งเร็วด้วย เมื่อพี่วิ่ง พี่รู้สึกถึงความพอใจของพระองค์”... หนึ่งในวิถีทางเร้นลับที่สุด ทว่าน่าทึ่ง ซึ่งเราบ่งบอกอย่างแท้จริงว่าเราเป็นใครในพระคริสต์ คือ การใช้พรสวรรค์ที่พระองค์มอบให้เรา และเชื่อมโยงไปสู่หัวใจของพระเจ้า เพื่อ“สัมผัสความพอใจของพระองค์”[25]

การรู้ว่าเราอยู่ “ในพระคริสต์” ปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระที่จะติดตามการชี้นำของพระองค์ในชีวิตเรา เพื่อเราจะได้ใช้พรสวรรค์และความสามารถที่พระเจ้ามอบให้เรา เพื่อสง่าราศีของพระองค์ เราเข้าใจว่าไม่ว่าพระองค์นำทางอย่างไร และนำไปที่ไหนก็ตาม ในแต่ละขั้นตอนของชีวิต เรามีความยินดี อิ่มเอิบใจ และสำนึกในบุณคุณ ที่อยู่ในความประสงค์ของพระองค์ นอกจากนี้ยังบอกเราด้วยว่า ถึงแม้เราไม่สมบูรณ์แบบ เราก็ได้รับการให้อภัย ความรัก และการยอมรับจากพระองค์

ชีวิตนิรันดร์

การมีชีวิตนิรันดร์หมายถึงเราจะมีชีวิตตลอดไป พระคัมภีร์เผยว่าเมื่อเราตาย ร่างกายของเรากลับคืนสู่ผืนดิน ทว่าวิญญาณของเราคงอยู่ต่อไป นี่สอนว่าจะมีการพิพากษา ทว่าผู้ที่รับพระคริสต์ไว้ ได้รับการให้อภัยต่อบาป และพระเจ้าจะเห็นว่าเขาไร้มลทินในวันพิพากษา[26]

สื่อสัมพันธ์กับพระคัมภีร์

การอ่าน เชื่อ และดำเนินชีวิตตามพระคัมภีร์ คือพระคำของพระเจ้า เราจะเรียนรู้ถึงความจริงที่พระคัมภีร์เผยให้เห็น จากเนื้อหาในพระคัมภีร์ พระเจ้ามอบความรู้ให้เรา เกี่ยวกับพระองค์เอง แผนการความรอด และคำแนะนำถึงวิธีดำเนินชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับความประสงค์ของพระองค์ พระคัมภีร์กำหนดหลักความเชื่อและแนวทางการกระทำ พระคัมภีร์มีอำนาจมอบคำแนะนำของพระเจ้า ถึงการมีสัมพันธภาพกับพระองค์ อะไรถูกอะไรผิด สิ่งใดน่าพอใจในสายตาพระองค์ และสิ่งใดไม่น่าพอใจ เมื่อพระเจ้าเผยความจริงแก่เรา ก็มุ่งหมายให้เป็นเลนส์ที่เรามองโลกของเรา เป็นแนวทางให้เราทำการเลือกตามแบบอย่างพระเจ้า มีทัศนคติที่ถูกต้อง และดำเนินชีวิตในสื่อสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้า

หลักความเชื่อเบื้องต้นที่กล่าวมานี้ (ประกอบกับหลักอื่นๆ อีกมากมายที่สอนไว้ในพระคัมภีร์) กลายเป็นศิลาพื้นฐานที่เราใช้เป็นหลักในการตัดสินใจและการกระทำ โดยปลุกปั้นมุมมองที่เรามีต่อโลก ฉะนั้นจึงชี้นำการดำเนินชีวิตของเรา เป็นแผนที่นำเราไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง เมื่อวันเวลาผ่านไป ความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเรา จะเปลี่ยนไปเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น สาเหตุหลักในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีพื้นฐานจากสิ่งที่พระเจ้าเผยให้เราเห้นในข้อพระคัมภีร์ เราเปลี่ยนไปเพราะเราเชื่อสิ่งที่พระเจ้าบอกเรา ผ่านข้อพระคัมภีร์ และเราทำตามนั้น

เมื่อเราเชื่ออย่างแท้จริง ในพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรัก เป็นกันเอง มีพลังทั้งสิ้น เราไว้วางใจพระองค์ เราเชื่อมั่นว่าพระองค์ทำได้ และจะทำตามที่สัญญาไว้ พระองค์จะนำทางเรา ถ้าเราติดตามแนวทางของพระองค์ และดำเนินชีวิตสอดคล้องกับหลักที่มีอยู่ในพระคำ เราจะมั่นใจว่าเราดำเนินการภายในความประสงค์ของพระองค์ และจะได้รับผลประโยชน์จากการทำเช่นนั้น ทั้งในชีวิตนี้ และตลอดไป ความเชื่อดังกล่าวเปลี่ยนการที่เรานึกคิดและดำเนินชีวิต

เมื่อเราเชื่อว่าพระเจ้าคือพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราตระหนักว่าพระเจ้าเป็นดุจชุมชนที่เปี่ยมด้วยความรักอย่างสมบูรณ์แบบในพระองค์เอง การเข้าใจว่าเราถูกสร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า และเป็นเหมือนพระเจ้า เราตระหนักว่าในฐานะมนุษย์ปุถุชน เราควรดำเนินการด้วยความรักและความสามัคคีในชุมชน ครอบครัว เพื่อนมิตร เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน ผู้มีความเชื่ออื่นๆ และผู้คนในเมือง ประเทศ และโลกของเรา ล้วนเป็นสมาชิกชุมชนต่างๆ ซึ่งเรามีส่วนร่วม เราได้รับมอบหมายให้รักผู้อื่น เหมือนที่เรารักตนเอง และปฏิบัติกับเขาเหมือนที่เราต้องการให้เขาปฏิบัติต่อเรา

เมื่อเราเชื่อว่าพระเจ้ารักมนุษย์แต่ละคน ดุจบุคคลที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของพระองค์ เราเข้าใจว่าทุกคนมีคุณค่า นี่นำไปสู่การเคารพตนเอง และการเคารพผู้อื่นด้วย ไม่ว่าเขาจะมีศาสนา เชื้อชาติ สถานะทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือความแตกต่างอื่นใด

เมื่อเราเข้าใจว่าพระเจ้าบริสุทธิ์ และไม่มีสิ่งใดที่ไม่บริสุทธิ์เข้ามาต่อหน้าพระองค์ เราก็ดำเนินชีวิตด้วยความสำนึกในบุญคุณที่พระองค์ไถ่บาปให้เรา ถ้าหากพระองค์ไม่ได้เปิดทางไปสู่ความรอดให้แก่เรา โดยผ่านความตายและการฟื้นคืนชีพของพระเยซู เราคงไม่มีสื่อสัมพันธ์กับพระองค์เป็นส่วนตัว ไม่มีความรอด ไม่มีพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตอยู่ในใจเรา เราคงต้องรับค่าจ้างจากความบาป คือความตาย แทนที่จะรับของขวัญจากพระเจ้า คือชีวิตนิรันดร์[27] อย่างไรก็ตาม เนื่องจากของขวัญที่พระองค์มอบให้เรา เราจึงดำเนินชีวิตที่เปี่ยมด้วยความยินดี โดยทราบว่าเรามีสื่อสัมพันธ์กับพระเจ้า และได้รับการให้อภัยจากบาป ด้วยความสำนึกในบุญคุณ เราต้องการทำให้พระองค์พอใจ ดำเนินชีวิตเพื่อพระองค์ สะท้อนให้ผู้อื่นเห็นพระองค์และความรักของพระองค์ มอบข่าวดีเรื่องความรอดให้กับเขา เนื่องจากเราได้รับการให้อภัยต่อบาปของเรา เราจึงให้อภัยผู้อื่นสำหรับบาปที่เขาทำต่อเรา

การอยู่ในพระคริสต์ช่วยให้เรารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า โดยไม่ยึดติดในสิ่งที่เราบรรลุผลสำเร็จ ทว่ายึดมั่นในคุณค่าที่มีต่อพระเจ้า เราไม่ต้องพิสูจน์อะไร หรือเหยียดหยามผู้อื่น เพื่อยกย่องตนเอง หรือสถานะของเรา ฟราซีเขียนไว้ว่า

เราจะมีอิสระ เพื่อใช้ถ้อยคำสร้างสะพานเชื่อมโยง ไม่ใช่เผาสะพาน ใช้มือโอบกอด ไม่ใช่ทำร้าย ใช้เท้าเพื่อก้าวไปหยิบยื่นให้ ไม่ใช่พรากไป ใช้หัวใจเพื่อมอบแรงบันดาลใจ ไม่ใช่คิดกลอุบาย เราจะยกชูทุกที่ซึ่งเรายืนอยู่[28]

การทราบว่าเรามีชีวิตนิรันดร์เปลี่ยนวิธีที่เราดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เรารับผิดชอบต่อการตัดสินใจของเรา และต่อบุคคลประเภทที่เราจะเป็น การเข้าใจความรับผิดชอบของเราควรทำให้เราเห็นความสำคัญที่จะใช้พรสวรรค์และความสามารถพิเศษที่พระเจ้ามอบให้ เพื่อถวายสง่าราศีแด่พระองค์ นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ประสบความสำเร็จทางโลก เราอาจประสบความสำเร็จ ทว่าเรามุ่งเน้นที่การถวายสง่าราศีแด่พระเจ้า และรับแนวทางจากพระองค์ เพราะเราให้ความสำคัญในการที่จะแสวงหาพระองค์ เพื่อขอการชี้นำ และทำตามที่พระองค์แสดงต่อเรา การทราบว่าเราจะอยู่กับพระเจ้าตลอดไป ควรเป็นเหตุให้เราดำเนินชีวิตด้วยความหวัง แม้แต่ในยามที่ยุ่งยากใจ ไม่ว่าชีวิตเราจะยากลำบากแค่ไหน เราทราบว่าปัจจุบันเป็นแค่ชั่วขณะหนึ่ง เมื่อเทียบกับนิรันดร์กาล

องค์ประกอบหลักในการเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น คือ เชื่อข้อพระคัมภีร์ ไม่ใช่แค่เชื่อในหัวคิด ทว่าเชื่อในหัวใจ ถ้าเราเชื่อตามที่พระคัมภีร์สอนอย่างแท้จริง และเราพยายามนำความจริงมาปรับใช้ในชีวิต เราจะประสบการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราเชื่ออย่างแท้จริงในคำสอนจากพระคัมภีร์ โดยให้ตัวตนภายใน ความคิดจิตใจ และจิตวิญญาณของเรา สอดคล้องกับความเชื่อดังกล่าว เมื่อนั้นความนึกคิด ความปรารถนา ความรู้สึก การตัดสินใจ และการกระทำภายนอกของเรา จะสะท้อนความเชื่อดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน พระวิญญาณบริสุทธิ์จะใช้ความจริงเหล่านี้พูดกับจิตใจเรา เกี่ยวกับข้อบกพร่องและบาปของเรา โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยเราให้เปลี่ยนแปลง ถ้าเราเปิดใจรับแนวทางจากพระวิญญาณ และเราปรารถนาที่จะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น เรายอมรับบาปของเรา และพยายามเอาชนะ ผ่านการช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ นี่เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงของเรา ในการสละตัวตนเก่า ซึ่งเสื่อมโทรมไปโดยตัณหาอันล่อลวง เพื่อรับการสร้างความคิดจิตใจขึ้นใหม่ เพื่อสวมตัวตนใหม่ ซึ่งพระเจ้าสร้างขึ้นให้เป็นเหมือนพระองค์ ในความชอบธรรม และความบริสุทธิ์ที่แท้จริง[29]

จุดเริ่มต้นของเราในการเป็นเหมือนคริสต์ คือ เชื่อในพระคำของพระเจ้า เมื่อเราเชื่อข้อพระคัมภีร์ เราจะก่อร่างสร้างชีวิตบนพื้นฐานที่มั่นคงดุจศิลา และเรามีความเชื่อมั่นที่จะดำเนินชีวิตตามความเชื่อ การดำเนินชีวิตตามความเชื่อดังกล่าว เราจะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น


[1] เอเฟซัส 4:22-24

[2] ในอนาคตผมหวังว่าจะเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีคริสเตียนต่างๆ เรื่องการสร้างสรรค์ ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับที่สอนไว้ในปฐมกาล

[3] พระองค์มีชื่อว่า เราเอง ยาห์เวห์ โดยกล่าวถึงว่าเป็นพระบิดา (2 โครินธ์ 6:18) เป็นผู้พิพากษา (อิสยาห์ 33:22) และเป็นสามี (อิสยาห์ 54:5) หากประสงค์ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องพระเจ้ามีตัวตน คลิกที่นี่

[4] พระบิดาเอ่ยถึงพระบุตรว่าเจ้า (มาระโก 1:11) พระบุตรอ้างอิงถึงพระบิดาว่าพระองค์ (ยอห์น 5:20) พระบุตรแยกแยะตัวเองจากพระบิดาและพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ยอห์น 15:26) หากประสงค์คำอธิบายเพิ่มเติมเรื่องตรีเอกานุภาพ คลิกที่นี่

[5] โคโลสี 1:17; กิจการ 17:28

[6] กิจการ 17:24; 1 กษัตริย์ 8:27

[7] ยอห์น 3:16

[8] 1 ยอห์น 3:1

[9] อิสยาห์ 41:10; มัทธิว 28:20; โยชูวา 1:9

[10] สดุดี 119:68; 145:9

[11] สดุดี 31:19, 68:10; อิสยาห์ 63:7; เยเรมีย์ 31:12

[12] โรม 8:28; สุดดี 84:11

[13] อิสยาห์ 55:9

[14] หากประสงค์คำอธิบายเพิ่มเติมเรื่องการไถ่บาป ดู หัวใจสำคัญ: ความรอด ตอนที่ 1-5 เริ่มต้นที่นี่

[15] 1 โครินธ์ 15:22

[16] กาลาเทีย 3:26

[17] 1 โครินธ์ 1:30

[18] 2 โครินธ์ 5:17

[19] เอเฟซัส 1:3

[20] 1 โครินธ์ 12:27

[21] โรม 8:17

[22] 1 โครินธ์ 3:16

[23] 2 โครินธ์ 5:17

[24] ฟิลิปปี 3:20

[25] แรนดี้ ฟราซีในหนังสือ Think, Act, Be Like Jesus (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์ซอนเดอร์แวน ค.ศ. 2014) หน้า 62-63

[26] 1 โครินธ์ 1:4-8; โคโลสี 1:12-14

[27] โรม 6:23

[28] ฟราซี ในหนังสือ Think, Act, Be Like Jesusหน้า 63

[29] เอเฟซัส 4:22-24