Sleep: A Life Essential

มกราคม 16, 2016

โดย มาเรีย ฟอนเทน

[การนอนหลับ: ปัจจัยของชีวิต]

คุณเคยรู้สึกหงุดหงิดไหมที่ต้องนอนหลับมากๆ เมื่อดูเหมือนว่าชั่วโมงที่นอนหลับ “แย่งชิง” เวลาที่คุณต้องการหรือจำเป็นต้องทำสิ่งต่างๆ คุณเคยนึกสงสัยไหมว่าเหตุใดพระเจ้าสร้างให้ร่างกายเราต้องนอนหลับมากๆ อันที่จริงแล้ว พระเจ้าสร้างให้รายบุคคลส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณหนึ่งในสามของชีวิตอยู่เฉยๆ ขณะที่โลกหมุนไป ฉันรู้ว่าฉันเคยนึกสงสัยเช่นนั้น โดยเฉพาะเมื่อดูเหมือนสิ่งต่างๆ ที่ต้องทำมีความสำคัญกว่าการนอนหลับหลายเท่า การนอนหลับอาจดูราวกับสิ่งฟุ่มเฟือยที่จะทำให้คุณรู้สึกดี แต่ก็เป็นสิ่งที่ฉันต้องสละเพื่อเห็นแก่สิ่งที่ฉันถือว่ามีความสำคัญมากกว่าหลายเท่า

เป็นการง่ายเหลือเกินที่จะตัดช่วงเวลาในชีวิตที่ดูเหมือนไม่ก่อเกิดผล ซึ่งแย่งชิงหลายชั่วโมงที่หาค่ามิได้ จากช่วงเวลาสั้นๆ ของเราที่นี่ เมื่อมองผิวเผิน ดูเหมือนว่าการนอนหลับจำกัดขอบเขตวัตถุประสงค์ของเรา ทำให้เราต้องละมือจากบางสิ่งที่ยังไม่แล้วเสร็จ ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ขัดสน และไม่เป็นไปตามความมุ่งมาดปรารถนา ในขณะที่เราหยุดพักเพราะอ่อนแรง รอให้ร่างกายเติมพลังใหม่

เมื่อตระหนักเช่นนี้ คงไม่น่าข้องใจที่บ่อยครั้งฉันตัดเวลานอนมากขึ้นทุกที เพื่อจัดการดูแลเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง ฉันตระหนักว่ามีผลตามมาจากการตัดเวลานอน ฉันต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าการนอนหลับไม่ใช่เพียงกิจกรรมที่ไม่จำเป็น ทว่าคือพื้นฐานความสมดุลของร่างกาย ซึ่งต้องรักษาไม่ให้ถูกบั่นทอนจนหมดสิ้นไป

ดังนั้น เมื่อฉันเริ่มประสบปัญหาสุขภาพบางอย่าง และเราอธิษฐาน พระองค์บอกว่าสิ่งหนึ่งที่ฉันต้องแก้ไข คือ การนอนหลับมากขึ้น นี่เป็นเรื่องที่ฉันรับไม่ค่อยได้ เพราะฉันไม่รู้ตัวเลยว่าสร้างภาวะนอนหลับไม่พอมาระยะหนึ่งแล้ว บ่อยครั้งฉันรู้สึกเหนื่อย แต่คิดว่าเป็นเพราะฉันอายุมากขึ้น ทำงานหนัก และร่างกายอ่อนเปลี้ยกว่าเมื่อก่อน

พระองค์บอกว่าฉันต้องพยายามเข้านอนเร็วขึ้น โดยเข้านอนก่อนเที่ยงคืนอย่างน้อยสองชั่วโมง เพราะการนอนหลับก่อนเที่ยงคืนมีประโยชน์กว่าการนอนหลับหลังเที่ยงคืน นอกจากนี้ พระองค์บอกว่าฉันต้องตื่นสายขึ้นด้วย

ฉันรู้ว่าถ้าพระองค์บอกเช่นนี้ ก็คงเป็นคำปรึกษาที่มีสติปัญญา นี่จึงกระตุ้นความสนใจให้ฉันค้นพบว่าเหตุใดพระองค์ถึงเห็นว่ารายละเอียดเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการนอนหลับเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คุณประโยชน์ของการนอนหลับคือหัวข้อใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากถกกันมาหลายปีแล้ว ถึงกระนั้น เมื่อฉันรวบรวมเหตุผลต่างๆ ว่าทำไมการนอนหลับจึงสำคัญมาก ฉันจึงตระหนักว่าการนอนหลับที่ถูกต้องมีความสำคัญ รวมถึงการนอนหลับให้เพียงพอ เมื่อมองจากภาพรวม

การนอนหลับมีผลกระทบเชิงบวกที่ทรงพลังต่อหลายแง่มุมของชีวิต มีการวิจัยค้นคว้าอย่างมากถึงผลกระทบของการนอนหลับ ซึ่งช่วยเติมพลังให้สมอง ปรับปรุงความจำ ช่วยเราให้อายุยืนขึ้น และเพิ่มพูนความคิดสร้างสรรค์ ช่วงเวลาพักผ่อนจะช่วยระงับการอักเสบในร่างกายที่เป็นอันตราย และปรับปรุงสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจโดยรวม ในการทำงาน การศึกษาเล่าเรียน และการเล่นสนุก การนอนหลับช่วยให้สมาธิแน่วแน่ ช่วยรักษาน้ำหนักที่เหมาะสม ลดความเครียด และช่วยหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ นอกจากนี้การนอนหลับช่วยระงับความหดหู่ใจ และมีคุณประโยชน์เชิงบวกอื่นๆ

ร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน คุณต้องนอนหลับมากน้อยแค่ไหน อาจแตกต่างไปจากฉัน แต่การนอนหลับมีความสำคัญต่อเราทุกคนแน่นอน ต่อไปนี้เป็นประเด็นเพิ่มเติม ซึ่งช่วยจูงใจเราให้ทำเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้แน่ใจว่าเราเห็นความสำคัญของส่วนที่จำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตส่วนนี้

  • น่าแปลกใจที่หัวคิดยังทำงานอยู่ ในขณะที่เรานอนหลับ ระหว่างที่นอนหลับเราจะเพิ่มความจำ หรือ“ฝึก”ทักษะที่ได้เรียนรู้ ขณะที่ตื่นอยู่ (นี่เป็นกระบวนการที่เรียกว่าการรวมพลัง)
  • ผลการศึกษาในปี ค.ศ. 2010 พบว่าซี-รีแอคทีฟโปรตีน ซึ่งกระตุ้นการอักเสบ และเกี่ยวโยงกับภาวะเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเป็นโรคหัวใจ ในผู้ที่นอนหลับคืนละหกชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น (การอักเสบมีความเชื่อมโยงกับโรคเส้นโลหิตแตกในสมอง เบาหวาน ไขข้ออักเสบ และการแก่ก่อนวัย) ...
  • นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และวิทยาลัยบอสตัน ค้นพบว่าดูเหมือนคนเราจะเสริมสร้างองค์ประกอบทางอารมณ์ด้านความจำ ในระหว่างที่นอนหลับ ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นกระบวนการเชิงสร้างสรรค์
  • เด็กอายุระหว่าง 10 ถึง 16 ปี ซึ่งหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ รวมไปถึงการกรน การหอบ และการหายใจที่ถูกขัดจังหวะประเภทอื่นๆ ในระหว่างที่นอนหลับ มีแนวโน้มมากกว่าว่าจะเกิดปัญหาเรื่องสมาธิและการเรียนรู้ ตามรายงานจากผลการศึกษาปี ค.ศ. 2010 ในวารสาร Sleep
  • การนอนหลับไม่เพียงพออาจส่งผลเป็นอาการที่เหมือนโรคสมาธิสั้นในเด็ก ดร.เดวิด ราโพพอร์ต กล่าวว่า ... “เด็กมีปฏิกิริยาจากการนอนหลับไม่พอ ซึ่งไม่เหมือนกับผู้ใหญ่” เขากล่าวเสริม “ขณะที่ผู้ใหญ่รู้สึกง่วง แต่มีแนวโน้มว่าเด็กจะสมาธิสั้น”
  • นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยชิคาโกพบว่าคนควบคุมอาหารซึ่งได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ จะมีไขมันลดลงมากกว่า คือ 56% ของน้ำหนักที่ลดลง เมื่อเทียบกับผู้ที่นอนหลับไม่พอ ซึ่งมวลกล้ามเนื้อจะลดลง
  • “การนอนหลับลดระดับความเครียดได้อย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น” ดร. เรย์มอนเด จีนน์ กล่าว “นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าการนอนหลับส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอล ซึ่งมีบทบาทสำคัญในโรคหัวใจ”
  • สำนักงานรักษาความปลอดภัยบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯ รายงานว่าในปี ค.ศ. 2009 ความเหนื่อยอ่อนคือสาเหตุอันดับแรกของอุบัติเหตุร้ายแรงจากรถตกถนน เพราะสมรรถภาพของคนขับ มากกว่าเมาแล้วขับ!
  • “การนอนหลับไม่พออาจส่งผลต่อความหดหู่ใจ” ดร.จีนน์กล่าว “การนอนหลับเพียงพอช่วยให้ผู้ที่อารมณ์หงุดหงิดลดความกลัดกลุ้มได้จริงๆ คุณจะมีอารมณ์คงที่มากขึ้น เมื่อนอนหลับเพียงพอ”[1]

การนอนหลับไม่เพียงพอส่งผลลัพธ์ยิ่งกว่าการขาดประสิทธิภาพในสิ่งที่คุณทำ เพราะอาจบั่นทอนสุขภาพหรือทำให้เสียชีวิตได้ ต่อไปนี้เป็นสองสามประเด็นเกี่ยวกับผลของการนอนหลับไม่เพียงพออย่างต่อเนื่อง

  • ภูมิคุ้มกันและเซลล์ป้องกันการติดเชื้อลดลง ในช่วงที่นอนหลับไม่เพียงพอ
  • การนอนหลับน้อยกว่าเจ็ดชั่วโมงต่อคืน ส่งผลที่เกี่ยวโยงกับภาวะเสี่ยงต่อการเป็นหวัดถึงสามเท่า
  • การนอนหลับไม่เพียงพอที่เรื้อรัง (นอนน้อยกว่าหกชั่วโมงต่อคืน) มีส่วนเกี่ยวโยงกับ

- ผิวหนังแก่ชรา
- เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงถึงสี่เท่า สำหรับวัยกลางคนและผู้สูงอายุ
- มีความเสี่ยงสูงขึ้น 50% ที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมีส่วนเกี่ยวโยงบางอย่างกับโรคมะเร็งอื่นๆ
- ความดันโลหิตสูง
- มีโอกาสมากกว่า 48% ที่จะเกิดภาวะหรือเสียชีวิตจากโรคหัวใจ
- อัตราเจริญพันธุ์ลดลง

  • การนอนหลับไม่เพียงพอที่เรื้อรังอาจนำไปสู่การเผาผลาญกลูโคสลดลงมากถึง 30-40%
  • การนอนหลับช่วยขับโปรตีนที่เป็นอันตรายต่อสมอง ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น “เมื่อคุณนอนหลับไม่เพียงพอ คุณจะมีสมองที่สกปรก”
  • การนอนหลับไม่เพียงพออาจเกิดผลเสียทางด้านจิตใจ เพราะการนอนหลับช่วยควบคุมการไหลเวียนของอะดรีนาลีน โดพามีน เซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับอารมณ์และพฤติกรรม
  • หนึ่งในผลการศึกษาโดยนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระบุว่าวัยรุ่นที่เข้านอน 22:00 น. หรือเร็วกว่านั้น มีข่ายที่จะประสบภาวะซึมเศร้าหรือคิดฆ่าตัวตายน้อยกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่นอนดึกหลังเที่ยงคืนเป็นประจำ
  • การนอนหลับหกชั่วโมงหรือน้อยกว่า เพิ่มความเสี่ยงถึงสามเท่าต่ออุบัติเหตุจากการขับรถในขณะที่ง่วง

มีการประเมินว่าการนอนหลับไม่เพียงพอทำให้ธุรกิจในอเมริกาต้องเสียค่าใช้จ่าย 63 พันล้านเหรียญต่อปี ค่าใช้จ่ายสูงที่สุดเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่าการนอนหลับไม่เพียงพอทำให้ความปลอดภัยลดลง และมีผลต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ ดี เอ คาร์สัน เขียนไว้ว่า

“เราเป็นมนุษย์ที่ครบถ้วน และสลับซับซ้อน การมีตัวตนของเราเกี่ยวโยงกับความผาสุกทางวิญญาณ มุมมองความคิด สัมพันธภาพกับผู้อื่น รวมถึงสัมพันธภาพกับพระเจ้า บางครั้งการทำตามแบบอย่างของพระเจ้ามากที่สุดก็คือ การพักผ่อนนอนหลับให้เต็มที่ ไม่ใช่อธิษฐานตลอดคืน ทว่านอนหลับ ผมไม่ปฏิเสธแน่นอนว่ามีบางโอกาสที่ควรจะอธิษฐานตลอดคืน ผมเพียงยืนกรานว่าตามปกติ วินัยทางจิตวิญญาณระบุว่าคุณมีพันธะหน้าที่ในการพักผ่อนนอนหลับตามที่ร่างกายต้องการ”[2]

ข้อความจาก ดี เอ คาร์สัน ดังกล่าวนี้ คล้ายคลึงกับสิ่งที่พระองค์ได้แสดงต่อฉันก่อนหน้า เช่นเดียวกับที่การอธิษฐานมีความสำคัญต่อชีวิตเรา ถ้าหากเรานอนหลับไม่เพียงพอ ก็ยากขึ้นอีกหลายเท่าที่จะอธิษฐานอย่างมีประสิทธิผล เมื่อสมองตื้อ และร่างกายอ่อนเพลีย

ท้ายสุด ข้อคิดเรื่องคริสเตียนจำเป็นต้องพักผ่อนนอนหลับ จากจอห์น ไพเพอร์ กล่าวว่า “ไม่มีเหตุผลที่อนาคตของผมดูมืดมัวมากขึ้น เมื่อผมนอนหลับสี่หรือห้าชั่วโมงติดกันหลายคืน แต่นั่นไม่ตรงประเด็น นั่นเป็นข้อเท็จจริง ผมต้องดำเนินชีวิตภายในขอบเขตของข้อเท็จจริง ผมขอแนะนำให้คุณนอนหลับเพียงพอ เพื่อเห็นแก่การที่คุณจะเข้าถึงพระเจ้าและคำสัญญาของพระองค์ได้อย่างเหมาะสม”[3]

ฉันขอฝากบางประเด็นที่ได้รับจากพระองค์ในคำพยากรณ์ไว้กับคุณ ในหัวข้อที่สำคัญอย่างยิ่งเรื่องการค้นหาความสมดุลที่ถูกต้องในชีวิตเกี่ยวกับการนอนหลับ

พระเยซู “การนอนหลับส่งผลดีต่อจิตวิญญาณเจ้า ช่วงเวลาที่นอนหลับเปิดโอกาสให้มีการเชื่อมสัมพันธ์อย่างอิสระ โดยที่ไม่มีอะไรมาขัดขวาง เป็นช่วงเวลาการพักผ่อน ใคร่ครวญ สรุปผล และพัฒนาความเข้าใจที่ดีขึ้น

“ในทางร่างกาย การนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายมีโอกาสซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เสริมสร้างแหล่งพละกำลังทางกาย เพื่อเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้โรคภัยไข้เจ็บ สร้างกล้ามเนื้อหรือส่วนอื่นๆ ที่อ่อนแอหรือสึกหรอ และกำจัดของเสียที่ร่างกายไม่สามารถขับออกไปในขณะที่ตื่น

“ในทางความคิด การนอนหลับเป็นช่วงเวลาจัดระเบียบทุกสิ่งที่สมองเฝ้าสังเกตและประสบ ระหว่างที่ตื่นก่อนหน้านั้น โดยประเมินข้อสรุป และหยั่งความเป็นไปได้ มีความจริงอย่างมากในคำกล่าวทั่วไปที่ผู้คนใช้ เมื่อยังตัดสินใจไม่ถูก ‘ขอไปนั่งคิดนอนคิดก่อนนะ’ ความคิด ความรู้สึก และข้อมูลทุกอย่างในวันนั้น ต้องแยกแยะและจัดระเบียบ เพื่อจะได้นำมาใช้อย่างมีประสิทธิผล

“ต้องอาศัยเวลาและการมุ่งเน้นที่หัวคิด ถึงจะเข้าใจ ตั้งข้อสรุปจากทุกสิ่งที่ประสบ และหยั่งดูกับเหตุการณ์ในอดีต นั่นจะมีประสิทธิผลสูงสุด เมื่อเจ้านอนหลับ การนอนหลับช่วยให้เข้าใจสิ่งที่เข้ามาในชีวิต และพัฒนาวิธีนำความรู้หรือประสบการณ์มาใช้อย่างมีประสิทธิผล ถ้าเจ้านอนหลับไม่พอ ร่างกายและสภาพจิตใจของจะเริ่มเสื่อมโทรม เพราะการปฏิบัติบางส่วนที่จำเป็นอย่างยิ่ง เกิดขึ้นเมื่อเจ้านอนหลับ

“บางครั้งเหตุฉุกเฉินทำให้ต้องอดหลับอดนอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การตัดเวลานอนวันแล้ววันเล่าต่างหากที่ก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรง โดยไม่ต้องเอ่ยถึงการช่วงชิงความสุข สุขภาพ แรงจูงใจ และสันติสุขไปจากตนเองอย่างมากด้วย เพราะว่าเจ้าหมดเรี่ยวแรง”

ข้าจะเอนกายลงนอนหลับด้วยความสงบสุข เพราะพระองค์ผู้เดียว ทำให้ข้าพักอาศัยอย่างปลอดภัย — สดุดี 4:8

เมื่อเอนกายลง เจ้าจะไม่กลัว เมื่อนอนลง เจ้าจะหลับสบาย — สุภาษิต 3:24

เป็นการเหนื่อยเปล่าที่ลุกขึ้นมาแต่เช้ามืด ทำงานจนดึกดื่น ตรากตรำเพื่อปากท้อง เพราะพระเจ้าให้ผู้ที่พระองค์รักหลับสบาย — สดุดี 127:2


[1] http://www.health.com/health/gallery/0,,20459221,00.html

[2] http://headhearthand.org/blog/2014/05/14/arrogance-of-ignoring-our-need-of-sleep. ข้อความหยิบยกมาจาก Scandalous: The Cross and Resurrection of Jesus โดย ดี เอ คาร์สัน (ครอสเวย์ ค.ศ. 2010) หน้า 147

[3] จากคำบรรยาย โดย จอห์น ไพเพอร์ (ค.ศ. 1995) เกี่ยวกับชาร์ล สเปอร์เจียน ไม่มีข้ออ้างอิงแหล่งที่มา