เรื่องที่พระเยซูบอกเล่า — บทนำ

พฤษภาคม 14, 2013

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

พระเยซูเป็นยอดปรมาจารย์ ถ้อยคำของพระองค์มีการกระทำสนับสนุน และเปลี่ยนชีวิตจำนวนนับไม่ถ้วน ระหว่างที่พระองค์ประกาศข่าวสารในโลกนี้ และทำเช่นนั้นต่อไปตลอดสองสหัสวรรษ คำสอนและแรงชักจูงจากชีวิตของพระองค์ ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติอย่างไม่มีอะไรเสมอเหมือน ผู้คนหลายพันล้านเลียนแบบชีวิตและความเชื่อของเขา ตามถ้อยคำที่พระองค์กล่าวไว้กว่า 2,000 ปีมาแล้ว ถ้อยคำและคำสอนดังกล่าวที่บันทึกอยู่ในพระกิตติคุณ ได้เปลี่ยนความเข้าใจที่มนุษย์มีต่อพระองค์ และสื่อสัมพันธ์ของเรากับพระองค์อย่างกลับตาลปัตร ถ้อยคำนั้นบอกกล่าวกับผู้คนในสมัยพระเยซู และยังคงพูดกับจิตใจผู้มีความเชื่อและผู้ที่แสวงหาความจริงในทุกวันนี้

ชีวิต การงาน ความตาย และการฟื้นคืนชีพของพระคริสต์ ก่อร่างพื้นฐานของคริสตศาสนา รวมทั้งคำสอนและหลักความเชื่อของคริสเตียน ทว่าพระเยซูไม่ได้สอนหลักความเชื่อเหมือนกับที่สอนกันในปัจจุบัน พระองค์สอนเหมือนกับผู้เขียนบทละคร หรือกวี พระองค์ใช้คำอุปมาอุปไมย[1] คำเปรียบเทียบ[2] คำกล่าวเกินจริง และเรื่องราวน่าตื่นเต้น[3]

หนึ่งในวิธีที่พระเยซูใช้บ่อยที่สุด เพื่อถ่ายทอดข่าวสารของพระองค์ คือการเล่าเรื่องอุปมาอุปไมย อันที่จริงแล้ว หนึ่งในสามของถ้อยคำจากพระเยซูที่บันทึกไว้ในพระกิตติคุณสัมพันธ์ ได้แก่ มัทธิว มาระโก และลูกา ก็เป็นคำอุปมาอุปไมย[4] อุปมาอุปไมยมีประสิทธิภาพเป็นพิเศษ เพราะว่าเป็นเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงกับผู้ฟัง และดึงดูดความสนใจ บางครั้งเรื่องเล่าก็น่าตกใจ หรือท้าทายแบบแผนทางวัฒนธรรมและศาสนาของสมัยนั้น บ่อยครั้งผู้ฟังต้องประหลาดใจ เมื่อเรื่องเล่าดำเนินไปในแนวทางที่ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้า และมีผลลัพธ์ที่ไม่ได้คาดหมาย

จากเรื่องเล่า คือคำอุปมาอุปไมยเหล่านี้ พระเยซูสอนถึงอาณาจักรของพระเจ้า โดยบ่งบอกให้เห็นคุณลักษณะของพระเจ้า ซึ่งเผยให้เห็นว่าพระเจ้าเป็นเช่นไร และบ่งบอกถึงสิ่งที่พระเจ้าคาดหมายจากผู้คน[5]

แม้ว่าเรื่องอุปมาอุปไมยที่พระเยซูเคยเล่า จะพูดกับจิตใจเราในปัจจุบัน ทว่าความหมายและองค์ประกอบดั้งเดิมที่น่าประหลาดใจต้องสูญหายไป เพราะว่าผู้ฟังในปัจจุบันไม่ได้ดำเนินชีวิตอยู่ในปาเลสไตน์ ตอนสมัยศตวรรษที่หนึ่ง

ดังที่ผู้ประพันธ์ท่านหนึ่งเขียนไว้ว่า

“เมื่ออ่านครั้งแรกก็ง่ายที่จะมองข้ามคำอุปมาอุปไมยไปเสีย โดยถือว่าเป็นเรื่องเล่าที่เรียบง่ายมาก กล่าวถึงคำเชิญไปงานเลี้ยง ชาวประมงเหวี่ยงแหจับปลา พวกผู้หญิงอบขนมปัง วัยรุ่นจากบ้านไป และลูกจ้างที่มีปัญหากับเจ้านาย เนื่องจากว่าเป็นสถานการณ์ที่เราทุกคนคงรู้ดีจากประสบการณ์ จึงดูเหมือนว่าคำอุปมาอุปไมยนั้นเข้าถึงง่ายกว่าที่เป็นจริง อย่างไรก็ตาม ผู้ฟังรุ่นแรกตระหนักในไม่ช้าว่า เบื้องหลังภาพลักษณ์เรียบ ๆ คำอุปมาอุปไมยมีมิติที่ไม่คาดหมายแอบแฝงอยู่ แทนที่จะเป็นตัวอย่างภาพประกอบสภาพที่แท้จริง ทว่าแฝงข่าวสารที่น่าประหลาดใจเอาไว้ เมื่อเราวิเคราะห์ในเชิงลึก เราก็ค้นพบว่าคำอุปมาอุปไมยประกอบด้วยข้อความบางส่วนที่สลับซับซ้อนและมีปริศนามากที่สุดในพระคัมภีร์”[6]

พระเยซูเป็นชาวยิวในสมัยศตวรรษที่หนึ่ง และพูดคุยกับชาวยิวในสมัยศตวรรษที่หนึ่ง พระองค์ใช้ภาษาสามัญในยุคนั้น โดยใช้ถ้อยคำ วลี และสำนวน ซึ่งชาวยิวสมัยเดียวกันเข้าใจได้ดี เมื่อพระเยซูพูดถึงชาวซะมาเรีย พระองค์ทราบว่าผู้ฟังชาวยิวเหยียดหยามชาวซะมาเรีย เมื่อพระเยซูเล่าคำอุปมาอุปไมยให้ฟังที่บ้านซีโมน ซึ่งเป็นฟาริสี มีหญิงบาปอยู่ในห้องอาหาร ซึ่งซีโมนคงไม่มีวันเชิญมาที่บ้านเขา พระเยซูทราบดีทีเดียวว่าทำไมเธอจึงได้รับอนุญาตให้เข้ามา และคนอื่นก็ทราบดี เมื่อพระองค์พูดถึงข้าวสาลีและวัชพืช ขนมปังมีเชื้อ คนดูแลทรัพย์สินและเจ้านาย ทุกคนที่พระองค์พูดด้วยเข้าใจว่าพระองค์กล่าวถึงอะไร เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และภาษาพูดของชาวยิวสมัยศตวรรษที่หนึ่ง

ถ้าคุณเป็นชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย หรืออินเดีย คุณก็จะคุ้นกับกีฬาคริกเก็ต คุณจะทราบคำศัพท์เช่น โบเลอร์ ซิลลีมิดออน ดูสรา และ บาวน์เซอร์ ว่าคืออะไร ถ้าคุณเป็นชาวสหรัฐฯ และคุณชอบเบสบอล คุณก็จะทราบว่าเคิร์ฟบอล สไลเดอร์ ดับเบิลเพลย์ ชอร์ทสต็อพ และ มิทท์ คืออะไร คุณทราบเพราะว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของคุณ ถ้ามีคนเล่าเรื่องให้คุณฟัง และใช้คำพวกนั้น หรือกล่าวถึงเกมบางแง่มุม ขณะที่พูดคุยกัน คุณก็จะเข้าใจ ทว่าคนที่ไม่คุ้นกับกีฬาดังกล่าว ก็คงไม่เข้าใจหรือไม่เห็นความแตกต่างเล็กๆ น้อย ๆ

ในทำนองเดียวกัน คนที่อยู่ในปาเลสไตน์สมัยศตวรรษที่หนึ่ง เข้าใจคำศัพท์ที่พระเยซูใช้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่าพวกเราซึ่งมีชีวิตอยู่กว่า 2,000 ปีต่อมา เมื่อคุณอ่านคำอุปมาอุปไมยของพระเยซู ก็มีส่วนช่วยได้ที่จะทราบรายละเอียดสภาพแวดล้อมซึ่งพระองค์กล่าวถึง และสิ่งที่ผู้ฟังรุ่นแรกมีความเข้าใจ

นี่มีประโยชน์เป็นพิเศษ เมื่อเราพิจารณาว่าคำอุปมาอุปไมยไม่ได้ให้ข้อมูลมากนัก คำอุปมาอุปไมยเป็นเรื่องสั้น ๆ ซึ่งไม่ได้ใช้คำพูดมากเกินกว่าที่จำเป็น โดยทั่วไปแล้วไม่รวมรายละเอียดปลีกย่อย เมื่ออธิบายถึงผู้คน แทบไม่มีอะไรบ่งบอกถึงรูปกายภายนอก ความสัมพันธ์ หรือประวัติส่วนตัวของเขา เรารับทราบเฉพาะข้อพื้นฐาน ยกเว้นเรื่องเกี่ยวกับลาซารัส และอับราฮาม ในลูกา 16:19-31 ไม่เอ่ยชื่อใคร ดังนั้นจึงไม่ได้ระบุชื่อรายบุคคล ไม่ได้เอ่ยถึงการกระทำ หรือเอ่ยถึงโดยสังเขป สภาพแวดล้อมของเรื่องถูกละไว้ให้ผู้ฟังคิดกันเอง[7]

คำอุปมาอุปไมยมีความเรียบง่ายอยู่ในตัว มักจะมีตัวประกอบไม่มากไปกว่าสองคนหรือสองกลุ่มในฉากเดียวกัน ถึงแม้ว่าบิดาในลูกาบทที่ 15 มีบุตรสองคน แต่ไม่ได้พูดคุยกับทั้งสองคนในเวลาเดียวกัน ทว่าพูดคุยกับคนใดคนหนึ่ง เมื่อเอ่ยถึงคนจำนวนมาก เช่น คำอุปมาอุปไมยเรื่องงานเลี้ยง[8] ซึ่งคนจำนวนมากได้รับเชิญไปงานเลี้ยง แต่เรื่องเล่าเน้นเฉพาะสามคนในแขกที่ได้รับเชิญ[9]

คำอุปมาอุปไมยของพระเยซูสะท้อนถึงชีวิตคนธรรมดาสามัญ เช่น ชาวนา ผู้เลี้ยงแกะ พวกผู้หญิง บิดาและบุตร เจ้านายและคนรับใช้ เป็นนิยายจากชีวิตจริงของคนทั่วไปในสมัยพระคริสต์ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้พรรณนาเหตุการณ์โดยละเอียดเสมอไป บางเรื่องบอกเล่าตามที่เกิดขึ้นจริง บางเรื่องไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตัวอย่างการพรรณนาที่ไม่ใช่สภาพความเป็นจริงได้แก่ ชายที่เป็นหนี้ 10,000 ตะลันต์ ซึ่งเทียบเท่าทองหรือเงินกว่า 200 ลูกบาศก์ตัน คำอุปมาอุปไมยนี้จงใจขยายความเกินจริง หรือบ่อยครั้งกล่าวถึงไว้ว่าเป็นอติพจน์ ซึ่งมีคำนิยามว่า คือ การตั้งใจกล่าวเกินจริงเพื่อเน้นย้ำความหมาย ซึ่งในเนื้อหานี้ช่วยบ่งบอกถึงการให้อภัยของพระเจ้าที่เหลือคณา[10] การขยายความเกินจริงเพื่อเน้นย้ำความหมายเช่นนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในข้อเขียนและภาษิตของชาวยิว

ทำไมจึงใช้คำอุปมาอุปไมย คำอุปมาอุปไมยมีคุณค่าอย่างไร ทุกคนชอบเรื่องเล่า พระเยซูเล่าเรื่องเพื่อดึงความสนใจของผู้ฟัง และดลใจให้เขานำประเด็นที่กล่าวไว้ในคำอุปมาอุปไมยไปนึกคิด เรื่องราวที่พระเยซูวาดภาพให้เห็นด้วยถ้อยคำ บ่อยครั้งผู้ฟังต้องตัดสินพฤติกรรมของตัวละครตามหลักจริยธรรม แล้วก็ตัดสินในทำนองเดียวกันเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตและความศรัทธาของเขาเอง

คำอุปมาอุปไมยบางเรื่องเริ่มต้นด้วยคำถาม เช่น “คนใดในพวกท่าน...” หรือ “ท่านคิดอย่างไร...” คำอุปมาอุปไมยบางเรื่องปิดท้ายด้วยคำถาม คำถามได้รับการออกแบบมาให้กระตุ้นความคิด เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตจิตใจผู้ฟัง บางครั้งคำอุปมาอุปไมยไม่มีบทสรุป หรือผลลัพธ์สุดท้าย เรื่องจบแบบเปิดท้ายไว้ให้คนฟังจับจุดเอง[11] ตัวอย่างเช่น เราไม่ทราบว่าพี่ชายในคำอุปมาอุปไมยเรื่องลูกผู้หลงผิด ตัดสินใจเลือกอย่างไรในตอนจบ[12]

บ่อยครั้งคำอุปมาอุปไมยเสนอแง่คิดในทางที่กลับกันกับที่ผู้ฟังคาดหมาย คนเก็บภาษีซึ่งเป็นที่เกลียดชัง ดูมีความชอบธรรม แทนที่จะชาวฟาริสี ส่วนชาวซะมาเรียคือเพื่อนบ้านที่แท้จริง แทนที่จะเป็นปุโรหิตหรือชาวเลวี บทสรุปดังกล่าวกลับกันกับระเบียบแบบแผน นี่ดลใจให้ผู้ฟังเล็งเห็นในแง่มุมที่แตกต่างไป โดยนึกข้องใจแง่คิดของเขา นี่มอบความท้าทายให้เปลี่ยนแปลง

ประเด็นสำคัญมักจะเป็นตอนปิดท้ายคำอุปมาอุปไมย คล้ายกับมุขเด็ดในขำขันที่จะออกมาตอนจบ เรื่องเล่าเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจ ส่วนตอนจบจะบ่งบอกประเด็นสำคัญ

ถึงแม้ว่าคนที่ได้ยินได้ฟังคำอุปมาอุปไมยในศตวรรษที่หนึ่ง จะเข้าใจภาษา วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียม สำนวนและการแสดงออก แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาเข้าใจประเด็นของคำอุปมาอุปไมยเสมอไป บางครั้งแม้แต่สาวกของพระเยซูก็ต้องถามพระองค์ว่าคำอุปมาอุปไมยนั้นหมายความว่าอย่างไร ประเด็นทางวิญญาณที่อยู่ในคำอุปมาอุปไมยไม่ชัดเจนเสมอไป ผู้คนต้องคิดคำนึงถึงความหมาย

คำอุปมาอุปไมยหลายอย่าง พร้อมกับคำกล่าวอื่น ๆ ของพระเยซู บ่งบอกออกมาในรูปบทกลอน ตามแบบฉบับบทกลอนของฮีบรูที่เรียกว่า “การเปรียบเทียบ” หรือข้อคิดที่มีคำสัมผัส ตลอดประวัติศาสตร์ของชาวฮีบรู ข้อพระคัมภีร์และคำสอนของศาสนายิว ถ่ายทอดต่อกันมาแบบปากต่อปาก จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อเอื้ออำนวยการท่องจำ ส่วนมากจึงบ่งบอกเป็นบทกลอน ด้วยเหตุผลเดียวกัน บ่อยครั้งคำสอนและคำอุปมาอุปไมยของพระเยซูก็เป็นบทกลอนในรูปแบที่คล้ายคลึงกัน

ในพระกิตติคุณโยฮัน ไม่มีคำอุปมาอุปไมย ส่วนในมัทธิว มาระโก และลูกา มีคำอุปมาอุปไมยประมาณ 37 ถึง 65 เรื่อง สุดแล้วแต่ว่าจัดประเภทไว้อย่างไร ผู้รอบรู้กำหนดคำนิยามไว้ต่าง ๆ กัน ดังนั้นการจัดประเภทคำอุปมาอุปไมยจึงแตกต่างกันไป

พระกิตติคุณมาระโกมีคำอุปมาอุปไมยน้อยที่สุด คือประมาณหกเรื่อง ส่วนพระกิตติคุณมัทธิวและลูกา รวมทั้งคำอุปมาอุปไมยในมาระโกส่วนใหญ่ บอกเล่าคำอุปมาอุปไมยบางเรื่องที่เหมือนกัน มัทธิวมีคำอุปมาอุไมยที่ไม่เหมือนในหนังสือบทอื่นอยู่สิบสองเรื่อง ส่วนในลูกามีสิบแปดเรื่อง ทั้งมัทธิวและลูกาจัดกลุ่มคำอุปมาอุปไมยไว้ตามหัวข้อเรื่อง

พระเยซูไม่ใช่ปรมาจารย์คนแรกหรือคนเดียวที่ใช้คำอุปมาอุปไมย ในพระคัมภีร์เดิมและในข้อเขียนของชาวยิวก่อนศตวรรษที่หนึ่ง มีคำอุปมาอุปไมยบางเรื่อง และมีข้อเขียนที่คล้ายคำอุปมาอุปไมย ทว่ามีน้อยเรื่องที่คล้ายกับคำอุปมาอุปไมยที่พระเยซูเล่าให้ฟัง[13] ในข้อเขียนของกรีกและโรมันยุคแรก ๆ มีการใช้คำอุปมาอุปไมย ข้อเขียนที่คล้ายคำอุปมาอุปไมย และเรื่องเปรียบเทียบอยู่บ้าง แต่ก็แตกต่างอย่างชัดเจนจากคำอุปมาอุปไมยของพระเยซู ทว่าบางส่วนใช้รูปแบบที่คล้ายคลึงกัน

ผู้เขียนสาส์นในพระคัมภีร์ไม่ได้ใช้คำอุปมาอุปไมยเป็นวิธีสอนโดย ในสาส์นต่าง ๆ มีการเปรียบเทียบเล็กน้อย เช่น 1 โครินธ์ 9:26-27[14]  ส่วนท่านเปาโลให้เรื่องของซาราห์กับเฮการ์ไว้อ่านเปรียบเทียบ[15] ทว่าไม่มีอะไรคล้ายคลึงกับคำอุปมาอุปไมยของพระเยซู[16]

ข้อเขียนของชาวยิวในเวลาต่อมา นับจากศตวรรษที่สองถึงศตวรรษที่เจ็ด มีคำอุปมาอุปไมยมากมาย คำอุปมาอุปไมยของรับบีในสมัยนั้นคล้ายคลึงกับของพระเยซู นักวิชาการหลายคนทึกทักว่าพระเยซูเอาคำอุปมาอุไมยของพระองค์มาจากรับบี ทว่าไม่มีคำอุปมาอุไมยของรับบีเรื่องใดที่พิสูจน์ได้อย่างแน่นอนว่ามีอยู่ก่อนหน้างานประกาศของพระเยซู

ดังนั้นถึงแม้ว่าพระเยซูไม่ใช่ผู้คิดค้นคำอุปมาอุปไมยขึ้นมา แต่ไม่มีใครในประวัติศาสตร์ตลอด ที่ใช้คำอุปมาอุปไมยอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพเหมือนกับพระองค์

คำอุปมาอุปไมยของพระเยซูควรค่าต่อการศึกษา พระเยซูถ่ายทอดข่าวสารเกี่ยวกับพระเจ้า สื่อสัมพันธ์ที่มีกับพระองค์และผู้อื่น เกี่ยวกับชีวิตและวิธีที่ควรจะดำเนินชีวิต ผ่านคำอุปมาอุปไมย การอ่านคำอุปมาอุปไมยด้วยความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในศตวรรษที่หนึ่ง จะช่วยให้ข่าวสารของพระองค์ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งช่วยให้หยั่งรู้ว่าเหตุใดพระองค์ถึงประสบกับการต่อต้านอย่างมาก และเหตุใดศัตรูฝ่ายศาสนาจึงต้องการสังหารพระองค์ นอกจากนี้ยังช่วยให้เล็งเห็นว่าเหตุใดคนจำนวนมากจึงรักและติดตามพระองค์

ข่าวสารที่พระเยซูถ่ายทอดผ่านคำอุปมาอุปไมย ทำให้ศัตรูฝ่ายศาสนาขุ่นเคือง ข่าวสารดังกล่าวเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของเขา ขณะเดียวกันข่าวสารที่แฝงอยู่ในเรื่องเล่าของพระองค์ ก็ดึงดูดผู้ที่หลงทาง และผู้ที่แสวงหาความจริง คำอุปมาอุปไมยชี้ให้เห็นความรักและความเมตตาของพระเจ้า งานมอบหมายที่พระองค์มอบไว้ในจิตใจชายหญิงและเด็กทุกคน การที่พระองค์เต็มใจยอมเสียค่าแลกเปลี่ยนความรักอันสูงส่ง เพื่อช่วยให้มนุษยชาติได้รับการไถ่บาป ความจริงที่แสนวิเศษนี้ดลใจให้ผู้คนรักพระเยซู กลายเป็นผู้ติดตามและสาวกของพระองค์ จนถึงกับยอมตายเพื่อนามของพระองค์ ถ้อยคำของพระองค์นำมาซึ่งผลลัพธ์เช่นเดียวกันในทุกวันนี้

คำอุปมาอุปไมยท้าทายผู้ฟัง เมื่อเราศึกษา เราก็เป็นผู้ฟัง คำอุปมาอุปไมยของพระเยซูไม่ใช่แค่เรื่องที่เล่าให้ฟังสนุก ๆ ทว่าเป็นเสียงพระเยซูที่บอกกล่าวถึงข่าวสารของพระองค์ เรื่องเล่าสั้น ๆ นี้มีความมุ่งหมายเชิงลึก ความมุ่งหมายนั้นคือการให้เราแต่ละคนหันไปหาพระเจ้า และหันไปสู่การดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับความจริงของพระองค์ เมื่อเราตั้งใจฟังสิ่งที่พระเยซูกล่าวในคำอุปมาอุปไมย เราจะเผชิญหน้ากับการตอบคำถามเดียวกันกับผู้ฟังรุ่นแรก แสงสว่างจะส่องเข้ามาสู่ชีวิตเรา ขณะที่เราเผชิญหน้ากับความสำนึกว่าเราอาจเป็นเหมือนพี่ชายคนโต หรือคนรวยผู้โง่เขลาที่กักตุนความมั่งคั่ง หรือปุโรหิตกับชาวเลวี แทนที่จะเป็นชาวสะมาเรีย

เช่นเดียวกับการศึกษาพระคำของพระเจ้าทุกครั้ง เมื่อเราอ่านและศึกษาคำอุปมาอุปไมย ก็มีประโยชน์ที่จะใช้เวลานึกคิดเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นในนั้น โดยเปิดโอกาสให้ความจริงทางวิญญาณบอกกล่าวกับเรา นี่ควรจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตใจ ชีวิต ทัศนคติ มุมมอง และพฤติกรรมของเรา

นอกจากนี้คำอุปมาอุปไมยยังแสดงให้เห็นวิธีต่าง ๆ ที่พระเยซูถ่ายทอดให้เห็นว่าพระเจ้ารักมนุษยชาติอย่างสุดซึ้งเพียงใด และการที่พระองค์เต็มใจไปจนถึงที่สุด เพื่อแสดงให้เราเห็นความรักนั้น รวมทั้งความยินดีที่พระองค์ได้รับ เมื่อบุคคลใดเริ่มมีสื่อสัมพันธ์กับพระองค์ เราจะได้ยินได้ฟังพระเยซูพรรณนาถึงพระบิดา และคำพรรณนาดังกล่าวมอบความเข้าใจครั้งใหม่ว่าพระเจ้าเป็นเช่นไร

ในบทความชุดนี้ เกี่ยวกับเรื่องที่พระเยซูบอกเล่าให้ฟัง คือ คำอุปมาอุปไมย ผมหวังว่าจะบอกเล่าสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากผู้ประพันธ์และอาจารย์หลายท่าน ผู้ซึ่งช่วยให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ต่อการอ่านคำอุปมาอุปไมยในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด จากแง่คิดของศตวรรษที่หนึ่ง

ในการเตรียมเรื่องชุดนี้แต่ละตอน ผมเปรียบเทียบข้อเขียนของผู้ประพันธ์ลือชื่อสิบสี่ท่าน ซึ่งแต่ละท่านอ้างอิงถึงผู้ประพันธ์และผู้รอบรู้นับร้อยคน บางครั้งผู้ประพันธ์เหล่านี้ไม่เห็นพ้องต้องกัน บางครั้งก็ตีความหมายคำอุปมาอุปไมยแตกต่างกันไป ผมไม่ได้ถกถึงความเห็นที่แตกต่างกัน หรือไม่ได้เจาะลึกถึงรายละเอียด เพราะถ้าทำเช่นนั้น จะทำให้เรื่องชุดนี้เป็นแง่วิชาการมากเกินไป ผมครอบคลุมข้อมูลทางเทคนิคไว้บ้างเกี่ยวกับคำอุปมาอุปไมยในบทนำนี้ เพื่อเป็นฉากประกอบการศึกษาคำอุปมาอุปไมย ซึ่งจะเริ่มต้นในตอนต่อไปของเรื่องชุดนี้

มีการคาดคะเนอยู่บ้างเสมอ เมื่อเรามองย้อนหลังไปสู่ประวัติศาสตร์ โดยที่พยายามปะติดปะต่อวัฒนธรรม ประสบการณ์ และความเข้าใจของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ 2,000 ปีมาแล้ว เมื่อคุณพยายามหยั่งรู้ถึงเรื่องที่พระเยซูเล่าให้ฟัง บางครั้งก็จำเป็นต้องหาข้อสรุป หรือคำอธิบายที่เป็นไปได้ จากสิ่งที่คำอุปมาอุปไมยบอกกล่าว ซึ่งไม่มีระบุไว้อย่างเฉพาะเจาะจงในพระกิตติคุณ เมื่อคำนึงว่าคำอุปมาอุปไมยเป็นเรื่องสั้น ๆ และหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลที่ไม่จำเป็น สมมุติฐานก็กลายเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้เราเข้าใจสภาพแวดล้อมในศตวรรษที่หนึ่ง สมมุติฐานใดที่ผมนำเสนอในเรื่องชุดนี้ มอบให้ด้วยความรอบคอบ หลังจากการอ่านและเปรียบเทียบสิ่งที่ผมได้อ่านผู้ประพันธ์ต่าง ๆ บ่งบอกไว้ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมนำเสนอเป็นการตีความหมายที่ถูกต้องตามจุดประสงค์ของคำอุปมาอุปไมย คุณมีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นพ้องกับผม เมื่อคุณศึกษาค้นคว้าดู คุณอาจพบการตีความหมายที่คิดว่าดีกว่า ผมไม่ได้มีเป้าหมายที่จะจำกัดการตีความหมายหรือความเข้าใจคำอุปมาอุปไมยไว้ในกรอบใดโดยเฉพาะ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ผมมีเป้าหมายที่จะช่วยขยายหรือเพิ่มพูนความเข้าใจในข่าวสารที่พระเยซูถ่ายทอดไว้ ว่าผู้ฟังรุ่นแรกมีความเข้าใจอย่างไร

ในข้อเขียนชุดนี้ คุณจะพบนิยามของบางคำ ซึ่งอาจไม่คุ้นหู รวมทั้งดรรชนีที่มีข้ออ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม

ผมขออธิษฐานว่าเรื่องชุดนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจคำอุปมาอุปไมยมากยิ่งขึ้น โดยเสริมสร้างศรัทธา และส่งเสริมให้คุณชวนคนอื่นเรียนรู้ และทำความรู้จักเป็นส่วนตัวกับพระเยซู พระผู้ช่วยให้รอดที่แสนวิเศษ และผู้ไถ่บาปที่ได้รับพรสูงสุด

ขอพระเจ้าอวยพรคุณ


[1] อุปลักษณ์: เป็นมโนในการทำความเข้าใจของสิ่งหนึ่ง ด้วยอีกสิ่งหนึ่ง อุปลักษณ์ เป็นการวาดภาพทางภาษาซึ่งเปรียบเทียบของสองสิ่งหรือแนวคิดสองอย่าง (เช่น นั่งอยู่บนกองเงินกองทอง) เป็นคำเปรียบเทียบ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
[2] อุปมา: อุปมา เป็นการเปรียบเทียบระหว่างสองสิ่ง กล่าวเปรียบเปรยโดยนัย ด้วยการใช้คำว่า ดุจ, ดั่ง, ราว, เสมือน (เช่น แก้มแดงดุจกุหลาบ) (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
[3] เคนเน็ธ อี เบลีย์ ในหนังสือ  Jesus Through Middle Eastern Eyes (ดาวเนอร์ส โกรฟ: สำนักพิมพ์อินเตอร์วาร์ซิตี้เพรส ค.ศ. 2008)  หน้า 21
[4] นับตั้งแต่ทศวรรษ ปี 1780 หนังสือสามเล่มแรกในพระคัมภีร์ใหม่ ถูกเรียกว่าพระกิตติคุณสัมพันธ์ เพราะมีโครงสร้าง เนื้อหา และถ้อยคำคล้ายคลึงกัน ซึ่งนำมาเปรียบเทียบเคียงกันได้ เพื่อค้นหาสาระสำคัญ (คำแปลจาก Encyclopedia Britannica Online)
[5] โจเอล บี กรีน และ สก็อต แม็คไนท์ ใน Dictionary of Jesus and the Gospels (ดาวเนอร์สโกรฟ: สำนักพิมพ์อินเตอร์วาร์ซิตี้เพรส ค.ศ. 1992) หน้า 591
[6] โรเบอร์โต้ ดี บาเดนัส ในเรื่อง “Teaching Through Parables: Following Jesus” ซึ่งเป็นเอกสารที่เตรียมไว้สำหรับสัมมนาความศรัทธาและการเรียนรู้ครั้งที่ 31 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยฟรายเดนซอ ประเทศเยอรมัน  13–25 กรกฎาคม ค.ศ. 2003
[7] ไคลน์ สน็อดกราส ในเรื่อง Stories With Intent (สำนักพิมพ์แกรนด์ราปิดส์: โดย วิลเลียม บี เอร์ดแมนส์ ค.ศ. 2008) หน้า 17
[8] ลูกา 14:16-24
[9] ไคลน์ สน็อดกราส ในเรื่อง Stories With Intent (สำนักพิมพ์แกรนด์ราปิดส์: โดยวิลเลียม บี เอิร์ดแมนส์ ค.ศ. 2008) หน้า 18
[10] ไคลน์ สน็อดกราส ในเรื่อง Stories With Intent (สำนักพิมพ์แกรนด์ราปิดส์: โดยวิลเลียม บี เอิร์ดแมนส์ ค.ศ. 2008) หน้า 18
[11] ไคลน์ สน็อดกราส ในเรื่อง Stories With Intent (สำนักพิมพ์แกรนด์ราปิดส์: โดยวิลเลียม บี เอิร์ดแมนส์ ค.ศ. 2008) หน้า 18-19
[12] ลูกา 15:11-32
[13] โจเอล บี กรีน และสก็อต แม็คไนท์ ใน Dictionary of Jesus and the Gospels (ดาวเนอร์สโกรฟ: สำนักพิมพ์อินเตอร์วาร์ซิตี้เพรส ค.ศ. 1992) หน้า 594
[14] ดังนั้นส่วนข้าพเจ้าวิ่งแข่งอย่างนี้โดยมีเป้าหมาย ข้าพเจ้าได้ต่อสู้อย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนักมวยที่ชกลม แต่ข้าพเจ้าระงับความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนังให้อยู่ใต้บังคับ เพราะเกรงว่าโดยทางหนึ่งทางใดเมื่อข้าพเจ้าได้ประกาศแก่คนอื่นแล้ว ตัวข้าพเจ้าเองจะเป็นคนที่ใช้การไม่ได้ (1 โครินธ์ 9:26-27)
[15] กาลาเทีย 4:21-31
[16] ไคลน์ สน็อดกราส ในเรื่อง Stories With Intent (สำนักพิมพ์แกรนด์ราปิดส์: โดยวิลเลียม บี เอิร์ดแมนส์ ค.ศ. 2008) หน้า 51-52