เรื่องที่พระเยซูบอกเล่า — ฟาริสีและคนเก็บภาษี ลูกา 18:9-14

มิถุนายน 25, 2013

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

อุปมาอุปไมยเรื่องฟาริสีและคนเก็บภาษี บอกเล่าไว้เฉพาะในหนังสือลูกา บทที่ 18 ข้อ 9-14 นอกเหนือจากประเด็นอื่นๆ อุปมาอุปไมยนี้บ่งบอกถึงองค์ประกอบเบื้องต้นของความรอด มาเริ่มต้นด้วยการศึกษาตัวละครสองคนในเรื่อง

ฟาริสี

ฟาริสีเป็นสมาชิกในสังคมชาวยิว ผู้ซึ่งมีความเชื่อแรงกล้าเรื่องการเชื่อฟังทั้งต่อบัญญัติโมเสส และประเพณีที่สืบทอดมาจาก “บรรพบุรุษ” ประเพณีเหล่านี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งในบัญญัติโมเสส ทว่าฟาริสีถือว่าอยู่ในระดับเดียวกันกับบัญญัติโมเสส

คำว่าฟารสีหมายถึง “แยกตัว” หรือ “ผู้ที่แยกตัว”

ฟารสีมุ่งมั่นที่จะประพฤติตามบัญญัติโมเสส โดยเฉพาะบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการมอบหนึ่งในสิบ และความบริสุทธิ์ ชาวยิวหลายคนไม่ได้ทำตามบัญญัติเรื่องความบริสุทธิ์เกี่ยวกับอาหาร การเตรียมอาหาร และการล้างมือ ดังนั้นพวกฟาริสีจึงระมัดระวังว่าเขาทานอาหารกับใคร เพื่อจะได้ไม่หมดความบริสุทธิ์ตามพิธีกรรม บางคนวิพากษ์วิจารณ์พระเยซูที่ทานอาหารกับคนบาป และดูหมิ่นดูแคลนสาวกของพระองค์ เพราะเขาทานอาหารโดยไม่ได้ล้างมือ[1] เขาวิพากษ์วิจารณ์พระเยซูมากกว่าหนึ่งครั้งที่ละเมิดบัญญัติเรื่องวันสะบาโตเช่นกัน[2]

เป็นที่ทราบกันดีว่าพวกฟาริสีจะทำนอกเหนือจากเรื่องศาสนา บัญญัติที่บันทึกไว้กำหนดให้ถือศีลอดอาหารปีละหนึ่งครั้ง ในวันการไถ่บาป ทว่าฟาริสีบางคนถือศีลอดอาหารสัปดาห์ละสองครั้ง วันที่สองและวันที่ห้าของสัปดาห์ คือวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นการกระทำทางศาสนาที่กำหนดเอง เขาแยกหนึ่งในสิบออกจากทุกสิ่งที่ได้มา ซึ่งเกินกว่าที่พระบัญญัติกำหนดไว้

ชาวยิวส่วนใหญ่ไม่ได้ประพฤติตามบัญญัติโมเสสอย่างเคร่งครัดเหมือนพวกฟาริสี ดังนั้นชาวยิวในสมัยพระเยซูจึงถือว่าพวกฟาริสีมีความชอบธรรมและเคร่งศาสนา

คนเก็บภาษี

ตอนนี้เราจะมาดูคนเก็บภาษี พวกโรมันปกครองอิสราเอลในสมัยของพระเยซู มีภาษีสามประเภทที่เขากำหนดไว้ ได้แก่ ภาษีที่ดิน ภาษีรายบุคคล และภาษีอากร ภาษีเป็นบรรณาการต่อโรม ซึ่งพิชิตอิสราเอลได้ 63 ปี ก่อน ค.ศ.

เป็นไปได้อย่างมากว่าคนเก็บภาษีในอุปมาอุปไมย เกี่ยวโยงกับระบบภาษีอากร ทั่วจักรวรรดิโรม มีระบบค่าด่านและภาษีอากรที่ท่าเรือ สำนักงานภาษี และประตูเมือง อัตราภาษีระหว่างสองถึงห้าเปอร์เซนต์ของค่าสินค้าที่ขนส่งจากเมืองหนึ่งไปยังเมืองหนึ่ง เมื่อเดินทางไกลคนที่ขนสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง อาจโดนหักภาษีหลายครั้ง มูลค่าสินค้ากำหนดโดยคนเก็บภาษี[3]

ระบบศุลกากรและการเก็บภาษีนั้นดำเนินการผ่านสิ่งที่เรียกกันว่าการผูกขาดภาษี โดยรายบุคคลผู้มั่งคั่งประมูลว่าจะจ่ายโรมเท่าไรเป็นค่าสิทธิพิเศษเพื่อเก็บภาษีในเขตท้องที่ของเขา ผู้ที่ให้ราคาประมูลสูงสุด คือ “ผู้ผูกขาดภาษี” จะจ่ายจำนวนที่โรมยอมรับในการประมูล ซึ่งหมายความว่าโรมได้รับเงินภาษีล่วงหน้า จากนั้นผู้ผูกขาดภาษีจะเก็บภาษีผ่านคนเก็บภาษีในท้องถิ่น ผู้ผูกขาดภาษีและคนที่เขาว่าจ้างให้เก็บภาษีหาเลี้ยงชีพจากภาษีที่เก็บจากประชาชน เขาจะเก็บภาษีให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ภายในขอบเขตกฎหมาย เพราะรายได้ของเขามาจากจำนวนเงินที่เขาเก็บได้ นอกเหนือจากที่จ่ายโรมไปแล้ว สรุปก็คือ การเก็บภาษีเป็นธุรกิจที่หวังผลกำไร

ผู้ผูกขาดภาษีว่าจ้างคนเก็บภาษีในท้องถิ่นให้เก็บภาษี คนเก็บภาษีจะประเมินมูลค่าสินค้า และกำหนดจำนวนที่ต้องจ่าย ถึงแม้ว่ามีการควบคุมอยู่บ้าง บ่อยครั้งคนเก็บภาษีจะตีมูลค่าสินค้าสูงกว่าค่าจริง เพื่อเอากำไร เขาจะเรียกเก็บภาษีจากผู้คนที่ผ่านไปมาตามท้องถนน โดยการจ่ายเป็นเงินหรือสินค้าส่วนหนึ่ง คนที่เสียภาษีถือว่านี่เป็นการปล้น โดยมีตำแหน่งบังหน้า[4]

เมื่อคนเก็บภาษีบางคนมาหายอห์นผู้ให้บัพติศมา เพื่อรับบัพติศมา เขาถามยอห์นว่าควรทำอะไร ยอห์นตอบว่า “อย่าเก็บภาษีเกินพิกัด”[5] ซึ่งบ่งบอกอย่างแน่นอนว่าเขาเก็บภาษีมากเกิน เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

คนเก็บภาษีเป็นที่ชิงชัง เป็นพวกรีดไถ และอยุติธรรม ตามบัญญัติชาวยิว คนอื่นๆ ไม่มีพันธะที่จะบอกกล่าวความจริงกับเขา

ตามหลักศาสนาเขามีมลทิน รวมทั้งบ้านเรือนของเขา และบ้านหลังใดที่เขาเข้าไป ก็มีมลทิน บ่อยครั้งคนเก็บภาษีที่ถูกเกลียดชัง จัดอยู่ในพวกเดียวกันกับคนบาปและโสเภณี[6] ผู้ซึ่งเป็นที่นับถือเล็งเห็นว่าคนเก็บภาษีเป็นขโมย และรังเกียจเดียดฉันท์ คนเก็บภาษีในอุปมาอุไมยไม่ใช่ผู้ที่ซื่อตรง เขาเป็นคนเลว และเขาก็ทราบดี ดังที่เห็นได้ชัดจากสิ่งเขาทำในวิหาร และคำอธิษฐานของเขา

คำอุปมาอุปไมย

จากพื้นเพดังกล่าว ขอให้เรามาดูคำอุปมาอุปไมย

ส่วนบางคนที่เชื่อว่าตนเองเป็นผู้ชอบธรรม และดูถูกคนอื่น พระองค์ [พระเยซู] กล่าวคำอุปมานี้ ว่า[7]

ลูกาอธิบายในบทนำว่า อุปมาอุปไมยนี้เกี่ยวกับผู้ที่คิดว่าเขาบรรลุความชอบธรรมได้ด้วยบุญกุศลของตนเอง พระเยซูเล่าเรื่องอุปมาอุไมยต่อผู้ที่เชื่อมั่นในตนเอง ผู้ซึ่งรู้สึกว่าตนเองมีความชอบธรรม ถือว่าคนอื่นด้อยกว่า และไม่สมควรได้รับการนับถือ

มีชายสองคนขึ้นไปอธิษฐานในวิหาร คนหนึ่งเป็นพวกฟาริสี และคนหนึ่งเป็นคนเก็บภาษี[8]

คำว่า “ขึ้นไป” และตอนต่อมาในคำอุปมาอุปไมย “ลงมา” อ้างอิงถึงการขึ้นไปยังวิหารบนภูเขา ซึ่งเป็นส่วนสูงของตัวเมือง เป็นธรรมเนียมที่จะอธิษฐานวันละสองครั้ง ตอนเช้ากับตอนบ่าย เพราะเป็นเวลาที่มีการถวายเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปเป็นประจำทุกวัน วันละสองครั้งในวิหาร

ผู้ประพันธ์ท่านหนึ่งอธิบายไว้ว่า

งานรับใช้ประจำวันอย่างหนึ่งในเขตวิหาร คือ การถวายเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาป ตอนรุ่งสาง และตอนบ่ายสามโมง พิธีการแต่ละครั้งเริ่มนอกบริเวณสถานศักดิ์สิทธิที่แท่นบูชา ด้วยการถวายเครื่องบูชาไถ่บาปของอิสราเอลด้วยลูกแกะ โดยนำโลหิตมาพรมแท่นบูชา ตามด้วยพิธีการเฉพาะเจาะจง ระหว่างที่อธิษฐานจะมีเสียงแตร ฉาบ และการอ่านเพลงสดุดี ปุโรหิตที่ดำเนินการจะเข้าไปบริเวณนอกสถานศักดิ์สิทธิ์ เพื่อถวายธูปบูชา และตัดแต่งลูกแกะ เมื่อปุโรหิตผู้ทำพิธีเข้าไปแล้ว ผู้เข้าร่วมนมัสการก็ถวายคำอธิษฐานส่วนตัวต่อพระเจ้า ชาวยิวหลายคนที่เคร่งศาสนาซึ่งไม่ได้อยู่ในวิหารตอนนั้น ก็จะถวายคำอธิษฐานส่วนตัว เมื่อเขาทราบว่าเป็นเวลาที่มีการจุดธูปบูชาในวิหาร[9]

ผู้ฟังกลุ่มแรกคงคิดว่าฟาริสีและคนเก็บภาษีขึ้นไปบนวิหาร เพื่อเข้าพิธีถวายเครื่องบูชาไถ่บาปประจำวัน และอธิษฐาน

ฟาริคนสีนั้นยืนนึกในใจของตน อธิษฐานว่า ‘พระเจ้า ข้าขอบคุณพระองค์ ที่ข้าไม่เหมือนคนอื่นซึ่งเป็นคนฉ้อโกง คนอธรรม และคนล่วงประเพณี และไม่เหมือนคนเก็บภาษีคนนี้ สัปดาห์หนึ่งข้าถือศีลอดอาหารสองหน สิ่งของที่ข้าหาได้ ข้าถวายหนึ่งในสิบส่วน’[10]

ฟาริสียืนอยู่คนเดียว ขณะที่อธิษฐาน เขาแยกตัวจากคนอื่นๆ ที่มานมัสการ ถ้าเสื้อผ้าของเขาสัมผัสเสื้อผ้าของคนอื่นที่มีมลทิน เขาก็จะมีมลทินไปด้วย ผู้ที่พิถีพิถันมากเรื่องความบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ จะให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้แน่ๆ เขายืนอธิษฐานและแหงนหน้าขึ้น ซึ่งเป็นธรรมเนียมการอธิษฐานของชาวยิว

นอกจากนี้การอธิษฐานออกเสียงดังก็เป็นธรรมเนียมเช่นกัน ดังนั้นก็เป็นไปได้อย่างมากว่าคนอื่นจะได้ยินเขาอธิษฐาน อาจเป็นได้ว่าเขามุ่งหมายให้คำอธิษฐานของเขาเป็นการ “เทศนา” ประเภทที่คนอธิษฐานในลักษณะที่มุ่งหมายจะเทศนาต่อคนอื่น แทนที่จะอธิษฐานต่อพระองค์จริงๆ

เมื่อคำนึงว่าคำอธิษฐานของชาวยิวในศตวรรษที่หนึ่ง โดยทั่วไปแล้วเป็นการสารภาพบาป การขอบคุณสำหรับพรที่ได้รับ การอธิษฐานอ้อนวอนให้ตนเองหรือผู้อื่น[11] ก็เป็นไปได้ว่าเขามุ่งหมายที่จะเทศนามากกว่าอธิษฐาน เขาไม่ได้สารภาพบาปอะไร เขาไม่ได้ขอบคุณพระเจ้าสำหรับพรใดๆ เขาไม่ได้ขออะไรสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ดูเหมือนเขาชี้ให้คนอื่นเห็นว่าพวกนั้นแย่แค่ไหน ทั้งดูถูกดูแคลน ป่าวประกาศถึงความชอบธรรมของตนเอง และการที่เขาทำตามบัญญัติ เขาเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น และชี้ให้เห็นว่าเขารู้ผิดรู้ชอบทางศาสนา เมื่อเปรียบกับคนอื่น

เขาถือศีลอดอาหารสัปดาห์ละสองครั้ง หมายความว่าเขาถือศีลอดอาหารปีละ 104 ครั้ง เมื่อเทียบกับที่บัญญัติกำหนดไว้ปีละหนึ่งครั้ง ขณะที่บัญญัติกล่าวถึงพืชผลและและสัตว์เลี้ยงหนึ่งในสิบ ทว่าเขาให้หนึ่งในสิบจากทุกสิ่งที่หามาได้ เขาทำเช่นนี้เผื่อว่าคนที่ขายของให้เขาไม่ได้มอบหนึ่งในสิบจากของนั้นอย่างที่ควรจะทำ

คนฟาริสีไม่ได้เสแสร้ง เขาละเว้นจากการทำบาปตามที่เขาแจกแจงจริงๆ อย่างไม่ต้องสงสัย เขาถือศีลอดอาหารและให้หนึ่งในสิบ ซึ่งมากกว่าส่วนที่กำหนดไว้ ทว่าเขาพึงพอใจในตนเองและถือว่าตนเองชอบธรรม เขาดูถูกดูแคลนคนอื่นที่ไม่รักษาบัญญัติเหมือนเขา เขาแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อคนอื่น และขอบคุณพระเจ้าที่เขา “ไม่เหมือนพวกนั้น” เขาถือว่าตนเองเป็นแบบอย่างชั้นเลิศของความชอบธรรม และผู้ฟังอุปมาอุปไมยกลุ่มแรก คงเล็งเห็นเช่นนั้นด้วย

ส่วนกิริยาท่าทางและคำอธิษฐานของคนเก็บภาษีนั้นแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง

ฝ่ายคนเก็บภาษียืนอยู่แต่ไกล ไม่แหงนดูฟ้า แต่ตีอกของตนว่า ‘พระเจ้า โปรดเมตตาแก่ข้าผู้เป็นคนบาป!’

คนเก็บภาษียืนอยู่ห่างจากคนอื่น ไม่ใช่เพราะเขามีความชอบธรรม ทว่าเพราะเขาเป็นคนบาป และรู้ตัวดี เขาไม่แหงนหน้าขึ้น เพราะเขารู้สึกไม่ควรค่า เขารีดไถเงินจากคนอื่น ด้วยการเก็บภาษีมากเกินไป เขาเป็นคนคดโกง เขาไม่รู้สึกว่าเขาสมควรที่จะยืนกับผู้คนของพระเจ้า หรือควรค่าที่จะสนทนากับพระเจ้า

เขาตีอกตนเองเพราะทุกข์ใจเหลือเกินกับบาปของเขา ผู้ออกความเห็นคนหนึ่งเขียนไว้ว่า

ในพระคัมภีร์ กล่าวถึงคนที่ตีอกตนเองไว้อีกข้อความเดียว คือ ที่ไม้กางเขน เมื่อฝูงชนทุกข์ใจที่สุดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาตีอกตนเองเมื่อสิ้นสุดวันนั้น หลังจากที่พระเยซูสิ้นใจ (ลูกา 23:48) ถ้าต้องเกิดเหตุการณ์น่ารันทดใจเช่นการที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน ผู้คนถึงได้ตีอกตนเอง ก็เห็นได้ชัดว่าคนเก็บภาษีในอุปมาอุปไมยนี้ทุกข์ใจอย่างที่สุด[12]

เขายืนห่างออกไป ตีอกตนเอง และอธิษฐานว่า “พระเจ้า โปรดเมตตาต่อข้าผู้เป็นคนบาป”

คำกรีกที่ใช้ในข้อพระคัมภีร์นี้สำหรับคำว่า “โปรดเมตตา” คือ Hilaskomai (เฮลแอสคีมา) หมายความถึงขอการลุแก่โทษ[13] คำกรีกที่ใช้โดยทั่วไปสำหรับความเมตตาคือ Eleeo (เอลอีอีโอ) หมายถึงการช่วยผู้ที่ประสบโรคภัยหรือแสวงหาความช่วยเหลือ

คนเก็บภาษีขอการลุแก่โทษหรือการไถ่บาป ในคำแปลภาษาอาร์เมเนียและซีเรียในศตวรรษแรกๆ แปลไว้ว่า “การให้อภัยโทษ”[14] เขาไม่ได้ร้องขอความเมตตาโดยทั่วไป แต่ขอการไถ่บาป ขอการให้อภัยต่อบาปของเขา

ผู้ประพันธ์ เคนเนธ อี เบลีย์ บ่งบอกถึงสถานการณ์ของคนเก็บภาษีไว้อย่างยอดเยี่ยม เขาเขียนไว้ว่า

เราแทบจะได้กลิ่นธูป ได้ยินเสียงฉาบ และเห็นควันขโมงจากการเผาเครื่องบูชา คนเก็บภาษีอยู่ที่นั่น เขายืนอยู่ห่างๆ กลัดกลุ้ม ไม่อยากให้ใครเห็น รู้สึกว่าตนเองไม่ควรค่าที่จะยืนร่วมกับคนอื่น เขารันทดใจ และปรารถนาจะมีส่วนร่วมในทุกสิ่ง เขาเฝ้าปรารถนาที่จะได้ยืนร่วมกับ “คนชอบธรรม” ด้วยความเสียใจอย่างที่สุด เขาตีอกตนเอง ร้องไห้ด้วยความสำนึกผิด และความหวัง “พระเจ้า! ขอให้เป็นการถวายเครื่องบูชาสำหรับข้า! โปรดไถ่บาปข้าผู้เป็นคนบาป!” ในวิหารนั้น ชายผู้ถ่อมตนคนนี้ ตระหนักถึงความบาปและความไม่ควรค่าของเขาเอง โดยที่ไม่มีบุญกุศลส่งเสริม เขาเฝ้าปรารถนาว่าการถวายเครื่องบูชาที่ยิ่งใหญ่เพื่อไถ่บาป อาจปรับใช้กับเขา”[15]

แล้วเราก็เล็งเห็นว่าเป็นเช่นนั้น พระเยซูจบเรื่องดังนี้

เราบอกท่านว่า คนนี้แหละเมื่อกลับไปยังบ้านของตน ก็นับว่าชอบธรรมยิ่งกว่าอีกคนหนึ่งนั้น เพราะว่าทุกคนที่ยกชูตนเองจะถูกเหยียดลง แต่ทุกคนที่ถ่อมตัวจะถูกยกชูขึ้น”[16]

ตอนจบเช่นนี้ทำให้ผู้ฟังกลุ่มแรกตกใจ คนฟาริสีน่าจะเป็นผู้ชอบธรรม เป็นที่เคารพนับถือ เพราะเขาไม่เพียงเชื่อฟังบัญญัติ ทว่าทำยิ่งกว่านั้นอีก ส่วนคนเก็บภาษีน่าจะเป็นคนบาป เขาเป็นที่เกลียดชัง ทุกคนกล่าวประจานเขา ด้วยเหตุผลที่ดี จึงไม่มีทางที่จะเห็นว่าเขาเป็นคนชอบธรรม

แต่พระเยซูบอกว่าใครที่กลับบ้านโดยมีความชอบธรรม ผู้ที่มั่นใจในความชอบธรรมของตนเอง เพราะคุณความดีที่เขาได้ทำ หรือผู้ที่ร้องขอความเมตตาจากพระเจ้า ผู้ที่คนอื่นเห็นว่าบริสุทธิ์ ผู้ที่ดูถูกดูแคลนคนอื่นว่าไม่เคร่งศาสนาเท่าตนเอง ผู้ซึ่งแยกตัวจากคนที่มีมลทินและมีบาป หรือผู้ที่รู้ตัวดีว่าเขาเป็นคนบาป ผู้ที่ถ่อมตัว ผู้ที่ทราบว่าแม้จะทำอะไรสักแค่ไหนก็ไม่อาจช่วยเขาให้รอด ผู้ที่หมายพึ่งพระเจ้าด้วยความสำนึกผิดอย่างแท้จริง เพื่อขอความเมตตา การให้อภัย และความรอดจากพระองค์

เมื่อพูดถึงความปรานีของพระเจ้าที่ช่วยให้รอด ผู้ที่ถ่อมตนยอมรับว่าเขาต้องมีพระเจ้า คือผู้ที่ได้รับความรอด ไม่ใช่ผู้ที่มีคิดยกย่องตนเอง ผู้ที่เชื่อว่าคุณความดีและความเคร่งศาสนาจะช่วยเขาให้รอด อย่าเพิ่งเข้าใจผมผิด การทำคุณความดีเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การกระทำดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่ช่วยให้คุณรอด คุณไม่ได้ทำคะแนนที่ดีเยอะแยะ เพื่อหักล้างคะแนนไม่ดี คุณหาความรอดหรือการให้อภัยบาปเองไม่ได้ นี่เป็นของกำนัลแสนวิเศษที่พระเจ้าเสนอให้เท่านั้น

ถึงแม้ว่าอุปมาอุปไมยเรื่องนี้กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องถ่อมตนต่อพระเจ้าในคำอธิษฐาน และเตือนใจเรื่องการถือว่าตนเองมีความชอบธรรม จากการกระทำของเราเอง และดูถูกดูแคลนคนอื่น ด้วยความรังเกียจเดียดฉันท์ และทัศนะที่ตัดสินผู้อื่น ข่าวสารสำคัญที่สุดคือความปรานีของพระเจ้า ข่าวสารคือการกระทำของเราไม่ได้ช่วยเราให้รอด ความปรานีของพระเจ้าต่างหาก พระเจ้าเปิดทางให้เราได้รับการอภัยจากบาป และให้เราสานสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระองค์ เพราะความรักยิ่งใหญ่ ความเมตตาปรานีของพระองค์ เราจึง “ชอบธรรม” ต่อพระเจ้า เพราะบาปของเราได้รับการไถ่ถอน ไม่ใช่เพราะว่าเราทำตามบัญญัติทางศาสนา

พระเยซูบอกผู้ฟังว่า เพราะความรักและความปรานีของพระเจ้า ผู้คนจึงได้แสดงความบริสุทธิ์ บาปของเราจึงได้รับการไถ่ถอน นี่เป็นแง่คิดที่อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้ หลังจากที่พระเยซูสิ้นชีพ

ท่านรอดโดยพระคุณเพราะความเชื่อ มิใช่ด้วยตัวท่านเอง แต่พระเจ้าประทานให้ ความรอดมาจากการกระทำก็หามิได้ เพื่อมิให้คนหนึ่งคนใดอวดได้[17]

ถึงแม้ว่าความรอดมาจากความปรานี ไม่ใช่การกระทำ เป็นประเด็นสำคัญในอุปมาอุปไมยนี้ แต่ก็มีประเด็นอื่นๆ ให้เรียนรู้เช่นกัน ได้แก่

  • คำอธิษฐานหรือคำเทศนาที่อวดอ้างผลสำเร็จของตนเอง หรือดูถูกดูแคลนคนอื่นที่ขาดตกบกพร่อง เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม
  • วิถีทางที่พระเจ้ามองดูผู้อื่น อาจแตกต่างจากที่เรามองเขา ดังนั้นเราไม่ควรตัดสิน[18]ผู้อื่น เราควรระลึกไว้ว่า “พระเยโฮวาห์มองเห็นไม่เหมือนกับมนุษย์ ด้วยว่ามนุษย์ดูที่รูปกายภายนอก แต่พระเยโฮวาห์ดูที่จิตใจ”[19]
  • คนฟาริสีคิดว่าเขาเชื่อฟังพระเจ้า แต่ดูถูกดูแคลนคนที่ถือว่าด้อยความบริสุทธิ์กว่าตนเอง เช่น คนเก็บภาษี เขาทึกทักว่าการรักษาบัญญัติทำให้เขาดีกว่าคนส่วนใหญ่ เขาดูถูกดูแคลนคนอื่น เขาถือว่าการเคร่งศาสนาสำคัญกว่าการมองผู้อื่นด้วยความรัก ทว่าในข้อความอื่น พระเยซูบ่งบอกไว้อย่างชัดเจนว่าความรักสำคัญกว่าการเคร่งศาสนา และการรักผู้อื่นเป็นกฎอันดับที่สองรองจากการรักพระเจ้า[20]

อุปมาอุปไมยเผยให้เห็นว่าพระเจ้าไม่ได้ประทับใจกับการกระทำที่เคร่งศาสนา และความรู้สึกที่ตนเองเหนือกว่าคนอื่น ทว่าพระองค์เป็นพระเจ้าผู้มีเมตตา ผู้ตอบสนองความจำเป็น คำอธิษฐาน และการสำนึกผิดจากใจ[21] ดังที่กล่าวไว้ในอิสยาห์ 66:2 ว่า “แต่คนนี้ต่างหากที่เราจะมอง คือ ผู้ที่ถ่อมตน สำนึกผิดในใจ และพรั่นพรึง เพราะคำของเรา”

  • การถือว่าตนเองชอบธรรมและความหยิ่ง การคิดว่าตัวเองสูงส่ง และดูถูกดูแคลนผู้อื่น เป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงทัศนคติที่ไม่สอดคล้องกับการที่พระเจ้ามองดูผู้คน วิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดความลำพองตัว คือ เปรียบเทียบตนเองกับความยิ่งใหญ่และความเพียบพร้อมของพระเจ้า แทนที่จะเปรียบเทียบกับสิ่งที่ถือว่าเป็นความผิดและความบาปของผู้อื่น

พระเจ้าคือพระเจ้าแห่งความรักความเมตตา พระองค์รักมวลมนุษย์ พระองค์เปิดโอกาสให้เราได้รับความรอด ผ่านการที่พระเยซูพลีชีพด้วยความเสียสละ พระองค์มีความปรารถนาแรงกล้าที่จะกอบกู้ทุกคนให้รอด แม้แต่ผู้ที่ดูเหมือนเป็นคนบาปที่เลวร้ายที่สุด ในสายตาของชาวโลก เช่นคนเก็บภาษีในอุปมาอุปไมยนี้

ในฐานะคริสเตียน เราควรทำเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยให้ผู้อื่นรู้จักพระองค์ ผ่านการดำเนินชีวิตโดยแสดงความรัก ความเมตตา และความเข้าใจ ซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดซึ่งเปี่ยมด้วยความรัก ได้แสดงต่อเราแต่ละคน แล้วก็แบ่งปันข่าวแสนวิเศษกับผู้อื่น ว่าวิธีที่จะรู้จักพระเจ้า คือ เพียงยอมรับของกำนัล คือความรอด ด้วยความปรานีของพระองค์ ซึ่งมอบให้เปล่าๆ

อาเมนไหม ขอให้เราทำเช่นนี้ ขอพระเจ้าอวยพรคุณ

ฟาริสีและคนเก็บภาษี ลูกา 18:9-14

9 สำหรับบางคนที่มั่นใจในความชอบธรรมของตนเอง และดูถูกคนอื่น พระเยซูกล่าวคำอุปมานี้ ว่า

10 "ชายสองคนไปที่วิหารเพื่ออธิษฐาน คนหนึ่งเป็นฟาริสี อีกคนหนึ่งเป็นคนเก็บภาษี

11 ฟาริสีคนนั้นยืนขึ้นอธิษฐานเกี่ยวกับตนเอง ว่า 'ข้าแต่พระเจ้า ขอบพระคุณที่ข้าไม่เหมือนคนอื่นๆ ที่เป็นโจรปล้น ทำชั่ว ล่วงประเวณี หรือเป็นอย่างคนเก็บภาษีคนนี้

12 ข้าถืออดอาหารสัปดาห์ละสองครั้ง และถวายหนึ่งในสิบจากทุกสิ่งที่ได้มา'

13 แต่คนเก็บภาษียืนห่างออกไป เขาไม่กล้าแม้แต่จะแหงนหน้า แต่ตีอกของตน และพูดว่า 'พระเจ้า โปรดเมตตาข้าผู้เป็นคนบาป'

14 เราบอกท่านว่า คนนี้แหละเมื่อกลับไปยังบ้านของตน ก็นับว่าชอบธรรมยิ่งกว่าอีกคนหนึ่งนั้น เพราะว่าทุกคนที่ยกชูตนเองจะถูกเหยียดลง แต่ทุกคนที่ถ่อมตัวจะถูกยกชูขึ้น


[1] พวกฟาริสีกับพวกธรรมาจารย์จึงถามพระองค์ว่า “ทำไมพวกสาวกของท่านจึงไม่ประพฤติตามประเพณีสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่ทานอาหารโดยมิได้ล้างมือเสียก่อน” (มาระโก 7:5)

[2] แต่เมื่อพวกฟาริสีเห็นเข้า จึงทูลพระองค์ว่า “ดูเถิด สาวกของท่านทำการซึ่งมีบัญญัติห้ามไว้ ในวันสะบาโต” (มัทธิว 12:2)

ดูเถิดมีชายคนหนึ่งมือข้างหนึ่งลีบ เขาถามพระองค์ว่า “การรักษาโรคในวันสะบาโตนั้นมีบัญญัติห้ามไว้หรือไม่” เพราะเขาจะหาเหตุฟ้องพระองค์ (มัทธิว 12:10) 

พวกฟาริสีจึงถามพระองค์ว่า “ดูเถิด ทำไมเขาจึงทำการซึ่งมีบัญญัติห้ามไว้ในวันสะบาโต” (มาระโก 2:24)

แต่นายธรรมศาลาเคืองใจ เพราะพระเยซูได้รักษาโรคในวันสะบาโต จึงว่าแก่ประชาชนว่า “มีหกวันที่ควรจะทำงาน เหตุฉะนั้นในหกวันนั้น จงมาให้รักษาโรคเถิด แต่ในวันสะบาโตนั้นอย่าเลย” (ลูกา 13:13)

เหตุฉะนั้นพวกยิวจึงข่มเหงพระเยซู เพราะพระองค์กระทำเช่นนั้นในวันสะบาโต (ยอห์น 5:16)

[3] โจเอล บี กรีน และ สก็อต แม็คไนท์ ในหนังสือ Dictionary of Jesus and the Gospels (ดาวเนอร์สโกรฟ: สำนักพิมพ์อินเตอร์วาร์ซิตีเพรส ค.ศ. 1992) หน้า 809

[4] โจเอล บี กรีน และ สก็อต แม็คไนท์ ในหนังสือ Dictionary of Jesus and the Gospels (ดาวเนอร์สโกรฟ: สำนักพิมพ์อินเตอร์วาร์ซิตีเพรส ค.ศ. 1992) หน้า 806

[5] ลูกา 3:13

[6] ด้วยยอห์นได้มาหาพวกท่านด้วยความชอบธรรม ท่านหาเชื่อยอห์นไม่ แต่คนเก็บภาษีและพวกโสเภณีได้เชื่อยอห์น ฝ่ายท่านถึงแม้ได้เห็นแล้ว ภายหลังก็มิได้หันมาเชื่อยอห์น (มัทธิว 21:32)

[7] ลูกา 18:9

[8] ลูกา 18:10

[9] เคนเนธ อี เบเลย์ ในหนังสือ Jesus Through Middle Eastern Eyes (ดาวเนอร์สโกรฟ: อินเตอร์วาซิตี้เพรส ค.ศ. 2008) หน้า 346

[10] ลูกา 18:11-12

[11] เคนเนธ อี เบเลย์ ในหนังสือ Jesus Through Middle Eastern Eyes (ดาวเนอร์สโกรฟ: อินเตอร์วาซิตี้เพรส ค.ศ. 2008) หน้า

 347

[12] เคนเนธ อี เบเลย์ ในหนังสือ Jesus Through Middle Eastern Eyes (ดาวเนอร์สโกรฟ: อินเตอร์วาซิตี้เพรส ค.ศ. 2008) หน้า

 348

[13] ความหมายเบื้องต้นของคำว่าขอการปลอบโยนคือ การถวายเพื่อคลายความพิโรธแง่คิดนี้เกี่ยวกับความพิโรธของพระเจ้า เนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมของพระองค์ พระเจ้าต้องพิพากษาและลงโทษความบาป อย่างไรก็ตาม จากการที่พระเยซูพลีชีพเป็นเครื่องบูชา เช่นเดียวกับเครื่องบูชาในพระคัมภีร์เดิม จึงช่วยบรรเทาหรือตอบสนองความพิโรธของพระเจ้า ด้วยความรักที่พระองค์มีต่อเรา พระเจ้าหาทางให้อภัยบาปของเรา ขณะที่ยังคงเที่ยงตรงต่อวิสัยของพระองค์ (ดู "หัวใจสำคัญ: ความรอด")

[14] เคนเนธ อี เบลีย์ ในหนังสือ Poet & Peasant, and Through Peasant Eyes ฉบับรวม (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์วิลเลียมบีเอิร์ดแมนส์ ค.ศ. 1985) หน้า 154

[15] เคนเนธ อี เบลีย์ ในหนังสือ Poet & Peasant, and Through Peasant Eyes ฉบับรวม (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิมพ์วิลเลียมบีเอิร์ดแมนส์ ค.ศ. 1985) หน้า 154

[16] ลูกา 18:14

[17] เอเฟซัส 2:8-9

[18] ตัดสิน (ขยาย): แนวโน้มที่จะตัดสินพฤติกรรมด้านศีลธรรมจรรยาของผู้อื่น ตรงข้ามกับแนวโน้มที่จะไม่ตัดสินคุณสมบัติด้านศีลธรรมจรรยาของผู้อื่น ตรงข้ามกับการไม่ตัดสินผู้อื่น (คำแปล พจนานุกรมเวบสเตอร์ฉบับ ค.ศ. 1913)

[19] 1 ซามูเอล 16:7

[20] พระเยซูตอบเขาว่า “จงรักพระผู้เป็นเจ้าสุดจิตสุดใจ และสิ้นสุดความคิดของเจ้า นี่แหละเป็นบัญญัติข้อต้นและข้อใหญ่ ข้อที่สองก็เหมือนกันคือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:37-39)

[21] ไคลน์ สนอดกราส ในหนังสือ Stories With Intent (แกรนด์ราปิดส์: สำนักพิม์วิลเลียม บี เอิร์ดแมน ค.ศ. 2008) หน้า 474