More Like Jesus: Gratitude (Part 3)

มกราคม 24, 2017

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

[เหมือนพระเยซูมากขึ้น: ความสำนึกในบุญคุณ (ตอนที่ 3)]

ในบทความก่อนหน้านี้ เราพิจารณาว่า “การสวมใส่” ความอิ่มเอิบใจ คือส่วนสำคัญของการสำนึกในบุญคุณ  ตอนนี้เราจะมุ่งเน้นที่ “ตัวสังหาร” ความสำนึกในบุญคุณสามประการ ซึ่งเราต้องการตัดออกไปจากชีวิตเรา เพื่อเพิ่มพูนความสำนึกในบุญคุณ ตัวสังหารดังกล่าวได้แก่ ความอิจฉาริษยา ความโลภ และความเห็นแก่ได้ ขอเริ่มต้นที่ความอิจฉาริษยา

ความอิจฉาริษยา

คำจำกัดความของความอิจฉาริษยาบ่งบอกไว้ต่างๆ กัน คือ อยากได้สิ่งที่คนอื่นมี ความรู้สึกขุ่นเคืองหรือไม่มีความสุข เพราะอยากได้ความสำเร็จ โชคดี คุณสมบัติ หรือทรัพย์สมบัติของคนอื่น ความรู้สึกไม่อิ่มใจ และความมุ่งร้าย เพราะข้อได้เปรียบและทรัพย์สมบัติของคนอื่น เป็นความรู้สึกว่าผู้อื่นมีสิ่งดีๆ แต่ตนเองไม่มี คือสภาวะที่เห็นว่าตัวเองขาดบางสิ่งซึ่งจะทำให้คุณเป็นที่ยกย่องชมเชย มากเท่าที่คุณยกย่องชมเชยบุคคลผู้มีคุณสมบัติหรือทรัพย์สินที่พึงปรารถนา ซึ่งคุณรู้สึกอิจฉา

ความอิจฉาริษยารวมอยู่ในรายการบาปต่างๆ ของพระคัมภีร์ใหม่[1] รวมถึงรายการที่พระเยซูระบุไว้ด้วย

สิ่งที่ออกมาจากภายในใจคนเรา คือ ความคิดชั่วร้าย การประพฤติผิดทางเพศ การลักขโมย การเข่นฆ่า การล่วงประเวณี ความโลภ การมุ่งร้าย การฉ้อฉล ราคะตัณหา ความอิจฉาริษยา การนินทาว่าร้าย ความหยิ่งจองหอง ความโฉดเขลา ความชั่วทั้งหมดนี้มาจากภายในใจ และทำให้คนเราเป็นมลทิน[2]

อัครสาวกเปโตรเขียนไว้ว่า

จงขจัดความมุ่งร้าย การฉ้อฉล ความหน้าซื่อใจคด ความอิจฉาริษยา และการนินทาว่าร้ายทุกอย่างไปจากใจท่าน[3]

ในพระคัมภีร์เดิม เราเห็นความอิจฉาริษยาจากความเกลียดชังที่พี่ชายของโจเซฟมีต่อเขา เพราะบิดารักเขามากที่สุด[4]... รวมทั้งการที่ราเชลอิจฉาเลอาห์พี่สาวของนาง เพราะเลอาห์มีลูก แต่ราเชลไม่มี[5]... กษัตริย์ซอลมีใจอิจฉาริษยา เพราะดาวิดเป็นที่ยกย่องชมเชยจากชัยชนะที่เขาได้รับ[6]...

ความอิจฉาริษยาเริ่มต้นด้วยความปรารถนา แน่นอนว่าความปรารถนาทุกอย่างไม่ใช่สิ่งที่ผิด เราทุกคนต้องการสิ่งต่างๆ เช่น มีเงินมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น ลูกหลานทำดี มีความมั่นคงปลอดภัย ฯลฯ ทว่าปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเราเห็นคนอื่นมีสิ่งที่เราปรารถนา และเรารู้สึกขุ่นเคือง โกรธ หรือเศร้าโศก ความอิจฉาริษยาไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะวัตถุสิ่งของ แต่เกิดขึ้นได้เมื่อใครบรรลุผลบางสิ่งที่เราต้องการ หรือมีสถานะหรือตำแหน่งที่เราปรารถนา ความอิจฉาริษยาเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มตระหนักว่าใครบางคนได้รับผลประโยชน์หรือพรที่เราเองต้องการ น่าเศร้าที่ว่าบ่อยครั้งลุกลามไปสู่การปรารถนาให้คนอื่นสูญเสียสิ่งที่เราอิจฉาเขา บางครั้งถึงกับนำไปสู่การทำอะไรที่พยายามก่อเหตุให้เป็นเช่นนั้น

เมื่อเราอิจฉาคนอื่น ความสำเร็จของเขาทำให้เรารู้สึกแย่เกี่ยวกับตัวเอง และทำให้เรารู้สึกราวกับว่าล้มเหลว นี่เป็นเหตุให้เรารู้สึกว่าเราต้องแข่งขันกับคนอื่น เมื่อเขาทำได้ดีกว่า หรือได้สิ่งที่เราต้องการ เราก็พ่ายแพ้ มุมมองเช่นนี้เป็นเหตุให้เราขุ่นเคืองพระเจ้า เพราะเรารู้สึกว่าพระองค์มอบให้น้อยกว่าที่เราสมควรได้รับ หรือว่าพระองค์รักคนอื่นมากกว่ารักเรา

เมื่อเราปล่อยให้ความอิจฉามีแรงชักจูงต่อเรา เราก็เริ่มไม่รู้สึกชื่นชมมากยิ่งขึ้นต่อพรที่เราได้รับ เพราะเรามัวแต่มองสิ่งที่เรามีหรือสิ่งที่เราเป็น โดยเปรียบเทียบกับสิ่งที่คุณอื่นมีและเป็น เราสร้างทัศนคติในทำนองที่ว่า การเงินของฉันไม่ค่อยดี เพราะฉันมีฐานะด้อยกว่า หรือ ฉันไม่มีค่าเพราะเขาทำเงินได้มากกว่า เมื่อเราคล้อยตามการนึกคิดเช่นนี้ เราก็สร้างทัศนคติผิดๆ ว่าความสุขของเราขึ้นอยู่กับการที่คนอื่นมีน้อยกว่าเรา

เมื่อเราเต็มไปด้วยความอิจฉาก็ยากที่จะอิ่มเอิบใจหรือสำนึกในบุญคุณ แทนที่จะขอบคุณพระเจ้าสำหรับพรที่ได้รับ สำหรับตัวตนของเรา และสิ่งที่เรามี เราเริ่มขุ่นเคืองใจที่ไม่มีมากกว่านี้ ถึงแม้ว่าพระเจ้าจะมอบให้เรามากขึ้น แต่ความอิจฉาเป็นเหตุให้เราเปรียบเทียบกับคนอื่นที่เราเห็นว่าได้รับพรมากกว่า นี่กลายเป็นวัฏจักรที่ไม่รู้สิ้นสุดของความไม่อิ่มใจ ไม่พึงพอใจ และไม่สำนึกในบุญคุณ เราไม่เคยรู้สึกพึงพอใจ ถ้าเราสำนึกในบุญคุณบ้าง ก็เป็นระยะสั้นๆ เพราะเรามักจะสังเกตเสมอว่าใครสักคนมีสภาพที่ดีกว่าเรา

ความอิจฉาเข่นฆ่าความสำนึกในบุญคุณและความอิ่มเอิบใจ มันแย่งชิงความยินดีไปจากเรา โดยทำให้เรารู้สึกเป็นปรปักษ์ต่อพระเจ้า ซึ่งเป็นเหตุให้เราเหินห่างจากพระองค์ ในอีกแง่หนึ่งความสำนึกในบุญคุณและความอิ่มเอิบใจ ดลใจให้เห็นคุณค่าสิ่งที่เรามี ขอบคุณพระองค์สำหรับการดูแลและการจัดหาปัจจัย ไม่ว่าเราจะมีสถานการณ์เช่นไร นี่มีพื้นฐานจากความรักและการไว้วางใจที่เรามีต่อพระเจ้า ผู้จัดหาปัจจัย ผู้ที่รักและห่วงใยเรา ใน 1 โครินธ์ 13 ซึ่งเป็นบทเรื่องความรัก มีข้อความว่า ความรักย่อมอดทน ความรักคือความเมตตา ไม่อิจฉา ไม่อวดตัว[7] ถ้าเราต้องการมีใจที่สำนึกในบุญคุณ เราต้องฟันฝ่าความอิจฉาริษยา ด้วยการรักผู้อื่น รู้สึกยินดีกับเขา ในการอวยพรและความสำเร็จของเขา โดยขอบคุณพระองค์ที่อวยพรเขา และตอบรับต่อสภาพการณ์ที่ดีขึ้นของเขา เหมือนที่เราต้องการให้เขาตอบรับต่อสภาพการณ์ของเรา

กุญแจสำคัญในการฟันฝ่าความอิจฉาริษยา คือ การรักและไว้วางใจพระเจ้า เมื่อเราเข้าใจว่าเราเป็นลูกของพระองค์ และพระองค์รักเราอย่างสุดซึ้ง เราก็มีศรัทธาว่าไม่ว่าเราจะมีสภาพการณ์เช่นไร พระองค์จะทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อเราเสมอ ถึงแม้จะไม่ดูเหมือนว่าเป็นเช่นนั้นต่อเรา ในชั่วขณะนั้น เมื่อเราไว้วางใจพระองค์ เราก็มีความเชื่อมั่นพระองค์เป็นพระเจ้าผู้แสนดีและมีความรักต่อเรา เราจึงอิ่มเอิบใจได้ ในทุกสภาพการณ์

ความโลภ

ความโลภคือความปรารถนาไม่รู้สิ้นสุดที่จะได้ครอบครองทรัพย์สินของคนอื่น นี่เป็นข้อห้ามโดยเฉพาะ ในข้อสุดท้ายของบัญญัติสิบประการ

อย่าโลภอยากได้บ้านเรือนของเพื่อนบ้าน อย่าโลภอยากได้ภรรยาเพื่อนบ้านหรือคนรับใช้ชายหญิง วัวควายหรือลา หรือสิ่งใดๆ ที่เป็นของเพื่อนบ้านเจ้า[8]

นอกจากนี้ยังเป็นที่เข้าใจว่าความโลภคือความปรารถนามากเกิน ต่อวัตถุสิ่งของ และทรัพย์สมบัติทางโลก พระเยซูกล่าวว่า

ระวังให้ดี! ระวังตนจากความโลภทุกชนิด ชีวิตคนเราไม่ได้อยู่ที่การมีทรัพย์สินเหลือเฟือ[9]

อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า

เหตุฉะนั้นจงประหารโลกียวิสัยของท่าน คือ … ความโลภ ซึ่งเป็นการหลงงมงาย[10]

อย่าเอ่ยถึงสิ่งที่ส่อถึงความโลภในหมู่ท่าน[11]

ท่านแน่ใจได้เลยว่า ... คนโลภ (คนที่หลงงมงาย) จะไม่ได้รับมรดกใดๆ ในอาณาจักรของพระคริสต์และของพระเจ้า[12]

เห็นได้ชัดว่าความปรารถนาสิ่งที่เป็นของคนอื่น หรือความปรารถนาวัตถุสิ่งของมากเกิน ในข้อพระคัมภีร์ถือว่าผิดและเป็นบาป ถ้าเราพัฒนาทัศนคติที่ว่าการสะสมความมั่งคั่งและทรัพย์สินคือสิ่งจำเป็น เพื่อให้เรามีความสุข นั่นจะกลายเป็นจุดที่เรามุ่งเน้น เราเริ่มถือว่าวัตถุสิ่งของมาเป็นอันดับแรกในชีวิตเรา แทนที่พระเจ้าผู้สมควรมีสิทธิ์เป็นอันดับแรก ท่านเปาโลเรียกความโลภว่าการหลงงมงาย เพราะมันครอบครองหัวใจเราซึ่งควรจะเป็นของพระเจ้าผู้เดียว

เงินและทรัพย์สินไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย บัญญัติข้อที่แปดบ่งว่า อย่าลักขโมย[13] ส่วนข้อสิบบอกเราไม่ให้มีความโลภต่อสิ่งที่เป็นของเพื่อนบ้าน[14] ทั้งสองข้อบ่งชี้ว่าทรัพย์สินส่วนบุคคลคือสิ่งที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อเราให้ความสำคัญกับวัตถุสิ่งของมากเกิน เราก็จะเกิดความโลภ เมื่อความปรารถนาทรัพย์สินเงินทองกลายเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญอันดับแรก เราจะพบว่าตัวเองรับใช้เงินทอง ซึ่งพระเยซูกล่าวประณามไว้อย่างเห็นได้ชัด

อย่าสะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตนในโลก ซึ่งแมลงและสนิมกัดกินได้ ซึ่งโจรงัดแงะเข้าไปขโมยได้ แต่สะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตนในสวรรค์ ซึ่งแมลงและสนิมกัดกินไม่ได้ ซึ่งโจรงัดแงะเข้าไปขโมยไม่ได้ เพราะทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ไหน ใจของท่านก็อยู่ที่นั่นด้วย … ไม่มีใครเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้ เขาย่อมเกลียดนายคนหนึ่งและรักนายอีกคนหนึ่ง หรือภักดีต่อนายคนหนึ่งและดูหมิ่นนายอีกคนหนึ่ง ท่านจะรับใช้ทั้งพระเจ้าและเงินทองไม่ได้[15]

การมีทัศนคติผิดๆ ต่อวัตถุสิ่งของนั้นอันตราย และควรหลีกเลี่ยง

คนอยากรวยก็ตกหล่มที่ล่อหลอกให้ทำบาป ติดกับ และตกบ่วงความปรารถนาต่างๆ นานา อันโง่เขลาและอันตราย ซึ่งดึงมนุษย์ดิ่งลงในห้วงแห่งความพินาศย่อยยับ เพราะการรักเงินเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งปวง เพราะความเห็นแก่เงินนี่แหละ บางคนจึงหันเหไปจากความศรัทธา และทำให้ตนเองต้องปวดร้าวด้วยความทุกข์โศกนานา ส่วนท่านผู้เป็นคนของพระเจ้า จงหลีกหนีจากสิ่งเหล่านี้[16]

เมื่อทรัพย์สินหรือความปรารถนาที่อยากได้มากเกิน เข้ามาเป็นอันดับแรกในหัวใจเรา เมื่อความสุขของเราขึ้นอยู่กับสิ่งนี้ เราก็ถูกความโลภครอบงำ ถ้าเราปล่อยให้ตัวเองเป็นเช่นนี้ เราต้องขอพระเจ้าช่วยให้เราหันกลับไปมุ่งเน้นสิ่งที่พระเจ้าอวยพรเรา แทนการมุ่งเน้นสิ่งที่คนอื่นมี และเราไม่มี เราต้องขอพระองค์ช่วยให้เราสำนึกในบุญคุณต่อพรที่ได้รับ และอิ่มใจกับสิ่งที่พระองค์จัดหาให้เรา ขอพระองค์ปลดปล่อยเราให้หลุดพ้นกับดักจากความรู้สึกที่ว่า ความยินดีของเรามาจากการสะสมความมั่งคั่งและทรัพย์สิน

การตระหนักถึงพรที่เราได้รับ สำนึกในบุญคุณ และอิ่มใจกับการอวยพร ไม่ว่าจะมากหรือน้อย คือกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับความโลภ เราคงอยากจะถามตัวเองว่า “ฉันฝักใฝ่ใจสิ่งของทางโลก แทนที่จะฝักไฝ่ในสวรรค์ ฉันไว้ใจความมั่นคงทางการเงิน แทนความรักของพระเจ้า ฉันมีความปรารถนามากเกินต่อเงินทองและวัตถุสิ่งของอย่างนั้นหรือ ฉันกำหนดขอบเขตวิถีชีวิตของตน เพื่อหลีกเลี่ยงการมีทรัพย์สินมากเกินใช่ไหม เพื่อว่าถ้าพระเจ้าอวยพรให้อย่างล้นเหลือ ฉันจะได้ไม่ก้าวข้ามขอบเขตนั้น”

ความเห็นแก่ได้

ความเห็นแก่ได้คือความปรารถนาบางสิ่งที่เกาะกุมใจ เป็นการรักความมั่งคั่งที่ผิดปกติ ซึ่งสร้างขึ้นมาจากการตัดสินผิดๆ ว่าความผาสุกของตนขึ้นอยู่กับผลรวมของทรัพย์สิน ถ้าจะว่ากันไปนี่ส่งผลสองทาง โดยบอกเราว่า “เราต้องมีสิ่งนั้น” เราจึงไล่ล่าให้ได้มา ขณะเดียวกันก็บอกเราว่า “เธอต้องกุมสิ่งนี้ไว้แน่นๆ” เราจึงยึดติดกับสิ่งที่มีอย่างสุดหัวใจ เป็นเหตุให้เราเห็นแก่ตัวและตระหนี่ ความเห็นแก่ได้ไม่จำกัดแค่คนที่มั่งคั่ง ทว่ามีผลต่อผู้ที่ขัดสนด้วย เพราะความเห็นแก่ได้ไม่มุ่งเน้นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ทว่ามุ่งเน้นสิ่งที่เราต้องการ

ถึงแม้ว่าการปรารถนาสิ่งต่างๆ จะไม่ผิดเสมอไป แต่จะเริ่มผิดเมื่อความปรารถนาดังกล่าวกลายเป็นจุดมุ่งเน้น ความปรารถนากลายเป็นความเห็นแก่ได้ เมื่อสิ่งที่เราต้องการกลายเป็นศูนย์รวมความคิด เราต้องการจนถึงขั้นที่ยอมรอมชอมเรื่องค่านิยมหรือความซื่อสัตย์เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา ในหลายกรณีผู้คนยอมมีหนี้สินท่วมหัว เพราะอยากได้สิ่งของเหลือเกิน แต่ไม่มีเงินจ่าย (หนี้สินแบบนี้ต่างจากเงินกู้ซื้อบ้าน ทำธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งอาจเห็นว่าเป็นการฉลาดลงทุน)

ความเห็นแก่ได้ไม่ใช่เพียงความปรารถนาเงินทอง และสิ่งที่เงินซื้อได้เท่านั้น ทว่ายังครอบงำทุกความปรารถนาด้วย เราอาจเห็นแก่ได้เรื่องผลสำเร็จ จนเรายอมสละชีวิตคู่ ครอบครัว ลูกหลาน หรือสุขภาพ เพื่อให้บรรลุผลมากขึ้น ประสบความสำเร็จมากขึ้น และรับคำยกย่องชมเชยจากผู้อื่น ความเห็นแก่ได้อาจสะท้อนให้เห็นในสัมพันธภาพ จนถึงขั้นที่เราเรียกร้องเวลาและความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ จากคนอันเป็นที่รัก เมื่อเราคล้อยตามความเห็นแก่ได้ ความปรารถนาตามธรรมชาติกลับกลายเป็นแรงผลักดันที่ควบคุมไม่อยู่ เพื่อให้ได้มามากขึ้น โดยไม่ค่อยคำนึงถึง หรือไม่คำนึงถึงเลย ว่าสิ่งใดดีที่สุดสำหรับตัวเราเองหรือผู้อื่น

เราจะสังเกตอาการบ่งบอกความเห็นแก่ได้ในตัวเอง เมื่อเราตระหนักว่าเรามีความปรารถนาหรือความต้องการไม่สิ้นสุด ต่อบางสิ่งที่เราไม่มี จนกลายเป็นจุดมุ่งเน้นในความนึกคิด และการให้ได้มากลายเป็นสิ่งสำคัญเหลือเกิน จนเข้ามาแทนที่สิ่งที่เราเคยให้ความสำคัญในชีวิต นอกจากนี้เราจะเห็นว่าเราคล้อยตามความเห็นแก่ได้ ถ้าเราบรรลุเป้าหมายที่มุ่งมั่นไว้ หรือได้สิ่งที่ต้องการ แทนที่จะพอใจและสำนึกในบุญคุณที่บรรลุเป้าหมาย เราพบว่าตัวเองไม่อิ่มใจ และต้องการมากขึ้น โดยมุ่งเน้นสิ่งที่เราไม่มี อาการอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องการความพึงพอใจทันที แทนที่จะไล่ล่าเป้าหมายด้วยความอดทน เรามองหาทางลัดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรก็ตาม รวมถึงการทำตัวขาดคุณธรรม

วิธีหนึ่งที่จะต่อสู้กับความเห็นแก่ได้คือ เข้าใจว่าทุกสิ่งที่เรามี จริงๆ แล้วก็เป็นของพระเจ้า และเป็นของขวัญที่พระองค์ให้แก่เรา พระองค์เอื้ออารี พระเจ้าอวยพรเราในหลายๆ ด้วย ทว่าเมื่อเราเห็นแก่ได้ ก็เท่ากับเรากล่าวว่าพระองค์ไม่ได้มอบให้เรามากพอ พระองค์ไม่ห่วงใยเรา หนังสือเล่มหนึ่งระบุตัวอย่างไว้ว่าความเห็นแก่ได้คืออะไร ในสัมพันธภาพที่เรามีกับพระเจ้า

ความอยากได้ว่าใส่หน้าพระเจ้า “พระองค์จะไม่ให้ฉันมากพอ ฉันจึงต้องกักตุนไว้เอง” การตอกหน้าพระเจ้าอาจฟังดูหนักหนา แต่ลองคิดดูว่าคุณรู้สึกอย่างไร เมื่อลูกว่าคุณในทำนองนี้ “แม่ให้อาหารเย็นหนูไม่พอ หนูจึงต้องเก็บขนมปังจากอาหารกลางวันไว้ และแอบเอาของจอห์นนี่มาด้วย หนูเก็บอาหารกระป๋องจากตู้ซ่อนไว้ในลิ้นชักรองเท้า เอ้อ ... เผื่อว่าแม่ไม่มีอาหารให้หนูทาน” นั่นคงเหมือนการตอกหน้าไม่ใช่หรือ ฉันรู้สึกว่าทำเช่นนั้นต่อพระเจ้า เมื่อฉันลืมความเอื้ออารีที่พระองค์หยิบยื่นให้เป็นประจำ และเริ่มกักตุนสิ่งที่พระองค์มอบให้ หรือคว้าไว้มากกว่าที่จำเป็น[17]

ความเห็นแก่ได้คือการรู้สึกว่าเรามีสิทธิ์ โดยเชื่อว่าเราสมควรได้รับบางสิ่ง และพระเจ้าหรือชาวโลกเป็นหนี้เรา ความเห็นแก่ได้สะท้อนออกมา เมื่อเราเห็นแก่ตัว และนึกถึงแต่ตนเอง นึกถึงแต่ความปรารถนาของเราเอง ขาดความเมตตากรุณา เพราะเราถือว่าความจำเป็นของตนเองสำคัญกว่าความจำเป็นของผู้อื่น เมื่อเราพึ่งพาความพยายามของตัวเอง แทนที่จะไว้วางใจพระเจ้า แทนที่จะรอคอยจังหวะเวลาและการจัดหาปัจจัยของพระองค์ เราสะท้อนความเห็นแก่ได้ เมื่อเราหยิบฉวยสิ่งที่ต้องการ และกักตุนสิ่งที่เรามี ราวกับเรายึดหลักที่ว่า “ผู้ที่ตายไปพร้อมกับของเล่นมากที่สุดคือผู้ชนะ” โดยไม่คำนึงว่าผู้ที่ตายไปพร้อมกับของเล่นมากที่สุด ก็ต้องตายอยู่ดี และต้องให้ปากคำต่อพระเจ้าว่าเขาใช้ชีวิตเช่นไร ความเห็นแก่ได้สร้างความกลัดกลุ้ม เพราะเราไขว่คว้าหาสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ เมื่อเราเห็นแก่ได้ เราจะไม่มีวันอิ่มใจ

ถ้าเราต้องการพ้นเงื้อมมือความเห็นแก่ได้ หลักปฏิบัติข้อสำคัญอย่างหนึ่งคือ พัฒนาความเอื้อเฟื้อ และเพาะนิสัยการแบ่งปัน (บทความต่อไปจะกล่าวเพิ่มเติมเรื่องความเอื้อเฟื้อ) ในการปลูกฝังความเอื้อเฟื้อ เรามุ่งเน้นการสะสมทรัพย์ไว้ในสวรรค์[18] นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยได้ที่จะระลึกว่าชีวิตนี้แสนสั้น เมื่อตายไป เราจะทิ้งทรัพย์สิน สถานภาพ ตำแหน่ง และความมั่งคั่งไว้เบื้องหลัง ดังนั้นมันไม่ควรมีความสำคัญเหนือกว่าในชีวิตเรา ข้อควรพิจารณาอีกอย่างหนึ่งคือ พระคัมภีร์ให้คำเตือนไว้มากมายเกี่ยวกับอันตรายของความร่ำรวย และผลกระทบที่มีต่อชีวิตเรา ทรัพย์สินทางวัตถุหรือสถานภาพของเราจะไม่มีวันให้ความพอใจแก่เราได้อย่างเต็มที่ เพราะความพอใจที่แท้จริงมีอยู่ในพระเจ้าเท่านั้น เมื่อได้ยินคำสัญญาว่าจะมอบอาณาจักรในโลกนี้ และทรัพย์สมบัติทุกอย่างในโลกให้ พระเยซูปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะพระองค์ไม่มีความตั้งใจที่จะหันเหไปจากสิ่งสูงค่าที่สุด คือ การรักและรับใช้พระบิดาของพระองค์[19]

ถ้าเราปรารถนาที่จะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น เมื่อนั้นเราต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อทรัพย์สินทางวัตถุ สถานภาพ และเงินทอง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการตระหนักว่าทุกสิ่งที่เรามีเป็นของพระเจ้า เราเพียงได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแล และบริหารจัดการตามคำแนะนำของพระองค์ พระคัมภีร์สอนว่าสิ่งที่พระเจ้ามอบให้เรา ควรนำมาใช้เพื่อถวายสง่าราศีแด่พระองค์ ดังนั้นเราจึงดูแลเอาใจใส่ความจำเป็นของครอบครัวและคนอันเป็นที่รัก เรามอบคืนให้พระองค์หนึ่งในสิบส่วน และมอบให้การกุศล โดยช่วยเหลือผู้ที่ขัดสนซึ่งพระองค์นำมาตามเส้นทางชีวิต เราได้รับมอบหมายให้สำนึกในบุญคุณต่อพระเจ้า ในสภาพใดก็ตามที่เราประสบ และบ่งบอกความสำนึกในบุญคุณต่อพระเจ้าผู้ดูแลเอาใจใส่เรา เมื่อสำนึกถึงการที่พระองค์รักและดูแลเรา เรารู้จักอิ่มใจ เราบ่งบอกความสำนึกในบุญคุณต่อพระองค์ ในการจัดหาปัจจัยแก่เรา เราเชื่อและดำเนินชีวิตตามหลักเรื่องผู้ดูแลสิ่งที่พระองค์มอบให้ เมื่อนั้นเราจะสามารถฟันฝ่าความอิจฉาริษยา ความโลภ และความเห็นแก่ได้ โดยดำเนินชีวิตด้วยความอิ่มเอิบใจ นี่คือส่วนหนึ่งบนเส้นทางการกลายเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น

(เพิ่มเติมเรื่องความสำนึกในบุญคุณในตอนที่สี่)


[1] โรม 1:29-31; กาลาเทีย 5:19-21; 1 ทิโมธี 6:3-6; ทิตัส 3:3

[2] มาระโก 7:21-23

[3] 1 เปโตร 2:1

[4] ปฐมกาล 37

[5] ปฐมกาล 30:1

[6] 1 ซามูเอล 18

[7] 1 โครินธ์ 13:4

[8] อพยพ 20:17

[9] ลูกา 12:15

[10] โคโลสี 3:5

[11] เอเฟซัส 5:3

[12] เอเฟซัส 5:5

[13] อพยพ 20:15; เลวีนิติ 19:11

[14] อพยพ 20:17

[15] มัทธิว 6:19-21, 24

[16] 1 ทิโมธี 6:9-11

[17] เคที บราเซลตัน และ เชลลีย์ ลีธ เรื่อง Character Makeover (แกรนด์ราปิดส์: สำนักำพิมพ์ซอนเดอร์แวน ค.ศ. 2008) หน้า 254

[18] ลูกา 18:22

[19] มัทธิว 4:8-10