อิมมานูเอล

ธันวาคม 8, 2015

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

คริสต์มาสเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่มีนัยสำคัญมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ เมื่อพระเจ้ามาสู่โลกวัตถุ ในร่างพระบุตรของพระองค์ คือพระเยซู พระกิตติคุณของมัทธิวกล่าวว่า เหตุการณ์ที่นำไปสู่การประสูติของพระเยซู เกิดขึ้นจริงตามที่พระองค์กล่าวผ่านผู้พยากรณ์ “หญิงพรหมจารีจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย เขาจะเรียกท่านว่า อิมมานูเอล” (ซึ่งแปลว่าพระเจ้าสถิตอยู่กับเรา)[1]

ในพระคัมภีร์เดิม เราอ่านเกี่ยวกับการที่พระเจ้าสถิตอยู่ท่ามกลางผู้คนของพระองค์ การที่พระองค์สถิตอยู่ “กับเรา” เราเห็นได้จากเรื่องราวในสวนเอเดน ที่ซึ่งพระเจ้าสนทนากับอาดัมยามเย็น[2] ทั้งเสาเมฆและเสาเพลิง ซึ่งนำหน้าโมเสสและชนชาติอิสราเอลจากอียิปต์ ไปสู่ดินแดนแห่งคำสัญญา[3] รวมถึงหีบพันธสัญญา[4] และวิสุทธิสถาน[5] นอกจากนี้พระเจ้าให้ความอุ่นใจต่อผู้คนของพระองค์ ว่าพระองค์จะสถิตอยู่กับเขา เมื่อเขาออกไปสู้ศึก[6] รวมทั้งยามที่เขาหวาดกลัวหรือเผชิญหน้ากับเรื่องทุกข์ร้อนใจใหญ่หลวง[7]

ส่วนในพระคัมภีร์ใหม่ การที่พระเจ้าสถิตอยู่ด้วยมีความหมายใหม่ คือการจุติมาเกิด ตัวแทนของพระเจ้าในร่างที่พระเยซูถือกำเนิด การปฏิสนธิของพระองค์ไม่เหมือนใครอื่น ก่อนหน้าหรือหลังจากนั้น มารดาของพระองค์ คือนางมารี เป็นหญิงพรหมจารี ผู้หมั้นหมายกับโจเซฟ ช่างไม้ชาวยิว แต่ยังไม่ได้แต่งงาน ทูตสวรรค์มาหานางมารี กล่าวว่าเธอจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย พระองค์จะยิ่งใหญ่ และได้ชื่อว่าพระบุตรของพระเจ้าผู้สูงสุด พระเจ้าจะมอบบัลลังก์ของดาวิด คือบรรพบุรุษของพระองค์ ให้แก่พระองค์ และพระองค์จะครอบครองพงศ์พันธุ์ของยาโคบสืบไป อาณาจักรของพระองค์จะไม่มีวันสิ้นสุด[8]

เมื่อเธอถามว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเธอเป็นหญิงพรหมจารี ทูตสวรรค์ตอบว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะลงมาเหนือเธอ และพลังอำนาจของพระผู้สูงสุดจะปกคลุมเธอไว้ ดังนั้นองค์บริสุทธิ์ที่ประสูติ จะได้ชื่อว่า พระบุตรของพระเจ้า”[9] เก้าเดือนต่อมา บุคคลผู้มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่เหมือนใคร ผู้เป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ ได้บังเกิด คือ อิมมานูเอล “พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา”

สิ่งที่ประจักษ์ชัดบางอย่างในการที่ “พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา” เห็นได้ผ่านการกระทำของพระเยซู ซึ่งสะท้อนถึงคุณสมบัติของพระเจ้า อาทิเช่น

  • ความเมตตากรุณา ด้วยการรักษาผู้ที่เป็นโรคเรื้อน[10] อัมพาต[11] ตาบอด[12] ลมบ้าหมู[13] เป็นไข้[14] โรคท้องมาน[15] หูหนวก[16] และผู้ที่ถูกปีศาจครอบงำ[17]
  • การดูแลเอาใจใส่โดยรวม และการจัดหาปัจจัยให้แก่มวลมนุษย์ ความห่วงใยต่อคนยากจนและหิวโหย สะท้อนให้เห็นด้วยการเลี้ยงอาหารฝูงชน 5,000 คน[18] และ 4,000 คน[19]
  • พลังเหนือธรรมชาติ ขณะที่พระองค์เดินไปบนน้ำ และสั่งคลื่นลมและพายุให้สงบลง[20]
  • พลังเหนือความตาย ชุบชีวิตบุตรชายคนเดียวของหญิงม่าย[21] เด็กหญิงวัยสิบสองปี[22] และลาซารัสเพื่อนของพระองค์ ให้ฟื้นจากความตาย[23]
  • ความเมตตา ด้วยการให้อภัยบาป[24]
  • ความรัก ด้วยการที่พระองค์เต็มใจถูกตรึงบนไม้กางเขน ยอมพลีชีพเพื่อช่วยให้เป็นไปได้ที่เราจะสานสัมพันธ์กับพระเจ้าสืบไป[25]

พระเยซูบอกให้เราทราบถึงวิสัยของพระเจ้า ผ่านคำสอนของพระองค์ เล็งเห็นได้โดยเฉพาะในคำอุปมาอุปไมย ซึ่งสะท้อนแง่มุมต่างๆ ในธรรมชาติของพระเจ้า เช่น

  • บิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักและให้อภัย ในเรื่อง “บิดากับบุตรผู้หลงผิด”[26]
  • บิดาผู้ห่วงใยและสัตย์ซื่อ ในเรื่อง “เพื่อนยามเที่ยงคืน”[27] และ “ของขวัญดีๆ จากบิดา”[28]
  • ท่านผู้แสวงหาและกอบกู้ผู้ที่หลงทาง ในเรื่อง “แกะหลงฝูง”[29] และ “เหรียญที่หายไป”[30]
  • ท่านผู้อดทนรอคอยเวลาที่เหมาะสำหรับการตัดสิน ในเรื่อง “ข้าวสาลีกับวัชพืช”[31] และ “เมล็ดที่เติบโต”[32]
  • ท่านผู้ตัดสินด้วยความชอบธรรม ในเรื่อง “คนเขลาผู้มั่งคั่ง”[33] “ผู้ดูแลที่ไม่เที่ยงธรรม”[34] และ “คนรวยกับลาซารัส”[35]
  • ผู้ให้อภัยบาป ในเรื่อง “ลูกหนี้สองคน”[36]
  • ท่านผู้ที่รักและห่วงใยคนขัดสน ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ในเรื่อง “คนดีชาวซะมาเรีย”[37]
  • ท่านผู้หมั่นแสวงหาคนที่ต้องได้รับความรอด ในเรื่อง “นายจ้างผู้มีเมตตา”[38]

พระเยซู คือ “พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าจะยอมทำจนถึงที่สุด เพื่อให้มนุษย์สมานไมตรีกับพระองค์ โดยลิขิตให้พระองค์ ในร่างบุตรของพระเจ้า รับโทษแทนบาปของมนุษย์ เพื่อเราจะได้อยู่กับพระองค์ตลอดไป

ส่วนต่อเนื่องของการที่ “พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา” เห็นได้จากการที่พระเยซูส่งพระวิญญาณบริสุทธิ์มาสถิตในผู้มีความเชื่อ หลังจากที่พระองค์สิ้นชีวิตและฟื้นคืนชีพ

เราจะขอพระบิดา และพระองค์จะมอบผู้ช่วยให้มาอยู่กับพวกท่านตลอดไป คือพระวิญญาณแห่งความจริง ชาวโลกไม่อาจรับพระองค์ไว้ เพราะชาวโลกไม่เห็นและไม่รู้จักพระองค์ แต่ท่านรู้จักพระองค์ เพราะพระองค์สถิตอยู่กับพวกท่าน และจะอยู่ในใจท่าน[39]

ท่านไม่รู้หรือว่าท่านเป็นวิหารของพระเจ้า และพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ในใจท่าน ... ท่านไม่รู้หรือว่าร่างกายท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้สถิตในท่าน ซึ่งท่านได้รับจากพระเจ้า[40]

เพราะท่านเป็นบุตร พระเจ้าจึงให้พระวิญญาณพระบุตรของพระองค์เข้ามาในใจเรา ผู้ร้องเรียกว่า “อับบา! บิดา!”[41]

คริสต์มาสคือการฉลองวันที่ “พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา” การที่พระบุตรของพระเจ้าประสูติ พระบุตรผู้จุติมาเกิด ผู้มีชีวิตและยอมตาย เพื่อช่วยให้เป็นไปได้ที่เราจะสานสัมพันธ์กับพระเจ้า และพระวิญญาณของพระเจ้าจะได้สถิตอยู่ในเรา เป็นการฉลองเทศกาลที่น่ายินดี!

ช่วงคริสต์มาส และวันอื่นๆ ทุกวันในรอบปี เราทุกคนที่มีพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ในเรา ถ้าจะว่ากันไปแล้วก็เป็นส่วนต่อเนื่องการที่ “พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา” ในชุมชนของเรา เพื่อนมิตรและเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ผู้คนที่ให้บริการเราในห้างร้าน คนแปลกหน้าผู้ที่พระองค์นำมาตามเส้นทางของเรา ความรักที่เราแสดงให้เห็นผ่านสัมพันธภาพกับผู้อื่น ถ้อยคำที่เรากล่าวและสิ่งที่เราทำ ความมีน้ำใจและความเอื้อเฟื้อ ความช่วยเหลือที่เราหยิบยื่นให้ สะท้อนให้เห็นพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตอยู่ในเรา คนอื่นๆ จะสำนึกได้ถึงสิ่งที่ไม่ธรรมดาและสิ่งที่พิเศษในใจเรา เมื่อเราอธิบายว่าพระเจ้าสถิตอยู่กับเรา และสถิตอยู่กับเขาได้ด้วย เราก็ช่วยให้บรรลุผลสูงสุดของวันคริสต์มาส

นี่คือช่วงเวลาแสนวิเศษในรอบปี ที่จะมอบพระกิตติคุณแก่ผู้อื่น เพื่อให้เขาทราบว่า พระเจ้ารักโลก จนได้มอบพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อใครก็ตามที่เชื่อในพระองค์ จะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์[42] เราแต่ละคนได้รับมอบหมายให้ทำเท่าที่ทำได้ เพื่อมอบข่าวว่า “พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา” ให้แก่ผู้ที่จำเป็นต้องมีพระองค์



[1] มัทธิว 1:22-23

[2] ปฐมกาล 3:8

[3] อพยพ 13:21-22

[4] อพยพ 25:22

[5] อพยพ 26:34. ดู อพยพ 40:34–38 ด้วย

[6] พระบัญญัติ 20:1, 31:6; โยชูวา 1:9

[7] อิสยาห์ 41:10, 43:2

[8] ลูกา 1:31-33

[9] ลูกา 1:35

[10] มัทธิว 8:1–4; มาระโก 1:40–45; ลูกา 5:12–15, 17:12–14

[11] มาระโก 2:1–12

[12] มัทธิว 9:27–30, 20:30–34, 21:14; มาระโก 8:22–25, 10:46–52; ลูกา 18:35–43; ยอห์น 9:1–7

[13] มัทธิว 17:15–18; มาระโก 9:25–27

[14] มัทธิว 8:14–15; มาระโก 1:30–31; ยอห์น 4:46–53

[15] ลูกา 14:1–4

[16] มาระโก 7:32–37

[17] มัทธิว 12:22–23, 9:31–33; ลูกา 4:33–35, 8:27–35, 9:38–42

[18] มัทธิว 14:14–21; มาระโก 6:35–44; ลูกา 9:12–17; ยอห์น 6:5–13

[19] มัทธิว 15:32–38; มาระโก 8:2–9

[20] มัทธิว 14:22–33; มาระโก 4:35–41, 6:45–51; ลูกา 8:22–25; ยอห์น 6:16–21

[21] ลูกา 7:11–16

[22] มาระโก 5:22–23, 35–43

[23] ยอห์น 11:1–44

[24] มัทธิว 9:2–8; มาระโก 2:1–12; ลูกา 5:18–26, 7:44–50

[25] โคโลสี 1:19–22, 2:13–14; เอเฟซัส 2:13–19

[26] ลูกา 15:11–32

[27] ลูกา 11:5–8

[28] ลูกา 11:9–13; มัทธิว 7:9–11

[29] มัทธิว 18:12–13; ลูกา 15:4–7

[30] ลูกา 15:8–9

[31] มัทธิว 13:24–30

[32] มาระโก 4:26–29

[33] ลูกา 12:13–21

[34] มัทธิว 18:21–35

[35] ลูกา 16:19–31

[36] ลูกา 7:40–50

[37] ลูกา 10:25–37

[38] มัทธิว 20:1–16

[39] ยอห์น 14:16–17

[40] 1 โครินธ์ 3:16, 6:19

[41] กาลาเทีย 4:6

[42] ยอห์น 3:16