More Like Jesus: Holiness (Part 4)
ตุลาคม 18, 2016
โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม
More Like Jesus: Holiness (Part 4)
[เหมือนพระเยซูมากขึ้น: ความบริสุทธิ์ (ตอนที่ 4)]
ในเรื่องความบริสุทธิ์ ตอนที่ 1-3 เราจะเห็นว่าพระเจ้าคือมาตรฐานของความดีงามและความบริสุทธิ์ พระองค์ได้เผยความประสงค์ด้านคุณธรรมของพระองค์ผ่านพระคัมภีร์ และความประสงค์ของพระองค์ที่นำเสนอผ่านข้อพระคัมภีร์ คือการบ่งบอกคุณลักษณะของพระองค์ ถ้าเราปรารถนาที่จะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น เราจะเล็งเป้าไปที่การดำเนินชีวิตในทางที่บ่งบอกคุณลักษณะของพระองค์ นี่หมายถึงการตั้งใจพยายามปรับความคิด ความปรารถนา ทัศนคติ และการกระทำของเรา ให้สอดคล้องกับแบบอย่างของพระเจ้า และแนวทางที่มอบไว้ผ่านพระคัมภีร์
เมื่อเราฝ่าฝืนความประสงค์ด้านคุณธรรมของพระเจ้า ภายในใจหรือการกระทำภายนอก เราก็ทำบาป น่าเสียดายที่ว่าพวกเรามนุษย์ผู้ตกอับทำเช่นนี้เป็นประจำพอสมควร เมื่อเราทำเช่นนี้ บาปของเราจะส่งผลกระทบความสัมพันธ์ที่มีกับพระผู้สร้างที่เปี่ยมด้วยความรัก แน่นอนว่า บาปของเราได้รับการให้อภัย ผ่านการที่พระเยซูทนทุกข์และยอมตายบนไม้กางเขน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าบาปไม่มีผลกระทบต่อเรา ความรอดนำเรามาสู่ครอบครัวของพระเจ้า ในฐานะบุตรบุญธรรมของพระองค์ เมื่อถูกรับเป็นบุตรบุญธรรมในครอบครัวของพระองค์ ถ้าจะว่ากันไป เราก็ได้รับสิทธิทางกฎหมายหรืออำนาจศาล ให้เป็นสมาชิกถาวรในครอบครัวของพระองค์ และได้ไปสวรรค์ ทว่าการมีสิทธิทางกฎหมายที่จะเรียกพระเจ้าว่าบิดา ไม่ใช่ความสัมพันธ์เต็มรูปแบบที่เรามีกับพระองค์
การที่พระเยซูไถ่บาปให้เรา เราได้รับการยกโทษจากอำนาจศาล ความรอดนำมาซึ่งอิสรภาพจากการถูกประณามชั่วนิรันดร์ เพราะบาปของเรา ทว่าการให้อภัยมีอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งเรียกได้ว่าการให้อภัยเชิงสัมพันธ์ หรือจากผู้ปกครอง พระเจ้าไม่เพียงเป็นบิดาทางกฎหมาย ทว่าในเชิงสัมพันธ์ด้วย ดังนั้นเมื่อเราทำบาป ถึงแม้ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนของเรากับพระเจ้าในทางกฎหมาย ทว่าเปลี่ยนความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า ผู้ประพันธ์ จอห์น เอฟ แม็คอาร์เธอร์[1] อธิบายแง่คิดเรื่องการให้อภัยจากพระเจ้า ในฐานะผู้ปกครอง ว่า
[พระเจ้า] เสียใจเมื่อลูกของพระองค์ทำบาป การให้อภัยโดยอ้างเหตุผลว่าชอบด้วยกฎหมาย ยกความผิดทางศาล ทว่าไม่ได้หักล้างการที่พระบิดาไม่พอใจกับบาปของเรา พระองค์ทำโทษผู้ที่พระองค์รัก เพื่อผลดีต่อเขา (ฮีบรู 12:5-11) ผมขอชี้แจงข้อแตกต่างดังนี้
— การให้อภัยจากอำนาจศาล ยกโทษบาปที่ก่อไว้ การให้อภัยจากผู้ปกครอง ยกโทษผลที่ตามมาจากบาป
— การให้อภัยจากอำนาจศาล ปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากการลงโทษของผู้พิพากษาที่ชอบธรรม และผู้รอบรู้ทุกสิ่ง ซึ่งเราได้กระทำความผิด การให้อภัยจากผู้ปกครองยกโทษความผิด โดยแก้ไขให้ถูกต้อง กับพระบิดาผู้เสียใจและไม่พอใจ ทว่ามีความรัก
— การให้อภัยจากอำนาจศาลรมอบจุดยืนที่มั่นคงแน่ว ต่อหน้าบัลลังก์การพิพากษาจากเบื้องบน การให้อภัยจากผู้ปกครองยกโทษด้วยการชำระล้างบาปทุกเมื่อเชื่อวัน และยกเว้นความผิด โดยบัลลังก์พระคุณจากเบื้องบน ดังนั้นการให้อภัยที่คริสเตียนควรแสวงหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การให้อภัยจากผู้พิพากษาที่กริ้วโกรธ ทว่าเป็นความเมตตาจากพระบิดาผู้เสียใจ
ถึงแม้ว่าบาปของเรา (ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต) จะได้รับการยกโทษ และเรามีชีวิตนิรันดร์ แต่ยังคงเรียกร้องให้เราสารภาพบาป และขออภัยจากพระบิดา ถ้าเราสารภาพบาป พระองค์สัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม จะอภัยบาปของเรา และชำระเราให้พ้นจากความอธรรมทั้งสิ้น[2] ในที่นี้อ้างอิงถึงการให้อภัยจากผู้ปกครอง เมื่อเราสารภาพบาปต่อพระองค์ และขออภัย เราแก้ไขความเสียหายที่บาปก่อขึ้น ต่อความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์
การที่เราปรารถนาจะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น เรียกร้องให้เราหลีกเลี่ยงบาป (ทำสิ่งที่ขัดความประสงค์ของพระเจ้าทางด้านคุณธรรม) รวมทั้งสารภาพบาป และขออภัย เมื่อเราทำบาป นี่เป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตทางจิตวิญญาณ เป็นส่วนหนึ่งในการชำระล้างบาป คำภาษากรีกที่แปลว่าสารภาพ คือ homologeō มีความหมายสองสามประการ ความหมายแรกคือ “การกล่าวเช่นเดียวกันกับอีกฝ่าย การเห็นพ้อง การยินยอม” เมื่อเราสารภาพบาปต่อพระองค์ ถ้าจะว่ากันไปแล้ว เราเห็นพ้องกับที่พระเจ้าบอกกล่าวเกี่ยวกับบาป เรายอมรับว่าในบางแง่ (ความนึกคิด ความปรารถนา ทัศนคติ หรือการกระทำ) เราทำสิ่งที่ขัดกับความประสงค์ของพระองค์ทางด้านคุณธรรม เราเห็นพ้องว่าเราเป็นฝ่ายผิด เราทำผิด เราทำบาปต่อพระองค์ ท้ายสุดบาปทุกอย่างก็ขัดแย้งกับพระองค์ นี่ไม่ได้หมายความว่าบาปที่เราก่อไว้ บางครั้งไม่ขัดแย้งกับผู้อื่น และไม่ได้ก่อความเสียหายแก่เขา บ่อยครั้งจะเป็นเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดบาปคือการทำผิดต่อพระเจ้า
พระองค์เป็นความดีงาม ความรัก และความบริสุทธิ์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อเราทำบาป เราสร้างความแตกแยกในสายสัมพันธ์ที่มีกับพระองค์ เช่นเดียวกับผู้ปกครองทางโลก พระองค์ปวดร้าวใจจากความผิดดังกล่าว เราเข้าใจข้อนี้จากเรื่องความบาปของผู้คนก่อนสมัยน้ำท่วมโลก ดังที่บ่งบอกไว้ในปฐมกาล 6:5-6
พระเจ้าเห็นว่าความชั่วร้ายของมนุษย์ในโลกทวีขึ้น และความคิดจิตใจของเขาโน้มเอียงไปในทางชั่วเสมอ พระเจ้าจึงเสียใจยิ่งนักที่ได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาในโลก และพระองค์ปวดร้าวใจ คำแปลในพระคัมภีร์ฉบับอื่นถอดข้อความสุดท้ายว่า ใจพระองค์เปี่ยมด้วยความปวดร้าว หรือ พระองค์ชอกช้ำใจ
บาปสร้างความขัดแย้งระหว่างเรากับพระบิดา
เป็นการง่ายที่จะพัฒนาทัศนคติที่ว่าบาปไม่สำคัญมากนัก เพราะเรามีความรอด และได้รับการให้อภัยจากบาป ทว่าทัศนคติเช่นนั้น แสดงให้เห็นว่าเราขาดความเข้าใจในสิ่งที่พระคัมภีร์สอนเกี่ยวกับบาป และผลกระทบของบาป พระคัมภีร์บอกเราว่าบาปคือการทำผิดต่อพระเจ้า รวมถึงบาปของคริสเตียน เมื่อได้รับการให้อภัยโทษ ก็เป็นของขวัญแสนวิเศษจากพระเจ้า แต่ในฐานะผู้มีความเชื่อ เรามีความสัมพันธ์กับพระองค์ จะเกิดผลเสียต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว เมื่อเราทำบาป ถึงแม้ว่าบาปของเราได้รับการให้อภัย ก็ยังคงมีผลตามมาในชีวิตเรา หรือในชีวิตผู้อื่น เนื่องจากบาปของเรา
ในฐานะผู้มุ่งมั่นที่จะเป็นเหมือนพระคริสต์ ผู้แสวงหาความบริสุทธิ์ เราต้องเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงเรื่องบาปในชีวิต และตอบรับตามความเหมาะสม พระเจ้ามอบจิตสำนึกให้เรา มอบความสามารถโดยกำเนิดที่จะสังเกตข้อแตกต่างระหว่างถูกและผิด ซึ่งช่วยเราให้ตัดสินว่าการกระทำที่วางแผนไว้ หรือดำเนินไปแล้ว ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมหรือไม่ ในฐานะคริสเตียน เราปรับจิตสำนึกให้ดีงามได้ เมื่อเราทำตัวให้สอดคล้องกับความประสงค์ของพระเจ้าทางด้านคุณธรรม เมื่อเราเห็นพ้องกับสิ่งที่พระเจ้าเผยไว้ในพระคัมภีร์ เกี่ยวกับสิ่งที่ถูกและผิด สิ่งที่มีคุณธรรม การกระทำที่สะท้อนถึงวิสัยและตัวตนของพระองค์ เราได้รับมอบหมายให้ทำตามจิตสำนึกในการที่รู้ข้อพระคัมภีร์ และหลีกเลี่ยงบาป เพื่อจะได้รักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระบิดา
เนื่องจากเราเป็นมนุษย์ เราจะทำบาป ทว่าเพราะเราเป็นคริสเตียน เราจะพยายามไม่สร้างผลเสียต่อความสัมพันธ์ที่มีกับพระเจ้า โดยทำสุดความสามารถที่จะไม่ก่อบาป เราได้รับการบอกกล่าวให้ทิ้งตัวตนเก่าจากวิถีชีวิตเดิม ซึ่งกำลังเสื่อมโทรม โดยตัณหาล่อลวง เพื่อรับการสร้างวิญญาณความคิดจิตใจขึ้นใหม่ เพื่อสวมตัวตนใหม่ ซึ่งพระเจ้าสร้างให้เป็นเหมือนพระองค์ ในความชอบธรรมและความบริสุทธิ์ที่แท้จริง[3]
แน่นอน ไม่ว่าเราจะพยายามเพียงใดที่จะไม่ทำบาป แต่เราก็ทำ เมื่อเราทำบาป ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องบาป เรารู้สึกผิดและเสียใจ เราสร้างผลเสียต่อความสัมพันธ์ที่มีกับพระเจ้า และการที่จะซ่อมแซมความสัมพันธ์นั้น มีข้อเรียกร้องให้เราสารภาพบาป ดังที่เอ่ยไว้ข้างต้น การสารภาพบาปคือการเห็นพ้องว่าเราทำสิ่งที่ขัดแย้งกับความประสงค์ของพระเจ้าทางด้านคุณธรรม ถึงแม้ว่านั่นเป็นย่างก้าวแรก แต่เราต้องเสียใจหรือสำนึกผิดด้วย ต่อบาปที่เราสารภาพ ความสำนึกผิดคือการยอมรับการกระทำของเรา ยอมรับว่าผิด เป็นการเกลียดชังบาป และเสียใจที่ทำบาป
นอกเหนือจากการสารภาพและสำนึกผิด องค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งของการซ่อมแซมผลเสียที่เกิดจากความบาป คือการกลับใจ ได้แก่การเปลี่ยนทัศนคติ โดยผันเปลี่ยนไปในทางกลับกัน การกลับใจเรียกร้องให้เปลี่ยนพฤติกรรม ตั้งปณิธานที่จะเลิกทำบาปที่เคยก่อไว้ นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อเราทำบาปบางอย่างจนเป็นนิสัย หรือยอมรับพฤติกรรมที่เป็นบาป ว่าเป็นส่วนหนึ่งในบุคลิกของเรา เช่น ใจร้อน ขาดการควบคุมตนเอง ชอบตัดสินผู้อื่น ความโกรธ ความเห็นแก่ตัว ความหยิ่ง ความกลัดกลุ้ม บาปที่ออกจากปาก การเสพติด ฯลฯ อาจเป็นการดิ้นรนต่อสู้ที่จะยอมรับว่าพระคัมภีร์เรียกสิ่งเหล่านี้ว่าบาป ซึ่งสร้างผลเสียต่อความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระเจ้า เราควรจะสารภาพ เราได้รับการคาดหมายให้เปลี่ยนแปลง และเลิกทำ ด้วยพระคุณของพระเจ้า เราทุกคนทำบาป ซึ่งกลายเป็นนิสัย จนถึงขั้นที่เราแทบจะไม่ถือว่าเป็นบาป ปัญหาก็คือ ไม่ว่าเราจะเล็งเห็นเช่นไร แต่ก็เป็นบาป
ถ้าเราต้องการเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น เมื่อนั้นเราต้องเผชิญหน้ากับบาป เราไม่อาจเพียงแค่มองว่าเป็นบุคลิก หรือแก้ตัวว่า “ฉันเป็นแบบนี้ ฉันเปลี่ยนไม่ได้” หรือไม่อาจแก้ตัวต่อการทำบาป โดยคิดว่า “นี่เป็นแค่บาปเล็กๆ ไม่สำคัญมากนัก” ส่วนหนึ่งในการเป็นเหมือนพระคริสต์ คือยอมรับสิ่งที่พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าเป็นบาป สำนึกว่าทำบาป สารภาพ และร้องขอให้พระองค์ช่วยเราฟันฝ่าไป เราคงไม่สามารถมุ่งเน้นบาปทุกอย่างเลยทีเดียว โดยเฉพาะถ้ากลายเป็นนิสัย แต่เรายอมรับได้ว่าเราทำบาป ขออภัยจากพระเจ้าเป็นประจำ ขวนขวาย และตั้งปณิธานที่จะฟันฝ่าไปให้ได้
ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งได้ โดยพระองค์ผู้เสริมสร้างกำลังให้แก่ข้าพเจ้า[4]