More Like Jesus: Gratitude (Part 1)

มกราคม 10, 2017

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

 

[เหมือนพระเยซูมากขึ้น: ความสำนึกในบุญคุณ (ตอนที่ 1)]

การเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น คือการเป็นคริสเตียนที่ดีขึ้น ผ่านความมุ่งมั่นที่จะนำคำสอนในพระคัมภีร์มาถือปฏิบัติมากขึ้น ประกอบกับแนวทางและพระคุณจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ การนำข้อพระคัมภีร์มาถือปฏิบัติเช่นนี้แบ่งเป็นสองวิธี วิธีแรกกำหนดให้ขจัดความอธรรม โดยเชื่อว่าสิ่งที่พระคัมภีร์เรียกว่าบาป คือบาปจริงๆ เราต้องต่อต้านขัดขืน และเอาชนะให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ วิธีที่สองกำหนดให้เราสวมวิญญาณของพระคริสต์[1] โดยอ้าแขนรับคุณธรรมตามแบบอย่างของพระเจ้าที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ ผลจากพระวิญญาณ และดำเนินชีวิตในลักษณะที่เสริมสร้างคุณธรรมดังกล่าวในชีวิต

การเติบโตตามแบบอย่างของพระเจ้าคือสิ่งที่เราแสวงหาชั่วชีวิต ต้องอาศัยความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลง ความมุ่งมั่น และเต็มใจทุ่มเทความเพียรพยายามอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเปลี่ยนการกระทำ ความนึกคิด ความปรารถนา และมุมมองเป็นเชิงบวก นี่คือการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ การฟื้นฟูความคิด การกลายเป็นสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ โดยตั้งใจแน่วแน่ที่จะทิ้งตัวเก่าในวิถีชีวิตเดิม ... เพื่อรับความคิดจิตใจที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ และสวมตัวตนใหม่ ซึ่งพระเจ้าสร้างขึ้นให้เป็นเหมือนพระองค์ ในความชอบธรรมและความบริสุทธิ์ที่แท้จริง[2]

ในบทความก่อนๆ เราครอบคลุมพื้นฐานเบื้องต้นของการเป็นเหมือนพระคริสต์  และอุปนิสัยคริสเตียน นอกจากนี้ยังดูเรื่องบาปและความบริสุทธิ์ ส่วนที่เหลือของเรื่องชุดนี้จะมุ่งเน้นคุณสมบัติและคุณธรรมต่างๆ ซึ่งช่วยพัฒนาให้เราเป็นเหมือนพระคริสต์ในชีวิต รวมทั้งบาปที่ขัดขวางการทำเช่นนี้

จุดเริ่มต้นของการศึกษาคุณสมบัติดังกล่าว ผมจะมุ่งเน้นความสำนึกในบุญคุณ และคุณสมบัติที่เกี่ยวโยงกัน คือความอิ่มเอิบใจและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นอกจากนี้เราจะดูเรื่องการขจัดนิสัยใจคอที่ขัดขวางความสำนึกในบุญคุณ เช่น ความละโมบ ความอิจฉาริษยา และความโลภ ผมเลือกความสำนึกในบุญคุณเป็นจุดเริ่มต้น หลังจากอ่าน Cultivating Christian Character (การพัฒนาอุปนิสัยคริสเตียน) โดย ไมเคิล ซิกาเรลลี[3] เขาทำการสำรวจคริสเตียนจำนวน 5,000 คน และพบตัวบ่งชี้ว่าคุณธรรมใดบ้างที่ช่วยในการเติบโต และการพัฒนาอุปนิสัยคริสเตียน เขาบ่งถึงคุณสมบัติสามอย่าง ซึ่งดูเหมือนเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาจนเป็นเหมือนพระคริสต์

เขาเขียนไว้ว่า

มีคุณสมบัติสามข้อซึ่งอธิบายได้ดีที่สุดว่า เหตุใดคริสเตียนผู้มีคุณธรรมสูงจึงแตกต่างจากคริสเตียนผู้มีคุณธรรมระดับปานกลาง คุณสมบัติดังกล่าวคือสามเสาหลักของความสำเร็จ ได้แก่ ความสำนึกในบุญคุณ การดำเนินชีวิตด้วยความชื่นชมยินดี และมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง ... คริสเตียนผู้หว่านเมล็ดทั้งสามนี้ไว้ในวิถีชีวิต มีแนวโน้มสูงที่จะเก็บเกี่ยวอุปนิสัยคริสเตียนได้มากที่สุด ... ได้เห็นผลจากพระวิญญาณสะท้อนในชีวิตเขา คุณสมบัติพื้นฐานของคริสเตียน ซึ่งเป็นสิ่งที่หายาก (เช่น ความรัก สันติสุขในใจ ความอดทน ความกรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสัตย์ซื่อ ความอ่อนโยน การรู้จักควบคุมตนเอง ความเห็นอกเห็นใจ และการให้อภัย) ล้วนพรั่งพรูจากแหล่งกำเนิด คือ ความสำนึกในบุญคุณ การดำเนินชีวิตด้วยความชื่นชมยินดี และมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง[4]

ความสำนึกในบุญคุณคือกุญแจไปสู่การเป็นเหมือนพระคริสต์ เพราะเป็น “คุณธรรมต้นกำเนิด” ที่ช่วยสร้างคุณธรรมอื่นๆ ตามแบบอย่างของพระเจ้าขึ้นมาในใจเรา นี่ส่งผลที่จะเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยของเรา ขณะที่เราเห็นคุณธรรมด้านการสำนึกในบุญคุณจากมุมมองคริสเตียน ก็เป็นที่เข้าใจกันอย่างกว้างขวางด้วย ในสาขาวิชาเช่นจิตวิทยา และการปรับปรุงตัวเพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ ปรับปรุงความผาสุกในด้านสุขภาพ อารมณ์ความรู้สึก สังคม จิตวิทยา และอื่นๆ โดยทั่วไปถือว่าการสำนึกในบุญคุณคือพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับชีวิตที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น คุณประโยชน์บางอย่างรวมไปถึงการช่วยให้คิดบวกมากขึ้น ใฝ่ใจทางจิตวิญญาณ มีความยืดหยุ่น ผ่อนคลาย และเป็นมิตรมากขึ้น ทว่าใฝ่ใจทางวัตถุ หมกมุ่นกับตัวเอง และอิจฉาริษยาน้อยลง ทั้งยังช่วยให้นับถือตัวเองมากขึ้น นอนหลับดีขึ้น ทรงจำถึงความสุขมากขึ้น มีชีวิตคู่หวานชื่นขึ้น มีเพื่อนมากขึ้น มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และมีเรี่ยวแรงมากขึ้น

นอกจากให้คุณประโยชน์ที่กล่าวมานี้ ความสำนึกในบุญคุณคือองค์ประกอบสำคัญของการเติบโตจนเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อถือปฏิบัติควบคู่กันกับชีวิตที่มีความชื่นชมยินดีและมีพระเจ้าเป็นจุดศูนย์กลาง (แง่คิดเรื่องการมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางครอบคลุมไว้ในบทความก่อนหน้านี้ พื้นฐานการเป็นเหมือนพระคริสต์) ถึงแม้ว่าการสำนึกในบุญคุณ ความชื่นชมยินดี และการมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง แต่ละอย่างช่วยเราให้เติบโตในอุปนิสัยที่เป็นไปตามแบบอย่างของพระเจ้า ทว่าเมื่อนำมาถือปฏิบัติร่วมกัน ก็ส่งผลให้เติบโตตามแบบอย่างของพระเจ้าในวงที่กว้างขึ้นหลายเท่า ส่วนประกอบดังกล่าวของความชื่นชมยินดี การมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง และความสำนึกในบุญคุณ เล็งเห็นได้ในสิ่งที่อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า

จงชื่นชมยินดีอยู่เสมอ จงอธิษฐานอยู่เสมอ จงขอบพระคุณในทุกสถานการณ์ เพราะนี่คือความประสงค์ของพระเจ้าสำหรับท่านในพระเยซูคริสต์[5]

ในข้อพระคัมภีร์บ่งบอกไว้ว่าความสำนึกในบุญคุณคือการรู้สึกขอบคุณและการแสดงความขอบคุณ ด้วยแนวความคิดบนพื้นฐานที่ว่า ทุกหนทุกแห่ง ในทุกสถานการณ์ ผู้คนของพระเจ้าควรจะขอบคุณพระเจ้าตลอดเวลา คือพระเจ้าผู้สร้างและไถ่บาปให้เขา การแสดงความขอบคุณในพระคัมภีร์เดิม ส่วนใหญ่บ่งบอกด้วยภาษาฮีบรู todah แปลว่า ขอบคุณ รู้สึกขอบคุณ และแสดงความขอบคุณ นอกจากนี้ยังเป็นวิธีกล่าว “ขอบคุณ” ในภาษาฮีบรูสมัยใหม่ คำว่า todah พบบ่อยที่สุดในหนังสือสดุดี ซึ่งมีคำสรรเสริญและการแสดงความขอบคุณแด่พระเจ้ามากมาย[6]

พระคัมภีร์ใหม่เต็มไปด้วยแบบอย่างที่บ่งบอกการแสดงความขอบคุณพระเจ้า รวมทั้งคำแนะนำถึงวิธีทำเช่นนั้น เราได้อ่านแบบอย่างที่พระเยซูแสดงความขอบคุณ[7] แบบอย่างของผู้มีความเชื่อที่แสดงความขอบคุณต่อพระคริสต์[8] โดยผ่านพระคริสต์[9] และในนามของพระองค์[10] นอกจากนี้เราได้อ่านเรื่องการขอบคุณก่อนทานอาหาร[11] ขอบคุณสำหรับปัจจัยทางวัตถุที่เราต้องการ[12] สำหรับความรักที่ผู้อื่นหยิบยื่นให้[13] สำหรับการหลุดพ้นจากบาปในใจเรา[14] สำหรับชัยชนะเหนือความตายและหลุมศพ[15] อันที่จริงแล้ว เราได้รับการบอกกล่าวให้ขอบคุณพระเจ้าสำหรับทุกสิ่ง[16] และขอบคุณเสมอ[17] มุ่งหมายไว้ให้ความสำนึกในบุญคุณเป็นวิถีชีวิต ถึงแม้ว่าเราบ่งบอกถึงความสำนึกในบุญคุณต่อผู้อื่นเช่นกัน ทว่าความสำนึกในบุญคุณสูงสุดมีต่อพระเจ้าผู้มอบชีวิตให้แก่เรา

ขณะที่เรามุ่งเน้นการปลูกฝังความสำนึกในบุญคุณ ก็เปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อชีวิต เพราะเมื่อเวลาผ่านไป มันสร้างบริบทหรือเลนส์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งเราใช้ประมวลสภาพการณ์ต่างๆ เราเริ่มเล็งเห็นประสบการณ์ของเราและทุกสิ่งที่เรามี โดยมองจากความรักของพระเจ้า เราจึงมีใจขอบคุณ นี่เปลี่ยนมุมมองของเรา เมื่อเราตระหนักว่าไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร ก็อาจแย่กว่านี้ แต่ไม่เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่ว่าเราไม่ทำเท่าที่ทำได้เพื่อปรับปรุงสถานการณ์ของเรา ทว่าเรามองดูด้วยความขอบคุณ ขอบคุณสำหรับสิ่งที่เรามี ขอบคุณที่เรามีชีวิต ถึงแม้ว่าอาจไม่อุดมสมบูรณ์ เราอาจไม่มีสิ่งที่คนอื่นมี แต่เราก็มีเพียงพอ

ถ้าจะว่ากันไป ความสำนึกในบุญคุณคือกรอบความคิด คือโลกทัศน์ ไม่ว่าสภาพการณ์เป็นเช่นไร เราเลือกที่จะมองผ่านเลนส์ความขอบคุณต่อพระเจ้า สำหรับความรัก ความห่วงใย และการจัดหาปัจจัยของพระองค์ แทนที่จะเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือโอดครวญกับชะตาชีวิตของเรา เราขอบคุณพระเจ้าสำหรับสิ่งที่เรามี นี่ต้องอาศัยการนึกคิดในแง่ใหม่ โดยมุ่งเน้นความนึกคิดที่พร แทนสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต หรือมีทัศนคติที่ว่าชีวิตจะดีขึ้นอีกมาก “ถ้าเพียงแต่ว่า...” ความสำนึกในบุญคุณทำให้เราต้องการสิ่งที่เรามี อิ่มใจกับสภาพที่เราเป็นอยู่ และขอบคุณพระองค์เป็นประจำสำหรับพรที่ได้รับ ไม่ว่าจะมีน้อยหรืออุดมสมบูรณ์

การพัฒนากรอบความคิดที่สำนึกในบุญคุณ ต้องอาศัยการปรับความคิดโดยเลิกนึกถึงสิ่งที่ทำให้เราไม่พอใจกับสภาพการณ์ของเรา หรืออิจฉาคนอื่น ยิ่งเราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และต้องการสิ่งที่เขามี เราก็ยิ่งพอใจกับสภาพของเราน้อยลง นี่เป็นเหตุให้เราพัฒนากรอบความคิดที่อิจฉาริษยา ซึ่งบดบังความรักและความห่วงใยที่พระเจ้ามีต่อเรา เป็นเหตุให้เราไม่เห็นคุณค่าสิ่งที่พระองค์ได้ทำเพื่อเรา และทำในชีวิตเราอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราไม่เลิกคิดขุ่นเคืองใจและอิจฉาริษยา เราก็จะติดกับอยู่ในกรอบความคิดที่แย่งชิงความชื่นชมยินดีและความสุข ซึ่งมาจากการตระหนักถึงพรของพระเจ้า และการที่พระองค์สถิตอยู่ด้วย

เราจะพัฒนากรอบความคิดที่สำนึกในบุญคุณได้อย่างไร ก่อนอื่น เราต้องพยายามเลิกคิดอิจฉาริษยา คือการปรารถนาสิ่งที่คนอื่นมี ความขุ่นเคืองใจ ความรู้สึกไม่มีความสุข ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นที่เรารู้สึกว่ามีสภาพที่ดีกว่าเรา ประสบความสำเร็จมากกว่าเรา มีคุณสมบัติหรือทรัพย์สิ่งของที่เราต้องการ ในพระคัมภีร์เดิมบ่งบอกไว้ว่านี่เป็นความโลภ

อย่าโลภ ... หรืออยากได้ ... สิ่งใดที่เป็นของเพื่อนบ้าน[18]

ในพระคัมภีร์ใหม่ รวมความอิจฉาริษยาไว้ในบาปซึ่งทั้งข้อเขียนของท่านเปาโลและเปโตรเตือนไว้[19] (จะกล่าวเพิ่มเติมเรื่องความอิจฉาริษยาในบทความถัดไป)

ผลการสำรวจของซิกาเรลลี พบว่าคริสเตียนผู้มีความสำนึกในบุญคุณสูง เรียนรู้ที่จะอิ่มใจ และไม่ค่อยปรารถนาสิ่งที่คนอื่นมี ตลอดทั้งวันเขาระลึกอยู่เสมอว่าพระเจ้าอวยพรเขามากเพียงใด น่าสนใจที่ผลการสำรวจระบุว่าผู้มีความสำนึกในบุญคุณมากที่สุด ส่วนใหญ่มาจากคนที่มีรายได้ต่ำกว่า ดังนั้นวัตถุสิ่งของไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนหรือค้ำจุนจิตใจที่สำนึกในบุญคุณ

เขาเขียนไว้ว่า

ตัวขับเคลื่อน[ความสำนึกในบุญคุณ] คือมุมมองที่ถูกต้อง โดยเล็งเห็นชัดเจน สำนึกอยู่เสมอ ทุกชั่วขณะ ถึงสิ่งที่พระเจ้าหยิบยื่นให้ คริสเตียนผู้มีคุณธรรมสูง ตระหนักอยู่เสมอถึงชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าชีวิตจะเป็นเช่นไร เขาฝึกคิดเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของชีวิต แทนที่นึกถึงความขาดแคลน นิสัยดังกล่าวนี้ คือนิสัยในการมีมุมมองที่ถูกต้อง ซึ่งช่วยส่งเขาทะยานสู่ระดับต่อไปของความสำนึกในบุญคุณและอุปนิสัย[20]

การพัฒนากรอบความคิดที่สำนึกในบุญคุณ ตั้งอยู่บนพื้นฐานศรัทธาในความรักอันไม่เสื่อมคลายที่พระเจ้ามีต่อเรา บ่อยครั้งก็ยากที่จะรู้สึกสำนึกในบุญคุณ เมื่อเราเผชิญหน้ากับความยากลำบากในชีวิต เมื่อดูเหมือนว่าชีวิตไม่ได้เรื่อง และคำอธิษฐานไม่ได้รับคำตอบ ทว่าทัศนคติที่สำนึกในบุญคุณ ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุการณ์รอบตัว ทว่ายึดกับความศรัทธาที่ว่าพระเจ้ารักเรา พระองค์ได้ยินคำอธิษฐานของเรา และความเชื่อที่ว่าถึงแม้สภาพการณ์จะไม่เปลี่ยนแปลง มีสิ่งต่างๆ น่าขอบคุณเสมอ แม้แต่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด

วิธีหนึ่งที่จะปลูกฝังความสำนึกในบุญคุณ คือ เก็บบันทึกสิ่งที่รู้สึกขอบคุณ การเก็บบันทึกความสำนึกในบุญคุณ ช่วยให้ไตร่ตรองและมุ่งเน้นที่พร นี่คือส่วนหนึ่งของการพัฒนากรอบความคิดเชิงบวก และการสำนึกในบุญคุณ เราแต่ละคนมีสิ่งต่างๆ มากมายในชีวิตประจำวันที่เราขอบคุณ ทว่าเราแทบไม่ได้ปลีกเวลามาตระหนักว่าเรารู้สึกขอบคุณ เนื่องจากเราไม่รับรู้ ก็จะไม่จารึกอยู่ในหัวคิดว่าเป็นพร และเป็นสิ่งที่เราควรขอบคุณ

เมื่อไม่นานมานี้ผมเริ่มเก็บบันทึกดังกล่าวเป็นประจำ ผมต้องประหลาดใจว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมรู้สึกขอบคุณ ซึ่งผมไม่ค่อยใส่ใจมากนัก ผมดำเนินชีวิตในแต่ละวันห้อมล้อมด้วยพร เช่น อาหาร เสื้อผ้า ที่พักอาศัย ภรรยาน่ารัก เพื่อนมิตร การงาน อากาศแจ่มใส สุขภาพดี ฯลฯ จนกระทั่งผมเริ่มบันทึกห้าสิ่งที่ผมรู้สึกขอบคุณในแต่ละวัน ซึ่งผมแทบไม่ได้สังเกตโดยเฉพาะ ต่อพรมากมายที่ผมได้รับ แน่นอนว่าผมขอบคุณพระองค์เป็นประจำสำหรับพรต่างๆ แต่ผมกล่าวโดยทั่วไป ผมพบว่าการบันทึกสิ่งเฉพาะเจาะจงที่เกิดขึ้น หรือพรที่ได้รับเป็นประจำ ช่วยให้สำนึกถึงพร และสำนึกในบุญคุณต่อพระองค์อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้นด้วย สำหรับหลายสิ่งที่ผมถือเป็นเรื่องธรรมดา ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าผมทำเช่นนี้ในช่วงสั้นๆ ผมพบว่าช่วยเปลี่ยนวิธีที่ผมตอบรับสิ่งต่างๆ เมื่อวานนี้เอง ผมพบว่ามีบิลที่ไม่ได้คาดว่าต้องจ่าย ปฏิกิริยาแรกของผมคือพร่ำบ่น แต่หลังจากนั้นไม่นาน ผมปรับกรอบความคิดใหม่ และขอบคุณพระองค์ที่ผมมีเงินจ่ายบิล ผมเปลี่ยนจากการพร่ำบ่นเป็นความสำนึกในบุญคุณ ซึ่งรู้สึกดีกว่าหลายเท่า

มีหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต ทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็ก ซึ่งเราระบุได้ว่าเป็นพรจากพระเจ้า เช่น พรสวรรค์และความสามารถพิเศษ เป้าหมายที่เราบรรลุผล โอกาสที่เรียงรายตามเส้นทาง สุขภาพดี และอะไรอีกมากมาย บางสิ่งค่อนข้างปกติธรรมดา เช่น รถซ่อมเสร็จ อาหารบนโต๊ะ น้ำในก๊อก และมีส้วมให้ใช้ แล้วก็มีครอบครัวและเพื่อนมิตรที่รักเรา รวมทั้งผู้คนที่ช่วยเหลือหรือดูแลเราในบางแง่ มีสิ่งต่างๆ นับไม่ถ้วนให้สำนึกในบุญคุณ ทว่าบ่อยครั้งเราไม่ปลีกเวลาแสดงความขอบคุณ การบันทึกช่วยให้เราทำเช่นนั้น เมื่อเราทำ เราเริ่มฝึกคิดที่จะตระหนัก ผลที่สุดกรอบความคิดของเราก็เปลี่ยนไป ความสำนึกในบุญคุณจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ซึ่งช่วยให้เราดำเนินไปบนเส้นทางสู่การเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น

อีกย่างก้าวหนึ่งที่นำไปสู่ความสำนึกในบุญคุณ จากผลการศึกษาของซิกาเรลลี คือ การอดอาหารเป็นระยะๆ เขาพบว่าการอดอาหารคือหนึ่งในวินัยทางจิตวิญญาณ ซึ่งช่วยให้ผู้คนปลูกฝังความรู้สึกขอบคุณไว้อย่างคงทนยั่งยืน มีเหตุผลหลายประการที่คริสเตียนอดอาหาร ได้แก่ เพื่อเสริมสร้างชีวิตอธิษฐาน เมื่อแสวงหาแนวทางจากพระเจ้า ในยามเศร้าโศก เมื่อแสวงหาการปลดปล่อยให้หลุดพ้นหรือการปกป้องคุ้มครอง หรือเพื่อหักห้ามเครื่องล่อใจ[21] เหตุผลสุดท้ายสองประการคือ เพื่อถ่อมตนต่อพระเจ้า เพื่อบ่งบอกความรักและนมัสการพระเจ้า ซึ่งดูเหมือนเชื่อมโยงที่สุดกับความสำนึกในบุญคุณ เมื่อเราอดอาหารเพื่อเป็นการถ่อมตนต่อพระองค์ เราก็ตระหนักอย่างเฉียบพลันยิ่งขึ้นว่าเราพึ่งพาพระองค์ เราขอบคุณที่พระองค์จัดหาและดูแลเอาใจใส่เรา การอดอาหารเพื่อบ่งบอกถึงความรักและการนมัสการพระเจ้า คือการอุทิศตน เป็นการแสดงความขอบคุณว่าพระองค์คือพระผู้สร้าง ผู้มอลและค้ำจุนชีวิต การอดอาหารช่วยให้เราตระหนักยิ่งขึ้น ถึงการที่เราพึ่งพาพระองค์ และสำนึกในบุญคุณมากขึ้นที่พระองค์ดูแลเรา การอดอาหารอาจทำให้เรารู้สึกเห็นคุณค่าและสำนึกในบุญคุณมากขึ้น ต่อพระองค์ผู้ที่ค้ำจุนเรา

นอกจากนี้ มีสื่อเชื่อมโยงระหว่างการสารภาพบาป และความสำนึกในบุญคุณมากขึ้น เมื่อเราสารภาพบาปต่อพระเจ้าเป็นประจำ นี่เตือนใจเราถึงข้อบกพร่องของเรา และความเมตตาของพระองค์ เมื่อรู้ว่าเราได้รับการยกโทษ และได้รับของขวัญจากความเมตตาของพระองค์ จะก่อให้เกิดความรู้สึกขอบคุณ นี่จะสร้างวงจรการแสวงหาการให้อภัยจากพระองค์เป็นประจำ การสารภาพบาปต่อพระองค์ คือขั้นตอนการสลัดตัวตนเก่าไปเสีย และสวมตัวตนใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นตามภาพลักษณ์ของพระผู้สร้าง ขณะที่ท่านเรียนรู้จักพระองค์มากขึ้น[22]

นอกจากนี้ การระลึกถึงคนยากจนในคำอธิษฐาน จะช่วยเพิ่มพูนความสำนึกในบุญคุณ เมื่อเราอธิษฐานให้ผู้ที่มีน้อยกว่าเรา นี่เตือนใจว่าชีวิตยากลำบากแค่ไหนสำหรับบางคน และช่วยให้สำนึกในบุญคุณสำหรับชีวิต เมื่อเราอธิษฐานให้ผู้ลี้ภัยที่ต้องทิ้งทุกสิ่งไว้เบื้องหลัง และเสี่ยงชีวิตหนีไปยังที่ปลอดภัย ก็ช่วยเราให้มีมุมมองที่ถูกต้องต่อสถานการณ์ของเรา

ซิกาเรลลีเขียนไว้ว่า

กรอบแนวคิดของเรากลายเป็นหญิงหม้ายยากจน เด็กหิวโหย พ่อผู้ตกงาน เด็กขี้โรค ผู้ลี้ภัยสงครามที่ต้องจากบ้านเมือง เพื่อนมนุษย์ในโลกที่สามซึ่งไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปาใช้ การอธิษฐานสำหรับคนเหล่านี้ คือหลักปฏิบัติที่ช่วยเปิดหูเปิดตาให้เข้าใจชีวิตของเราเอง ในแสงสว่างเจิดจ้า จากการจัดหาปัจจัยของพระเจ้า ส่งผลให้ชีวิตผกผันอย่างน่าทึ่ง ความอิจฉาเปิดทางให้การเติมเต็ม ความขุ่นเคืองเปิดทางให้ความอิ่มเอิบใจ การพร่ำบ่นเปิดทางให้การสรรเสริญ ตัวกระตุ้นดังกล่าวคือความสำนึกในบุญคุณ เกิดจากการมีมุมมองที่ชัดเจน ซึ่งมาจากการคำนึงถึงคนยากไร้[23]

ในฐานะคริสเตียน เราได้รับพรสูงสุด คือความรอด โดยรู้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่กับพระเจ้าตลอดไป เรามีสัมพันธภาพกับพระผู้สร้าง ผู้ค้ำจุนทุกสิ่ง พระเจ้าของเรา คือพระบิดาของเราด้วย ผู้รู้ว่าเราต้องการสิ่งใด และสัญญาที่จะดูแลเรา ไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไร เราอยู่ในสายตาพระองค์ ชีวิตเราควรเป็นชีวิตที่สำนึกในบุญคุณ และแสดงความขอบคุณแด่พระเจ้า ความสำนึกในบุญคุณไม่ใช่ปกติวิสัยของเรา เราต้องพัฒนาคุณสมบัติดังกล่าว แต่เมื่อเราทำเช่นนั้น เมื่อเราพยายามปลูกฝังให้ชีวิตมีความสำนึกในบุญคุณ เราจะดำเนินไปบนเส้นทางสู่การเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น

(เพิ่มเติมเรื่องความสำนึกในบุญคุณ ตอนที่สอง สาม และสี่)


[1] โรม 13:14

[2] เอเฟซัส 4:22-24

[3] ไมเคิล ซิกาเรลลี Cultivating Christian Character (การพัฒนาอุปนิสัยคริสเตียน) (โคโลราโดสปริงส์: สำนักพิมพ์ เพอร์โพสฟูลดีไซน์ พับลิเคชั่น ค.ศ. 2005)

[4] ซิกาเรลลี Cultivating Christian Character หน้า 24

[5] 1 เธสะโลนิกา 5:16-18

[6] อี อี คาร์เพนเตอร์ และ พี ดับบลิว คอมฟอร์ต ใน Holman Treasury of Key Bible Words: 200 Greek and 200 Hebrew Words Defined and Explained (แนชวิลล์ เทนเนสซี: สำนักพิมพ์บรอดแมนแอนด์โฮลแมน ค.ศ. 2000) หน้า 188

[7] มัทธิว 11:25, 26:27; ยอห์น 11:41

[8] 1 ทิโมธี 1:12

[9] โรม 1:8; โคโลสี 3:17; ฮีบรู 13:15

[10] เอเฟซัส 5:20

[11] ยอห์น  6:11; กิจการ 27:35

[12] 1 ทิโมธี 4:3-4

[13] 2 เธสะโลนิกา 1:3

[14] โรม 7:23-25

[15] 1 โครินธ์ 15:55-57

[16] 1 เธสะโลนิกา 5:18

[17] เอเฟซัส 5:20

[18] เฉลยธรรมบัญญัติ 5:21

[19] กาลาเทีย 5:21; 1 ทิโมธี 6:4; ติทัส 3:3; เปโตร 2:1

[20] ซิกาเรลลี ใน Cultivating Christian Character หน้า 31

[21] ประเด็นเหล่านี้หยิบยกมาจาก The Spiritual Disciplines: Fasting หาอ่านได้ที่มุมผู้ชี้ทาง

[22] โคโลสี 3:9-10

[23] ซิกาเรลลี ใน Cultivating Christian Character หน้า 36